“พันเพลงพิณ” เสียงบรรเลงผ่านเรื่องเล่าพื้นถิ่นของ “หัสวีร์”

“พันเพลงพิณ” เสียงบรรเลงผ่านเรื่องเล่าพื้นถิ่นของ “หัสวีร์”

โดย : YVP.T

Loading

จบลงไปเรียบร้อยแล้วกับนวนิยายที่เต็มไปด้วยกลิ่นอายของวัฒนธรรมล้านนาท่ามกลางบรรยากาศป่าเขาทางภาคเหนือที่มาพร้อมเครื่องดนตรีพื้นเมืองที่ขึ้นชื่อว่าเล่นยากมากๆ อย่างพิณเปี๊ยะ วันนี้อ่านเอาชวน “หัสวีร์” เจ้าของบทประพันธ์เรื่องนี้มาพูดคุยค่ะ

คนบางคนไม่ได้มีบทบาทหน้าที่เพียงด้านเดียว เช่นเดียวกับ “หัสวีร์” ซึ่งเป็นนามปากกาของ ‘กวีศิลป์ อินต๊ะโคตร์’ หนุ่มเหนือที่ทำงานอยู่ที่โรงพยาบาลฝาง อ.ฝาง จ.เชียงใหม่ แต่ด้วยความที่เป็นคนชอบอ่านชอบเขียนมาตั้งแต่เด็ก เมื่อเรียนจบปริญญาจึงเลยเริ่มลองเขียนนิยายเป็นงานอดิเรกและด้วยฝีไม้ลายมือไม่ธรรมดา งานเขียนของเขาได้รับการตีพิมพ์ในที่สุด

“ถ้าจะถามว่าหัสวีร์มีใครเป็นแรงบันดาลใจ คงจะต้องบอกว่าเป็นใครไม่ได้เลยนอกจากพ่อครูมาลา คำจันทร์ครับ เพราะทุกบรรทัดที่ได้อ่านงานของพ่อครูเหมือนได้เสพกลิ่นอายของทางเหนือที่สะท้อนออกมาในตัวอักษรทุกตัว คำทุกคำที่พ่อครูเลือกใช้ร้อยเรียงเป็นประโยคเป็เรื่องราวที่น่าอ่าน พ่อครูจึงเป็นแรงบันดาลใจให้อยากเขียนนิยายล้านนา

“อีกอย่างคือผมเป็นคนเหนือ จึงอยากเล่าเรื่องในท้องถิ่นให้ทุกคนได้รู้ว่า มันสนุกและยังได้บันทึกเรื่องราวล้านนาไม่ให้มันหายไปด้วย ขณะที่อีกคนที่ผมชื่นชอบงานไม่แพ้กันคือ คุณปุ้ย – กิ่งฉัตร เพราะเรื่องราวที่คุณปุ้ยเขียนช่างไหลลื่น เหมือนได้จิบกาแฟ ชมวิวทะเลหน้าร้อน”

ไม่ใช่เพียงเพราะเขาคนนี้คือชาวเหนือ แต่หัสวีร์ยังมีความรู้สึกพิเศษกับวัฒนธรรมพื้นถิ่นที่ลึกซึ้ง อย่างที่เขาบอกกับเราว่า “งานเขียนทางเหนืออาจจะมีเสน่ห์ตรงที่ว่า วัฒนธรรมล้านนามีความหมายในเชิงสัญลักษณ์ มีความเชื่อ ผ่านพิธีกรรมที่สวยงาม  จึงเป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้คนสนใจมากกว่าเป็นพิเศษ แต่ทั้งนี้ทั้งนั้น ผมเชื่อว่าแต่ละพื้นถิ่นย่อมมีเรื่องที่น่าสนใจในตัวของแต่ละที่อยู่แล้วครับ

“อย่างงานเขียนของผมเองก็อาศัยการเก็บเล็กผสมน้อย ผมชอบที่คุณปู่ คุณพ่อเล่านิทานให้ฟังตั้งแต่เด็ก โดยเฉพาะเรื่องลึกลับ เกี่ยวกับตำนาน ซึ่งก่อนหน้านี้ผมได้มีโอกาสเขียนเพลิงพรางเทียนที่เป็นเรื่องเกี่ยวกับประตูเชียงใหม่ ก็เลยติดใจ คนอ่านชอบมาก หลังๆ พอได้ยิน ได้เห็นอะไรที่มันแปลกและสวยงามเกี่ยวกับทางเหนือก็อดไม่ได้ที่จะเอามาต่อยอดเป็นนิยายทุกที

“สำหรับ ‘พันเพลงพิณ’ ที่เพิ่งจบไปบนเว็บอ่านเอา ได้แรงบันดาลใจมาจากหลายอย่างมาก ทั้งเรื่องเล่านิทาน เรื่องผีปกกะโหล้งดีดพิณเปี๊ยะจากคุณพ่อ แต่ที่ทำให้ต้องกลับมาเขียนเลยก็ตอนไปเที่ยวที่วัดผาลาด จ. เชียงใหม่ ตอนนั้นไปเจอรูปปั้นมนุษย์สิงห์ที่ซุ้มประตู ตัวใหญ่ สวยงามมาก เลยคิดว่า สัตว์ในสถาปัตยกรรมของล้านนามีสัตว์แปลกๆ เยอะเหมือนกัน ก็เลยไปยกมือไหว้บอกว่า ถ้ามีโอกาส ก็จะชวนมาโลดแล่นในนิยายของเรา ในนิยายก็จะแฝงเรื่องที่น่าสนใจไปด้วย อย่างเรื่องนี้ พระเอกก็คงจะเป็นเครื่องดนตรีที่ชื่อว่า ‘พิณเปี๊ยะ’ ซึ่งผมว่ามันเป็นเครื่องดนตรีที่เท่นะ คนเล่นส่วนใหญ่จะเป็นผู้ชาย ถอดเสื้อแล้วดีดด้วยการใช้ตรงฐานควบหน้าอกถึงจะทำให้เสียงเพราะ คือถ้าผู้หญิงมีใครมาดีดให้ฟังบ่อยๆ คงมีเขินกันบ้างแหละ  ตัวผมเองตอนเรียนมหา’ลัยเคยทำรายงานเรื่องพิณเปี๊ยะ แล้วพบว่ามันเล่นยากมากๆ จนเกือบจะหายไปจากเมืองไทยแล้ว ก็เลยคิดว่าอย่างน้อยเราเขียนเรื่องนี้ คนรุ่นใหม่อาจจะรู้จักและลองฝึกมันเล่นเพิ่มขึ้น”

หากแต่ ณ ตอนนี้ หลังจากจบพันเพลงพิณไปหมาดๆ ตัวเขาเองอยากจะกลับไปเขียนเรื่องราวแนวดราม่าหรือไม่ก็แนวคอมมาดี้ต่อด้วยเหตุผลว่า “ไม่อยากสร้างขีดจำกัดตัวเองเกินไปว่าถนัดแค่แนวใดแนวหนึ่ง เพราะตราบใดที่ยังสนุกกับการหยิบปากกามาขีดเขียน ขึ้นชื่อว่าแนวไหนก็ต้องทำให้มันสนุกให้ได้ครับ”

เมื่อนักเขียนไม่จำกัดกรอบให้กับตัวเองในการสร้างสรรค์ผลงาน แล้วคนอ่านล่ะ จะต้องจำกัดกรอบการอ่านให้สนุกไปทำไม…เห็นด้วยไหมคะ

Don`t copy text!