มะละกาวอล์ก… เดินท่องมรดกโลก (1)
โดย : สุวิทย์ เมฆวิบูลย์
ไม่ได้มีแค่ นิยายออนไลน์ ให้อ่าน ที่ อ่านเอา แต่เรายังมีเรื่องราวการเดินทางของ สุวิทย์ เมฆวิบูลย์ ชายหนุ่มผู้ที่เชื่อว่า การเดินทางกับการดื่มกิน คือองค์ประกอบสำคัญในการเติมไฟ เพิ่มพลังให้ชีวิต และเขายินดีแบ่งปันขุมพลังนี้กับผู้อ่าน “อ่านเอา” ได้ อ่านออนไลน์
…………………………………………..
– มะละกาวอล์ก… เดินท่องมรดกโลก (1) –
เช้านี้ได้สูดอากาศหนาวเย็นจากระเบียงห้องพักบน Cameron Highland จิบกาแฟร้อนๆ ไปกับขนมปังอุ่นๆ พอได้เวลาล้อหมุน… 8.00 น. นั่งรถตู้ลงจากที่ราบสูงคาเมรอน 50 กิโลเมตรจาก Tanah Rata ผ่าน Ringlet เป็นชุมชนสุดท้าย แล้วมาถึง Tapah เมืองแรกบนพื้นที่ราบ แวะเข้าไปกินบะหมี่ผัดและเกี๊ยวน้ำสไตล์กวางตุ้ง อร่อยมากแต่ราคาแสนถูกที่ร้านริมถนน ไม่ใช่คนพื้นที่ไม่มีทางรู้จัก หม่ำกัน 5 ชาม จ่ายไปแค่ 17 ริงกิต มีโกปี๊ร้อนและเค้กด้วย 1 ที่ งงกับราคาที่เจ๊แกเรียกเก็บมันถูกมากๆ เสร็จแล้วขับวกขึ้นทางด่วน E3 ผ่านไป 156 กิโลเมตร ตรงเข้ากัวลาลัมเปอร์ ถึงเส้นวงแหวนต่อไปมะละกา อีก 160 กิโลเมตร
สมัยเรียนชั้นมัธยม ทุกคนคงจำได้ดีว่ามะละกาคือช่องแคบระหว่างมาเลเซียกับเกาะสุมาตรา (อินโดนีเซีย) เป็นชื่อเมืองท่าสำคัญของมาเลเซีย การคมนาคมทางเรือจากฝั่งเอเชียใต้ อินเดีย ตะวันออกกลาง ยุโรป ข้ามไปฝั่งเอเชียตะวันออกไกล ญี่ปุ่น จีน และมหาสมุทรแปซิฟิก ต้องผ่านช่องแคบนี้เท่านั้น สายลมตะวันออกกับสายลมตะวันตกมาบรรจบกัน ชัยภูมิจึงเหมาะกับเรือจากอาหรับและอินเดียสามารถล่องมาตามลมสินค้าตะวันตกเฉียงใต้ ขณะเดียวกันในช่วงลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือ ก็ใช้แล่นเรือของพ่อค้าจีนและพ่อค้าจากหมู่เกาะเครื่องเทศ (หมู่เกาะโมลุกกะ อินโดนีเซีย) ราวต้นศตวรรษที่ 16 มะละการุ่งเรืองมากในฐานะเมืองจัดเก็บสินค้า… ย้อนกลับมาเรื่องของเราดีกว่า
เกือบบ่ายโมงแล้ว กดมือถือค้นหาร้านก๋วยเตี๋ยวลูกชิ้นปลาชานเมืองมะละกา นั่งซดน้ำซุปน้ำใสๆ กับบะหมี่เป๊าะเส้นหนาลวก โอเคเลยครับ เหลือบเล็งเป็ดย่างร้านข้างๆ จะไปสั่งมาเสริม อ้าว ‘sold out’ โชเฟอร์เลยพามานั่งกินหมูสะเต๊ะ (Satay) ที่หายากยิ่งกว่าเข็มในมหาสมุทรในมาเลเซีย เพราะคนส่วนใหญ่เป็นมุสลิมจึงต้องกินสะเต๊ะไก่ สะเต๊ะเนื้อวัวมากกว่า แต่ที่ร้านนี้คนท้องถิ่นเชื้อสายจีนรู้จักกันดี เค้าขายไม้ละ 0.90 ริงกิต ลูกค้ากินเต็มร้านแม้ใกล้บ่ายสามโมงแล้ว น้ำจิ้มเกือบคล้ายๆ บ้านเรา แต่หมูหมักผงกะหรี่น้อยไปทั้งกลิ่นและสี อาจาดมีแต่แตงกวาและหอมแดงซอย ไม่มีพริกชี้ฟ้า แห้งๆ ไม่มีน้ำจิ้มหวานราดมาแบบเรา ขนมปังปิ้งก็ไม่มี จานเคียงแกล้มด้วยข้าวหุงสุกปั้นแล้วหั่นฝานเป็นชิ้นกลมๆ เออ คนมะละกานี่กินแปลกหลายอย่างเเฮะ เหมือนข้าวมันไก่ที่ปั้นข้าวเป็นลูกบอลขนาดจริงเท่าลูกปิงปองมากกว่า (แล้วจะเล่าให้อ่านต่อไป)
วันนี้เป็นวันเสาร์ วางโปรแกรมเย็นนี้จะไปเดินเตร่ถนนคนเดิน Jonker Street ที่มีเฉพาะคืนวันศุกร์ เสาร์และอาทิตย์เท่านั้น ก้าวข้ามแม่น้ำมะละกา ห่างจากดัชต์สแควร์ไม่ถึง 100 เมตร แหล่งของกิน ขนม ของฝากเพียบเลย
มาถึงมะละกาช่วงบ่ายแก่ๆ หลังเช็กอินโรงแรมยังมีแรงเหลือเฟือ จัดกระเป๋าและของเข้าที่แล้วรอเวลาให้แสงแดดอ่อนคล้อยสัก 4 โมงเย็น แนะนำให้ออกไปเดินชมเมืองเป้าหมายคือ เนินเขามะละกา
โดยเริ่มต้นที่เชิงเขาทางขึ้นเนิน มีอาคารสีขาว สังเกตุเห็นหลังคามีโดมสีทองคล้ายสุเหร่าหรือมัสยิด สถานที่นี้มาเลเซียใช้เป็นที่ประกาศอิสรภาพจากอังกฤษ เมื่อ พ.ศ. 2500 หยุดเช็กอินถ่ายรูปสัก 2-3 แชะ แล้วเดินตรงไปที่ประตูซานดิเอโก้ ป้อมเมืองเก่า ซ้ายมือ ค่าเข้าฟรีครับ หลับตานึกย้อนอดีตสมัยโปรตุเกสบุกยึดครองเมืองมะละกา ป้อมปราการนี้เสมือนด่านป้องกันเมืองมะละกายาวนานกว่า 150 ปี จนกระทั่งฮอลันดาบุกรุกยึดครองเมืองมะละกาได้ในปี พ.ศ. 2184 ฮอลันดาก็ได้ทำการซ่อมแซมกำแพงเมืองและป้อมปราการนี้ให้กลับอยู่ในสภาพที่สมบูรณ์ จนกระทั่งในภายหลังเมืองมะละกาได้ถูกครอบครองโดยอังกฤษ ผู้ปกครองเกาะปีนังส่ง กัปตันวิลเลียม ฟาร์คูฮาร์ มาทำลายป้อมปราการแห่งนี้ เพื่อป้องกันการอ้างสิทธิ์ครอบครองดินแดนของฮอลันดา แต่ภายหลังโดนสั่งระงับ จึงเหลือเพียงประตูแห่งนี้เท่านั้น
(**ข้อมูลเสริม: มะละกาถูกล่าเป็นอาณานิคมมาโดยตลอด เคยรุ่งเรืองที่สุดในยุคสมัยของสุลต่านแห่งมะละกาในช่วงคริสตวรรษที่ 15 ถึงปี ค.ศ. 1511 จากนั้นก็ถูกครอบครองโดยโปรตุเกสตั้งแต่ปี ค.ศ.1511-1641 ตามด้วยดัชต์ในปี ค.ศ.1641-1795 และอังกฤษในปี ค.ศ.1795-1941 ก่อนที่ญี่ปุ่นจะเข้าครอบครองในระยะเวลาอันสั้นช่วงระหว่างปี ค.ศ. 1941-1945 และอังกฤษได้กลับเข้ามาครอบครองอีกครั้งในปี ค.ศ.1945-1957 จนกระทั่งมาเลเซียได้ประกาศอิสรภาพในปี ค.ศ.1957 )
บนเนินเขาคือที่ตั้งของโบสถ์เซนต์พอล ซึ่งปัจจุบันนี้เหลือเพียงผนัง ไม่มีหลังคา ถูกสร้างในปี ค.ศ.1521 โดยกัปตันเรือชาวโปรตุเกส เดิมชื่อ ‘Nosa Senhora’ หรือ Our Lady of the Hill 120 ปีต่อมา (ในปี ค.ศ. 1641) พอถึงยุคพวกดัตช์ได้เปลี่ยนชื่อเป็น St. Paul เเละใช้โบสถ์แห่งนี้ประกอบพิธีทางศาสนาเป็นการชั่วคราว ขณะเดียวกันก็สร้างโบสถ์แดงแห่งมะละกา ‘Christ Church Melaka’ ให้เป็นโบสถ์ของชาวดัตช์ 100% บริเวณเชิงเขาด้านล่างก็คือดัชต์สแควร์ในปัจจุบัน
บริเวณด้านหน้าของโบสถ์เซนต์พอล จะพบกับรูปแกะสลักหินอ่อนสีขาว นักบุญฟรานซิส เซเวียร์ สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1952 สังเกตดีๆ ที่รูปแกะสลักนักบุญฟรานซิส เซเวียร์ ‘St. Francis Xavier’ นั้นมือขวาขาด บางบันทึกระบุว่าหักเพราะต้นไม้ใหญ่บริเวณนั้นล้มทับใส่จนหักลง อีกหลายบันทึกก็บอกต่อๆ กันว่าโดนขโมยตัดไปอินเดีย ไปวาติกัน เฮ้อ ไม่รู้จะเชื่อใครดีวุ้ย… มโนกันจัง เหมือนบ้านผมเลย ประวัติศาสตร์เยอะ บันทึกแยะ
ขึ้นไปยืนดื่มด่ำกับวิวเมือง 360 องศาในโมเมนต์พระอาทิตย์ตกดิน โชคดีวันนั้นฝนไม่ตก ฟ้าใสแดดสว่างให้ได้ภาพสวยทั้งฝั่งแผ่นดิน ผืนดินถมทะเลใหม่และช่องแคบมะละกา ประทับใจครับ ขาลงเดินไปที่ฝั่งบันไดตรงข้ามหน้ารูปปั้น ถึงถนนด้านล่างให้เลี้ยวขวาตรงไป 700-800 เมตร เห็นคนเดินพลุกพล่านเยอะๆ นั่นล่ะใช่เลย ‘ดัชต์สแควร์’ ที่นี่คือชุมทางทั้งรถเมล์ประจำทาง เรือล่องแม่น้ำ รวมทั้งรถสามล้อตกแต่งแฟนซีที่เปิดเพลงกระหึ่มเสียงดังน่าหนวกหูก็จอดที่นี่ รถสามล้อนำเที่ยวที่วิ่งกันขวักไขว่ คนท้องถิ่นเรียกว่า Trishaw สามล้อที่นี่หน้าตาก็คล้ายๆ สามล้อถีบเมืองไทย แต่จะโดดเด่นกว่าก็ตรงที่แต่ละคันจะประดับประดาด้วยดอกไม้พลาสติกสีสดใส ตกแต่งตามสไตล์คนถีบ บางคนหวานหน่อยก็จัดดอกไม้เป็นรูปหัวใจ บ้างก็เป็นรูปดาวห้าแฉกหกแฉก บางคันราวกับที่บัลลังก์ดอกไม้ก็มิปาน บางคันขโมยตุ๊กตาบาร์บี้ของลูกมาตกแต่ง มีหลายคันที่มีเครื่องเสียงแต่งมาพร้อม เปิดเพลงดังมาแต่ไกล เพลงส่วนใหญ่เน้นคึกคักจังหวะเร้าใจ ฟังภาษาไม่ค่อยออก สลับไปมาน่าจะมลายู ฟิลิปปินส์ และอังกฤษ แต่ที่คุ้นหูชัดเจนและหลายรอบบ่อยที่สุดจนร้องคลอพอได้คือ กังนัมสไตล์
ไฮไลต์ของเมืองมะละกา อยู่ ณ จุดนี้ มองไปรอบๆ จะเห็นทั้งหอนาฬิกา อาคารโบราณสีแดง น้ำพุ และโบสถ์ Christ Church หรือที่คนไทยเรียกกันว่าโบสถ์แดง ที่ถูกสร้างในปี ค.ศ. 1753 เพื่อทดแทนโบสถ์เซนต์พอล ด้านขวาติดกันก็คือตึก Stadthuys ก็ศาลากลางนั่นแหละ ผู้ว่าการสมัยดัชต์ปกครองใช้ที่นี่เป็นสำนักงาน มองไปด้านซ้ายมือก็คือแม่น้ำมะละกาที่ไหลลงสู่ทะเล ถ้าเดินข้ามสะพานไป ก็ไปเจอถนนคนเดิน Jonker Street ที่นี่ปิดดึก 4-5 ทุ่ม แต่ในวันธรรมดาแผงขายของปิด เงียบเหงา มีแต่ร้านค้าตึกแถวเปิดเท่านั้น สำหรับค่ำคืนแรกที่มะละกา วิวร้านค้าบ้านเรือนสไตล์ซิโนโปรตุกีส ป้อมปราการและโบสถ์หลังเก่าๆ แค่นี้ ขอปิดท้ายด้วย….
“ตกหลุมหลงรักมะละกา แบบไม่คาดคิดมาก่อน”