มากกว่าการชอบเขียน คือการทำลายขีดจำกัดในการเขียน “ซ่อนรักในรอยกาล”

มากกว่าการชอบเขียน คือการทำลายขีดจำกัดในการเขียน “ซ่อนรักในรอยกาล”

โดย : กิ่งสุรางค์ อนุภาษ

Loading

มากกว่าการชอบเขียนเรื่องพีเรียด แนวอิงประวัติศาสตร์ คือการทำลายขีดจำกัดในการเขียน

เพราะเป็นคนที่ชื่นชอบประวัติศาสตร์ โดยเฉพาะประวัติศาสตร์ของชาวเหนือ เมื่อเก็บข้อมูลมาเรื่อยๆ บวกกับเวลาที่เหมาะสม ซ่อนรักในรอยกาล จึงเกิดเป็นเรื่องราวขึ้นมาให้ได้อ่านกัน

“เดิมทีมีพล็อตจะเขียนนิยายพีเรียดเกี่ยวกับทางเหนือเรื่องหนึ่งเลยหาอ่านข้อมูลไว้เยอะ แต่ไปๆ มาๆ ก็มาอ่านเจอเอกสารวิชาการที่เขาศึกษาตามหลักฐานประวัติศาสตร์จริงๆ ของพระนางจามเทวี ซึ่งต้องบอกก่อนว่าตัวเองเป็นคนเหนือ เลยรู้สึกคุ้นกับพระนางจามเทวีอยู่แล้ว แต่เรื่องที่รู้มักเป็นตำนานที่มีอภินิหารเหนือจริง แถมเล่าแตกต่างกันไปคนละทิศละทางในแต่ละเวอร์ชัน แต่พอได้มาเจอเอกสารแบบนี้เลยตื่นเต้นมาก ตามอ่านเปเปอร์เกี่ยวกับเรื่องนี้ยกใหญ่ แล้วก็ค่อยๆ เกิดเป็นพล็อตขึ้นมา จนในที่สุดก็เลยกลายมาเป็น ‘ซ่อนรักในรอยกาล’ ค่ะ”

ความน่าสนใจของนิยายเรื่องนี้

“เนื้อเรื่องเป็นการย้อนอดีตที่ไม่ได้ให้ความสำคัญกับการย้อนอดีตหรือเส้นเรื่องในโลกปัจจุบัน แต่ใช้การย้อนอดีตของพระเอกเป็นตัวอุดช่องว่างและเติมเต็มปริศนาในประวัติศาสตร์ยุคนั้นที่หาหลักฐานอันน่าเชื่อถือได้ยาก เป็นการตีความตำนานพระนางจามเทวีตามหลักฐานทางประวัติศาสตร์มากกว่าตำนานที่มีอภินิหาร และให้น้ำหนักกับคู่ชีวิตและคนรอบข้างของพระนางจามเทวีด้วยในฐานะที่มีส่วนร่วมต่อการสร้างและรักษาอาณาจักรหริภุญไชย โดยจะให้น้ำหนักกับ ‘พระสวามี’ ของพระนางจามเทวี ที่แทบไร้หลักฐานในประวัติศาสตร์ เสมือนว่าพระองค์ไม่มีบทบาทใดๆ ต่อความสำเร็จของพระนางจามเทวี

“เรื่องนี้จะเล่าในมุมของตัวเจ้าชายพระสวามีในฐานะมนุษย์ปุถุชนคนหนึ่ง นำเสนอเกมการเมืองในยุคเก่าแก่ก่อนอาณาจักรสุโขทัย ในยุคทวารวดีกำลังรุ่งเรือง การหักเหลี่ยมชิงไหวพริบชิงความเป็นใหญ่ของอาณาจักรที่รุ่งเรืองอยู่ในเวลานั้น อย่างขั้วอำนาจทางแผ่นดินตอนในอย่างละโว้แห่งทวารวดี กับกลุ่มอำนาจแคว้นทางทะเลใต้อย่างศรีวิชัย อันส่งผลต่อการสร้างอาณาจักรหริภุญไชยในภายหลังค่ะ”

การทำการบ้าน ความสนุกและท้าทาย

“อย่างที่เล่าไว้ตอนต้นว่าเรื่องนี้ต้องหาข้อมูลเยอะมาก อ่านทั้งงานวิจัย บทความวิชาการ แต่เนื่องจากเป็นเรื่องที่มีพล็อต มีไอเดียมานานแล้ว แต่ยังไม่ได้ลงมือเขียนเป็นรูปเป็นร่าง เลยค้นคว้าศึกษาทีละเล็กละน้อยเรื่อยมาหลายปี มีเวลาซึมซับ ตั้งคำถาม และค้นเพิ่มต่อไปอีก ทำให้ได้รายละเอียดและข้อมูลน่าสนใจเพิ่มมากขึ้น ความยากก็คือการตัดพล็อตรองย่อยๆ ที่ไม่จำเป็นออก ให้เหลือแต่เส้นเรื่องหลักที่เราต้องการจริงๆ ส่วนความท้าทายตอนจะเริ่มเขียนก็คือ เราจะเลือกทฤษฎีใดในบรรดานับสิบๆ ทฤษฎีเกี่ยวกับชีวิตพระนางจามเทวีตั้งแต่ประสูติจนสิ้นพระชนม์ แบบไหนเมกเซนส์กว่ากัน ต้องมาลองแมตช์ลองวิเคราะห์ความน่าจะเป็นด้วยตัวเองก่อน จึงค่อยใช้จินตนาการเข้ามาจับและแต่งเติมต่อไปให้สมเหตุสมผลที่สุด สนุกที่สุด และดูน่าจะเป็นมากที่สุดค่ะ

“จากนั้นก็มาถึงวิธีการเล่าเรื่องที่ต้องเล่าเรื่องที่ละเอียด ซับซ้อน ข้อมูลเยอะให้เข้าใจง่าย ตรงประเด็น เปิดมาให้ลุ้น ให้คิด ให้ติดตามตั้งแต่แรกให้ได้ เลยต้องวางแผนการเล่าเรื่องให้กระชับ เดินเรื่องไว แต่ยังคงอรรถรส วรรณศิลป์ภาษาที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเอง และการให้ความสำคัญกับอารมณ์ของตัวละครเอาไว้ให้ครบค่ะ”

รู้จักตัวเองผ่านนิยาย

“ผลงานเรื่องนี้ทำให้รู้จักตัวเองเพิ่มขึ้นว่า เราก็เขียนแบบดำเนินเรื่องเร็วก็ได้นี่นะ คือเป็นคนเขียนบรรยาย พรรณนาเยอะ ดีเทลเยอะ นิยายที่เขียนส่วนใหญ่จะยาว เพราะเสียดายเรื่อง เสียดายพล็อต เสียดายตัวละคร การเขียนแบบมีข้อจำกัดทางความยาว และการพยายามเปิดเรื่องให้เข้าประเด็นให้เร็วที่สุดเลยเป็นความท้าทาย แต่ในที่สุดก็ทำได้ เหมือนก้าวข้ามขีดจำกัดไปอีกเรื่อง และได้พัฒนาทักษะการเขียน การเล่าเรื่องด้วย

“และอีกข้อที่ตรงข้ามกัน คือทำให้ย้ำจุดเด่นที่เป็นเอกลักษณ์ของตัวเองมากขึ้นว่า เราเป็นคนชอบเขียนเรื่องพีเรียด แนวอิงประวัติศาสตร์ กับชอบเขียนแนวที่มีต่างประเทศเป็นฉากหลัง มีความสุขเวลาเขียนเรื่องทำนองนี้ มันเป็นตัวตนของเรา ก็ต้องรักษาเอาไว้ และพัฒนาต่อค่ะ”

ซ่อนรักในรอยกาล คุณค่าของผลงาน

“ผลงานเรื่องนี้เป็นการเล่าประวัติศาสตร์ในเชิงมุมมองต่อบุคคล วีรบุรุษ วีรสตรีในฐานะมนุษย์คนหนึ่ง ไม่ใช่ผู้วิเศษที่มาพร้อมความสามารถพิเศษหรือพรจากฟ้า ใต้ความสำเร็จและการต่อสู้ต่อศึกภายนอก คือการต่อสู้กับตัวตน ความรู้สึกของตนเองที่ก่อตัวขึ้นมา ถูกทำให้พังทลายลงย่อยยับ จนค่อยๆ ฟื้นกอบกู้หัวใจและตัวตนของตนเองขึ้นมาได้อีกครั้ง

“และอีกสิ่งสำคัญที่เราอยากนำเสนอคือการทำความเข้าใจมนุษย์ว่าไม่มีใครเลวจัด หรือดีสุดไปทั้งหมด ไม่มีขาว-ดำชัดเจนขนาดนั้น ทุกคนมีเฉดสีเทาๆ หรือค่อนไปทางใดทางหนึ่งทั้งนั้น แม้แต่ตัวร้ายในตำนานพระนางจามเทวีอย่างขุนหลวงวิลังคะ ที่ตำนานเล่าไว้เสียชั่วร้าย เป็นตัวแทนของฝ่ายอธรรมผู้ปราชัยในที่สุด ก็อยากนำเสนอให้เห็นความเป็นคนใจใหญ่ เป็นราชันใจนักเลงที่ประชาราษฎร์และทวยหาญล้วนรักเขา ทุกสิ่งที่เกิดขึ้นล้วนมีเหตุมีผล มีที่มาในตัวเองทั้งสิ้นค่ะ”

ติดตามผลงานของพิมพ์อักษราได้ที่ : Facebook.com/pimaxara

 

Don`t copy text!