ชื่อนั้นสำคัญฉะนี้

ชื่อนั้นสำคัญฉะนี้

โดย : ปิยะพร ศักดิ์เกษม

Loading

แม้ในนิทานชาดกของพระมหาสุนทร สุนฺทรธมฺโม เรื่อง “ชื่อนั้นสำคัญไฉน”จะกล่าวถึงเรื่องราวของนางรวยที่ถูกโบยดีเพราะจนจนไม่มีเงินมาจ่ายดอกเบี้ย นายชำนาญที่เดินไม่รู้ทิศจนหลงทาง หรือนายบุญรอดที่ไม่รอดกลับต้องเสียชีวิตไป เป็นนิทานแนะให้วางเฉยเรื่องชื่อ ให้มองให้เห็นว่าชื่อเป็นเพียงการกำหนดเรียกขานเท่านั้น แต่สำหรับการเขียนนวนิยาย เรื่องชื่อกลับมีความสำคัญอย่างยิ่งทั้งต่อเรื่อง ทั้งผู้เขียนและทั้งงผู้อ่าน ไม่ว่าจะเป็นชื่อเรื่องหรือชื่อตัวละคร

เรามาดูเรื่องการตั้งชื่อเรื่องกันก่อนค่ะ การตั้งชื่อเรื่องนั้นจะเกิดก่อนการเขียนตัวเรื่องเต็ม ๆ หรือเกิดทีหลังก็ได้ แล้วแต่ผู้เขียน ไม่มีข้อกำหนดตายตัว แค่ควรต้องคิดหาชื่อเรื่องให้ลงตัวก่อนการนำเรื่องออกเผยแพร่ ชื่อเรื่องที่ดีคือชื่อเรื่องที่ไม่ยาวและเยิ่นเย้อจนเกินไป แต่สามารถเก็บความได้ครบถ้วน จำง่าย และมีพลัง

คลิกซื้อ E-Book ‘ในสวนอักษร’ ที่นี่

การตั้งชื่อเรื่องนวนิยายนั้น ทำได้หลายวิธีด้วยกัน แต่โดยรวมแล้วควรมีความเกี่ยวข้องกับเนื้อเรื่อง แนวทางของเรื่อง อารมณ์ของเรื่อง จุดเด่นของเรื่อง และวิธีการนี้จะยิ่งดูมีชั้นเชิง สามารถสร้างความไพเราะสะดุดตาสะดุดใจมากยิ่งขึ้นไปอีก ถ้าเราตั้งชื่อเรื่องโดยใช้ความเปรียบไม่ใช่แค่ตั้งไปตรง ๆ เช่น “ลับแลลายเมฆ”(ปิยะพร ศักดิ์เกษม)เป็นเรื่องของหญิงสาวที่ถูกปิดกั้นจากความจริง เหมือนมีลับแลที่เขียนลวดลายเป็นเมฆตั้งบังตาไว้ การตั้งชื่อว่า “ลับแลลายเมฆ”ย่อมมีพลังและไพเราะกว่าตั้งชื่อเรื่องว่า “ความจริงที่ปิดบัง” อย่างแน่นอน

เรื่อง “ดอกไม้ในป่าหนาว” (ปิยะพร ศักดิ์เกษม)ก็เช่นกัน เรื่องนี้เป็นเรื่องของหญิงสาวธรรมดา ๆ คนหนึ่งที่ต้องเติบโตอย่างไร้ความอบอุ่นอยู่ท่ามกลางคนเก่งโดยเปรียบเทียบหญิงสาวผู้นั้นเป็นดอกไม้ดอกเล็ก ๆ ท่ามกลางไม้ใหญ่ หรือเรื่อง “ข้ามสีทันดร” (กฤษณา อโศกสิน) ซึ่งเป็นเรื่องราวความยากลำบากของผู้ติดยาเสพติด ทั้งความยากลำบากเมื่อยังติดอยู่และความยากลำบากเมื่อพยายามกลับมาใช้ชีวิตตามปกติ โดยท่านผู้เขียนเปรียบว่าแสนเข็ญประดุจต้องข้ามมหานทีสีทันดรซึ่งเป็นมหาสมุทรที่กว้างใหญ่ขนาดพญาครุฑยังหมดแรงจะบินข้ามเลยทีเดียว เหล่านี้คือตัวอย่างของชื่อเรื่องที่บอกกล่าวถึงเนื้อหาของเรื่อง อารมณ์ และจุดเด่นได้โดยใช้ความเปรียบ

นอกจากนี้ถ้าชอบและคิดว่าเหมาะสมจริง ๆ เราก็อาจใช้ ชื่อตัวละครเอกหรือใช้ชื่อสถานที่ที่สำคัญและมีความหมายในเรื่องนั้น ๆ มาเป็นชื่อเรื่องก็ได้ เช่น “วนิดา” (วรรณสิริ) “ปริศนา” (ว ณ ประมวญมารค) “เรือนศิรา” (ปิยะพร ศักดิ์เกษม) “บ้านทรายทอง” (ก. สุรางคนางค์)

หรือเราอาจใช้ข้อที่กล่าวมาแล้วนั้นผสมกัน เช่นเรื่อง “ทรายสีเพลิง” (ปิยะพร ศักดิ์เกษม) ที่นอกจากจะมาจากชื่อตัวเอกที่ชื่อทรายแล้ว ยังมีความนัยบอกถึงอารมณ์ร้อนเร่าแค้นเคือง ความรุนแรงของเรื่องและเส้นทางชีวิตของตัวละครโดยเปรียบเทียบกับไฟด้วย

อย่างไรก็ตามการตั้งชื่อเรื่องเป็นไปตามยุคสมัยด้วย เช่นในยุคหนึ่งนิยมใช้ถ้อยคำจากบทกวีโบราณหรือแปลจากเพลง เช่น “สายบ่หยุดเสน่ห์หาย” (สุวรรณี สุคณธา) “คือหัตถาครองพิภพ” (น้ำอบ) “ขอหมอนใบนั้นที่เธอฝันยามหนุน”-Send Me The Pillow That You Dream On “เวลาในขวดแก้ว” -Time in A Bottle (ประภัสสร เสวิกุล) หรือในยุคนี้ ก็กำลังนิยมการตั้งชื่อเรื่องเป็นภาษาอังกฤษและภาษาไทยปนกันเช่น  “Messy Buddy นายบัดเดอร์ใช่เธอหรือเปล่า” (แสนแก้ว) หรือเรื่อง “Run Away หัวใจไกลรัก” (ภัสรสา) เป็นต้น

ทั้งนี้เราควรศึกษาด้วยการอ่านเรื่องของนักเขียนชั้นครูแล้วลองสังเกตชื่อเรื่องของท่านเหล่านั้นโดยเทียบเคียงกับเนื้อเรื่องไปด้วย จะทำให้เรายิ่งเข้าใจชัดเจนและสามารถเอามาประยุกต์เป็นการตั้งชื่อเรื่องของตัวเองได้เป็นอย่างดี

ส่วนเรื่องของการตั้งชื่อตัวละครนั้น ไม่มีข้อกำหนดมากมายนัก เราสามารถตั้งได้ตามใจชอบของเรา แต่ถ้าสามารถทำให้สอดคล้องกับชื่อและแนวทางของเรื่องได้ด้วยก็ยิ่งดี เช่น เรื่อง “วาวพลอย”(ปิยะพร ศักดิ์เกษม) เป็นเรื่องที่เขียนถึงผู้หญิงสองคน ที่คนหนึ่งดูเผิน ๆ เป็นแค่พลอย ไม่มีคุณสมบัติอะไรเทียบเคียงอีกคนหนึ่งซึ่งเปรียบได้กับสุดยอดอัญมณีอย่างเพชร ตัวละครผู้หญิงสองคนนั้นจึงชื่อ “ก่องเพชร”ซึ่งเป็นตัวแทนของเพชรคนหนึ่ง ส่วนอีกคนหนึ่งชื่อ “เก็จไพลิน”ให้เป็นตัวแทนของพลอยเป็นต้น

สิ่งสำคัญอีกอย่างหนึ่งที่ไม่ควรละเลยในการตั้งชื่อตัวละครก็คือ ควรให้เหมาะสมกับฐานะในเรื่อง เช่นถ้าเราจะเขียนถึงคนเล็กคนน้อย เราก็ควรตั้งชื่อที่เป็นสามัญ ตัวละครประกอบก็เช่นกัน แม้ในชีวิตจริงเราจะมีผู้ช่วยแม่บ้านที่มีชื่อเวอร์วังอลังการ แต่ชื่อตัวละครซึ่งเป็นผู้ช่วยแม่บ้านอยู่ในนวนิยายไม่ควรจะหรูหรา เพื่อให้ไม่ดึงดูความสนใจจากผู้อานมากจนเกินไป

นอกจากนี้เราควรให้ความสะดวกกับผู้อ่านด้วย เช่นถ้ามีตัวละครเป็นครอบครัว เราควรต้้งชื่อให้เข้าชุด จะคล้องจองกัน จะเป็นชื่อที่ขึ้นต้นด้วยตัวอักษรเดียวกัน หรือจะเป็นชื่อดอกไม้ทั้งบ้าน ก็ได้ ผู้อ่านจะได้จำได้ง่ายว่าใครอยู่ครอบครัวไหน

และควรตั้งชื่อจริงกับชื่อเล่นให้สอดคล้องกันด้วย…ลองนึกภาพฉากในนวนิยายดูค่ะ ถ้าเรากำหนดให้มีตัวละครหญิงสี่คนเป็นเพื่อนกัน นั่งคุยกันอยู่ ก็จะมีชื่อจริงสี่ชื่ออยู่ในบทบรรยาย และมีชื่อเล่นสี่ชื่ออยู่ในบทสนทนา ถ้าชื่อจริงและชื่อเล่นไม่มีความเกี่ยวเนื่องกัน ผู้อ่านอ่านไปได้สักพักก็จะเริ่มสับสนจำไม่ได้แล้วว่าใครเป็นใคร คนไหนเป็นคนพูด ดังนั้นการตั้งชื่อเล่นชื่อจริงให้สอดคล้องกันจึงเป็นเรื่องที่ควรทำนะคะ เช่น มนทกานติ์ (แปลว่าพระจันทร์ )ชื่อเล่นเดือน ดวงลดาชื่อเล่นด้า ศรวณีย์ชื่อเล่นลูกศร จีรณาชื่อเล่นจี๊ด เป็นต้น

Don`t copy text!