สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ตอนที่ 10 : พระบรมราโชวาทพระราชทานเงินและทรงสั่งสอนพระเจ้าลูกเธอ

สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ตอนที่ 10 : พระบรมราโชวาทพระราชทานเงินและทรงสั่งสอนพระเจ้าลูกเธอ

โดย : สิริทัศนา

Loading

เรื่องเล่าและเกร็ดประวัติศาสตร์ อันเกี่ยวเนื่องกับ สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ผู้ทรงอยู่เบื้องหลังยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์ไทย ถ่ายทอดโดย สิริทัศนา เรื่องราวที่แม้จะไม่ใช่ นิยายออนไลน์ แต่ก็เปี่ยมไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์น่าสนใจที่ อ่านเอา นำมาให้คุณได้ อ่านออนไลน์

………………………………….

คิดถึงคำพ่อสั่งสอนให้มากนักหนา

อย่าสูบฝิ่นและอย่าเล่นผู้หญิงที่ชั่ว

อย่าเล่นเพื่อนกับใครเลย

 

พระบรมราโชวาทพระราชทานเงินและทรงสั่งสอนพระเจ้าลูกเธอ

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงห่วงใยพระราชโอรสธิดาเป็นอย่างยิ่ง จึงทรงทำบัญชีพระราชทานทรัพย์สินและเงินสด รวมทั้งพระบรมราโชวาทไว้อย่างละเอียด พระราชดำริในเรื่องการใช้จ่ายเงินทองนั้น ยังนำมาปรับใช้ในยุคสมัยนี้ได้เป็นอย่างดี

ร่างพระบรมราโชวาทพระราชทานเงินและทรงสั่งสอนพระเจ้าลูกเธอ ปรากฏอยู่ในประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 โดยฉบับจริงจะลงพระนามพระเจ้าลูกเธอฯ แต่ละพระองค์ พร้อมด้วย ‘หางว่าว’ รายการทรัพย์สิน ประทับพระราชลัญจกรประจำพระองค์ไว้เป็นสำคัญ โดยพระราชโอรสธิดาจะทรงได้รับสิทธิ์ในทรัพย์สินนั้นเมื่อพระชนมายุครบ 16 พรรษา เพื่อ “คิดอ่านเอาเปนทุนทำมาหากินเลี้ยงตัวต่อไป และใช้สอยตามสมควรเถิด

ทรงเตือนเรื่องความประพฤติไว้ว่า “คิดถึงคำพ่อสั่งสอนให้มากนักหนา อย่าสูบฝิ่นและอย่าเล่นผู้หญิงที่ชั่ว อย่าเล่นเพื่อนกับใครเลย” และ “เมื่อสืบไปภายหน้านานกว่าจะสิ้นอายุเจ้า ตัวเจ้าจะตกเปนข้าแผ่นดินใดใดเท่าใด ก็จงอุส่าห์ตั้งใจทำราชการแผ่นดินให้ดี อย่ามีความเกียจคร้านแชเชือนและเปนอย่างอื่นๆ บรรดาที่ไม่ควร เจ้าอย่าทำอย่าประพฤติให้ต้องตำหนิติเตียนตลอดถึงพ่อด้วย ว่าสั่งสอนลูกไม่ดี จงเอาทรัพย์ที่พ่อให้ไว้นี้ เปนกำลังตั้งเปนทุนเอากำไรใช้การบุญและอุดหนุนตัวทำราชการแผ่นดินเทอญ

ส่วนการรักษาทรัพย์สินพระราชทานนั้น ทรงสอนว่า “มีผัวมีเถิด แต่อย่าให้ปอกลอกเอาทรัพย์ของเจ้าไปได้นัก จงรักษาทุนของพ่อให้ไว้นี้เปนเกียรติยศชั่วลูกชั่วหลาน เอาแต่กำไรใช้สอย เจ้าจงอย่าเล่นเบี้ยเล่นโปเล่นหวยเลยเปนอันขาด และอย่าทำสุ่ยรุ่ยสุ่ยร่ายใช้เงินทองง่ายไม่คิดหน้าคิดหลัง จงคิดอ่านทำมาหากินตริตรองให้ดี อย่าให้นักเลงคนโกงมันหลอกลวงได้ จะเสียทรัพย์ด้วยอายเขาด้วย

ช้างศึก โดยทอมป์สัน พ.ศ. 2409 จาก https://wellcomecollection.org

ทรงแนะนำทางแก้ไขกรณีถูกคดโกงไว้ว่า “ถ้าทรัพย์เท่านี้ที่พ่อให้ไว้ไปขัดขวางฤๅร่อยหรอไปด้วยเหตุที่มีผู้ข่มเหงผิดๆ อย่างใดอย่างหนึ่งแล้ว เจ้าจงเอาหนังสือคำสั่งของพ่อนี้ กับคำประกาศที่ให้ไว้ด้วยนั้น ให้เจ้านายและท่านผู้ใหญ่ข้างในข้างหน้าดูด้วยกันให้หลายแห่ง ปฤกษาหาฤๅอ้อนวอนขอความกรุณาเมตตาและสติปัญญาท่านทั้งปวง ให้อนุเคราะห์โดยสมควรเถิด เล่าความเล่าเหตุที่เปนอย่างไรนั้น ให้ท่านทั้งปวงฟังโดยจริงๆ พูดจาให้เรียบร้อยเบาๆ อย่าให้ท่านที่เปนใหญ่ในแผ่นดินขัดเคืองกริ้วกราดชิงชังได้ จงระวังความผิดให้มาก อย่าตามใจมารดาและคนรักนัก ทรัพย์นี้ของพ่อให้เจ้าดอก ไม่ใช่มารดาเจ้าและผู้อื่นเข้าทุนด้วย

เหตุผลที่ทรงออกประกาศเรื่องทรัพย์สินพระราชทาน และทรงสั่งเสียไว้อย่างละเอียดก็เพราะ “เจ้าเกิดเมื่อพ่อสูงอายุแล้ว พ่อไม่ประมาทจึงจัดแจงให้ไว้แต่เดิม ถ้าพ่อยังมีชีวิตอยู่ อันตรายมีแก่เจ้าก่อน ถ้าอายุถึง ๑๖ ปีแล้ว สั่งให้ใครพ่อจะให้ผู้นั้น ถ้ายังไม่ถึงกำหนดฤๅไม่ได้สั่ง พ่อจะเอาคืนมาทำบุญให้ทาน ถ้าพ่อมีชีวิตและอำนาจไปนาน ทำมาหาได้ก็จะเพิ่มให้อิก แล้วจะแก้หางว่าว

อสังหาริมทรัพย์ที่พระราชทานพระเจ้าลูกเธอ พระราชโอรสเมื่อโสกันต์แล้วจะได้รับพระราชทานวังหรือที่สร้างวังส่วนพระองค์ นอกจากนี้ ยังมีห้องแถวที่ถนนสร้างใหม่ เช่น ถนนเจริญกรุง

ในช่วงปี พ.ศ. 2404-2407 พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้สร้างถนนแบบตะวันตกขึ้นสามสาย คือถนนเจริญกรุง บำรุงเมือง เฟื่องนคร

ถนนเจริญกรุง พ.ศ. 2439 สมัยรัชกาลที่ 5 จาก http://sven-erik.org

ถนนเจริญกรุงอยู่ย่านริมแม่น้ำเจ้าพระยา ที่เป็นท่าเรือ ย่านการค้าสำคัญในหมู่ชาวต่างชาติ  เมื่อบรรดากงสุลเข้าชื่อกันกราบบังคมทูลขอให้สร้างถนนสายยาวสำหรับขี่ม้าหรือนั่งรถม้าตากอากาศด้วยเหตุผลว่า “เข้ามาอยู่ที่กรุงเทพมหานครไม่มีถนนหนทางที่จะขี่รถม้าไปเที่ยว พากันเจ็บไข้เนืองๆ” จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้สร้างถนนช่วงตั้งแต่คูเมืองชั้นในถึงถนนตกริมแม่น้ำเจ้าพระยา

ถนนตก เป็นส่วนปลายสุดของถนนเจริญกรุง สร้างพร้อมถนนเจริญกรุงในปี พ.ศ. 2404 จึงถือว่าเป็นย่านชุมชนที่เก่าแก่อีกแห่งหนึ่งของกรุงเทพมหานคร บริเวณถนนตกนั้น ด้วยสภาพของตัวถนนตัดมาสิ้นสุดที่แม่น้ำเจ้าพระยา จึงเรียกว่า ‘ถนนตก’ ซึ่งหมายความถึงสุดถนนเจริญกรุงและตกแม่น้ำเจ้าพระยา

การก่อสร้างถนนเจริญกรุงตอนในนี้เดิมกำหนดให้ตัดตรง แต่พระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงทักท้วงว่าการสร้างถนนตรงมาสู่พระบรมมหาราชวังอาจเป็นชัยภูมิให้ข้าศึกใช้ตั้งปืนใหญ่ยิงทำลายกำแพงเมืองได้ จึงต้องเปลี่ยนแนวถนนมาเลี้ยวตรงเชิงสะพานดำรงสถิต

ถนนเจริญกรุงตัดกับเฟื่องนคร ที่สี่กั๊กพระยาศรี ปี พ.ศ. 2443 จาก krapook.com

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้จัดงานฉลองถนนทั้งสามสาย เป็นเวลาสามวันสามคืน มีมหรสพ ดอกไม้ไฟตั้งเสาสูงถึง 12 วา และเสด็จประพาสถนนทุกสายที่สร้างขึ้นในครั้งนั้นเพื่อเป็นศุภฤกษ์

ตอนที่สร้างถนนเจริญกรุงเสร็จใหม่ๆ นั้น เรียกกันทั่วไปว่า ‘ถนนใหม่’ ในภาษาไทย ‘นิวโร้ด’ ภาษาอังกฤษ และ ‘ซิงพะโล่ว’ ในภาษาจีนแต้จิ๋ว ต่อมา พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวจึงโปรดเกล้าฯ พระราชทานนามถนนว่า ‘ถนนเจริญกรุง’ ซึ่งมีความหมายถึงความเจริญรุ่งเรืองของบ้านเมือง เช่นเดียวกับชื่อถนนบำรุงเมืองและเฟื่องนคร ที่สร้างในคราวเดียวกัน

พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จพระราชดำเนินทางสถลมารค ทรงทอดกฐินหลวง ณ วัดพระเชตุพน ฉายโดยทอมป์สัน พ.ศ. 2409 จาก https://wellcomecollection.org

ในประชุมประกาศรัชกาลที่ 4 มีประกาศพระราชทานนามถนนเจริญกรุง ว่า

ตรงทางที่ทำใหม่ตรงวัดพระเชตุพน ตรงออกไปนอกกำแพง ข้ามคลองไปริมบ้านแขกเมืองเขมร เลี้ยวไปถึงป้อมปัจนึก แล้วข้ามคลองผดุงกรุงเกษม ตรงลงไปถึงบางคอแหลมนั้น โปรดเกล้าฯ ให้เรียกว่าถนนเจริญกรุง ห้ามอย่าให้เรียกอย่างอื่นต่อไป จดหมายประกาศให้ราษฎรรู้จงทั่ว

เมื่อทรงสร้างถนนแล้ว ก็มีตึกแถวอาคารพาณิชย์เกิดขึ้นทั้งที่เจริญกรุง บำรุงเมือง ในลักษณะตึกแถวชั้นเดียวที่ถ่ายแบบมาจากสิงคโปร์

สมเด็จฯ กรมพระยาดำรงราชานุภาพทรงบันทึกไว้ว่า เมื่อทรงพระเยาว์ ได้รับพระราชทาน “ตึกแถวที่ริมถนนเจริญกรุง 2 ห้อง ได้ค่าเช่าห้อง 1 เดือนละ 4 บาท

ในเวลาต่อมา ที่ถนนเจริญกรุง มีแยกอุณากรรณ เป็นจุดตัดกับถนนอุณากรรณ และถนนบูรพา ในพื้นที่เขตพระนคร ตั้งชื่อตามพระนามพระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย ที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเปี่ยม

ที่ดินซึ่งพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวพระราชทานพระราชโอรสธิดาในประกาศนั้น ยังมีที่ริมคลองมหาสวัสดิ์อีกด้วย…

—————————————-

แหล่งข้อมูล : 

  • สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอกรมพระยาดำรงราชานุภาพ, ความทรงจำ (พระนคร : สำนักพิมพ์สมาคมสังคมศาสตร์แห่งประเทศไทย, 2505)
  • ศูนย์ข้อมูลเกาะรัตนโกสินทร์  www.resource.lib.su.ac.th/rattanakosin
  • www.thapra.lib.su.ac.th
  • www.thaigoodview.com
  • https://sites.google.com/site/ibkkgroup3/home/yan-ceriykrung

 

Don`t copy text!