มื้อเช้าของนักเดินทางและสะพานคนลวง

มื้อเช้าของนักเดินทางและสะพานคนลวง

โดย : วิฑูรย์ ทิพย์กองลาศ

Loading

“เที่ยวโทงเทง” คอลัมน์ท่องเที่ยวกับเรื่องเล่าจากสมุดบันทึกของ “วิฑูรย์ ทิพย์กองลาศ” ซึ่งได้แบกเป้เดินทางคนเดียวตลอดสิบกว่าปีที่ผ่านมา เป็นบันทึกการโดยสารขนส่งสาธารณะ การพบปะและบทสนทนากับผู้คน (ตลอดจนหมาแมว) พร้อมแนบข้อมูลทางประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมประจำเมือง แต่ละวันมักจบลงด้วยเบียร์เย็นๆ หรือวิสกี้ในบาร์ท้องถิ่น

โฮสเทลในยุโรปส่วนมากจะมีห้องครัวส่วนกลางให้แขกผู้เข้าพักทำอาหารกินเองได้ บางแห่งก็มีอาหารเช้าง่ายๆ ให้ฟรี สำหรับ Smart Hostel ที่พักของผมในเมืองซีบีอู มีวัตถุดิบจัดเตรียมไว้ให้ ผู้เข้าพักเลือกทำเองได้ตามสบาย พนักงานที่ออกเวรตอนเย็นจะเป็นผู้ไปซื้อมาเก็บไว้ในตู้เย็นและตู้กับข้าว ได้แก่ ไข่ เบคอน ขนมปังแผ่น ซีเรียล นมสด โยเกิร์ต ซึ่งกะไว้ให้พอดีกับจำนวนแขกที่เข้าพักในคืนนั้นๆ ส่วนเครื่องดื่มอย่างชา กาแฟ ซื้อเตรียมไว้ล่วงหน้าคราวละมากๆ

วันนี้ผมตื่นเช้ามาพร้อมกับความหิวมากกว่าปกติเพราะเมื่อวานไม่ได้กินข้าวเย็น มีเพียงมันฝรั่งแผ่นและเบียร์ดำ Ursus เท่านั้นที่ทำหน้าที่แทน เดินเข้าครัวไปตั้งใจจะทอดไข่ดาวแต่กลัวจะขายหน้าฝรั่ง จึงเปลี่ยนใจมาทอดไข่เจียวแบบไทยแทนเพราะพวกเขาดูไม่เป็น กินกับซีเรียลและนม ตบท้ายด้วยกาแฟร้อนที่มีคนต้มค้างไว้

จอมปั่นร่างยักษ์จากเยอรมนีเทซีเรียลจนเกือบล้นชาม เขากินไป 2 ชาม ต่อด้วยขนมปังปิ้งทาแยมและเนยอีกหลายแผ่น คงเพราะร่างกายของเขาต้องการพลังงานมากกว่าคนปกติซึ่งวันนี้ต้องปั่นอีกหลายกิโลเมตร ‘วาชา’ สาวอินเดียผู้มีสัญชาติสหรัฐฯ ทำงานอยู่ในกรุงลอนดอน ตอกไข่ 2 ฟองใส่ชาม สับเบค่อนเป็นชิ้นเล็กๆ ลงไปผสมก่อนเทลงกระทะกลายเป็นไข่คนเบค่อน เธอกินกับขนมปังปิ้ง ‘มัทธิอัส’ เกย์หนุ่มรีเซ็ปชั่นทอดไข่ดาว 2 ฟองพร้อมกัน ไข่ค่อนข้างไหม้ กินกับขนมปังปิ้งและซีเรียล

‘ฌอน’ หนุ่มออสเตรเลีย ครูสอนภาษาอังกฤษในกรุงเทพฯ กินขนมปังปิ้งกับซีเรียล กินเสร็จเขาก็ลาไปขึ้นรถบัสเดินทางไปยังกรุงบูคาเรสต์เพื่อขึ้นเครื่องบินต่อไปยังกรุงลอนดอน และเดินทางกลับเมืองไทยในอีกสองสามวันหลังจากนั้น

หนุ่มนักปั่นกินจุชาวเยอรมันเช็กเอาต์เป็นคนถัดไป เขาจะเดินทางไปตามถนนสายเล็กๆ ที่รถราน้อยกว่าสายหลัก หากค่ำลงที่กลางทาง เขาก็เตรียมเต็นท์และเครื่องนอนอย่างง่ายติดตัวมาด้วยแล้ว

Podul Minciunilor หรือ “สะพานคนลวง” เมืองซีบีอู

ผมจ่ายเงินสำหรับพักต่ออีกคืน แล้วออกเดินสำรวจเมืองซีบีอูต่อจากเมื่อวาน เริ่มที่ฝั่ง Lower Town ซึ่งโฮสเทลตั้งอยู่ เดินไปบนถนนเล็กๆ ชื่อ Strada Turnului อาคารบ้านเรือนยุคกลางแบบฉบับเยอรมันแซ็กซอนที่หลังคามีหน้าต่างเป็นรูปคล้ายดวงตา บางหลังมีตาเดียว บางหลังสองตา บางหลังสามตา ที่มากกว่าก็มี ขึ้นอยู่กับขนาดของอาคาร เดินผ่านจัตุรัสเล็กๆ ชื่อ Piata Coroana ที่อยู่ติดกับสี่แยก และหากเดินตรงไปเรื่อยๆ ก็จะถึงแม่น้ำซิบินที่ไหลผ่านกลางเมือง

ความสำคัญส่วนนี้ของเมืองมีน้อยกว่าฝั่ง Upper Town จึงเดินกลับ เลี้ยวซ้ายที่สี่แยกเดิม เข้าถนน Strada Faurului มีร้านอาหาร ผับ บาร์ ร้านขายเสื้อผ้า โรงแรมเล็กๆ และสนามเด็กเล่น เมื่อถึงสี่แยกผมเลี้ยวขวาเข้าสู่ถนน Strada Ocnei เดินไปอีกราว 200 เมตรก็ถึงสถานที่สำคัญแห่งหนึ่งของเมือง คือ Liar’s Bridge หรือ ‘สะพานคนลวง’

สะพานเล็กๆ แห่งนี้เป็นสะพานเหล็กที่มีอายุเก่าแก่ที่สุดในโรมาเนีย สร้างขึ้นในปี ค.ศ. 1859 แทนสะพานเดิมที่สร้างด้วยไม้ มีตำนานเล่าขานกันมาตั้งแต่สมัยสะพานยังสร้างด้วยไม้ ซึ่งต่างเรื่องต่างราวกันออกไป มีอยู่ด้วยกัน 3 ตำนาน

คนเฒ่าคนแก่เล่าว่าในยุคกลางการจะวัดว่าใครพูดจริงหรือเท็จต้องนำตัวมาพูดที่สะพานแห่งนี้ หากเป็นความเท็จสะพานก็จะสั่นสะเทือนและส่งเสียงแปลกประหลาดออกมา

ตำนานที่สองบอกว่าใกล้ๆ สะพานมีตลาดอยู่แห่งหนึ่ง พ่อค้าหลายคนสร้างฐานะขึ้นมาได้จากการค้าขายในตลาดแห่งนั้น แต่หากพ่อค้าคนใดถูกจับได้ว่าโกงตาชั่ง ค้าขายอย่างไร้ความซื่อสัตย์ ก็จะถูกจับโยนลงมาจากสะพาน

อีกหนึ่งสถาปัตยกรรมที่โดดเด่นในเมืองซีบีอู

ตำนานสุดท้ายซึ่งจะเล่ากันในกลุ่มผู้ชายตามผับตามบาร์เสียเป็นส่วนใหญ่ เรื่องมีอยู่ว่าในยุคกลางหญิงสาวที่บริสุทธิ์ไม่เคยต้องมือชายจะมายังสะพานแห่งนี้เพื่อพบกับคนรักหนุ่มและวางแผนแต่งงานกัน แต่หากในเวลาต่อมาสตรีผู้นั้นถูกจับได้ว่าเคยมีสัมพันธ์อย่างว่ากับชายอื่นมาก่อน เธอก็จะถูกจับโยนลงมาจากสะพาน

ไม่มีบันทึกไว้ว่ามีคนถูกโยนลงมาจากสะพานจำนวนเท่าใดตั้งแต่สะพานสร้างขึ้นหรือตำนานสร้างขึ้น ปัจจุบันสะพานคนลวงถือเป็นจุดที่ผู้มาเยือนเมืองซีบีอูจะต้องไม่พลาดมาถ่ายภาพเป็นที่ระลึก ใต้ราวเหล็กของสะพานฝั่งหนึ่งระบุวันเวลาที่สร้าง ส่วนอีกฝั่งเป็นตราของชาวแซ็กซอนที่มีดาบสองเล่มไขว้กันและมีมงกุฎอยู่ด้านบน สิ่งนี้หมายความว่าชาวแซ็กซอนผู้มาตั้งรกรากยอมรับกษัตริย์แห่งฮังการีและเป็นส่วนหนึ่งในอำนาจการปกครองแห่งภูมิภาคทรานซิลเวเนีย

สะพานคนลวงตั้งอยู่ใกล้ๆ กับ Piata Mica หรือจัตุรัสเล็กที่เดินมาแล้วเมื่อวานแต่ไม่ได้เดินดูให้ทั่วจึงไม่เห็น ผมแวะซื้อแผ่นแม่เหล็กติดตู้เย็นจากแผงขายของที่ระลึกของป้าที่แต่งตัวเหมือนชาวโรมานี หรือที่เรียกกันว่า ‘ยิปซี’ จากจัตุรัสเล็กผมเดินไปตามทางเดินที่ลอดหอคอยประจำเมืองไปโผล่ที่ Piata Mare หรือจัตุรัสใหญ่ เลียบขอบจัตุรัสที่เต็มไปด้วยร้านอาหารไปซื้อแว่นกันแดดที่ร้านซึ่งเล็งไว้แล้วตั้งแต่เมื่อวานในราคาแค่ 15 เล หรือประมาณ 130 บาท เป็นแว่นอย่างง่ายสำหรับกันรังสียูวีและแสงสะท้อน จากนั้นเดินทะลุผ่านใต้ถุนอาคาร General House ไปออกถนน Strada Arhivelor ที่มีสวนสาธารณะเล็กๆ ให้ได้หยุดนั่งพัก หายเมื่อยเท้าแล้วก็เดินต่อ ถนนเส้นนี้ไปสุดที่กำแพงเมืองโบราณซึ่งมีสวนสาธารณะตั้งอยู่ติดกัน

อาคารบ้านเรือนบริเวณใกล้กำแพงเมืองโบราณ ถ่ายจาก Thalia hall

กำแพงโบราณส่วนที่หลงเหลืออยู่นี้อยู่ติดกับโรงละคร Thalia Hall สร้างขึ้นในคริสต์ศตวรรษที่ 16 บนพื้นที่เดิมของป้อมปืนใหญ่ของเมือง ปัจจุบันใช้สำหรับการจัดคอนเสิร์ตและการแสดงสำคัญๆ ของเมือง ถัดจาก Thalia Hall คั่นด้วยสวนเล็กๆ คือพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ แต่ผมไม่ได้เดินเข้าไป เพราะตั้งใจจะเดินเลียบกำแพงโบราณไปอีกทาง ผ่านสวนสาธารณะไปเข้าถนนคนเดินนิโคไล บัลเชสคู

มีเด็กวัยรุ่นยืนเล่นกันอยู่หลายคนแถวๆ กำแพง คนหนึ่งร้องทักขึ้นว่า “หนีห่าว” ผมตอบ “หนีห่าว” กลับไปเพื่อให้น้องๆ เขาสบายใจ ถึงตอนนี้เข้าใจแล้วว่าคนโรมาเนียและหลายประเทศในกลุ่มบอลข่านมีทัศนคติที่ดีกับนักท่องเที่ยวชาวจีน นอกจากชาวบอลข่านส่วนมากไม่ชอบสหรัฐอเมริกาแล้ว ในอดีตพวกเขายังเคยปกครองด้วยระบอบคอมมิวนิสต์อยู่หลายสิบปี อีกทั้งในเวลานี้นักท่องเที่ยวชาวจีนก็มีส่วนสำคัญในการประคับประคองเศรษฐกิจของพวกเขา

บนถนนนิโคไล บัลเชสคู มีร้านขายขนมที่เรียกกันว่า ‘โกกลาเชอ’ หรือโดนัทในสไตล์โรมาเนีย ไม่มีรูแต่มีไส้ ทำออกมาเป็นแผ่นรูปครึ่งวงกลม ตั้งเรียงกันโดยเขียนชื่อไส้กำกับไว้แต่เป็นภาษาโรมาเนีย พนักงานขายพูดภาษาอังกฤษไม่ได้ ผมจึงชี้มั่วๆ มาหวังจะได้ไส้แยมแอปปริคอตแต่เมื่อกินจึงรู้ว่าเป็นไส้กรอก กินส่วนที่เป็นไส้กรอกจนหมด ส่วนขนมปังที่เหลือแบ่งให้นกพิราบ และมีนกตัวเล็กๆ อีก 2 ตัวมาแจมด้วย นกตัวเล็กๆ นี้ว่องไวกว่านกพิราบมาก แย่งกินได้มากกว่าและไม่ถูกนกพิราบทำร้าย

ผมเดินกลับเข้าที่พัก มีแขกมาเช็กอินใหม่ชื่อ ‘ราม’ เป็นคนศรีลังกาแต่ทำงานในลอนดอนได้ 6 ปีแล้ว เขาขอให้ผมแนะนำร้านอาหาร ผมบอกไปว่ามีร้านชื่อ Super Mamma บนถนนนิโคไล บัลเชสคู ไม่ไกลจากจัตุรัส Piata Mare ทั้งที่ผมเองยังไม่เคยกิน แต่ได้เข้าไปสำรวจแล้วเห็นมีบรรดาแกงและกับข้าวหลายอย่าง มีข้าวสวยและข้าวผัดด้วย หรือจะกินกับมันฝรั่งบดหรือมันฝรั่งทอดก็ได้ มิสเตอร์รามอยากกินอาหารเผ็ดๆ ผมจึงบอกว่า “มีแกงกะหรี่ด้วยนะ แต่คงไม่เผ็ดเหมือนที่คุณต้องการ”

Holy Trinity Cathedral มหาวิหารออร์โธดอกซ์แบบไบแซนไทน์ เมืองซีบีอู

งีบหลับไปครู่หนึ่งผมก็เดินออกไปสำรวจเมืองอีกรอบ เดินไปบนถนน Strada Centumvirilor เลี้ยวซ้ายเข้าถนน Strada Tribunei เลี้ยวซ้ายอีกครั้งเข้าถนน Strada Mitropoliei แล้วก็พบศาสนสถานเด่นเป็นสง่า ชื่อว่า Holy Trinity Cathedral เป็นมหาวิหารออร์โธดอกซ์แบบไบแซนไทน์ มีความสำคัญเป็นโบสถ์ของอาร์คบิชอปโรมาเนียนออร์โธดอกซ์ประจำเมืองซีบีอูและภูมิภาคทรานซิลเวเนีย ภาพเขียนภายในโบสถ์สวยงามจับใจ

ออกจาก Holy Trinity Cathedral แห่งเมืองซีบีอู ก็เดินตรงไปบนถนน Strada Mitropoliei จนไปจรดกับถนน Strada Samuel Von Brukenthal ใกล้ๆ ศาลาว่าการเมือง เลี้ยวขวาไปหน่อยก่อนออกไปยังจัตุรัส Piata Mare คือพิพิธภัณฑ์แห่งชาติบรุกเกนทาล Brukenthal ตั้งอยู่ด้านขวามือซึ่งมาจากชื่อของบารอน Samuel Von Brukenthal ผู้ครองนครแห่งราชวงศ์ฮับส์บวร์ก (แห่งจักรวรรดิโรมันอันศักดิ์สิทธิ์ ขณะนั้นมีเมืองหลวงอยู่ที่กรุงเวียนนา) ประจำภูมิภาคทรานซิลเวเนียในปลายคริสต์ศตวรรษที่ 18 และบารอนบรุกเกนทาลนี่เองคือผู้เริ่มรวบรวมของสะสมก่อนที่จะเปิดเป็นพิพิธภัณฑ์ในปี ค.ศ. 1817 ถือเป็นพิพิธภัณฑ์แห่งแรกในโรมาเนียและยุโรปตะวันออกตอนใต้

ภายในHoly Trinity Cathedral มหาวิหารออร์โธดอกซ์แบบไบแซนไทน์

อาคารพิพิธภัณฑ์บรุกเกนทาลมีขนาดค่อนข้างใหญ่ แบ่งออกเป็นส่วนที่เป็นวัง ส่วนพิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ธรรมชาติ พิพิธภัณฑ์ประวัติศาสตร์ พิพิธภัณฑ์การแพทย์ พิพิธภัณฑ์ที่เกี่ยวกับการล่าสัตว์ ตัวอาคารถือว่าเป็นอนุสรณ์สถาปัตยกรรมบาโรกที่สำคัญมากในโรมาเนีย ได้แรงบันดาลใจในการก่อสร้างมาจากวังสไตล์บาโรกทั้งหลายในกรุงเวียนนา ออสเตรีย

ถึงตอนนี้ผมรู้สึกหิวและต้องการอาหารที่เป็นอาหารจริงๆ จึงเดินไปที่ร้าน Super Mamma โล่งใจที่ไม่เจอมิสเตอร์รามในร้านเพราะกลัวว่าอาจแนะนำร้านไม่อร่อยแก่เขาไป วิธีการซื้ออาหารในร้านคือเดินดูอาหารในกระบะที่ปรุงสุกไว้แล้ว จากนั้นก็เข้าแถวบอกพนักงานว่าต้องการอะไรบ้าง แล้วจ่ายเงินกับแคชเชียร์ ก่อนที่จะเอาใบเสร็จไปให้พนักงานอีกส่วนตักอาหารให้อีกที แต่ผมเรียกชื่ออาหารไม่ถูก จึงชี้กับพนักงานฝ่ายตักแล้วเขาก็ใจดีช่วยเดินไปบอกแคชเชียร์ว่าของผมราคาเท่าไหร่

ได้ข้าวผัดไก่มาในราคา 10 เล ซุปผัก 5 เล และเบียร์ Staropramen กระป๋องยาวละ 6 เล ข้าวผัดรสชาติพอถูไถ ส่วนซุปผักจืดชืด

ที่รสชาติดีสุดกลับเป็น Staropramen เบียร์นำเข้าจากสาธารณรัฐเช็ก

 

Don`t copy text!