ก่อนย่ำสนธยา บทที่ 1 : ฉันชื่อกุนตี (1)

ก่อนย่ำสนธยา บทที่ 1 : ฉันชื่อกุนตี (1)

โดย : สัมพันธ์ สุวรรณเลิศ

Loading

ก่อนย่ำสนธยา โดย สัมพันธ์ สุวรรณเลิศ เจ้าของรางวัลรองชนะเลิศจากโครงการอ่านเอาก้าวแรก รุ่นที่ 3 ที่มาพร้อมเรื่องราวของหญิงวัยเกษียณที่ต้องพบบททดสอบแห่งชีวิต โดยเฉพาะเมื่อเธอมาเสียท่าให้มิจฉาชีพในคราบญาติมิตร เธอจะพลิกฟื้นให้กลับมามาดมั่นในตัวเองได้หรือไม่ พบคำตอบได้ใน anowl.co

ฉันรู้สึกสะลึมสะลืออยู่บนเตียงที่มีสายระโยงระยาง ร่างกายหนักอึ้งไร้เรี่ยวแรงเหมือนเพิ่งผ่านสมรภูมิรบอันหนักหน่วง ความเยียบเย็นของเครื่องปรับอากาศทำให้ฉันสั่นสะท้าน ฉันพยายามลำดับความคิดและความทรงจำว่า…อะไรพาฉันมาถึงจุดนี้ได้

ดิฉันชื่อ ‘กุนตี’ ค่ะ สักพักพอสนิทกันแล้วทุกคนก็มักจะเรียกฉันสั้นๆ ว่า ‘กุน’ เพื่อนๆ บางคนสมัยมัธยมก็เรียกฉันในทำนองเย้าหยอกว่า ‘ยายปีกุน’ ที่แปลว่าหมู ซึ่งฉันก็ไม่ได้เดือดเนื้อร้อนใจ เพราะฉันมีรูปร่างที่สมส่วนไม่ได้อ้วนฉุเป็นกระชุนุ่นอย่างที่เพื่อนๆ พยายามตั้งฉายา…ฟังมาถึงตรงนี้คงทราบกันแล้วใช่ไหมคะว่าดิฉันแค่ป่วย แต่ไม่ได้มีอาการสมองเสื่อมหรือหลงๆ ลืมๆ อย่างที่คนวัยเดียวกันกับดิฉันเขาเป็นหรือเริ่มมีการอาการกัน

ระหว่างที่ดิฉันกำลังนอนรอให้ร่างกายคืนสภาพเป็นปกติ คงจะว่างพอดูที่จะเล่าเรื่องราวของดิฉันให้ทุกคนฟัง

ดิฉันชื่อกุนตีค่ะ…อ้าว! ฉันบอกชื่อของฉันไปแล้วหรือคะ ถ้าบอกไปแล้วก็อย่าถือสาหญิงวัยพ้นเกษียณมาแล้วถึง 6-7 ปีอย่างฉันเลยค่ะ อย่างว่าสังขารมันเข้าสู่ขาลงเต็มที่ สมองก็เช่นกัน…

คุณคงไม่ทราบว่าความสุขอย่างหนึ่งของคนวัยดิฉัน คือการได้รำลึกเรื่องเก่าและเล่ามันให้ลูกๆ หลานๆ ฟังได้ซ้ำๆ อย่างไม่รู้จักเบื่อ

 

ฉันเกิดในครอบครัวข้าราชการ พ่อเป็นทหารชั้นสัญญาบัตร แม่เป็นครู ชีวิตในวัยเด็กนั้นแสนเรียบง่าย ความผาดโผนเดียวที่มีในชีวิตวัยเด็กคงไม่พ้นก็ที่เราต้องย้ายตามพ่อไปประจำยังค่ายทหารในจังหวัดต่างๆ ตามแต่คำสั่งโยกย้ายตกลงมาถึง

ฉันเกิดในปีที่มีการฉลองกึ่งพุทธกาล และฉันเกิดก่อนดารานักร้องซูเปอร์สตาร์ชายท่านหนึ่งเพียง 1 ปี แต่ก็น่าแปลกที่ทุกคนไม่ว่าจะเป็นลูกเล็กเด็กแดงที่เพิ่งเกิดปีนี้หรือปีกลาย ต่างก็ยังเรียกนักร้องชายท่านนั้นว่า ‘พี่’ ส่วนฉันที่อายุล้ำหน้าเขามาเพียงปีเดียวกลับถูกเรียกว่า ป้า ย่า ยาย ไปตามสถานะ แต่อย่างว่าละ ขนาดฉันเกิดก่อนเขาตั้งปีหนึ่ง ฉันยังเรียกเขาด้วยความรักว่า ‘พี่…’ เช่นกัน

อย่าถือสาฉันเลยนะคะ ถ้าจะนอกเรื่องนอกราวไปเสียบ้าง มันเป็นธรรมดาของคนวัยนี้เองละค่ะ

นักประชากรศาสตร์เรียกคนที่เกิดในสมัยฉันว่าพวก ‘เบบี้บูม’ เพราะหลายครอบครัวนิยมมีลูกกันมาก ทำไมหรือคะ ก็เพราะช่วงที่ฉันเกิดเป็นช่วงหลังสงครามโลกครั้งที่สองสิ้นสุดไปไม่นาน ประชากรทั้งโลกล้มหายตายจากไปเพราะภัยสงคราม สมัยนั้นจึงสนับสนุนให้มีลูกกันเพื่อเพิ่มประชากรซึ่งจะเป็นกำลังพัฒนาประเทศและโลกนี้สืบต่อจากบรรพบุรุษที่ล้มหายตายจากไปกว่าหนึ่งในสามของประชากรโลก…

เห็นไหมคะ ว่าคนในรุ่นดิฉันเกิดมาพร้อมความคาดหวังและหน้าที่ที่ยิ่งใหญ่แค่ไหน ประเทศและโลกนี้จะก้าวหน้าหรือล้มสลายไปพร้อมกับสงครามโลกที่เพิ่งจบสิ้นก็ขึ้นอยู่กับคนรุ่นใหม่ (ในสมัยนั้น) อย่างพวกดิฉันแล้วละค่ะ

เมื่อฉันอายุได้ 10 ขวบ ส่วนยายธารีน้องสาวที่คลานตามกันมาอายุ 9 ขวบ พ่อก็ได้ย้ายกลับมาประจำในกรมทหารแห่งหนึ่งในกรุงเทพมหานคร แม่ก็ย้ายตามมาสอนในโรงเรียนละแวกนั้น แต่ไม่นานก็มีข่าวไม่สู้ดี เกิดสงครามขึ้นในภูมิภาคละแวกประเทศเพื่อนบ้านของเรา รัฐบาลไทยในการสนับสนุนกองทัพของประเทศสหรัฐอเมริกาโดยการอนุญาตให้ตั้งฐานทัพในจังหวัดต่างๆ และส่งกำลังพลเข้าร่วมรบเพื่อขจัดและป้องกันภัยจาก ‘คอมมิวนิสต์’ และแน่นอนพ่อของดิฉันต้องย้ายไปช่วยราชการยังฐานทัพเหล่านั้นที่กองทัพไทยไปตั้งประกบฐานทัพของสหรัฐอเมริกา ขณะนั้นพ่อมียศสูงระดับนายพันแล้ว แต่นั้นก็ไม่ได้หมายความว่าพ่อจะไม่ต้องเข้าสู่สมรภูมิการสู้รบ

เมื่อทราบข่าวว่าพ่อต้องย้ายไปประจำที่ฐานทัพต่างจังหวัด แม่และฉันก็ลงมือเก็บงำข้าวของที่จำเป็นเตรียมย้ายตามพ่อทันที

แต่คราวนี้พ่อบอกไม่อยากให้ฉัน แม่และน้องต้องย้ายตามไป เพราะฉันกับน้องโตมากแล้ว ก็ต้องย้ายไปย้ายมาบ่อยๆ อาจทำให้การเรียนเสียหายได้ ดังนั้นนอกจากพ่อที่ต้องย้ายไปช่วยราชการแล้ว พวกฉันทุกคนก็ยังคงอาศัยบ้านพักในกรมทหารแห่งนั้นตามสิทธิ์ของพ่อโดยไม่ต้องย้ายตามไป

 

คนในสมัยฉันก็เกิดมาในสภาวะนี้ สภาวะที่โลกเพิ่งฟื้นตัวจากสงครามโลก แล้วก็จำเพาะมาเกิดสงครามขึ้นในประเทศละแวกบ้านเรา ซึ่งเมื่อฉันโตขึ้นก็เข้าใจว่าสงครามที่เกิดขึ้นนั้นคือสงครามตัวแทน ตัวแทนของแนวคิดทางการเมืองที่ฝั่งหนึ่งเรียกตัวเองว่า ‘ประชาธิปไตย’ อีกฝ่ายคือ ‘คอมมิวนิสต์’ อย่างที่รู้กันดีค่ะว่าเราอยู่ฝั่งประชาธิปไตย จึงถูกปลูกฝังให้เกลียดและกลัวคอมมิวนิสต์ ทุกวันคืนเราต้องหวาดระแวงว่าจะมีไหมหนอที่สงครามจะลุกลามเข้ามาถึงบ้านเรา เราหวาดกลัวว่าหากคอมมิวนิสต์ตีเข้ามายึดครองประเทศเราและเปลี่ยนแปลงพวกเราให้กลายเป็นคอมมิวนิสต์เหมือนประเทศเพื่อนบ้านรอบข้าง ดังนั้นเพราะความกลัวพวกเราจึงถูกหล่อหลอมให้เติบโตมาเป็นคนที่มีแบบอย่างเดียวกัน คิดเหมือนกัน และมีเป้าหมายที่เหมือนกัน เราเชื่อในคุณงามความดี เราเชื่อในการเสียสละเพื่อส่วนรวม อดทน อดออม และรักษาหน้าที่ของตนเองให้ดี

พวกเราจึงเติบโตมาบนเบ้าหลอมแบบเดียวกันจึงไม่แปลกเลยค่ะ ที่คนในวัยฉันจะมีวิธีคิดและแสดงออกที่คล้ายกัน สังคมหลอมให้เราออกมาเป็นแบบเดียวกัน นั่นคือ การแบกรับหน้าที่พลเมืองที่ดี การต้องคิดถึงส่วนรวมก่อนส่วนตัว อยู่ในกรอบมีวินัย ขยันและอดทนต่อความยากลำบาก ซึ่งฉันก็ยึดมั่นว่ามันเป็นสิ่งที่ถูกต้องและพึงกระทำมาตลอด…จนฉันเข้าสู่วัยเกษียณแล้วนี่เอง…ก็เกิดสิ่งที่สั่นคลอนความเชื่อและความศรัทธาของฉันอย่างที่สุดทีเดียว

 

ขอย้อนกลับไปที่เรื่องพ่อของฉันที่ไปประจำที่ต่างจังหวัดอันห่างไกลดีกว่าค่ะ

ช่วงครึ่งปีแรกที่พ่อไปประจำการนั้นทุกอย่างดูเหมือนเป็นปกติดี พ่อพยายามกลับบ้านมาเยี่ยมพวกเราอย่างน้อยเดือนละครั้งหรือสามเดือนสองครั้งตามแต่โอกาส จนครึ่งปีหลังปีฉันสังเกตว่าพ่อกลับบ้านน้อยลง และแม่มีสีหน้าแย่ลงเหมือนมีเรื่องในใจ

หลายครั้งที่มีเพื่อนแม่บ้านที่ติดตามไปดูแลสามีซึ่งเป็นนายทหารกลับเข้ากรุงเทพฯ และถือโอกาสมาเยี่ยมแม่ ฉันก็สังเกตเห็นเพื่อนแม่บ้านคนนั้นป้องปากกระซิบกระซาบกับแม่ และแม่ก็มีสีหน้าโกรธเกรี้ยวสลับไปกับความเศร้าหมอง…

“คุณพี่จะตามไปฉีกอกนังนั่นที่ต่างจังหวัดไหมคะ” เสียงเพื่อนแม่บ้านคนนั้นถาม

“ไม่ละค่ะ ฉันมีงานที่ต้องทำและมีลูกที่ต้องดูแล ไม่ว่างจะไปทำอะไรแบบนั้น” แม่ตอบหน้านิ่ง

คุณเดาไม่ผิดหรอกค่ะ พ่อมีบ้านน้อยอยู่ที่จังหวัดนั้น

แม่ไม่ได้บอกฉันหรอกค่ะ แต่ฉันมารู้เรื่องเอาเมื่อพ่อย้ายกลับมาประจำที่กรมกองเดิมแล้ว

ตลอดระยะเวลาเกือบ 5 ปี ที่พ่อนานๆ จะกลับบ้านสักครั้ง ตลอดเวลาที่ฉันไม่ได้ใกล้ชิดกับพ่อ ฉันก็สัมผัสได้ถึงความวิตกทุกข์ร้อนของแม่มาโดยตลอด ดังนั้นเมื่อพ่อได้ย้ายกลับมาทำให้ฉันรู้สึกดีใจที่ครอบครัวเราจะกลับมาพร้อมหน้าพร้อมตาอีกครั้ง ถึงแม้แม่ดูเหมือนจะหมางเมินพ่อไปอยู่บ้าง แต่หน้าที่ของแม่ที่ต้องทำต่อพ่อนั้นแม่ยังทำได้อย่างครบถ้วนสมบูรณ์

จนวันที่ความแตก

วันนั้นเป็นวันหยุด ช่วงสายๆ ขณะที่เราพักผ่อนหลังรับประทานอาหารเช้ากันอยู่นั้น เพื่อนแม่บ้านคนเดิมก็พาผู้หญิงคนหนึ่งมาที่บ้านเรา บอกว่าจะขอพบพ่อและแม่

พ่อมีสีหน้าตกใจเมื่อเห็นผู้หญิงคนนั้น ฉันได้ยินพ่อเรียกชื่อเธอว่า ‘บัวสี’

ในสายตาของฉัน บัวสีเป็นผู้หญิงร่างเล็ก ผิวขาวแต่ไม่ได้ละเอียดชวนมองเท่าไรนัก ผมดำดัดจนแห้งกรอบ เธอสวมเสื้อคอยืดแขนกุดคว้าคอลึกกับกางเกงยีนส์รัดรูป

บัวสีเห็นพ่อก็ทำท่าจะวิ่งโผเข้าหา แต่พอเห็นแม่เดินตามมาด้วย นางก็คงสามารถประเมินได้ว่านี่คือเมียแต่งของพ่อ บัวสีจะเปลี่ยนท่าทีเป็นล้มแปะลงกราบแม่กับพื้น พร้อมฟูมฟายแบบน้ำตาแห้ง ก่อนจะพูดขึ้นว่า

“บัวสีกราบค่ะคุณนาย นึกว่าเวทนาบัวสีเถิดค่ะ อย่างน้อยๆ ก็เห็นแก่ที่บัวสีดูแลท่านผู้พันที่บ้านนอกมาตลอดห้าปีเถิดค่ะ ไม่เลี้ยงเป็นเมีย จะเลี้ยงเป็นบ่าวในครัวก็ได้ ขอแต่อย่าขับไสบัวสีไปเลย”

‘น่าจะดูหนังของวังละโว้มากไปละมัง พูดอย่างกะจำบทเขามา’ ฉันนึกค่อนในใจ

ส่วนแม่ยืนกำหมัดแน่น ฉันได้ยินเสียงลมหายใจเข้าออกของแม่แรงดังฟืดฟาด นานสักอึดใจที่แม่นิ่งไปเหมือนกับกำลังนึกหาคำตอบหรือไม่ก็กำลังระงับอารมณ์อยู่

สุดท้ายแม่ไม่ได้พูดกับบัวสี แต่หันไปพูดกับพ่อว่า “เรื่องของคุณ คุณจัดการเองเถิดค่ะ แต่ฉันขอว่าอย่าให้มายุ่มย่ามกับฉันและลูกๆ เป็นพอ”

พูดจบแม่ก็เดินหลังตรงกลับเข้าไปในบ้าน

ฉันไม่รู้ว่าพ่อจัดการกับบัวสีอย่างไร แต่สุดท้ายบัวสีก็ยอมกลับไป

บัวสีหายไปสักพักก็วนๆ เวียนๆ กลับมาสร้างความรำคาญใจให้แม่อยู่ไม่ได้ขาด และทุกครั้งที่บัวสีปรากฏตัว บรรยากาศของบ้านเราที่กำลังจะดีก็กลับมาอึมครึมอีกครั้ง

แม่คงรู้สึกอึดอัดไม่น้อยแต่ต้องข่มเอาไว้ข้างใน หลายครั้งที่ฉันเห็นแม่นั่งร้องไห้เงียบๆ คนเดียวในห้องนอน ความอึดอัดและทุกข์ทนของแม่ ทำให้ฉันตั้งใจอย่างแน่วแน่ว่า หากเป็นฉัน ฉันจะไม่ยอมอดทนเหมือนแม่เด็ดขาด แม้จะยังมีความรักให้กันอย่างที่แม่ยังคงรักพ่อ แต่หากต้องอยู่ด้วยกันบนความไม่มั่นคงและไม่มั่นใจเช่นนี้ ฉันไม่มีวันยอม

 



Don`t copy text!