ก่อนย่ำสนธยา บทที่ 1 : ฉันชื่อกุนตี (3)
โดย : สัมพันธ์ สุวรรณเลิศ
ก่อนย่ำสนธยา โดย สัมพันธ์ สุวรรณเลิศ เจ้าของรางวัลรองชนะเลิศจากโครงการอ่านเอาก้าวแรก รุ่นที่ 3 ที่มาพร้อมเรื่องราวของหญิงวัยเกษียณที่ต้องพบบททดสอบแห่งชีวิต โดยเฉพาะเมื่อเธอมาเสียท่าให้มิจฉาชีพในคราบญาติมิตร เธอจะพลิกฟื้นให้กลับมามาดมั่นในตัวเองได้หรือไม่ พบคำตอบได้ใน anowl.co
แล้วช่วงสอบเอ็นทรานซ์ก็ผ่านไป ฉันนั่งรอนอนรอฟังผลด้วยใจระทึก…จนวันประกาศผลมาถึง
ฉันจำวันที่เดินถือเทียนไปส่องดูผลสอบในคืนวันประกาศผลได้ดี ฉันเคยเล่าเรื่องนี้ให้ยายนันท์ลูกสาวของฉันฟัง ยายนันท์มันถามฉันว่า “สมัยนั้นยังไม่มีไฟฉายใช้หรือคะ ถือเทียนไปส่องหามันมองเห็นชัดหรือ แล้วน้ำตาเทียนร้อนๆ ไม่หยดใส่มือบ้างหรือคะ” ฉันค้อนยายนันท์ไปวงหนึ่ง ยายนันท์ช่างไม่เข้าใจบรรยากาศความลุ้นระทึกใน ‘คืนส่องเทียน’ ใช่สิก็รุ่นยายนันท์เขาประกาศผลการสอบผ่านทางโทรทัศน์ในค่ำวันนั้น แล้วรุ่งเช้าประกาศผ่านทางหนังสือพิมพ์แล้วนี่ หรือถ้าไม่มั่นใจยังสามารถโทรศัพท์เข้าไปสอบถามผลเพื่อตอกย้ำได้อีกหน เลยไม่ต้องออกไปเบียดเสียดกับผู้คนแย่งดูผลการสอบ ยายนันท์คงไม่รู้หรอกว่าในคืนนั้นน้ำตาเทียนที่ว่าร้อน ยังไม่ร้อนเท่าน้ำตาคนที่ผิดหวังจากการสอบ และไม่อบอุ่นด้วยความปีติอิ่มเอมเท่าน้ำตาคนที่สมหวังจากการสอบเช่นกัน
ฉันจำได้ดี หลังจากเห็นผลสอบที่ปิดประกาศไว้ที่กระดานบริเวณสนามจารุเสถียร หรือที่เด็กๆ ชอบเรียกว่าสนามจุ๊บ ฉันวิ่งไปที่ตู้โทรศัพท์สาธารณะ หยอดเหรียญบ้านด้วยมือสั่นเทา แป้นหมุนของโทรศัพท์กว่าจะหมุนกลับมาเพื่อให้ฉันหมุนหมายเลขตัวถัดไปช่างช้าเกินกว่าที่จะรอคอย เสียงรอสายดังไม่นานเสียงแม่ก็รับ ฉันกรอกเสียงไปอย่างละล่ำละลัก “แม่ขา…กุนติดคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี กุนเอ็นติดแล้วคะแม่…” ก่อนจะนั่งพับลงร้องไห้ด้วยความยินดีอย่างที่สุด จนคุณอา ทส.ของพ่อที่อาสาขับรถพาฉันมาดูผลสอบ ต้องเข้ามาพยุงและพาฉันกลับบ้าน
ฉันอิ่มใจในความสำเร็จเสร็จครั้งนี้ไปนานทีเดียว หากวันนี้ระลึกถึงเหตุการณ์วันประกาศผลสอบเข้ามหาวิทยาลัยในครั้งนั้น ฉันยังรู้สึกถึงความอิ่มเอมที่ยังลอยอบอวลอยู่ในอณูของอากาศ
เด็กๆ รุ่นหลังที่เข้ามาทำงาน มักจะทำหน้างุงงงที่ทำไมคนในสมัยฉันถึงจริงจังกับการเอ็นทรานซ์ หรือที่เด็กสมัยนี้เรียกว่าแอดมิชชันขนาดนั้น ฉันต้องตั้งใจอธิบายว่า เพราะมันคือการตัดสินครั้งใหญ่ในชีวิตเลยว่าเราจะมีที่เรียนต่อหรือไม่ ในสมัยฉันมีการสอบครั้งเดียว ไม่มีรอบโควตา รอบความสามารถพิเศษ รอบยื่นพอร์ตฯ ไม่มีกระทั่งหลักสูตรพิเศษต่างๆ ส่วนมหาวิทยาลัยเอกชนก็ยังไม่ได้มีมากมายอย่างทุกวันนี้ ดังนั้นหากพลาดครั้งนี้นั้นหมายความว่า ต้องรอสอบอีกครั้งในปีหน้าทีเดียว แล้วอย่างนี้การสอบเอ็นทรานซ์จะไม่สำคัญกับชีวิตของคนรุ่นฉันได้อย่างไร
ชีวิตนิสิตใหม่ของฉันช่างตื่นตาตื่นใจ เหมือนโลกใหม่ก็ไม่ปาน ฉันปรับตัวให้เข้ากับการเป็นนิสิตได้ไม่ยาก เพราะฉันเป็นคนไม่ค่อยชอบขัดใจคน จนพี่ๆ ในคณะต่างก็เอ่ยปากว่า “น้องกุนเป็นเด็กว่าง่าย ขอให้ทำอะไรก็ทำ” ซึ่งความจริงพี่ๆ ไม่รู้ความจริงอีกอย่างว่าแม้ฉันเป็นคนว่าง่าย แต่หากเรื่องไหนไม่ถูกต้องเสียแล้ว ต่อให้จะเอาช้างมาฉุดฉันก็ไม่มีทางเข้าร่วมหรือยอมทำเด็ดขาด
ชีวิตในมหาวิทยาลัยทำให้ฉันรู้สึกขอบคุณที่ทั้งพ่อแม่ที่อบรมสั่งสอนให้ฉันมีวินัย เพราะชีวิตการเรียนที่นี้ช่างอิสระเหลือเกิน แต่ถึงแม้จะอิสระอย่างไรฉันก็ไม่เคยมาสายหรือขาดเรียนเลยสักครั้งเพราะถือว่าเป็นหน้าที่ที่ฉันต้องทำ ทุกๆ วัน ก่อนเรียนจะมีพี่เจ้าหน้าที่มาเช็กชื่อนิสิตที่เข้าเรียนในวันนั้นก่อนที่อาจารย์ประจำวิชาจะเข้าสอน แต่หากใครขาดเรียนก็ไม่มีการติดตามให้มาเข้าเรียนอย่างเด็กมัธยม หากป่วยหรือมีกิจก็ต้องส่งจดหมายลาเป็นเรื่องราว หากไม่ส่งก็ถือว่าขาดเรียนไป แต่ก็ไม่มีการติดตามการทวงถามเหตุผล ซึ่งก็ดูแล้วมีอิสระดี แต่ความอิสระนั้นจะส่งผลก็ต่อเมื่อวันก่อนสอบปลายภาค ที่กระดานหน้าห้องเรียนจะมีใบประกาศผู้ที่ขาดเรียนเกินกำหนดและไม่มีสิทธิ์เข้าสอบเอาไว้ และนั้นเองคือผลของการไม่มีวินัยและไม่รับผิดชอบในหน้าที่
ฉันผ่านชีวิตนิสิตปี 1 มาได้อย่างดี ทั้งผลการเรียนและกิจกรรม
ฉันจบมัธยมศึกษามาจากโรงเรียนสตรี ซึ่งเพื่อนร่วมเรียนก็มีแต่ผู้หญิง จะมีบ้างบางคนที่ทำตัวแก่นแก้ว ตัดผมซอยสั้นแสร้งทโมนอย่างเด็กผู้ชาย เพื่อนๆ บางคนมาเล่าว่ามักมีนักเรียนจากโรงเรียนชายที่แอบมายืน ‘เหล่’ พวกเราหลังโรงเรียนเลิก แต่ก็เท่านั้น พวกเขาไม่มีสิทธิ์เขามาใกล้หรือพบปะพูดคุย หากพวกเรานักเรียนหญิงไม่ยินดีจะคุยด้วย แต่ที่มหาวิทยาลัยนี้ต่างออกไป เราต้องพบปะเพื่อนหรือรุ่นพี่นิสิตชายทั้งที่อยู่ในคณะเดียวกันหรือต่างคณะเป็นปกติ บางคนเข้ามาพูดคุยด้วยความสุภาพ แต่บางคนก็เขามาพูดคุยในทำนองแทะโลมคะนองอย่างน่ารังเกียจ ซึ่งอย่างหลังฉันมักจะเลี่ยงไม่สนทนาด้วย
ฉันพยายามจำกัดขอบเขตพูดคุยกับเพื่อนหรือรุ่นพี่ต่างเพศ ยกเว้นเพื่อนสนิทในห้องเรียนเดียวกันที่เป็นผู้ชายจำนวน 2-3 คน เสียแล้ว ฉันแทบจะไม่พูดคุยเล่นหัวกับผู้ชายใครใดเลย ยกเว้นพี่ ‘ศานติ’
พี่ศานติเป็นรุ่นพี่คณะรัฐศาสตร์ อายุมากกว่าฉันเพียงปีเดียว พี่ศานติหรือพี่ติเป็นลูกพี่ลูกน้องของนายขวดเพื่อนสนิทร่วมห้องเรียนของฉัน วันแรกที่ฉันพบพี่ติ คือวันที่นายขวดเจ้ากี้เจ้าการชวนพี่ติมากินข้าวเที่ยงแถวคณะของพวกเราแล้วก็ลากฉันและเพื่อนคนอื่นๆ มาด้วย
วันนั้นฉันจำรอยยิ้มอ่อนละมุนของพี่ติได้ดี เขาทักฉันด้วยความสุภาพ แต่ก็ไม่ได้ให้ความสำคัญกับฉันเป็นพิเศษเพียงคนเดียว พี่ติชวนทุกคนพูดคุยอย่างถ้วนทั่วเสมอกัน จึงไม่ได้สร้างความอึดอัดใจให้แก่ฉันหรือใครๆ พี่ติเป็นคนสุภาพ ช่างเจรจา คำว่าช่างเจรจานี้ฉันไม่ได้หมายความว่าเป็นคนที่ช่างพูดจ้อจนไม่มีหูรูด แต่หมายถึงพี่ติมีความชำนาญในการเจรจา รู้จักจังหวะหยุดให้คู่สนทนาโต้ตอบ รู้จักเย้าหยอกอย่างคมคาย โดยไม่ทำให้อีกฝ่ายรู้ไม่ดีหรืออึดอัด ฉันรู้สึกประทับใจในตัวพี่ติอย่างบอกไม่ถูก
พี่ติอำลาพวกเรา เขาได้พูดทำนองออกตัวว่า “ว่างๆ พี่ขออนุญาตมากินข้าวกับทุกคนอีกนะครับ”
“อู้ย…ยินดีคะ มาทุกวันเครือก็ยินดีตอนรับค่า” ยายเครือแก้วเพื่อนอีกคนในกลุ่มรีบตอบรับ
พี่ติโค้งให้พวกเราทำนองอำลา ฉันเพ่งพิศชายร่างสูงโปร่งในชุดนิสิต ค่อยๆ เดินจากไป ในใจก็เกิดคำถามว่า ‘เมื่อไรนะ…ที่จะเป็นวันว่างๆ ของพี่ติอีกครั้ง’
พี่ติแวะเวียนมากินข้าวกับกลุ่มพวกเราสัปดาห์ละหนสองหนจนปิดเทอม
เมื่อปิดเทอมแล้วกลุ่มพวกเราก็ยังนัดมาพบปะกันสัปดาห์ละวันสองวันที่คณะเพื่อพูดคุย หรือติวหนังสือเตรียมเรียนกันในเทอมถัดไป เพราะดูรายวิชาตามแผนการเรียนของเทอมหน้าแล้วหากไม่ทบทวน หรือเตรียมพร้อมไว้ก่อนผลการเรียนอาจแย่ลงหรือถึงกับตกรายวิชานั้นทีเดียว ซึ่งในวันที่เรานัดกันนั้นพี่ติก็มักจะแวะเวียนมาทานข้าวกับพวกเราเสมอ แต่อยู่ๆ พี่ติหายไปเป็นสัปดาห์ ระหว่างนั้นเครือแก้วเพื่อนขาจ้อของฉันก็บ่นกับนายขวดว่า “เมื่อไรพี่ติจะว่างมากินข้าวกับพวกเราอีก…ฉันละออกจะคิดถึง”
“บ้าแล้วยายเครือ มาบ่นว่าคิดถึงผู้ชายกลางคนแบบนี้ไม่อายเลยหรือ” ศศิเพื่อนในกลุ่มอีกคนท้วงขึ้น
“ก็คนมันคิดถึงนี่ ก็เจอกันออกจะบ่อยๆ อยู่ดีๆ หายไป ใครก็ต้องคิดถึง แล้วเธอล่ะยายปีกุน คิดถึงพี่ติบางหรือเปล่า” เครือแก้วย้อนมาถามฉัน
ด้วยยังไม่ทันตั้งตัวอยู่ดีๆ ก็โดยคำถามที่ตรงกับใจกำลังรู้สึกก็ทำให้ฉันตกใจจนทำอะไรไม่ถูก จึงไม่ยอมตอบ แล้วเสหยิบหนังสือเล่มหนึ่งของมาอ่านทำเป็นเหมือนไม่สนใจ ซึ่งถ้าหากฉันสนใจสิ่งรอบตัวสักนิด จะเห็นภาพที่เพื่อนๆ ส่งสัญญาณบางอย่างให้กัน
“พี่ติไปต่างประเทศสองสัปดาห์” นายขวดกล่าวขึ้น ด้วยตนเองเป็นญาติของฝั่งแม่ของพี่ติ จึงรู้เรื่องส่วนตัวของพี่เขาอยู่ไม่น้อย
“ดีจัง ปิดเทอมได้ไปต่างประเทศด้วย คนมีเงินมันดีอย่างนี้เอง” เครือแก้วเอ่ย
“รู้ได้ไง ว่าบ้านเขามีเงิน” ศศิถามขึ้น
“ถามไม่คิดยายศศิ ดูนามสกุลพี่ติเขาสิ” เครือแก้วตอบ
“นามสกุลอย่างเดียวมันตอบไม่ได้หรอกยายเครือ บางคนนามสกุลเป็นพวกผู้ลากมากดีแต่ก็อับจนตั้งเยอะ จำได้ไหม พวกผู้ดีปลายแถวที่บรรพบุรุษไม่เหลือสมบัติอะไรให้แล้วนอกจากนามสกุล” ศศิค้าน
“อันนี้เขารวยจริง” นายขวดพูดรับรอง “แต่คงไม่มั่งคั่งเท่าสมัยบรรพบุรุษแล้วละ คุณยายฉันเคยบอกว่าบรรพบุรุษของพี่ติท่านเป็นถึงเจ้าพระยา ที่บ้านเดิมของท่านที่ริมคลองสาธรมีหีบเก็บทองเก็บสมบัติวางเรียงในห้องนอนของท่านผู้หญิงสูงจากพื้นจรดเพดานนับไม่หวาดไม่ไหว”
“ว้าย ฉันชักอยากเป็นสะใภ้บ้านนี้แล้วสิ” เครือแก้วพูดคะนอง “แล้วตอนนี้ไอ้หีบสมบัติที่กองพะเนินจากพื้นจรดเพดานยังเหลือถึงรุ่นพี่ติสักกี่หีบล่ะนายขวด”
“จะเหลืออะไรล่ะ ท่านเจ้าพระยามีทั้งเมียทั้งลูกมากมายขนาดนั้น สมบัติก็ต้องแบ่งกันออกไปสิเธอ พี่ติเป็นชั้นเหลนแล้ว อย่าว่าแต่เหลือสมบัติกี่หีบเลย กะหีบใส่สมบัติก็ไม่เหลือแล้ว” นายขวดกล่าว “แต่ก็ไม่ลำบากหรอกนะ เพราะคุณปู่ของพี่ติแกรู้จักกินรู้จักใช้แล้วก็รู้จักหา นี่เห็นว่าพ่อพี่ติกับบรรดาคุณลุงได้แบ่งที่แล้วก็สร้างบ้านคนละแปลง พ่อพี่ติได้แบ่งที่แถวสุขุมวิทมั้ง” นายขวดสาธยาย
“ไกลโข” ศศิบ่น
“แม่พี่ติป่วยโรคปอด พ่อเลยคิดว่าแถวนั้นบ้านเรือนผู้คนไม่แออัด แม่พี่ติน่าจะพักผ่อนฟื้นตัวได้ดี”
“วุ้ย ออกทะเลไปไกล ว่าแต่สรุปแล้วพี่ติไปอังกฤษทำไม” ศศิถาม
“โอ้ยเธอ เรื่องมันยุ่งขิงน่ะสิ ความจริงไม่เกี่ยวอะไรกับพี่ติหรอก แต่ลุงใหญ่ของพี่ติทำเรื่องไว้…”
นายขวดค่อยเล่าเรื่องราวที่ยุ่งยากใจของคนในครอบครัวของศานติว่า ลุงคนโตของศานตินั้น เมื่อหนุ่มๆ สอบได้ทุนไปเรียนที่ประเทศอังกฤษ ที่นั่นเขาได้พบหญิงไทยคนหนึ่งซึ่งอพยพตามมารดาที่ได้สามีใหม่เป็นชาวอังกฤษที่อยู่ที่นั่น ความเหงาและห่างไกลบ้านเดิมทำให้ทั้งสองมีใจต่อกัน จนคบหาอยู่กินกัน แต่เมื่อลุงใหญ่ของศานติเรียนจบ ก็บอกตัดรอนเลิกรากับหญิงไทยคนนั้น เพราะรู้ดีว่าพ่อแม่ของตัวได้หมั้นหมายผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งมีฐานะสมน้ำสมเนื้อ และสามารถเกื้อกูลให้เขาก้าวหน้าไปได้ดีในอนาคต ฝ่ายหญิงก็มีทิฐิมานะไม่ร้องขอความเห็นใจหรือเหนี่ยวใดๆ
แต่เมื่อสักครึ่งเดือนก่อนมานี้ มีจดหมายจากอังกฤษถึงลุงใหญ่ของศานติ บอกข่าวว่าหญิงผู้นั้นป่วยหนักและจะใกล้ถึงสาระสุดท้ายของชีวิตแล้ว เมื่อลุงใหญ่ได้ข่าวแม้จะร้อนใจอยากไปเยี่ยม แต่ก็ติดที่ภรรยาของลุงใหญ่ที่ขึ้นชื่อว่าขี้หึงหนักมาก จนหลานๆ มักเอานิทานคำกลอนเรื่องพระอภัยมณีตอนนางละเวงวัณฬาเย้ยนางสุวรรณมาลีว่า ‘มเหสีขี้หึงเหมือนหนึ่งเสือ จะฉีกเนื้อน้องกินเหมือนชิ้นหมู’ มาอธิบายความหึงหวงอย่างร้ายกาจของคุณป้าภรรยาลุงใหญ่ สุดท้ายเมื่อศานติทราบเรื่องก็อาสาจะไปเยี่ยมแทน ลุงใหญ่จึงออกค่าใช้จ่ายทั้งหมดให้ พร้อมมอบเงินก้อนหนึ่งเพื่อไปช่วยเป็นค่ารักษาแกหญิงคนนั้น
“ตัวคนเดียวคงลำบากไม่มีใครดูแล” ลุงใหญ่รำพึงด้วยความเห็นใจ แต่ก็เพียงแค่นั้นเขาไม่มีความกล้าหาญพอที่จะรับผิดชอบผู้หญิงที่ครั้งหนึ่งเคยเป็นคู่ชีวิตกันมา
ศานติยังมีวีซ่าเข้าประเทศอังกฤษที่ยังไม่หมดอายุ เขาจึงสามารถเดินทางได้ทันที แต่ก่อนเดินทางก็ไม่วายฝากนายขวดลาเพื่อนๆ ของนายขวดทุกคนโดนเฉพาะกุนตี แต่นายขวดเองนั้นล่ะต้องการแกล้งเพื่อดูใจเพื่อว่ารู้สึกอย่างไร จึงไม่บอกจนเมื่อเครือแก้วถาม
ฉันเปิดหนังสือเรียนแกล้งอ่านทบทวนทั้งๆ ที่หูก็ต้องใจฟังเรื่องราวของพี่ติอย่างใจจดจ่อ
พี่ติหายไปสองสัปดาห์กว่าๆ อย่างที่นายขวดบอกไว้ บ่ายวันหนึ่งที่พวกเรานัดกัน พี่ติก็ปรากฏตัวขึ้นพร้อมถุงกระดาษใบหนึ่ง พี่หยิบของในถุงแจกพวกเราคนละชิ้น ฉันกล่าวขอบคุณแล้ววางของไว้ที่กระเป๋าถือข้างๆ ตัว ส่วนยายเครือแก้วก็ปลื้มอกปลื้มใจเป็นพิเศษรับถุงของฝากมาเปิดดู ซึ่งภายในเป็นแก้วกาแฟใบโตเนื้อหนาด้านหน้าพิมพ์รูปหอนาฬิกาบิ๊กเบน “พรุ่งนี้กาแฟร้อนมื้อเช้าของเครือต้องอร่อยเป็นพิเศษเพราะแก้วของฝากของพี่ติแน่ๆ เลยค่ะ” เครือแก้วกล่าวขึ้น
“ถ้าปลื้มมากทำไมกลับไปถึงบ้านก็ไม่ใช้แก้วชงกาแฟดื่มมันเสียเลยล่ะ จะได้ไม่เสียเวลารอถึงเช้า” นายขวดขัดเครือแก้ว
“จะบ้าเหรอนายขวด นอนตาค้างกันพอดี วุ้ย! นายนี่มันขวางเสียจริงๆ” เครือแก้วสวน
ฉันนั่งยิ้ม เพราะตั้งแต่เขามหาวิทยาลัยกลุ่มฉันซึ่งมีฉันไม่เคยได้เหงากันเลย เพราะมีนายขวดและเครือแก้วเป็นคนสร้างความครึกครื้นในกลุ่ม ฉันยิ้มเพราะขันบทสนทนาของเพื่อนๆ แต่ตาก็เสมองไปที่พี่ติ ฉันสังเกตเห็นสีหน้าอิดโรยเหมือนยังไม่ได้นอนของพี่ติ ที่ริมฝีปากและคางมีหนวดเคราเริ่มจะครึ้มเขียว ทำให้เครื่องหน้าของเขาดูคมเข้มน่ามองขึ้นกว่าเดิม มาถึงตรงนี้ใจฉันก็สั่นจนน่าประหลาดใจ
“พี่ลงเครื่องเมื่อเช้านี้เอง อะไรๆ วุ่นวายน่าดูกว่าจะจัดการให้เรียบร้อยได้ พอเอากระเป๋าไปเก็บที่บ้าน แล้วเอาของสำคัญไปส่งให้ลุงใหญ่ที่กรมแล้ว ก็เลยมาหาที่นี่เลย…พอดีเป็นเรื่องเร่งด่วนฉุกละหุกจริงๆ พี่เลยไม่ได้มาบอกลาก่อน” พี่ติเอ่ยขึ้น
แม้ถ้อยความพี่ติจะเหมือนบอกเล่าให้เราทุกคนฟัง แต่เมื่อฉันเงยหน้าขึ้นไปก็ประสานสายตากับพี่ติ เหมือนหนึ่งว่าพี่ติตั้งใจจะอธิบายให้ฉันฟังเพียงคนเดียว ฉันเสมองถุงของฝากที่วางไว้ข้างๆ กระเป๋าถือ ในใจก็ประเมินว่าคงเป็นแก้วกาแฟพิมพ์ลายหอนาฬิกาบิ๊กเบน หรือไม่ก็ลายพระราชวังบักกิ้งแฮมเทือกๆ เดียวกับที่เพื่อนๆ ได้รับ
วันนั้นเราแยกย้ายกันก็ค่อนข้างเย็นมาก พร้อมกับนัดพบกันใหม่ในสัปดาห์หน้า ทั้งๆ ที่นัดเดิมคือวันพรุ่งนี้ ก่อนจากพี่ติกำชับว่า “น้องกุนอย่าลืมดูของฝากที่พี่ซื้อมาให้นะครับ” ฉันยิ้มตอบ
กลับถึงบ้านฉันรีบเข้าห้องแล้วเปิดดูถุงกระดาษใบนั้น ในถุงกระดาษเป็นถุงหูรูดทำจากผ้ากำมะหยี่สีแดงสายรูดเป็นเชือกสีทอง ด้านในเป็นกระปุกครีมบำรุงผิวหน้ายี่ห้อดังที่ยุคนั้นต้องนำเข้าเท่านั้น ในถุงนอกจากกระปุกครีมแล้วฉันยังเห็นกระดาษน้อยๆ อีกหนึ่งแผ่น ด้วยวามสงสัยฉันจึงเปิดดู เมื่อแรกคิดว่าคงเป็นกระดาษแนะนำการใช้ครีมกระปุกนี้ แต่เมื่อเปิดอ่านกลับเป็นจดหมายน้อยฉบับหนึ่งมีข้อความว่า
ถึงน้องกุน
พี่ขอโทษด้วยที่ไปอังกฤษอย่างฉุกละหุกโดยไม่ได้ลา
ถ้าน้องกุนไม่โกรธ พรุ่งนี้พี่ขอนัดพบที่โต๊ะหน้าคณะเหมือนเดิม
ช่วงก่อนเที่ยงนะครับ พี่มีเรื่องจะขอคำปรึกษา จะรอด้วยใจจดจ่อครับ
พี่ติ
รุ่งขึ้นฉันออกจากบ้าน โดยคำนวณว่าให้ถึงหน้าคณะช้ากว่าเดิมสัก 15 นาที เมื่อไปถึงก็พบพี่ตินั่งรออยู่แล้ว พี่ติดูดีใจมากที่เห็นฉันมาตามนัด พี่ติเชิญฉันนั่ง ที่โต๊ะตรงนั้นมีผู้คนผ่านไปมามากมาย จนไม่อาจเป็นที่ครหาได้ว่านั่งกันอยู่ในที่ลับ พี่ติก็สุภาพมากที่จะไม่นั่งชิดกับฉัน เขาเลือกไปนั่งที่ฝั่งตรงกันข้าม ฉันหยิบเอาหนังสือที่เตรียมมาตั้งบนโต๊ะ อย่างน้อยคนที่ผ่านไปมาจะได้เข้าใจว่าฉันมาอ่านหนังสือไม่ได้มาพลอดรักกับผู้ชายสองต่อสอง ผู้หญิงรุ่นฉันก็เป็นแบบนี้ละค่ะ คิดมากไปเสียทุกอย่าง กลัวคนรอบข้างจะมองเราไม่ดีทำให้เสื่อมเสียไปถึงพ่อแม่ การแสดงออกจึงดูซับซ้อนและไม่ค่อยตรงกับความรู้สึกที่แท้จริงนัก
“พี่ติมีอะไรจะให้กุนช่วยหรือค่ะ ถ้ากุนสามารถทำได้ กุนยินดีคะ” ฉันเริ่มบทสนทนา
พี่ติจึงเล่าเรื่องลูกพี่ลูกน้องซึ่งเป็นลูกนอกสมรสให้ฉันฟัง ฉันนั่งฟังอย่างผู้ฟังที่ดี พยายามจับประเด็นว่าอะไรคือสิ่งที่พี่ติต้องการให้ฉันช่วย บางเรื่องเป็นรายละเอียดที่พิเศษไปกว่าที่ฉันได้รับรู้จากนายขวด แต่จนแล้วจนรอดก็ไม่มีข้อความใดที่เป็นเรื่องที่ต้องการความช่วยเหลือจากฉัน
“ขอบใจน้องกุนมากที่ช่วยพี่” พี่ติบอกกับฉัน
“กุนยังไม่ได้ช่วยอะไรพี่ติดเลยนะคะ”
“นี่ละ น้องกุนช่วยพี่แล้ว มันเป็นเรื่องที่พี่ไม่สบายใจมากเลยนะครับน้องกุน จะบอกกับญาติสนิทก็ไม่ได้ กลัวลุงใหญ่จะเดือดร้อน การที่น้องกุนรับฟังพี่ระบายเท่านี้ก็ช่วยพี่มากแล้วครับ”
“พี่ติไม่กลัวว่ากุนจะไปเล่าให้นายขวดฟังหรือคะ นายนั้นมันฆ้องปากแตกด้วย” ฉันถามลองเชิง
พี่ติหัวเราะก่อนตอบว่า “ลงว่าน้องกุนรู้ว่านายขวดมันจำพวกฆ้องปากแตก พี่ก็เชื่อว่าน้องกุนต้องประเมินได้แล้วว่าเรื่องไหนควรเล่าหรือไม่ควรเล่า และที่สำคัญพี่ไว้ใจน้องกุนครับ”
‘พี่ไว้ใจน้องกุนครับ’ ข้อความนี้ทำให้ฉันรู้สึกว่าตนเองเป็นคนพิเศษสำหรับพี่ติขึ้นมาทีเดียว
ชั่วโมงสั้นๆ ที่ฉันนั่งรับฟังพี่ติระบายอย่างใจเย็น ผ่านไปอย่างรวดเร็ว จู่ๆ พี่ติก็เอ่ยปากขึ้นว่า “หิวจังเลยครับ ตั้งแต่เช้าพี่ยังไม่ได้ทานอะไรเลย นี่ก็เที่ยงแล้ว เราไปหาอะไรทานกันดีไหมครับ เราหาอะไรทานแถวอารีย์ดีไหมครับ พี่มีร้านอร่อยอยู่ร้านหนึ่งอยากให้น้องกุนไปลองชิม”
ฉันนิ่งคิดเพียงครู่ก็รับปาก พี่ติขับรถโฟล์กสีน้ำเงินพาฉันไปถึงร้านอาหารแห่งหนึ่ง ฉันประเมินหน้าร้านแล้วเห็นว่าโปร่งตา ไม่มีมุมอับจึงลงไปรับประทานได้อย่างเบาใจ ระหว่างมื้อพี่ติช่วยคุยและเล่าถึงประสบการณ์ที่อังกฤษอย่างสนุก การเล่าของพี่ติฟังดูแล้วเหมือนการแบ่งปันประสบการณ์มากกว่าการคุยโอ่ตัวว่าได้ไปถึงเมืองนอกเมืองนา
“วันหน้าพี่ขอโอกาสพาน้องกุนไปเที่ยวอังกฤษสักครั้งนะครับ”
อาหารเที่ยงวันนั้นรสอร่อยเป็นพิเศษ ฉันเองก็ตอบไม่ได้ว่าอร่อยเพราะฝีมือแม่ครัว หรืออร่อยเป็นพิเศษเพราะได้นั่งทานเพียงสองคนกับพี่ติ จบมื้ออาหารพี่ติพาฉันไปทานไอศกรีมร้านดังที่เพิ่งเปิดใหม่แถวอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ ก่อนจะพาฉันไปส่งบ้านก่อนเวลาที่พ่อจะเลิกงาน ส่วนแม่เองน่าจะพาธารีออกไปซื้อของสดมาทำอาหารเย็น จึงไม่มีใครอยู่บ้าน
“เสียดายจังที่พ่อแม่ท่านไม่อยู่บ้าน วันหน้าพี่จะหาโอกาสมากราบท่านนะครับ”
ฉันรู้สึกโล่งใจที่พ่อแม่ท่านไม่อยู่บ้าน มิเช่นนั้นฉันต้องหาเหตุผลว่าทำไมถึงได้กลับบ้านมาพร้อมพี่ติเพียงสองต่อสอง และแน่นอนต่อให้ฉันไม่ได้ทำอะไรเสียหายแต่ก็ย่อมไม่พ้นโดนแม่บ่นจนหูชาแน่นอนที่ยอมขึ้นรถมากับผู้ชายเพียงสองคน และวันหน้าฉันยังอยากให้พี่ติมาส่งฉันอย่างนี้อีก เมื่อเป็นอย่างนั้นฉันต้องวางแผนให้พ่อแม่รู้จักพี่ติเสียแล้ว
หลังจากวันนั้นฉันก็รู้สึกได้ว่าพี่ติวางฉันไว้ในฐานะที่พิเศษมากว่าเพื่อนรุ่นน้อง ฉันรู้สึกสดชื่นและหอมหวานทุกครั้งที่ได้พบปะพูดคุยกับพี่ติ บรรดาเพื่อนๆ ก็สังเกตเห็นถึงความเปลี่ยนแปลงของเราสองคน ที่มีความสนิทสนมกันมากขึ้น ฉันกล้าที่จะพูดคุยเล่นหัวกับพี่ติมากขึ้นกว่าเก่าที่เอาแต่นั่งฟังและยิ้มรับ ซึ่งเพื่อนๆ ก็เหมือนจะยินดีที่เราทั้งสองสนิทสนมกัน
“โอ๊ย…” ยายเครือร้องขึ้น
“เป็นอะไรยายเครือแก้ว” นายขวดถาม
“เจ็บที่อก เหมือนอกจะหัก โธ่พี่ติของน้องเครือ อุตส่าห์เล่นหูเล่นตาหว่านเสน่ห์ สุดท้ายก็พลาด”
“พี่ติเขาไม่ชอบผู้หญิงแม่แปรกอย่างเธอหรอกยายเครือ” นายขวดเยาะ
“พี่ติชอบกุลสตรีละสิ” ยายเครือเน้นเสียงคำว่า ‘ชอบกุล…’ แล้วหันมามองที่ฉัน
“พี่ติเขาจะชอบใครก็เรื่องของพี่ติ แต่ที่เธอควรรู้คือ เขาไม่ได้ชอบเธอ”
“นั่นไง ฉันถึงได้บอกว่าฉันอกหัก…กุนปลอบเราหน่อยสิ” เครือแก้วโน้มตัวลงมาซบบ่าฉัน แล้วแกล้งทำเป็นสะอึกสะอื้น
“…อกหักหรือยายเครือ ได้! เดี๋ยวฉันจะเดินไปบอกพี่อรรณพที่คณะวิศวะว่าแกอกหักเพราะหนุ่มรัฐศาสตร์” ศศิปิดหนังสือฉับทำท่าจะลุกขึ้น
เครือแก้วคว้าข้อมือศศิไว้แล้วบอกว่า “แหะๆ ใจเย็นนะศศิ ฉันเย้ายายกุนเล่น อย่าไปบอกพี่อรรณพเลยนะ รายนั้นขี้หึงยังกะอะไรดี”
สุดท้ายฉันก็ได้รู้ว่าเพื่อนๆ รู้ก่อนหน้าฉันมานานแล้วว่าพี่ติคิดอย่างไรกับฉัน และทุกคนก็สนับสนุนมาโดยตลอด เพราะคิดว่าทั้งฉันและพี่ติช่างเป็นคู่ที่เหมาะสมกัน แต่ฉันก็ไม่รู้เลยว่าที่บ้านของฉันจะมีความคิดตรงกับที่เพื่อนๆ ของฉันคิดด้วยหรือไม่…
- READ ก่อนย่ำสนธยา : บทส่งท้าย
- READ ก่อนย่ำสนธยา บทที่ 14 : กว่าจะสำนึกได้ก็สายเสียแล้วล่ะพวกแก (2)
- READ ก่อนย่ำสนธยา บทที่ 14 : กว่าจะสำนึกได้ก็สายเสียแล้วล่ะพวกแก (1)
- READ ก่อนย่ำสนธยา บทที่ 13 : เมื่อเสียหายเพราะฉัน ก็ต้องเป็นฉันที่กอบกู้ (2)
- READ ก่อนย่ำสนธยา บทที่ 13 : เมื่อเสียหายเพราะฉัน ก็ต้องเป็นฉันที่กอบกู้ (1)
- READ ก่อนย่ำสนธยา บทที่ 12 : ผู้หญิงคนนั้นกับปมในใจของฉัน (2)
- READ ก่อนย่ำสนธยา บทที่ 12 : ผู้หญิงคนนั้นกับปมในใจของฉัน (1)
- READ ก่อนย่ำสนธยา บทที่ 11 : จะกอบกู้มันได้อย่างไร (2)
- READ ก่อนย่ำสนธยา บทที่ 11 : จะกอบกู้มันได้อย่างไร (1)
- READ ก่อนย่ำสนธยา บทที่ 10 : พังทลายในพริบตา (2)
- READ ก่อนย่ำสนธยา บทที่ 10 : พังทลายในพริบตา (1)
- READ ก่อนย่ำสนธยา บทที่ 9 : พลาดพลั้ง (2)
- READ ก่อนย่ำสนธยา บทที่ 9 : พลาดพลั้ง (1)
- READ ก่อนย่ำสนธยา บทที่ 8 : ก้าวไม่เท่าทัน (2)
- READ ก่อนย่ำสนธยา บทที่ 8 : ก้าวไม่เท่าทัน (1)
- READ ก่อนย่ำสนธยา บทที่ 7 : แห้งเฉา (2)
- READ ก่อนย่ำสนธยา บทที่ 7 : แห้งเฉา (1)
- READ ก่อนย่ำสนธยา บทที่ 6 : บ้างร่วงโรยรา (2)
- READ ก่อนย่ำสนธยา บทที่ 6 : บ้างร่วงโรยรา (1)
- READ ก่อนย่ำสนธยา บทที่ 5 : วันเคลื่อนเดือนผ่าน (2)
- READ ก่อนย่ำสนธยา บทที่ 5 : วันเคลื่อนเดือนผ่าน (1)
- READ ก่อนย่ำสนธยา บทที่ 4 : ชีวิตใหม่ (3)
- READ ก่อนย่ำสนธยา บทที่ 4 : ชีวิตใหม่ (2)
- READ ก่อนย่ำสนธยา บทที่ 4 : ชีวิตใหม่ (1)
- READ ก่อนย่ำสนธยา บทที่ 3 : ผิดหวัง (3)
- READ ก่อนย่ำสนธยา บทที่ 3 : ผิดหวัง (2)
- READ ก่อนย่ำสนธยา บทที่ 3 : ผิดหวัง (1)
- READ ก่อนย่ำสนธยา บทที่ 2 : พี่ศานติ (2)
- READ ก่อนย่ำสนธยา บทที่ 2 : พี่ศานติ (1)
- READ ก่อนย่ำสนธยา บทที่ 1 : ฉันชื่อกุนตี (3)
- READ ก่อนย่ำสนธยา บทที่ 1 : ฉันชื่อกุนตี (2)
- READ ก่อนย่ำสนธยา บทที่ 1 : ฉันชื่อกุนตี (1)