บุษบาลุยไฟ ตอนที่ 5 : สองครู

โดย : ปราณประมูล

Loading

บุษบาลุยไฟ โดย ปราณประมูล เรื่องราวของ ลำจวน หญิงสาวผู้ต่อสู้กับค่านิยมทางสังคมในยุค ร.3 เธอลุกขึ้นทำสิ่งที่คนในห่วงเวลานั้นไม่ทำกัน หนทางจึงไม่ได้ราบรื่น หากเต็มไปด้วยอุปสรรคและถ้าไม่ใช่เพราะแรงรักแรงใจที่หนุ่มจีนคนนั้น คงยากที่บุษบาดอกนี้จะไปสู่จุดหมาย ‘บุษบาลุยไฟ’ นวนิยายเรื่องเยี่ยมที่อ่านเอานำมาให้อ่านออนไลน์

ข้างหน้าพระอุโบสถใหญ่วัดทอง อันเป็นสถาปัตยกรรมในสมัยรัตนโกสินทร์แผ่นดินต้น คือไม่เป็นเสาไม้ หรือเสารูปกลมที่สูงระหง กับรูปทรงโบสถ์สะโอดสะองโค้งงามหวานชดช้อยอย่างงานช่างสกุลกรุงเก่าอยุธยา ทว่ากลายเป็นเสาปูนสี่เหลี่ยมย่อไม้สิบสอง

ยิ่งมาได้รับการบูรณะปฏิสังขรณ์ในแผ่นดินที่สามนี้ ผนังโบสถ์ช่วงล่างอันผุกร่อนล่อนโทรมเพราะความชื้นที่ซึมขึ้นมาจากใต้ดินเพราะอยู่ใกล้น้ำ ก็ได้รับการซ่อมเสริมช่วงล่างขึ้นมาผนวกกับผนังด้านบนที่ยังแห้งและแข็งแรงดีอยู่ให้แน่นหนามั่นคงขึ้น เพื่อที่จะอยู่คงทนไปได้อีกนานแสนนาน

ครูทองอยู่กับครูบุญมากก้าวข้ามธรณีประตูเข้าไปภายในแล้ว เนตรกับสหายศิษย์ร่วมสำนักกำลังจะก้าวขึ้นบันไดระเบียงด้านหน้า ไม่คาดว่าฮุน เด็กหนุ่มผมเปียจะวิ่งเข้ามาขวางทาง

“คุงท่างขอลับ กะผมยกของหนักเก็บกวากเช็กถูก็ล่ายขอลับ ขอให้ผมล่ายฝึกฝนเขียนลูปกับคูทองหลู่ล่วยเถิกขอลับ”

มันละล่ำละลักกระหืดกระหอบ ก้มหัวโค้งลงไม่นับ หายใจขาดห้วง พูดจาฟังไม่เป็นภาษา สำเนียงห้วนระคายหู

ศิษย์ครูทองอยู่ทั้งหลายที่รายล้อมเนตรต่างชะงัก ตกใจในความกล้าบังอาจ และสมเพชระคนขบขัน

“น้ำหน้าอย่างลื้อไปรู้จักนามคุณหลวงมาจากที่ใดรือ”

เนตรออกจะฉงน

เจ้าคนต่ำสถุนพนมมือคุกเข่าลง ศอกกางเก้งก้างขัดตา ค่อยๆ เรียบเรียงถ้อยคำทีละคำๆ ปรับน้ำเสียงให้นุ่มนวล

“ลูปเทวาลาที่วักบางลี่ขัง ฝีมือคูทองหลู่ งกงามเหลือเกิงขอลับ”

ทุกคน ณ ที่นั้นหยุดชะงักไปเพราะคาดไม่ถึง ก่อนจะปล่อยฮากันครืนกันออกมา

“เทวาลา ที่วักบางลี่ขัง ฮ่ะๆๆๆ”

“เทวาลา? วักบางลี่ขัง?? ก๊ากๆ”

 

ลำจวนที่วิ่งกลับมาถึง ทันได้ยินพอดี

ความอยากรู้อยากเห็นทำให้เด็กหญิงเดินตามหลวงพี่บุญลือไปไม่ได้ตลอดรอดฝั่ง เมื่อจุดอ่อนของหลวงพี่คือความเป็นพระที่ไม่อาจจับ ยึด ลากจูงมือน้องสาวได้ เมื่อหลวงพี่สาวเท้าเร็วล้ำหน้า ละสายตา ลำจวนก็หันกลับวิ่งจู๊ดกลับมา แล้วกระโดดหลบหลังเจดีย์ แอบดูเหตุการณ์

เด็กหญิงได้ยินคำพูดไม่ชัดประสาจีนใหม่ เสียงหัวเราะเยาะหยัน คำเลียนคำล้อของผู้หลักผู้ใหญ่โตๆกันแล้วทั้งนั้น ต่อเด็กอ่อนด้อยไม่สมประกอบคนหนึ่ง…

ผู้ใหญ่ที่สมควรจะเป็นที่น่าเคารพนับถือทั้งนั้น รวมทั้งพี่ชายคนโตในครอบครัวของเธอ

ลำจวนเอาแต่ฮึดฮัดกัดฟันกับเหตุการณ์ตรงหน้าจนไม่ใส่ใจกับผู้คนอีกกลุ่มที่เพิ่งมาถึง มุ่งหมายจะเข้าไปในพระอุโบสถ แต่มาหยุดรั้งรออยู่ข้างหลังตัวเธอ

เนตรและฝูงของเขาหาได้สนใจสภาวะรอบข้างไม่ เพราะกำลังเล่นสนุกกับการรุมรังแกเจ้าเหยื่อน้อย ที่เป็นประดุจสัตว์อ่อนแอพลัดถิ่นหลงเข้ามาอยู่ในวงล้อม

“ลื้อก็ต้องชอบเป็นธรรมดา เพราะที่ ‘วัก-บาง-ลี่-ขัง’ คุณหลวงท่านวาดเทวดาเป็นเจ๊ก คงถูกใจพวกเจ๊กนั่นแหล…”

วาจาเหยียดเชื้อชาติเผ่าพันธุ์นั้น เหมือนก้อนศิลาที่ถูกเขวี้ยงกราดมากระแทกเต็มหน้าบุรุษหนึ่งในคณะ ที่หยุดยืนออกันอยู่กับลำจวนตรงหลังเจดีย์นั้น

เขาและพวกหันมองหน้ากันและกันขวับ

บุรุษนั้นเป็นชายวัยกลางคนร่างล่ำใหญ่ ผิวขาว ตัดผมสั้น แท้จริงลักษณะของท่านมีความคล้ายจีน ตรงคิ้วหนาทรงเฉียงปลายสะบัดขึ้น แบบที่เรียกว่าคิ้วมังกร ดวงตาโต ในรูปตาเฉียง เรียวหนวดสองเส้นเข้มงอโค้งลงสองข้างเหมือนหนวดปลาดุกเหนือริมฝีปาก เป็นทรงรับกับเครารอบขอบล่างของใบหน้ามาทิ้งปลายหลิมแหลมที่คาง หากก็แต่งกายเยี่ยงคนไทยพื้นๆ ทั่วไป

ที่น่าสังเกต คือเหล่าผู้คนที่แวดล้อมท่าน ที่ดูเหมือนจะรวบรวมไว้ด้วยชายฉกรรจ์ลักษณะหลากหลายไม่ซ้ำ

มีทั้งคนไทยร่างเล็กกว่าเพื่อน ที่ดูสะอาดระเบียบเรียบร้อย

คนร่างใหญ่ หนวดยาว ผมยาวมัดขึ้นเป็นฤๅษี อย่างพวกพราหมณ์

คนผมเกรียนเหมือนทิดสึกใหม่นุ่งผ้ายาวลอยชายอย่างมอญ

หนุ่มหนวดโง้งงอเหมือนเขาควาย นุ่งโสร่ง เสื้อยาวอย่างแขกจาม

และชายโพกผ้า นุ่งหยักรั้งเห็นลายสักขาดำมาถึงเข่าเหมือนเป็นกางเกงรัดรูปติดเนื้อหนัง

“วัดบาง-ยี่ขัน!  ค…รรรรร…รู ทองอยู่!”

หนึ่งใน ‘ฝูง’ เน้นเสียงดัง หนักแน่น

“พูดให้ชัดก่อน!”

เขาสบตา รับส่งมุกกับเนตร

“จริงสิ เอ็งต้องออกชื่อครู…ว่าทองอยู่ ไม่ใช่ทองหลู่ให้ได้ก่อน ข้าจึงจะรับเข้ามาอยู่ด้วย”

เนตรรับลูก ทอดน้ำเสียงนุ่มนวลอย่างเมตตาเป็นพิเศษ ทำให้ทุกคนใน ‘ฝูง’ ฮากันครืน

เจ้าหนุ่มจีนผอมเก้งก้าง กระดูกไหล่เป็นปมเพราะกล้ามเนื้อยังบางลีบ บีบเนื้อบีบตัวให้หมอบต่ำลงไปอีก ศีรษะที่โกนเกลี้ยง มีเปียยาวที่ดูหนาหนักห้อยลงไปกองอยู่กับพื้นดิน ขณะที่พยายามเปล่งเสียงให้ทุกคนได้ยิน

“คู”

ลำจวนมองเจ้าสัตว์เข็ญใจอย่างเวทนา ตวัดสายตามองพวกของพี่ชายอย่างสุดชิงชัง ส่วนบุรุษเคราหลิมนั้น ยืนกอดอกรอฟัง สีหน้าเรียบเย็น

“ครู ไม่ใช่คู  คู…นั่นมันคูน้ำในสวนโน่น”

เนตรยิ้มเยื้อนอ่อนหวาน

“คะลู…”

เจ้าเด็กหนุ่มจีนค่อยๆ ปล่อยคำ

“ทองอยู่!”

ลูกไล่อีกคนของเนตร กล่าวนำ

เจ้าเด็กคนนั้นกลั้นใจ พยายามสุดความสามารถ

“ทอง…หลู่!”

ผลลัพธ์ที่ได้ คือทุกคนหัวเราะงอหาย

ลำจวนเกือบจะเต้นออกไปสำแดงฤทธีเสียแล้ว หากแต่นางทิมที่เดินสอดส่ายสายตาเดินลัดเลาะมองหาเด็กหญิงมาตามทาง เห็นนายน้อยของนางเข้าพอดี

นางทิมพุ่งปราด ผ่านใครบ้างก็ไม่รู้ ไม่สนใจ เข้ามาโจมตี คว้าแขนลำจวนหมับ ส่วนอีกมือหยิกบิดเข้าที่สีข้าง

“คุณลำจวน เผลอเป็นไม่ได้ ไปค่ะ ไปรับประทานข้าวเดี๋ยวนี้”

ลำจวนสะดุ้งเฮือก เจ็บจี๊ด จนต้องยอมให้บ่าวลากไป ไม่ได้เห็นสิ่งที่เกิดขึ้นต่อจากนั้นว่ากลุ่มชายแปลกประหลาดผู้มาทีหลังกลุ่มนั้น พากันเดินเข้าไปมุงล้อมเด็กหนุ่มจีนที่ถูกเนตรและพวกทิ้งให้หมอบกระแตอยู่

มีบางคน ยื่นมือเข้าไปจับดึงให้มันลุกขึ้น

 

หลวงพ่อพระศาสดาพระพุทธรูปหล่อปางมารวิชัยทองอร่ามฝีมือช่างสุโขทัย เป็นองค์พระประธานในโบสถ์ มีผ้าด้ายดิบคลุมองค์ไว้บางส่วนเพื่อป้องกันสี กันสิ่งของจากการเขียนภาพตกใส่

กลุ่มของช่างเขียนบุญมากจากนนทบุรี อยู่บนนั่งร้านในที่ตำแหน่งสูงลิ่ว บ้างใช้เปลือกหอยขนาดใหญ่ทำจานสี สีที่ใช้เป็นฝุ่นละเอียด นำมาผสมเจือยางไม้ให้เหลว ข้นใสเข้มอ่อนไปตามความต้องการ แต่ละคนมีพู่กันที่ทำขึ้นเองเฉพาะของใครของมันทำกันเองต่างๆ กันไปสุดแต่เป้าหมายในการใช้งาน เริ่มทำการซ่อมแซมภาพเทพชุมนุมของเก่าที่เลือนลางผุกร่อนไปบ้างบางส่วน จากพื้นที่ผนังตอนบนสุดลงมา ต่างคนต่างพินิจเพียงงานตรงหน้าตน โดยมีแสงสว่างเพียงแสงแดดยามเที่ยงที่สาดเข้ามาทางหน้าต่างประตู ต่ำลงไป ซึ่งเปิดอ้าออกไปทุกบาน

ลมเดือนสี่โชยเบาร้อนอบอ้าวจากภายนอก ทว่ามีไอเย็นฉ่ำของอากาศในอุโบสถหล่อเลี้ยงอยู่ ทำให้เหล่าช่างเขียนยังทำงานกันได้พอสบาย

บรรยากาศยามนั้นสงบสงัด

ครูทองอยู่หรือคุณหลวงวิจิตรเจษฎา นำคณะศิษย์ก้มกราบเบญจางคประดิษฐ์สามครั้ง

จากนั้น ท่านขยับนั่งขัดสมาธิ

สีหน้าของคุณหลวงที่แหงนเงยขึ้นมองพระพักตร์ของพระศาสดา สงบสำรวมนิ่ง แววตาฉายประกายศรัทธาแน่วแน่มุ่งมั่น

เนตรนำชาวคณะทุกคน ขยับนั่งตามครู ทุกคนสำรวมจิตใจให้ดิ่งสู่การภาวนา

ทันใด แสงจากประตูด้านหน้าโบสถ์ สลัวลงฉับพลัน

ภาพมารผจญเหนือประตูโบสถ์ด้านนั้น ที่ส่วนบนยังสมบูรณ์ดี แต่ส่วนล่างกะเทาะล่อนลอกไปมาก จนรูปพระแม่ธรณีบีบมวยผมเหลือเพียงครึ่งกาย ที่แต่แรกสว่างชัดเพราะแสงที่ส่องผ่านประตูเข้ามา กลับมีเงามืดผ่านวูบเข้ามาบดบัง เหมือนตะวันถูกเมฆดำทาบทับไปชั่วขณะ

พวกครูบุญมากที่อาศัยแสงวาดภาพอยู่ เมื่อมีความเคลื่อนไหวของบรรยากาศก็ถึงแก่แปลกใจ จนต้องหันไปก้มมอง

บุรุษร่างใหญ่ผู้นั้นกับเหล่าศิษย์พันทาง เดินทยอยกันเข้ามาอออยู่ทางประตูด้านหน้าทั้งสองประตู ประตูละสองสามคน บังลำแสงตรงนั้นชั่วขณะ

พวกเขาพากันเดินพ้นจากประตูเข้ามา แสงก็ส่องเข้ามาเช่นเดิม

ชายผู้เป็นผู้นำกลุ่ม เดินมาทรุดนั่งลงในตำแหน่งถัดจากคุณหลวงวิจิตรฯ แล้วทั้งหมดจึงพากันนั่งลง ก้มกราบพระประธานไปเงียบๆ

“ท่านคงแป๊ะ”

พวกช่างนนทบุรีบนนั่งร้านกระซิบกันเบาๆ

ครูทองอยู่ หรือคุณหลวงวิจิตรเจษฎา ตระหนักถึงกระแสที่เคลื่อนไหวรอบกาย ท่านลืมตาขึ้น หันไปเห็นบุคคลที่กราบอยู่ข้างๆ

คงแป๊ะกราบเสร็จ หันมา ยกมือพนมมือไหว้ และยิ้มกว้างอวดฟันขาวนวลอย่างคนไม่กินหมาก ดูประหลาดผิดแผก

ครูทองอยู่รับไหว้ กวาดตา มองรอบ เห็นพลพรรคผสมชาติพันธุ์เหล่านั้น ทุกคนนั่งพับเพียบเรียบร้อย พนมมือไหว้ ก้มศีรษะลงต่ำ แสดงความเคารพอย่างสูงต่อท่านทุกคน

ท่านจึงยกมือขึ้นพนมหว่างอก รับไหว้

บรรดาศิษย์ท่าน มีเนตรเป็นอาทิ ต่างลืมตาจากการตั้งจิตภาวนาขึ้นมองหน้าพวกที่มาขัดจังหวะ

ครูทองอยู่ยิ้มละไมในหน้า สงบงามดุจพระพุทธรูปที่มีสีพักตร์เมตตา แววเนตรปรานี

“มาแล้วรือคงแป๊ะ…”

ชายร่างเล็กเรียบร้อยเกินใคร คนใกล้ชิดคงแป๊ะผู้กำยำล่ำใหญ่กระแอมเบา

“คุณหลวงเสนีย์บริรักษ์ขอรับ…”

น้ำเสียงนอบน้อมก็จริง แต่นัยคือสะกิดเตือนเลียนแบบยั่วล้อความเจ้ายศของอีกฝ่าย ซึ่งก็ส่งผลให้ครูทองอยู่คอแข็ง หน้าตึง เชิดคางขึ้นตรงฉับพลัน

“คุณหลวงวิจิตร…เจษฎา”

คงแป๊ะเน้นคำ ทว่าใช้เสียงต่ำเบา ก้มศีรษะให้ครูทองอยู่ แล้วจึงเงยหน้าไปทางนั่งร้านสูง มองหาบุญมากที่กำลังเขียนภาพอยู่ข้างบน เมื่อมองเห็นหน้าดำๆ ที่มองลงมา ก็กระตือรือร้นลุกขึ้นยืน เดินไปทัก พลางพนมมือไหว้อย่างสบายอารมณ์

“โอ้ว…ครูบุญมาก”

ครูบุญมากอยู่บนนั่งร้าน รีบไหว้ตอบ แล้วไต่เดียะๆ ลงมาหา

“ครูชุบไม่มารือขอรับ”

คงแป๊ะเข้าไปกระซิบถาม ตบหลังตบไหล่ไปมา

“ยังเลย พวกช่างตระกูลวังหน้าเพลานี้ติดงานวาดผนังที่โบสถ์วัดวังหน้าที่คลองลัดตรงบางผึ้งกัน

อยู่ขอรับ”

ครูบุญมากลดเสียงอธิบาย

“อ้อๆ ขอรับ แหม คิดถึงจริงๆ”

“ยังนายมี บ้านบุ อีกคน หากไม่ติดวาดระเบียงวัดพระศรีรัตนศาสดาราม ก็คงต้องมา”

ครูบุญมากเพลิดเพลินกับการไล่เรียงถึงบรรดาช่างเขียนในกลุ่มคนกันเอง

คงแป๊ะหัวเราะเบา

“นายมี บ้านบุ นอกจากงานช่างเขียนแล้ว ยังเป็นนักเลงกวีด้วย ตอนเป็นพระอยู่วัดโพธิ์ เห็นติดสอยห้อยตามหลวงพ่อภู่แจๆ ทีเดียว”

ครูบุญมากพลอยผสมโรง ป้องปากนินทาถึงมิตรสหายผู้โดดเด่นอีกราย

“เสียดายก็แต่ท่านภู่คงบวชไม่สึกเสียแล้ว คงยาก ที่จักได้สนุกกันพร้อมหน้าเช่นครั้งหนุ่มๆ”

คงแป๊ะและครูบุญมาก พูดคุยกันใกล้ชิดสนิทสนมกระจุ๋งกระจิ๋งกระซิบกระซาบ

ครูทองอยู่ชักสีหน้า ด้วยความสงัดวิเวกที่โปรดปรานถูกทำลายลงสิ้นแล้ว

ท่านพลันลุกขึ้นเปลี่ยนอิริยาบถ

บรรดาเหล่าศิษย์ทั้งสองสำนักที่แตกต่างบุคลิกลักษณะกันอย่างสุดขั้ว พากันลุกขึ้นเผชิญหน้า

คงแป๊ะหันกลับมา เดินเข้าหาครูทองอยู่บ้าง ด้วยท่าทียิ้มหัวผ่อนคลาย

“มีผู้ประมูลให้กระผม มาประชันกับคุณหลวงวิจิตรเจษฎาอีกแล้ว”

วาจานั้น ทำให้ศิษย์ทั้งสองฝ่ายต่างเขม้นมองหน้ากันราวกับท้าทาย

“พวกเจ้าภาพ…เขาคงอยากสนุกกัน ไม่มีอะไรดอก อย่าเอามาเป็นอารมณ์เลย”

ครูทองอยู่รีบปราม

“นั่นสิขอรับ นึกเสียว่าช่วยกันหาเงินให้วัดก็แล้วกัน กระผมไม่บังอาจอยู่แล้ว”

แม้คงแป๊ะจะกล่าวถ่อมตน ทว่าสีหน้าที่มองกัน ต่างแสดงอาการท้าทายในที

ขณะนั้น ไอ้เด็กหนุ่มจีนเจ้าเก่ากับโยมชายผู้บึกบึนผู้หนึ่ง ช่วยกันยกหม้อกาวเม็ดมะขามขนาดใหญ่ ที่ผสมดินสอพองที่เกรอะเรียบร้อยแล้ว เดินเข้าประตูโบสถ์มาวางบนพื้นเสื่อที่ปูเต็มพื้นที่โบสถ์ ตรงข้างๆ บานประตู

เจ้าผมเปียตกตะลึงมองภาพตรงหน้า คือครูทองอยู่ช่างเขียนที่มันเคารพศรัทธาสูงสุด กับคงแป๊ะช่างเขียนผู้ร่าเริงและแตกต่างอย่างน่าพิศวง

ไม่อยากเชื่อสายตาว่าคนต่ำต้อยอย่างตน จะมีวันที่ได้มาอยู่ในกลุ่มคนที่แสนเลิศล้ำเหล่านี้

พลัน จิตมันก็ประหวัดไปถึงเหตุการณ์ก่อนหน้า ณ พระอุโบสถวัดบางยี่ขัน เมื่อเดือนก่อน

 

ภาพเหล่าเทวดาเหาะเหินล่องลอยกันอยู่เหนือหลังคาปราสาทราชวังบนพื้นสีแดง ในภาพบนฝาผนังฝั่งซ้ายมือของโบสถ์ใกล้ขอบประตู สวยงาม พิสดาร มีชีวิตชีวาเกินบรรยาย มันเฝ้ายืนแหงนหงายหน้ากวาดตาดูเพลินจนลืมเมื่อยคอ

สายตาของเจ้าเด็กหนุ่มผมเปียพลันสะดุดกึกตรงเทวดาอ้วน ที่เหาะลอยเด่นอยู่นอกแถว ตลกตรงร่างอ้วนกลมราวตุ๊กตุ่น หน้าตาเป็นจีนมีหนวดสองชายเหมือนปลาดุกที่ดูราวกระดุกกระดิกยิ้มหัว มันหลุดหัวเราะฮะๆ ออกมาเต็มเสียง

มีเสียงหัวเราะสรวลเสเฮฮาที่ดังกว่าของกลุ่มคนที่กำลังพากันเดินขึ้นมาที่หน้าโบสถ์ ดังขึ้นมากลบ

“เชิญทางนี้พะย่ะค่ะ ทางซ้ายพ่ะย่ะค่ะ”

เสียงที่กราบทูลนั้นช่างดังกังวานมีอำนาจวาสนานัก

เด็กหนุ่มจีนหันไป เห็นเหล่าคนใหญ่คนโตล้วนๆ

เจ้านายสูงส่ง ขุนนางสูงศักดิ์ พระภิกษุสมณศักดิ์สูง เหล่าอุบาสกอุบาสิการ่ำรวย โอ่อ่า ผ่าเผย กำลังพากันเดินใกล้เข้ามาทุกที

เจ้าคนต่ำชั้นดุจพวกหนูหัวขโมยในรูผนังโกดังข้าว คุ้นชินกับการถอยหลบ เร้นกายไม่ให้เกะกะขวางหูขวางตาที่มาอยู่ผิดที่ทาง รีบมุดร่างว่องไวเผ่นแผล็วไปอยู่ในมุมลับตา

ท่านสมภารวัดเดินนำทุกคนมายังตำแหน่งที่เด็กหนุ่มยืนอยู่เมื่อครู่ก่อน

“เห็นคุณหลวงวิจิตรเจษฎาท่านขรึมๆ อาตมาไม่นึกเหมือนกัน ว่าท่านจะมีอารมณ์ขบขันแฝงอยู่”

ทั้งหมดมายืนดูภาพเทวดาตัวตลก ที่ฮุนติดอกติดใจ

“ทอดเนตรสิพ่ะย่ะค่ะ ว่ามีเทวดาองค์ไร ที่พิสดารต่างออกไป”

ท่านเจ้าคนนายคนองค์นั้นทอดพระเนตรไป แล้วทรงหัวเราะฮาออกมาลั่น

“โอ๊ย เห็นแล้วขันเหลือใจ หลวงวิจิตรเจษฎาทองอยู่ แก้เผ็ดคงแป๊ะอย่างเจ็บแสบทีเดียว”

ท่านเจ้านายอีกองค์รับสั่งรับรอง

“สม…คงอดทนมามาก เวลาที่วาดรูปอยู่ในที่เดียวกัน”

“คงแป๊ะชอบกวนสมาธิท่าน ใครก็รู้ว่าครูทองอยู่ท่านเจ้าระเบียบเรียบร้อย คงแป๊ะก็มักจะแกล้งหยอกเล่น”

ท่านเจ้าคุณผู้มีเสียงห้าวหาญทรงอำนาจให้ความเห็นอย่างขันปนเอ็นดู

ทุกคนฮากิ๊กๆ กั๊กๆ เมื่อพิจารณาดูเทวดาหน้าจีนมีหนวดปลาดุกกระดุกกระดิกนั้น

สตรีที่สวมเครื่องทองพราว ถามขึ้น

“แล้วคงแป๊ะ…เอ่อ…คุณหลวงเสนีย์บริรักษ์ท่านทราบหรือไม่คะ ว่ามีภาพนี้”

“ทราบซี ท่านมามองๆ แล้วหัวเราะหึๆ ไปเท่านั้น”

ท่านสมภารเล่าขำๆ

“กระผมว่า คุณหลวงวิจิตรเจษฎาเหนือกว่ามาก กระผมชอบสีที่ท่านใช้ สีทองบนพื้นแดงนั้น งามสง่า แลมีเขียวขี้ทองตัดมาในจังหวะที่งามเหมาะสม ทำให้ภาพทั้งสดใส ทั้งองอาจภาคภูมิ อธิบายยาก”

เจ้านายองค์แรกทรงวิจารณ์

เจ้าเด็กหนุ่มจีนมีดวงตาเป็นประกายสุกใสขึ้นทันที ดีใจที่เจ้าคนนายคนสูงศักดิ์เห็นพ้องต้องกันกับมัน

“ฝ่าบาทว่าเช่นนั้นรือ กระหม่อมกลับชอบฝีมือคงแป๊ะ คุณหลวงแกเขียนภาพอย่างชนิดที่ไม่อาจคาดเดาได้ สนุกขำขัน มีความเคลื่อนไหวไหลเลื่อน ไม่นิ่งสนิทเช่นครูทองอยู่”

เจ้านายอีกองค์ทรงขัดคอ

ทำให้เจ้านายองค์แรกทรงแย้งกลับ

“ผู้ใดหาว่านิ่งสนิท หม่อมฉันว่านิ่งสงบต่างหาก ดูภาพแล้วสงบ เบิกบาน เปี่ยมด้วยศรัทธาปสาทะ”

คนอื่นๆ หัวเราะรับ

“กระหม่อมฟังฝ่าบาททั้งสองรับสั่งเรื่องช่างเขียนภาพแล้วเป็นบุญหูเสียจริง”

เจ้าคุณผู้เสียงทรงอำนาจออกความเห็นเป็นการประนีประนอมประสานสัมพันธ์อย่างแยบยล

“เอาอย่างนี้ไหม ภาพฝาผนังที่วัดสุวรรณาราม เรามาดูกัน ว่าอุบาสกอุบาสิกาจะบริจาคให้ภาพของผู้ใดมากกว่า ระหว่างครูทองอยู่ กับคงแป๊ะ”

อุบาสกผู้มีราศีเศรษฐีเปิดฉาก

“เอาซี เช่นนั้น กระผมจะบริจาคให้ภาพครูทองอยู่”

ท่านเจ้านายองค์ที่มีความเห็นเหมือนเด็กหนุ่มเปียที่เร้นกายอยู่ทรงประกาศ

“เช่นนั้น กระผมบริจาคให้ภาพคงแป๊ะ”

เจ้านายอีกองค์ทรงไม่ยอมแพ้

“งั้นมาดูกัน ว่าภาพใดจะทำเงินให้วัดสูงกว่า”

เจ้านายองค์แรกทรงท้า

เสียงหัวเราะฮา และการถกเถียงถือข้างแต่ละฝ่ายก็เริ่มขึ้น

 

เจ้าเด็กหนุ่มเปียยาวที่ในวันนั้นได้แต่แอบยืนบังเงา ลอบฟังผู้คนในอีกชนชั้นสนทนากันถึงบุรุษช่างเขียนผู้ยิ่งใหญ่ ไม่อยากเชื่อเลยว่ามาวันนี้ มันมีวาสนามายืนดูทั้งคู่ประจันกันอยู่ต่อหน้าต่อตาจริงๆ

ท่านคงแป๊ะที่ถูกนินทาว่าชอบแกล้งหยอกครูทองอยู่ในวันนั้น วันนี้ก็ยิ้มสัพยอกครูทองอยู่ สมดังคำกล่าวจริงๆ ด้วย

“เราคงจะหนีกันไม่พ้น ต้องเกิดมาทำบุญร่วมชาติ ตักบาตรร่วมขันกัน…ทุกชาติๆ ไป…อย่างแน่นอนขอรับ”

เนตรกลับเป็นคนที่โทสะถูกปลุกให้พลุ่งพล่านขึ้นมามากกว่าใคร

เขาเล็งแลคงแป๊ะ ไม่สบอารมณ์ ครั้นเหลือบเลยมาเห็นเจ้าเด็กผ่ายผอมเปียยาวเจ้าเก่าที่เป็นดังแมลงวัน ปัดไล่เท่าใดก็ไม่ไปไหน มายืนเสนอหน้าอยู่ข้างหม้อกาวมะขาม อ้าปากค้างมองท่านครูอย่างตื่นเต้นตาโต ยิ่งดูยิ่งน่ารำคาญ จึงได้โอกาสระบายความพาลไปลงที่มัน

“ผู้ใดบอกให้ไอ้เจ๊กยกกาวเข้ามา”

เขาเปรยลอยๆ ขึ้นมาคล้ายกำลังถามสหายข้างๆ

แต่มันดังสอดขึ้นมาท้ายวาจาคงแป๊ะพอดี

“‘เจ๊ก’ ก็ยกกาวมาให้ ‘แป๊ะ’ นี่ไง”

คงแป๊ะเอ่ยลอยๆ สวนกลับไปทันควัน

“ฮุน”

คงแป๊ะเรียกชื่อ แล้วกวาดตามองสบตาทุกคน อย่างจงใจเน้นย้ำ แนะนำ

“…มันมีชื่อว่าเจ้าฮุน เป็นลูกศิษย์ฉันเอง”

ทุกคนต่างชะงักด้วยความฉงน รวมทั้งตัวเจ้าเด็กหนุ่มจีนเอง

แต่คงแป๊ะยังไม่สาใจ

ท่านหันกลับมาสำทับที่เจ้าจีนผมเปีย

“ฮุน กราบ… ‘รุ่นพี่’ ทั้งหมดในที่นี่”

เนตรเป็นเป้าหลัก ที่คงแป๊ะจงใจ ‘หยอกเล่น’

เด็กหนุ่มจีนทำตามสั่ง ไหว้ศอกกางเก้งก้างค้างไว้กลางอกประสามัน พร้อมหันรอบๆ ผงกหัวลงหงึกๆ ให้คณะของครูทองอยู่ทั้งหมด แล้วจึงผงกหัวให้ครูบุญมาก รวมทั้งเงยขึ้นไปผงกหัวให้พี่ๆ ที่บนนั่งร้านทุกคนที่มองลงมา

“อีกหน่อย ไอ้หางเปียมันจักเป็นช่างเขียนที่เก่งเกินหน้าคนอีกหลายคน”

คงแป๊ะเอามือลูบกลางกระหม่อมที่ถูกโกนเกลี้ยงนั้น หันมาจ้องหน้าเนตรพลางยิ้มน้อยๆ

 

งานช่างเขียนของเจ้าฮุนเริ่มต้นที่การเทกาวเม็ดมะขามแบ่งลงในหม้ออวยบ้าง ชามบ้าง ถังบ้าง ตามที่มี จัดวางแบ่งแปรงสำหรับปาดกาวเม็ดมะขามเตรียมไว้ ให้พอดีจำนวนศิษย์ผู้พี่

ขณะที่ครูทองอยู่ยืนไพล่หลัง มองจ้องดูผนังข้างๆ หน้าต่างด้านขวา คงแป๊ะก็ยืนกอดอก มองดูผนังข้างซ้ายของหน้าต่างบานเดียวกัน

ครูพุด ชายร่างเล็กปีนนำขึ้นไปบนนั่งร้านเหนือผนังซ้ายของหน้าต่างบานใหญ่ที่คงแป๊ะเล็งแลอยู่ แล้วก้มลง ยื่นมือมายังเด็กหนุ่ม

“ฮุน เอ็งเอากาวขึ้นมาให้ข้านี่”

ศิษย์คนสนิทผมยาวเกล้ามวยพราหมณ์ปีนตามไปติดๆ แล้วหันมาสั่งตาม

“ข้าด้วย”

“ขอลับ ขอลับ”

ฮุนรีบยกภาชนะกับแปรง ปีนไปส่งให้ทีละคน

เนตรปรายตามองมาจากนั่งร้านอีกข้างของหน้าต่าง หัวเราะเบาๆ

“หึๆ เมื่อไหร่จะได้จับพู่กัน…ไอ้เจ๊ก!”

ครูทองอยู่ไม่ได้เบือนหน้ามาจากผนังที่เล็งกะการอยู่ แต่ปรามเบา

“ออเนตร เป็นผู้ใหญ่แล้ว ให้รู้จักทำตัวเป็นผู้ใหญ่”

เนตรสะดุ้ง หน้าเผือด

“พิจารณาตนเอง อย่าไปมัวพิจารณาผู้อื่น”

 

ข้างบนนั่งร้านอีกข้างหน้าต่าง ครูพุดตบลงบนลำไม้ไผ่ข้างตัว

“เอาหม้อแขวนตรงนี้ มา…นั่งข้างๆ ข้า”

ครูหยิบแปรงมาจุ่มลงไปในกาวแต่พอดีเพียงช่วงปลายแปรง ไม่ใช่ชุ่มฉ่ำจนหยดย้อยเสียของ

“เจ้าฮุน ดูเสีย ว่าเขาทำกันอย่างไร”

มืออันแข็งแรงนั้นปาดกาวรวดเร็วไปบนพื้นผนัง สม่ำเสมอ มั่นคง หนักแน่น

ฮุนจับตามอง สังเกตทุกจังหวะลีลา รายละเอียด

 

ตะวันฉายแสงจ้า เหนือแถวทิวสำเภาใหญ่หลายลำที่จอดทอดสมอเรียงรายพักใบหุบลง ณ ริมฝั่งลำน้ำเจ้าพระยา หน้าอู่ต่อเรือท่านขรัวโต หรือเจ้าพระยานิกรบดินทร์ เจ้าสัวโต (1) แห่งปากคลองบางกอกใหญ่ มองผ่านทะลุลึกเข้าไป แลเห็นอุโบสถที่สร้างเสร็จเป็นสิ่งแรก กองอิฐกองทรายกองไม้วัสดุก่อสร้างถูกขนเข้ามาเพิ่มขึ้นทุกวัน ด้วยงานก่อสร้างวัดกำลังดำเนินไป

ในอู่ต่อเรือ พวกคนงานหนุ่มผมเปียยาวข้อมือผูกปี้ครบถ้วนทั่วทุกตัวคน กำลังกลุ้มรุมขัดไม้ผิวลำเรือภายนอกของสำเภาขนาดใหญ่ ที่ขึ้นคานยกสูงไว้ ให้ได้ปีนทำงานกันใต้ท้องเรือ

ใต้ร่มหลังคาโรงเรือนด้านใน พวกคนงานสูงวัย กำลังช่วยกันเย็บผ้าใบทำขอบสำหรับเชือกร้อยใบเรือกัน

เมื่อผิวท้องเรือเรียบดี ฮุนกับช่างสีรุ่นพี่อีกคนนึง ก็รับหน้าที่ทาน้ำมันยางไม้ยาพื้นเรือ

จู่ๆ ฮุนก็ถอนใจ รำพึงรำพัน

“ต่อเรือ ก็เป็นคนทาน้ำมันยาพื้น เขียนภาพ ก็ได้เป็นคนทากาวรองพื้น”

“ทากาวรองพื้น…คืออย่างไรอั๊วะไม่รู้ แต่ทาน้ำมันยาพื้น เป็นงานสำคัญมาก”

รุ่นพี่ขนาบเสียงจริงจัง

กงเดินเอาคนโทน้ำกินมาวางให้หลานชาย ได้ยินถ้อยคำบ่นเข้าพอดี

“อาฮุน ถ้าเรือรั่วน้ำซึมเข้ามาได้ จะเกิดอะไรขึ้น”

“น้ำก็เข้ามาในเรือได้ยังไงเล่า กง”

ฮุนตอบสะบัด น้ำเสียงท้าทายยียวน

“เรือจมไง ไอ้เด็กน้อย เรือลำใหญ่ๆ ขนข้าวของทรัพย์สมบัติล้ำค่า ข้ามทะเลไปใต้ขอบฟ้า ต้องจมลงไปนอนที่ก้นมหาสมุทร เพราะไอ้เด็กทาน้ำมันยาพื้นเรือ มันไม่ตั้งใจทาอย่างไรเล่า”

ตอบแล้ว กงก็ตบกบาลฮุนป้าบ

“ไอหยา…อากง”

“ไอหยา อาฮุน”

กงกับหลานชายหายอมให้กันไม่ แต่พวกคนงานรอบๆ พากันขบขันสนุกสนาน

 

ภายในโบสถ์สร้างใหม่ยามบ่ายจัด อากาศชื่นฉ่ำ แสงครึ้ม ร่มเย็น ภาพผนังด้านหน้าพระประธานในโบสถ์ที่เพิ่งเขียนเสร็จสมบูรณ์ใหม่เอี่ยม เป็นภาพโทณพราหมณ์กำลังแบ่งพระบรมสารีริกธาตุ ด้านล่างเป็นภาพท่าน้ำ แม่น้ำ ชุมชน ซึ่งน่าจะเขียนขึ้นเพื่อจำลองชุมชนปากคลองบางกอกใหญ่ในเวลานั้นนั่นเอง

ฮุนยืนแหงนเงยมองดูภาพนั้นชื่นชม ดวงใจทะเยอทะยานอยาก ดวงตาเป็นประกายร้อนเร่า

กงโผล่หน้าเข้ามามองหา พอเห็นตัวเป้าหมาย ก็เดินย่องกริบเข้ามาอย่างระวัง

“คิดไม่ผิด ถ้าลื้อยังไม่ถึงบ้านก็แปลว่ามาที่นี่ ไม่เบื่อไม่หน่ายเลยรืออาฮุน มาดูตั้งแต่เขาเริ่มเขียนกัน จนเขียนเสร็จ”

“กงดูเรือสิ มีเรือกี่ชนิด ที่ลอยอยู่ในน้ำตรงนี้”

ฮุนเข้ารุ่นหนุ่มแล้ว แต่ดวงหน้าของเขาเวลานี้ไม่ต่างจากเจ้าตี๋ตัวน้อยที่กงเคยชี้ชวนดู สอนให้รู้จักสิ่งแปลกใหม่ต่างๆ

“ดูศาลเจ้า เขียนได้เหมือนจริงแท้ ไหนจะคนจีน คนแขก”

เสียงซุบซิบซู่ซ่าดังมาจากต้นทาง ทำให้ฮุนและกงหันไป

ท่านเจ้าสัวและคณะ เดินเข้ามาในโบสถ์พอดี

ท่านเจ้าสัวก็ไว้เปียยาวเช่นกัน แต่งกายอย่างจีนชั้นสูง โอ่อ่าประณีต มีสง่าราศีผิดไปจากพ่อค้าทั้งหลาย ด้วยท่านคือพระสหายของพระเจ้าแผ่นดินสยามพระองค์นี้ ที่ทรงร่วมลงทุนค้าขายและต่อเรือด้วย ตั้งแต่ครั้งที่ในหลวงพระองค์นี้ยังเป็นพระเจ้าลูกยาเธอ กรมหมื่นเจษฎาบดินทร์

ครั้งนั้น ท่านเจ้าสัวเต๋า แซ่อึ้งนี้ ยังเป็นคนไปตั้งเตาทำอาหารเกาเหลาที่วังท่าพระ เลี้ยงเหล่าข้าราชบริพารให้อิ่มหนำสำราญ ก่อนและหลังเข้าเฝ้าในหลวงแผ่นดินกลางในพระบรมมหาราชวัง

วัดที่ท่านกำลังสร้างอยู่นี้ ต่อไปจึงได้รับพระราชทานนามว่า วัดกัลยาณมิตร

กงรีบดึงฮุนให้หลบทาง โค้งแสดงความเคารพ

“ท่านเจ้าสัว…”

ฮุนไหว้อย่างจีน ในท่าที่แสดงคารวะอย่างสูง

“ท่านเจ้าสัวอึ้ง”

“อาเส่ง อาฮุน…”

ท่านเจ้าสัวมองสองกงหลาน ด้วยความเวทนาปรานีนัก

“กระผมติดตั้งใบเรือเสร็จแล้วนาขอรับ”

ทุกคนเจรจากันในภาษาจีนฮกเกี้ยน

“ดีๆ พรุ่งนี้อั๊วะจะไปตรวจดูแต่เช้า”

“แล้วนี่ ท่านเจ้าสัวคิดถึงบ้านลือขอรับ จึงกลับมาเยี่ยมบ่อยๆ”

กงหยอกล้อท่าน ทำให้พวกผู้ติดตามหัวเราะกันเบาๆ

“ข้ามาไหว้พระต่างหาก…”

ท่านยิ้ม มองไปทางองค์พระประธานในโบสถ์

“ก็พระอุโบสถนี้ สร้างบนที่บ้านหลังเก่าของท่านเจ้าสัวนี่นา”

กงยังคงย้ำเตือน

“ฮื้อ…ไม่ใช่แล้ว ถวายให้พระศาสนาไปแล้ว ไม่มีอาลัยแล้ว…ดูแต่พระประธาน ข้าจะทำของข้าเอง

แต่เมื่อในหลวงทรงพระราชทานพระพุทธปาลิไลยก์ ที่ท่านรับสั่งให้หล่อไว้อยู่แล้ว…กำลังเสร็จพอดี  ข้าก็รีบรับพระราชทานมาทันที ไม่มีเกี่ยงงอน”

“งามนักหนา วัดใดไม่มีเสมอเหมือนเลยขอรับ”

กงหันไป ไหว้แล้วไหว้อีก

“เออ…แต่หาใช่เพียงเท่านี้แค่นั้นหนา อาเส่ง อีกไม่ช้าไม่นานจะทรงสร้างพระโต แบบวัดพระนางเชิง กรุงเก่าพระราชทานด้วยหนา”

กงตื่นเต้นยิ่งกว่าใครๆ ทุกครั้งที่ท่านเจ้าสัวเอ่ยเรื่องนี้ เหมือนได้ยินครั้งแรก

“สาธุๆๆ”

“สงสัยว่า ท่านคงทรงเกรงว่า หากให้ข้าสร้างเองคนเดียว ข้าจักสิ้นเนื้อประดาตัว”

ท่านเจ้าสัวเอ่ยถึงในหลวงอย่างรักเหลือล้น แล้วหัวเราะอิ่มเอม

“…เลยจะทรงช่วยสร้างองค์พระโต แลพระวิหารหลวงที่ประดิษฐานพระโตให้ทั้งหมดเลย”

“สาธุๆๆ”

กงเปล่งเสียงดังอย่างแข็งขัน

ฮุนพลอยไหว้ท่วมหัว สาธุไปด้วย เนื่องจากกงรักและศรัทธาเป็นที่สุด ทั้งตัวท่านเจ้าสัว และองค์พระมหากษัตริย์สยามพระองค์นี้

ท่านเจ้าสัวมองฮุนด้วยความเอ็นดู เนื่องด้วยเห็นวิ่งตามนายช่างกิมเส่งไปมาทั่วอู่ต่อเรือ ตั้งแต่ยังตัวเล็กตัวน้อย

“เห็นว่าอยากเป็นช่างเขียนกับเขาบ้างหรือฮุน”

“ฮ่อๆ”

ฮุนก้มหัวรับจริงจัง

“ในหลวงท่านโปรดช่างเขียน ดูอย่างภาพนี้ นั่นพระอินทร์ที่เหาะอยู่ กำลังอัญเชิญพระเขี้ยวแก้วที่โทณพราหมณ์แอบซ่อนไว้ในมวยผมเพื่อเอาไปประดิษฐานบนพระเจดีย์จุฬามณีบนสวรรค์ชั้นดาวดึงส์…เรื่องราวทั้งหลายก็มีแต่ช่างเขียนนี่แลที่จะเขียนบอกเล่าทุกสิ่งทุกอย่างไว้ให้ผู้คนได้เรียนได้รู้ไปนานเท่านาน ตราบเท่าที่วัดจะยังดำรงคงอยู่”

ท่านเจ้าสัวเมตตาบรรยายสาระสำคัญของงานของช่างเขียนอย่างตั้งใจ ให้เด็กหลานคนงานคนหนึ่งที่ไม่สลักสำคัญอันใดฟังไว้ หวังให้มันเข้าใจและจดจำ ซึ่งท่านไม่ผิดหวังเลยเมื่อฮุนตอบมาอย่างกระตือรือร้น

“แม่น้ำนี้ด้วยขอรับ ช่างเขียนเขียนแม่น้ำหน้าวัดนี้เอง มีทุกอย่างสมดังที่เป็นอยู่จริง บันทึกไว้ให้คนในภายหน้าได้เห็น”

ท่านชอบใจเป็นที่สุด

“ถูกแล้วฮุน อั๊วะตั้งใจเช่นนั้นจริง ลื้อไปหัดเขียนภาพให้เก่ง จะได้เป็นคนโปรดของในหลวง สืบไปจะได้เป็นขุนนาง คนจีนก็เป็นขุนนางได้เช่นข้านี่อย่างไร ขยันๆ อดทนๆ เข้า จะได้เป็นที่พึ่งของกง”

สุดท้าย ท่านมีน้ำเสียงปลงอนิจจัง

“ต่อไปผู้คนคงใช้เรือกำปั่นฝรั่งแทนที่สำเภาที่เราสร้างกันไว้เป็นหนักเป็นหนา ไม่ช้าไม่นาน…กงของเจ้าแลข้า คงได้เลิกต่อเรือสำเภากันเสียที”

แต่ฮุนกลับยิ่งถูกจุดไฟที่ลุกโพลงเต็มดวงจิต มันมองเจ้าสัวด้วยดวงตาเป็นประกายวาววาม

 

เชิงอรรถ : 

(1) เต๋า แซ่อึ้ง

 



Don`t copy text!