สร้อยหงส์แสง ภาคต้น บทที่ 2 : ห้วยดอกอูน
โดย : มาลา คำจันทร์
สร้อยหงส์แสง สิ่งล้ำค่าที่ไม่มีใครเคยรอดชีวิตกลับมาจากการตามหา ผลงานจากศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ อ. มาลา คำจันทร์ ที่มอบความไว้วางใจให้ อ่านเอา ได้เป็นผู้เผยแพร่นวนิยายเรื่องล่าสุดของท่าน ในรูปแบบ นิยายออนไลน์ ที่เราอยากให้ทุกคนได้ติดตามและ อ่านออนไลน์ ได้ลงจนจบบริบูรณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทางผู้เขียนใจดีมอบ 5 บทแรกไว้ให้อ่านกันที่อ่านเอา และหากติดใจอย่างอ่านต่อสามารถติดตามฉบับรวมเล่มที่ออกโดย สำนักพิมพ์ Groove www.groovebooks.com
——————————–
ห้วยดอกอูนเป็นชื่อหมู่บ้าน ขึ้นอยู่กับตำบลสันป่าตึง เป็นพื้นที่ป่าเขาสลับทุ่งนา ผู้แก่ผู้เฒ่าเล่าสืบกันมา สมัยเมื่ออพยพโยกย้ายกันมาเมื่อราวหกสิบปีก่อน ที่ราบเล็กๆ พอจะตั้งเป็นบ้านเป็นเรือนแห่งนี้มีลำห้วยสายหนึ่งอุดมด้วยดอกอูน เมื่อหมู่บ้านกำเนิดแล้ว ก็เลยเรียกกันว่าบ้านห้วยดอกอูน เมื่อหมู่บ้านมั่นคงดีแล้ว จึงคิดอ่านสร้างวัด แล้วได้ชื่อว่าวัดห้วยดอกอูนตามชื่อหมู่บ้าน
“ตอนสร้างวัดตุ๊ลุงอายุได้ ๑๓ ปี” ท่านผู้เฒ่าทอดสายตามองฝ่าแดดบ่าย เหมือนจะมองย้อนกลับในอดีตกาลไกลโพ้น“ เผลอเพียงพริบตา อายุตุ๊ลุงได้ ๖๘ แล้ว”
“๖๘ แล้วหรือ ข้านึกว่าสัก ๖๐”
“อีก ๑๒ ปี ตุ๊ลุงก็มีอายุเท่าพระพุทธเจ้าเมื่อเข้าปรินิพพาน แต่ว่าจะอยู่ไปถึงวันนั้นไหมบ่มีไผฮู้หรอกเณร อนิจจังบ่เที่ยง เป็นเรื่องบ่ควรประมาท อย่าปล่อยปละละเลย วันคืนบ่คอยท่า เวลาบ่คอยไผ ทำใดจงเร่งทำ อย่าคิดว่ายังหนุ่มยังแน่นยังบ่ตายง่ายๆ ไว้แก่เฒ่าก่อนค่อยทำ ความตายบ่เคยละเว้นไผ บ่ว่าหนุ่มว่าเฒ่า คนหนุ่มตายก่อนคนเฒ่าก็มีถมเถ ตุ๊ลุงเองก็มีเรื่องที่ต้องเร่งทำ…”
“เรื่องอันใดหรือ ตุ๊ลุงต้องเร่งทำ”
“เสกสร้างคนแทน สืบทอดวิชาปัญญา เอ็งหยักแข็บให้ตุ๊ลุงอีกที” ท่านเอามือซ้ายอ้อมข้ามไหล่ขวาชี้ที่สะบักหลัง “เอ็นเข้าแข็บ มันขัดๆ หัวไหล่”
ค้อมตัวไปข้างหน้าเล็กน้อยเพื่อให้แข็บหรือสะบักหลังลอยขึ้น จะได้ง่ายต่อการเอาหัวแม่มือหยักลงไป ท่านเองรู้ตัวดี คนอื่นอาจคิดว่าท่านยังอยู่ในวัยหกสิบเพราะภายนอกอาจดูแข็งแรง แต่หลายสิ่งหลายอย่างภายในมีแต่ท่านเท่านั้นที่รู้ดี
มันหนักขึ้นทุกที
บ่ายแก่ๆ อากาศอบอุ่นขึ้น แดดงามแดดดีส่องสว่างเต็มลานวัด วัดเก่าแก่ดั้งเดิมมีอายุเกือบเท่าหมู่บ้าน หลวงลุงเองเห็นความเป็นไป เห็นความเปลี่ยนแปลงทั้งภายในวัดและภายนอกวัดมาโดยตลอด ท่านเองเป็นคนรุ่นก่อนหมู่บ้านตั้งขึ้น เพราะติดตามพ่อแม่มาบุกเบิกอยู่สร้างทำกินแต่เมื่ออายุได้เจ็ดแปดขวบโน่นแล้ว ผู้ใดเป็นคนมาก่อนหมู่บ้านจะเกิด เรียกว่าคนรุ่นก่อนทั้งนั้น
“เมื่อโยกย้ายกันมา มันเป็นอย่างใดหือ ตุ๊ลุง”
แสงเฮืองเอาฟืนซุกเข้าใต้หม้อต้มใบลาน เป็นหม้อขางหรือกระทะใบบัวขนาดใหญ่ หลวงลุงเอามะขามโยนใส่หม้อต้มก่อนตอบ
“ลำบากยากเข็ญนัก นอนแรมแกมมื้อกันมา ผีก็ร้ายพรายก็แรง…” ท่านมองไปยังพระเณรลูกวัดและพ่อน้อยพ่อหนานหลายคนที่ช่วยกันขนข้าวใหม่ไปเก็บใส่ยุ้ง “ตุ๊ลุงเองตอนนั้นก็ยังเด็กยังเล็ก รู้เห็นไม่ทั่ว จำได้ไม่หมด ตายกลางหนไปสองสามคน มันตกขึด”
สามเณรตัวสูงโย่งบิเปลือกมะขามเปรี้ยวให้แตก เอาแต่เนื้อกับเมล็ดโยนใส่หม้อต้มใบลานที่ตนเป็นผู้ช่วย ช่วยทุกอย่าง แล้วแต่ท่านจะเรียกให้ช่วย รับใช้ทุกอย่าง แล้วแต่ท่านจะเรียกใช้
“ตกขึดมีอะหยังพ่อง ตุ๊ลุง”
“มีหลายอย่าง” ท่านผู้ดูแลวัดวาสืบต่อจากครูบาเอาไม้ขอเกี่ยวใบลานที่ม้วนเป็นวงกลมในหม้อต้มใบใหญ่พลิกกลับไปมา “ใหญ่ๆ ก็แยกเป็นสองอย่างคือขึดบ้านกับขึดป่า ขึดบ้านก็คืออันบ่ควรทำเมื่ออยู่ในหมู่บ้าน อีกอย่างคือขึดป่า คืออันบ่ควรทำเมื่ออยู่ในป่า แยกย่อยออกไปเป็นหลายหมวดหลายหมู่นัก อยากรู้ดีถี่แจ้ง เณรไปอ่านธรรมชื่อโลกวุฒิ”
“ธรรมชื่อชัยสังคหะข้าก็ยังอ่านบ่จบเทื่อ”
“บ่อยากเป็นเจ้าชัยสังคหะแล้วกา?”
“อยากอยู่ ตุ๊ลุง”
“เจ้าชัยสังคหะมีสะหลีกัญไจยเล่มหนึ่ง ปราบผีปราบพรายใต้หล้าได้หมด”
“ตุ๊ลุงก็มีสะหลีกัญไจย* อยู่เล่มหนึ่ง” เณรรับใช้ประจำตัวเจ้าอาวาสเสือกฟืนเข้าในเตา “ข้าเองก็อยากปราบผีปราบพรายใต้หล้าได้หมดอย่างเจ้าชัยสังคหะ ตุ๊ลุงปันดาบสะหลีกัญไจยเล่มนั้นแก่ข้าเทอะ”
“เมื่อเย็นวาน เณรไปเรือนนั้นหรือ”
“เรือนไหน ตุ๊ลุง”
“เรือนหนานทาลิงลม”
ท่านว่ากล่าวทิ่มแทง เหมือนแทงถูกเป้าหมายแม่นยำ เณรหนุ่มหลบสายตา สีหน้าเหมือนสำนึกผิด
“ข้าได้ไปแท้ ตุ๊ลุง แต่บ่ได้ไปคนเดียว ไปกับคำสิงห์”
“ไปเยียะหยัง”
“ข้าไป…ไป…”
“อยากเห็นหน้าคำสร้อย พี่สาวไอ้คำสิงห์ใช่ไหม”
ไม่มีเสียงตอบจากสามเณรรับใช้ประจำตัว ท่านเจ้าอาวาสถอนใจยาวๆ
“หยากไย่พันใจ เอาออกเสีย เอาออกบ่ได้ ก็จับต้องสะหลีกัญไจยบ่ได้”
บ่ายแก่ๆ อากาศอบอุ่นขึ้น คำสร้อยถือโอกาสงีบที่ตั่งใหญ่ใต้ถุนบ้าน เมื่อคืนนอนไม่เต็มอิ่ม เพราะสักตีสี่ก็รีบลุกมานึ่งข้าวเป่าไฟเพราะเป็นวันศีลใหญ่ทานหลวง ช่วงเช้าก็ต้องยุ่งเกี่ยวกับกิจกรรมทางบุญ ตกบ่ายน้องสาวชวนไปปาดผักหมูมาต้มไว้เป็นข้าวหมู แต่เหนื่อยคร้านนักบ่ายนี้ มีใจใคร่งีบจึงให้น้องไปคนเดียว
“พี่น้อยสุธน คำสร้อยเอาบุญเผื่อพี่ด้วยนะ”
แอบบอกกล่าวในใจฝากไปกับลม
เซ้าซี้ซอแซ แกกาแว่วร้องอยู่ไกลเหมือนมันรับคำไปบอก อบอุ่น อ้อยอิ่ง อ่อนหวาน อยากซุกตัวอยู่แต่ในห้วงหวานหอมแห่งความรัก ใช่แล้ว กูรักท่าน กูบอกแก่ตัวกูได้ไม่อาย แต่กูจะบอกแก่ใครไม่ได้เด็ดขาด หญิงบอกรักชายก่อนเป็นเรื่องถือสาน่าอับอาย ตราบใดท่านไม่บอกมาก่อน คำนี้ต้องเก็บซ่อนให้ลึกที่สุด
ตาหลับไปแล้ว แต่ยังมองเห็นหน้าคมตาคมมีผมปอยหนึ่งตกระหน้าผาก อ้ายสุธนไม่ใช่คนขาว แต่ก็ไม่ใช่คนดำ ไม่ขาวอย่างคนในร่ม แต่ก็ไม่ดำอย่างคนกลางแดด ผิวเข้ม หน้าคม สูงโปร่งปราดเปรียว ย่ำเท้าก้าวย่างหนักแน่น พี่อ้ายเข้ามาในชีวิตเมื่อราวครึ่งปีก่อน มีโอกาสได้พบปะกันในงานปอยหลวงวัดสันป่าตึง ต่างคนต่างลอบพึงพอใจกัน แล้วก็เลยติดพันสืบมา แต่แรกแม่ก็ไม่ขัดขวางห้ามปรามอะไร แต่ต่อมา ตั้งแต่อ้ายบุญธรรมลูกพ่อนายเศรษฐีใหญ่ชาวสันป่าตึงต้องตาเธอ ท่าทีแม่ที่มีต่อพี่น้อยสุธนก็เปลี่ยนไป
แม่อยากได้ลูกเศรษฐีเป็นเขย
ไม่อยากได้ลูกคนฟื้นฟ้าสามัญอย่างพี่น้อยสุธน
บ้านห้วยดอกอูนก่อตั้งกันขึ้นมาได้เพียงหกสิบปี แต่บ้านสันป่าตึงก่อตั้งขึ้นมายาวนานนัก สันป่าตึงเป็นชื่อหมู่บ้านมาก่อน ต่อมาเมื่อทางราชการท่านจัดระเบียบการปกครอง สันป่าตึงถูกยกขึ้นเป็นตำบล ประกอบด้วยหมู่บ้านแวดล้อมหลากหลาย ห้วยดอกอูนก็ขึ้นกับสันป่าตึง ป่าไผ่ หนองมน ทุ่งล้อม ทุ่งข้าวหาง และบ้านป่าบ้านดงอื่นๆ ขึ้นกับสันป่าตึงทั้งนั้น สันป่าตึงมีตลาดประจำตำบลตั้งอยู่ โรงเรียนประชาบาลประจำตำบลก็อยู่ที่นี่ สุขศาลาประจำตำบลก็ว่าจะมาตั้งที่นี่ สันป่าตึงได้เปรียบหมู่บ้านแวดล้อมอื่นๆ หลายประการจึงใหญ่โตคึกคัก หนึ่งในความได้เปรียบเหล่านั้นคือมีทางรถแล่นผ่านหมู่บ้าน คนจากหมู่บ้านหลวงหลายหากจะออกไปเมืองพร้าวต้องมารอขึ้นรถที่ตลาดสันป่าตึง สินค้าสินขายหลายอย่างต่างๆ นานา หากมาจากตลาดประจำอำเภอก็จะมาลงที่ตลาดสันป่าตึง ของขายของค้าออกป่าออกดง ก็มาปลงมาพักที่นี่ แล้วค่อยขยับขยายเคลื่อนย้ายไปสู่ที่อื่น ตลาดสันป่าตึงเป็นตลาดใหญ่ที่สุดในหย่อมย่านบ้านป่าเมืองดงติดเขตดอยสูง ถัดแต่ที่นี่เข้าไป ไม่มีตลาดอีกแล้ว ตลาดสันป่าตึงมีรวงร้านย่านค้าเป็นตึกสองสามหลัง เจ้าของร้านล้วนแล้วแต่เครือญาติพ่อนายบุญส่งทั้งนั้น ท่านไม่ได้เป็นพ่อแคว่นหรือกำนัน แต่ชาวบ้านหลวงหลายยกยอขึ้นเป็นพ่อนาย
พ่อนายไม่ใช่ตำแหน่งแต่งตั้งจากราชการ แต่เป็นคำเรียกขานที่ชาวบ้านเรียกด้วยความเคารพยกย่อง เป็นคำเรียกขานที่สูงกว่าคำว่าพ่อเลี้ยง พ่อเลี้ยงอาจหมายถึงคนมีเงิน แต่พ่อนายหมายถึงผู้มากมีทั้งทรัพย์สิน บารมี และคุณงามความดีเป็นที่ยอมรับของชาวบ้าน อยู่สูงกว่าพ่อแคว่นพ่อเลี้ยงทั่วๆ ไป
พ่อนายบุญส่งอายุได้ ๕๘ ปี มีลูก ๔ คน เกิดจากเมียแรกอันเป็นเมียนางนั่งช้างสองคน เกิดกับเมียพรางคือเมียที่ไม่เอาออกหน้าออกตาอีกสองคน ลูกคนเล็กสุดชื่อว่าบุญธรรม อายุได้ ๒๒ ปี ยังไม่มีเมีย
“ไอ้หล้าไปไหนหือ สู”
“บ่ฮู้” แม่นายยุพาส่ายหน้าแล้วหันไปเรียกหาบริวารบ่าวชายในบ้าน “ไอ้ทอง ไอ้ซาย ไผอยู่พ่อง นายหล้าสูไปไหน ไผฮู้พ่อง”
“ข้าอยู่” มีเสียงไอ้ซายตอบจากใต้ถุน “นายหล้ากับอ้ายทองควายไปป่าเฮ่ว แม่นาย”
“ไปเยียะหยังที่ป่าเฮ่วป่าช้า ไผตายกา?”
“ไปเยี่ยมยามพ่อผ้าขาวผู้หนึ่ง ลือชาปรากฏว่าเก่งกล้าสามารถนัก ปลุกผีปลุกพรายอยู่กลางป่าช้ามาสามสี่คืนแล้ว”
“มัวเมาอยู่แต่ของดีวิเศษ” พ่อนายคาดเดาแล้วทอดถอนใจ “ไม่รู้จักทางทำมาหากิน”
“มันยังเล็กอยู่” แม่นายรีบปกป้องลูกคนเล็กเหมือนแม่ไก่ปกปีกแผ่หางคุ้มครองลูก “หม้าใหม่ใหญ่กล้าขึ้นมาก็จะเก่งเหมือนสู”
ยามบ่ายแดดเบี่ยงคล้อย คำสร้อยงีบหลับไปแล้วบนตั่งใต้ถุนเรือน แต่นางบัวไหลเพิ่งเข้ามาเงียบๆ เห็นลูกสาวหลับก็ไม่ปลุก ไม่รบกวนอะไร นางเข้านั่งประจำที่คานทอผ้าของตน นางเองมีฝีมือในการทอผ้า นางสืบวิชานี้จากแม่ คำสร้อยคำสายสืบไปจากนางอีกที ต่อไปมันมีลูกเป็นสาว ลูกสาวก็คงจะสืบฝีมือทอผ้าไปจากมันอีกที บ้านห้วยดอกอูนแห่งนี้มีชื่อเสียงเรื่องทอผ้าหลบกับผ้าตุ๊ม ผ้าหลบคือผ้าปูนอน ผ้าตุ๊มคือผ้าคลุมไหล่ ไม่ใช่ผ้าทอพื้นเรียบธรรมดา หากแต่เป็นผ้าทอที่สอดใส่ลวดลายค่อนข้างละเอียด ขายได้ราคาดี แต่ไม่ใช่ขายดี ขายดีต้องเป็นซิ่นหรือผ้าถุงธรรมดา เพราะว่าราคาถูก แต่ผ้าหลบกับผ้าตุ๊มจะขายราคาถูกๆ ไม่ได้ เพราะทอยาก ใส่ลวดลายละเอียดลออมากมาย ใช้เวลาทอนานมาก ใช้ฝีมือสูง ยิ่งลวดลายซับซ้อนมันก็ยิ่งยาก ราคาก็ยิ่งแพง
เปิดผ้าเก่าๆ ที่ใช้คลุมเนื้อผ้าส่วนที่ทอแล้ว ขยับฟืม จับกระสวยพุ่งเส้นด้ายแล้วย่ำไม้บังคับฟืมให้ยกขึ้นลงสลับกัน ผ้าทอลายทอได้ช้า สมาธิต้องดี ถึงตอนใส่ลายหากเผอเรอหรือหลงลืม ลวดลายที่ได้ก็จะไม่ปะติดปะต่อ ผ้าหลบเขาใช้ปูนอน ผ้าตุ๊มเขาใช้คลุมไหล่ในยามหน้าหนาว ผ้าหลบอาจไม่จำแนกแจกแจงเป็นชนิดยิบย่อยเท่ากับผ้าตุ๊ม ผ้าตุ๊มแยกได้หลายอย่าง ผ้าตุ๊มคนหนุ่มอย่างหนึ่ง ผ้าตุ๊มคนแก่ก็อีกอย่าง ของคนหนุ่มมักใส่ลวดลายมาก ของคนแก่ลดทอนลวดลายลง หรืออาจไม่ใส่เลย ราคาจำหน่ายก็แตกต่างกันออกไป
นางบัวลาเข้ามาที่ใต้ถุนอีกคน ชำเลืองมองหลานสาวบนตั่งแล้วพูดเบาๆ เหมือนกลัวจะรบกวนคนหลับคนนอน
“ตะเช้า อี่แม่เลี้ยงแสงคำมันถามหาเอ็ง”
“แล้วแม่ตอบมันว่าอย่างใด”
“ก็ว่าเอ็งต้องดูแลทางบ้าน ต้องวางควักผีย่าหม้อนึ่ง วางควักผีหอผีเรือนเลยไม่ได้ไปวัด”
“ข้าบ่ตายเสียก่อน ก็คงปลดหนี้มันได้สักวัน”
แม่ก็หม้าย ลูกสาวก็หม้าย แม่หม้ายร่วมเรือนมองหน้ากัน แม่ลูบกำไลเงินที่แขนแล้วถอนใจ ลูกสาวก้มหน้า นางบัวลาเพิ่งหม้ายมาราวสองปี หม้ายเมื่อแก่แล้ว แต่ลูกสาวนางหม้ายมาห้าปี หม้ายเมื่อยังไม่แก่ ตอนผัวตายมันอายุราว ๓๗-๓๘ ยังอาจหาผัวใหม่ได้ ทว่าบัวไหลลูกนางกลับไม่คิดจะมีผัวใหม่อีกแล้ว มันก็เลยต้องแบกทุกข์เลี้ยงลูกแต่ตัวคนเรื่อยมา
บัวไหลอยากได้บุญธรรมเป็นลูกเขย ไม่อยากได้สุธน นางรู้ ได้กับบุญธรรม บัวไหลจะได้ค่าข้าวม่าม** น้ำนมเป็นเงินทองของหมายมากหลาย แต่หากได้กับสุธน ก็จะได้บ่าได้แรงทำไร่ไถนาเท่านั้น เหมือนที่นางได้หนานทามาเป็นบ่าไหล่เรี่ยวแรงในครอบครัว หนานทาเองไม่มีใดบกพร่อง เสียอยู่อย่างเดียวอายุมันไม่ยืน ตายไปเมื่ออายุสัก ๔๐ เท่านั้นเอง ขลุกขลัก ฝืดเคืองกันมาจนถึงบัดนี้ก็ยังไม่ฟื้นตัว ห้าปีก่อนตอนที่ลูกเขยตาย ผัวนางอายุเกือบ ๗๐ แล้ว จะเอาเรี่ยวแรงที่ไหนไปไถถากตรากตรำทำนา ห้าปีก่อนตอนที่ลูกเขยตาย คันธาหลานชายคนโตยังอยู่ในผ้าเหลืองด้วยซ้ำ มันจำเป็นต้องสึกออกมาช่วยตาทำนา
บัวลาเองก็เคยเลียบเคียงสอบถามลูกสาวเรื่องผัวใหม่ บัวไหลยกมือปิดหน้าหลั่งน้ำตา
“พี่หนานทาตายเพราะข้า อี่แม่จะให้ข้าเอาผัวใหม่ ข้าอายผีพี่หนานทา”
“ไอ้หนานตายเพราะเอ็งหรือ”
“อี่แม่อย่าถามข้า อย่ารู้เลย”
_____________________________
หมายเหตุ 1 : * สะหลีกัญไจย – มาจากคำว่าศรีขรรค์ชัย หมายถึงดาบวิเศษในตำนาน
หมายเหตุ 2 : **ข้าวม่าม – คือข้าวกับกล้วยที่แม่ย้ำในปากจนละเอียดแล้วคายใส่ถ้วย เอาป้อนลูกวัยแรกหย่านม
สร้อยหงส์แสง สิ่งล้ำค่าที่ไม่มีใครเคยรอดชีวิตกลับมาจากการตามหา ผลงานจากศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ อ. มาลา คำจันทร์ ที่มอบความไว้วางใจให้ อ่านเอา ได้เป็นผู้เผยแพร่นวนิยายเรื่องล่าสุดของท่าน ในรูปแบบ นิยายออนไลน์ ที่เราอยากให้ทุกคนได้ติดตามและ อ่านออนไลน์ ได้ลงจนจบบริบูรณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทางผู้เขียนใจดีมอบ 5 บทแรกไว้ให้อ่านกันที่อ่านเอา และหากติดใจอย่างอ่านต่อสามารถติดตามฉบับรวมเล่มที่ออกโดย สำนักพิมพ์ Groove www.groovebooks.com
—————————————————