สร้อยหงส์แสง ภาคต้น บทที่ 3 : คาถาอาคม

สร้อยหงส์แสง ภาคต้น บทที่ 3 : คาถาอาคม

โดย : มาลา คำจันทร์

Loading

สร้อยหงส์แสง สิ่งล้ำค่าที่ไม่มีใครเคยรอดชีวิตกลับมาจากการตามหา ผลงานจากศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ อ. มาลา คำจันทร์ ที่มอบความไว้วางใจให้ อ่านเอา ได้เป็นผู้เผยแพร่นวนิยายเรื่องล่าสุดของท่าน ในรูปแบบ นิยายออนไลน์ ที่เราอยากให้ทุกคนได้ติดตามและ อ่านออนไลน์ ได้ลงจนจบบริบูรณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทางผู้เขียนใจดีมอบ 5 บทแรกไว้ให้อ่านกันที่อ่านเอา และหากติดใจอย่างอ่านต่อสามารถติดตามฉบับรวมเล่มที่ออกโดย สำนักพิมพ์ Groove www.groovebooks.com

—————————————————

 

คืนเดือนเพ็ญ แสงเดือนเย็นอ่อนหวาน  บ้านห้วยดอกอูนยังคงสงบสุขเหมือนเช่นเคยเป็นมาแต่ก่อน ฝนยังตก ฟ้ายังต้อง สายน้ำยังเอื่อยไหล ชีวิตก็ยังเป็นไป เป็นอยู่ในวิถีดั้งเดิมที่เคยอยู่กินสืบสร้างกันมา กลางคืนหน้าหนาวเดือนดาวสุกส่อง คนในหมู่บ้านมักสุมไฟลานให้ลุก ขลุกกันอยู่ที่กองไฟก่อนเข้านอน นิทาน ตำนาน เรื่องเล่าเก่าหลัง คติความเชื่อ ความรู้สึกนึกคิดต่างๆ มักถ่ายทอดจากปากผู้แก่ผู้เฒ่าให้ลูกหลานฟัง  

“วิชาลิงลม” คำสร้อยง้างเปลือกนุ่นให้แยกจากกัน “เป็นใดพ่อถึงถ่ายทอดให้พระพี่แสงเฮือง บ่ถ่ายทอดหื้อพี่น้อยคันธาหรืออ้ายคำใส”

“วิชาลิงลม ถ่ายทอดในสายเลือดบ่ได้”บัวไหลตอบ “พ่อเอ็งเลยสืบหื้อเณรแสงเฮือง แต่ว่าสืบได้บ่เมินบ่นานเท่าใด  พ่อเอ็งเข้าถ้ำหงส์แสง ออกมาได้บ่เมินก็ตายไป”

“อี่พ่อเข้าถ้ำหงส์เยียะหยัง” คำสายถาม

“มันไปเอาสร้อยหงส์แสง”

“ได้บ่ได้ อี่แม่”

“พ่อเอ็งมันว่าสร้อยหงส์แสงออกจากถ้ำบ่ได้เด็ดขาด คนจะตายหลาย  ยายเอ็งเรียกแล้ว” นางเปลี่ยนเรื่องปุบปับ “ขึ้นเรือนไปไหว้ผีกันก่อน  ถือทางพระ แต่อย่าละทางผี ฮีตฮอยเฮามี สืบมาอย่างนั้น”

 

เพิ่งกินข้าวเสร็จใหม่ๆ ลงมาสุมไฟให้ควายแล้วเลยออกมาสมทบกับพ่อแม่ที่ข่วงลานหน้าเรือน ยังไม่ทันได้นั่งเต็มก้น บุญมีผู้พ่อก็ถามสุธนผู้ลูก

“บ่ไปแอ่วสาวเรือนใดกา? คืนนี้”

“คืนนี้สี่เป็ง”หนุ่มหล่อแห่งบ้านป่าไผ่หมายถึงคืนเพ็ญเดือนสี่ “ข้าว่าจะอยู่กำ-สำรวมกายวาจาใจตลอดทั้งคืน ย่อหย่อนขาดหายหลายหนแล้ว สักพักก็จะขึ้นเรือนแล้ว อีพ่อ”

ดวงเดือนขึ้นฟ้ามาแล้ว ผ่องแผ้วงดงาม บ้านป่าไผ่อยู่ทางตะวันออกของห้วยดอกอูน อยู่ทางทิศเหนือของหนองมน เขาเองมีสาวหมายอยู่หลายคน ห้วยดอกอูนคนหนึ่ง หนองมนคนหนึ่ง สันป่าตึงอีกคน แต่ตอนนี้ตัดสาวสันป่าตึงออกไปแล้วเพราะแอบอิ่มลิ้มรสแล้ว แต่อันนี้ไม่สำคัญอะไรนัก ที่สำคัญคือสาวสันป่าตึงปากนักคือพูดมาก น่ารำคาญ

“เอ็งจะเลือกคนไหนหือ ไอ้น้อย” นางบัวแก้วถาม “สาวหนองมนกับสาวห้วยดอกอูน”

“ข้าชอบทั้งคู่ ดีคนละอย่าง เสียคนละอย่าง แต่ท่าทีสาวห้วยดอกอูนจะอยู่ในโอวาทถ้อยคำข้ามากกว่า”

“แต่อี่แม่มันขี้งก อาจเรียกเอาค่าข้าวม่ามน้ำนมเป็นเงินสองสามพัน เอ็งจะเอาที่ไหนไปให้มัน ขายไร่ขายนา ขายงัวขายควายหรือ ไอ้น้อย”

“ขายบ่าขายแรง ขายวิชาปัญญา”

“บ่าแรง วิชาปัญญาเอ็งเอาใช้หนี้ไม่ได้ อีบัวไหลมันอยากได้เงินไปใช้หนี้พ่อเลี้ยงนันทิแม่เลี้ยงแสงคำ ไม่ใช่อยากได้วิชาปัญญาของเอ็ง”

“แต่ก่อนแต่เดิมมา เขาว่าพ่อเลี้ยงนันทิกับแม่บัวไหลชอบกันมาก่อนหรือ อีแม่”

“ไม่ใช่ชอบกัน แต่พ่อเลี้ยงนันทิมีใจรักมักสู้บัวไหล”บุญมีผู้พ่อเป็นคนตอบ “แต่บัวไหลเอาใจไปมักหนานทา… ลิงลม”

“วันภายหน้า ข้าคงได้ชื่อว่าสุธน… เสือโคร่ง เหมือนพ่อหนานทาได้ชื่อว่าหนานทาลิงลม” ว่ากล่าวห้าวๆ ติดจะโลดเหลิงลำพองอยู่นิดๆ “ถ้ำหงส์แสง มีสร้อยหงส์แสงจริงหรือพ่อ”

ยังไม่ดึกนัก สักทุ่มเศษเท่านั้นเอง แต่บ้านนอกบ้านนายุคนั้นเงียบสงบรวดเร็ว ตะวันสิ้นแสง นกกากลับคอน งัวควายคืนคอก คนเร่งอาบน้ำกินข้าวแล้วรอเวลาเข้านอน ทุ่มเศษๆ นกฮูกนกเค้าแมวก็ออกล่าหาหนูแล้ว แต่หากเรือนใดหากยังมีเสียงผ่าฟืนหรือเสียงครกโขลกน้ำพริกโกกๆ กากๆ แปลว่าเรือนนั้นเป็นคนทุกข์คนผาน กว่าจะได้หยุดยั้งการงานมาทำทางกิน คนเรือนอื่นเขาจะเข้านอนกันแล้ว

แต่เรือนนี้ไม่ใช่เรือนคนจน และไม่ใช่เรือนมั่งมีอย่างพ่อเลี้ยงนันทิแม่เลี้ยงแสงคำ หากเอาไปเทียบกับเรือนพ่อนายบุญส่งที่สันป่าตึงก็ยิ่งห่างกันไปใหญ่ เหมือนยกเอาจอมปลวกไปเทียบกับดอยหลวง

“ก็เล่าลือกันมาอย่างนั้น” บุญมีตอบคำลูกชาย “เขาเอาสร้อยหงส์แสงกับเงินคำก่ำแก้วมาถวายต่อกษัตริย์เจ้าเชียงใหม่ แต่ผีเฝ้าถ้ำยื่นมือยาวออกถ้ำไปคว้าเอา สร้อยหงส์แสงยังอยู่ในถ้ำนั้น คนก็เลยเรียกถ้ำหงส์แสงสืบมา สองสามร้อยปีแล้วเอ็ง จะจริงไม่จริงไม่มีใครรู้แจ้ง”

“แต่พ่อหนานทา ผัวแม่บัวไหลกล้าเข้าไป”

“แล้วเป็นอย่างใด” นางบัวแก้วสอดปากก่อนผัว”กลับถึงเรือนไม่กี่วันก็ตาย”

“บางที… บางที”

“บางทีอันใด อย่าเด็ดขาดนะไอ้น้อย ถึงเอ็งจะมีมีดเขี้ยวเสือ มีเชิงเสือโคร่งก็อย่าได้คิดว่าจะเก่ง ขนาดหนานทา…”

“ข้าขึ้นเรือนก่อนละ” สุธนตัดบท “อย่าเคาะประตู อย่าเรียก ข้าจะอยู่กำจำศีลสุดคืน”

 

ขึ้น ๑๕ ค่ำ เดือนเพ็ญแสงอ่อนส่องโลมทั่วถ้วน แจกแสงสม่ำเสมอทั้งสันป่าตึงบ้านใหญ่ ป่าไผ่บ้านกลางและห้วยดอกอูนบ้านน้อย แสงนวลเย็นอ่อนโยนส่องต้องหน้าบันพระวิหาร แก้วอังวะที่ติดประดับลวดลายออกเล่นแสงเดือน บางส่วนอยู่ในหลืบลึกก็เหมือนคนนอนหลับนิ่งไม่ติงไหว ลมเดือนสี่โชยมาหนาวหน้า ช่อฟ้าฟ้อนฟ้ามีกระดิ่งห้อยคอเคลื่อนไหว ค้อนกระดิ่งภายในตีต้องดังอยู่ติงตอง เสียงนี้เก่าแก่ เสียงนี้เนิ่นนาน  สืบเนื่องกันมาแต่หมู่บ้านเดิมโน่นแล้ว เก่าแก่เนิ่นนานในความนึกคิดของคนหนุ่มคนสาว แต่ไม่ยาวนานเท่าไรในความคิดของคนแก่คนเฒ่า

ย้อนหลังไปเมื่อปี พ.ศ. ๒๔๓๕ กาลครั้งนั้นคนสิบกว่าครัวเรือนจากหมู่บ้านเดิมได้แยกตัวออกมาแสวงหาที่ทำกินใหม่ ไม่ได้ผิดพ้องหมองใจกับคนส่วนใหญ่ของหมู่บ้าน หากแต่เป็นเพราะนาเดิมที่เคยทำกินเปลี่ยนเจ้า เจ้าใหม่ท่านไม่ประสงค์จะให้พวกตนทำกินสืบต่อจึงย้ายกันมา พ่อหนานอินตา ผู้นำครั้งนั้น บอกว่าที่ว่างทางรกกลางดงดอยยังมีอยู่ คนสิบกว่าครัวจึงพากันมา รอนแรมแกมหญ้า บุกป่าฝ่าดงกันมา ผ่านพบผีสางนางร้ายช้างผ้ายเสือแวด ดงดอยครั้งนั้นยังหนาทึบตึบตัน ผีก็ร้าย ไข้ก็หลาย  แต่ก็พากันฟันฝ่ามาได้จนถึงจุดหมายคือห้วยดอกอูนแห่งนี้

“ห้าหกสิบปีผ่านมาแล้วเณร เมื่อย้ายกันมาตุ๊ลุงอายุได้ ๘ ขวบ แต่ครูบาอายุได้ ๒๖ แล้ว” ยกมือพนมไปทางดงกล้วยหลังวิหาร “เป็นตุ๊เป็นพระตนเดียวที่เมตตานำพาผู้คนข้ามเขตผีเขตสาง  ตุ๊พระตนอื่นบ่มา เขากลัว”

“เขาว่าครูบาตบมือฉาดเดียว ช้างร้ายย้ายหน้าแล่นหนีไปเลยหรือ  ตุ๊ลุง”

“บ่แม่นครูบา พ่อหนานอินตาต่างหากที่ตบมือฉาดเดียว ช้างร้ายก็ย้ายหน้า พ่อหนานอินตาเป็นครูของครูบา ครูบายังไม่แก่กล้า  เป็นพระหนุ่มได้เพียง ๖ พรรษา แค่รับปากมาเป็นมิ่งขวัญกำลังใจอย่างเดียว คนสิบกว่าครัวเรือนเขาก็ตื้นตันหวั่นไหวแล้ว แต่ท่านก็แน่เหมือนกันนะเณร ถึงยังหนุ่มก็เถอะ พ่อของตุ๊ลุงเล่าว่าหมีควายมันผงาดขึ้นมา ครูบาเอาหัวแม่ตีนจิกดินแล้วเถ็กจาด” ท่านหมายถึงตวาด “หมีมันยืนนิ่งเป็นตอไม้ไปเลย”

“คาถาเถ็กจาด พ่อข้าก็มี ตุ๊ลุง”

คำสิงห์สอดปาก หลวงลุงเลยเอามะเหงกรูดหัวมันด้วยความเอ็นดู

“มึงจะฟัง หรือว่ามึงจะเล่า ลูกไอ้หนานทา”

“ฟังๆ” ลูกชายคนเล็กของหนานทาและนางบัวไหลลูบหัวร่อยๆ “ข้าชอบฟังตอนที่พ่อหนานอินตาชักดาบวาบ ผีเข็ญเยนยักษ์ทั้งหลายเข่าอ่อนยวบลง”

“เป็นดั่งเจ้าชัยสังคหะวาดดาบใช่ไหมตุ๊ลุง” แสงเฮืองถาม

“เยนคืออะหยัง ตุ๊ลุง” สามเณรตุ้ย ตัวตนตุ้ยนุ้ยดูกลม ถามบ้าง

“เยนก็คือผีอย่างหนึ่ง บางทีก็เรียกควบคู่กันว่ายักษ์เยน  ผียักษ์ผีเยนก็เรียก บางทีก็ว่ายักษ์เยนเข็ญใจ”ท่านผู้เฒ่าอารมณ์ดี บ้วนน้ำหมากใส่กระโถนแล้วเล่าต่อ “มันเป็นผีเข้ามา รูปร่างอย่างคน แต่สูงใหญ่กว่า ขุบๆ ขาบๆ ซุบๆ ซาบๆ แวดล้อมกันเข้ามา ต้อนเอาปู่ย่าสูเขาเข้าสู่ร่มไม้ ปืนก็ยิงบ่ออกเพราะฝนตกหนักดินปืนมันชื้น หน้าไม้ธนูก็ไม่ระคายหนังมัน พ่อหนานอินตาจึงอธิษฐานวานอินทร์วอนพรหมแล้วชักศรีขรรค์ชัยออกมา”

ท่านชี้ไปที่ดาบเล่มนั้น ดาบด้ามงาฝักเงินที่ใส่ถุงห้อยข้างฝาด้านหัวนอน “พ่อหนานวาดดาบออกไป เยนทั้งหลายเข่าอ่อนทรุดลง แล้วก็หายเข้าดินเข้าหญ้าไปหมด ดาบเล่มนี้สำคัญนัก เป็นดาบปราบผีปราบพราย ผีโหงโพรงพรายหลายหลากถูกตัดด้วยดาบเล่มนี้ยังสิงอยู่ในดาบเล่มนี้  อย่าหยิบจับลูบคลำนะเณร เลือดดังจะผู่”

“เลือดดังผู่เลยหรือ” คำสิงห์ทวนคำพูด เลือดดังผู่หมายถึงเลือดกำเดาพุ่ง “ร้ายแรงถึงขนาดนั้นเลยหรือ ตุ๊ลุง”

“มันหนักขึ้นทุกที”

ท่านมองไปที่ดาบในถุงผ้าแขวนห้อยข้างฝา หันมามองหน้าสามเณรโคร่งชื่อว่าแสงเฮือง ถอนใจเล็กน้อยแล้วเล่าความหลังแก่คนรุ่นหลานน้ำเสียงเนิบเนือย  เณรตุ้ยกับคำสิงห์ยังเด็กอยู่มาก ยังอยากฟังนิทานนิยายเรื่องราวเล่าขานต่างๆ นานา แต่สามเณรแสงเฮืองโตแล้ว อีกสองปีข้างหน้าก็ครบเกณฑ์อุปสมบทจึงฟังบ้างไม่ฟังบ้าง  

นึกไปถึงดวงหน้าแจ่มนวลดังดวงจันทร์ สาวไม่เคยสนใจตนเลย เข้าวัดเข้าวา หางตายังไม่เหลือบแลมองมาสักครั้ง หาเรื่องไปแวะไปกรายถึงบ้าน สาวก็เอาแต่หลบหน้าหลบตา

สาวเหยสาว ชายมาบ่ต้อน หนีไปนอนมูบมู้…

นึกถึงบทขับร่ำตัดพ้อของหนุ่มๆ ก็น้อยอกหมองใจ

 

เทียนเล่มเล็กส่องวอมแวมอยู่ที่โถงบ้าน คนในบ้านพร้อมเพรียงกันแล้ว นางบัวลาเป็นผู้นำในการไหว้ผีปู่ย่าบรรพบุรุษ ผีหอผีเรือน รวมไปถึงผีเจ้าที่เจ้าแดนและอารักษ์เสื้อบ้านอันเป็นผีฝ่ายดีทั้งหลาย นางบัวไหลผู้ลูกนั่งถัดหลังแม่ หากแม่เสียชีวิต นางจะเป็นผู้สืบต่อพิธีกรรมถัดจากแม่ วันเวลาภายหน้า เมื่อนางแก่เฒ่าล้มตายไป หากไม่ใช่คำสร้อยก็ต้องเป็นคำสายที่จะสืบเส้นด้ายสายยาวอันนี้ไว้

คำสร้อยคำสายนั่งขนาบสองข้างแม่ แต่คำใสผู้พี่ชายกลับนั่งข้างหลังสุด อยู่ต่อหน้าพระพุทธรูป  ผู้ชายนั่งข้างหน้าผู้หญิง แต่อยู่ต่อหน้าผีสาง ผู้หญิงนั่งข้างหน้าผู้ชาย การไหว้พระรับศีลฟังธรรม ฝ่ายชายเป็นผู้นำ แต่การไหว้ผีพลีสาง ฝ่ายหญิงเป็นผู้นำ ไหว้ดีพลีถูกทุกคืนเดือนดับเดือนเพ็ญ ครอบครัวนี้จึงอยู่ดีมีสุข อาจทุกข์กันอยู่บ้างก็คือหนี้ก้อนใหญ่ของพ่อเลี้ยงนันทิแม่เลี้ยงแสงคำเท่านั้น

“พ่อเข้าถ้ำหงส์แสง พ่อหมายไปเอาเงินคำก่ำแก้วมาใช้หนี้ค่านาใช่ไหม อีแม่”

คำใสถาม ห้าคนในครัวเรือนไหว้ผีเสร็จแล้ว แต่ยังไม่ย้ายก้น บัวลาหมุนกำไลเงินเกลี้ยงที่ข้อมือ บัวไหลมองไปที่ปิ่นเล่มยาวบนเกล้ามวยลูกสาว

“ผิดแต่แม่ แม่ได้ปากจาเป็นคำแรงแข็งด้างต่อมัน พ่อเอ็งอาจน้อยใจ มันไป แล้วก็ติดพิษติดภัยไข้ร้ายกลับมา บ่เมินบ่นานก็ตายจากไป”

นางเล่าเรียบๆ แต่น้ำเสียงเรียบๆ ฟังดูอ่อนเย็นแกมเศร้า ลูกสาวลูกชายเลยไม่กล้าถามมากลากความ กลัวแม่จะสะเทือนใจ

 

บุญธรรมเป็นคนรูปร่างสันทัดค่อนมาทางเตี้ย  หากผอมบางอย่างสุธนก็จะกลายเป็นคนขี้เปลี้ยดูไม่มีแรง แต่โชคดีที่เนื้อหนังหนาแน่นจึงค่อยดูมีบ่ามีแรง ว่าที่จริง  หน้าตาก็พอดูได้ หากสูงอีกสักศอกก็คงจะได้ชื่อว่าเป็นชายงามผู้หนึ่งเหมือนกัน

“อ้ายบุญธรรมลุกแต่ใดมา คืนนี้จะไปไหนกา?”

“ก็ลุกแต่บ้านมา บ่ไปไหน ตั้งใจจะมาเรือนนี้”

“เฮือนคนทุกข์คนยาก เสื่อสาดอาสนะอันใดก็บ่มี บ่สมควรที่อ้ายจะนั่ง ระวังขี้กลากจะกินก้น”

“บ่เป็นหยัง ขอแต่เจ้าเรือนมีใจต้อนรับก็พอแล้ว”

บุญธรรมสูบบุหรี่ เป็นบุหรี่อย่างใหม่ เรียกว่ามูลีตองขาว บางทีก็ว่ามูลีกะแล็ด เป็นยาสูบของหมู่เจ้าหมู่นาย หมู่เศรษฐีพ่อเลี้ยงทั้งหลาย ไม่ใช่มูลีขี้โย มูลียาขื่นยาจางอย่างของข้าไพร่ไทเมืองทั่วไป กลิ่นเฉียวฉุนรุนแรงไม่ค่อยคุ้นจมูก ถึงจะเหม็นอย่างไรก็ต้องอดทน เกิดเป็นแม่ย่าแม่หญิงมีแต่อดทน จะทำหน้าบูดหน้างอไม่ได้ จะลุกหนีก็ไม่ได้

“คำสร้อยกินข้าวกับหยัง วันนี้”

“น้ำพริก…”

ตอบตามจริง แต่นึกได้ว่าคำว่าน้ำพริกมีอีกความหมายว่า ปิ๊กเต๊อะ แปลว่ากลับเถอะ เป็นสำนวนเสือกไสไล่ส่งไม่ยินดีต้อนรับ จึงรีบต่อใหม่

”…กับแคบหมู กับผักนึ่ง อ้ายบุญธรรมกินข้าวกับหยัง”

“แกงอ่อมฟาน”

อีกฝ่ายตอบตามจริง ตอบทื่อๆ ไม่เล่นสำบัดสำนวนก่อกวนจิตใจให้วาบหวามอย่างพี่น้อยคนงามผู้นั้น คำสร้อยได้ที จึงรีบจิกตีตอบโต้เพื่อจะบอกว่าเธอไม่ชอบ ไม่อยากต้อนรับคนมาแอ่วมาอู้ผู้นี้

“วันนี้ศีลหลวง อ้ายยังเข้าป่าล่ากวางล่าฟาน ไม่เอาแล้วหรือศีลธรรมพระเจ้า ปาณาติปาตา เวรมณี”

“คำสร้อย…” นางบัวไหลปรามมาจากข้างฝาเพราะกลัวว่าลูกเศรษฐีจะไม่พอใจ “ “พ่อนายสบายดีอยู่หรือ บ่เป็นเมื่อยเป็นไข้ เป็นหวัดเป็นไอโขลกขลากอยู่หรือ”

“สบายดีอยู่” ขยับตัว สร้อยคอทองคำเส้นใหญ่กระพระเครื่องใส่กรอบทองพวงใหญ่กระทบกันกรุกกริก “คำสร้อย อ้ายขอกินเมี่ยงสักอม ได้ไหม”

“คำสร้อย” บัวไหลอยากบิดหมับที่สีข้างลูกสาวนัก “แปลงอมเมี่ยงหื้ออ้ายบุญธรรม”

“กำลังจะแปลง” สาวน้อยตอบแม่ผู้มานั่งกำกับในการรับหน้าลูกเศรษฐีใหญ่คับบ้านคับเมืองผู้นี้ “เมี่ยงคนทุกข์คนยาก กลัวแต่มันบ่ถูกปากท่านเศรษฐีใหญ่เรือนหลวง ก็เลยบ่กล้า”

“ปากจานะเอ็ง”

นางอดไม่ได้ ยื่นมือไปบิดสีข้างมันจริงๆ

“อ้ายบุญธรรม กินเมี่ยง”

เลื่อนออมหรือกระปุกเคลือบขนาดเล็กไปให้ กระแทกกระทั้นเล็กน้อยแต่ลูกเศรษฐีกลับทำทีไม่รู้ความหมาย ช่างหน้าหนาหน้าทนนัก

ก้มลง ทำทีใส่ใจจดจ่อแต่กรรไกรที่ขลิบเล็มผ้าคลุมไหล่ทอลายสำหรับชายหนุ่ม ผืนนี้คงเอาไว้ขาย ยังไม่คิดจะมอบให้พี่อ้ายชายงามที่รัก เพราะฝีมือยังไม่สันทัดจัดเจนถึงขั้นแม่นฉมังอย่างแม่กับยาย

คืนนี้ พี่น้อยไปแอ่วสาวบ้านใดหนอ

 


สร้อยหงส์แสง สิ่งล้ำค่าที่ไม่มีใครเคยรอดชีวิตกลับมาจากการตามหา ผลงานจากศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ อ. มาลา คำจันทร์ ที่มอบความไว้วางใจให้ อ่านเอา ได้เป็นผู้เผยแพร่นวนิยายเรื่องล่าสุดของท่าน ในรูปแบบ นิยายออนไลน์ ที่เราอยากให้ทุกคนได้ติดตามและ อ่านออนไลน์ ได้ลงจนจบบริบูรณ์เป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทางผู้เขียนใจดีมอบ 5 บทแรกไว้ให้อ่านกันที่อ่านเอา และหากติดใจอย่างอ่านต่อสามารถติดตามฉบับรวมเล่มที่ออกโดย สำนักพิมพ์ Groove www.groovebooks.com

—————————————————



Don`t copy text!