แสนฟ้าพันธุ์คำ บทที่ 5 : คนในวันวาน

แสนฟ้าพันธุ์คำ บทที่ 5 : คนในวันวาน

โดย : ดาราวดี

Loading

แสนฟ้าพันธุ์คำ โดย ดาราวดี ผลงานจากโครงการอ่านเอาก้าวแรก รุ่นที่ 4 เรื่องราวของสาวชาวเหนือที่เกิดในครอบครัวชนบทที่ยากจน ทำให้เธอต้องตกอยู่ภายใต้สังคมปิตาธิปไตยและการตกเขียวมนุษย์ หากแต่เธอกลับยืนหยัดถึงสิทธิในการมีชีวิตของตนเอง “แสนฟ้าพันธุ์คำ” นวนิยายที่เขียนจากเค้าโครงชีวิตจริงอีกหนึ่งเรื่องที่อ่านได้ใน anowl.co

เจ้าของนัยน์ตาสีอ่อนในความทรงจำคนนั้น เขาเป็นคนบางกอก…

ตั้งแต่ชาวบ้านทราบข่าวว่า มีคนจากเมืองหลวงเดินทางเข้ามาอาศัยอยู่ในหมู่บ้านหนองป่าซางต่างก็ตื่นเต้นกันยกใหญ่ ด้วยว่าไม่เคยมีคนเมืองไกลเดินทางเข้ามาถึงถิ่นแถบนี้เลยสักครั้ง วันแรก ชาวบ้านจึงพากันไปต้อนรับขับสู้คนต่างถิ่นอย่างอบอุ่นด้วยมิตรไมตรี ยิ่งพอพ่อหลวงหรือผู้ใหญ่บ้านออกป่าวประกาศ ว่าชายหนุ่มต้องการจะเปิดโรงเรียนสอนตำราภาษาไทยสยามด้วยแล้ว พวกชาวบ้านต่างก็อยากส่งลูกหลานไปเป็นศิษย์เพื่อเรียนเขียนอ่านกับเขา

“สมัยนี้ มันบ่เหมือนสมัยตะก่อนแล้วหนา บ้านเมืองเปลี่ยนแปลงไปมาก ใครบ่รู้ตัวหนังสือท่านว่าจะเสียเปรียบ บ่ทันคน ยิ่งเมื่อไหร่ก็ตามที่ความเจริญจากเมืองหลวงมาถึง ภาษาสยามจะเป็นสิ่งจำเป็น”

“ญาติพี่น้องข้าเข้าไปทำธุระในตัวเวียงเชียงใหม่ เล่าว่าตอนนี้สำนักงานส่วนกลางทางใดก็ดี ล้วนมีแต่พวกข้าราชการจากเมืองใต้ถูกส่งตัวขึ้นมาทำงานทางเหนือนี้กันมากนัก แถมโรงเรียนฝึกหัดครูหรือแม้แต่โรงเรียนในตัวเวียงก็บ่มีสอนเขียนตัวเมืองล้านนาแล้ว เขาสอนแต่ตัวอักษรสยาม”

“ตอนที่หลวงท่านเจาะดอยขุนตาลแล้วให้รถไฟขบวนแรกวิ่งตัดดอยมาได้ การเดินทางไปมาระหว่างหัวเมืองเหนือกับเมืองใต้ก็สะดวกขึ้น”

“ท่านว่าล้านนาจะถูกกลืนเข้ากับสยามก็คราวนี้”

“ท่านกลืนไปตั้งนานแล้วต่างหาก คนทางในเวียงท่านพูดจาสนทนาภาษาสยาม คนบ้านป่าอย่างเฮามันคนบ่ทันสมัย ละอ่อนหน้อยในหมู่บ้านก็บ่ได้เข้าโรงเรียนเขียนหนังสือกันสักคน”

“แล้วไอ้หนุ่มคนนี้ล่ะ มันเป็นข้าราชการหรือเป็นใคร ดั้นด้นข้ามดอยหลวงจนมาถึงหมู่บ้านหนองป่าซางเฮาได้ ข้าว่ามันบ่ใช่ชาวบางกอกธรรมดาสามัญทั่วไปเสียแล้วละมั้ง”

“สูก็ลองไปถามมันดูสิ ว่ามันเป็นใคร ไปมายังไง”

“ตอนนั้นพ่อหลวงบอกว่ามันชื่อ ราช ให้เรียกมันว่า ครูราช”

ห้องเรียนฝึกเขียนตำราของครูหนุ่มชาวบางกอก เป็นเรือนไม้กึ่งปูนที่ร่มรื่นด้วยเงาต้นฉำฉาใหญ่
แผ่กิ่งก้านปกคลุมกว้างขวาง บนชานเรือนมีตั่งไม้มะค่าเงาวับตั้งวางกลางโถงเป็นโต๊ะเรียนเขียนหนังสือ และโต๊ะไม้เตี้ยๆ ประกอบนั่งกับพื้นอีกประมาณสี่ตัว

ถ้าจะพูดถึง ที่นี่ก็อาจจะกล่าวได้ว่าเป็นโรงเรียนแห่งแรกในถิ่นชนบทละแวกนี้ เพราะโรงเรียนที่ใกล้ที่สุดคือโรงเรียนราษฎร์ที่ตั้งอยู่ที่อำเภอเมืองฝาง ที่อยู่ห่างไกลกันไปหลายกิโลนัก อีกการเดินทางไปโรงเรียนต่างอำเภอแห่งนั้น ก็เป็นเรื่องที่แสนยากลำบากและเสียเงินทองมาก ต้องนั่งรถโดยสารประจำทางที่มีแค่วันละสองเที่ยวเท่านั้น ถึงจะไปถึง รวมระยะเวลาเดินทางไปกลับแล้วก็ประมาณหนึ่งวันเต็มๆ

เปิดเรียนวันแรก ผู้คนในหมู่บ้านจึงแห่มาเรียนกันแน่นจนเกือบไม่มีที่นั่ง ครูหนุ่มจึงเริ่มสอนบทเรียนแรกของวัน ซึ่งเป็นการเริ่มหัดเขียนตัวอักษรไทยสยามกันเสียก่อน สิ่งที่เขาเขียนลงบนกระดานดำเพื่อใช้สอนเหล่าลูกศิษย์ เขาบอกว่าเป็นบทเล่าเรียนหลวงจากเมืองบางกอก อันว่าด้วยสระและชุดตัวอักษรจำนวนทั้งหมดสี่สิบสี่ตัว ลักษณะแตกต่างจากตัวเขียนล้านนาอย่างสิ้นเชิง

“สระอา ก็คือลากข้าง สระเอ คือไม้หน้า ส่วนนี่…สระแอ คือไม้หน้าคู่”

“คัดตัวอักษรเหล่านี้ลงไปในสมุดนะทุกคน เราจะใช้ฝึกอ่านกันวันอื่น”

“ตัวเขียนตัวนี้เรียกว่า คอ ควาย ต้องเริ่มเขียนด้วยหัวกลมก่อน จากนั้นก็ลากขึ้นไปข้างบน แล้วลากลงมาทำเหมือนเหลี่ยมหลังคา แบบนี้…เข้าใจไหม”

เสียงครูสอนตำราดังมาจากชานเรือนเหมือนดั่งเช่นทุกวัน และในวันนี้ก็ยังมีคนมาเรียนกันอย่าง
คับคั่ง คาดคะเนจากจำนวนคู่รองเท้าที่ถอดวางเกลื่อนกลาดตรงบันได หญิงสาวที่เพิ่งมาใหม่เลยถอดใจ

นางยืนนับคู่รองเท้าเป็นรอบที่เท่าไรแล้วก็ไม่รู้ สองจิตสองใจคิดอยู่นาน ว่าจะขึ้นเรือนไปร่วมเรียนกับคนอื่นเขา หรือจะกลับเรือนไปเฝ้าสวนอยู่กับแม่

ทันใดนั้นเอง ก็มีเสียงเรียกให้นางขึ้นไปบนเรือน

“เธอมาสายนะจันทร์หล้า ฉันรอเธออยู่นานทีเดียว” ครูราชทักลูกศิษย์คนใหม่เสียงเข้มขรึม

และเมื่อถูกครูว่ากล่าว สาวน้อยก็ถึงกับชะงักไปเพียงครู่เพราะไม่คุ้นกับสรรพนามเรียกแบบใหม่ ก่อนจะยิ้มเจื่อนๆ ระหว่างเดินไปนั่งลงร่วมกับคนอื่นๆ ที่โต๊ะตัวใหญ่ นางทำตัวไม่ค่อยถูกเท่าไรสำหรับ
วันเรียนวันแรก และไม่รู้ว่าจะต้องทำอันใดเป็นอันดับก่อนหรือหลัง

แต่ทว่ายังไม่ทันหย่อนกายนั่งลงดี ก็มีเสียงเรียกทักหาเรื่องมาแต่ไกล

“เอ้า มึงก็มาเรียนเหมือนกันหรืออี่หล้า กูก็นึกว่าคนงามเขาจะเอาแต่ประแป้งแต่งหน้าอยู่แต่ในเรือนเสียอีก บ่ยักกะรู้ว่าก็ใคร่อยากมาเรียนกับคนเขาด้วย”

“มึงเห็นกูยืนอยู่ตรงนี้ มึงก็รู้คำตอบนี่ มึงจะถามกูเอาอันใดอีก อี่คำแปง” คนเพิ่งมาใหม่แย้งคืน

“ได้ข่าวว่ามึงใคร่มาเรียนตำรา เพื่อจะได้ไปทำงานอยู่ในปางไม้ของพ่อเลี้ยง”

“กูใคร่มาเรียนตำราแท้ แต่บ่ได้อยากเข้าไปทำงานในปางไม้”

“ใครๆ เขาก็อยากเข้าไปทำงานในปางไม้กับพ่อเลี้ยงกันทั้งนั้น แต่อย่างว่านะ อย่างมึง คงบ่ต้องมีความรู้อันใดดอก พ่อเลี้ยงเขาก็อยากได้เอาไปไว้ในปางไม้ของเขาจะตาย … แต่เอาไปเป็นเมียนอนเล่นนะ”

อีสาวชื่อว่าคำแปงและผองเพื่อนหัวเราะลั่น ส่วนคนถูกดูหมิ่นทำหน้าเบื่อหน่ายที่ได้ยินอย่างนั้น

“มึงเคยเข้าไปเป็นนางนอนเขามาแล้วหรือยังไง หือ อี่คำแปง ถึงได้รู้เรื่องเมียนอน เมียน้อยดีนัก”

“ใครเขาก็รู้กันทั้งนั้น ว่าพ่อมึงไปอ้างยกมึงให้พ่อเลี้ยงเขาถึงในปางไม้นู้น อย่าบอกหนา ว่ามึงบ่รู้”

“พ่อกูจะฝากกูให้เข้าไปทำงานต่างหาก”

“อย่างมึงบ่มีความรู้ จะเข้าไปหยิบจับทำงานอันใดได้ หากบ่ใช่เป็นเมียในเรือนนอนของท่าน”

“มันก็เรื่องของกู มึงบ่ดีแส่”

คำแปงย่นจมูกเบะปากใส่หญิงสาว ด้วยไม่ชอบขี้หน้าอยู่แล้วเป็นทุน

“เป็นมึงนี้มันดีแท้เน้อ อี่จันทร์หล้า อยู่ดีกินสบาย อยู่เฉยๆ ก็มีลาภลอยมาป้อนใส่ปาก มีคนอยากจะเลี้ยงดูปูเสื่อ”

“กูถามมึงแท้ๆ หนา คนอย่างมึงเคยคิดดีกับใครบ้างไหม เคยคิดไหมว่าบางทีพ่อเลี้ยงเขาอาจจะเอ็นดูกูเอาเป็นลูกเป็นหลาน”

คำแปงเค้นเสียงออกเฮอะเหอ ไม่อยากจะพูด “พ่อชายที่ไหนเขาก็บ่คิดว่ามึงเป็นลูกเป็นหลานดอก

อี่หล้า ใครๆ เขาก็ใคร่ได้มึงเป็นเมียกันทั้งนั้น”

“ช่างเขาสิ กูยังอ่อนยังหน้อย ยังบ่ใหญ่เป็นสาวเต็มดี กูบ่สะท้านคำใครหรอก”

“มึงมันหน้อยแต่ใจ แต่เนื้อมึงใหญ่เต็มอก คนเขาดูเนินเนื้อมึง บ่ได้ดูใจมึง”

“หยุดพูดส่อเสียดกูเสียที เรียนวันแรกกูบ่อยากลุกเตะปากคนกลางห้องเรียน กูอายครู”

ครูหนุ่มได้ยินที่สองสาวว่ากล่าวกระทบกระทั่งกันไปมา ก็เผลอเหลือบตาจากสมุดขึ้นมองแวบหนึ่งก่อนจะทำเป็นไม่สนใจ หากแต่หูยังสดับฟังเรื่องราวจนจบ

ช่วงแรกๆ ครูราชใช้เวลาสอนลูกศิษย์คนใหม่นานกว่าใครเพื่อน เพราะนอกจากจะมาเริ่มเรียนช้าแล้ว หญิงสาวก็ยังความจำไม่ค่อยดี เขาจึงให้นางเลิกเรียนทีหลังคนอื่นๆ เพื่อที่จะได้ใช้เวลาสอนกันไปอย่างไม่เร่งรีบในช่วงบ่าย เคี่ยวเข็ญกันอยู่นานหลายอาทิตย์ จนคนหัวไม่ดีเริ่มชำนาญขึ้นและพออ่านออกเขียนได้ ในขณะเดียวกันความสนิทสนมระหว่างครูและศิษย์ก็มีมากขึ้นเรื่อยๆ ตามลำดับ

บ่ายวันนี้ครูราชลองให้จันทร์หล้าอ่านคำกลอนสำหรับสอนอ่านเทียบ เป็นกาพย์เรื่องพระไชยสุริยา
ซึ่งเมื่อพอลองอ่าน หญิงสาวก็สามารถอ่านได้อย่างคล่องแคล่ว ซึ่งครูหนุ่มพยักหน้าพอใจ

…จะร่ำคำต่อไป                พอฬ่อใจกุมารา

ธรณีมีราชา                     เจ้าพาราสาวะถี

ชื่อพระไชยสุริยา               มีสุดามะเหษี

ชื่อว่าสุมาลี                     อยู่บูรีไม่มีไภย

ข้าเฝ้าเหล่าเสนา              มีกริยาอะฌาสัย

พ่อค้ามาแต่ไกล               ได้อาศัยในพารา

ไพร่ฟ้าประชาชี                ชาวบูรีก็ปรีดา

ทำไร่เขาไถนา                  ได้เข้าปลาและสาลี

“ดี…วันนี้เธออ่านได้ดีขึ้นกว่าเมื่อวานทีเดียว”

“ภาษาสยามจะยากเย็นเป็นอย่างนี้ไปทุกวันเลยหรือเจ้า ครูราช”

หญิงสาวที่นั่งฟุบหน้าไปกับโต๊ะเรียนทำน้ำเสียงอิดออดแม้จะได้รับคำชม ปวดสมองเต็มทนด้วยเรียนเขียนท่องจำมาตลอดทั้งวัน ตั้งแต่เช้าจนถึงเย็น

“อะไรกัน นี่เธอเพิ่งเรียนไปได้ไม่เท่าไหร่ ก็มาตัดพ้อว่ายากเสียแล้ว”

“คนบางกอกท่านเล่าเรียนเขียนตำราอย่างนี้ทุกวัน คงจะเบื่อแย่”

“คนบางกอกท่านหัดเขียนอ่านกันมาตั้งแต่วัยเด็ก ฝึกฝนจนคุ้นชินในหน้าที่ของการเป็นนักเรียน
พอคุ้นชินกับสิ่งใดแล้วก็จะรู้ว่านั่นเป็นหน้าที่ที่ตนต้องทำ ไม่มีรู้สึกว่าเบื่อหรอก”

“แต่ข้าเจ้าบ่ใช่คนบางกอก” ลูกศิษย์แย้งขึ้น “ข้าเจ้ามักปลูกผักปลูกไม้ ไปไร่ไปสวนกับอี่แม่มากกว่า
ข้าเจ้ามักรับจ้างทำงาน บ่ว่าจะงานหักข้าวโพดในสวน หรือจะงานแบกหามเหมือนงานพ่อชาย ข้าก็ทำได้หมด”

ว่าแล้วไม่ว่าเปล่า นางยังเบ่งกล้ามแขนอวดครูท่านอีกด้วย ด้านครูหนุ่มเห็นดังนั้นก็ขบขันกับท่าทางและคำพูดหญิงสาวผู้นี้อยู่ในที เมื่อพิจารณาอย่างถ้วนถี่ ก็ชวนให้เกิดความสงสัยอย่างเสียไม่ได้ว่า สาวใสวัยรุ่นนางนี้ ใช่คนคนเดียวกันกับสาวช่างฟ้อน ที่เขาเคยเจอในงานแห่เครื่องไทยทานเข้าวัดครั้งนั้นจริงๆ หรือไม่

จริงอยู่ที่ใบหน้ายามปกติของนางดูอ่อนเยาว์และซื่อใส ซึ่งอาจจะดูแปลกตาไปบ้าง หากเทียบกับตอนผัดหน้าทาสีปากเป็นสาวช่างฟ้อนในขบวน หากแต่คำพูดคำจาที่โผงผาง บวกกับทรงผมที่ไปตัดสั้นมาเกือบจะเท่าติ่งหูที่น่าขบขัน นี่แหละ ที่ทำให้ครูหนุ่มสงสัยเหลือเกิน ว่าเหตุใดคนอื่นๆ ถึงได้สรรเสริญเยินยอนางว่าเป็นหญิงงามประจำหมู่บ้าน

ทั้งๆ ที่เบื้องหน้า เขาเห็นแต่เพียงลิงทโมนตัวหนึ่งเท่านั้น…

“ถ้างั้นเธอก็ควรหยุดเรียนแล้วกลับไปทำงานเสีย อย่ามาทนนั่งเรียนหากเธอรู้สึกเบื่อขนาดนั้น และที่สำคัญนะ เธอไม่ควรทำให้คนอื่นเขาต้องเสียเวลากับเธอด้วยเลย”

ครูราชว่าแล้วก็พับเก็บตำราเรียนในมือไว้ แล้วนำไปจัดเก็บวางเรียงซ้อนๆ กันอยู่ตรงมุมเรือน ก่อนจะลุกไปขยับเก็บโต๊ะเรียนและที่นั่งย้ายเข้าไปไว้ในเรือน เพื่อหลบละอองฝนที่มักจะสาดเข้ามาในช่วงตอนดึก
หญิงสาวเห็นดังนั้น จึงลุกไปช่วยครูเก็บโต๊ะอย่างไม่ต้องรอให้เขาร้องขอ

“ครูอย่าตีความคำข้าเจ้าผิดสิ ข้าบ่ได้ว่าข้าเบื่อเรียนภาษาสยาม เพียงแค่บอกว่ามันยากเฉยๆ”

“ยามที่ต้องทำอะไรที่ตนเองไม่คุ้นเคย มันก็มักจะยากตอนเริ่มต้นกันทั้งนั้นแหละ แต่พอผ่านไป
สักพักก็จะค่อยๆ เข้าที่เข้าทางเอง ก็ดูเอาเถิด ที่ผ่านมา เธอก็อดทนเล่าเรียนจนอ่านออกเขียนได้ แถมยังฟังภาษาสยามที่ฉันพูดเข้าใจ นี่แหละ ผลของความขยันอดทน ถึงมันจะยังไม่ง่ายทั้งหมด แต่ก็ยังดีกว่า
ตอนแรกไม่ใช่หรือ”

“รู้แล้วๆ ข้าเจ้าจะบ่บ่นว่ายากอีกแล้ว”

สาวน้อยรีบตัดบท ด้วยกลัวว่าครูจะถือสาที่นางออกอาการเหยียบขี้ไก่ไม่ฝ่อ ทั้งๆ ที่เขาอดทนตั้งใจอยู่สอนตำราให้นางตั้งแต่เช้าถึงบ่ายอย่างไม่มีคำว่าเหน็ดเหนื่อย ก่อนจะลองเอ่ยชวนเขาไปปั่นจักรยานเที่ยวเล่นรอบหมู่บ้านด้วยกัน ซึ่งครูราชตอบตกลง

ตะวันยามเย็นทอแสงตกลงขนานไปกับพื้นดิน แสงแดดอุ่นอ่อนสาดกระทบกับดอกงิ้วสีแดงสด ที่ตกกองเกลื่อนใต้ต้นตลอดริมคันนา หน้าแล้ง ตะวันก็แล้ง ใบไม้ใบหญ้าร่วงระนาวทิ้งต้นตอเฟืองให้ยืนแห้งเฉา

“จะว่าไป เธอเองก็ไปได้ดีกับภาษาสยามนะ อนาคตเธอคงจะได้ใช้ประโยชน์จากมันอยู่มากหลาย”

“อี่พ่ออยากให้ข้าได้ภาษาสยาม เพราะอยากให้ข้าได้เข้าไปทำงานที่ปางไม้ของพ่อเลี้ยงจนตัวสั่น”

ชายหนุ่มหันมาถามด้วยความสนใจ “แล้วไม่ดีหรืออย่างไร เหตุใดเธอจึงพูดเหมือนว่ามันเป็นทุกข์”

“ทุกข์แน่ ทุกข์แน่นอน”

สาวหน้ามนถอนหายใจออกยาว ก่อนจะจับปอยผมที่คลอเคลียข้างแก้มไปทัดเก็บไว้ที่หูเพื่อความทะมัดทะแมง

“เพราะข้าเจ้าบ่อยากเข้าไปทำงานที่ปางไม้นั่น ข้าเจ้ากลัวพ่อเลี้ยง” ดวงตากลมโตฉายแววหวาดหวั่นเหมือนอย่างที่พูด “ครูรู้ไหม อี่พ่อข้าเข้าหาพ่อเลี้ยงจนข้ากลัว”

“กลัวอะไร”

“กลัวพ่อขายข้าเจ้าให้เขา”

“โธ่เอ๊ย สมัยนี้ไม่มีพ่อคนไหนขายลูกกินหรอกน่า ใช่ว่าเธอกังวลไปเองหรือไม่”

“จริงๆ นะครู อี่พ่อข้าเจ้าติดพนันงอมแงม แถมเสียมากกว่าได้ เสียทีไรก็มักจะเข้าไปหยิบยืมเงินทองจากพ่อเลี้ยงอยู่เสมอ”

“ถ้าอย่างงั้นพ่อเลี้ยงคนนี้ก็คงจะร่ำรวยมากสิท่า ฉันเคยได้ยินชาวบ้านคนอื่นๆ เล่าถึงเขาอยู่เหมือนกัน …บางทีเธออาจจะสุขสบายในภายภาคหน้าก็ได้นะ”

“ให้ข้าตายก่อนเถอะครู” จันทร์หล้าตอบเสียงเศร้า “ข้าเจ้าชังน้ำคำชาวบ้านที่กล่าวนินทาให้ช้ำใจนัก”

“พวกเขานินทาเธอว่าอย่างไร ไหนเล่าให้ฉันฟังที”

“ก็บอกว่า ที่อี่พ่อจะพาข้าเข้าไปทำงานในปางไม้ ก็เพราะอยากให้ข้าไปเป็นเมียนอนเล่นคนใหม่ของพ่อเลี้ยงนะสิ ข้าบ่ชอบที่พวกชาวบ้านพูดแบบนั้น ข้าเจ้าเหมือนโดนดูถูก บ่มีศักดิ์ศรี … ดูเอาเถิดครู ข้าเจ้ายังบ่ทันสิบแปดเต็มดี เพิ่งจะเป็นสาวจี๋ ยังบ่เคยอยู่นอกออกชานเองสักครั้ง แต่ข้าก็ถูกคนเขายัดเยียดเรื่องผัวเมียให้เสียแล้ว”

ครูราชจับคำศัพท์ท้องถิ่นคำใหม่ได้ก็จึงถาม “อยู่นอก…อยู่นอกคืออะไร”

หญิงสาวออกเสียงจิ๊เบาๆ แอบรำคาญในความไม่ประสาของเขา ที่พานทำให้บทสนทนาไม่ปะติดปะต่อและขาดช่วง แถมยังต้องเปลี่ยนเรื่องไปเป็นการสอนภาษาถิ่นเหนือให้กันแทนไปเสียอย่างนั้น

“อยู่นอกก็คือการออกมานั่งอยู่นอกชานเรือนยามหัวค่ำยังไงเล่า ทางเหนือเฮา หากบ้านไหนมีลูกสาวในวัยออกเรือน ท่านก็จะออกมาจุดโคมไฟตรงชานบ้านกันทั้งนั้น หนุ่มบ้านใกล้บ้านไกลที่เห็น ก็จะมาหาแอ่วสาว ขึ้นเรือนมาพูดจาปราศรัย ฝ่ายสาวก็จะต้องเตรียมขันใส่หมากไว้ต้อนรับอ้ายบ่าวที่มาเยี่ยมเยือน”

“แล้วเธอ…มีใครขึ้นเรือนมาแอ่วหาแล้วอย่างนั้นหรือ”

 



Don`t copy text!