ธำมรงค์เลือด บทที่ 1 : แหวนไพลิน
โดย : พงศกร
ธำมรงค์เลือด นวนิยายออนไลน์ที่อ่านเอาและพงศกรอยากให้คุณได้อ่านออนไลน์…เรื่องราวของบุรุษลึกลับที่เทียวกลับมาที่ร้านของคุณไลยหลายครั้งหลายหน เพื่อตามหาแหวนโบราณวงหนึ่ง…แหวนไพลินที่ทำขึ้นมาในสมัยอยุธยา และคือจุดเริ่มต้นของความรัก ความแค้น ความพยาบาทที่ผูกพันมาแต่อดีตและเป็นแหวนที่จะเชื่อมโยงชะตากรรมของทุกคนเข้าด้วยกัน
อาจเป็นเพราะฝนที่ตกพรำอยู่ด้านนอก จึงทำให้บรรยากาศในร้านยะเยือกเย็นกว่าปกติ ท้องฟ้าครึ้มราวกับเป็นเวลาเที่ยงคืน ทั้งที่พระอาทิตย์เพิ่งจะลับขอบฟ้าไปไม่นาน และคุณไลยก็จ้องมองดูชายหนุ่มร่างสูงใหญ่ข้างหน้าด้วยสายตาประหวั่น
ไม่รู้เป็นอย่างไร ทุกครั้งที่เขาแวะมาที่ร้าน คุณไลยจะรู้สึกตะครั่นตะครอ เหมือนกำลังจับไข้เสมอ ราวกับมีไอเย็นแผ่ซ่านออกมาจากเรือนกายของชายผู้นั้น และอาจเป็นเพราะแสงสลัวรางภายในร้าน ที่ทำให้ดวงตาซึ่งกวาดมองดูเครื่องประดับในถาดกำมะหยี่ เรืองสว่างเหมือนกับมีถ่านไฟลุกเริงอยู่ข้างใน
เป็นลูกค้าที่ไม่เหมือนใคร
เป็นลูกค้าที่เธอยอมรับว่า…กลัว…
ไม่ใช่กลัวว่าเขาจะมาปล้นหรือมาหลอก แต่เป็นความกลัวที่บอกไม่ได้ อธิบายไม่ถูก
เหมือนกับกำลังอยู่ต่อหน้าผู้ทรงซึ่งอำนาจราชศักดิ์…
“วงนี้งมได้จากแม่น้ำ แถวหน้าวัดพุทไธศวรรย์ค่ะ”
“ไม่ใช่”
เขาเพ่งมองแหวนทองทรงรังแตนซึ่งเป็นของเก่าสมัยอยุธยา ก่อนจะวางคืนลงบนถาด น้ำเสียงแผ่วต่ำพึมพำในลำคอ
“ไม่ใช่วงนี้”
“ยังไม่ใช่หรือคะ” น้ำเสียงสตรีสูงวัยออกจะผิดหวัง
“ยัง” เขาส่ายหน้า “เกือบเหมือน แต่ไม่ใช่วงที่ตามหา”
“ค่ะ” คุณไลยพยักหน้า ก่อนจะหยิบแหวนในถาดขึ้นมาเก็บใส่กล่องตามเดิม “ถ้ามีวงใหม่เข้ามาอีก ไลยจะแจ้งไปนะคะ”
“ดี” เขาพยักหน้า “ขอบใจ”
ชายหนุ่มพยักหน้าให้ผู้สูงวัย คุณไลยอดถอนใจกับวาจาของอีกฝ่ายมิได้
…ขอบใจ…
พูดเหมือนพูดกับคนอ่อนอาวุโสกว่า ทั้งที่เขาเพิ่งอยู่ในวัยสามสิบไม่เกินสามสิบห้า ส่วนเธอนั้นจวนจะแปดสิบอยู่รอมร่อ
แต่เพราะเขาคือลูกค้ารายใหญ่ จ่ายไม่อั้น ไม่เคยต่อราคา จ่ายเป็นเงินสด ไม่เคยใช้เช็ค คุณไลยจึงจัดให้เขาอยู่ในลิสต์ของลูกค้าระดับวีวีไอพี-พิเศษสุดๆ
ล่าสุดเขาเพิ่งจ่ายเงินสดเป็นตัวเลขเจ็ดหลัก เพื่อซื้อทับทรวงจากกรุวัดราชธิดา (1) เจ้าของเก่าขายเพราะร้อนเงิน และทันทีที่เห็น ชายหนุ่มก็ควักเงินซื้อทันทีไม่มีลังเล ไม่ต่อราคา
เพราะอย่างนี้ อยากจะเอ่ยว่า ‘ขอบใจ’ ก็เอาเถิด!
“ไปกันเถอะ” เขาหันไปพยักหน้ากับผู้ติดตาม ก่อนจะหมุนกายกลับไปอย่างเงียบเชียบ
ผู้ติดตามทั้งสองนี่ก็แปลกไม่น้อยกว่าผู้เป็นนาย…
มาครั้งใดไม่เคยยิ้ม ไม่เคยทักทายใคร หากจะยืนนิ่งขึง ดวงหน้าเรียบเฉยราวรูปสลัก เสื้อแขนยาวสีดำสนิททำให้ดวงหน้าที่เข้มอยู่แล้วดูดุดัน น่าประหวั่นพรั่นพรึง
‘ลูกน้องหน้าตาแบบนี้ ก็เหมาะกับเจ้านายอยู่หรอก’…คุณไลยแอบนึกในใจ
สีหราชรูปร่างสูงใหญ่ ล่ำสัน ผิวเนื้อดำแดง ดวงหน้าคมเข้มไปทุกส่วนสัด หล่อแบบคนไทยแท้ๆ
นี่ถ้าเขานุ่งโจง แต่งกายแบบโบราณ ถือดาบในมือสักหน่อยละก็…เหมือนเดินออกมาจากหนังสือประวัติศาสตร์อย่างไรอย่างนั้นเลยทีเดียว
วงสังคมเล่าลือกันหนาหูว่าสีหราชเป็นมาเฟียคนสำคัญที่แม้แต่ตำรวจยังต้องเกรงใจ ชายหนุ่มรวยเข้าขั้นมหาเศรษฐี รายได้ของเขามาจากกิจการที่ไม่เปิดเผย ไม่มีใครรู้แน่ชัดว่าเขาทำธุรกิจอะไร บางคนบอกว่าค้าอาวุธ บางคนสันนิษฐานว่าขายวัตถุโบราณข้ามชาติ บางคนลือกันว่าเขาค้ายาเสพติดไปโน่น หากไม่เคยมีใครรู้จักสีหราชจริงๆ สักคน
“แปลกนะคะคุณยาย ชอบมาตอนค่ำๆ ร้านเราใกล้จะปิดทุกทีเลย สงสัยจะกลัวแสงแดด”
รอจนชายหนุ่มรูปร่างสูงสง่ากับผู้ติดตามหน้าเหี้ยมทั้งสองคนคล้อยหลังออกจากร้านไปแล้ว ปะวะหล่ำถึงได้พึมพำ
“ไม่เห็นจะแปลก” คุณไลยว่า “เขาอาจจะมีงานยุ่ง เลยมาได้แต่ช่วงค่ำ”
สายตาคุณไลยยังคงประหวั่น และสายตาของปะวะหล่ำก็มีร่องรอยประหวั่นไม่แพ้ผู้เป็นยาย
หากในความประหวั่นนั้น เหมือนมีอะไรบางอย่างที่ดึงดูดให้ปะวะหล่ำไม่อาจละสายตาไปจากเขาได้โดยง่าย
ยังจะกรุ่นหอมนั่นอีก…
ไม่รู้ว่าเขาใช้น้ำหอมอะไร ทุกครั้งที่เดินเข้ามาในร้าน ปะวะหล่ำจะได้กลิ่นหอมเย็นๆ เสมอ
ไม่ใช่กลิ่นหอมหวานเหมือนน้ำอบ น้ำปรุง ไม่ใช่น้ำหอมของสตรี แต่เป็นกลิ่นที่ทำให้เธอรู้สึกถึงความแข็งแกร่งและอ่อนโยนในเวลาเดียวกัน
“เหมือนเขากำลังตามหาแหวนที่พิเศษมากๆ วงไหนๆ ในร้านเราไม่เห็นเคยถูกใจเขาเลยสักวง ท่าทางเป็นคนเรื่องเยอะเหมือนกัน”
“คนเราก็มีความชอบที่แตกต่างกันออกไป” คุณไลยว่า “ไปว่าคุณสีหราชเขาไม่ได้หรอก”
นัยน์ตาของผู้สูงวัยมองหญิงสาวสวยจัดด้วยความเอ็นดู ปะวะหล่ำไม่ใช่หลานแท้ๆ ของเธอ แต่เป็นหลานของคุณรื่นผู้เป็นน้องสาวอีกที
หลายปีมานี้คุณไลยสุขภาพไม่สู้ดีนัก ไม่แข็งแรงเหมือนเดิม บางวันตื่นขึ้นมาก็เกิดอ่อนเพลีย มีอาการบ้านหมุนขึ้นมาโดยไม่มีเหตุผล
ไปโรงพยาบาลตรวจร่างกายแล้วไม่พบว่ามีอะไรผิดปกติ หมอจึงลงความเห็นว่าคุณไลยคร่ำเคร่งกับร้านของเธอมากเกินไป จึงแนะนำให้คุณไลยพยายามพักผ่อนให้มากขึ้น เลิกกิจการได้เลยยิ่งดี แต่สุภาพสตรีสูงวัยยังไม่อยากปิดร้าน เพื่อกลับไปนั่งกินนอนกินอยู่บ้านเฉยๆ
ร้าน ‘ไลย’ คือชีวิตจิตใจของเธอ คุณไลยเลยตัดสินใจขอปะวะหล่ำจากคุณรื่นผู้เป็นน้องสาว ให้หลานสาวคนนี้มาอยู่เป็นเพื่อนและคอยช่วยเหลืองานเบ็ดเตล็ดภายในร้าน
ปะวะหล่ำเป็นลูกกำพร้า อาศัยอยู่กับคุณรื่นผู้เป็นยาย บิดาและมารดาของเธอเสียชีวิตจากอุบัติเหตุทางรถยนต์ตั้งแต่ปะวะหล่ำยังเป็นเด็ก ผู้เป็นยายจึงรับตัวมาดูแลและส่งเสียให้เล่าเรียนจนจบปริญญา
หญิงสาวเพิ่งเรียนจบโบราณคดี ยังหางานที่เหมาะใจไม่ได้ คุณยายรื่นเลยส่งตัวเธอให้มาช่วยงานคุณยายไลย
ตอนแรกก็ตั้งใจว่าจะทำแค่ชั่วคราว ครั้นพอทำไปสักพักหญิงสาวก็เริ่มชอบใจ เพราะเครื่องประดับทุกชิ้นในร้านล้วนมีประวัติความเป็นมาที่ไม่ธรรมดา ช่างเหมาะกับสาวโบราณคดีอย่างเธอยิ่งนัก
“ลำพังแหวนสมัยอยุธยาที่ประดับหัวด้วยไพลินก็หายากอยู่แล้ว พอมาระบุรายละเอียดว่าต้องเป็นทรงรังแตนแบบนี้ยิ่งหายากเข้าไปใหญ่”
ปะวะหล่ำพึมพำ นัยน์ตาจ้องมองภาพแหวนที่สีหราชร่างทิ้งเอาไว้ให้คุณไลย
เป็นภาพแหวนทรงรังแตนที่หัวเป็นอัญมณีสีน้ำเงินเข้ม เจียระไนเป็นทรงกลม ล้อมรอบด้วยอัญมณีสีขาวเม็ดเล็กๆ ตัวแหวนเป็นทองสลักลวดลายเป็นลายเครือเถาละเอียดลออ
“หายากจริงๆ” คุณไลยพยักหน้า เห็นด้วยกับหลานสาว “แหวนทรงนี้หาไม่ได้ง่ายๆ อยู่แล้ว แถมมาระบุว่าเป็นหัวไพลินอีกต่างหาก…งมเข็มในมหาสมุทรอาจจะง่ายกว่า”
เปิดร้านมากว่าค่อนอายุ มีเครื่องประดับโบราณผ่านมือมามากมาย คุณไลยยอมรับว่าแหวนอยุธยาที่มีรูปทรงรังแตนหายากมาก ด้วยเป็นเครื่องประดับสำหรับชนชั้นสูง ยิ่งเป็นแหวนที่สวยสมบูรณ์ยิ่งหายากเข้าไปใหญ่ เพราะชาวบ้านทั่วไปในสมัยนั้นนิยมสวมแต่แหวนทองเกลี้ยงๆ หรือถ้าจะหรูหรามีระดับขึ้นมาหน่อย ก็มีพลอยประดับหัวแหวน รัตนชาติอย่างเช่นทับทิม บุษราคัม นิล ถือเป็นของสูง ชาวบ้านร้านตลาดแทบไม่มีสิทธิ์จะสวมเลยด้วยซ้ำ
ดังนั้น การที่สีหราชระบุว่าแหวนที่เขาตามหามีไพลินเป็นหัวแหวน จึงหายากยิ่งกว่ายาก ด้วยไพลินไม่ใช่อัญมณีซึ่งเป็นที่นิยมในเวลานั้น
“เราก็หาให้เขาต่อไป” ปะวะหล่ำยกมือขึ้นรวบผมยาวสลวย เกล้ามุ่นเป็นมวยหลวมๆ ไว้ที่ท้ายทอย “ของอะไรก็ตาม ถ้าเป็นของเรา วันหนึ่งก็ต้องหาเจอ แต่ถ้าไม่ใช่…หาให้ตาย ยังไงก็หาไม่เจอ…หนูคิดอย่างนั้นนะคะยาย”
“ยายก็คิดอย่างนั้น” คุณไลยพยักหน้า เห็นด้วยกับหลานสาว ประสบการณ์เปิดร้านมายาวนานบอกเธอเช่นนั้น “ถ้าแหวนวงนั้นเป็นของคุณสีหราช…สักวันหนึ่ง เขาจะต้องหาเจอจนได้ละ”
แม้สายฝนที่พรำลงมาไม่ขาดสายจะทำให้อากาศภายนอกเย็นสบาย หากในใจของเธอกลับเต็มไปด้วยความร้อนรุ่ม จะคิดอะไร จะทำอะไรเหมือนมีแต่อุปสรรคไปเสียทุกเรื่อง
“ลองไปคิดดูดีๆ นะเพลง”
สตรีผู้มีอาวุโสที่นั่งอยู่ตรงหัวโต๊ะเอ่ยเสียงเฉียบขาด ขณะที่บุรุษหนุ่มที่ยืนกอดอกอยู่ทางด้านหลังของเธอมีสีหน้าเรียบเฉย
“ถ้าแกดื้อ อยากแต่จะทำตามใจตัวเอง ฉันก็จะทำตามใจของตัวเองบ้าง นั่นคือตัดเงินแก ไม่ส่งเสียค่าเล่าเรียนให้แกอีกแล้ว”
“มันไม่แฟร์” เพลงภัทรแค่นเสียง นัยน์ตาที่จ้องมองผู้เป็นมารดาเต็มไปด้วยร่องรอยไม่พอใจ “ชีวิตเป็นของเพลง อยากเรียนอะไร อยากเป็นอะไร เพลงควรจะเป็นคนเลือกเองไม่ใช่หรือคะ”
“แกเลือกเองมาตั้งกี่ครั้งแล้ว” เกษเกล้าจ้องมองบุตรสาวด้วยแววตาที่ไม่ยอมลดราวาศอกให้แม้สักนิด “จบมอหก…อยากไปเรียนบริหารการโรงแรมที่อังกฤษ ฉันก็ให้ไป…เรียนได้ไม่ถึงปีแกก็เบื่อ เปลี่ยนไปเรียนกฎหมายที่ฝรั่งเศส คราวนี้เรียนได้ไม่ถึงเทอม ไม่ชอบอีกแล้ว…ขอกลับมาไทย มาเรียนนิเทศศาสตร์ หลักสูตรอินเตอร์…หนนี้เก่งหน่อย อดทนอยู่จนครบปี แล้วก็ลาออกอีก ต่อมาก็ขอไปเรียนออกแบบผลิตภัณฑ์…ฉันก็ยอมตามใจแกเป็นครั้งที่นับไม่ถ้วน แล้วยังไง ไม่ถึงเทอมก็ออกจนได้…เปลี่ยนไป เปลี่ยนมา จนเพื่อนๆ ของแกเรียนจบมีการมีงานทำกันหมดแล้ว ตัวแกยังมัวแต่สับสนอยู่นี่ละ แบบนี้จะให้ฉันเชื่อใจได้ยังไงว่าหนนี้แกจะเรียนจนจบจริงๆ เรียนโบราณคดีไม่ใช่ง่ายๆ นะ”
“แต่ก็น่าจะดีกว่าเรียนพยาบาลอย่างที่แม่อยากให้เพลงเรียนไม่ใช่หรือคะ” เพลงภัทรกระแทกเสียง
“ทำไม” เกษเกล้าขึ้นเสียง “เรียนพยาบาลไม่ดีตรงไหน เป็นอาชีพที่มีเกียรติ จบมาก็มีงานทำ เรียนประวัติศาสตร์ เรียนโบราณคดีอย่างแก จบแล้วจะไปทำอะไรที่ไหน”
“โอ๊ย เยอะแยะไป” เพลงภัทรว่า “ไม่มีงานอะไรก็ไปช่วยยัยปะวะหล่ำขายของก็ได้”
เธอเอ่ยถึงเพื่อนสนิทที่เรียนโรงเรียนคอนแวนต์มาด้วยกันตั้งแต่ชั้นอนุบาล เพื่อนของเพลงภัทรคนนี้เรียนจบโบราณคดีและไปช่วยยายที่ร้านขายเครื่องประดับโบราณ
“ร้านคุณไลยน่ะหรือ” เกษเกล้ารู้จักเด็กสาวคนนั้นและยายของหล่อน “ใครจะซื้อเครื่องประดับกันทุกวัน ยิ่งของโบราณราคาแพงแบบนั้น…กว่าจะขายได้แต่ละชิ้น”
“ยังไงก็ดีกว่าพยาบาลละค่ะ” เพลงภัทรไม่ยอมแพ้มารดา
“พยาบาลไม่ดีตรงไหน” เกษเกล้ายังย้ำถามคำถามเดิม
“ไม่ใช่ไม่ดี” เพลงภัทรส่ายหน้า “แต่มันไม่ใช่เพลง…เพลงไม่เอาด้วยหรอกนะคะ งานแบบนั้น เช็ดฉี่ เช็ดอึคนไข้ วัดไข้ ฉีดยา ให้น้ำเกลือ เพลงไม่อดทนพอที่จะทำอะไรแบบนั้น ถามหน่อยเถอะ…แม่คิดว่าเพลงทำอะไรแบบนั้นได้ด้วยหรือ ตกลงเรื่องเรียนพยาบาลนี่…แม่คิดเอง หรือว่าใครคิดให้กันแน่”
หญิงสาวกวาดสายตาไปยังพ่อเลี้ยงหนุ่มที่ยืนกอดอกทำหน้าเข้มอยู่ทางด้านหลังมารดา ห้าปีที่แล้วเขาย้ายเข้ามาอยู่กับมารดาของเธอโดยเปิดเผย ปรีชาพลมีอิทธิพลกับคุณเกษเกล้าในทุกๆ ด้าน เขาครอบงำมารดาของเธออยู่หมัด ไม่ว่าเกษเกล้าจะทำอะไร จะต้องขอความเห็นจากสามีอายุคราวลูกเสมอ
“อย่าพาดพิงชานะ” ผู้เป็นมารดารีบออกตัว “เรื่องนี้ชาไม่เกี่ยว เป็นความคิดของฉันเอง”
“ถึงกับร้อนตัวเลยหรือคะ” เพลงภัทรเสียงแข็ง
“เมื่อไหร่แกกับชาจะพูดจากันดีๆ เสียทีนะ” เกษเกล้าปวดหัว “ครอบครัวเดียวกันแท้ๆ”
“หนูไม่เคยคิดว่าเขาเป็นคนในครอบครัว” เธอแผดเสียง และสีหน้าของปรีชาพลก็เปลี่ยนไปนิดหนึ่ง และมารดาของเธอก็คงไม่ทันสังเกตเนื่องจากเขายืนอยู่ทางด้านหลัง “แม่เลิกพูดเรื่องนี้เสียที…การที่หนูไม่ยุ่งด้วย ถือว่าเป็นการให้เกียรติที่สุดแล้วนะ”
ถูกลูกสาวย้อนเช่นนั้น เกษเกล้าก็ได้แต่อึ้งไป
พร้อมกันนั้นก็นึกโทษตัวเองที่ตามใจเพลงภัทรจนกลายเป็นคนแบบนี้
คุณเอกภัทร บิดาของเพลงภัทรเสียชีวิตด้วยโรคมะเร็งปอดตั้งแต่เด็กหญิงเรียนอยู่ชั้นประถม เกษเกล้ากลายมาเป็นแม่เลี้ยงเดี่ยว ต้องเข้ามาบริหารห้างสรรพสินค้าที่สามีเป็นเจ้าของโดยไม่ได้ตั้งใจ ความที่ไม่เคยทำธุรกิจมาก่อนทำให้เธอต้องเรียนรู้ ต้องทุ่มเทให้กับงาน จนต้องยอมปล่อยเพลงภัทรไว้กับพี่เลี้ยง ลูกอยากได้อะไรก็จะใช้เงินซื้อให้ตลอดไม่เคยขัด เพราะคิดว่านั่นจะทำให้เพลงภัทรมีความสุข เธอไม่เคยตระหนักเลยว่าสิ่งที่เด็กหญิงต้องการมากที่สุดไม่ใช่วัตถุ แต่เป็นอ้อมกอดและความรักของผู้เป็นมารดา กว่าเกษเกล้าจะรู้ตัวว่าห่างเหินกับบุตรสาวไปจนแทบจะกลายเป็นคนแปลกหน้า ทุกอย่างก็สายไปเสียแล้ว
ความสัมพันธ์ระหว่างแม่ลูกเป็นความสัมพันธ์ที่กระท่อนกระแท่น เพลงภัทรสนิทกับป้ากุหลาบที่เลี้ยงเธอมาตั้งแต่เด็กมากกว่าสนิทกับเธอ ทุกครั้งที่เกษเกล้าจะกอดลูก เพลงภัทรจะเบี่ยงตัวหลบเสมอ เกษเกล้าได้แต่เก็บความทุกข์ใจเรื่องนี้ไว้กับตัวเองเงียบๆ แต่ละวันของเธอผ่านไปอย่างเคร่งเครียด…ทั้งเรื่องงานและเรื่องครอบครัว
จนกระทั่งได้มาพบกับปรีชาพลเมื่อห้าปีก่อน ชายหนุ่มรูปร่างสูงใหญ่ หน้าคมสัน เป็นเจ้าของบริษัทโฆษณารายใหม่ที่เข้ามาดูแลภาพลักษณ์ของห้างสรรพสินค้า และเกษเกล้าก็เริ่มสนิทกับเขามากขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งทั้งสองตกลงใจแต่งงานกันในที่สุด
ปรีชาพลเข้ามาเติมเต็มทุกอย่างที่เธอขาด เกษเกล้ารู้สึกมีความสุขขึ้นมาอีกครั้ง เหมือนดอกไม้ที่เหี่ยวเฉามานานได้น้ำเลี้ยงจนกลับมามีชีวิตชีวา
แน่นอน การที่หญิงสูงวัยคบหากับชายหนุ่มอายุคราวลูก ย่อมเป็นเรื่องสนุกปากของวงสังคม หากเกษเกล้าไม่สนใจ เพราะถือว่าคนอื่นไม่ได้มาสุขมาทุกข์กับเธอด้วย คนเดียวที่เธอแคร์ก็คือเพลงภัทร หากลูกสาวคนเดียวของเธอดูเหมือนจะไม่ยอมรับปรีชาพลง่ายๆ ไม่ว่าชายหนุ่มคนนั้นจะพยายามทำดีด้วยแค่ไหน
“ตกลงแกจะเรียนพยาบาลหรือเปล่า” เกษเกล้าวกกลับมาเข้าประเด็นที่ค้างคาใจ “ฉันหารายละเอียดไว้หมดแล้ว”
“ไม่” เพลงภัทรเม้มริมฝีปากแน่น “เพลงจะเรียนโบราณคดี”
“ถ้าแกจะเอาอย่างนั้นให้ได้ละก็…” ผู้เป็นมารดายื่นคำขาด “แกก็ต้องหาเงินเรียนเอง”
เชิงอรรถ :
(1) เป็นวัดที่ผู้เขียนสมมติขึ้นเอง ไม่มีอยู่จริง