ชายได้โชคอย่างลึกลับ เพราะเป็นแฟนคลับนิยายผี บทที่ 1 : บัดนั้น อาจารย์หนุ่มใหญ่เหิมใจหาญ

ชายได้โชคอย่างลึกลับ เพราะเป็นแฟนคลับนิยายผี บทที่ 1 : บัดนั้น อาจารย์หนุ่มใหญ่เหิมใจหาญ

โดย : วันชนะ

Loading

เว็บไซต์อ่านเอา ภูมิใจเสนอ “ชายได้โชคอย่างลึกลับ เพราะเป็นแฟนคลับนิยายผี” นวนิยายรางวัลชนะเลิศจากโครงการอ่านเอาก้าวแรก รุ่นที่ 5 ผลงานโดย วันชนะ ทองคำเภา กับเรื่องราวของความตายที่มีเบื้องหลังลึกลับซับซ้อน และวรรณกรรมผีของเหม เวชกร เรื่องราวทั้งหมดสัมพันธ์กันได้อย่างไร พบคำตอบได้ในนวนิยายเรื่องนี้

เป็นเวลาเที่ยงพอดี ตอนที่อาจารย์อัสดงกดวางโทรศัพท์ แล้วหันกลับมาพิมพ์รายละเอียดของงานที่เพิ่งคุยลงในคอมพิวเตอร์ เสียงแป้นพิมพ์ดังแข่งกับเสียงแอร์ครางหึ่ง เมื่อจบประโยคที่พิมพ์ เขาเหลือบมองประตูห้องที่ปิดสนิท สบตากับหญิงสาวในโปสเตอร์ภาพผีจากปกหนังสือของเหม เวชกร ที่แปะอยู่บนประตูนั้น มือทั้งสองข้างย้ายมากุมหัว แล้วตะโกน

“อ๊ากกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกกก!”

ถ้ามีใครถามถึงสิ่งที่ไม่ชอบเกี่ยวกับการทำงาน อาจารย์หนุ่มใหญ่วัยสี่สิบคงจะอธิบายได้มากกว่าสิบอย่าง แต่ถ้าให้เลือกมาหนึ่งอย่างในขณะนี้ เขาจะตอบได้ทันทีว่าเป็นงานที่ต้องประสานกับผู้คน

ที่จริงแล้วก็เพราะไม่อยากคุยกับผู้คนนี่แหละ ถึงทำให้เขาชอบหลบไปอ่านหนังสือคนเดียวมาตั้งแต่วัยรุ่นจนกลายเป็นงานอดิเรก และงานอดิเรกนั้นมันก็พาเขามาประกอบอาชีพอาจารย์ด้านวรรณกรรม ที่เปิดโอกาสให้เขาได้ใช้เวลาเงียบๆ อยู่กับหนังสือที่เขาชอบได้ตลอดเวลา

และเมื่อต้องพูดกับคน อาชีพอาจารย์สอนวรรณกรรมก็อนุญาตให้เขาได้พูดเกี่ยวกับหนังสือหนังหา แทนที่จะต้องคุยเรื่องสัพเพเหระที่เขาไม่ถนัด และบรรดานักศึกษาที่ลงทะเบียนเรียนมาแล้วก็ไม่มีทางเลี่ยง ต้องฟังทุกเรื่องที่เขาอยากพูด ต้องอ่านวรรณกรรมที่เขาชอบและกำหนดให้อ่าน โอ อาชีพในฝันของชายเนิร์ด

แต่คนเราจะฝันได้ ก็ต้องนอนหลับก่อน ซึ่งจริงๆ การนอนก็เป็นกิจกรรมโปรดของอัสดงเหมือนกัน แต่ช่วงที่ตื่นมานี่สิ เขากลับต้องมาพบความจริงในวิชาชีพของตัวเอง ว่านอกจากจะเลี่ยงการประสานงานกับผู้คนมากมายไม่ได้แล้ว เขายังต้องเผชิญกับสิ่งที่เขาไม่ชอบรองจากการพูดคุย นั่นคือ งานเอกสารต่างๆ

และพอของสองอย่างนี้มาบรรจบกันในงานที่เขาต้องรับผิดชอบอย่างการจัดงานที่มีชื่อหรูหราว่า ‘ประชุมวิชาการระดับชาติ’ นี้ หนุ่มใหญ่ก็จะทุกข์ทรมานจนต้องหาทางระบายด้วยการตะโกนออกมาในตอนที่แน่ใจว่าไม่มีใครได้ยิน อย่างเช่นในห้องทำงานซึ่งตรวจดูแล้วว่าเก็บเสียงได้ดีมาก แล้วจากนั้นอีกไม่กี่วินาทีเขาก็จะอารมณ์ดีขึ้นเอง

แต่วันนี้ โชคไม่เข้าข้างเขา เมื่อมีเสียงละล่ำละลักตะโกนตอบออกมาจากโทรศัพท์ทันทีที่เขาตะโกนออกไปได้เพียงครึ่งทาง

“อาจารย์คะ เกิดอะไรขึ้นคะ อาจารย์! อาจารย์ค้า” เสียงวารี นักศึกษาปริญญาเอกที่เป็นผู้ช่วยวิจัยของอัสดง ตะโกนเรียกเขาด้วยความเป็นห่วง ดังออกมาจากโทรศัพท์

อัสดงถอนใจ แม้แต่การกดวางหูโทรศัพท์ เขาก็ยังทำไม่สำเร็จ โลกสมัยนี้มันไม่มีความเป็นส่วนตัวจริงๆ  แบบนี้ไง เราถึงไม่ชอบติดต่อพูดคุยกับใคร โดยเฉพาะการคุยผ่านโทรศัพท์

หลังจากแก้ตัวแบบมักง่ายไปว่าเสียงที่วารีได้ยินนั้นมาจากคลิปวิดีโอประกอบการสอนที่เปิดค้างไว้ อาจารย์หนุ่มใหญ่ก็กดวางโทรศัพท์อีกครั้ง (ครั้งนี้ตั้งใจกดอย่างประณีต) แล้วถอนใจอีกรอบ

อัสดงไม่รู้ตัวเลยว่า หลังจากอาหารเที่ยงวันนี้ผ่านไป ในช่วงบ่ายเขาจะได้รับโทรศัพท์อีกสองครั้ง และหนึ่งในสองครั้งที่เขารับโทรศัพท์นั่นเอง ที่อาจจะพูดอย่างเชยๆ ได้ว่า มันจะมาเปลี่ยนชีวิตเรียบง่ายของอาจารย์อัสดง สัตยาพิทักษ์ แห่งคณะอักษรศาสตร์ มหาวิทยาลัยปราชญาลัยไปตลอดกาล

 

โทรศัพท์สายแรกดังขึ้นขณะที่เขากำลังเดินจากโรงอาหารกลับไปที่คณะ เสียงที่เขาได้ยินจากปลายสายเป็นเสียงที่คุ้นเคยจากพ่อของเขาเอง

“อัส เป็นไงลูก ทำงานสนุกมั้ย” พ่อถามมาด้วยเสียงกลั้วหัวเราะ คลอเสียงลมพัดแรงๆ ที่ดังเป็นเสียงประกอบฉากอยู่เบื้องหลัง

“พ่อกับแม่ไปเที่ยวอยู่ แล้วโทรมาเยาะเย้ยผมละสิครับเนี่ย ทริปนี้ไปไหนกันอีกครับ” อัสดงทำเสียงงอนพ่อแบบไม่จริงจังนัก เขาพูดออมเสียง ป้องกันไม่ให้นักศึกษาผ่านมาได้ยินสำเนียงออดอ้อนของอาจารย์หนุ่มใหญ่เมื่อพูดกับคนในครอบครัว

“พ่อกับแม่มาเกาะช้างกับเพื่อนๆ สมัยมหาลัยน่ะลูก พอดีมาทำบุญให้เพื่อนร่วมรุ่นที่ตายไปแล้ว ที่วัดแถวๆ ตราด ก็เลยจองโรงแรมกันไว้ล่วงหน้า เสร็จแล้วก็เลยมาเที่ยวที่นี่เลย”

“โอเคครับ ขอให้สนุกกับเพื่อนตอนที่ลูกชายคนเดียวกำลังทำงานงกๆ อยู่นะครับ” อัสดงแกล้งหยอก

“ฮ่าๆ ก็เนี่ย บอกแล้วให้เรียนสายวิทย์ สายแพทย์ ก็ไม่เชื่อ นี่เลยต้องทั้งทำงานหนักทั้งเหงาอยู่แบบนี้ แต่ตอนนี้ก็ยังมีโอกาสนะ หาภรรยาที่รักที่เป็นแพทย์ไงครับน้องอัส” ประโยคสุดท้าย พ่อแกล้งทำเสียงอ่อนเสียงหวานเหมือนที่เคยคุยกับลูกชายตอนเด็กๆ

“อีกแล้วพ่อ พ่อนี่มุ่งมั่นจะจับคู่ให้ผมอีกแล้ว นิชเขาก็เป็นเหมือนน้องแท้ๆ ของผมนะครับพ่อ จะให้ไปคิดแบบนั้นกับเขามันก็แปลกๆ อยู่นา” อัสดงรู้ทันทีว่าพ่อของเขาหมายถึงนิชนันท์ ลูกสาวของเพื่อนสมัยเรียนของพ่อ สาวเจ้าอายุอ่อนกว่าอัสดงสามปี และเป็นเพื่อนเล่นข้างบ้านของเขามาตั้งแต่ยังเล็ก

วันนี้สาวคนดังกล่าวเรียนจบเป็นแพทย์อยู่ในจังหวัดบ้านเกิดของเขา เป็นแม่เลี้ยงเดี่ยวที่หย่ากับสามีที่เป็นแพทย์ด้วยกัน และยังคงเป็นเพื่อนสนิทของอัสดงอยู่

นิชนันท์ยังมีอีกตำแหน่งคือเป็นว่าที่สะใภ้ในฝันของพ่อมาแต่ไหนแต่ไร พ่อมักพูดถึงความอยากได้เธอเป็นสะใภ้แบบทีเล่นทีจริงอยู่เสมอ แต่ดูเหมือนว่าหลังๆ พ่อจะเน้นไปทาง “ทีจริง” มากขึ้นเรื่อยๆ

“แต่เอาจริงๆ นะลูก พ่อกับแม่ก็แก่มากๆ แล้ว เราเองก็ทำงานหนัก เงินเดือนก็น้อย เป็นอาจารย์สอนนักศึกษาอ่านเรื่องผีเรื่องสางที่มันทำเงินไม่ค่อยได้ อาชีพการงานก็เลยดูเคว้งคว้างแบบที่พ่อไม่เข้าใจเอาซะเลย แล้วยังเป็นโสดมาจนป่านนี้อีก ชีวิตต่อไปอยู่คนเดียวจะลำบากนะลูก” พ่อทำน้ำเสียงจริงจัง “แล้วนี่เรายังเป็นพนักงานมหาวิทยาลัย ไม่ใช่ข้าราชการซะอีก เกิดมหาลัยไม่ต่อสัญญาให้ขึ้นมา เราจะทำยังไงต่อล่ะทีนี้”

จบคำขู่ของพ่อ อัสดงก็ถอนใจเมื่อนึกถึงสภาพความจริงว่า มหาวิทยาลัยรัฐบาลในปัจจุบันนี้ไม่ได้เป็นหน่วยงานราชการเต็มตัวเหมือนเมื่อก่อน ทำให้อาจารย์ในมหาวิทยาลัยเป็นเหมือนพนักงานเอกชนที่ต้องต่อสัญญาจ้างเป็นระยะๆ ไปเรื่อยๆ และมีสิทธิ์ถูกเลิกจ้าง ไม่มั่นคงเหมือนยุคที่ยังเป็นข้าราชการ

“ใช่จ้า ถ้าเป็นอาจารย์แล้วมีบำเหน็จบำนาญแบบพ่อกับแม่ก็ว่าไปอย่าง แก่แล้วก็ไม่ต้องลำบาก” คราวนี้เป็นเสียงแม่ที่คงฟังอยู่ด้วยแต่แรก แย่งโทรศัพท์จากมือพ่อมาพูดต่อเสียงแจ้ว

“คร้าบแม่ แม่น่ารักมากเลยครับที่เป็นห่วงลูกชายคนเดียวมาตลอด แต่แม่ครับ นักศึกษารอผมอยู่ ผมต้องรีบไปสอน กอดพ่อแทนผมด้วยครับ เที่ยวให้สนุกนะครับ ข้าราชการบำนาญทั้งสอง” อัสดงรีบตัดบทแล้ววางโทรศัพท์

อัสดงส่ายหัว จริงๆ แล้วถ้าเป็นในนวนิยายรักขายดีทั้งหลาย คนที่ตกอยู่ในชะตากรรมที่ต้องหาคู่ให้ได้เพื่อไม่ให้พ่อแม่เป็นห่วง มักจะเป็นตัวเอกเพศหญิงวัยยี่สิบปลายๆ ถึงสามสิบต้นๆ มากกว่ามนุษย์ลุงเพศชายวัยใกล้กลางคนอย่างเขา แต่กลายเป็นว่าพ่อแม่ของเขากลับเป็นห่วงลูกชายมากไม่ต่างกัน

หรือว่าลึกๆ แล้วพ่อแม่อยากให้เขาเรียนหมอ ตามสไตล์บุพการีเอเชีย แต่เมื่อเขาทำไม่ได้ ก็เลยอยากโน้มน้าวให้เขารับบทสามีหมอแทน!

ที่จริงอาจารย์หนุ่มใหญ่ก็สงสัยมาตลอด ว่าทำไมระยะหลังๆ พ่อแม่ถึงต้องมาคอยประคบประหงมลูกชายคนเดียวอย่างเขาดุจสาวน้อยอ่อนแอมากขึ้นเรื่อยๆ ถึงกับต้องการให้มี “พระเอกสาว” ที่เป็นคุณหมอ แถมมีประสบการณ์ครองคู่มาแล้ว และมีบุคลิกแข็งแกร่งอย่างนิชนันท์มาคอยดูแล

พอคิดถึงตรงนี้แล้ว อาจารย์หนุ่มก็รู้สึกอ้อนแอ้นแต่งดงามขึ้นมาเฉยๆ

*****************

โทรศัพท์อีกสายดังขึ้นมาในอีกราวสามชั่วโมงถัดมา ตอนที่นักศึกษากำลังเลิกเรียนและทยอยเดินออกไปจากห้อง

ใจจริงอัสดงไม่ค่อยสนใจอยากรับโทรศัพท์เบอร์ที่เขาไม่คุ้นสักเท่าไรนัก แต่วันนี้การเรียนการสอนในชั้นเรียนค่อนข้างน่าผิดหวังเพราะนักศึกษาไม่ค่อยสนุกกับบทเรียน ทำให้ห้องเรียนเงียบและน่าอึดอัด อัสดงจึงค่อนข้างเก้อเขินตอนที่นักศึกษาพากันมาสวัสดีและบอกลา เขารีบหยิบโทรศัพท์ที่ดังขึ้นมารับแก้เก้อ แล้วเดินคุยโทรศัพท์ไปด้วยระหว่างที่เดินกลับไปยังภาควิชาวรรณกรรมไทยของเขา

เสียงจากปลายสายเป็นเสียงผู้หญิงวัยผู้ใหญ่ที่พูดจาชัดถ้อยชัดคำและเป็นมิตร เสียงนั้นแนะนำตัวอย่างสุภาพว่าชื่อทอฟ้า คุณทอฟ้าสอบถามว่าเขาสะดวกคุยไหม และแจ้งความประสงค์อย่างรวดเร็วและตรงไปตรงมา

“พอดีพี่อยากจะขอเชิญอาจารย์อัสดงมาทำวิจัยเกี่ยวกับวรรณกรรมของเหม เวชกร น่ะค่ะ” เป็นประโยคที่แม้จะทำให้อัสดงสะดุดหูขึ้นมาทันทีที่ได้ยินชื่อนักเขียนโปรด แต่ก็แฝงด้วยความพิศวงเช่นกัน

“ขอโทษทีนะครับ แต่ว่าเชิญมาทำวิจัย นี่หมายถึงยังไงนะครับ”

ตามปกติแล้ว เวลาที่อาจารย์สายวรรณกรรมจะทำวิจัย อาจารย์มักจะเป็นผู้เริ่มคิดหัวข้อวิจัยเอง แล้วจึงสมัครขอทุนสนับสนุนจากหน่วยงานต่างๆ หรือถ้ามีหน่วยงานที่ต้องการจะมอบทุนเพื่อให้อาจารย์ทำวิจัยให้ ผู้ที่ติดต่อมาก็มักจะแนะนำสถาบันหรือองค์กรก่อน ไม่ใช่แนะนำตัวเองแล้วพูดโพล่งขึ้นมาลอยๆ แบบนี้

แม้ว่าอัสดงเองจะแอบนึกอยู่บ่อยๆ ว่าตัวเองก็เก่งในเรื่องที่เขาสนใจอยู่ระดับหนึ่ง (พยายามจะคิดเงียบๆ ไม่ให้มีเสียงที่ฟังดูโอ้อวดดังออกมาในโลกภายนอก) แต่ถึงอย่างนั้น เขาก็ไม่ได้คิดว่าตนจะเก่งถึงขนาดมีใครมาลงทุน “เชิญ” ไปทำอะไรแบบนี้ ซึ่งเป็นเรื่องน่ายินดี แต่ก็น่าหวาดระแวงเช่นกัน

“คือเรื่องมันยาวค่ะอาจารย์ อาจารย์มีเวลาฟังพี่มั้ยคะ”

เมื่ออัสดงตอบรับอย่างสุภาพ คุณทอฟ้าก็อธิบายถึงที่มาที่ไปของการ “เชิญมาทำวิจัย” ซึ่งเป็นเรื่องที่ค่อนข้างอัศจรรย์อยู่ไม่น้อย

 

เริ่มจากที่คุณทศพล พ่อของเธอ มีภรรยาสองคน คือคุณลัดดา ภรรยาหลวงผู้ไม่มีบุตร และคุณเฟื่องฟ้า อนุภรรยาผู้เป็นมารดาของคุณทอฟ้า ภรรยาทั้งสองคนปรองดองกันดี เพราะว่าคุณเฟื่องฟ้า รวมถึงคุณทอฟ้าในวัยเด็กเองก็ชื่นชอบและนับถือคุณลัดดาผู้เป็นสุภาพสตรีที่โก้เก๋มากในสมัยนั้น

แม้จะไม่มีบุตรของตัวเอง แต่คุณลัดดาก็ใช้ชีวิตอิสระและสงบสุข เธอชอบอ่านหนังสืออ่านเล่นและเย็บปักถักร้อยอยู่ที่บ้าน หนังสือแนวโปรดของเธอคือนิยายผี โดยเฉพาะงานของเหม เวชกร ที่มีชื่อเสียงอยู่ในยุคของเธอ และคุณลัดดาก็ชอบนิยายผีของนักเขียนท่านนี้มาก ถึงกับเขียนบันทึกแสดงความเห็นและความรู้สึกที่มีต่อเรื่องที่ได้อ่านเอาไว้ในไดอารี

คุณลัดดาเริ่มเขียนไดอารีเล่มนี้ตอนที่อายุ 34 ปี ใน พ.ศ.2515 แต่เนื่องจากเธอเขียนไปเรื่อยๆ ไม่ได้บันทึกเรื่องราวต่อเนื่องจนครบทุกวัน ไดอารีเล่มเดียวนี้จึงครอบคลุมระยะเวลาประมาณ 3-4 ปี แต่ละตอนของบันทึกมีการลงวันที่ที่เขียนไว้เรียบร้อย เก็บรักษาไว้อย่างดีในกล่องงดงาม และในบันทึกเหล่านี้มีอยู่ 10 ตอนที่เขียนเกี่ยวกับเรื่องผีของเหม

คุณลัดดาเสียชีวิตด้วยอุบัติเหตุทางเรือเมื่ออายุ 38 ปี ในช่วงที่คุณทอฟ้ายังเด็ก ไม่ทันจะเข้าเรียนชั้นประถมศึกษา คุณทศพลโศกเศร้ามากจนทำอะไรไม่ถูก ทำให้ตกเป็นหน้าที่ของคุณเฟื่องฟ้าที่ต้องมาจัดการข้าวของต่างๆ ของผู้ตายหลังจากงานศพ

ขณะที่เก็บของด้วยน้ำตาที่นองหน้าไม่แพ้สามี คุณเฟื่องฟ้าก็พบไดอารีที่น่าสนใจนี้ จึงเก็บไว้เป็นที่ระลึกถึงคุณลัดดาผู้โก้เก๋และเป็นที่รักใคร่ดุจพี่สาวของเธอ จนถึงปัจจุบันที่ผู้ใหญ่ในบ้านทั้งคุณเฟื่องฟ้าและคุณทศพลต่างเสียชีวิตกันไปแล้ว ไดอารีเล่มนี้ก็ตกทอดมาถึงคุณทอฟ้า พร้อมกับเงินและทรัพย์สินมรดกปริมาณมหาศาล

ในฐานะหญิงโสดที่มีเงินและเวลา คุณทอฟ้าตั้งใจจะเขียนหนังสือเกี่ยวกับประวัติของบุพการีรวมทั้งของคุณลัดดาซึ่งเป็นสมาชิกคนสำคัญของครอบครัวเพื่อเผยแพร่ และเนื่องจากเธอต้องการจะเขียนหนังสือเล่มนี้ให้ละเอียดและถูกต้องที่สุดเท่าที่จะสามารถทำได้ คุณทอฟ้าจึงพยายามตรวจทานเรื่องราวต่างๆ จากเอกสารที่มีกับหนังสืออ้างอิงต่างๆ ด้วย

“ปัญหาก็อยู่ที่บันทึกเกี่ยวกับนิยาย เหม เวชกร ทั้งสิบตอนนี่แหละค่ะอาจารย์อัสดง”

อัสดงซึ่งกำลังเพลิดเพลินกับเรื่องราวที่คุณทอฟ้าเล่าจนลืมสิ่งแวดล้อมรอบด้านสะดุ้งเล็กน้อยที่โดนเรียกชื่อ ก่อนจะถามคุณทอฟ้าว่า “ยังไงนะครับ” เพื่อให้เธอเล่าต่อ พลางไขกุญแจเข้าห้องทำงานของเขาในภาควิชาวรรณกรรมไทย เมื่อมองเห็นว่าวารียังไม่เข้ามาทำงานหลังเลิกเรียน เขาก็รู้สึกโล่งใจที่จะไม่ต้องออมเสียงในการคุยเรื่องน่าแปลกใจนี้ หนุ่มใหญ่ตั้งใจฟังเรื่องราวต่ออย่างจริงจัง

“คือพี่เองก็เคยได้อ่านงานของเหม เวชกรมาบ้างนะคะ แต่ไม่มาก เพราะว่าพี่กลัวผี แต่พออ่านที่คุณแม่ลัดดาเขียนถึงนิยายพวกนี้ ก็พบว่ามันมีอะไรที่แปลกประหลาดมากๆ แม้แต่ตอนนี้ที่พี่กำลังเล่าให้อาจารย์ฟังอยู่ พี่ก็ยังไม่รู้ว่าจะเชื่อหรือไม่เชื่อดีค่ะ” คุณทอฟ้าเล่าด้วยเสียงที่ตื่นเต้นขึ้นจากเดิมเล็กน้อย

อัสดงกลั้นหายใจแล้วรอฟังต่อ

“คือในบันทึกเกือบทุกตอนที่เขียนเกี่ยวกับนิยายของเหม จะมีเรื่องที่คุณแม่ลัดดาท่านเขียนเชื่อมโยงเอาไว้ว่า สิ่งที่เหมเขียนในนิยาย มันตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นในชีวิตท่าน เหมือนกับว่าเนื้อหาในนิยายผีมันผสมเรื่องจริงกับเรื่องจินตนาการปนกันไปหมดเลยค่ะ”

“หมายถึงว่ายังไงนะครับ เหตุการณ์ในเรื่องสั้นบังเอิญตรงกับสิ่งที่เกิดขึ้นจริงในชีวิตท่านเลย หรือว่า…ขออภัยถ้าไม่สุภาพนะครับ ท่านมีจินตนาการและได้พยายามเชื่อมโยงเรื่องราวในชีวิตของท่านเข้ากับเรื่องสั้นที่ท่านชอบ อะไรแบบนั้นหรือเปล่าครับ” อาจารย์หนุ่มใหญ่ใช้คำว่า “เรื่องสั้น” เรียกวรรณกรรมผีของเหม ซึ่งในสมัยของคุณแม่ลัดดานิยมใช้คำว่า “นิยาย” อย่างที่คุณทอฟ้าเรียกมากกว่า

“ไม่ใช่เลยค่ะ จากที่พี่รู้จัก และได้อ่านบันทึกของคุณแม่ลัดดามา รวมทั้งที่ได้พูดคุยกับคุณพ่อคุณแม่พี่ คุณแม่ลัดดาเป็นคนรอบคอบและละเอียดลออมาก ที่สำคัญคือท่านมีสติปกติ มีเหตุมีผล ข้อมูลในตอนอื่นๆ ที่ท่านจดบันทึกไว้ก็เรียบร้อยถูกต้องดีทุกอย่าง มีแค่ตอนเกี่ยวกับนิยายของเหมนี่แหละค่ะ ที่เหมือนว่าจะแปลกไปสักหน่อย”

“ถ้าอย่างนั้นก็น่าสนใจมากเลยนะครับ เป็นไปได้ไหมว่าคุณแม่ท่านเกิดความคิดสร้างสรรค์ อยากจะแต่งเรื่องสั้นของตัวเองขึ้นมาให้สอดคล้องกับเรื่องที่เหมเขียน แบบที่สมัยนี้เรียกว่า แฟนฟิกชั่น ที่แฟนๆ ของหนังสือเล่มดังๆ จะพากันแต่งเรื่องราว เปลี่ยนมุมมอง ข้อมูล หรือเหตุการณ์ในเรื่องที่นักเขียนเขียนมา แต่คนอ่านไม่ชอบ เพื่อให้ได้เรื่องใหม่ที่ถูกใจตัวเอง” อัสดงตั้งข้อสังเกตและเผลอตัวเลกเชอร์ให้คุณทอฟ้าฟังยาวเหยียด เมื่อได้ยินเรื่องที่เขาสนใจ “หรือบางทีจะเป็นแค่การเล่นสนุกของท่านที่ตั้งใจจะล้อเล่นกับคนที่บังเอิญได้มาอ่านบันทึกนี้ในรุ่นหลัง อะไรทำนองนี้หรือเปล่าครับ” อาจารย์หนุ่มใหญ่สันนิษฐาน

“พี่ไม่แน่ใจเลยค่ะ แต่ก็คิดว่าเรื่องนี้มันค่อนข้างจะสำคัญมากๆ เลยคิดว่าน่าจะมีคนที่เชี่ยวชาญเรื่องพวกนี้แล้วอาจจะช่วยได้ พี่เลยลองเสิร์ชหาในอินเทอร์เน็ตดู จนมาเจอข้อมูลในเว็บไซต์ของอาจารย์อัสดง ก็เลยลองติดต่อมาน่ะค่ะ”

คุณทอฟ้าน่าจะหมายถึงข้อมูลประวัติอาจารย์ของอัสดงที่ทางมหาวิทยาลัยนำเสนอขึ้นเว็บไซต์ไว้ ที่ประกอบด้วยภาพถ่าย (ดูหนุ่มและสดใสร่าเริงกว่าตัวจริง) ประวัติการศึกษา (ปริญญาเอกด้านประวัติวรรณกรรมไทย) และความเชี่ยวชาญทางวิชาการ (วรรณกรรมไทยยุคเก่า โดยเฉพาะวรรณกรรมสยองขวัญ เรื่องผี เรื่องตื่นเต้นเชิงจิตวิทยา : เน้นงานของ อ.อุดากร, มนัส จรรยงค์, อ.อรรถจินดา ทั้งนี้ สนใจชีวิตและงานของเหม เวชกรเป็นพิเศษ)

แต่ในเว็บไซต์ก็ให้ไว้แค่เพียงข้อมูลอีเมลเท่านั้น ไม่ได้มีเบอร์โทรศัพท์ส่วนตัวให้โทร.มาหาได้ง่ายๆ เลขาฯ ของคณะและภาควิชาก็มักจะตรวจสอบข้อมูลต่างๆ เป็นอย่างดีก่อนจะให้เบอร์มือถือของอาจารย์กับคนแปลกหน้า อัสดงจึงเชื่อว่า คุณทอฟ้าน่าจะตั้งใจติดต่อเขามาโดยตรง และมีความเพียรพยายามมากกว่าแค่การ “ลองติดต่อมา” แน่ๆ

*****************

แม้จะมีข้อสงสัยและความรู้สึกว่าสิ่งที่คุณทอฟ้าพูดนั้นฟังไม่สมเหตุสมผลอยู่บ้าง แต่ความอยากรู้อยากเห็นและไฟในตัวที่ปะทุขึ้นเมื่อได้ยินเรื่องราวเกี่ยวกับนักเขียนคนโปรด ก็มีอิทธิพลเหนือความระมัดระวังตัวของหนุ่มใหญ่ อัสดงจึงถามกลับไปด้วยเสียงที่แฝงความคาดหวังเล็กน้อยว่า

“แล้วคุณทอฟ้าคิดจะให้ผมช่วยวิจัยเรื่องนี้ยังไงบ้างครับ”

“พี่อยากจะมอบเป็นทุนวิจัยให้อาจารย์ศึกษาบันทึกของคุณแม่ลัดดา เปรียบเทียบกับวรรณกรรมของเหม เวชกรสักหน่อยน่ะค่ะ อาจารย์เชี่ยวชาญเกี่ยวกับนักเขียนท่านนี้ อาจจะรู้ข้อมูลอะไรที่พี่ไม่ค่อยเข้าใจ น่าจะทำให้พี่เห็นภาพมากขึ้นว่าคุณแม่ลัดดาท่านตั้งใจจะทำอะไร” คุณทอฟ้าอธิบายด้วยน้ำเสียงกระตือรือร้น “พี่ก็พอมีงบประมาณอยู่บ้าง แล้วก็ยังมีเอกสาร หนังสือ นิตยสารเก่าที่คุณแม่ลัดดาสะสมไว้ รวมทั้งมีอุปกรณ์ต่างๆ ที่พี่มีไว้ส่วนตัวสำหรับเขียนหนังสือประวัติครอบครัวที่พี่ทำอยู่ ซึ่งน่าจะเป็นประโยชน์กับงานของอาจารย์ด้วย ถ้าอาจารย์กรุณารับทำ อาจารย์สามารถบอกให้พี่ทำหนังสือขอไปอย่างถูกต้องตามระเบียบราชการได้เลยนะคะ พี่ให้เลขาพี่จัดการได้”

และเหมือนเธอจะรู้ตัวว่าการให้ทุนครั้งนี้ ฟังดูแล้วออกจะมีจุดประสงค์ที่คาดเดาได้ยากอยู่สักหน่อย คุณทอฟ้าจึงรีบอธิบายต่อด้วยเสียงรัวเร็ว

“อาจารย์อย่าว่าอย่างงั้นอย่างงี้เลยนะคะ แต่คือพี่เองก็อยากสนับสนุนวิชาความรู้เกี่ยวกับวรรณกรรมของชาติด้วยแหละค่ะ เลยค่อนข้างจะจริงจังกับเรื่องนี้มาก แล้วอีกอย่างคือ ทุนที่จะให้นี่ก็อยากจะให้ใช้ชื่อคุณพ่อ คุณแม่ และคุณแม่ลัดดาเป็นชื่อทุนด้วย แบบนี้จะได้ไหมคะ”

แม้คุณทอฟ้าจะอธิบายละเอียดยิบ แต่อัสดงก็ยังรู้สึกว่าข้อเสนอที่คุณทอฟ้าพูดมานั้นมีอะไรแปลกๆ หลายอย่าง เป็นต้นว่า ทำไมเธอจะต้องสนใจและสงสัยรายละเอียดเล็กๆ น้อยๆ ในบันทึกของคุณลัดดาเป็นอย่างมาก ทั้งที่ความจริงแล้วเจ้าตัวอาจจะต้องการเขียนเล่นเพื่อความสนุกเฉยๆ เท่านั้น หรือว่าทำไมจึงต้องเสนอเงินให้เป็นทุนวิจัย ทั้งที่คุณทอฟ้าอาจจะแค่จ้างอัสดงตรวจสอบข้อเท็จจริงก็ได้ และทำไมเธอจึงไว้ใจอัสดง ซึ่งเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยที่แทบจะไม่มีชื่อเสียงอะไร

แต่แม้จะพยายามสุขุมรอบคอบอย่างไร ข้อมูลที่คุณทอฟ้าพูดมาทั้งหมดก็เย้ายวนใจมากเกินกว่าที่อัสดงจะมองข้ามไปได้

 

ที่จริงแล้ววรรณกรรมสยองขวัญ หรือเรื่องผี ซึ่งจัดอยู่ในกลุ่มที่คนสมัยก่อนเรียกว่า “เรื่องอ่านเล่น” นี้ ไม่ค่อยได้รับความสนใจจากแวดวงวิชาการวรรณกรรมไทยมากนัก จึงมีงานวิชาการที่เขียนเรื่องพวกนี้อยู่น้อย ข้อมูลเอกสารเก่าทั้งหลายที่จะช่วยให้เข้าใจความคิด รสนิยม ของนักอ่านที่เป็นแฟนคลับตัวยงของเหม เวชกร จึงเป็นของมีค่าอย่างมากสำหรับคนที่ศึกษาเรื่องนี้มาหลายปี

อัสดงนึกไปถึงขั้นว่า แม้ความแปลกประหลาดในไดอารีอาจจะเป็นเพียงการเล่นสนุกของคุณแม่ลัดดา (ถึงจุดนี้ อาจารย์อัสดงก็เผลอไผลเรียกคุณลัดดาในใจว่า “คุณแม่” ไปด้วยแล้ว) ข้อมูลของ “แฟนคลับรุ่นเก่า” แบบนี้ก็มีคุณค่ามากพอที่จะตีพิมพ์เผยแพร่เป็นบทความวิจัยที่สร้างองค์ความรู้ใหม่ๆ เกี่ยวกับครูเหม เวชกร ได้

และข้อมูลแปลกใหม่ที่นักวิชาการอื่นไม่มีแบบนี้ก็คือของมีค่ามากๆ ที่จะทำให้อัสดงเท่สุดๆ ในแวดวงเล็กๆ ของคนศึกษาวรรณกรรมผีไทย แต่ถ้าโชคดีมากจริงๆ งานนี้อาจจะทำให้เขาค้นพบข้อมูลใหม่ๆเกี่ยวกับเหม เวชกร จากข้อมูลที่คุณทอฟ้ามีด้วยก็ได้ ซึ่งถ้าเป็นกรณีหลัง มันจะยิ่งใหญ่พอๆ กับการที่อาจารย์สายวิทย์ค้นพบพืชพันธุ์ใหม่หรือสัตว์ชนิดใหม่เลยทีเดียว ว่าไงครับ ศาสตราจารย์อัสดง!

และที่จริงแล้ว อัสดงก็ต้องยอมรับแบบละอายนิดๆ ว่า งบประมาณการวิจัยที่คุณทอฟ้าเสนอมาในตอนท้ายของบทสนทนาที่ต่อเนื่องหลังจากนั้น ก็สูงมากพอที่จะทำให้เขาตื่นเต้น และนึกอยากเห็นหน้าเพื่อนอาจารย์ตอนที่เห็นตัวเลขนี้ในสัญญามอบทุนขึ้นมาทันที เพราะว่าอาจารย์ด้านวรรณกรรมไทยอย่างเขามักจะไม่ค่อยได้งบประมาณการทำวิจัยอะไรที่ดูยิ่งใหญ่ เกิดรายได้ หรือทันสมัยเหมือนเพื่อนร่วมงานของเขาที่สอนวิชาน่าเร้าใจอย่าง ภาษาศาสตร์เอไอ หรือจิตวิทยาคลินิก

อาจจะเป็นเพราะความกระตือรือร้นทางวิชาการ หรือเป็นเพราะความเครียดที่อยากจะหลีกหนีจากงานเอกสารและประสานงานที่เขาเบื่อหน่าย หรืออาจจะเป็นแรงขับลึกๆ ที่อยากพิสูจน์ตัวเองให้พ่อแม่เห็นว่า การเป็น “อาจารย์สอนนักศึกษาอ่านเรื่องผีเรื่องสางที่มันทำเงินไม่ค่อยได้” นั้นก็สามารถจะประสบความสำเร็จในแบบของตนเองได้ โดยที่ยังเป็นโสดและเป็นสุข หรือจะเป็นแค่ความคิดห่ามๆ ของชายวัยสี่สิบต้นๆ ที่อยากจะเสี่ยงภัยในชีวิตการงานอันเรียบง่ายของตนบ้างก็ตาม

แรงผลักอันลึกลับที่เขาเองก็ไม่เข้าใจนี้ ก็ทำให้อัสดงตกลงใจในเรื่องที่คุยกับคุณทอฟ้าอย่างรวดเร็ว

และเมื่อวารี ผู้ช่วยวิจัยของเขาเปิดประตูห้องเข้ามาเพื่อเตรียมทำงานต่อในเวลาเย็นของวันเดียวกันนั้น เธอก็พบกับอาจารย์อัสดง อาจารย์ที่ปรึกษาของเธอกำลังนั่งยิ้มกริ่ม แล้วถามเธอด้วยเสียงกระตือรือร้นว่า “วารี คุณพร้อมจะทำวิจัยเรื่องแปลกๆ สักโปรเจกต์ไหม งานวิจัยเรื่องนี้จะมีค่าตอบแทนผู้ช่วยวิจัยสูงมากเลยครับ”

 



Don`t copy text!