ท่องชนบทอังกฤษ : Cameron Highland (มาเลเซีย)

ท่องชนบทอังกฤษ : Cameron Highland (มาเลเซีย)

โดย : สุวิทย์ เมฆวิบูลย์

ไม่ได้มีแค่ นิยายออนไลน์ ให้อ่าน ที่ อ่านเอา  แต่เรายังมีเรื่องราวการเดินทางของ สุวิทย์ เมฆวิบูลย์ ชายหนุ่มผู้ที่เชื่อว่า การเดินทางกับการดื่มกิน คือองค์ประกอบสำคัญในการเติมไฟ เพิ่มพลังให้ชีวิต และเขายินดีแบ่งปันขุมพลังนี้กับผู้อ่าน “อ่านเอา” ได้ อ่านออนไลน์ 

…………………………………………..

– ท่องชนบทอังกฤษ : Cameron Highland (มาเลเซีย) 

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

ก่อนสงกรานต์ 2 เดือน วางแผนไปพักผ่อนวันหยุดยาว แต่ยังหวาดผวากับคลื่นรถคลื่นคนปิ๊กบ้านทั้งสายเหนือและสายอีสานของหมู่เฮา ทุกข์ทรมานแสนสาหัสกับการติดหนึบบนถนน 10 กว่าชั่วโมง เข็ดขยาดกับการแย่งกันกินแย่งกันเดินทาง ครั้นจะไปยุโรปไปญี่ปุ่นก็ลังเลกับจุดหมายปลายทาง ลองกลับตัวมาศึกษาเมืองต่างๆ ในอาเซียน ตั้งโจทย์ 4 ข้อ ต้องมีเสน่ห์ มีศิลปวัฒนธรรม มีอาหารท้องถิ่นเด่นและ มีอากาศดีๆ หนาวเย็นก็จะวิเศษเลย ค้นไปค้นมาอ่านเจอ 2 แห่ง กาได้ในมาเลเซีย คือ คาเมรอนไฮแลนด์ และมะละกา จุดแรกเป็นที่ราบสูงใจกลางประเทศ เคยเป็นแหล่งตากอากาศของคนอังกฤษในอดีต จุดที่ 2 คือเมืองมรดกโลก ที่อยู่ติดช่องแคบ เส้นทางยุทธศาสตร์และการเดินเรือสำคัญแห่งหนึ่งของโลก เราทุกคนเคยเรียนวิชาภูมิศาสตร์ชั้นประถมกันมาแล้ว คุ้นชื่อกันดี ออกแบบร้อยเรียงแต่ละเมือง ต่อเชื่อมข้ามไปสุดทางที่เกาะสิงคโปร์ จนเป็นทริป 10 วันจบพอดีกลับมาทำงานวันจันทร์ทัน… ไม่ต้องเขียนใบลา

สายๆ วันแรกของเทศกาลสงกรานต์ บินสบายๆ ออกจากดอนเมืองระยะทาง 1200 กิโลเมตร ไม่ทันได้งีบเพราะแค่ 2 ชั่วโมงก็เบนหัวลงแลนดิ้งสนามบิน KLIA2 ที่ห่างจากตัวเมืองกัวลาลัมเปอร์ 60 กิโลเมตร เสียเวลากับด่านตรวจคนเข้าเมืองร่วม45 นาที คิดถึงประเทศไทยทันทีเลย เราเจ๋งกว่าเยอะ การท่าอากาศยานมาเลเซียไม่มีการปรับเพิ่มเจ้าหน้าที่แต่ละช่วงเวลาให้สัมพันธ์กับจำนวนผู้โดยสารขาเข้าเลย พอเที่ยงครึ่งคุณบังดันหยุดพักอีก 2 คน จาก 8 เหลือ 6 คน รับมือกับแถวคนร่วม200 คน มิหนำซ้ำขณะยืนรอในแถว ฟังจากคนข้างหน้าไม่รู้จะซักถามอะไรกันหนักหนา ผ่านออกไปที่สายพาน ตัวเลขบนจอลบไฟลต์ที่บินมาไปซะแล้ว ต้องเดินหากระเป๋าให้วุ่นวาย จนไปเจอหมุนปะปนกับไฟลต์ที่เพิ่งแลนดิ้งถัดมา เฮ้อ… สบายๆ กลายเป็นหงุดหงิดนะนี่

ลากกระเป๋ามาขึ้นรถตู้เช่าที่จองมาจากกรุงเทพฯ (โดยเพื่อนนักธุรกิจที่หาดใหญ่จัดการให้ เพราะใช้ประจำ) พลขับเป็นชายสูงวัยเชื้อสายจีน ทะมัดทะแมง และสปีกอิงลิชได้คล่องปาก อาเฮียพาไปแวะเมืองเล็กๆ กินข้าวมื้อเที่ยงร้านอาหารจีนฮกเกี้ยนห้องแถวเล็กๆ ริมถนนย่านการค้า (ตามคำร้องขอต้องการกินอาหารของชาวบ้าน) มีคนจีนท้องถิ่นลักษณะคล้ายพ่อค้า พนักงานบริษัทนั่งกินเต็มร้าน รู้เลยอร่อยแหงๆ พูดอาซิ้มอาเฮียพ่นปะกิตไม่ถนัดนัก เลยต้องใช้มือสื่อสารพร้อมกับไปดูโต๊ะข้างๆ ออร์เดอร์จึงจบลงอย่างสมใจนึกด้วยต้มจืดสาหร่ายใส่ลูกชิ้นปลา ผัดปลาเต้าเจี้ยว ไก่ผัดผักซีอิ๊ว และของทอดกินเล่น (จานนี้จำไม่ได้) คูหาแคบๆ แต่จัดวางให้รับลูกค้าได้สัก 12 โต๊ะ นั่งเกือบเบียดตู้ใส่ชาม ตู้เย็นเหมือนร้านอาหารจีนตามต่างจังหวัดเมืองไทยเป๊ะเลยครับ  ฝีมือกุ๊กแต่ละจานทั้งทอด ต้ม ผัดอร่อยมากๆ จ่ายไป 116 ริงกิต (900 บาท) 6 คน และซื้อปาท่องโก๋ที่ยืนทอดกันหน้าร้าน 3 ตัว ราคา 1 ริงกิต ใส่ถุงกระดาษหนังสือวารสาร อื้อหือ!! วันนี้มาเจอแพ็กเกจจิ้งโบราณแถม อันตรายต่อสุขภาพสุดๆๆ ที่มาเลเซียได้ไงหนอ พระคุณเจ้า…

รถตู้วนกลับไปขึ้นทางด่วน จ่ายค่าด่านไป 18.50 ริงกิต ขับยาวขึ้นเหนือมุ่งตามป้ายอิโปห์ แต่จุดหมายเราคือคาเมรอนไฮแลนด์ คุณภาพผิวถนน เขตไหล่ทางและการเคารพกฏจราจร ส่วนใหญ่ถือว่าดีเยี่ยม แต่แปลกใจมากที่เห็นรถมอเตอร์ไซค์วิ่งบนทางด่วนกันเพียบเลย 4 ชั่วโมงเศษ มองริมถนนมีแต่สีเขียวของไร่สวนปาล์มน้ำมัน และก็มาจอดพักข้างทางที่น้ำตกขนาดเล็กย่อมๆ ก่อนเริ่มไต่ขึ้นเขาชันๆ ในช่วงสุดท้าย 50 กิโลเมตรเศษ ผ่าน Ringlet ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งของคาเมรอนไฮแลนด์ ซ้ายขวาเริ่มเป็นทุ่งไร่ชาเขียวพรืด อาคารโรงชาสวยเก๋ดูดีเหมือนชนบทอังกฤษ สลับกับแปลงสตรอเบอรี่ ฟาร์มผึ้ง ตามไหล่เขาเป็นหย่อมๆ สลับกับรีสอร์ต บ้านพักตากอากาศสไตล์ทิวดอร์ อิทธิพลสถาปัตยกรรมจากชนชาติอังกฤษยังหลงเหลือให้ดูสวยงาม นึกว่านั่งรถโฉบไปมาในยุโรป อีก 15 กิโลเมตรถัดมาก็เป็นชุมชนที่ปลูกตึกแถว โรงแรม อพาร์ตเมนต์กลางหุบเขาที่มีชื่อว่า Tana Ratah เมืองที่ จิม ทอมป์สัน* หายตัวไปอย่างลึกลับ เมื่อ 50 ปีก่อน และยังเป็นปริศนาต่อสังคม

ที่นี่อากาศหนาวเย็นทั้งปี ถูกใจคนไทยเพราะกลางวันจะไม่รู้สึกร้อนเลย แม้ในกลางเดือนเมษายนก็ตาม ไม่อึดอัด ไม่ค่อยมีเหงื่อ พอโพล้เพล้พลบค่ำแล้วสวมเสื้อแจ็กเก็ตตัวบางกำลังพอดีสำหรับเดินเตร่ออกไปดูร้านค้า ตลาดแล้วรองท้องคลายหนาวกับ steamboat หม้อไฟยอดนิยมของคาเมรอนไฮแลนด์ ขอขยายความว่าทำไมพื้นที่นี้จึงมีอากาศเย็นด้วยสภาพภูมิประเทศดังนี้

ที่ราบสูงคาเมรอนไฮแลนด์อยู่บริเวณทางปลายสุดฝั่งตะวันตกเฉียงเหนือของรัฐปาหัง ‘คาเมรอน’ มีระยะทางประมาณ 90 กิโลเมตรถ้ามาจากทางเมืองอิโปห์ หรือประมาณ 200 กิโลเมตรถ้ามาจากกัวลาลัมเปอร์ ที่นี่ถือว่าเป็นเขตเลือกตั้งที่เล็กที่สุดในรัฐปาหัง

ผู้ค้นพบที่ราบสูงคาเมรอน คือ เซอร์วิลเลียม คาเมรอน ในปี 1885 ที่ราบสูงคาเมรอน ประกอบด้วย 3 ตำบล คือ ริงเลต (5,165 เฮกเตอร์), ทานะ ราตะ (2,081 เฮกเตอร์) และอุรู เทลอม (63,981 เฮกเตอร์) ซึ่งแบ่งเป็นตำบลย่อยๆ อีก 8 ตำบล คือ ริงเลต, ทานะ ราตะ (ศูนย์กลางบริหารของเมือง), บรินชาง, หุบเขาเบอแท, ฟาร์มเกีย, ทริงแกป, กัวลา เทอรา และ กัมปุง ราจา

พื้นที่เหล่านี้มีความต่างของระดับความสูงแต่ละพื้นที่จาก 1,100 เมตร ถึง 1,600 เมตร เหนือระดับน้ำทะเล มีอุณหภูมิเฉลี่ยต่อปีที่เหมาะแก่การพักผ่อนประมาณ 18 องศาเซลเซียส ในระหว่างวันอุณหภูมิจะไม่สูงเกินกว่า 25 องศาเซลเซียส ส่วนในช่วงกลางคืนอุณหภูมิไม่ต่ำไปกว่า 9 องศาเซลเซียส

รุ่งเช้าตื่นตั้งแต่ไก่มาเลเซียขัน ก่อน 6 โมงเช้าเพราะนอนเปิดหน้าต่างรับไอหนาวแถมดวงตะวันขึ้นเร็ว ออกเดินมอร์นิงวอล์กยืดเส้นยืดสายไปพลาซ่าใกล้ๆ ที่พัก ร้านกาแฟสดยังไม่เปิด เจอแผงร้านข้าวแกงมีรถยนต์ มอเตอร์ไซค์มาจอดแวะซื้อเทกโฮมกันตลอดเวลา แต่ไม่มีใครนั่งกินที่ร้านเลย ลองชะโงกหน้าเข้าไปดูตู้วางถาดของผัด ถาดของทอดและหม้อต้มหม้อแกง เห็นแม่ค้าสวมฮิญาบคลุมศีรษะ ก็แกงแขก น้ำพริกแกงสีเหลือง สีแดงเหมือนของเรานั่นแหละ มีไข่ดาว ไก่ทอดเป็นเครื่องเคียงด้วย มองแล้วอร่อยกว่ากินแซนด์วิช เบอร์เกอร์แน่นอนร้อยเปอร์เซ็นต์ครับ จะเดินหาหมี่แกง บักกุ๊ดเต๋ Nasi Lemak เช้านี้ฝันหวานเถอะ รีบตัดสินใจสั่งคุณน้า

ตักข้าวสวยร้อนๆ ราดแกงอะไรก็ไม่รู้ ท็อปปิ้งด้วยไก่ทอดชิ้นโต เหมือนของร้านเดชาหาดใหญ่อย่างไรอย่างงั้นครับ ดูหน้าตาเข้าท่า พอตักคำแรก… อร่อยครับ ไม่เผ็ดไม่หวาน เค็มกับมัน พอได้ๆ หมดเกลี้ยงจาน ข้ามไปจิบกาแฟสดแล้วขึ้นรถตู้ไปตามโปรแกรมรอบคาเมรอนไฮแลนด์ที่ต้องครบทุกจุดในวันเดย์ทริป

นั่งรถตะลอนหาสวนดอกไม้ที่เราชอบ (ควรหมายตาไว้ก่อนจากไกด์บุ๊ก) อารมณ์มันจะคล้ายๆ แถวเวิ้งในแม่ริม ออกไปทางสะเมิง จังหวัดเชียงใหม่ มีป้ายโฆษณาสวน ไร่ปักริมทาง ละลานตาเต็มไปหมด ถนนคดเคี้ยวไปตามไหล่เขา ผิวทางไม่กว้าง ไหล่ทางมีบ้างไม่มีบ้าง รถจอดกันระเกะระกะ ไม่ค่อยเป็นระเบียบ บางช่วงเจอรถบัสจอด รถถอยเข้าถอยออกจากทางแยกหรือลานจอดรถ ทำเอารถติดยาวเป็นร้อยเมตรก็มี แนะนำต้องจอดไร่ชาสัก 1 แห่ง ลงเดินไปดูในแปลง สัมผัสใบสัมผัสกลิ่นแล้วถ่ายรูปกลางทุ่ง ขึ้นมานั่งจิบชาร้อนกับสโคนชิลชิล ควรแวะไปสวนลาเวนเดอร์ เก็บภาพแบ็กกราวนด์สีม่วงสด ประทับใจน้องๆ ฮอกไกโด หรือโปรวองซ์ได้บ้างน่า ถ้ายังมีแรงก็ต่อด้วยฟาร์มผึ้ง ฟาร์มผีเสื้อ แห่งละ 30-40 นาทีก็ได้ความรู้ติดตัว หากไปตรงกับฤดูกาลที่ผลสตรอเบอรีสุก ก็ซื้อสดๆ จากแปลงปลูกใส่ปากชิมกันเลย วันนั้นเข้าไปดูสวนดอกไม้ที่มีอาคารไม้ทรงอังกฤษหลายแห่ง ตื่นตาตื่นใจจนลืมดูเวลา ถ้าไม่ได้เบรกมื้อเที่ยงกับหม้อไฟพันธุ์มาเลเซีย ที่เรียกว่า steamboat เมนูยอดนิยมแม่เหล็กดึงดูดนักท่องเที่ยวมาเที่ยวคาเมรอนไฮแลนด์ ก็คงไม่รู้เช้ารู้บ่าย เพราะตั้งแต่เช้า 18 องศา จนบ่ายก็ไม่เกิน 24 องศา แม้มีแสงแดดก็ตามแต่รู้สึกเย็นสบายตัว เดินเที่ยวได้ตลอดทั้งวัน อย่าลืมปิดท้ายไปที่ Botanic Garden ก็สวนพฤกษศาสตร์ ที่ใช้บริเวณที่ทำการเดิมของราชการ อาคารเก่าผนวกกับการตกแต่งจัดสวน เลยดูเป็นสวนผู้ดีอังกฤษจ๋าเลย มีมุมแจ่มๆ ให้เช็กอิน ได้ถ่ายรูปมากมายหลายจุด ทั้งด้านหน้าอาคาร สะพานไม้ ซุ้มต้นไม้ สระน้ำเพลินไปจนเกือบมืดค่ำ 1 วันเต็มสำหรับคาเมรอนไฮแลนด์สามารถทำได้สบายๆ

ขอกลับมาคุ้ยเเตะ steamboat ของเค้า ก็คือหม้อไฟซุปน้ำใสใส่ได้ทั้งกุ้ง หอย ปู ปลา ไก่ แล้วแต่เราเลือก ใส่เต้าหู้ ไข่ วุ้นเส้น ผักสดใบสีเขียว ฟักทอง แครอต ลงไปลวกแล้วจิ้มกิน เกือบเป็นสุกี้ แต่ไม่ใช่ ไม่เป็นชาบูและจิ้มจุ่ม เพราะรสชาติออกจืดๆ เค็มๆ เป็นหลัก ไม่แซ่บไม่ร้อนแรงทั้งกลิ่นและรส ใครชอบเผ็ด ชอบหวาน ชอบเปรี้ยว ชอบกระเทียม ก็ตักเติมพริกตำ มะนาว กระเทียมสับเพิ่มผสมเองในถ้วยตักแบ่งของเรา ลองตักควานหาในหม้อไฟ ก็ไม่เจอตะไคร้ ใบมะกรูด พริก น้ำซุปก็น่าเติมแต่ซีอิ๊วขาว รสจึงไม่เข้มข้นอย่างต้มยำของเรา พบร้านบางแห่ง ขึ้นป้าย ‘Tom Yum Koong’ บางวันไปนั่งใกล้ติดโต๊ะคนมาเลเซีย หลายโต๊ะเขาก็สั่งต้มยำกุ้ง ไม่สั่งหม้อไฟ ดูการตักกินแล้วน่าอร่อยไปด้วย ทำเอาเรากระหยิ่มยิ้มย่อง ภาคภูมิใจไปกับของดีบ้านเรา หากลงลึกไปในรสชาติ และส่วนประกอบในต้มยำกับ steamboat เขาแพ้น็อกเราหลุดหลุ่ย ห่างกันหลายขุม

อาหารประจำชาติที่นี่หลายจาน เรามองแล้วกินแล้วก็แยกไม่ออกว่าเป็นจีน เป็นแขก หรือสัญชาติอะไร ไม่ว่าจะก๋วยเตี๋ยวผัด (Char kway teow) สะเต๊ะ (Stay) หมี่แกง (Curry Mee) บักกุ๊ดเต๋ (Bakuteh) ข้าวหุงกะทิราดแกง (Nasi Lemak) รสชาติจะไม่ถูกปากคนไทย บางจานเป็นอาหารจีนแต่ไม่เหมือนที่เรากินกัน พ่อครัวแม่ครัวบ้านเรารู้จักดัดแปลงใช้เครื่องเทศ ใส่พืชสมุนไพร ซึ่งปลูกกันแพร่หลายในทุกประเทศแถบอาเซียนนี้ แล้วแต่ประเทศไหนจะนิยมกินกันหรือไม่ เราเลยเคลมว่านี่คือ Thai spicy herb จริงๆ มันก็จำพวกกระเทียม ต้นหอม หอมแดง พริกขี้หนู พริกชี้ฟ้า พริกไทย เม็ดผักชี ยี่หร่า กระวาน ใบโหระพา ใบกะเพรา อะไรต่อมิอะไรเหล่านี้ ที่ทำให้อาหารไทยแท้มีกลิ่นหอมรสจัดเฉพาะตัว เพียงพอที่จะทำให้คนต่างชาติจดจำได้ทุกครั้ง น้อยคนนักจะรู้สึกเหม็น เผ็ดร้อน เกลียดหรือไม่ชอบไปเลย

ส่วนตัวขอแนะนำ ใครยังไม่เคยไปเที่ยวมาเลเซีย ไม่ต้องเที่ยวเมืองหลวง กัวลาลัมเปอร์ ดูไม่มีอะไรน่าสนใจมาก แค่ลงเครื่องบิน ผ่านไปเริ่มต้นที่คาเมรอนไฮแลนด์ ที่นั่นไม่ใช่บ่อนบนเขาอย่างเกนติ้งไฮแลนด์ หากจัดเวลาได้สัก 4-5 วัน ก็ไปเที่ยวมะละกาต่อเลยเพราะเป็นเมืองเก่าที่สวยงามมาก มีอดีตที่ยิ่งใหญ่ระดับโลก มีมนต์ขลังจนถึงปัจจุบันนี้  แค่เห็นนักท่องเที่ยวมากมายจากทั่วโลกเดินไขว่ทั้งเมือง ก็ยิ่งอยากค้นหาเรื่องราวของมะละกา ติดตามอ่านกันต่อนะครับ เดือนหน้าจะพาไปวอล์กกิ้งทัวร์ที่มะละกา แบบเจาะลึก 2 เดย์ 2 ไนต์ ฟูลเวอร์ชันฉบับเต็มกันครับ

 

*จิม ทอมป์สัน หรือชื่อเต็ม เจมส์ แฮร์ริสัน วิลสัน ทอมป์สัน (James Harrison Wilson Thompson; 21 มีนาคม ค.ศ. 1906-1967) เป็นนักธุรกิจชาวอเมริกันที่มีชื่อเสียงจากการทำธุรกิจผ้าไหมในประเทศไทย และก่อตั้งบริษัทซึ่งมีชื่อเดียวกับเขาเองขึ้นเพื่อรองรับกิจการค้าผ้าไหมดังกล่าว เขาหายตัวไปจากโรงแรมบนคาเมรอนไฮแลนด์ รัฐอิโปห์ ประเทศมาเลเซีย โดยไม่มีใครทราบเหตุการณ์ที่แน่ชัดว่าเกิดอะไรขึ้นกับเขา (ที่มา: วิกีพีเดีย)

 

Don`t copy text!