‘ดวงใจระบายสี’ การเดินทางและงานศิลปะ ของ ‘ปิยะพร ศักดิ์เกษม’  ผ่านเรื่องราวการเติบโตของสาวน้อยโลกสวยสู่ผู้หญิงที่แกร่งจนกล้าลงมือวาดชีวิตด้วยมือตัวเอง

‘ดวงใจระบายสี’ การเดินทางและงานศิลปะ ของ ‘ปิยะพร ศักดิ์เกษม’ ผ่านเรื่องราวการเติบโตของสาวน้อยโลกสวยสู่ผู้หญิงที่แกร่งจนกล้าลงมือวาดชีวิตด้วยมือตัวเอง

โดย : กิ่งสุรางค์ อนุภาษ

Loading

FC ตัวจริงของเว็บไซต์อ่านเอาคงจำได้ดีว่า นิยายเรื่อง ‘ดวงใจระบายสี’ ของ ‘ปิยะพร ศักดิ์เกษม’ คือนิยายที่เขียนขึ้นพร้อมกับการก่อตั้งเว็บไซต์แห่งนี้

ดวงใจระบายสี คือนิยายที่การนำความชื่นชอบในเรื่องการเดินทางและงานศิลปะของนักเขียนมาถ่ายทอดในเรื่องราวความรักของสาวน้อยนามใจสกาวที่ได้รับการถนอมกล่อมเกลี้ยงเลี้ยงดูจากครอบครัวเป็นอย่างดีจนเธอไม่มีมุมมองแง่ลบกับเรื่องใดในชีวิต กระทั่งพบการทรยศหักหลังจากคนที่คิดว่าตัวเองรักจนได้มีโอกาสได้พบรักที่แท้จริง

ระหว่างการเดินทางในชีวิตของนางเอก ปิยะพร ศักดิ์เกษม ได้สอดแทรก แนวคิด เรื่องราวต่างๆ ที่เธอชื่นชอบเอาไว้อย่างแนบเนียน ทำเอาเราอยากจะซื้อตั๋วเครื่องบินเดินทางไปฝรั่งเศสเพื่อชมสถานที่ต่างๆ ที่นักเขียนบรรยายไว้ ไม่ว่าจะเป็นพิพิธภัณฑ์ ORANGERIE ในปารีส บ้านของโคลด โมนต์ ที่จิแวร์นี ที่พักสุดท้ายของ วินเซนต์ แวนโก๊ะ ที่โอแวร์ซูรัวส์ นี่ยังไม่รวมถึงผลงานที่น่าสนใจของอองรี เดอ ตูลูส-โลแทร็ก ซึ่งอยู่ที่ THE MET สหรัฐอเมริกาอีกด้วย

ในโอกาสที่ ดวงใจระบายสี ได้นำกลับมาพิมพ์ใหม่ เราเลยชวนพี่เอียดให้เล่าถึงผลงานชิ้นนี้ของเธอ พร้อมกับแอบบอกข่าวดีอีกนิดว่า อีกไม่กี่อึดใจ ปิยะพร ศักดิ์เกษม จะเริ่มเขียนนิยายเรื่องใหม่แล้วค่ะ

ถ่ายทอดผลงานผ่านความรัก

ดวงใจระบายสี มาจากตอนที่ทำเว็บไซต์อ่านเอาและพยายามจะหานิยายเรื่องแรกเพื่อนำไปลงในเว็บฯ ซึ่งเป็นวิธีการเผยแพร่แบบใหม่ ก็พยายามหาเรื่องที่ไม่หนัก ไม่เบาจนเกินไป คิดว่าจะได้เสพกันไม่ยากไม่ง่าย เพราะรูปแบบการอ่านเปลี่ยนไปด้วย ซึ่งตัวเองเป็นคนที่ชอบทั้งการเดินทางท่องเที่ยวและงานศิลปะ เลยนำสองอย่างนี้เข้ามาแชร์ในนิยายรัก คิดว่าเป็นงานชิ้นแรกเลยนำเสนอในสิ่งที่ชอบให้กับผู้อ่าน

“นอกจากจะใส่สิ่งที่รักทั้งสองอย่างในเรื่องนี้ คิดว่าคนอ่านน่าจะได้เพลิดเพลินไปกับภาพเขียน งานศิลป์ ฉากสวยๆ และเปิดโลกกว้างไปกับการเดินทาง รวมถึงสนุกไปกับการเติบโตของนางเอก ซึ่งเมืองต่างๆ ในเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นนิวยอร์ก ปารีส จิแวร์นี และโอแวร์ซูรัวส์ ล้วนเป็นเมืองที่ตัวเองชื่นชอบ อย่างนิวยอร์กได้มีโอกาสไปมาอยู่หลายครั้ง เพราะมีหลานเรียนอยู่รวมถึงในช่วงที่สามีทำงานก็ได้ไปทำงานใกล้ๆ ตรงนั้นเลยมีโอกาสได้ไปเที่ยว ค่อนข้างคุ้น ที่ชอบเพราะเมื่อทศวรรษก่อนนิวยอร์กเป็นเมืองที่สนุก ปารีสก็ชอบมากไปมาหลายครั้ง ได้ไปเดินดูศิลปะ ดูงานเขียนที่หมายถึงรูปวาด เดินพิพิธภัณฑ์ อีกสองที่คือจิแวร์นี และโอแวร์ซูรัวส์ ก็เป็นเมืองที่ประทับใจเช่นกัน เพราะเป็นเมืองที่เป็นบ้านของโคลด โมเนต์ และวินเซนต์ แวนโก๊ะ ซึ่งเป็นศิลปินคนโปรด ทั้งสองคนเป็นศิลปินในยุคใกล้เคียงกัน โมเนต์เป็นรุ่นพี่ของแวนโก๊ะ เขาเป็นศิลปินที่ก่อตั้งการวาดภาพในแบบอิมเพรสชันนิสม์ ส่วนแวนโก๊ะถือว่าเป็นโพสต์อิมเพรสชันนิสม์เพราะอ่อนกว่าโมเนต์ งานของทั้งคู่ วิถีชีวิต วิธีการคิดก็แตกต่างกัน เรียกว่านอกจากจะชอบงานแล้ว ยังชอบตัวตนของเขาด้วย เลยอยากเล่าโดยที่นำมาแทรกในนิยายให้อ่านไม่ยาก ไม่เป็นสารคดีและให้คนอ่านได้เห็นภาพด้วยค่ะ”

สีแดง สีเหลือง สีน้ำเงิน

ในนิยายเรื่องนี้ นักเขียนได้แบ่งพาร์ตใหญ่อยู่ 3 พาร์ต ได้แก่ สีแดง สีเหลือง สีน้ำเงิน ซึ่งพี่เอียดให้เหตุผลว่า

“ตามทฤษฎีสีที่เราเรียนกันมา คือมีแม่สีสามสี ได้แก่แดง เหลือง น้ำเงิน ที่เรียกว่าเป็นแม่สีของช่างเขียน แต่ยังมีแม่สีอีกชุดหนึ่งที่เรียกว่าแม่สีของแสง ที่จะเป็นวิธีการผสมอีกแบบหนึ่ง แต่ในเรื่องนี้พูดถึงงานจิตรกรรมเลยใช้แม่สีของช่างเขียน

“เวลาที่จัดวางโครงเรื่องก็มองว่า สีแดงให้ความรู้สึกร้อนแรง รุนแรง จึงนำไปไว้ตอนเริ่มเรื่องเพราะว่ามีเรื่องราวที่แรง เป็นการทรยศ หักหลัง ความหลอกลวง ตัณหา ซึ่งเหมาะกับสีแดง และใช้นิวยอร์กซึ่งเป็นเมืองที่เหมาะกับสีแดงที่สุด เพราะเป็นเมืองที่สนุกสนาน เต็มไปด้วยความหลากหลาย แต่ก็แฝงไว้ด้วยความอันตราย พาร์ตแรกของเรื่องจึงเริ่มที่นิวยอร์ก พอถัดมาเป็นสีเหลืองซึ่งวางไว้ตรงกลางเรื่องเพราะว่าช่วงกลางเรื่องเป็นตอนที่นางเอกไปเรียนงานศิลปะ แล้วได้ไปวาดรูปที่บ้านของโมเนต์

“บ้านของโมเนต์เป็นบ้านที่มีต้นไม้ ดอกไม้เยอะมาก แล้วเป็นดอกไม้สวยๆ ทั้งนั้น ดูสดใส และสีเหลืองก็เป็นสัญลักษณ์ของความสดใส ความสว่าง ความไร้เดียงสา ความเยาว์วัย ซึ่งตอนนี้นางเอกก็มีคริสเข้ามาพัวพัน เขาเป็นเด็กหนุ่มที่ยังสดใส เลยให้เขามีผมสีทองไปด้วยเลยจะได้เข้ากับสีเหลืองที่จัดไว้ (หัวเราะ) ชีวิตจะเบิกบาน ฉากจะเป็นที่จิแวร์นี ถัดมาคือแม่สีที่สาม สีน้ำเงิน สีนี้เป็นสีที่สงบ หนัก หม่น ไม่ว่าจะนำไปผสมใส่กับสีอะไรก็ตาม เช่น ถ้าเราใช้สีเขียวอยู่ แล้วเติมสีน้ำเงินหนักมือนิดนึง สีเขียวนั้นจะกลายเป็นสีเขียวที่หม่นคล้ำทันที ชีวิตช่วงนี้ของนางเอกจึงเป็นชีวิตที่สงบลงแล้ว และเป็นผู้ใหญ่ขึ้น เริ่มที่จะพบรักแท้ ได้รู้รสแล้วว่าความรักและความผิดหวังในความรักนั้นเป็นอย่างไร ตอนต้นเรื่องสถานการณ์ที่นางเอกเจอยังไม่ใช่ความทุกข์จากความรัก เลยนำมาไว้ตอนช่วงท้ายและเหมาะสมกับสถานที่ที่จะใช้ด้วยพอดีนั่นก็คือโอแวร์ซูรัวส์ ซึ่งเป็นที่อยู่อาศัยสุดท้ายของแวนโก๊ะ

“ทั้งสามช่วงของเรื่องจะใช้สัญลักษณ์แทนสีได้หมดเลย เมืองเช่นนิวยอร์กก็จะสอดคล้องกับสีและช่วงเวลาของชีวิตของนางเอกในช่วงนั้น สีเหลืองซึ่งเป็นที่จิแวร์นีก็จะเป็นช่วงที่นางเอกได้เรียนในสิ่งที่ตัวเองรัก ได้มีเด็กหนุ่มที่อายุน้อยกว่ามาหลงรัก ขณะที่สีน้ำเงินคือช่วงเวลาที่ได้ลิ้มรสความทุกข์จากความรัก ช่วงนี้นางเอกจะนิ่งขึ้น เริ่มเข้าใจชีวิต เข้าใจตัวเอง เติบโตมากยิ่งขึ้น แล้วส่วนในช่วงสุดท้ายคือนำสีทั้งสามมาผสมกันจนกลายเป็นภาพจิตรกรรมขึ้นมา นางเอกก็เติบโตเต็มที่ และถึงแม้ภายนอกจะดูอ่อนโยน อ่อนหวาน แต่ความจริงแล้วเธอเป็นเด็กที่กล้ามาก กล้าถึงขนาดที่วาดชีวิตของตัวเอง รู้ว่าตัวเองต้องการอะไร อยากได้อะไร และมุ่งหน้าไปทำสิ่งนั้น”

Love is All Around

“พี่อยากเล่าเรื่องชีวิตของผู้หญิงคนหนึ่งว่าเกิดและเติบโตมาอย่างไร มีเหตุผลอะไรที่ทำให้กลายเป็นเด็กแบบนี้ เขาเติบโตลักษณะไหน เติบโตได้เพราะอะไร อยากจะบอกว่าคนเราเปลี่ยนแปลงทุกเวลา อาจทำผิดพลาดบ้าง แต่ถ้าหากมีผู้ที่รักและให้อภัยคอยสนับสนุนอยู่รอบๆ ทำการสิ่งใดก็สำเร็จ เหมือนกับนางเอก ถ้าหากเป็นคนที่จิตใจดี มีความปรารถนาดีกับผู้อื่น มีความรักให้ผู้อื่นอยู่เสมอ ก็จะมีแต่คนดีๆ มาห้อมล้อม ไม่ว่าตัวเองจะเปลี่ยนแปลงไปยังไงก็จะมีโอกาสเสมอ แต่ถ้าหากเป็นคนที่จิตใจไม่ดี เมื่อได้โอกาสดีๆ แล้วก็กลับคว้าสิ่งดีๆ นั้นไม่ได้ เหมือนอย่างณัฐพร ซึ่งเขาได้โอกาสครั้งที่สองในชีวิตที่ดีมาก แต่เขาก็ไม่ใช่คนที่มีจิตใจใสสะอาด จึงไม่สามารถคว้าสิ่งนั้นเอาไว้ได้”

เล่ายังไงไม่ให้เป็นสารคดี

ในเรื่องนี้นอกจากจะเล่าถึงชีวิตรักและการเติบโตของนางเอกแล้ว ยังสอดแทรกไปด้วยประวัติชีวิตของศิลปินดังระดับโลกด้วย ซึ่งต้องบอกว่าพี่เอียดถ่ายทอดออกมาได้อย่างละเมียดละไมและลงตัว ซึ่งศิลปินแห่งชาติสาขาวรรณศิลป์ได้เล่าถึงวิธีการถ่ายทอดว่า

“มันไม่สามารถอธิบายเป็นหลักเป็นข้อหรอกค่ะ แต่เวลาที่เขียนจะคิดอยู่เสมอว่านี่คนกำลังอ่านนิยายนะ อย่าใส่ข้อมูลให้มากเกินไป ถ้าหากมีข้อมูลที่เราอยากจะใส่ อยากจะเล่าจริงๆ ก็ย่อยมันซะ ถ้าข้อมูลนั้นเป็นก้อนก็พยายามทำให้มันนิ่มลง บดให้ชิ้นเล็กลง แล้วสอดแทรกเข้าไป ถ้าหากว่าเราสอดแทรกเข้าไปให้คนอ่านอ่านได้ง่ายๆ ก็จะไม่น่าเบื่อ อ่านไม่ยาก เรามุ่งมั่นจะให้ความรู้ จะสอดแทรกสิ่งเหล่านี้ แต่ในขณะเดียวกันจุดหมายปลายทางของเราก็คือให้ความบันเทิงกับคนอ่านด้วย

“ในเรื่องนี้เป็นการเล่าเรื่องการเติบโตของผู้หญิงคนหนึ่ง แต่สิ่งที่ต้องการจะบอกก็คือในชีวิตของคนเรา การเติบโตของแต่ละคนจะมีเรื่องหลายอย่างเข้ามาในชีวิต มีผู้คนหลายคนเข้ามาในชีวิต ตัวเราเองจะต้องมีหน้าที่คอยปาด เกลี่ย ตกแต่งเหมือนกับการวาดรูป ให้สี แสงเงานั้นกลมกลืนกัน ซึ่งถ้าหากคนที่มีจิตใจดี มุ่งมั่นที่จะสร้างความสุขให้กับผู้อื่น โดยที่ไม่เบียดเบียนตัวเอง ก็จะทำให้ภาพที่ออกมาสวยงาม แต่ในขณะเดียวกัน ถ้าหากว่ามีความทุกข์เข้ามาในชีวิตก็จะกลายเป็นบทเรียนที่เราต้องเก็บทุกอย่างทั้งสุขและทุกข์เอาไว้ในชีวิตเรา แล้วก็นำสิ่งเหล่านั้นประกอบให้เป็นชีวิตของเรา ทำให้ชีวิตของเราเป็นภาพที่สวยงามภาพหนึ่งให้ได้

“ในการถ่ายทอดเราก็แค่ค่อยๆ เขียน ค่อยๆ เกลี่ยให้สวยงาม อ่านง่าย ในขณะเดียวกันก็ให้แง่คิดกับผู้อ่านด้วยค่ะ”

ชอบสตอรี่ชีวิตและผลงาน

เคยมีคนตั้งคำถามกับพี่เอียดว่า สำหรับแวนโก๊ะแล้ว พี่เอียดชื่นชอบอะไรกันแน่

“พี่ไม่ได้ชอบตัวตนเขา แต่ชอบสตอรี่ในชีวิตของเขาค่ะ มันเหมือนนิยายเรื่องหนึ่ง เป็นนิยายที่สนุกมากด้วย ส่วนในงาน คนที่ไม่ได้ดูงานแนวอิมเพรสชันนิสม์ก็จะมองดูว่างานของเขาเป็นเหมือนภาพวาดหยาบๆ ซึ่งจริงๆ แล้วเขาวาดภาพเร็วมากนะ ถ้าเฉลี่ยจากงานของแวนโก๊ะ วันหนึ่งสามารถวาดได้ถึงสามภาพ คนที่ไม่ได้รู้จักงานเขียนของแวนโก๊ะจะมองว่าภาพแบบนี้ฉันก็ระบายได้ แบบนี้ไม่ได้ใช้ฝีมืออะไรมาก แต่จริงๆ แล้ว ภาพเขียนของเขาเป็นภาพที่ถ่ายทอดอารมณ์ คือแวนโก๊ะเป็นคนอารมณ์แรง รูปที่จะเห็นได้ชัดเจนสำหรับนักอ่านที่ไม่ได้เป็นนักเรียนศิลปะ หรือว่าคุ้นเคยกับภาพเขียนมาก่อน น่าจะเป็นภาพ ‘Starry Night’ ซึ่งเป็นรูปท้องฟ้า มีดาว มีโบสถ์หลังคาแหลมสูง ภาพนั้นจะแสดงให้เห็นถึงความหมุนวน ความคลุ้มคลั่งที่ติดอยู่ภายในใจของเขามากที่สุด ดาวแต่ละดวงจะมีรัศมีที่หมุนวนแบบกังหัน ซึ่งพี่ว่างานของแวนโก๊ะเป็นงานที่ถ่ายทอดอารมณ์ในขณะที่วาดภาพนั้น ส่วนสตอรี่ในชีวิตของเขาที่ว่าเหมือนนิยาย เพราะชีวิตของเขาเหมือนแร้นแค้น แต่ว่าก็มีน้องที่ดี ตัวเองนี่แทบจะไม่ได้เงินจากการวาดภาพเลยนะ เพราะว่าขายไม่ออก แต่คนที่ได้รับมรดกจากเขาคือหลานชายและน้องสะใภ้ขายงานของเขาได้เป็นพันล้าน แต่คิดว่าน้องสะใภ้ก็ทำงานด้วย เพราะว่าได้เก็บจดหมายของแวนโก๊ะกับธีโอน้องชายของแวนโก๊ะเอาไว้มาทำเป็นเล่มแล้วก็แปล เท่ากับว่าเป็นการสร้างสตอรี่สร้างมูลค่าเพิ่มให้กับงานเขียนของแวนโก๊ะ

“ทั้งอองรี เอ ตูลูส-โลแทร็ก, โคลด โมเนต์ หรือวินเซนต์ แวนโก๊ะ เป็นศิลปินที่ชอบทั้งหมดค่ะ อย่างโมเนต์ นี่ยังชอบในความมั่นหน้าของเขาด้วย (หัวเราะ) ใครจะว่ายังไงก็ไม่สน จะทำอย่างนี้ ใครจะมาวิพากษ์วิจารณ์ก็ไม่สน ฉันจะเขียนของฉันแบบนี้ และลูกหลานเต็มบ้านเลยค่ะ”

ไม่ได้เขียนแค่จากความทรงจำ

ถึงแม้ในเรื่องนี้เหมือนเป็นการหยิบเรื่องที่พี่เอียดมีข้อมูลอยู่แล้วหลายเรื่องมาเล่าก็จริง แต่เมื่อเตรียมลงมือเขียนก็ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องหาข้อมูลเพิ่ม

“อย่างตอนที่นางเอกต้องเดินทางจากปารีสไปโคโลญ ก็ต้องเช็กช่วงเวลาแล้วว่า ออกจากบ้านนี้ตอนกี่โมง ต้องใช้รถไฟเที่ยวไหน ยังไงก็ต้องเช็กรายละเอียดว่าเวลาสอดคล้องไหม เที่ยวการเดินทางถี่พอที่นางเอกจะไปจับรถไฟจริงหรือเปล่า ต้องค้นรายละเอียดเพิ่มเติม ทุกช่วงเวลา ตลอดเวลา ไม่ใช่ใช้แค่ความทรงจำอย่างเดียว ต้องค้นลงไปว่ามันเป็นไปได้ไหม ถูกต้องไหม”

พบกับผลงานใหม่อีกไม่นานเกินรอ

สำหรับหลายคนที่กำลังรอคอยผลงานเรื่องไหมของปิยะพร ศักดิ์เกษม อยู่ ตอนนี้มีความคืบหน้ามาแจ้งแล้วค่ะว่าอีกไม่นานเท่าไหร่เราจะได้เห็นผลงานชิ้นใหม่ของนักเขียนท่านนี้แน่ๆ

“แต่ตอนนี้แอบทำคอลัมน์อยู่คอลัมน์หนึ่ง เกี่ยวกับหนังและซีรีส์ที่ดู จะเลือกเรื่องที่ชอบมาทำสัก ๑๐-๑๒ เรื่องนำมาลงที่อ่านเอา เสร็จแล้วถึงจะเขียนนิยายต่อ ตอนนี้มีพล็อต มีทางเดิน มีตัวละครแล้วค่ะ แต่ชื่อนางเอกยังไม่ลงตัว แต่ต้องใช้สมาธิมากหน่อย การเขียนนิยายเป็นงานชิ้นยาว ขณะที่การเขียนคอลัมน์เป็นงานเขียนชิ้นสั้นๆ จึงค่อยๆ เขียนได้ แล้วก็ยังอยากจะเขียนคอลัมน์ที่สอนเรื่องการเขียนนิยาย เพิ่มอีกสักชุด เพราะไม่ได้เพิ่มเติมมานานแล้ว ตั้งใจว่าจะเขียนอีกสัก ๔-๕ ชิ้น แล้วก็ใส่เข้าไปด้วยค่ะ”

‘นิยาย’ เนเวอร์ดาย

ในสถานการณ์ที่ตอนนี้หลายคนหวั่นใจว่าจะมีคนอ่านนิยายไทยน้อยลงนั้น ในมุมมองของพี่เอียดก็มีความคิดเห็นไว้อย่างน่าสนใจ

“ตอนนี้อินเทอร์เน็ตก็เป็นส่วนหนึ่ง คนไปอ่านอีบุ๊กกันด้วย ส่วนคนที่อ่านนิยายจริงจังส่วนมากจะเป็นคนรุ่นเก่า ที่ตอนนี้ก็สายตาไม่ดี ไม่รู้จะไปซื้ออ่านที่ไหน ตามเทคโนโลยีไม่ทัน แต่ก็คงจะยังอยู่ได้ เพราะอย่างไรการอ่านก็เป็นการผ่อนคลาย เป็นกิจกรรมอย่างหนึ่งที่มนุษย์ยังทำกันอยู่ คือน้อยลงแต่ไม่หมดไปแค่เปลี่ยนรูปแบบไปเรื่อยๆ นิยายจึงสามารถดำรงคงอยู่ได้

“พี่อยู่ในวงการการเขียนมานานมาก เห็นการเปลี่ยนแปลงของนิยายกับธุรกิจมาเยอะ มีอยู่ช่วงหนึ่งที่หนังสือฮาวทูจะขายดีมาก เต็มแผง นิยายต้องไปซุกอยู่ชั้นล่าง อีกช่วงหนึ่งจะมีเรื่องสืบสวนจากศพก็จะเต็มแผง นิยายธรรมดาจะไปอยู่ในชั้นหลังๆ แต่เคยมีคนบอกว่ายังไงนิยายก็ไม่ตาย แล้วเดี๋ยวก็วนกลับมา ไม่ว่าจะเป็นคนรุ่นใหม่ หรือรุ่นเก่า พอเราอ่านเต็มอิ่มก็จะซาลงไป แล้วไปเสพสิ่งอื่น แล้วพออิ่มตัวก็จะวกกลับมาอ่าน เป็นวงจรแบบนี้ แต่ช่วงนี้อาจเป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่าน เป็นช่วงของการอ่านนิยายอิ่มตัวพอดีค่ะ”

ฝากผลงานเรื่อง ‘ดวงใจระบายสี’

“อยากให้คนที่ยังไม่เคยอ่านลองอ่านดู อยากให้สนุก เพลิดเพลิน นอกจากจะใส่สิ่งที่พี่ชอบและคิดว่าคนทั่วไปอ่านแล้วน่าจะชอบ นั่นคือเรื่องการเดินทางและงานศิลปะ เนื้อเรื่องก็สนุกสนาน มีคุณค่า ให้แง่คิดกับชีวิตมากทีเดียว โดยที่ไม่รู้สึกว่าเป็นการถูกสั่งสอน พี่พยายามบดและผสมทุกอย่างลงไปให้มีรสชาติและอ่านง่าย ลองจับขึ้นมาอ่านดู แล้วถ้าชอบเรื่องนี้ ผลงานเก่าๆ ของ ปิยะพร ศักดิ์เกษม ที่รีพรินต์โดย สำนักพิมพ์กรู๊ฟ พับลิชชิ่ง ก็มีอีกหลายเล่ม ก็จะได้ติดตามอ่านและเป็นแฟนกันต่อไปค่ะ”

Don`t copy text!