สัมพันธ์ สุวรรณเลิศ “การเขียน ก่อนย่ำสนธยา ทำให้ผมตระหนักถึงลายเซ็นและความถนัดของตัวเองมากขึ้น”
โดย : กิ่งสุรางค์ อนุภาษ
นวนิยายเรื่อง ก่อนย่ำสนธยา ที่เพิ่งจบลงไปนั้น เรียกได้ว่าเป็นอีกผลงานของอาจารย์นก-สัมพันธ์ สุวรรณเลิศ ที่ออกจะท้าทายความเป็นตัวเขาอยู่มาก แรกเริ่มเดิมทีผลงานเรื่องนี้ได้ถูกวางไว้ให้เล่าออกมาในแนวฟีลกู๊ด แต่เมื่อลงมือเขียนไปเรื่อยๆ อาจารย์นกก็พบว่าตัวเองน่าจะเล่าเรื่องทางดรามาได้ดีกว่า แน่นอนว่าเขาไม่ได้ฝืนสไตล์ของตัวเอง แต่กลับปรับเปลี่ยนมาเดินเรื่องในแบบที่ตัวเองคุ้นเคยจนทำให้กลายมาเป็นผลงานชิ้นที่สองได้ในที่สุด
“แรกเริ่มเดิมที เรื่องที่ส่งเข้าร่วมโครงการช่องวันอ่านเอา ปี ๔ นั้นไม่ใช่เรื่อง ก่อนย่ำสนธยา ครับ” นักเขียนที่ปัจจุบันดำรงอาจารย์ประจำหลักสูตรสาขาวิชาภาษาไทยและการสื่อสาร ภาควิชาภาษาตะวันออก คณะศิลปศาสตร์ มหาวิทยาลัยอุบลราชธานี เล่าให้ฟังด้วยน้ำเสียงสบายๆ
“ผมพล็อตเรื่องเป็นแนวแฟนตาซีข้ามภพข้ามชาติที่เกี่ยวกับความเป็นจีนแล้วนำเสนอเรื่องไป ซึ่งด้วยความที่โครงการนี้ต้องเกี่ยวโยงกับการนำไปสร้างเป็นละคร ทางคณะกรรมการเลยขอพักไว้ก่อนพร้อมกับแนะนำให้ผมลองนำเสนอเรื่องใหม่ดู ซึ่งก็ได้เป็นเรื่องของการปรับตัวของคนวัยเกษียณในสังคมที่เปลี่ยนผ่านอย่างรวดเร็ว
“ในเวลานั้นงานที่คิดจะออกเป็นแนวฟีลกู๊ด แต่พอได้เริ่มทำผมกลับพบว่าตัวเองถนัดแนวดรามามากกว่า และความพยายามในการเขียนแบบนี้ทำให้ผมตระหนักถึงลายเซ็นและความถนัดของตัวเองมากขึ้น ที่ผ่านมาผมมักจะเขียนแนวหนักๆ เล่าถึงปมชีวิตอย่างละเอียด ในที่สุดเลยปรับการเขียนเรื่องนี้ในแบบที่ตัวเองเขียนแล้วเข้ามือ พร้อมกับพยายามแทรกเรื่องราวขำขันเล็กๆ เข้าไปเพื่อให้ผู้อ่านได้รู้สึกคลายความเครียดครับ”
ก่อนย่ำสนธยา เป็นเรื่องของกุนตี ผู้หญิงวัยเกษียณที่พบเจอเรื่องราวที่ไม่คาดคิดว่าจะพบในชีวิต ซึ่งอาจารย์นกบอกว่าเขาได้รับแรงบันดาลใจมาจากคนใกล้ตัว
“เรื่องนี้เป็นเรื่องของคนวัยเกษียณที่ผ่านชีวิตครอบครัวมาแล้ว และอาจมีความเข้าใจผิดในชีวิตคู่ โดยที่ตัวละครไม่ยอมเปิดใจรับฟังซึ่งกันและกัน บางครั้งก็เป็นเพราะประสบการณ์ชีวิตเก่าที่มีบาดแผลทำให้สูญเสียโอกาสที่จะมีชีวิตคู่ที่ประสบความสำเร็จ แต่ในช่วงปลายชีวิตตัวละครก็ได้กลับมาคืนดีกันครับ
“แรงบันดาลใจในการเขียนมาจากชีวิตประจำวันของคนทำงานอย่างเราที่มีพ่อแม่วัยเกษียณ พอนั่งคุยกันก็จะมีเรื่องเล่ามากมาย เช่น ทำไมพ่อแม่ถึงดื้อ หรือปัญหาต่างๆ ที่พบเขาเจอ บางทีเล่าออกมาด้วยความขำขัน แต่ในความขำนั้นก็มีความรักที่เราแสดงออกถึงพ่อแม่อยู่ครับ
“ผมเองพยายามเก็บข้อมูลจากเรื่องต่างๆ ที่ได้ยินมาแทรกไว้ในการเล่าเรื่อง หรืออย่างแม่ของผมเองก็มีเหมือนกัน ครั้งหนึ่งคุณหมอเคยแนะนำว่าให้ลดการกินขนมหวานมากินผลไม้ ซึ่งท่านก็หันไปรับประทานทุเรียนแทน เป็นต้น
“แล้วก็ยังมีเรื่องที่ทุกบ้านมักเจอเหมือนกันคือการไม่เท่าทันสื่อ เช่น ทำการตลาดให้ซื้อยาสมุนไพรเสริมสุขภาพ ซึ่งบ้านผมเองก็เจอปัญหาผู้สูงวัยค่าไตตกเนื่องจากทานอาหารเสริม จนหมอต้องบอกว่าอาจเสี่ยงต่อการเป็นโรคไต พวกเราเลยต้องช่วยกันฟื้นฟูร่างกายครับ”
สำหรับตัวละครในเรื่องนั้น อาจารย์นกบอกว่าไม่ได้นำมาจากใครคนใดคนหนึ่งแต่เป็นการนำเรื่องราวต่างๆ มาผสมผสานกัน
“ผมนำประสบการณ์จากคนรอบตัวและประสบการณ์ตรงของตัวเองมาใช้ในการสร้างตัวละครกุนตี ตัวละครหลักของเรื่อง มีความเป็นคนรุ่นเก่าที่ดื้อและไม่ค่อยฟังคนอื่น กุนตีเป็นการนำบุคลิกต่างๆ ของคนหลายๆ คนมารวมกัน และมีหลายคนที่อ่านแล้วรู้สึกหงุดหงิดแต่ก็เข้าใจตัวละครเพราะอาจเห็นความคล้ายคลึงกับผู้ใหญ่ในชีวิตจริงของพวกเขาครับ
“การเขียนเรื่องนี้ทำให้ทัศคติในการมองผู้สูงวัยเปลี่ยนไปหลายเรื่อง อย่างเช่นเรื่องสมุนไพร ก่อนหน้านี้ผมไม่เข้าใจว่าทำไมผู้สูงอายุถึงยังยืนยันที่จะกินสมุนไพร ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าอาจมีผลเสียต่อสุขภาพ กระทั่งได้คุยกับพี่ๆ หลายท่าน ก็ตกผลึกว่าสำหรับผู้ใหญ่ การกินสมุนไพรคือการที่ทำให้เขารู้สึกว่าพึ่งพาตัวเองได้ ไม่ต้องเป็นภาระลูกๆ และมีความหวังว่าจะมีสุขภาพแข็งแรงเพื่ออยู่กับคนที่เขารักได้นานขึ้นครับ พอรู้แบบนี้ผมก็เปลี่ยนวิธีดูแลท่าน จากที่เคยมีการต่อว่ากันบ้างผมก็ใช้วิธีการคุยกันเหมือนเรื่องทั่วไปครับ ไม่ให้เขารู้สึกว่ากำลังถูกสอบสวน เช่น เวลาคุยเรื่องสุขภาพผมจะเล่าถึงแม่ของเพื่อนคนหนึ่งว่าเคยกินยาสมุนไพรแล้วทำให้ค่าไตลดลงจนเกือบเสี่ยงเป็นโรคไต แล้วค่อยถามเขาว่ากินอะไรอยู่บ้าง ท่านก็เริ่มเปิดใจบอก ผมว่าพ่อแม่หลายคนรู้นะครับว่าอะไรมีผลเสีย แต่เขาไม่อยากให้ใครมาชี้นิ้วสั่ง เราต้องหาวิธีคุยแบบที่เป็นมิตร ให้ท่านได้ตัดสินใจด้วยตัวเองครับ
“นอกจากนี้สิ่งหนึ่งที่ผมเรียนรู้คือการเขียนเรื่อง ก่อนย่ำสนธยา ทำให้ได้มองชีวิตในมุมที่ลึกซึ้งขึ้น เช่น ผมเคยตั้งคำถามว่าทำไมผู้สูงวัยถึงเป็นอย่างนี้ แต่พอเราศึกษาและมองในมุมของเขา ก็ได้คำตอบว่ามันเกิดจากประสบการณ์ชีวิตและความเชื่อที่เขายึดถือมา ซึ่งการที่เราเข้าใจตรงนี้ก็ทำให้สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างมีความสุขครับ
“สิ่งที่ผมอยากบอกผู้อ่านคือเมื่อคนต่างวัยกันมาอยู่ร่วมกัน ก็ต้องใช้ความเข้าใจและรู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรา ผู้ใหญ่ควรเข้าใจเด็ก และเด็กก็ต้องเข้าใจผู้ใหญ่ ไม่ใช่แค่เข้าใจว่าคนหนึ่งเป็นอย่างไร แต่อยากให้รู้ว่าทำไมถึงเป็นอย่างนั้น เพราะจะทำให้สามารถรับมือกับคนต่างวัยได้ดีขึ้นครับ”
อีกทั้งการทำงานครั้งนี้ยังทำให้อาจารย์นกได้พบความสไตล์การเขียนของตัวเองว่าเขียนแบบไหนแล้วรู้สึกมีความสุขอีกด้วย
“เมื่อได้เขียนในสิ่งที่เป็นตัวของเอง เราจะสามารถส่งต่ออารมณ์ ความรู้สึกไปถึงคนอ่านได้ไม่ยาก อีกทั้งสไตล์ยังช่วยกำหนดทิศทางงานได้ชัดเจนมากขึ้น อย่างผมจะถนัดในการเล่าเรื่องที่มีอารมณ์หนักๆ และสะท้อนปมชีวิตของตัวละคร ดังนั้นการเขียนงานแนวนี้ผมสามารถทำได้ดี อีกทั้งการได้มีโอกาสได้ร่วมโครงการช่องวันอ่านเอาครั้งนี้ยังทำให้ได้รับคำแนะนำจากคณะกรรมการ ทั้งพี่เอียด (ปิยะพร ศักดิ์เกษม) พี่ปุ้ย (กิ่งฉัตร) พี่หมอโอ๊ต (พงศกร) รวมถึงพี่ลักษณ์ (ศิริลักษณ์ ศรีสุคนธ์) และ พี่เกด (พิมพ์มาดา พัฒนอลงกรณ์) ทำให้ได้ประสบการณ์และได้วิธีการคิดอย่างคนเขียนบทละคร และเห็นแนวทางในการสร้างสรรค์งานอีกแนวทางหนึ่งที่น่าสนใจและสามารถนำไปประยุกต์ใช้ได้ในอนาคตด้วยครับ
“วันนี้ ก่อนย่ำสนธยา ก็จบสมบูรณ์แล้ว ผมขอขอบคุณผู้อ่านทุกท่านที่ติดตามงานเขียนของผม ทุกคอมเมนต์และทุกกำลังใจช่วยให้ผมมีแรงผลักดันที่จะสร้างสรรค์ผลงานต่อไป เพราะการเขียนคือความสุขของผมจริงๆ ครับ”
นอกจาก ก่อนย่ำสนธยา ที่เป็นผลงานของสัมพันธ์ สุวรรรณเลิศแล้ว ยังติดตามผลงานของเขาเรื่องบ่วงเวรา นิยายแนวพีเรียดย้อนยุคที่เล่าเรื่องการอาฆาตมาดร้ายและการล้างแค้นอย่างถึงพริกถึงขิงได้ที่ www.groovebooks.com หรือ ในรูปแบบ E-Book ได้ที่ MEB ค่ะ