How to เขียน เขียนยังไงให้โดนใจ! รุ่นพี่อ่านเอาก้าวแรกมีคำตอบ

How to เขียน เขียนยังไงให้โดนใจ! รุ่นพี่อ่านเอาก้าวแรกมีคำตอบ

โดย : กิ่งสุรางค์ อนุภาษ

Loading

หนึ่งในช่วงที่น่าประทับใจของโครงการ อ่านเอาก้าวแรก ปี 4 คือการแชร์ประสบการณ์ของเหล่ารุ่นพี่ที่ตบเท้ามาเป็นวิทยากรครั้งนี้ด้วยความเต็มอกเต็มใจ ซึ่งทันทีที่ได้เห็นบรรยากาศที่แสนเอาจริงเอาจังของรุ่นน้องทั้ง 60 คน นักเขียนรุ่นพี่ทั้งสี่คน ไม่ว่าจะเป็น ทิพย์-พรทิพย์ ทองพิสิฐสมบัติ นักเรียนอ่านเอาก้าวแรก รุ่นที่ 1 นามปากกา แสนแก้ว เจ้าของผลงาน Messy Buddy คุณบัดเดอร์ใช่เธอหรือเปล่า? โจรกรรมขำขัน และดวงใจจอมกระบี่, พังพอน-อัจฉราพร แปงปวนจู นักเรียนอ่านเอาก้าวแรก รุ่น 2 นามปากกา ตฤณภัทร เจ้าของผลงาน พระนคร ๒๔๑๐ แม่สื่อตัวร้ายกับนายโปลิศ เชตุพน ๒๓๗๕ ข้าคือหมอยาอันดับหนึ่ง, ชมพู่-ญาสิตางศุ์ ชัยวัฒน์ นักเรียนอ่านเอาก้าวแรก รุ่น 2 นามปากกา เยว่หวา สิตา เจ้าของผลงาน บันทึกดาราเร้นฟ้า และแนน-ชวชิต สุทรศารทูล นักเรียนอ่านเอาก้าวแรก รุ่นที่ 3 นามปากกา สีตลา สัตตสุวรรณ เจ้าของผลงานเรื่อง มหกรรมมนุษย์ ต่างก็ชมเปาะไม่ขาดปากว่า ทุกคนตั้งใจเรียนมากและต่างก็เอาใจช่วยให้รุ่นน้องทุกคนพาตัวเองไปถึงฝั่งฝัน

คราวนี้เราเลยชวนทั้งสี่มาแชร์ประสบการณ์การเขียนให้อ่านกันอีกครั้ง มาอ่านกันต่อเลยค่ะว่า ก่อนจะมาเป็นนักเขียนฝีมือเด่น อนาคตไกลเช่นวันนี้ รุ่นพี่ทั้งหลายเขาเจออะไรกันมาบ้าง!

ช่วยย้อนเวลากลับไปนิดนึงได้ไหมคะว่า ในเวลานั้น เพราะอะไรน้องๆ ถึงสนใจโครงการอ่านเอาก้าวแรก

แนน : ผมอ่านงานของพี่เอียด (นันทพร ศานติเกษม เจ้าของนามปากกา ปิยะพร ศักดิ์เกษม) พี่ปุ้ย (ปาริฉัตร ศาลิคุปต เจ้าของนามปากกา กิ่งฉัตร) มาตั้งแต่เด็กครับ และต่อมาก็มาอ่านงานของพี่หมอโอ๊ต (นายแพทย์พงศกร จินดาวัฒนะ เจ้าของนามปากกา พงศกร ) พอมีโครงการนี้เลยสนใจเพราะงานของพี่ๆ เป็นงานที่ดีและมีคุณภาพมาก จริงๆ ผมอยากจะสมัครตั้งแต่รุ่นแรกแล้ว แต่ว่าไม่พร้อม พอมาถึงรุ่น 3 รู้สึกว่าไม่ได้แล้ว ต้องมา ตอนนั้นผมเริ่มเขียนมหกรรมมนุษย์และเขียนใกล้จบแล้วครับ แต่ก็อยากจะรู้พื้นฐานตั้งแต่แรกเลยว่าวางพล็อตยังไง วางโครงเรื่องยังไง มีการสร้างฉาก สร้างตัวละครยังไง ก็เลยคิดว่าลงเรียนดีกว่า

ซึ่งตอนที่ผมเรียนเป็นการเรียนออนไลน์ แต่ก็ไม่ใช่ปัญหา เพราะสิ่งที่พี่ๆ ทั้งสามคนสอนนั้นเป็นการตอบโจทย์ที่ผมต้องการครบหมด และยังมีช่วงให้ถาม มีช่วงให้กลับไปเขียนงาน และนำงานมาให้พี่ๆ ช่วยดู ช่วยให้คำแนะนำ อีกทั้งยังได้รับฟังงานของคนอื่นด้วยว่าเขาเจอปัญหาเดียวกันหรือเปล่า ถ้าเป็นปัญหาเดียวกัน หรือปัญหาที่นักเขียนมือใหม่มักเจอ เราก็ฟังและลองปรับตามดู ซึ่งช่วยเราได้มากเลยครับ

พังพอน : ส่วนหนูเองอยากเป็นนักเขียนมาตลอดค่ะ เราเริ่มเขียนอะไรเล็กๆ น้อยๆ มาตั้งแต่อายุ 13 พออายุ 17 ก็เขียนลงบอร์ด แต่ว่าเราเขียนไม่เคยจบ ส่วนหนึ่งเพราะเรายังเด็ก ไม่มีประสบการณ์ ไม่รู้จักการทำพล็อต ไม่มีเทคนิคอะไร เขียนไปเรื่อยๆ  10 กว่าตอน ลงไปไม่มีใครอ่านเลยมันก็ท้อ ปิด เขียนเรื่องใหม่ แล้วก็เจอปัญหานี้เป็นลูปวนไปไม่จบสิ้น พอเข้ามหาวิทยาลัยก็ไม่ได้เขียนอะไรต่อเนื่อง แต่เราก็ยังอยากเป็นนักเขียนอยู่ ทีนี้พอเจอข่าวโครงการอ่านเอาก้าวแรกรุ่น 2 ว่าจะมีพี่ๆ นักเขียนมาแนะนำ เวิร์กช็อป ให้เราส่งงานประกวด ก็เลยเห็นว่าเป็นโอกาสที่จะได้รู้ว่าที่ผ่านมาเรามีปัญหาอะไร ทำไมเขียนแล้วไม่มีใครมาอ่านเลย ก็อยากรู้และอยากจะได้ทริกที่ทำให้เราเขียนจบด้วย เพราะนี่เป็นอีกหนึ่งปัญหา ซึ่งตอนที่เรียนนี่ได้ทริกเยอะมากแล้วก็นำมาใช้ได้จริงๆ อย่างการสอนเก็บข้อมูลของพี่เอียด เขาก็เปิดโน้ตให้ดูว่า ตัวละครแต่ละคนมีนิสัยอย่างไร ไทม์ไลน์ชีวิตตัวละครเป็นอย่างไร ทำให้เราพบว่านี่เป็นเรื่องที่เหมาะกับเรา เพราะเป็นคนสมาธิสั้น ปัญหาของเราคือเวลาทิ้งเรื่องไว้นาน ทำให้เราลืม ลืมแม้แต่บุคลิกตัวละคร แต่ถ้าจดไว้ก็จะทำให้เรายังตามข้อมูลได้อยู่ ทริกตรงนี้ของพี่เอียดเลยช่วยปลดล็อกให้หนูและก็ใช้ทริกนั้นเขียนพระนคร  ๒๔๑๐ จนจบได้ ทั้งๆ ที่ตอนนั้นทำงานแล้วและต้องเดินทางไปไหนมาไหนบ่อยๆ แต่พอเราบันทึก เก็บข้อมูลต่างๆ ของตัวละครไว้ก็ทำให้เราสามารถต่อติด รวมถึงยังมีทริกของพี่ๆ ท่านอื่นมาปรับให้เป็นจิกซอว์ของเราด้วยค่ะ

แล้วทิพย์กับชมพู่ละคะ รู้จักโครงการได้อย่างไร ทำไมถึงสนใจ

ทิพย์ : สำหรับทิพย์ เพื่อนเป็นคนส่งข่าวโครงการอ่านเอาก้าวแรกมาบอกค่ะ เรารู้สึกว่าเป็นโอกาสดีที่จะได้เรียนกับนักเขียนชั้นครูอย่าง พี่เอียด พี่ปุ้ย พี่โอ๊ต เลยรีบสมัคร เพราะการเขียนนิยายไม่ได้มีสอนในมหาวิทยาลัยอย่างแพร่หลายและชัดเจน ต้องหาเรียนเอง วิชานี้เลยเหมือนเป็นวิชาลับ การที่นิยายหนึ่งเรื่องจะสนุกได้ต้องมีอะไรซ่อนอยู่ในนั้น และสิ่งนั้นบางทีมาจากมุมมอง ความคิด ประสบการณ์นักเขียน เราเลยต้องไปเรียนกับนักเขียนเพื่อแกะหลักหรือทฤษฎีมาจากเขาแล้วนำมาปรับใช้กับงานตัวเอง ซึ่งการที่เราจะไปเรียนกับใครก็ต้องรู้จักงานเขียนของนักเขียนท่านนั้นก่อนว่าเป็นแบบไหน ประสบความสำเร็จไหม เพราะเป้าหมายในการเขียนนิยายของทิพย์คือต้องการเขียนนิยายที่มีคุณภาพ เลยมาสมัครเรียนค่ะ

ชมพู่ : ก่อนหน้านี้เคยมีการเขียนมาบ้าง แต่เจอปัญหา writer block เขียนอะไรไม่ได้เลย ตันไปหมด ไม่รู้เหมือนกันว่าเกิดจากอะไร พอมาเจอโครงการนี้เลยคิดว่าน่าจะช่วยพัฒนาตัวเองได้ และน่าจะช่วยให้เราหลุดจากปัญหานี้ได้ พอเข้าไปก็เป็นอย่างที่คิดไว้จริงๆ สามารถทำให้เรากลับมาเขียนนิยายได้อีกครั้ง เป็นโครงการที่เป็นประโยชน์มาก

ทิพย์ : คือในคลาสเนี่ย นอกจากจะได้เห็นว่าพี่ๆ เจอปัญหาอะไร แก้ไขยังไง ยังทำให้ทิพย์พบด้วยว่าจริงๆ เราถูกบล็อกอะไรบางอย่างทางความคิดอยู่ ตอนนั้นมีประเด็นหนึ่งที่พี่ๆ พูดคือ เขียนแนวไหนถึงจะปัง ซึ่งคำตอบคือให้เขียนสไตล์ของตัวเอง จงเป็นตัวเองในแบบที่ดีที่สุด อย่างเช่น นิยายของนักเขียนรุ่นใหม่มักดำเนินเรื่องเร็ว แต่สไตล์งานของพี่เอียดเป็นการบรรยายเชิงลึกและละเอียดมาก ซึ่งแม้จะถูกคอมเมนต์เรื่องนี้บ้าง แต่พี่เอียดบอกว่าเราเป็นนักเขียน เราต้องหานักอ่านของตัวเองให้เจอ ถ้าเปลี่ยนสไตล์ไปเป็นแนววัยรุ่นขึ้นเพื่อตอบโจทย์ตลาด ก็เหมือนไม่ได้เป็นตัวเองและทำให้ผิดฟอร์ม ผิดไปจากที่นักอ่านเขาชอบเรา

พอได้คำตอบแบบนี้ก็เหมือนปลดล็อกและได้รับอนุญาตให้เป็นตัวเองเลยค่ะ เพราะเรากำลังหาคำตอบนี้อยู่ ทำให้เกิดเรื่อง Messy Buddy คุณบัดเดอร์ใช่เธอหรือเปล่า?  ขึ้นมาในสไตล์ของเราและมันก็ปังได้จริงด้วยค่ะ

ชมพู่ : เรียกว่าโครงการนี้นอกจากจะแก้ปัญหา writer block ให้ได้แล้ว ยังช่วยแก้อีกปัญหาในตอนนั้นของชมพู่ได้ด้วยคือการเข้าไม่ถึงความรู้สึกกับชีวิตของตัวละครค่ะ เรามีปัญหาการใช้ภาษาในการดำเนินเรื่อง พอเข้าไปฟังประสบการณ์ของพวกพี่ๆ ปัญหาและอุปสรรรคที่พี่ๆ เขาเจอกันมามีอะไรบ้าง ก็เหมือนกับได้ไปกระตุ้นการทำงานเขียนของเราที่เคยสนุกกับมันมากขึ้นมาอีกครั้ง และทำให้เราไปต่อกับการเขียนงานได้อย่างลื่นไหล เราเลยโอเคกับโครงการมาก พอกลับมาก็ลองปรับงานที่เป็นนิยายไทยซึ่งเคยเขียนทิ้งไว้ แต่ปรากฏว่าทำยังไงก็เขียนไม่ได้สักที หาจุดที่เราจะจับมาดำเนินเรื่องต่อไม่ได้ ซึ่งพอเหลือเวลาที่จะถึงกำหนดส่งงานอีกประมาณเดือนครึ่งก็เลยหยุดงานตรงนั้น และมาเขียนนิยายจีนที่เราพล็อตขึ้นมาในหัวใหม่เลย คือก่อนหน้านี้เคยเขียนนิยายกำลังภายในแล้วมีรายละเอียดอะไรบางอย่างในเรื่องที่เราสามารถต่อยอดได้ ก็เลยมาเขียนเรื่องนี้ อาจด้วยเพราะใกล้ถึงกำหนดส่งแล้วด้วยก็เลยเขียนได้ทันส่งงานพอดี เรียกว่าทิ้งงานทุกอย่างเพื่อมาปั่นงานนี้ ซึ่งก็คือบันทึกดาราเร้นฟ้าค่ะ

ทิพย์ : แต่ก่อน Messy Buddy จะกลายเป็นนิยาย ทิพย์ก็เจอเรื่องยากเหมือนกันนะคะ โจทย์ของเราคือจะวางต้น กลาง จบ ยังไงให้สนุก และมีปัญหาเรื่องการแบ่งเวลานิดหน่อย เพราะรุ่นเรามีเวลาเขียน 3 เดือน เลยต้องทุ่มเทเวลาเยอะ กลัวไม่ทัน เข้มงวดในการแบ่งเวลาและจัดการชีวิตตัวเอง ซึ่งที่บ้านก็สนับสนุนอย่างมาก ยิ่งตอนท้ายๆ แม่เข้ามาช่วยแบ่งงานในบ้านที่เราต้องดูแลด้วยเลยมีเวลาเขียนมากขึ้น  ทีนี้อยู่ที่ใจกับวินัยแล้วว่าจะไปต่อหรือเปล่า ซึ่งพอเรามุ่งมั่นว่าจะส่ง ก็ผลักดันตัวเองไปจนได้ค่ะ

พอได้กลับมาวันนี้ในฐานะวิทยากรรุ่นพี่ รู้สึกเป็นอย่างไรบ้างคะ

แนน : ผมรู้สึกอบอุ่น และประทับใจเรื่องสถานที่ด้วยครับ คิดว่าการได้เวิร์กช็อปทำกิจกรรมร่วมกันแบบนี้เป็นอะไรที่ดีมาก เพราะยังไงก็ขึ้นอยู่กับเราที่กลับไปพัฒนาผลงานเราด้วย

พังพอน : เหมือนได้เห็นตัวเองนะคะ คือหนูน่ะน่าจะเป็นตัวแทนของคนที่ไม่เคยเขียนจบ ไม่เคยมีผลงานเลยก็ว่าได้ ตอนนั้นเหมือนคนหลงทาง แต่มีความฝัน แล้วเราก็ลุยกับมันจนได้ และเราอยากเห็นงานของรุ่นนี้นะ เอาใจช่วยให้ทุกคนสร้างฝันให้เป็นจริงนะคะ

ทิพย์ : ส่วนตัวตื่นเต้นมาก แต่พอได้เห็นนักเรียนเขากระตือรือร้น ตั้งใจเรียนกันมากๆ ก็ประทับใจค่ะ สัมผัสได้ว่าทุกคนต่างอยากเป็นนักเขียน ก่อนหน้านี้ทิพย์มักได้ยินว่า สมัยนี้คนไม่ค่อยสนใจอ่านนิยายเท่าไหร่ เพราะมีคอนเทนต์อื่นๆ ให้เสพ แต่การมาเป็นวิทยากรครั้งนี้ทำให้รู้ว่ายังมีคนอีกกลุ่มหนึ่งที่สนใจเขียนนิยายอย่างจริงจัง และ 60 คนนี้ก็คือคนที่พยายามลงทะเบียนกับโครงการให้ได้ภายใน 1 ชั่วโมงแรกด้วย

ชมพู่ : ตอนเห็นว่าจะมีโครงการอ่านเอาก้าวแรก รุ่นที่ 4 แล้วได้อ่านรายละเอียดของโครงการ บอกเลยว่าอยากกลับมาอีกครั้ง เพราะอยากฟังในอีกหลายๆ หัวข้อ พอกลับมาในฐานะวิทยากรรุ่นพี่ ได้เจอพี่เอียด พี่ปุ้ย พี่โอ๊ต ก็เหมือนได้รับการจุดประกายการเขียนมากขึ้นไปอีก เพราะตอนนี้กำลังอยู่ในโครงการช่องวันอ่านเอา ปี 4 อยู่ และเจออะไรที่ติดๆ ขัดๆ อีกแล้ว แต่กลายเป็นว่ากลับมาจากโครงการอ่านเอาก้าวแรก ปี 4 ก็เขียนงานได้ลื่นไหลขึ้นด้วยค่ะ (หัวเราะ)

หนึ่งในปัญหาใหญ่ๆ ของคนอยากเป็นนักเขียนคือ เขียนไม่จบ อยากให้รุ่นพี่แนะนำหน่อยค่ะว่า ทำยังไงถึงจะแก้ปัญหานี้ได้คะ

แนน : วินัยสำคัญมาก ต้องเขียนทุกวันครับ ต้องมีอย่างน้อยหนึ่งชั่วโมงต่อวันที่เราจะต้องอุทิศให้กับการเขียน แม้ว่าวันนั้นจะไม่ได้อะไรเลยก็ตาม แต่ก็ถือว่าวันนั้นเราได้ทำงานตามที่ตั้งใจไว้ ปิดโซเชียลมีเดียแล้วมานั่งเขียนอย่างเดียว พอมันลื่นไหล เครื่องติด มันจะไปฉิวเลย แต่ขอให้หมั่นสตาร์ตเครื่องครับ

พังพอน : อยากให้แบ่งเวลาดีๆ ค่ะ ถ้าเราแบ่งเวลาได้ ทำรายละเอียดของตัวละครดี ก็จะช่วยทำให้เราเขียนจบได้ค่ะ

ทิพย์ : วางแผนให้รัดกุมที่สุด วิธีของทิพย์คือ ทำทรีตเมนต์นิยายที่ลงรายละเอียดว่ามีซีนย่อยอะไรบ้าง แล้วขีดเส้นแบ่งบท ทำให้รู้ว่านิยายจะมีกี่บท จากนั้นจดลงปฏิทินว่าวันไหนเขียนบทที่เท่าไหร่ วันไหนจะพักผ่อน จะเดินทาง ถ้าเราทำได้ตามแผนในปฏิทินก็จะเขียนเสร็จค่ะ แต่ถ้าเริ่มช้ากว่าแผนแล้วก็อาจยกเลิกกิจกรรมบางอย่างที่ลงเวลาไว้ ถ้าเขียนเร็วกว่ากำหนดก็อนุญาตให้ตัวเองไปช็อปปิงได้หนึ่งวัน วิธีของทิพย์คือวางแผนให้ชัดเจนและเป็นรูปธรรมค่ะ

ชมพู่ : คิดว่าแต่ละคนมีวิธีไม่เหมือนกันนะคะ ต้องลองเขียนดูก่อน พยายามไดรฟ์ไปเรื่อยๆ ลองดูว่าเขียนอย่างไรถึงจะเจอจุดที่ส่งงานเราไปต่อได้เรื่อยๆ เพราะบางทีเราไปทางนึงแล้วมันตันก็ต้องถอยมาเพื่อพิจารณาว่ามีปัญหาอะไร เช่น พล็อตไม่แน่น เครียด ปัญหารอบตัว ซึ่งถ้าไม่ได้จริงๆ เราก็ยอมรับเพื่อไปทางอื่น หาวิธีที่เป็นของตัวเองให้ได้ และบอกได้เลยว่าถ้าเขียนจบสักครั้ง ครั้งต่อไปเราจะไปได้ แต่ถ้าเราเขียนไม่เคยจบ มันจะเหมือนเป็นโรคติดต่อ โรคระบาด เขียนไม่เคยจบสักทีค่ะ (หัวเราะ)

สิ่งที่อยากบอกน้องรุ่น 4 คืออะไรคะ

แนน : ต้องวางแผนการเขียนให้ดี เก็บข้อมูล ทำรายละเอียดข้อมูลให้ครบถ้วน ทำให้ตัวละครมีความสมจริงครับ ตอนเข้าโครงการผมประทับใจประโยคหนึ่งของพี่ๆ วิทยากร ซึ่งเป็นประโยคทองที่ทำให้ผมแก้และจบงานด้วย ประโยคนั้นคือ เราเป็นผู้กำกับการแสดงในเรื่องของเรา เพราะฉะนั้นเราเป็นคนที่จะเล่าเรื่องเรา เราเลือกวิธีที่เป็นแบบที่ดีที่สุดของเราตั้งแต่ต้นจนจบ โดยทำให้นวนิยายของเราเกิดแผลน้อยที่สุด ดังนั้นก่อนจะเป็น มหกรรมมนุษย์ ในวันนี้ จึงเคยมีการเปลี่ยนไทม์ไลน์มาครั้งหนึ่ง เป็นการเล่าในแบบที่ไม่ใช่การเล่าในเพจอ่านเอา แต่เพราะพอได้ฟังประโยคนี้แหละที่ทำให้ผมกลับไปปรับแล้วจบงานได้ว่านิยายเรื่องนี้เราจะเล่าแบบนี้

พังพอน : จริงๆ หนูเน้นเรื่องการแบ่งเวลาค่ะ แล้วก็ลดโซเชียลมีเดียด้วย การไถฟีดมันเพลิน และทำให้งานช้ามาเยอะแล้ว (หัวเราะ)

ทิพย์ : อยากให้เขียนให้สนุกค่ะ เพราะจะทำให้เราเพลิน ทำได้เรื่อยๆ งานเขียนเป็นงานศิลปะ ดังนั้นเราต้องดูแลตัวเองซึ่งเป็นศิลปินให้มีความสุข งานเขียนถึงจะสนุกและส่งต่อความสุขให้แก่คนอ่านได้ ทิพย์เชื่อแบบนั้นนะ และไม่ต้องกลัวค่ะเพราะมีพี่ๆ วิทยากรทั้งสามคนเดินทางไปกับเราด้วย เมื่อลงมือเขียนจะเริ่มเห็นว่าปัญหาของเราคืออะไร ลองปรึกษาพี่ๆ ดู และเขียนให้สุดฝีมือ ย้ำว่าพี่ๆ ช่วยเราได้จริงๆ ค่ะ

ชมพู่ :  อยากบอกว่าอย่าชะล่าใจกับเวลาเพราะมีเท่าไหร่ก็ไม่พอ (หัวเราะ) ต้องพยายามหาเวลาทุกวันที่จะเขียนไปทีละนิดให้ติดเป็นนิสัย ทำให้ได้ เพราะไม่อย่างนั้นโอกาสที่จะเขียนไม่ทันส่งมีสูงมาก เพราะหลังจากเขียนเสร็จแล้วเรายังต้องเกลา ต้องทบทวนอีก ซึ่งใช้เวลาอีกพอสมควรค่ะ

นักเรียนโครงการอ่านเอาก้าวแรก รุ่นที่ 4  ทราบแล้วเปลี่ยน!

Don`t copy text!