รักษ์ยิ่งใหญ่จากชายคนหนึ่ง
โดย : กิ่งสุรางค์ อนุภาษ
คุยกับ นักเขียนแนวผจญภัย และบทบาทผู้พิทักษ์ผืนป่าใหญ่เท่าชีวิต
ถ้าจะให้พูดถึงท็อปไฟว์ของนักเขียนแนวผจญภัยในป่าในบ้านเราเวลานี้ เชื่อว่าต้องมีชื่อของ ‘ไชโย สุวรรณ์’ เจ้าของนามปากกา บุหลัน รันตี, บุหงา รายา, ช่อ ชำมะเลียง, โย เนเจอร์, มิสเตอร์ ขลุย ฯลฯ อยู่ด้วยอย่างแน่นอน นั่นเพราะผู้ชายคนนี้มีผลงานทั้งสารคดี นิยายแนวผจญภัย เรื่องลึกลับเกี่ยวกับป่า ทยอยมาให้อ่านกันอย่างต่อเนื่องแบบนับไม่ถ้วน (กว่า 40 เล่ม) ไม่ว่าจะเป็น ย่ำไปในไพรเถื่อน, เสียงเพรียกจากบังคะยู, ผีโป่งที่ทุ่งกินเจ้า, นรก 9 วันในแดนกะเหรี่ยง, เดินดงทุ่งใหญ่-ห้วยขาแข้ง, คนไล่วัว, ย้อนรอยเสือ, ไพรเดือนแรม, แผ่นดินเลือด, ผจญภัยป่าอุ้มผาง-เซซาโว่, แรดที่เมียวมอลาขะ, ท่องเมืองเยเสน่ห์แห่งสาวมอญ, หอมกลิ่นสะนาคาสาวพม่าเมืองทวาย, อาลันรัดจะนาลับแลเมืองลาว, มันนิซาไก คนป่าเขาบรรทัด, ความลับหิมาลัย ฯลฯ รวมถึง ‘สาบสมิง’ นวนิยายขนาดยาวอาถรรพณ์กลางดงลึก เขียนเป็นตอนๆ สาบสมิง 1 ดงดำ, สาบสมิง 2 หุบผาแห่งคำสาป, สาบสมิง 3 งาช้างศักดิ์สิทธิ์, สาบสมิง 4 ไพรอำพราง สาบสมิง 5 ไพรพิศวาส (กำลังเขียน) และ 6 7 8 9 10…. (อีกหลายเล่มจบ) ซึ่งบอกว่าเลยถ้าไม่มีต้องรีบจัด เพราะว่าเขาใช้ประสบการณ์ทั้งชีวิตในการถ่ายทอดผลงานเรื่องนี้
นอกจากนี้ บุหลัน รันตี ยังเดินป่าอย่างจริงจังมาตั้งแต่วัยรุ่น เรียกได้ว่าป่าแนวตะวันตกบ้านเราต้องมีรอยเท้าของผู้ชายคนนี้ย่ำผ่านมาแล้วเกือบทุกที่ ทั้งยังเคยทำอาชีพนายฮ้อย ค้าวัวข้ามแดนจากพม่ามาไทยในช่วงเวลาสั้นๆ เพียงหนึ่งฤดูกาลเพราะอยากรู้ข้อเท็จจริงว่าเขาทำกันอย่างไร พบเจอมาแล้วทั้งลูกปืนระหว่างทหารกะเหรี่ยงกับพม่า ป่วยเป็นไข้ป่าจนเกือบเอาชีวิตไม่รอด จนถึงวันนี้เขาก็ได้พิสูจน์รักแท้ในป่าอีกหนึ่งอย่าง นั่นคือการผันตัวเองจากนักล่านิยมไพรมาเป็นนักอนุรักษ์ตัวเอ้ ด้วยการเป็นหนึ่งในแกนนำ ‘อาสาสมัครดับไฟป่า ชมรมรักษ์เขากระโจม ในพื้นที่เขาแหลม เขากระโจม อำเภอสวนผึ้ง’ โดยลงมือทำงานดับไฟเสี่ยงอันตรายแบบไม่มีค่าตอบแทนมาหลายสิบปี
อะไรคือแพสชั่นที่ไม่มีวันหมดอายุของ บุหลัน รันตี ผู้ชายที่ทำทุกอย่างอย่างไม่เหน็ดเหนื่อย อ่านเอากำลังจะพาไปหาคำตอบจากเขาพร้อมๆ กันค่ะ
โชคชะตาที่พลิกผันทำให้เขาพบความรักที่ยิ่งใหญ่
จุดเปลี่ยนที่ทำให้ผู้ชายคนนี้หลงรักป่าเริ่มตั้งแต่เขายังเด็ก บุหลัน รันตี เกิดที่ริมฝั่งแม่น้ำเพชร บ้านท่าโล้ ตำบลยางหย่อง อำเภอท่ายาง จังหวัดเพชรบุรี แต่เมื่อเจอพิษเศรษฐกิจจนทำให้ครอบครัวประสบวิกฤติล้มละลาย พวกเขาจึงได้ย้ายสมาชิกทุกคนในบ้านมาอาศัยอยู่ในตะเข็บชายแดนอำเภอสวนผึ้ง จังหวัดราชบุรี ซึ่งที่นั่นมีคนกะเหรี่ยงอาศัยอยู่จำนวนมาก แน่นอนว่าชีวิตของพวกเขาเปลี่ยนจากหน้ามือเป็นหลังมือ จากคหบดีที่มั่งคั่งต้องกลับมานับหนึ่งใหม่กับบ้านที่เรียกว่ากระต๊อบเล็กๆ มุงด้วยหญ้าคาในป่ากว้าง ใช้ตะเกียงให้แสงสว่าง เผาถ่านทำเชื้อเพลิงหุงต้ม ทำไร่ฝ้ายไร่ข้าวโพด ค้าขายตามตลาดนัดเหมืองแร่ชายแดน ทำงานเป็นลูกจ้างเหมืองแร่ เดินไปโรงเรียนระยะทางไปกลับ 6 กิโลเมตร เล่ามาอย่างนี้อย่าเพิ่งดราม่า เพราะนั่นไม่ใช่โชคร้าย แต่กลับทำให้ เด็กชายไชโย สุวรรณ์ หรือ บุหลัน รันตีเรียนรู้ที่จะสู้ชีวิต สร้างทุกอย่างด้วยมือและเท้าของตัวเองมาตั้งแต่นั้น
เขามีเพื่อนแทบทั้งหมดเป็นกะเหรี่ยง มีผืนป่าเป็นสนามเด็กเล่น เรียนรู้การดำรงชีพเล็กๆ อย่างดักแย้ ตกปลา ต่อไก่ ดักหนู หาของป่ามาตั้งแต่ตัวเล็กๆ เมื่อเริ่มเข้าสู่วัยรุ่นก็เริ่มเดินป่าและเดินไกลออกไปเรื่อยๆ หนึ่งในแรงบันดาลใจให้ผู้ชายคนนี้เอ็นจอยกับต้นไม้ ลำธาร และสัตว์ป่า คือการได้อ่านหนังสือที่เช่ามาจากในเมือง ไม่ว่าจะเป็น เพชรพระอุมา ของพนมเทียน, ล่องไพร ของ น้อย อินทนนท์ เรื่องสั้นของ มนัส จรรยงค์ นิยายลูกทุ่งของ ไม้ เมืองเดิม หรือผลงานจากนักเขียนสไตล์คันทรี หลุยส์ ลามูร์ ฯลฯ เหล่านี้ทำให้เขาอยากเรียนรู้ชีวิตในป่ามากขึ้น
“ผมตอบไม่ถูกหรอกครับว่าเริ่มเดินป่าตั้งแต่เมื่อไหร่ เพราะบ้านผมอยู่ในป่า และต้องเดินไปกลับระหว่างโรงเรียนกับบ้านวันละหกกิโลเมตร ตอนเด็กผมรู้สึกว่าไกลมาก แต่พอโตมากลายเป็นว่าระยะทางแค่นิดเดียว
“ด้วยความเป็นคนรักการอ่านมาก อย่าง เพชรพระอุมา ของพนมเทียน ผมนี่อ่านแบบหามรุ่งหามค่ำ ไม่หลับไม่นอน คิดว่าอ่านงานของพนมเทียนครบทุกเล่มนะ แล้วยังมีผลงานของนักเขียนทั้งไทยและต่างประเทศท่านอื่นๆ อีก เลยเป็นแรงบันดาลใจทำให้เราอยากเป็นนักเขียน ซึ่งผมเริ่มเขียนและมีผลงานลงตีพิมพ์ในนิตยสาร ชีวิตกลางแจ้ง Outdoor life เล่าเรื่องสารคดีท่องป่า ผจญภัย อาถรรพณ์ป่า ความรู้และการยังชีพในป่า มาตั้งแต่ ม.๖ ได้ค่าเรื่องตอนละห้าร้อยบาท ดีใจมากๆ ตอนนั้นใช้นามปากกา ‘ช่อ ชำมะเลียง’
“พอมาเรียนต่อในระดับมหาวิทยาลัยในกรุงเทพฯ ก็ตั้งใจจะเป็นนักเขียนอย่างเต็มตัว ได้ทำงานที่นิตยสาร เย่อกับปลา และเข้าไปทำงานในตำแหน่งพิสูจน์อักษรที่นั่น จากนั้นเริ่มมีงานเขียนเล็กๆ น้อยๆ มาเรื่อยๆ ถ้าเป็นนามปากกา ช่อ ชำมะเลียง ผมจะไว้เขียนเกี่ยวกับสารคดีป่า ผจญภัย ที่มาของนามปากกานี้คือ สมัยนั้นเวลามีการแข่งขันมวยสากลคิงส์คัพ ก็ยังต้องฟังวิทยุอยู่ ตอนนั้นมีนักมวยชื่อ ช่อ คงขวัญเมือง ผมชอบเวลาเขาขึ้นชก ประกอบกับเวลาไปทุ่งจะมีต้นชำมะเลียงที่มีลูกสีดำเล็กๆ แล้วเราเก็บมากิน ก็เลยนำสองชื่อนี้มารวมกัน กลายเป็นนามปากกานี้ ส่วน ‘โย เนเจอร์’ จะเขียนเรื่องที่เป็นกึ่งวิชาการนิดหน่อย เพื่อนที่เป็นนักเขียนด้วยกันตั้งชื่อนี้ให้
“พอโตขึ้น เริ่มรู้จักคนมากขึ้น มีโอกาสทำหนังสือเล่มโน้นบ้างเล่มนี้บ้าง นานวันเข้า ก็ต้องเขียนเรื่อง ๕-๖ เรื่องให้กับนิตยสารหลายเล่ม เลยมีนามปากกาเพิ่มขึ้นอีก อย่างเรื่องสั้นผมใช้นามปากกา ‘บุหงา รายา’ เรื่องวิชาการยากๆ หน่อยก็ใช้ ‘มิสเตอร์ขลุย’ เรื่องที่เกี่ยวกับตกปลา ไม่ว่าจะเป็นปลาทะเล ปลาน้ำจืด จะใช้ ‘บุหลัน รันตี’ สำหรับนามปากกานี้ เกิดจากช่วงที่ต้องออกไปทำหนังสือตกปลาหรือเกี่ยวกับเอาต์ดอร์ ผมได้ไปที่แม่น้ำรันตี จังหวัดกาญจนบุรีบ่อย รู้สึกว่าชื่อแม่น้ำเพราะดี เป็นภาษากะเหรี่ยง ประกอบกับชอบชื่อบุหลันซึ่งแปลว่าพระจันทร์เต็มดวงที่มักอยู่ในวรรณกรรมเรื่องดัง อิเหนา และเรื่องที่พระราชนิพนธ์โดยรัชกาลที่ ๖ อย่างเช่น มัทนะพาธา เลยนำสองคำนี้มารวมกันกลายเป็น บุหลัน รันตี ครับ แต่ถ้าเป็นหนังสือแค้มปิ้ง หนังสือเล่มแรกเกี่ยวกับท่องเที่ยวเดินทาง ผมจะใช้นามปากกา ‘ตะบองเพชร’”
เล่าในสิ่งที่รู้
“ตอนผมยังเป็นวัยรุ่น ผมได้มีโอกาสสนิทกับ พี่ประเสริฐ จันดำ เขามักเรียกผมว่า ‘นักเขียนกะเหรี่ยง’ และพี่เสริฐก็แนะนำว่า ถ้าจะเป็นนักเขียนต้องเขียนเรื่องที่เราชำนาญ รู้อยู่แล้ว เพราะถ้าเขียนจากจินตนาการ รสชาติของงานจะได้ไม่เหมือนกับที่เราเรียนรู้มาเอง เหมือนกับทำกับข้าวตามตำรากับทำกับข้าวโดยความชำนาญ มันต่างกัน ผมเลยยึดแนวทางนี้มาตลอด นอกจากนี้ ผลงานของ หลุยส์ ลามูร์ ก็ให้แรงบันดาลใจในเรื่องการเขียนงานจากประสบการณ์ด้วย เขาทำให้ผมอยากเห็นวิถีชีวิตสไตล์คันทรีในแบบที่เขาเล่า ตอนเด็กๆ ผมเคยเห็นวัวผ่านหน้าบ้านเป็นฝูงๆ แต่ไม่ได้สนใจอะไร กระทั่งโตขึ้น ได้อ่านงานของเขา เลยเกิดสนใจเรื่องนี้ขึ้นมา และได้ถามชาวบ้านแถวนั้นว่าวัวมาจากไหนเยอะแยะ ฝูงหนึ่ง ๒๐-๓๐ ตัว ก็ได้คำตอบว่า เป็นวัวของคนไทยที่ซื้อมาจากพม่า เลยทำให้ผมได้ไปทำความรู้จักพ่อค้าวัวและขอตามเขาไปเที่ยวด้วย พอตามไปแล้ว แรกๆ ก็ไปขอเขาเป็นลูกจ้าง เป็นนายฮ้อย พอรู้จักวิธีการเดิน การผูกวัวการบังคับวัว วันหนึ่งก็เลยมาทำเองช่วงเวลาสั้นๆ เป็นแค่ช่วงเวลาหนึ่งของชีวิตเท่านั้น ทำเพราะอยากรู้”
ผจญภัยในดินแดนตะวันตกของประเทศ
ความโชคดีที่อยู่ในป่ามาตั้งแต่เด็กทำให้สามารถใช้ชีวิตอยู่คนเดียวได้อย่างสบายๆ “ผมเคยใช้ชีวิตในป่าคนเดียวอย่างเก่งก็สิบวัน แต่ถ้าไปเป็นกลุ่มเดินข้ามจังหวัดก็ใช้เวลาประมาณ ๑๐-๑๕ วัน เช่น ถ้าเดินจากอำเภอสังขละบุรี มาออกจังหวัดอุทัยธานี ใช้เวลาประมาณสิบห้าวัน หรือถ้าเดินจากกาญจนบุรีออกมาที่อำเภอทุ่งใหญ่นเรศวร ข้ามมาที่ตาก เข้าห้วยขาแข้ง ออกมาที่จังหวัดอุทัยธานี หรือจังหวัดสุพรรณบุรี ก็ใช้เวลาสิบห้าวันเหมือนกัน
“ถ้าถามว่าประทับใจป่าที่ไหนมากที่สุดก็น่าจะเป็นที่ทุ่งใหญ่ ยอดเขาไถ่ผะ กลางป่าทุ่งใหญ่นเรศวรตะวันตก เพราะระหกระเหินที่สุด คือเราเตรียมเสบียงกันแค่สิบวัน เนื่องจากดูจากแผนที่และประเมินสถานการณ์ว่า ถ้าเราเริ่มเดินกันที่อำเภอสังขละบุรี ขึ้นยอดเขาไถ่ผะ ซึ่งส่วนใหญ่ไม่มีใครได้ขึ้นไปเพราะเป็นภูเขาต้องห้าม ใช้เวลาประมาณนี้คงพอเราไปกันหกคน ปรากฏว่าวันที่สิบ อาหารหมด แต่ยังกลับไม่ได้ เราเลยต้องเดินตัดลงมาออกแม่น้ำรันตี เพราะเส้นทางมันย้อนกลับไม่ได้ เนื่องจากเป็นหน้าผาและน้ำตกขนาดใหญ่ ทำให้ปีนลงไม่ได้ เส้นทางนี้ทำให้พวกเราต้องไต่หน้าผาที่มีรอยเลียงผานิดเดียวเพื่อที่จะไปอีกฟากหนึ่ง มองลงไปข้างล่างไม่มีต้นไม้เกาะ เลยต้องไต่ไปทีละนิดละหน่อยประมาณห้าสิบเมตร ถึงไม่ไกลแต่เหมือนเราไต่อยู่บนเส้นยาแดง ถ้าตกคือตาย เป็นอีกหนึ่งทริปที่โหดสุดสำหรับผมเหมือนกัน
“สำหรับสัตว์ร้าย บอกเลยว่าผมเจอบ่อย แต่ก็ขึ้นอยู่ที่เราด้วยละว่ามีกรรมดีกรรมชั่วแค่ไหน กรรมดีคุ้มครองเราได้ไหมถ้าทำชั่วไว้เยอะ เจ้าป่าเจ้าเขาอาจไม่คุ้มครองเราก็ได้ (สัตว์ที่น่ากลัวที่สุดในป่าคืออะไรคะ) งูเหลือม งูเห่านี่น่ากลัวที่สุดครับ บางทีเราเดินชมนกชมไม้เพลิน งูเหลือมซึ่งขดตัวอยู่ใต้ใบไม้หนาๆ ที่หล่นอยู่ อาจโผล่มารัดเราได้และเราก็ไม่มีทางช่วยตัวเองได้เลย ผมเลยต้องระมัดระวังเรื่องงูมากที่สุด อย่างเสือมันกลัวคนอยู่แล้วโดยสัญชาตญาณ เจอคนหรือได้กลิ่นคนหรือกองไฟก็หลบไป หรือช้างถ้าได้กลิ่นควันไฟก็หลบไป
“ส่วนเรื่องช้างตกมันในป่าแทบไม่มีหรอกครับ ที่ช้างตกมันเพราะช่วงติดสัด เป็นช่วงเวลาผสมพันธุ์ ช้างตกมันเพราะคนไปผูกไปล่ามมันเอาไว้ ทำให้หงุดหงิด โกรธ โมโห แต่ในป่าไม่ค่อยมีอย่างนั้น เพราะมีช้างตัวเมียอยู่แล้ว ยกเว้นช้างสีดอเกเรที่ไม่มีฝูงอยู่ ช้างสีดอน่ะปกตินิสัยเกเรอยู่แล้ว ถึงจะตกมันหรือไม่ตกมันก็พาลหาเรื่องได้ทุกเวลา เข้าป่าต้องระวัง ที่สำคัญต้องคอยระวังช้างที่เคยวิวาทกับคนเคยโดนยิง โดนคนแกล้ง เช่น โดนจุดประทัดไล่มาก่อน โดนปืนยิงขู่อย่างแถวป่าละอู หรือเขาชะเมา ช้างจะเกเรเพราะถูกกระทำมาก่อน เราก็ต้องระวัง
“แต่ถ้าถามเรื่องความลี้ลับ สำหรับผมเป็นแค่การพบเจอเฉยๆ ผมจะเจอแต่เรื่องดีๆ เช่น มีคนมาคุยด้วยสองคน ทั้งๆ ที่ตรงนั้นเป็นป่าใหญ่ คุยกันแล้วเขาก็ไป ตอนนั้นเราก็ได้ยินเสียงหมาเห่า เสียงไก่ขัน เพื่อเป็นการยืนยันว่ามีบ้านคนอยู่แถวนี้ ตกตอนเช้าพวกเราก็คุยกันว่าเดี๋ยวไปบ้านสองคนนี้ดีกว่า แกบอกว่าบ้านแกอยู่แถวนี้ ไปขอข้าวกินสักมื้อ แต่พอไปถึงกลับเจอบ้านร้าง ซึ่งที่นั่นเป็นหมู่บ้านเก่าแก่ที่ไม่มีคนอยู่แล้ว (แสดงว่าคุณบุหลันเป็นคนไม่กลัวผีสิคะ) กลัวสิครับ (หัวเราะ) ใครไม่กลัวผี ตอนนั้นขนลุกเลย รีบเดินหนีไปเลยครับ (หัวเราะ)
“อีกครั้งคือเคยมีผู้ชายมาหาผมตอนตีห้า ตอนนั้นผมอยู่พม่า นั่งห้างอยู่คนเดียวบนยอดไม้สูงในป่า ที่ผมเห็นคือเขาเป็นคนกะเหรี่ยงโบราณที่ยังมัดผมด้วยผ้าฝ้าย นุ่งกางเกงขาก๊วย สะพายปืนสองกระบอก เราคุยกันเป็นภาษากะเหรี่ยงว่าเป็นใคร มาจากไหน อยู่เมืองไทยหรือพม่า แต่คุยกันแบบไม่มีเสียงนะครับ ตอนเช้าวันรุ่งขึ้นพอมีเรือไปรับผมกลับมา ผมก็เล่าให้คนที่มาในเรือกับเราฟังเขาก็บอกว่าผมโดนแล้วละ เพราะตรงนั้นเป็นป่าช้าที่ฝังคนกะเหรี่ยง ผมยังจำได้จนถึงทุกวันนี้”
เข้าป่าจำเป็นต้องมีอะไร?
“อย่างแรกคือเตรียมร่างกายให้พร้อม ทำตัวเองให้แข็งแรงที่สุด วิ่งออกกำลังกาย และพร้อมที่จะแบกเป้หนักๆ เพราะวันแรกๆ น้ำหนักในเป้จะมีประมาณ ๑๘-๒๐ กิโลกรัม ในเป้เราของที่ต้องมีหลักๆ คืออุปกรณ์ยังชีพ เช่น ข้าวสาร, อาหาร, เปลสนาม, ฟลายชีทกันฝน, มีด, ไฟฉาย, ยารักษาโรค, ยาประจำตัว, รองเท้า, รวมถึงเครื่องปรุงอย่างพริก เกลือและกะปิ คืออะไรที่ขาดไม่ได้เลย ต้องมีไว้เพื่อเอามาปรุงแต่งรส สมมติไม่มีอะไรเลย แต่เราเก็บผักกูดมาได้ก็เอามาผัดใช้เกลือปรุงรส หรือถ้าได้ปลามาถ้าทาเกลือก็พอกินได้ แต่ถ้าไม่มีเกลือก็กินไม่ลง เกลือแทนเครื่องปรุงได้ทุกอย่าง
“อีกอย่างคือพริก ซึ่งให้ตำจนละเอียดแล้วผัดกับน้ำมันให้สุกใส่กระปุกไว้ เวลาหิวก็นำมาคลุกข้าวกินก็ได้ หรือเวลาทำน้ำพริกกะปิก็เอาพริกใส่ เก็บได้นาน ไม่บูด อีกอย่างที่สำคัญมากๆ เลยคือ ‘รองเท้า’ เท้าและขาเราสำคัญมากเวลาเดินป่า ถ้าอยู่ในป่าแล้วเท้าหรือขาเจ็บขึ้นจะเกิดภาระขึ้นมากมาย เพราะไม่มีสัญญาณโทรศัพท์อะไรเลย จะยุ่งยาก แล้วรองเท้าต้องมีคุณภาพ รองเท้าที่ผมใส่จะเป็นแบบเดียวกับรองเท้ากีฬา หรือรองเท้าอะไรก็ได้ที่ใส่แล้วชอบ คุ้นกับมัน ราคาสูงนิดนึง แต่ไม่มาก เราใส่แล้วสบายเท้า ไม่แข็ง นุ่มเท้า เกาะพื้น เพราะในป่ามีทั้งก้อนหิน ดินยุบ หนาม ขอนไม้แห้ง ขอนไม้เปียกซึ่งพร้อมที่จะลื่น มีหน้าผาพร้อมที่จะล้ม แต่ลูกหาบบางคนใส่รองเท้าแตะด้วยซ้ำ แต่นั่นเป็นเพราะเขาถนัดแบบนี้”
ไข้ป่าเกือบคร่าชีวิต
การเดินป่าบ่อยๆ เหมือนจะทำให้คุณบุหลันคุ้นเคยกับโรคมาลาเรียดี โรคที่ใครหลายคนหวาดกลัว เขารู้จักโรคนี้และเป็นบ่อยจนรู้ว่าจะมีอาการยังไง แล้วจะดีขึ้นเมื่อไหร่ ต้องกินยาตัวไหนช่วย แต่ก็นั่นแหละ ยังไงโรคนี้ก็มีพิษร้ายจนครั้งหนึ่งเขาก็เกือบจากโลกนี้ไปด้วยไข้มาลาเรียเช่นกัน
“ตอนนั้นผมเที่ยวป่าอยู่กับเพื่อนอีกคนหนึ่งชื่อแก้มดำที่ชายแดนเมืองทวาย พม่า เขาเป็นคนกะเหรี่ยง ส่วนเพื่อนคนอื่นกลับเมืองไทยไปแล้ว แต่ผมยังอยากเที่ยวต่อ คิดว่าน่าจะพอใช้ชีวิตอยู่ได้สบาย ขอข้าวกินได้ แต่กลายเป็นว่าผมป่วยและนอนอยู่ที่ริมระเบียงร้านค้าเล็กๆ ตรงแม่น้ำตะนาวศรี จนวันที่สี่ห้าอาการหนักมาก อาเจียน เดินไม่ไหว และผมร่วงด้วย ซึ่งผมบนศีรษะที่หลุดติดมือออกมาได้คืออาการที่บอกว่าวันรุ่งขึ้นเราน่าจะไม่รอดแล้ว เพราะไม่มียากิน ไม่มีใครช่วยได้ เลือดในร่างกายมันเสียแล้ว เรือมาจอดดูเรากี่ลำๆ เขาก็บอกว่าคนไทยคนนี้ตายแน่ แต่ในที่สุดก็มีเรืออีกลำมาจอดและมีหมอทหารกะเหรี่ยงที่เป็นผู้หญิงคนหนึ่งเดินขึ้นมา แล้วก็ฉีดยา ให้น้ำเกลือผม เขาพักอยู่ คอยดูแลผมตรงนั้นหนึ่งคืน แล้วก็ไปต่อในวันรุ่งขึ้น จากนั้นเพื่อนที่อยู่เมืองไทยที่เห็นว่าผมหายไปนานก็เดินทางมาตามในเวลาต่อมา แล้วผมก็ได้มารักษาตัวต่อที่โรงพยาบาลเวชศาสตร์เขตร้อนในกรุงเทพฯ เลยทำให้รอดชีวิตมาได้ครับ”
‘สาบสมิง’ ผลงานที่รวบรวมประสบการณ์ทั้งชีวิตมาถ่ายทอด
อย่างที่เล่ามาตั้งแต่ต้นว่า คุณบุหลันมีผลงานด้านการเขียนแนวผจญภัยในป่ามากมาย ซึ่งแต่ละเรื่องก็มีความสนุกสนานในตัวของเรื่องเอง รวมไปถึงนวนิยาย สาบสมิง ที่เขาบอกว่า เรื่องนี้ใช้ประสบการณ์ทั้งชีวิตของเขาในการถ่ายทอด และเป็นอีกผลงานที่น่าประทับใจไม่แพ้กัน โดยหนังสือเรื่องนี้ได้แบ่งออกเป็นตอนๆ ไม่ว่าจะเป็นตอน ดงดำ, ตอน หุบผาแห่งคำสาป, ตอน งาช้างศักดิ์สิทธิ์, ตอน ไพรอำพราง และตอนอื่นๆ ในเล่มต่อๆ ไป (ยังเขียนไม่จบ)
“สาบสมิง เป็นงานเขียนที่ยากมากครับ ใช้ประสบการณ์กว่าสามสิบปีของตัวเอง ที่เริ่มกันตั้งแต่ผมย้ายจากเพชรบุรีมาอยู่สวนผึ้ง, ราชบุรีกับชาวกะเหรี่ยง เพราะมีการสอดแทรกประเพณีบ้านป่าดั้งเดิมไว้ในนั้น และผมก็ได้มีโอกาสเดินป่าไปไหว้ฤๅษีที่เลตองคุ จังหวัดตาก ฤๅษีพระธาตุมอลาอิที่พม่า ได้มีโอกาสมุดถ้ำเมืองลับแลของลาว ศึกษาเรื่องราวของเจ้าเมืองแถบสังขละบุรี แล้วก็รวบรวมประสบการณ์เดินป่าทั้งหมดหลายสิบปีมาเขียนเรื่องนี้ เรียกว่าเป็นการรวบรวมองค์ความรู้ทั้งหมดที่ยากมาก ต้องใช้เวลาในการสั่งสมเกือบทั้งชีวิต
“อย่างเรื่องราวของฤๅษี ผมก็ศึกษาว่าการที่จะเป็นฤๅษีแต่ละครั้งต้องเริ่มต้นยังไง รวมถึงประวัติเรื่องของเมืองโบราณเจ้าเมืองสมัยก่อน เรื่องราวในอดีตต่างๆ เรื่องพระเจดีย์ ๓ องค์ ซึ่งสมเด็จกรมพระยาดำรงฯ เคยเขียนไว้ว่า พระเจดีย์ ๓ องค์ ในเมืองไทยมี ๓ แห่งด้วยกัน หนึ่งในนั้นมีอยู่ที่ทุ่งพระเจดีย์สวนผึ้ง จังหวัดราชบุรีด้วย ผมเลยไปค้นหาข้อมูลไปคุย ไปสัมภาษณ์คนเหมืองประมาณ ๔๐-๕๐ คน ซึ่งจากการสืบค้นทำให้รู้ว่า เมื่อดูดแร่ลึกลงไปไม่เกินสิบเมตร เราจะเจอซากเก่าๆ ของหินกะเทาะ หินขัด สำริด ภาชนะโบราณสมัยก่อน ซึ่งผมก็สืบค้นในนิตยสาร ศิลปวัฒนธรรม ต่อไปว่าหินกะเทาะอยู่ในยุคไหน แล้วพบว่ามีก่อนยุคหินอีก แล้วยังมีหินขัดที่อยู่ในยุคหินกลาง หินเก่า และมียุคสำริด ซึ่งแต่ละชั้นหินนั้นเป็นการบอกว่าในอดีตเคยมีคนอยู่มาแล้วทั้งหมด
“พอมาศึกษาเรื่องเหล่านี้ก็ทำให้ผมผูกนิยายเรื่อง สาบสมิง ขึ้นมาให้เป็นนิยายเชิงประวัติศาสตร์ที่มีเรื่องของภพชาติเป็นความรัก ความพยาบาท ๓ ภพ ๓ ชาติ ของคน ๓ รุ่นมาเจอกัน เป็นอดีตซ้อนอดีต รวมทั้งปัจจุบัน และได้รับการตอบรับที่ดีมากๆ ครับ”
พิทักษ์ป่าไม้ คือการต่อลมหายใจของสิ่งมีชีวิต
อีกบทบาทหนึ่งที่น่าสนใจของคุณบุหลันคือการเป็นจิตอาสารักษาผืนป่าในกลุ่ม ‘อาสาสมัครดับไฟป่า ชมรมรักษ์เขากระโจม ในพื้นที่เขาแหลม เขากระโจม อำเภอสวนผึ้ง’ ซึ่งเป็นอีกงานที่เขาภาคภูมิใจ แม้ไม่มีค่าตอบแทนเป็นเงิน แต่การได้ทำหน้าที่อย่างดีที่สุดก็เรียกได้ว่าเป็นกำลังใจชั้นดี
“จากเมื่อก่อนตอนเป็นวัยรุ่นผมเป็นนักล่าสมัครเล่น ยิงอะไรไม่ค่อยพลาด วันหนึ่งผมรู้สึกว่าเราทำแบบนั้นไม่ได้แล้วและคงถึงเวลาที่เราต้องตอบแทนที่ที่เราอยู่อาศัยและเป็นที่ที่เรารักของเราด้วย หลังๆ พอผมมาทำไร่ มีคนงานเยอะ เริ่มมีกำลัง ก็เลยเริ่มช่วยดับไฟป่า มีชาวบ้านก็มาช่วยด้วย และพอมีกำลังมากขึ้นก็ไปช่วยได้กว้างขึ้น ผมเองก็จะประสานงานกับทหารพม่าขอกำลังมาช่วยกัน ระหว่างที่ไปช่วยดับไฟ ได้เจอพวกแร้วดักสัตว์ก็เก็บทำลาย และพยายามจะพูดคุยกับคนที่ตัดไม้ด้วย
“เราทำงานอนุรักษ์แบบเงียบๆ ของเราไป แต่พอได้เดินป่ากับเจ้าหน้าที่พิทักษ์ป่าบ่อยๆ ก็ได้เห็นว่าเขาทำงานกันหนักมากและยังต้องเสี่ยงชีวิต มีเจ้าหน้าที่แต่ละหน่วย ๕-๖ คน แต่ต้องดูแลผืนป่ามหาศาล แถมปืนก็ไม่ค่อยมี ลูกปืนก็น้อย อาหารการกินก็ขาดแคลน มีแต่มาม่า ปลากระป๋อง เงินเดือนก็หลักพัน มันทำให้ผมรู้สึกประทับใจและเห็นใจ เลยชวนเพื่อนๆ มาทำกิจกรรมเล็กๆ น้อยๆ ช่วยเจ้าหน้าที่ดูแลป่า รักษาป่า และผมก็มีความเชื่อด้วยว่า…คนในพื้นที่ต้องดูแลพื้นที่ที่เราอยู่กันก่อน แต่ละที่ต่างช่วยกัน ก็จะครอบคลุมทั้งประเทศ ซึ่งจะช่วยพิทักษ์รักษาป่าได้ดีมากเลยละครับ”