“มหกรรมมนุษย์” นวนิยายรางวัลชนะเลิศโครงการอ่านเอาก้าวแรก รุ่น 3  กับ 10 ปีที่รอคอย ของ ชวชิต สุนทรศารทูล

“มหกรรมมนุษย์” นวนิยายรางวัลชนะเลิศโครงการอ่านเอาก้าวแรก รุ่น 3 กับ 10 ปีที่รอคอย ของ ชวชิต สุนทรศารทูล

โดย : YVP.T

“นักเขียน” คำๆ นี้คุณผู้อ่านให้ความหมายกันว่าอย่างไรบ้างคะ คนที่เขียนเก่งๆ จนเป็นที่ยอมรับในวงกว้าง หรือคนที่ขยันเขียนไม่ว่าจะเขียนอะไรก็ตาม จะมีคนอ่านหรือไม่ก็ตาม ไม่มีผิดไม่มีถูกในยุคนี้ หรอกค่ะ เพราะหัวใจสำคัญคือการได้เขียนด้วยความรักที่จะเขียน

คุณแนน-ชวชิต สุนทรศารทูล เจ้าของนวนิยาย “มหกรรมมนุษย์”  ผลงานชนะเลิศจากโครงการอ่านเอาก้าวแรก รุ่น 3 คืออีกหนึ่งคนที่พิสูจน์กับตัวเองแล้วว่า นักเขียนคือคนที่เขียนด้วยความรัก แม้ผลงานนั้นจะต้องใช้เวลานานร่วม 10 ปี กว่าที่จะเสร็จสมบูรณ์

“มหกรรมมนุษย์” คือ ผลงานนวนิยายเรื่องยาวเรื่องแรกของชวชิต แต่ก่อนหน้านี้ เขาเคยส่งเรื่องสั้นเข้าประกวดรางวัลสุภาว์ เทวกุล ปี 2556 ในชื่อเรื่อง “ความทรงจำที่เหลือของแม่” โดยใช้นามปากกาว่า สีตลา สัตสุวรรณ และได้เป็น 1 ใน 20 เรื่องสั้นสุดท้ายที่เข้ารอบและได้รับการรวมเล่มอยู่ในเรื่องสั้น “25 ปีต่อมา”  แม้ผลงานเรื่องนี้จะไม่ได้รับรางวัลใดๆ แต่ก็เป็นผลงานที่เขาภูมิใจมากเพราะเป็นเรื่องสั้นเรื่องแรกในชีวิตที่เขียน

“ผมเขียนมหกรรมมนุษย์บทแรกในปี 2554 ด้วยความคิดว่า อยากอ่านเรื่องในแบบที่เราคิดบ้าง เพราะในฐานะนักอ่าน เราได้อ่านนวนิยายมาหลายรูปแบบแต่เรื่องราวแบบที่เราคิดและเคยประทับใจ ยังไม่ค่อยได้เห็น กเลยลงมือเขียนบทแรกของ “มหกรรมมนุษย์” ขึ้นมา

“เรื่องนี้พูดถึงผู้หญิงคนหนึ่งที่เล่าเรื่องราวตั้งแต่เล็กจนโต ผ่านเหตุการณ์ทั้งร้ายและดีในชีวิต ทั้งที่เกิดจากคนในครอบครัวและคนรายรอบตัว พอนิตยสารสกุลไทยเปิดรับสมัครผลงานเข้าประกวดรางวัลสุภัทร สวัสดิรักษ์ ผมก็พยายามปรับเนื้อหาให้พอดีกับจำนวนหน้ากระดาษตามกติกากำหนด แต่ด้วยความมือใหม่ของเราที่ไม่มีหลักการเขียนที่ถูกต้อง ทำให้เขียนได้ไม่จบ ผมจำได้ว่าผ่านรางวัลสุภัทรไปถึงสองครั้ง และผ่านรางวัลประภัสสร เสวิกุลไปหนึ่งครั้ง ผมเองก็ยังไม่สามารถปั่นงานให้จบเพื่อส่งประกวดได้

“ผ่านไป 6 ปี ผมตัดสินใจส่งมหกรรมมนุษย์เข้าประกวดรางวัลของสถาบันหนึ่งในปี 2560 แต่ไม่ผ่านเข้ารอบลองลิสต์ คิดเอาเองว่า ต้นฉบับนั้นน่าจะมีบาดแผลฉกรรจ์อยู่หลายจุด ผมทิ้งนวนิยายเรื่องนี้ไว้อยู่นาน  แต่ก็พยายามหยิบมาแก้ด้วยตัวของผมเอง แต่เหมือนเราจมกับผลงานของเราอยู่คนเดียว มันก็จะวนอยู่อย่างนั้น   พอโครงการอ่านเอา 3 เปิดรับสมัคร ก็เห็นว่าเป็นโอกาสดีที่ผมจะได้อบรมกับโครงการแล้วนำความรู้ที่ได้มาปรับปรุงงานเขียนของเราได้”

จริงหรือไม่ที่ใครๆ ก็เขียนได้?

คำถามนี้ อ่านเอาขอตอบว่าจริง! (แต่จะเขียนออกมาในแบบไหนเป็นอีกเรื่อง) และขอเสริมตรงนี้แบบย้ำให้มั่นใจเลยว่า แม้คุณจะไม่ได้เรียนจบเฉพาะทางด้านภาษาหรือสาขาวิชาที่เกี่ยวข้องกับการเขียน คุณก็เขียนได้

“ทั้งสาขาวิชาที่เรียนจบมา และงานที่ทำอยู่ในตอนนี้ ไม่มีอะไรที่เกี่ยวข้องกับการเขียนเลยสักนิด ผมจบมัธยมจากสวนกุหลาบวิทยาลัย ปริญญาตรีวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ ปริญญาโท บริหารเทคโนโลยี วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตอนนี้ทำงานอยู่บริษัท ไปรษณีย์ไทย จำกัด ดูแลระบบบริหารความสัมพันธ์ลูกค้า แต่เป็นคนที่รักการอ่านมาตั้งแต่เด็ก  พอรักแล้ว อ่านมากๆ ก็อยากเขียนบ้าง นี่คือจุดเริ่มต้นเล็กๆ ของการเขียน

“จำได้ว่าหนังสือพิมพ์สมัยก่อนจะลงบทโทรทัศน์เป็นตอนๆ พร้อมรูปภาพประกอบ เราก็หยิบสมุดมาเขียนบ้าง คิดชื่อเรื่อง ชื่อตัวละคร แล้วตีกรอบเป็นคอลัมน์  ใช้ลากเส้นให้ดูเหมือนว่าเป็นตัวอักษร มีวาดรูปด้วยนะครับ โตขึ้นมาหน่อยพยายามขอเงินแม่ซื้อนวนิยายเรื่องบัวแล้งน้ำของโบตั๋น เพราะชอบมาก ตอนนั้นเล่มละ 120 บาทเอง แต่แม่ไม่ให้เงิน ท่านบอกว่าอ่านรอบเดียวก็เบื่อแล้วเลยต้องอาศัยอ่านจากห้องสมุดโรงเรียนแทน ยิ่งได้อ่านทำให้อยากจะเขียน พอเริ่มต้นเขียนก็สะเปะสะปะไปหมด  เวลาที่ชอบสำนวนของนักเขียนท่านไหนก็พยายามเขียนให้เหมือนคนนั้น  แต่มาเขียนจริงๆ จังๆ ตอนชั้นมัธยมปลาย เพราะเรียนเครียดกันมาก ผมเลยเขียนนวนิยายขนาดสั้นชื่อ “รักลวง” ให้เพื่อนในห้องช่วยกันอ่าน แต่เพราะสมัยนั้นไม่มีอินเทอร์เน็ตเลยไม่ได้มีโอกาสเอาเรื่องไปลงที่ไหน พยายามกู้ต้นฉบับจากฮาร์ดดิสก์อยู่ ถ้ากลับมาอ่านอีกครั้งตอนนี้ก็คงตลกดี”

รวมเรื่องสั้น

อ่านเอาก้าวแรกคือจุดเริ่มต้นของการปิดฉาก “มหกรรมมนุษย์”

ชวชิตติดตามโครงการตั้งแต่อ่านเอาก้าวแรก 1 แต่เพราะรู้สึกว่ายังไม่พร้อมจนผ่านไปถึง 2 รุ่น เขาจึงตั้งปณิธานกับตัวเองว่าถ้าโครงการอ่านเอาก้าวแรก 3 เปิดตอนไหน จะรีบสมัครทันที และความตั้งใจของเขาก็เป็นจริง เมื่ออ่านเอา เปิดรับสมัครโครงการอ่านเอาก้าวแรก รุ่น 3 แต่…เนื่องจากสถานการณ์โควิดยังรุนแรงอยู่ อ่านเอาจึงต้องเลื่อนโครงการออกไป เมื่อเปิดรับสมัครอีกครั้ง ชวชิตคือผู้สมัครลำดับที่ 2 ของโครงการ

“การอบรมได้ปลดล็อคการเขียนของผมหลายอย่าง เพราะพี่ๆ วิทยากรสอนตั้งแต่การวางพล็อตเรื่อง การสร้างฉาก การกำหนดตัวละคร งานเขียนก็เหมือนกับการสร้างบ้าน เราจะสร้างปราสาทหรือสร้างกระท่อม ต้องวางโครงสร้างรากฐานให้แข็งแรงก่อน ก่อนไปก่อผนัง ทำหลังคา ซึ่งกระบวนการแต่ละขั้นตอนอยู่ในชั้นเรียนทั้งหมดเลย ผนวกกับประสบการณ์การเขียนของวิทยากรแต่ละท่านที่ถ่ายทอดออกมา โดยเฉพาะจุดผิดพลาดที่ต้องระวัง ทั้งเรื่องภาษาและการหาข้อมูลอ้างอิงประกอบการเขียน ที่มักจะเป็นข้อกังวลของนักเขียนใหม่

“ถึงจะเป็นการอบรมออนไลน์แต่ทุกคนได้ซักถาม และพี่ๆ วิทยากรก็ตอบให้สิ้นสงสัยในทุกคำถาม ไม่ว่าจะถามสดหรือถามผ่านข้อความ เพื่อนๆ ทุกคนก็อยู่จนจบชั้นเรียน แทบไม่มีคนออกเลย หลังเรียนจบ เรามีกลุ่มไลน์ไว้แลกเปลี่ยนข้อมูล ถึงผมไม่เคยได้โพสต์อะไรเลย แต่ทุกข้อความช่วยกระตุ้นกันว่าเขียนไปถึงไหนแล้ว เหมือนการรวมตัวของคนที่มีเป้าหมายร่วมกัน เป็นแรงผลักดันดีๆให้เราต้องเร่งสร้างผลงานของตัวเอง  ต้องขอบคุณอ่านเอามา ณ ที่นี้ด้วย ที่เปิดโอกาสให้มีโครงการดีๆ อย่างนี้ครับ”

หนังสือที่ประทับใจเป็นต้นแบบของมหกรรมมนุษย์

จุดอ่อนได้แก้ไข นวนิยายที่ค้างคาได้สานต่อ

ปัญหาหนึ่งที่นักเขียนมือใหม่มักจะเจอกันมากคือ อยากจะเขียน แต่ลำดับขั้นตอนการเขียนไม่ถูก ไม่รู้จะเริ่มต้นตรงไหน เมื่อลงมือเขียน พล็อตเรื่องที่วางไว้ยังไม่แข็งแรงพอ เมื่อเขียนไปสักพักจะตัน และรู้สึกว่าที่เขียนไปนั้นมันผิดทั้งหมด พอยิ่งอ่านก็ยิ่งแก้จนท้อ ไปต่อไม่ได้ ผลสุดท้ายคือเขียนไม่จบ แรงบันดาลใจที่มีเต็มเปี่ยมแต่แรกก็หายเกลี้ยง

“จุดอ่อนแรกของผม คือ ความลังเล ไม่รู้จะเล่าเรื่องยังไงดี อย่างมหกรรมมนุษย์นี้ก็ผ่านการแก้ไขวิธีการเล่าเรื่องมาแล้ว 2-3 ครั้ง เนื่องจากพล็อตค่อนข้างยาว ถ้าไม่เล่าด้วยวิธีสรรพนามบุรุษที่หนึ่ง ก็อาจจะรวบรัดตัดตอนบางประเด็นไม่ได้ แต่พอเล่าแบบนั้นก็อาจจะเก็บมุมมองของตัวละครอื่นได้ไม่ครบ จนพี่ๆ วิทยากรบอกว่านวนิยายของเรา เราคือผู้กำกับการแสดง เราจะเขียนอย่างไรขึ้นอยู่กับเราเอง แต่ต้องเป็นวิธีการที่สื่อสารกับผู้อ่านได้เข้าใจและชัดเจน ผมเลยตัดสินใจได้ว่าเราจะเล่าแบบไหนและแก้ไขให้เป็นแบบนั้นจนจบเรื่อง

“จุดอ่อนอีกข้อคือความเป็นมือใหม่ทำให้เราพลาดได้ง่าย โดยเฉพาะการให้ความสำคัญกับตัวละคร  พี่ๆ วิทยากรย้ำเสมอ คือ อย่าสร้างและทิ้งตัวละครไหนไว้ข้างหลังโดยไม่จำเป็น ซึ่งเรื่องของเราก็ตัวละครเยอะเสียด้วย ก็พยายามเก็บข้อแนะนำไปแก้ไข พยายามให้นวนิยายมีบาดแผลน้อยที่สุด พูดได้เลยว่าการเรียนในโครงการอ่านเอา 3 ทำให้ผมสามารถปิดต้นฉบับของเรื่องได้  ถ้าไม่มีอ่านเอาก้าวแรก 3 ก็คงไม่มีมหกรรมมนุษย์ในวันนี้ครับ”

 

นาทีที่ได้รู้ว่า “มหกรรมมนุษย์” คือผลงานชนะเลิศ

ต้องสารภาพตามตรงว่าตอนประกาศผล ผมไม่ได้ฟังไลฟ์สดเลย เพราะเป้าหมายสูงสุด คือ การเขียน และแก้ไขเรื่องนี้ให้เสร็จจนสามารถส่งงานได้ทันตามกำหนด ซึ่งผมทำได้สำเร็จแล้วตอนกดส่งอีเมลในนาทีสุดท้ายของวันปิดรับเรื่องพอดี  สำหรับนักเขียนมือใหม่อย่างผม บอกตามตรงว่าการได้รับรางวัลเป็นเรื่องเหนือความคาดหมาย เพราะเราอยู่กับนวนิยายของเราคนเดียว รู้จุดอ่อน รู้จุดด้อย รู้ว่าตรงไหนยังเป็นแผล ยิ่งกลับมาอ่านก็ยิ่งเห็นข้อผิดพลาดเล็กๆ น้อยๆ คิดแต่ว่าถ้าเพิ่มตรงนั้นนิดตรงนี้หน่อย เล่าเรื่องตรงนี้เพิ่ม จะสมบูรณ์ขึ้นอีก

“วันนั้นเลยส่งข้อความเข้าไปถามในกลุ่มไลน์อ่านเอาก้าวแรก 3 ว่ามีเพื่อนท่านไหนฟังประกาศผลอยู่บ้าง เราจะได้ร่วมแสดงความยินดีด้วย ปรากฎว่ามีเพื่อนในกลุ่มแท็กมาแสดงความยินดี กับเพื่อนสนิทของผมที่เป็นนักเขียนเหมือนกันและชวนกันมาลงเรียนโทรแจ้งข่าว รู้สึกช็อคมาก ยิ่งกลับไปย้อนฟังไลฟ์ที่พี่ๆพูดถึงนวนิยายของเรา ทุกคำพูดเลย ประทับใจยิ่งกว่ารู้ว่าได้รางวัลชนะเลิศอีก สัญญากับตัวเองว่าจะตั้งใจผลิตผลงานและประคับประคองตัวบนเส้นทางสายนี้ต่อไป”

บ้านริมน้ำต้นแบบ

“มหกรรมมนุษย์” นวนิยายรางวัลชนะเลิศโครงการอ่านเอาก้าวแรก รุ่น 3

เรื่องราวใน “มหกรรมมนุษย์” คือเรื่องราวของ ‘ชมนาด’ ผู้หญิงที่เกิดในช่วงปลายสมัยรัชกาลที่ 6  เธอเป็นคนคิดเร็ว พูดเร็ว ทำเร็ว ผิดกับผู้หญิงทั่วไปในสมัยนั้น เนื่องจากเธอต้องรับภาระดูแลกิจการของครอบครัว  ซึ่งต้นแบบของตัวเอกนางนี้ ชวชิต ได้มาจากคุณยายท่านหนึ่งที่เคารพรัก

“คุณยายท่านนี้เป็นผู้หญิงเก่งที่สร้างเนื้อสร้างตัวจากคนที่ไม่มีอะไรเลยจนมีบ้านหลายหลังให้เช่า ลูกหลานได้เรียนหนังสือ แต่บั้นปลายชีวิตกลับไม่ได้อุ่นหนาฝาคั่งด้วยลูกหลานรายล้อมอย่างที่ควรจะเป็น

“มหกรรมมนุษย์เปิดฉากขึ้นมาด้วยมรณกรรมของชมนาดท่ามกลางความขัดแย้งของลูกหลาน แล้วค่อยๆ เล่าย้อนกลับไปตั้งแต่เกิด เติบโต และใช้ชีวิตผ่านการเปลี่ยนแปลงการปกครอง ผ่านสงครามโลกครั้งสอง ผ่านเหตุบ้านการเมืองมากมายที่หลายเหตุการณ์ส่งผลกระทบต่อชีวิตของชมนาดโดยตรง

“นวนิยายเรื่องนี้มีตัวละครค่อนข้างมาก แต่ละตอนจะเป็นเรื่องของคนๆ นั้นที่เข้ามาข้องเกี่ยวกับตัวละคร โดยตัวละครแต่ละตัวมาจากบุคลิกลักษณะและเรื่องราวของคนหลายๆ คนที่ผมเคยพบเจอผสมกัน  ซึ่งในระหว่างเขียนก็พยายามอย่างยิ่งที่จะไม่ให้กระทบกับบุคคลที่ชีวิตอยู่จริง เพราะเป็นเรื่องที่อ่อนไหวมากๆ จึงระวังเป็นพิเศษ ส่วนโดยภาพรวมของเรื่องราวในมหกรรมมนุษย์จะเป็นอย่างไร ผมขอฝากให้ท่านผู้อ่านได้เป็นผู้ตัดสินนะครับ”

เมื่ออ่านถึงตรงนี้ อ่านเอาเชื่อว่าผู้อ่านได้ทำความรู้จักกับชวชิต สุนทรศารทูล และนวนิยายเรื่องยาวเรื่องแรกในชีวิตของเขา “มหกรรมมนุษย์” ที่การันตีด้วยรางวัลชนะเลิศจากโครงการอ่านเอาก้าวแรก รุ่นที่ 3 ไม่มากก็น้อย และแน่นอนค่ะว่า เราจะไม่จบบทความแบบไม่มีอะไรทิ้งท้ายจากชวชิตอย่างแน่นอน

“ปัจจุบันมีแพลตฟอร์มที่รองรับงานเขียนของนักเขียนหน้าใหม่ค่อนข้างมาก  เปิดโอกาสให้คนที่อยากเขียนได้แสดงผลงานของตัวเอง  อ่านเอาก็เป็นช่องทางหนึ่งเช่นกัน ผมจึงอยากขอฝากถึงคนที่รักการเป็นนักเขียนเช่นเดียวกับผมว่า  ขอให้ลงมือเขียนก่อนเลยนะครับ ไม่ว่าจะหยิบยกเรื่องใกล้ตัวมาเขียนหรือเลือกเรื่องที่อยากเขียน เรื่องที่ถนัดมาเขียนก่อนก็ได้ หรือแม้แต่เป็นสิ่งที่อยู่ในใจก็ระบายมันลงมาเป็นตัวอักษร อย่าเก็บไว้ให้เป็นแค่ความคิดอย่างเดียว และไม่ต้องกลัวผิดเพราะความผิดพลาดจะช่วยสอนเราเอง อย่างกรณีของผม ผมใช้เวลาเกือบสิบปีอยู่กับนวนิยายเรื่องนี้   ผมเชื่อว่านักเขียนหน้าใหม่หลายคนมีงานดองของตัวเอง อาจเป็นเรื่องที่ยังเขียนไม่จบ หรือเขียนแล้วยังไม่พอใจ ขอให้หยิบออกมาแก้ไขหรือปัดฝุ่นใหม่เสียตั้งแต่วันนี้ ไม่แน่นะครับ คุณอาจจะเป็นเพชรในตมที่รอการค้นพบอยู่ก็เป็นได้

“และสุดท้ายนี้ หากนวนิยาย “มหกรรมมนุษย์” จะพอมีความดีอยู่บ้าง ผมก็ขออุทิศความดีทั้งหมดให้แก่คุณยายผู้ซึ่งเป็นต้นแบบของตัวเอกในเรื่องนี้ด้วยนะครับ”

 

Don`t copy text!