“มนตร์เบญจรงค์” จากประสบการณ์งานสารคดีสู่การเขียนนิยายเล่มแรกของจรัสพร
โดย : สราญรัตน์ ไว้เกียรติ
“เหมือนเราทำงานโฆษณา เราก็จะทำตามกรอบของบรีฟ
เพราะฉะนั้นเราจะต้องทำเส้นเรื่องนิยายขึ้นมาบรีฟตัวเอง
เพื่อที่จะพาตัวเองไปถึงดวงจันทร์ให้ได้”
พี่เจี๊ยบ-จรัสพร มุขพรหม เปรียบเทียบวิธีการเขียนนิยายกับการเขียนสารคดีซึ่งเป็นงานประจำที่ทำอยู่ให้ฟัง พลางอธิบายความรู้สึกอีกอย่างที่เกิดขึ้นจากการได้เขียนอะไรสำเร็จสักเรื่องหนึ่งนั้นว่า “ราวกับคนว่ายน้ำข้ามมหาสมุทรไปถึงอีกฝั่งหนึ่งได้”
จรัสพรเริ่มต้นเส้นทางสายนักเขียนจากการเป็นทีมงานรายการสารคดีศิลปะวัฒนธรรม ชีพจรลงเท้า ทางช่อง 7 ได้เขียนงานมาหลากหลายแขนงทั้งการเขียนสคริปต์ ก๊อปปี้ไรเตอร์ บทสัมภาษณ์ และบทละคร และปัจจุบันกำลังทำรายการสารคดี ศิษย์มีครู ทางช่องไทยพีบีเอส ซึ่งเป็นรายการสารคดีเผยแพร่งานศิลปะหัตถกรรมไทยจากครูช่างทุกแขนง จรัสพรทำหน้าที่รวบรวมประวัติของครูช่าง ทำบทสัมภาษณ์ ทำภาพนิ่ง และทำหนังสือบันทึกไว้ ให้กับศูนย์ส่งเสริมศิลปาชีพระหว่างประเทศ (องค์การมหาชน) “องค์ความรู้ทางประวัติศาสตร์ไทยที่เราสั่งสมมาพวกนี้ จึงทำให้เกิด มนต์เบญจรงค์ ขึ้นมา”
เรื่องราวของ มนตร์เบญจรงค์ พาคนอ่านย้อนยุคไปถึงเรื่องราวของสมัยกรุงศรีอยุธยา นำทางด้วยโถเบญจรงค์สองใบที่มีวิญญาณพ่ออินและแม่จัน ซึ่งเป็นคนในสมัยกรุงศรีอยุธยาสิงสถิตอยู่ เกร็ดประวัติศาสตร์ที่ซ่อนอยู่ในโถเบญจรงค์ จรัสพรได้หยิบมาร้อยเป็นเรื่องราวขึ้น
“ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เวลามีการสั่งเครื่องใช้ถ้วยโถโอชามก็จะสั่งมาจากเมืองจีน แต่ระหว่างที่มีการสื่อสารก็มักจะเกิดความผิดพลาด เช่น ชาวสยามต้องการลายเทพพนม ก็บอกจีนว่า ต้องการลายเทพพนมมือ ช่างจีนก็นึกภาพต่อว่า อ๋อ เทวดาใช่ไหม ถ้าอย่างนั้นเทวดาจะต้องตัวอ้วน แก้มป่อง ตามโหงวเฮ้งที่ดีของคนจีนก็จะมาลงอยู่ในเครื่องถ้วยพวกนี้ เราก็เลยคิดต่อว่า แล้วถ้าเทวดาหน้าตาเหมือนคนจริงขึ้นมาจะเป็นยังไง”
เรื่องราวใน มนตร์เบญจรงค์ จึงเริ่มขึ้นด้วยเหตุดังนี้ พ่ออินเป็นลูกของนายสำเภาจีนขนเครื่องเบญจรงค์ เครื่องกังไส มาส่งให้ราชสำนักไทย วันหนึ่งพ่ออินได้โถเบญจรงค์มาสองใบ จึงอยากจะนำมาให้แม่จัน คนรักใบหนึ่ง แต่เมื่อมาถึงบ้านของแม่จันกลับมาล่วงรู้ความลับว่าพ่อของคนรักเป็นไส้ศึกพม่ามาซ่องสุมในแดนสยาม จึงเกิดการทะเลาะวิวาทและพ่ออินถูกฆ่าตาย เมื่อแม่จันเห็นเข้าก็วิ่งเข้าหาดาบที่แทงคนรักตายตามกัน พ่อของแม่จันจึงเชิญพ่อหมอพม่ามาสะกดดวงวิญญาณทั้งสองไว้ในโถเบญจรงค์คนละใบ ก่อเกิดเป็นลายใบหน้าของเทพบุตรและเทพธิดาจากใบหน้าจริงของพ่ออินและแม่จัน
นอกจากเกร็ดประวัติศาสตร์สมัยกรุงศรีอยุธยาที่นำมาผูกปมของเรื่องราว จรัสพรยังเลือกหยิบข้อมูลต่างๆ รอบตัวที่คุ้นเคยดีมาใช้สร้างตัวละคร เช่น น้ำทอง นางเอกของเรื่องที่มีอาชีพโปรดิวเซอร์ ก็มาจากอาชีพของจรัสพรเอง หรือฝั่งพระเอก ดร.ลงยา ก็นำบุคลิกและการแต่งกายมาจากคนที่จรัสพรรู้จักในชีวิตจริง
“เราดึงคาแรกเตอร์นี้มาจาก ดร.อนุชา ทีรคานนท์ ผู้นำโขนไทยไปแสดงบนเวทีโลก และมีโอกาสได้เคยทำงานร่วมกัน อาจารย์เป็นคนที่แต่งตัวสวยมากเหมือนในนิยายคือ นุ่งโจงกระเบน ใส่ผ้าไทย หรือไม่ก็เสื้อลินินกับกางเกงผ้าไหม”
แม่ครัวเขียนนิยาย
อีกด้านหนึ่งของจรัสพรหลังจากพักงานเขียน คือเธอเป็นแม่ครัวตัวจริงเสียงจริง และเป็นบล็อกเกอร์ทำอาหารที่โด่งดังมากในพันทิป จรัสพรเล่าถึงเรื่องนี้อย่างติดตลกว่า “นิยายเรื่องนี้จะเต็มไปด้วยเสื้อผ้าและของกิน ถึงบอกว่าอย่าให้แม่ครัวเขียนนิยาย”
จรัสพรสามารถทำอาหารได้ทุกประเภททั้งคาวหวาน อาหารไทยและอาหารฝรั่ง แต่เมนูที่ชอบทำที่สุดคือเมนูฟิวชั่นที่คิดทำขึ้นมาเองอย่าง “คานาเป้ฉู่ฉี่กุ้ง คานาเป้จะเป็นขนมปังแผ่นกลมกรอบๆ เอาครีมชีสมาตีหยอดข้างหน้า เอากุ้งลวกวาง เสร็จแล้วผัดพริกแกงทำฉู่ฉี่หยอดซ้ำ แล้วโรยด้วยมะกรูดซอย”
ความเชี่ยวชาญในการทำอาหาร จรัสพรยังได้รับเชิญจากรายการในไทยพีบีเอสให้ไปช่วยคิดเมนูอาหารจากวัตถุดิบที่ทีมงานตีโจทย์ไม่ออก และยังเป็นพิธีกรในรายการ อ่านอร่อย ในชุมชนอ่านเอาแห่งนี้อีกด้วย โดยในรายการจะนำเอาเมนูอาหารต่างๆ ในนิยายออกมาทำเป็นอาหารจริง เช่น ซูเฟล่ซอสปู จากในนิยายเรื่อง สูตรเสน่หา ของกิ่งฉัตร แกงส้มหน่อไม้ปูไข่จากเรื่อง ข้ามสีทันดร ของกฤษณา อโศกสิน หรือสะเต๊ะไก่แบบชวา จากเรื่อง บุหงาบาติก ของพงศกร ฯลฯ มาตีความว่าหน้าตาอาหารในนิยายเหล่านั้นจะออกมาเป็นอย่างไร
ความสำเร็จจากนิยายเรื่องแรก
คนรักการอ่านการเขียนย่อมเคยมีความฝันที่จะได้ออกหนังสือเป็นของตัวเองสักครั้ง จรัสพรเองก็มีความฝันนี้ไม่ต่างกัน เธอบอกว่า “อยากเขียนเมื่อไหร่ แค่คุณเอานิ้วมือจิ้มคีย์บอร์ด คุณก็ได้เป็นนักเขียนทันที เราเองก็มาเริ่มเขียนนิยายเมื่ออายุ 55 ปีแล้ว เพราะฉะนั้นไม่มีอะไรที่สายเกินไป”
ก่อนเริ่มเขียน มนตร์เบญจรงค์ ซึ่งเป็นเรื่องแต่งขนาดยาว จรัสพรเริ่มฝึกฝีมือจากการเขียนเรื่องสั้นลงขายในเว็บนิยายออนไลน์ มีชื่อว่า “เรือนวิฬาร์ เป็นเรื่องของคนที่เป็นทาสแมว ที่คนปัจจุบันชอบเลี้ยงแมวกัน ก็เลยมาลองคิดเล่นๆ ว่าลักษณะของแมวแบบนี้น่าจะต้องคิดแบบนี้แน่ๆ เลย แล้วถ้าวันหนึ่งคุณเกิดเป็นแมวขึ้นมา ก็จะได้รู้ว่าแมวคิดอะไร”
ในปี 2558 มนต์เบญจรงค์ได้กลั่นออกมาเป็นตัวหนังสือจนสำเร็จ เพราะสถานการณ์ทางการเมืองที่ทำให้งานประจำของจรัสพรลดลง จนมีเวลามาเขียนเรื่องแต่งขนาดยาวได้จนจบ แต่กว่าที่ มนตร์เบญจรงค์ จะปรากฏสู่สายตาผู้อ่านได้นั้นก็ใช้เวลาถึง 2 ปี เพราะขณะนั้นจรัสพรตั้งใจจะส่งนิยายให้กับสำนักพิมพ์กรู๊ฟ หากทางสำนักพิมพ์ยังไม่ประกาศรับนักเขียนเพิ่ม แต่ถึงจะใช้เวลาเนิ่นนานกว่าที่นิยายจะเดินทางมาพบผู้อ่าน จรัสพรก็มองเรื่องนี้อย่างแง่ดีว่า
“มันก็เป็นเรื่องของจังหวะและเวลา ถ้าเปิดตัวตอนนั้นก็อาจจะไม่เหมือนตอนนี้ที่มีเว็บอ่านเอาคอยสนับสนุน และเปิดช่องทางให้ผู้อ่านได้สัมผัสกับนิยายมากถึงขนาดนี้”
เสียงจากผู้อ่าน
จรัสพรเล่าถึงผลตอบรับจากนิยายเรื่องนี้ว่า “มีมหาศาลอย่างน่าตกใจ” มาทั้งเสียงชื่นชม ยินดี หรือขอให้ช่วยแต่งเพิ่มอีก เพราะคิดว่ายังเขียนไม่เสร็จ หรือแม้กระทั่งขอให้กรรมสนองตัวร้ายแรงๆ กว่านี้จะได้ไหม แต่ไม่ว่าความคิดเห็นจะมาในรูปแบบไหน จรัสพรก็ยินดีตอบความคิดเห็นของทุกคนอย่างสม่ำเสมอ “ด้วยความที่ตัวเองเล่นพันทิปมา เราจะเข้าไปตอบกระทู้ของทุกคน เพราะคนที่มาคอมเมนต์เรา เขาเสียเวลามานะ แล้วเขาพิมพ์จากความรู้สึกเขา เราก็จำเป็นต้องใช้ความรู้สึกที่ดีตอบกลับ”
มีผู้อ่าน มนตร์เบญจรงค์ ท่านหนึ่งที่จรัสพรประทับใจมากจนอยากเล่าให้ฟัง เธอส่งข้อความส่วนตัวมาหาว่า “ ‘อย่าหยุดเขียนนะคะ ชอบมากเลย ตอนนี้พี่อ่านอยู่หน้าห้องไอซียู สามีพี่ป่วยอาการไม่สู้ดี ขอบคุณที่ให้ความสุขในเวลาที่พี่ต้องนั่งรอสามีคนเดียว’ อันนี้ประทับใจมาก เหมือนกับว่าได้เพื่อนมาเพิ่มอีกหลายท่านเลย ซึ่งส่วนใหญ่ก็จะเป็นผู้ใหญ่ราวๆ เรานี่แหละ”
สำหรับนิยายเล่มต่อไปที่กำลังเขียนต่อจาก มนตร์เบญจรงค์ เป็นเรื่องราวที่ได้แรงบันดาลใจจากการทำสารคดีที่ประเทศเมียนมา ชื่อเรื่องว่า แต่ปางไหน ตั้งคำถามกับความเชื่อในเรื่องการกลับชาติมาเกิดที่เปลี่ยนแปลงไปตามวัย จากเมื่อก่อนที่เคยเชื่อว่าการตายคือการวนลูป เข้าสู่ท้องแม่ ปฏิสนธิ แล้วเกิดขึ้นมาใหม่ แต่เมื่อโตขึ้น ได้อ่านหนังสือเยอะขึ้น ก็มีมุมมองเกี่ยวกับความตายที่เปลี่ยนไปกลายเป็นเรื่องเล่าสลับร่างในมุมที่สนุกสนาน ระหว่างที่ทุกคนต้องอดใจรอกับนิยายเล่มใหม่ของจรัสพรนี้ ก็แวะไปอุดหนุน มนตร์เบญจรงค์ และพบปะพูดคุยกับ พี่เจี๊ยบ จรัสพร กันก่อนได้ที่งานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติครั้งที่ 47 ระหว่างวันที่ 28 มีนาคม-7 เมษายน 2562 นี้ ที่บู๊ทสำนักพิมพ์กรู๊ฟ