กฤษณา อโศกสิน 69 ปี ของกลิ่นไม้หอมที่เริ่มต้นจากหน้ากระดาษมาจนถึงโลกออนไลน์

กฤษณา อโศกสิน 69 ปี ของกลิ่นไม้หอมที่เริ่มต้นจากหน้ากระดาษมาจนถึงโลกออนไลน์

Loading

นับตั้งแต่ พ.ศ. 2494 ที่วงการนวนิยายไทยได้ต้อนรับเด็กสาววัย 20 ปีคนหนึ่ง ด้วยการรับเรื่องสั้น เขาพบกันที่หลุมฝังศพ ลงตีพิมพ์ในนิตยสารศรีสัปดาห์ เป็นครั้งแรก นับจากนั้นตัวหนังสือของเด็กผู้หญิงคนนั้นก็ส่งกลิ่นหอมไปทั่วบรรณพิภพไทยบนหน้านิตยสารมาจนถึงปัจจุบัน กว่า 69 ปี ที่ชื่อของ กฤษณา อโศกสิน โลดแล่นอยู่บนชั้นหนังสือ ส่งต่อภาษาวิจิตรงดงาม ให้นักอ่านจากรุ่นสู่รุ่นได้รับรสชาติชีวิตอันแสนเข้มข้นของตัวละครในแต่ละยุคแต่ละสมัย เรื่องราวแต่ละบทแต่ละตอนประทับอยู่ในความทรงจำของนักอ่านมาอย่างยาวนาน และกลายเป็นหนังสือทรงคุณค่าที่นักอ่านนวนิยายตามเก็บสะสม 

วันนี้ถึงแม้นิตยสารรายสัปดาห์ที่รับนิยายตีพิมพ์เป็นตอนๆ จะจางหายไปจากร้านหนังสือหมดแล้ว หากคุณกฤษณาในช่วงวัย 80+ ยังคงเขียนนวนิยายอย่างต่อเนื่อง โดยที่ชาวอ่านเอาทุกคนให้การต้อนรับอย่างรักใคร่ไม่ต่างจากการรอเปิดหน้ากระดาษนวนิยายเรื่องใหม่ อ่านเอาจึงรีบหาโอกาสไปเยี่ยมเยียนคุณกฤษณาเพื่อสอบถามถึงสารทุกข์สุขดิบบนเส้นทางที่เปลี่ยนแปลงไปของโลกวรรณศิลป์ไทยนี้  

คุณกฤษณาเริ่มต้นเขียนนิยายเมื่อไร

ดิฉันเริ่มเขียนหนังสือตั้งแต่อายุ 20 พ.ศ. 2494 ได้ลงตีพิมพ์ในนิตยสารศรีสัปดาห์ เป็นครั้งแรกด้วยเรื่องสั้น เขาพบกันที่หลุมฝังศพ ต่อมาก็เขียนเรื่องสั้นลง ศรีสัปดาห์ อีกราวๆ ร้อยเรื่อง บรรณาธิการก็เริ่มให้เขียนเรื่องยาว ดิฉันก็เลยเริ่มลงมือเขียนเรื่อง ชีวิตเป็นของเรา เป็นเรื่องแรกในชีวิตที่เขียนเรื่องยาวได้ แต่ว่าใช้เค้าโครงเรื่องความรักของเจน แอร์ ซึ่งเป็นเค้าโครงของฝรั่ง แต่เนื้อหาและเป้าหมายเป็นของไทย ใช้เป็นบันไดเขียนเรื่องยาวต่อมาได้ โดยที่ผูกเรื่องเอง จินตนาการเอง แล้วก็ใช้ประสบการณ์ชีวิตที่ได้รับตอนวัยเด็กของตนเอง ก็เขียนมาเรื่อยจนถึงเวลานี้คืออายุ 87 ปี 7 เดือน 

เคยนับไหมคะว่าเขียนนิยายมาทั้งหมดกี่เรื่องแล้ว

เท่าที่นับครั้งสุดท้ายคือราวๆ 150 เรื่อง และคิดว่ามากกว่านั้นไม่เกิน 10 เรื่องค่ะ

ปัจจุบันกำลังเขียนนิยายลงที่ไหนบ้าง

เวลานี้เขียนอยู่ในเว็บนิยายออนไลน์ 2 แห่ง คือเว็บไซต์อ่านเอา เรื่องขอบน้ำจรดขอบฟ้า และ Fictionlog เรื่องวังอาชาไนย เขียนไปจนจบภาคแรกแล้ว และกำลังเขียนภาคหลัง แต่ว่าในออนไลน์ยังเพิ่งอยู่ราวๆ บทที่ 21 ส่วน ขอบน้ำจรดขอบฟ้า ลงไปได้สัก 32 ตอนแล้วค่ะ

คุณกฤษณาอยู่ในวงการนิยายมาอย่างยาวนาน คิดว่ามีความเปลี่ยนแปลงไปอย่างไรบ้าง

ดิฉันเขียนลงนิตยสารประจำ คือสกุลไทยรายสัปดาห์ ขวัญเรือนรายปักษ์ และพลอยแกมเพชรรายปักษ์ ก็ส่งเรื่องติดต่อกันมายาวนาน แต่ไม่ค่อยได้ทราบเท่าไรว่า การอ่านของแต่ละยุคเปลี่ยนไปยังไง พอมาถึงตอนที่นิตยสารปิดตัวลงทั้ง 3 เล่ม ก็มีเว็บนิยายออนไลน์มาขอให้ดิฉันเขียน ก็เลยเขียน เพียงแต่ไม่เหมือนนิตยสาร คือดูคล้ายก็จริง แต่ก็เหมือนเป็นมหาสมุทรนวนิยายที่มีเป็นหมื่นเป็นแสนเรื่อง คล้ายๆ กับว่าเรื่องของเราก็จมลงไปในทะเลของนวนิยาย ซึ่งอันนี้เราก็ทำอะไรไม่ได้ 

ถ้าจะบอกกันจริงๆ แล้วก็คือไม่ประสบความสำเร็จในการลงเว็บนิยายออนไลน์ แต่ด้วยความที่ยังอยากเขียน ยังมีเรื่องที่จะต้องเขียน ก็เลยเขียน เขียนโดยได้ค่าตอบแทนน้อยมาก อย่างอ่านเอาเขาก็เป็นน้อง 3 คน (ปิยะพร ศักดิ์เกษม กิ่งฉัตร พงศกร) ที่เคยอยู่สกุลไทย ด้วยกัน น้องก็มาขอเรื่องและบอกว่าต้องเขียนฟรีนะ เราก็ตกลง 

จากการเขียนบนหน้านิตยสารมาสู่การเขียนออนไลน์ ต้องปรับวิธีการเขียนไหมคะ

ไม่ได้ปรับเลย เพราะเป้าหมายของเราคือพอใจที่จะเขียนแบบนี้ ก็ไม่ได้ปรับอะไรทั้งสิ้น ถ้ามีคนชอบก็ชอบ มีคนไม่ชอบก็ไม่เป็นไร เพราะดิฉันมีแนวทางเป็นเอกลักษณ์ของตัวเองมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้ว ไม่เคยทิ้งเอกลักษณ์อันนี้ ถ้าใครเป็นนักอ่านตัวจริงของดิฉัน พออ่านก็จะทราบทันทีว่าเป็นสำนวนโวหารของดิฉัน 

ในมุมมองของคุณกฤษณาคิดว่านวนิยายไทยมีคุณค่าต่อผู้อ่านอย่างไร

คือเวลานี้ไม่ค่อยทราบ เพราะการเขียนนิยายออนไลน์ ดิฉันแค่เขียนผ่านจอกระจก จอลื่นๆ ที่เหมือนกระดานชนวน แล้วก็เขียนด้วยลายมือ ผู้ที่รับไปก็เอาไปจ้างคนพิมพ์อีกทีหนึ่ง แล้วก็เอาไปลงออนไลน์โดยที่ดิฉันก็ตรวจแก้ต้นฉบับกับคนพิมพ์เท่านั้นเอง นอกนั้นก็ไม่ได้เกี่ยวข้องกับใครเลย 

ความรู้สึกของการเขียนบนจอต่างจากการเขียนบนกระดาษไหมคะ

แตกต่างค่ะ จอดีตรงที่ลบง่าย แต่กระดาษต้องใช้ยาลบหมึกลบ พอใช้ยาลบก็ต้องรอให้แห้ง แล้วก็เขียนทับลงไป แต่มีคนสอนดิฉันว่ามีวิธีหนึ่ง คือใช้กระดาษชิ้นเล็กๆ ที่เป็นเทปกาวติดแปะลงไปบนที่ผิดและเขียนทับลงไปได้เลย ไม่ต้องใช้ยาลบหมึก

ในแต่ละวันคุณกฤษณาใช้เวลากี่ชั่วโมงในการเขียนนิยาย

แล้วแต่ค่ะ ตอนไหนที่เขียนคล่อง เขียนลื่น ดิฉันก็เขียนทั้งวัน ตั้งแต่สิบโมงครึ่งถึงเที่ยง รับประทานอาหาร แล้วก็เขียนต่อ แต่ถ้าคิดไม่ออก นอนงีบสักชั่วโมงก็ลุกมาเขียนต่อ จนกระทั่งถึงสี่โมงเย็น

หาแรงบันดาลใจในการเขียนนิยายได้จากที่ใด

หลายที่ค่ะ จากหนังสือพิมพ์รายวันบ้าง จากที่เราเห็นรอบตัวเรา คนรอบตัวเรา บางทีจุดเล็กๆ เหล่านี้ก็สามารถเกิดแรงบันดาลใจที่จะผูกเป็นเรื่องใหญ่ได้

มีเรื่องอะไรในตอนนี้ที่รู้สึกกระทบใจจนอยากจะนำมาเขียนเป็นนิยาย

มีค่ะ คือเรื่องของคนไร้บ้านที่หัวลำโพง คิดว่าอยากจะเขียน แต่อยากจะเขียนให้เบา ตั้งชื่อไว้แล้วด้วย แต่ยังไม่ลงมือตอนนี้ค่ะ ต้องรออีกสักพัก

คุณกฤษณาคิดว่านิยายที่ดีสักเรื่องควรจะเป็นอย่างไร

ไม่จำกัดนะ บางทีเรื่องบางเรื่องดิฉันก็ไม่คาดหวัง เช่นเรื่องขอบน้ำจรดขอบฟ้า คือดิฉันคิดว่าเขียนให้เด็กอ่าน แล้วพอดีดิฉันเป็นคนที่เดินทางไกลทุกปีก็เลยเอาการเดินทางเข้ามาปรุงให้เกิดเป็นเรื่องรักระหว่างการเดินทาง ตอนแรกก็คิดว่าคงแย่ แต่ทีนี้น้องเขาขอไว้ก็เลยต้องเขียน แต่ก็ผิดคาดที่ว่าคนอ่านชอบ น้องมาบอกนะว่าคนอ่านชอบ ก็ดีใจ และมีกำลังใจ 

ผู้อ่านเล่าให้ฟังไหมคะว่าชอบส่วนไหน

ไม่ทราบเหมือนกันค่ะ เรื่องนี้เป็นเรื่องคนรุ่นใหม่ที่กวนโอ๊ย ซึ่งคนรุ่นเก่าก็คงรับไม่ได้ ผู้ใหญ่คงไม่ชอบ แต่ว่าท้ายที่สุดแล้วคงพลอยชอบไปกับคนรุ่นใหม่ด้วยหรือยังไงก็ไม่ทราบนะ ยังไม่แน่ใจเท่าไร 

ตัวละครที่เป็นคนรุ่นใหม่ทุกวันนี้มีความแตกต่างจากตัวละครวัยรุ่นในยุคก่อนหน้าไหมคะ

อย่างวัยรุ่นใน ขอบน้ำจรดขอบฟ้า นี่เอามาจากคนจริงๆ นะคะ เราเอาเขามามากพอสมควร เป็นกวนโอ๊ยที่เราเอ็นดู ไม่ได้ทำผิดร้ายแรงอะไรหรอก เป็นวัยรุ่นพวกขวางโลก เด็กคนนี้ก็ดีตรงที่ช่วยให้คนเกิดโมโห แล้วมีสีสัน (หัวเราะ) ก็เลยเอามาปรุงเป็นนางเอกเรื่องนี้ 

เรื่องจริงก็คือก่อนหน้านี้มีนายทหารใหญ่คนหนึ่งมาบอกว่า อยากให้เขียนเรื่องเด็กผู้หญิงคนหนึ่ง คือตระกูลนี้ไม่มีลูกผู้หญิงมาก่อนเลย ผ่านมา 70 ปีเพิ่งจะมามีเด็กคนนี้แหละ คุณอาก็มาคิดต่อเอาเองแล้วกันว่าจะเป็นยังไง ก็เลยมาคิดว่าเราจะเอาเด็กคนที่เราเคยเห็นเนี่ยมาสวมเข้าไปว่าเป็นเด็กที่ถูกสปอยล์ คือพ่อแม่ปู่ย่าตายาย และพี่ชายทั้งนั้นเลยที่ตามใจเด็กคนนี้ จนกระทั่งเด็กคนนี้ฟุ้งเฟ้อ หลงตัวบ้าง แล้วก็เชื่อมั่นในตนเองสูง คิดอะไรไม่เหมือนคนอื่น คนอื่นว่าขาว เขาจะว่าดำ ก็ขัดคอขัดแย้งกับพวกญาติพี่น้อง จนกระทั่งคนเขาเอือม แต่ก็ยังมีความเอ็นดู เพราะท้ายที่สุดก็คือเขาเป็นคนใฝ่ดี ฉลาดพอที่จะรู้ว่าใครคือคนที่เขาควรจะเคารพนับถือ คือเราชอบเขาตรงนี้

ต้องมีประสบการณ์มากเท่าไรคะถึงจะเก็บรายละเอียดในการมองโลกและสิ่งต่างๆ เหล่านี้ไว้ได้

ต้องทำตลอดชีวิตนะคะ ตั้งแต่เด็กเป็นต้นมาเรามีชีวิตไม่ราบเรียบ คือมีอุปสรรคเป็นระยะๆ ตั้งแต่เด็ก อายุ 13 แม่ก็เสียชีวิต เรือล่มที่บางไทร ต่อมาคุณพ่อจากที่เป็นข้าราชการชั้นผู้ใหญ่ก็ไปเล่นการเมือง เป็นผู้แทนราษฎรได้เกือบ 2 ปี ก็มีรัฐประหาร ชีวิตก็ระหกระเหิน ตอนสงครามนี่ยิ่งยากจนมากเลย ได้รับรู้รสของชีวิตที่ดี เพียงตอนที่อายุ 1 ขวบ ถึง 13 ขวบ ตอนนั้นมีความสุขมาก เพราะว่าพ่อแม่รักกันมาก แล้วก็อยู่ด้วยกันดี มีลูก 6 คน ดิฉันเป็นพี่คนโต มีน้องอีก 5 คน ก็มีความสุขมาก ย้ายไปจังหวัดต่างๆ ตามคุณพ่อ เราก็ตามไป ทำให้ได้เห็นภูมิประเทศของต่างจังหวัดในประเทศไทย 2-3 จังหวัด ก็รู้สึกประทับใจ จดจำได้ นำมาเป็นข้อมูลในการเขียนเรื่องต่างๆ หลายเรื่องด้วยกัน

หมายถึงความทุกข์ที่เกิดขึ้นกับเด็กคนหนึ่ง ทำให้เด็กคนนั้นจำใส่ใจไว้ แต่ดิฉันไม่ใช่คนที่เก็บความทุกข์มาเป็นภาระ…แบบคนที่เป็นทุกข์จังเลย ไม่ทำงานทำการ ไม่ใช่เพียงแต่เก็บไว้ แล้วนำมาใช้ในการเขียนหนังสือตั้งแต่อายุ 20 เป็นต้นมา มีประสบการณ์ชีวิตอะไรก็ใช้ปรุงปนเข้าไปในเรื่องราวที่เราสร้างสรรค์ออกมาเผยแพร่แก่ผู้อ่าน

การเขียนมีส่วนช่วยพัฒนาจิตใจของตัวเรามากน้อยแค่ไหน

ช่วยมากค่ะ คือการเขียนนี่มีตัวละคร พอมีตัวละคร เราเขียนไปจนชินแล้ว รู้จักเขาดีแล้ว เขาก็เป็นเพื่อนเรา เขาคือเพื่อนเรา ทำให้เรารู้สึกว่าเขามีชีวิต เป็นคนจริงๆ  คนนั้นคนนี้ ชื่อนั้นชื่อนี้ แล้วก็หน้าตาเป็นยังไง นิสัยใจคอเป็นยังไง บางทีเขาก็รอบรู้กว่าเรา เพราะเราได้บ่มเขาจนสุกได้ที่ที่จะเป็นตัวละครตัวนั้นเต็มที่แล้วถึงขนาดเขาสอนเราได้ 

สมมติว่าเราอยากเขียนถึงคนร้ายกาจสักคนที่อยากจะกลับใจเป็นคนดี เราก็ต้องอ่านธรรมะของพระพุทธเจ้าว่า องคุลีมาลเมื่อก่อนเป็นโจรนะ จะกลับใจนี่ควรทำยังไง ก็สามารถใช้ข้อมูลที่เกิดจากความไม่ดีของคนหรือตัวละครในเรื่องมาเป็นบทเรียน ขณะที่เราเขียนไป เขาก็เป็นครูสอนเราทางอ้อมได้เหมือนกัน 

ทุกครั้งที่มีนิยายออกมาแต่ละเล่มๆ จนถึงวันนี้ รู้สึกอย่างไรบ้างคะ

มีความสุขมากเลย เหมือนกับว่าเราไม่ได้อยู่คนเดียว เราอยู่กับเพื่อนเยอะแยะ คนนั้นคนนี้ จะต้องจดจำเขาให้ได้ บางทีไม่ต้องมาบอกว่าต้องจำให้ได้หรอก เราจำได้เอง คือยังไงเราก็จำได้ 

งานเขียนจะได้รับค่าตอบแทนหรือไม่ได้ ก็เป็นความสุขของเราอยู่แล้ว เลยไม่ได้ขึ้นอยู่กับว่าต้องมีค่าตอบแทนเสมอไป อย่างเวลานี้แทบจะไม่มีค่าตอบแทนเลย แต่ก็ยังอยากเขียน ยังเขียนได้ สามารถจะเป็นตัวเราตั้งแต่สมัยที่ยังเขียนหนังสือบนกระดาษเหมือนเดิมได้

อยากขอคำแนะนำเพื่อเป็นแนวทางสำหรับนักเขียนรุ่นใหม่ที่อยากจะเริ่มนวนิยายต้องเริ่มต้นอย่างไร 

ทุกอาชีพ ถ้าจะเป็นมืออาชีพต้องมีระเบียบวินัย มีกฎเกณฑ์ มีทิศทางให้ตัวเองเดิน เอางานนำหน้า ตั้งแต่ไหนแต่ไรมา ไม่เคยคิดถึงเงินก่อน คิดถึงแต่งานก่อนว่างานจะดีไหม ถ้างานดี เงินจะตามมาเอง เขาให้เอง ที่อยู่มาได้เพราะเขาที่เต็มใจให้ สำหรับงานหนังสือกระดาษนะคะ

ส่วนงานบนออนไลน์ที่แทบจะเรียกได้ว่าเขียนฟรีนี่เกิดจากความพอใจ แต่ก็ไม่แข่งกับกำลังภายใน เพราะแข่งไม่ได้อยู่แล้ว คือเราไม่มีอภินิหาร (หัวเราะ)

Don`t copy text!