“มาลา คำจันทร์” กว่า 40 ปีกับตัวอักษรที่เล่าเรื่อง

“มาลา คำจันทร์” กว่า 40 ปีกับตัวอักษรที่เล่าเรื่อง

โดย : YVP.T

Loading

‘มาลา คำจันทร์’  คือนามปากกาของ เจริญ มาลาโรจน์ นักเขียนชาวเชียงราย ที่เริ่มต้นชีวิตการทำงานด้วยการเข้ารับราชการเป็นครูประชาบาลในปี พ.ศ. 2514 ยาวนานไปกระทั่งปี พ.ศ. 2525 มาลา คำจันทร์ จึงตัดสินใจลาออก เพื่อเรียนต่อปริญญาโท สาขาจารึกภาษาไทย มหาวิทยาลัยศิลปากร ก่อนจะกลับมาเข้ารับราชการอีกครั้งในปี พ.ศ. 2532 แต่เพียงครึ่งปีเท่านั้นก็ตัดสินใจลาออกอีกครั้งเพื่อประกอบอาชีพเป็นนักเขียนอย่างเดียวจนกระทั่งทุกวันนี้

ตลอดเวลากว่า 40 ปี มาลา คำจันทร์ ได้ผลิตงานเขียนที่เป็นเอกลักษณ์ออกสู่โลกวรรณกรรมมากมาย งานเขียนที่เต็มไปด้วยเรื่องราวที่สะท้อนภาพวัฒนธรรมขนบธรรมเนียมประเพณี สภาพธรรมชาติ วิถีชีวิต กลิ่นอายของท้องถิ่น ซึ่งเกิดจากการศึกษา ค้นคว้าทางประวัติศาสตร์ นำตำนาน นิทานพื้นบ้าน และเรื่องเล่า มาผสานจินตนาการและถ่ายทอดทุกตัวอักษรลงบนกระดาษ ผ่านกาลเวลาสู่โลกยุคใหม่ที่การอ่านอยู่ในมือตลอด 24 ชั่วโมง

เมื่อพูดถึงงานเขียนของ ‘มาลา คำจันทร์’

“ถ้าพูดถึงรูปแบบงานเขียน คงต้องยอมรับว่า ถนัดเรื่องสั้นมากกว่านวนิยาย แต่เพราะการเขียนเรื่องสั้นอย่างเดียวไม่สามารถเลี้ยงดูครอบครัวได้ ส่วนทางด้านเนื้อหา จะถนัดสะท้อนเรื่องราวความเป็นมา ความรู้สึกนึกคิดและจิตใจแบบคนพื้นบ้านล้านนา โดยจะสอดแทรกความรู้สึกนึกคิดของตัวเองเข้าไป ไม่ใช่เขียนตามความเป็นจริงทั้งหมด เป็นเอาพื้นฐานมาจากความจริง ผสมผสานความรู้สึกนึกคิด แล้วนิรมิตออกมาให้ได้รูปทรงโครงสร้างอย่างที่เราต้องการ”

 พัฒนาการงานเขียนของ ‘มาลา คำจันทร์’

“เริ่มเขียนหนังสือจริงจังภายหลังเหตุการณ์ 6 ตุลาคม 2519 ซึ่งเป็นเหตุการณ์ใหญ่ในประวัติศาสตร์การเมืองประเทศไทย แนวคิด ‘ศิลปะเพื่อชีวิต ศิลปะเพื่อประชาชน’ มีอิทธิพลต่อโครงสร้างทางความคิดแบบเดิมพอสมควร เรามักเขียนถึงผู้คนมากกว่าเขียนเรื่องอารมณ์โกรธเกลียดเคียดแค้น รักใคร่ใหลหลง แต่ไม่ได้ชูธงค้อนกับเคียวตามทฤษฎี ไม่เคยเข้าป่าไปร่วมกับแนวทางคอมมิวนิสต์ เพราะความจริงที่เราประสบพบเห็นในการในชีวิตจริงๆ ไม่ได้เลวร้ายถึงกับต้องกระชากธงไตรรงค์ลงมาแล้วชักธงแดงขึ้นแทน ยังมองเห็นคุณค่าของชาติศาสน์กษัตริย์  

“ภายหลังจากลาออกจากราชการครั้งสุดท้ายเมื่อปี 2532 ได้มีเวลาอยู่กับตัวเอง อยู่กับครอบครัว ทำเรือกสวนไร่นาและเขียนหนังสือมากขึ้น ได้ศึกษาค้นคว้าเรื่องผีและพุทธศาสนามากขึ้น กระทั่งค้นลึกทั้งเอกสารภาษาไทยปัจจุบัน และเอกสารโบราณล้านนาจนกลายเป็นขุมทรัพย์อันยิ่งใหญ่ที่เอามาสร้างเป็นงานได้มาก เราได้อิทธิพลทางถ้อยคำสำนวน ภาษามาจากเอกสารพื้นเมือง ผสมผสานปนเปกับถ้อยคำในภาษาพูดแบบพื้นเมือง  เวลาเขียนมันไหลดี ไม่ติดขัด แต่ช่วง หลังๆ ราวสิบกว่าปีมานี้เริ่มปรับให้เป็นไทยกลางมากขึ้นเพราะขี้เกียจอธิบายศัพท์พื้นเมืองเป็นไทยกลาง แต่เดิมก็ไม่ได้สนใจว่าคนอ่านจะรับสารได้หรือไม่ คิดว่าคนอ่านงานเรามีไม่มากหรอก เขียนให้ได้ดังใจ ไม่ต้องไปเดาใจคนอ่าน  แต่ตอนหลังก็ผ่อนปรนเพราะมีคนอ่านงานเรามากกว่าที่คิด

“พอเข้ามาสู่ยุคออนไลน์ ก็ไม่ได้ใส่ใจอะไรนัก ไม่สนใจเรื่องแฟนคลับอะไรเลย ใครจะอ่านหรือไม่อ่านไม่เคยเก็บมาคิด เพราะคิดว่า เรามีหน้าที่ผลิตก็ผลิตออกมา สินค้าไม่ตรงกับความต้องการของตลาดก็ไม่เป็นไร ไม่เปลี่ยนสูตร ไม่ปรุงให้ถูกปากคนกิน เขาไม่กินก็เป็นสิทธิ์ของเขา ของขายไม่ได้ก็เก็บกลับบ้าน เท่านั้นเอง”

 

วัย 68 ปี กับวันนี้ของมาลา คำจันทร์

“ตอนนี้อยู่ในวัยปลายแล้ว ผ่านร้อนหนาวมามาก ล้มลุกคลุกคลาน มีทุกข์ มีสุข มีความอยากเขียนเกิดขึ้นก็เขียน ไม่อยากก็ไม่เขียน  อยากให้คนเข้าใจผี หากเข้าใจผีจะไม่กลัวผี ผสมผสานสอดแทรกความเข้าใจชีวิตตามแนวพุทธศาสนา เอาธรรมะมาเขียน ไม่ได้เอาอิทธิปาฏิหาริย์มาเชิดชู ช่วงหลังเขียนงานน้อยลง ไม่มีความจำเป็นต้องผลิตงานให้มาก เพราะความจำเป็นในการใช้เงินน้อยลง ลูกๆ ก็โตแล้ว 

“ส่วนโครงการอนุรักษ์เอกสารโบราณที่ทำอยู่ เพราะเห็นคุณค่าของเอกสารโบราณพื้นเมืองมาก ทั้งในแง่เนื้อหาสาระและในฐานะวัตถุทางศาสนา มีเรื่องราวและความรู้ความคิดอีกมากมายที่อยู่ในเอกสารโบราณแต่ไม่อยู่ในเอกสารปัจจุบัน  สิ่งเหล่านี้เป็นคุณค่าทั้งทางจิตใจและสมอง จึงเริ่มต้นศูนย์ศึกษาเอกสารโบราณ (ศอบ.)ขึ้นมาสิบกว่าปีแล้ว แต่มีลูกศิษย์เหลือเพียงสิบกว่าคน งานหลักๆ ก็คือออกไปจัดระเบียบเอกสารโบราณให้กับท้องถิ่นที่เขาขอมา  คติประจำใจของศอบ.คือ ‘เราจะไม่เอาอะไรออกจากวัดนอกจากทรายติดรองเท้า’

“เอกสารเหล่านี้ประเมินค่าเป็นเงินไม่ได้ อยากให้ท้องถิ่นเก็บรักษาไว้ ไม่อยากให้กลายเป็น ‘วัตถุโบราณ’ ซื้อขายกันในตลาดของเก่า  เห็นแล้วเศร้าใจ

“สุดท้ายนี้ที่อยากจะฝากถึงผู้อ่านงานของมาลา คำจันทร์คือ อย่าอ่านแต่ของมาลาคนเดียว อ่านของคนอื่นด้วย ส่วนนักเขียนรุ่นใหม่ขอฝากข้อคิดว่าความสำเร็จไม่ได้เกิดจากการฟลุ๊ก ความสำเร็จเกิดจากการทำงานหนัก”

Don`t copy text!