‘จากแดกู…สู่หัวใจ’ เรื่องราวในเมืองเล็กกับประสบการณ์ครั้งใหม่ของ ‘เนียรปาตี’

‘จากแดกู…สู่หัวใจ’ เรื่องราวในเมืองเล็กกับประสบการณ์ครั้งใหม่ของ ‘เนียรปาตี’

Loading

ไปเกาหลีกันค่ะ แต่ anowl.co ไม่ได้จะพาไปเมืองฮิตๆ ที่ทัวร์ไหนๆ ก็พากันไปหรอกนะคะ เพราะเราจะพาคุณไปยัง ‘แดกู’ เมืองเล็กๆ ในประเทศเกาหลี เมืองที่ขึ้นชื่อว่าแสนโรแมนติกและน่าไปเยือนไม่แพ้โซล ปูซาน หรือเกาะนามิ อ่านเอาจะพาคุณตีตั๋วทัวร์ออนไลน์ไปตอนนี้เลยกับไกด์ที่มีชื่อว่า ‘เนียรปาตี’

ถ้ากำลังคิดอยู่ว่า ชื่อ ‘เนียรปาตี’ ช่างคุ้นหู เราขอเฉลยง่ายๆ แบบไม่ต้องให้คิดนานว่า เขาคือคนเดียวกับที่เขียนเรื่อง กลิ่นกาสะลอง มีชื่อจริงอย่างเต็มยศว่า รองศาสตราจารย์พิสิทธิ์ ศรีประเสริฐ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายพัฒนาคุณภาพนักศึกษา และสอนในรายวิชาต่างๆ ที่เกี่ยวข้องกับการเขียนและถ่ายภาพ ตั้งแต่ตัวพื้นฐานถึงตัวขั้นสูง (Advanced) หรือถ้าเรียกแบบเด็ก มช. เรียกก็คือ ‘อาจารย์หนุย’ (เสียงจัตวา)

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

“เนียรปาตี เป็นชื่อเพลงเก่าสมัยอยุธยา ซึ่งอยู่ในชุดเพลงไหว้ครูโหมโรงข้างเย็น ถ้าหาจากกูเกิลก็จะเจอประมาณนี้ ผมใช้ชื่อนี้เป็นนามปากกามาตั้งแต่เขียนนิยายเรื่องแรก (และยังคงมีนามปากกาเดียว) ตอนที่เขียนนิยายเรื่องแรก คือ ‘แป้งร่ำสารภี’ ตัวเอกเป็นนักดนตรีไทย ผมก็ค้นคว้าข้อมูลเกี่ยวกับดนตรีไทยจนมาสะดุดกับชื่อ ‘เนียรปาตี’ ก็ชอบทันที จึงหยิบมาเป็นนามปากกา

“มีคนถามถึงความหมายของชื่อนี้เหมือนกัน แต่ผมกลับไปหาหนังสือเล่มนั้นไม่เจอแล้ว เผื่อว่าจะบอกความหมายไว้บ้าง แต่เมื่อไม่นานมานี้ อาจารย์ผู้ใหญ่ท่านหนึ่งที่มีความรู้ด้านภาษาอธิบายว่า ดูจากชื่อน่าจะอยู่ในตระกูลภาษาชวา-อินโดนีเซีย นร แปลว่าคน ปาตี ถ้าเป็นคำไทยก็คือ บดี แปลว่าผู้เป็นใหญ่ เนียรปาตี จึงอาจแปลความได้ว่า คนผู้เป็นใหญ่ ซึ่งก็คือผู้นำหรือกษัตริย์ ว่าเข้าไปนั่น… ผมไม่ได้คิดถึงขั้นนั้น ใช้นามปากกานี้เพราะชื่อมันสะดุดตาสะดุดใจเท่านั้นจริงๆ”

 

‘แป้งร่ำสารภี’ ผลงานเรื่องแรกสู่เส้นทางนักเขียน

“ถ้าไม่นับสารคดีต่างๆ ที่เขียนตอนทำงานอยู่ที่นิตยสารท่องเที่ยวหลังเรียนจบปริญญาตรีใหม่ๆ ในแวดวงวรรณกรรมนี้ก็ถือว่าเริ่มจากการเขียนนิยายเลย โดยผลงานเรื่องแรกคือ ‘แป้งร่ำสารภี’ ที่เขียนส่งประกวดในโครงการถนนสู่ดวงดาว รางวัลทมยันตีอะวอร์ดครั้งที่ 1 ปี พ.ศ. 2549 ในและได้รางวัลรองชนะเลิศ ซึ่งผลตอบรับจากเรื่องนี้ถือว่าดีนะครับ คงเพราะเป็นโครงการประกวดที่คนจับตามองด้วย คำชมก็มีเรื่องของการใช้ภาษา แต่จุดขัดใจคนอ่านก็มีอยู่คือตอนจบของเรื่อง

“หลังจากนั้นผมมีผลงานรวมเล่ม 6 เรื่อง แต่ละเรื่องก็มีผลตอบรับแตกต่างกัน แต่เรื่องที่ได้รับความนิยมมากที่สุดก็คือ ‘กลิ่นกาสะลอง’ เพราะมีลักษณะเป็นแฟนตาซี พีเรียด ข้ามภพชาติ ซึ่งอาจจะถูกจริตกับนักอ่านมากกว่าแนวอื่น ยิ่งถูกนำมาสร้างเป็นละครด้วยคนก็เลยรู้จักกับ ‘เนียรปาตี’ อีกครั้ง หลังจากที่ผมไม่ออกงานชิ้นใหม่มาเกือบสิบปีหลังจากที่เขียน ‘เรือนไม้หอม’ จบเป็นเรื่องสุดท้าย”

 

ผลงาน 6 เรื่องกับการค้นหาตัวเองที่ไม่มีจุดสิ้นสุด

“ผมได้ลองค้นหาตัวเองจากแนวต่างๆ ผ่านงานเขียนทั้ง 6 เรื่องของตัวเอง ที่มีทั้งดราม่า พีเรียด แฟนตาซี หรือเมืองสมมติอย่างที่ทมยันตีเรียกแนวนี้ว่า ลิเกฝรั่ง เมื่อได้ลองแล้วก็รู้สึกว่าแต่ละแนวมันก็สนุกดี คือท้าทายเราดีในฐานะนักเขียน เพราะเมื่อมองย้อนกลับไปดูงานเก่า เราจะคิดว่าถ้าได้เขียนแนวนี้อีกสักครั้ง เราจะ… หมายความว่าเราก็อยากเขียนแนวนั้นอีก แต่ทำให้มันดีขึ้น สมบูรณ์ขึ้น

“ส่วนตัวคิดว่า แนวถนัดของตนเองคือพีเรียดและดราม่า อาจจะมีแฟนตาซีบ้างก็แล้วแต่เรื่อง ดังนั้น ถ้าจะถามว่าอยากลองเขียนแนวไหนที่คิดว่าท้าทายตัวเองที่สุด คำตอบคือ แนวโรแมนติกแบบรักหวานใสวัยรุ่นอะไรแบบนี้เลย ผมว่ามันยากนะที่จะเขียนเรื่องรักเบาๆ ให้คนอ่านติดได้ เพราะเวลาที่ตัวเองเขียนทีไร มันคอยจะออกไปดราม่าทุกที

“ซึ่งถ้าจะพูดถึงนักเขียนในดวงใจ สำหรับผมน่าจะแบ่งได้ 2 กลุ่มนะครับ คือนักเขียนรุ่นใหญ่ที่เราติดตามผลงานทุกเรื่องและใช้เป็นแบบฝึกหัดให้ตัวเอง ไม่ว่าจะเป็น แก้วเก้า – ว.วินิจฉัยกุล, กฤษณา อโศกสิน และทมยันตี (รวมถึงนามปากกาอื่น) อีกกลุ่มคือ สำหรับผม จัดนักเขียนรุ่นกลางค่อนข้างเก่าเพราะฝีมือเก๋า อย่างปิยะพร ศักดิ์เกษม, กิ่งฉัตร และพงศกร ทั้งหมดนี้เป็นนักเขียนหลักๆ ที่ติดตามนะครับ นักเขียนอื่นๆ ที่ติดตามผลงานก็อย่างเช่น ชลนิล หมอกมุงเมือง เป็นต้น”

จากแดกู…สู่หัวใจ นิยายแนวใสๆ วัยรุ่นชอบ

“ถ้าพูดถึงเนียรปาตี หลายคนมักจะติดภาพความเป็นพีเรียด เพราะอย่าง ‘กลิ่นกาสะลอง’ ก็เป็นพีเรียดแฟนตาซี ซึ่งเป็นแนวที่คนให้ความสนใจมากอยู่แล้ว ซึ่งก่อนหน้านี้ผมเขียน ‘ฟลอร์เฟื่องฟ้า’ ก็เป็นเรื่องย้อนยุคอีกเช่นกัน แต่จริงๆ แล้วเราก็อยากเขียนทุกแนว เปลี่ยนสำนวนภาษาในการเล่าบ้าง ทำงานพีเรียดติดต่อกันหลายเรื่อง ก็เลยอยากเขียนเรื่องที่ใช้ภาษาปัจจุบันบ้าง ‘จากแดกู… สู่หัวใจ’ จึงเกิดขึ้น

“เรื่องนี้จัดว่าเป็นแนวเรื่องที่ท้าทายตนเองคือแนวโรแมนติก ใสๆ วัยรุ่นชอบ ประกอบกับอยากพักการใช้ภาษาแบบนิยายย้อนยุค ก็เลยมาลงตัวที่ ‘จากแดกู…สู่หัวใจ’ ที่ตั้งใจจะเล่าถึงชีวิตนักเรียนไทยในเกาหลีก่อนจะเกิดโควิด-19 ซึ่งจริงๆ แล้วเรื่องนี้อยู่ในแผนที่จะเขียนอยู่แล้ว แต่ก็ติดตรงที่ว่าคนไทยอาจจะไม่ค่อยรู้จักแดกูมากนัก เขียนแล้วคนจะเข้าใจหรือเปล่า ก็พอดีว่ามีเหตุโควิด-19 ระบาดขึ้นมา ชื่อ ‘แดกู’ เลยเป็นที่รู้จักขึ้นมา แม้จะไม่ใช่ในด้านดีสักเท่าไหร่ เรื่องนี้ก็เลยถูกลัดคิวขึ้นมาเขียนก่อน”

เจาะลึกให้รู้จัก ‘จากแดกู…สู่หัวใจ’

“จุดเริ่มต้นน่าจะเป็นความทรงจำประทับใจของตัวเองตอนที่เรียนอยู่ที่เกาหลี ที่อยากบอกเล่าชีวิตของคนไทยในเกาหลี โดยเฉพาะกลุ่มนักเรียนทุนที่หลายคนอาจมองเข้ามาแล้วอิจฉา แต่ในมุมของนักเรียนทุนเองมันก็มีเรื่องลำบากอยู่ไม่น้อย อีกอย่างหนึ่งคือ อยากเขียนเรื่องนี้แบบแนวท่องเที่ยวด้วย และที่สำคัญเรื่องนี้เป็นประสบการณ์ตรงครับ ผมได้รับทุน KGSP ประจำปี 2015 ซึ่งเป็นทุนที่รัฐบาลเกาหลีให้เด็กทั่วโลกปีละเกือบ 800 ทุน เป็นทุนให้เปล่าทั้งค่าเล่าเรียนและค่าครองชีพ ใครที่เป็นติ่งเกาหลีหรือสายกิมจินี่จะรู้เลยว่าทุนนี้คือทุนที่เฝ้ารอคอย แต่โควตาสำหรับประเทศไทยในแต่ละปีจะไม่เกิน 15 คน

“ขณะเดียวกัน เทรนด์เกาหลีก็มีอิทธิพลกับวัยรุ่นไทยมากทีเดียว คนไทยเองนึกถึงเกาหลีด้วยความคุ้นเคยมากกว่าเมื่อก่อน ไม่ว่าจะเป็นการมาเที่ยวตามรอยละคร การเรียนต่อ หรือมาทำงานในเกาหลี ภาพในความคิดกับความเป็นจริงอาจจะเหมือนหรือแตกต่างก็ได้ ผมจึงอยากให้เรื่องนี้มีส่วนบอกเล่าถึงวิถีชีวิตของคนต่างชาติที่ต้องใช้ชีวิตในสังคมและวัฒนธรรมเกาหลี ที่บางอย่างก็เป็นกรอบแน่นหนาจนเราเข้าไม่ถึงหรือปรับตัวตามไม่ได้ ภายใต้เรื่องราววุ่นๆ ของตัวละครในเรื่อง ผู้อ่านจะได้เห็นวิถีชีวิตของคนเกาหลี และมุมมองของคนต่างชาติที่มีต่อประเทศเกาหลีในทุกเรื่อง ไม่เฉพาะการเรียนเท่านั้น”

ตัวละครใน ‘จากแดกู…สู่หัวใจ’

“ความตั้งใจแต่แรกที่จะเขียนเรื่องนี้คือเป็นแก๊งเด็กไทย แต่ก็ให้สัดส่วนการเล่าเรื่องที่ต่างกัน หนักไปทาง ‘นัด’ มากกว่า เพราะฉะนั้น จะถือว่านัดเป็นนางเอกก็ได้ ส่วนพระเอกของนัดก็มี แต่คนอ่านต้องติดตามต่อไปว่า พระเอกของนัดหรือนารีจะเป็นใคร

“สิ่งหนึ่งที่ผมอยากบอกผู้อ่าน เพราะเชื่อว่าตอนนี้ผู้อ่านคงคิดว่าตัวละครในเรื่องต้องมีตัวตนจริงแน่ๆ ก็คือ ตัวละครนัด เบียร์ พี่เม่น และอีกหลายๆ คนที่จะปรากฏต่อไป เป็นตัวละครที่ผมผสมผสานเอาจากเพื่อนๆ นักเรียนทุนนี้และทุนอื่น ที่ได้เคยพบปะกัน บอกเล่าความสุนกสนาน ระบายความคับแค้นใจ ที่เคยหัวเราะหรือกอดคอร้องไห้กันมา มาสร้างเป็นตัวละครหลัก ไม่ใช่เรื่องราวของใครคนใดคนหนึ่งโดยเฉพาะ เพียงแต่ผมใช้ชีวิตหนึ่งปีที่สถาบันภาษาที่มหาวิทยาลัยในแดกู จึงมีประสบการณ์การใช้ชีวิตที่นี่มากกว่าที่อื่นเท่านั้นเอง”

แดกู’ เมืองเล็กๆ กับที่น่าไปเยือนสักครั้งในชีวิต

“หลังจากอ่านเรื่องนี้แล้ว หวังว่าคุณผู้อ่านจะได้รู้จักกับแดกูมากขึ้น เพราะเกาหลีไม่ได้มีแค่โซล ปูซาน หรือเกาะเชจู ยังมีหลายที่ที่อาจไม่เคยได้ยินชื่อมาก่อน ที่นี่ยังเป็นแหล่งท่องเที่ยว แหล่งช้อปปิ้ง หรือมีร้านอาหารอีกมากมายที่คนอ่านจะลองตามรอยไปดูก็ได้นะครับ เพราะในเรื่องผมไม่ได้พาไปแค่แดกู ตอนต่อๆ ไปก็ไปเมืองอื่นด้วย ทั้งอันดง ปูซาน หรือโซล

“นอกจากนี้ใน ‘จากแดกู…สู่หัวใจ’ คุณจะได้เห็นชีวิตของคนต่างชาติในเกาหลี ไม่เฉพาะนักเรียนเท่านั้น ยังมีคนกลุ่มอื่นๆ อีก เช่น นักท่องเที่ยว ชาวต่างชาติที่มาทำธุรกิจในเกาหลี แม่บ้านเกาหลี คนมาทำงาน ทั้งที่มาทำงานอย่างถูกกฎหมาย หรือผิดกฎหมายที่เราเรียกกันว่า ‘ผีน้อย’ และสุดท้ายผมหวังว่า ‘จากแดกู…สู่หัวใจ’ จะเป็นส่วนช่วยประกอบการตัดสินใจของคนที่วางแผนจะมาใช้ชีวิตในเกาหลี ว่าเมื่อมาอยู่แล้วจะสามารถอยู่ได้หรือไม่”

สำหรับผลงานเรื่องต่อไปของ ‘เนียรปาตี’ คือเรื่อง ‘วิมานใยบัว’ ซึ่งเป็นเรื่องราวชีวิตของบัวเกี๋ยง ตัวละครสำคัญใน ‘กลิ่นกาสะลอง’ และ ‘มาลัยใบพฤกษ์’ นิยายสะท้อนสังคมชายรักชายในปัจจุบัน ซึ่งเรื่องนี้ใครที่ชอบแนวดราม่าเข้มข้นไม่ควรพลาด

ส่วนตอนนี้ คงต้องฝาก ‘จากแดกู…สู่หัวใจ’ ให้ผู้อ่านติดตามก่อน และไม่แน่นะคะว่าเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ควบคุมได้ จุดหมายท่องเที่ยวครั้งต่อไปของผู้อ่าน อาจจะเป็น ‘แดกู’ ก็ได้… จริงไหมคะ

Don`t copy text!