ลุยป่า สัมผัสธรรมชาติ ดำดิ่งหยั่งลึกลงไปในใจคน ผ่าน ‘พยับฟ้าโพยมดิน’ ซีรีส์ผ้าลำดับที่ 10 ของ พงศกร (ตอนที่ 1)

ลุยป่า สัมผัสธรรมชาติ ดำดิ่งหยั่งลึกลงไปในใจคน ผ่าน ‘พยับฟ้าโพยมดิน’ ซีรีส์ผ้าลำดับที่ 10 ของ พงศกร (ตอนที่ 1)

โดย : กิ่งสุรางค์ อนุภาษ

Loading

ใครกำลังรอคอยที่จะอ่าน ‘พยับฟ้าโพยมดิน’ แบบรวดเดียวจบ ขอบอกว่าคุณสิ้นสุดการรอคอยแล้วค่ะ เพราะงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 29 (Book Expo Thailand 2024) ครั้งนี้ ทางกรู๊ฟพับลิชชิ่งได้จัดทำออกมาเป็นนิยายฉบับสมบูรณ์ทั้งปกอ่อน ปกแข็ง เพื่อมอบให้แฟนๆ ‘พงศกร’ ได้อ่านกันเรียบร้อยแล้ว

ไหนๆ ซีรีส์ผ้าลำดับที่ 10 ที่แฟนๆ พงศกรตั้งตารอคอยมากว่า ๖ ปีก็ได้จัดพิมพ์กันแล้ว คงต้องขอคุยกับเจ้าของบทประพันธ์เรื่องนี้กันเสียหน่อยว่า ทำไมครั้งนี้ คุณหมอโอ๊ต-นพ.พงศกร จินดาวัฒนะ ถึงเลือกที่จะเล่าถึงผ้าทังกา ที่มีชื่อว่า พยับฟ้าโพยมดินและเลือกสถานที่เล่าเป็นภูฏานที่สุดแสนจะผจญภัยอีกด้วย

เชื่อว่าหลายคนคงรออ่านบทสัมภาษณ์นี้อยู่ เพราะยิ่งรู้ก็ยิ่งทำให้เห็นภาพที่มาของผลงานชิ้นนี้มายิ่งขึ้น แนะนำว่า มี พยับฟ้าโพยมดิน แล้ว ควรมี กลกิโมโน ติดมือไปด้วย (สำหรับผู้ที่ไม่มี) เพราะถ้ายิ่งได้อ่านไปพร้อมๆ กับอ่าน พยับฟ้าโพยมดิน ด้วยแล้ว คุณหมอโอ๊ตบอกเลยค่ะว่า จะว้าวสุด!

 

ทำไมต้อง พยับฟ้าโพยมดิน

แฟนๆ ที่ตามอ่านเรื่องนี้กันอยู่ในเพจอ่านเอา คงสงสัยว่า ทำไมคุณหมอโอ๊ตถึงเลือกที่จะหยิบผ้าผืนนี้มาเล่า มีความหมาย และความน่าสนใจอย่างไรบ้าง

“พยับฟ้าโพยมดินเป็นผ้าที่เรียกว่าทังกาครับ ซึ่งจะเป็นผ้าที่เขียน ปัก ทอ ขึ้นมาเป็นเรื่องราวของพุทธศาสนา ฝั่งมหายาน มีเรื่องของพระโพธิสัตว์ พระพุทธเจ้าองค์ต่างๆ เทพเจ้า นรก สวรรค์ คล้ายๆ ไตรภูมิพระร่วง แต่การเล่าทางมหายานจะเป็นอีกแบบหนึ่ง ถ้าเทียบกับบ้านเราก็คือผ้าพระบฏซึ่งเป็นผ้าที่ใช้ในงานศาสนา

“พอเป็นผ้าทังกาที่เล่าถึงผืนดิน มนุษย์ ท้องฟ้า สวรรค์ ผมเลยตั้งชื่อว่า พยับฟ้าโพยมดิน เหมือนกับผืนฟ้า ผืนดินที่บรรจบกัน มีความงดงาม มลังเมลือง แต่จริงๆ แล้วเป็นผ้าผืนนี้เป็นผ้าสมมติที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากผ้าทังกาซึ่งมีลวดลายพิเศษครับ”

คุณหมอโอ๊ตเล่าต่อไปว่า ถ้าได้เข้าไปเที่ยวภูฏาน แล้วได้แวะชมศาสนสถานจะเห็นผ้าทังกาแขวนขึงอยู่ทางด้านหลังองค์พระประธาน ซึ่งแต่ละวัดก็มีความวิจิตรงดงามต่างกัน

“เรื่องที่จะเล่าอยู่ในผ้าก็ต่างกันครับ ส่วนใหญ่มาจากพุทธประวัติ เรื่องราวในพุทธศาสนาในช่วงเวลาต่างๆ กันบ้าง ถ้าได้ดูรายละเอียดของภาพดีๆ จะคล้ายกับภาพจิตรกรรมฝาผนังของไทย แต่บางผืนคนที่ทำก็จะซ่อนวิถีชีวิต ภูมิประเทศ ภูเขา ถ้ำ น้ำตก ผู้คนเอาไว้ ซึ่งมักเป็นคนในท้องถิ่น หรือเมืองนั้นๆ เพราะฉะนั้น ทังกาจึงไม่ใช่ผ้าที่ใช้อยู่กับทางศาสนาอย่างเดียว แต่ยังบันทึกวัฒนธรรม ความเป็นอยู่ สภาพแวดล้อมของผู้คนในเมืองนั้นไปด้วย”

 

“ผมเจอผ้าทังกา ที่ THE MET

ถึงแม้ผ้าทังกาจะเป็นผ้าของภูฏาน แต่คุณหมอโอ๊ตของเรากลับเจอผ้าผืนนี้ครั้งแรกที่พิพิธภัณฑ์ดังระดับโลก THE MET (พิพิธภัณฑ์ศิลปะเมโทรโพลิแทน) ที่นิวยอร์ก ประเทศอเมริกา

“ผมเจอผ้าทังกาที่นี่ครับ เพราะชอบไปเดินเที่ยวในพิพิธภัณฑ์ ซึ่ง THE MET นี่ผมพูดถึงไว้ในหลายเรื่องมาก เช่น เพกา นางเอกจากเรื่อง กี่เพ้า ก็ทำงานที่นี่ เอเชีย นางเอกจาก พนมนาคา ก็ทำงานที่นี่ ที่มักหยิบพิพิธภัณฑ์แห่งนี้มาเล่าบ่อยๆ เพราะว่าชอบเป็นการส่วนตัว แล้วยังเป็นพิพิธภัณฑ์ที่ใหญ่มาก เดินสองวันยังไม่หมด THE MET รวมทุกอย่าง ทุกวัฒนธรรมในโลกไว้ตรงนี้ เลยเหมาะกับการใช้เป็นพื้นในการเริ่มต้นนิยายหลายๆ เรื่อง

Re-housing

“ผ้าทังกาจะเห็นอยู่ในห้องศิลปะตะวันออก เป็นศิลปะเอเชียกลาง เอเชียตะวันออก ภูฏาน ทิเบต จำได้ว่าพอได้เห็นทังกาจัดแสดงอยู่ก็รู้สึกว่าเหมือนไตรภูมิฯ เลย มีนรก สวรรค์ โลกมนุษย์ แต่การตีความของมหายานกับหินยานไม่เหมือนกัน และที่ผมสนใจคือ ในผ้าผืนนั้นเหมือนมีภาพหมู่บ้านเล็กๆ อยู่ด้วย เหมือนเป็นภาพจิตรกรรมฝาผนังที่ศิลปินของแอบซ่อนตรงนั้นตรงนี้ไว้ แล้วคุณหมอเชวัง ทินเลย์ ที่เป็นหมอที่ประเทศภูฏาน ก็เคยบอกไว้ว่า ผ้าบางผืนไม่ได้เกิดมาจากความรู้สึกที่ว่าอยากปักอะไรก็ปัก เพราะผ้าทังกาบางผืนยังเป็นแผนที่หมู่บ้านด้วย เช่น มีภูเขาตรงนี้ มีสถูปตรงนั้นมี วิหารอยู่ตรงนี้ รวมถึงเส้นทางการเดินทาง น้ำตก เรียกว่าปักมาจากของจริง ซึ่งทังกาที่ทำขึ้นมาในลักษณะแบบนี้สามารถนำมาเป็นแผนที่ได้เลย และถ้าย้อนไปเมื่อร้อย สองร้อยปีก่อนยังไม่มีแผนที่ฝรั่งด้วย ดังนั้นคนที่นี่จึงใช้วิธีบันทึกเส้นทางด้วยภาพปักบนผ้า เราเลยได้นำตรงนี้มาใช้ในนวนิยายด้วยครับ”

การได้พบความพิเศษของผ้าทังกา ไม่ว่าจะเป็นความงดงาม และลวดลายที่มีความหมายแฝงเร้นทำให้คุณหมอเกิดแรงบันดาลใจในการเขียนนิยายเรื่อง พยับฟ้าโพยมดิน ขึ้น

“ซีรีส์ผ้าเรื่องที่ 10 นี้ แตกต่างจากผ้าเรื่องอื่นๆ ครับ เพราะถ้าติดตามเรื่อง สาปภูษา กี่เพ้า สิเน่หาส่าหรี เล่ห์ลุนตยา เหล่านี้จะเป็นผ้าที่คนใช้นุ่งห่ม แต่พยับฟ้าโพยมดินผืนนี้ไม่ได้ให้บุคคลอื่นนุ่งห่ม แต่เป็นผ้าที่นำมาใช้ในกิจการทางด้านศาสนาที่เป็นบันทึกเป็นภาพในผืนผ้า เรื่องนี้แพลนไว้ตั้งแต่เขียน กลกิโมโน แล้วครับ เพราะตอนนั้น ‘ลิ่วลม’ ที่เป็นพระเอกในเรื่องนี้กับฝาแฝดที่ชื่อ ‘ล่องเมฆ’ คือน้องชายของ ‘รินดารา’ นางเอกในเรื่อง กลกิโมโน แต่ด้วยความที่มันยากมาก เช่น ข้อมูลเชิงลึกที่เกี่ยวกับวัฒนธรรม คติชน ความเชื่อของภูฏานมีเอกสารให้สืบค้นค่อนข้างน้อย เลยใช้เวลาหลายปี ผมว่าไม่ต่ำกว่า 6 ปีนะ ตั้งแต่ กลกิโมโน ก็ลงมือค้นจนรู้สึกว่าพร้อมแล้ว ถึงจะเริ่มลงมือเขียน และได้เขียนในปี 2567 นี้ครับ”

คุณหมอเล่าต่อไปว่า ตลอดเวลา 6 ปีนั้นไม่ได้หาแต่ข้อมูลของเรื่อง พยับฟ้าโพยมดิน อย่างเดียว แต่ยังมีเรื่องที่อื่นที่สนใจในเวลาเดียวกันหลายเรื่อง

“อาจเป็นเรื่องเครื่องทองอยุธยาที่สนใจซึ่งสุดท้ายกลายมาเป็นธำมรงค์เลือด หรืออำพันที่มีแมลงอยู่ข้างใน ที่กลายมาเป็นสร้อยพระศอ เพราะฉะนั้นสิ่งที่สนใจในตัวพงศกรจึงมีหลายอย่าง แล้วก็เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน เราหาข้อมูลเรื่องนั้นบ้าง เรื่องนี้บ้าง สลับมาตรงนั้นบ้าง ตรงนี้บ้าง สุดท้ายอะไรที่สมบูรณ์ก่อนก็หยิบเรื่องนั้นขึ้นมาเขียนก่อน ระหว่างที่เก็บข้อมูลของ พยับฟ้าโพยมดิน เลยมีเก็บข้อมูลเรื่องอื่นๆ ไปด้วย จนกระทั่งวันนี้ที่รู้สึกว่าข้อมูลหรือเรื่องหลักๆ ที่จะนำมาใช้ในนวนิยายครบแล้ว จึงเริ่มลงมือเขียน”

ตัวละครที่มีตัวตนจริง?

ดูเหมือนชื่อ เชวัง ทินเลย์ ที่คุณหมอเอ่ยถึงเมื่อครู่จะสะดุดใจเป็นพิเศษ เพราะถ้าได้อ่านนิยายเรื่องนี้จะเห็นว่ามีชื่อ เชวัง ทินเลย์ หนึ่งในตัวละครหลักร่วมเดินทางไปกับการผจญภัยครั้งนี้ด้วย

“จริงๆ ไม่มีตัวละครที่อิงมาจากใครคนใดคนหนึ่ง แต่เป็นการดึงเค้าโครง บุคลิก ความพิเศษของหลายๆ คนมาอยู่ในตัวละครนั้นๆ

“ในนิยายเรื่องนี้จะมีคู่เล็กกับคู่ใหญ่ คู่ใหญ่คือ ‘อัญญาวีร์’ กับ ‘เชวัง ทินเลย์’ ซึ่งอัญญาวีร์เป็นนักภาษาศาสตร์เดินทางไปเก็บข้อมูลในหลายๆ พื้นที่ ตรงนี้ได้รับแรงบันดาลใจมาจากอาจารย์บรรจบ พันธุเมธา ผมประทับใจอาจารย์ท่านนี้มาก เพราะเมื่อย้อนไปห้าสิบหกสิบปีก่อน อาจารย์เป็นหนึ่งในผู้เดินทางไปเก็บข้อมูลทางภาษามาเขียนเป็นบันทึก เลยนำบุคลิกบางอย่างของท่านมาปรับให้เป็นอัญญาวีร์ แต่ไม่ได้ลงลึกเรื่องภาษาศาสตร์มาก ตั้งใจว่าวันหนึ่งจะเขียนต่างหากอีกครั้ง

“ส่วนเชวัง ทินเลย์ นั้นมีชื่อจริง นามสกุลจริง ซึ่งเป็นหมอออร์โธปิดิกส์ เราเป็นเพื่อนกันครับ ย้อนไปเมื่อประมาณยี่สิบปี ตอนนั้นเพิ่งเรียนจบใหม่ๆ ผมมาทำงานเป็นแพทย์ประจำบ้านอยู่ที่โรงพยาบาลเลิดสิน เวลานั้นมีโครงการความช่วยเหลือระหว่างรัฐบาลไทยกับรัฐบาลภูฏาน หมอภูฏานที่เรียนจบแพทย์แล้วก็จะมาเรียนเฉพาะทางที่เมืองไทย เชวัง ทินเลย์ ก็เรียนจบแพทย์และมาเรียนต่อเฉพาะทางด้านออร์โธปิดิกส์ที่เมืองไทยซึ่งมาเรียนที่เลิดสินทำให้ได้เจอกัน ตอนที่เชวังมา พูดไทยไม่ได้เลย แต่การที่จะมาเรียนแพทย์ที่นี่ก็ต้องพูด อ่าน เขียนไทยได้ ต้องสอบใบวุฒิบัตรเป็นภาษาไทย ฉะนั้นเลยต้องเรียนภาษาไทย ช่วงนั้นเชวังไม่มีเพื่อน อาจารย์ที่เป็นหัวหน้าภาควิชาก็เลยฝากให้ผมช่วยดูแลด้วย ตอนนั้นเวลาไปไหนก็จะหนีบเชวังไปด้วยทุกที่ พาไปเที่ยว เชวังนี่มาบุญครองนะ เชวังนี่สำเพ็งนะ (หัวเราะ) ในขณะเดียวกันผมก็เริ่มเขียนหนังสือแล้ว ซึ่งเขาก็บอกว่า ถ้าผมเขียนนิยายที่เกี่ยวกับภูฏานต้องให้ เชวัง ทินเลย์ เป็นพระเอกนะ ผมก็รับปากว่า โอเค ถ้าฉันดังเมื่อไหร่จะเขียนนิยายที่เกี่ยวกับภูฏานและมีพระเอกชื่อเชวัง ทินเลย์ (หัวเราะ) ดังนั้น พยับฟ้าโพยมดิน เลยมีเรื่องราวของเขาเข้ามาด้วยนิดหน่อย

“ในเรื่องเขาก็เป็นหมอภูฏานที่มาเรียนต่อเฉพาะทางที่เมืองไทย ทำให้ได้มาเจออัญญาวีร์ แต่มีเหตุให้ต้องทิ้งอัญญาวีร์ไป ซึ่งสร้างความไม่เข้าใจ ไม่พอใจหลายอย่างเกิดขึ้น แต่จะเป็นอย่างไร ต้องติดตามกันใน พยับฟ้าโพยมดิน ครับ (หัวเราะ) แต่กับคุณหมอเชวังเอง ถึงทุกวันนี้ เราก็ติดต่อกันห่างๆ  นานๆ จะเมลคุยกันที เขาติดภารกิจเยอะ เพราะตอนนี้เป็นผู้บริหารใหญ่อยู่ที่คณะแพทย์ที่โน่น แต่ก็ได้แจ้งเขาไปแล้วว่า ได้เขียนให้เป็นพระเอกในเรื่องนี้นะ เขาก็ตอบกลับมาว่า ‘ดีจัง’”

 

ธรรมชาติ ผจญภัย และจิตใจมนุษย์

นอกจากความสนุกตื่นเต้นที่ถูกนำทางด้วยผืนผ้าพยับฟ้าโพยมดิน ในเรื่องนี้ยังมีอะไรซ่อนเร้นไว้ให้ขบคิดอีกหลายต่อหลายเรื่อง

“ในนิยายมีการพูดถึงเรื่องธรรมชาติ พูดถึงความสุขของคนที่จริงๆ แล้ว อยู่ที่เงินทอง หรืออยู่ที่ชีวิตที่เรียบง่ายพอดีกันแน่ และตรงนี้สัมพันธ์กับประเทศภูฏานที่วัดการเติบโตของประเทศชาติด้วยดัชนีของความสุขของประชาชนด้วย แต่จะมาเล่าเรื่องนี้อย่างเดียวก็อาจน่าเบื่อ เลยต้องเล่าผ่านเหตุการณ์ต่างๆ ของตัวละคร มีการผจญภัยเนื่องจากเป็นการตามหาอะไรบางอย่างที่แตกต่างจากซีรีส์ผ้าอีก ๙ เรื่องที่ผ่านมา และการผจญภัยนี่ลุ้นทุกตอน คาดเดายาก นักอ่านคิดว่าเป็นอีกแบบแต่กลายเป็นอีกแบบ คนเขียนเองเขียนไปแล้วก็รู้สึกสนุกไปด้วยเหมือนกันครับ (หัวเราะ) และอย่างที่บอกคือเรื่องนี้มีการผจญภัยค่อนข้างเยอะ เลยต้องดูแผนที่วางตำแหน่งของสถานที่ หรือจุดที่จะเกิดเรื่องราวต่างๆ เอาไว้ เพื่อที่เราจะได้รู้ว่าเมื่อตัวละครเดินทางไปตรงนี้เขาจะเจออะไร ยังไง หรือในประเทศภูฏาน ดอกไม้ประจำชาติของเขาคือดอกป๊อปปี้ ซึ่งมีกลีบสีน้ำเงินที่ขึ้นอยู่เฉพาะหิมาลัยเท่านั้น ก็ต้องรู้ลึกลงไปว่าต่างจากดอกป๊อปปี้อื่นอย่างไร ขึ้นตรงไหน ตรงนี้อาจไม่ได้พูดเยอะแต่จะมีฉากที่นางเอกเดินทางไปทุ่งป๊อปปี้พอดี นี่คือการทำงานที่มีความรู้สึกว่าถ้าอยากจะเล่าให้คนอ่านเห็นภาพ เราต้องเห็นภาพมากกว่าที่เล่าออกไป ถึงใช้เวลาเยอะมาก แค่หาว่าดอกป๊อปปี้สีน้ำเงินบานในฤดูไหน หรือขึ้นตอนไหนก็ต้องใช้เวลาค้นแล้วครับ

“ส่วนที่เล่าเรื่องนี้ในแนวผจญภัยเพราะว่าเรื่องเกิดขึ้นที่ประเทศภูฏานซึ่งเป็นประเทศที่ธรรมชาติสวยมาก เป็นประเทศที่มีความลึกลับในสายตาของชาวโลก มีสถาปัตยกรรมที่แปลกและแตกต่าง จุดเด่นของเขาคือแลนด์สเคป ถ้ำ ภูเขา วัดที่อยู่บนยอดเขา ซึ่งถ้าจะมาเขียนเป็นนิยายหวานๆ ก็คงไม่ใช่ และถ้าฉากผจญภัยขนาดนั้น เรื่องราวก็ควรจะผจญภัยถึงจะเชื่อมโยงและสอดคล้องไปด้วยกันครับ”

 

ฉากหลังที่แข็งแรง

เรียกได้ว่า ‘พงศกร’ เป็นนักเขียนอีกคนที่มีฉากหลังในการเล่าที่แข็งแรงมาก ทำให้นอกจากจะได้รับความบันเทิงในการอ่านแล้ว เรายังได้ความรู้ที่นักเขียนต้องการถ่ายทอดผ่านบทประพันธ์ติดตัวไปอีกด้วย

“ไม่ว่าจะเขียนอะไรก็ตาม เช่น เบื้องหลัง ความเป็นมาของเรื่องราว ความเป็นมาของวิธีคิด การใช้ชีวิตของตัวละคร ถ้าเราแค่สมมติขึ้นมาอาจน้อยไป ดังนั้นเวลาที่จะสร้างตัวละครก็เลยต้องลงลึกไปถึงเบื้องหลังของเขา เช่นเกิดมายังไง มีครอบครัวแบบไหน โตมายังไง ชีวิตเป็นยังไง วัยเด็กเป็นยังไง ตรงนี้ต้องคิดไว้แล้ว ตัวละครถึงจะมีมิติ เหมือนคนจริงๆ

“สิ่งที่เราคิดหรือว่าสร้างขึ้นมาทั้งหมด อาจไม่ได้มาใช้ในนวนิยาย แต่ช่วยให้เรารู้จักตัวละครมากขึ้น เช่น ในเรื่องนี้นางเอกชื่อนารีญา เป็นคนที่ร่าเริง คุณพ่อคุณแม่ ประสบอุบัติเหตุ เสียชีวิตไปตั้งแต่เธอยังเป็นเด็ก เลยต้องมาอยู่กับอา ซึ่งอาก็เป็นคนเก่ง มีความมั่นใจในตัวเอง ทำให้นารีญาเติบโตขึ้นมาเป็นคนที่มั่นใจในตัวเอง แม้คุณพ่อคุณแม่จะเสียชีวิตไปแล้ว แต่ก็ไม่ได้ขาดความอบอุ่นอะไร ญาติๆ ก็เลี้ยงมาเป็นอย่างดี ถึงนารีญาจะร่าเริงแต่ก็มีความเป็นผู้ใหญ่ในคนคนเดียวกัน เพราะว่าเขาต้องประสบกับเรื่องราวหนักหนาสาหัสมาตั้งแต่เด็ก ในนิยายไม่ได้พูดถึงในเรื่องนี้ จะเล่าแค่ว่าผู้หญิงคนนี้เป็นคนร่าเริง แต่เมื่อไหร่ที่จริงจังเธอก็จริงจังได้อย่างไม่น่าเชื่อ”

คราวหน้าเราจะมาคุยกับคุณหมอต่อในเรื่องการเขียนนิยาย และแก่นของซีรีส์ผ้าทั้ง ๑๐ เรื่อง รับรองว่า ยิ่งอ่านก็จะยิ่งทำให้เราอินและเห็นคุณค่าผลงานของพงศกร รวมถึงโลกของผืนผ้าจากหลากหลายวัฒนธรรมที่ทุกคนติดตามมากขึ้นแน่นอนค่ะ

 

Don`t copy text!