สำรวจ ‘แสนแก้วสไตล์’ ผ่านนิยายเรื่องล่าสุด ‘พลิกรักทำนายใจ’ และ Coming of Age ในนิยายเรื่องที่ ๖

สำรวจ ‘แสนแก้วสไตล์’ ผ่านนิยายเรื่องล่าสุด ‘พลิกรักทำนายใจ’ และ Coming of Age ในนิยายเรื่องที่ ๖

โดย : กิ่งสุรางค์ อนุภาษ

Loading

หลังจากสิ่งที่ตัวเองเผลอบล็อกไว้ในใจทลายลง ทิพย์-พรทิพย์ ทองพิสิฐสมบัติ หรือ ‘แสนแก้ว’ ก็ค่อยๆ เรียบเรียงเรื่องราว ค่อยๆ คิด ค่อยๆ เขียนสิ่งที่ตัวเองกำลังสนใจอยู่ในเวลานั้นจนกลายเป็นนิยายเรื่อง ‘พลิกรักทำนายใจ’….

เล่าให้ฟังกันอย่างย่นย่อว่า ในโครงการช่องวัน-อ่านเอา นั้น กว่าจะมาเป็นนิยายให้ได้อ่านกัน นักเขียนที่เข้าร่วมจะต้องส่งพล็อตให้คณะกรรมการได้ร่วมพิจารณาและให้คำแนะนำ ทิพย์ก็เป็นคนหนึ่งที่เข้าร่วมโครงการ ช่องวัน- อ่านเอา รุ่นที่ 4 และได้ทำตามขั้นตอนโดยส่งพล็อตนิยายให้คณะกรรมการร่วมกันคอมเมนต์ เพื่อช่วยสร้างความแข็งแรงให้แก่เรื่องราวที่นำเสนอ

…พล็อตที่ทิพย์ส่งดูจะมีจุดที่ต้องปรับแก้มากมายส่งผลให้เธอแอบหมดกำลังใจ แต่ในอีกทางหนึ่งสถานการณ์นี้กลับปลดล็อกสิ่งที่เธอบล็อกตัวเองไว้อย่างเงียบๆ

กล่าวคือการคว้ารางวัลนวนิยายดีเด่น ประเภทนิยายรัก จากโครงการช่องวัน-อ่านเอา รุ่นที่ 2 และการที่นิยายเรื่องดวงใจจอมกระบี่ได้นำไปสร้างเป็นละครนั้น สร้างความภาคภูมิใจก็จริง แต่ก็ก่อให้เกิดความยึดมั่นในความสำเร็จ และความกดดันในการสร้างงานครั้งต่อไปด้วยเช่นกัน ดังนั้นเมื่อได้รับคำสอนและคำแนะนำจากคณะกรรมการ ก็เหมือนได้เครื่องเตือนสติ ทำให้บล็อกในใจนั้นทลายลง จนเจ้าตัวเริ่มตั้งหลักและลุกขึ้นมาเขียนเรื่องใหม่ได้สำเร็จ เกิดเป็นนิยายเล่มนี้ในที่สุด

มาคุยกับเจ้าตัวกันดีกว่าว่านิยายเรื่องนี้มีจุดกำเนิดอย่างไร แสนแก้วอยากส่งต่ออะไรให้แก่คนอ่านมากกว่าคำว่า มูเตลู และนิยายเล่มที่ 6 นี้ เธอเติบโตขึ้นอย่างไรบ้าง

ความภาคภูมิใจที่หดหาย

กล่าวได้ว่า ชัยชนะ ความสำเร็จ อาจทำให้จิตใจของเราพองฟู อิ่มเอม และอัดแน่นไปด้วยความยินดีแต่ถ้าสำรวจให้ดี เราอาจเห็นความยึดมั่นในความสำเร็จค่อยๆ คืบคลานเข้ามาซ่อนตัวอยู่ในความสุขนั้นอย่างเงียบๆ ก็เป็นได้ ซึ่งกว่าจะรู้ว่าสิ่งนี้โหดร้ายเพียงใดก็ต่อเมื่อถูกแรงกระตุ้นที่มาจากปัจจัยต่างๆ  เช่น ความผิดหวัง เสียใจ ฯลฯ แสนแก้วก็เช่นกัน เธอเพิ่งรู้ว่าตัวเองมีความยึดมั่นและลิ้มรสความมึนงงเสียศูนย์ก็ในวันที่พล็อตนิยายของเธอได้รับการคอมเมนต์จากคณะกรรมการ

“ตอนที่เข้าร่วมโครงการนี้เหมือนเราแบกอะไรไว้หลายอย่างค่ะ ไม่ว่าจะเป็นความภาคภูมิใจในตัวเอง และความกดดันเพราะต้องพยายามเขียนนิยายออกมาให้ดียิ่งๆ ขึ้น  ตอนนั้นเหมือนเราจงใจวางพล็อตเพื่อนำไปสร้างเป็นละครโดยลืมไปว่า หัวใจสำคัญของการเขียนคือ การสร้างสรรค์งานโดยออกมาจากใจว่าเราอยากจะเล่าเรื่องอะไร ซึ่งในวันที่เข้าประชุมพล็อตพี่ๆ กรรมการก็พูดเรื่องนี้ขึ้นมา” ทิพย์เล่าย้อนถึงเรื่องราวที่เกิดขึ้นกับเธอเมื่อปีที่แล้ว

“หลังออกจากห้องประชุมทิพย์รู้สึกหมดความมั่นใจ ถามตัวเองว่าเราเข้าใจอะไรผิดไปหรือเปล่า แล้วเราจะเป็นนักเขียนได้ไหม โชคดีที่ในการคอมเมนต์พล็อตครั้งนั้น ทิพย์สัมผัสได้ถึงความรักและความหวังดีจากพี่ๆ กรรมการทุกคนที่อยากให้ทิพย์สร้างสรรค์งานชิ้นนี้ออกมาให้ดีที่สุด ทิพย์เลยให้เวลาตัวเองไปตั้งสติและไปหาเพื่อนสนิทที่ดูไพ่ยิปซีเป็นค่ะ เราได้ดูดวงกับไพ่ออราเคิล แล้วถามว่าอาชีพไหนเหมาะกับเรามากที่สุด จับไพ่ 3 ใบได้ ‘Writing Speaker และ let go’ หมายถึงนักเขียน นักพูด และสร้างพลังใจช่วยเหลือคนอื่น พอเพื่อนแปลความหมายให้ฟังก็ใจชื้นขึ้นมาว่าจริงๆ เรามาถูกทางแล้ว (หัวเราะ) และเกิดปิ๊งไอเดียขึ้นมาทันทีเลยว่า เมื่อวานเรายังหมดกำลังใจอยู่เลย แต่พอมาวันนี้หลังจากเปิดไพ่ แล้วได้ Writing ซึ่งหมายถึงนักเขียน กำลังใจก็มาเต็ม ทำไมไพ่ถึงมีอิทธิพลต่อใจเราขนาดนี้ล่ะ! ถ้าอย่างนั้นเราพล็อตเรื่องใหม่ เขียนนิยายเกี่ยวกับไพ่ดีกว่า”

แก่นและแกนของ พลิกรักทำนายใจ’

แสนแก้วเริ่มลงมือเขียนนวนิยายเรื่องใหม่ของเธอด้วยความสนุก เธอเรียกแรงใจและพลังบวกกลับมาได้อีกครั้ง นอกจากเรื่องของไพ่ยิปซี เธอได้หาข้อมูลต่างๆ อีกมากมาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องการออกแบบตกแต่งภายใน เนื่องจากนางเอกนิยายเป็นมัณฑนากร รวมทั้งได้เรียนรู้เรื่องกีตาร์ในเชิงเทคนิคต่างๆ เพราะพระเอกมีความเชื่อมโยงกับอาชีพนี้

“ถ้าจะให้เล่าโดยสังเขป พลิกรักทำนายใจ เป็นเรื่องของดวงสิริ นักออกแบบตกแต่งภายใน เธอเป็นคนเชื่อดวง และมีความสามารถในการดูดวงไพ่ยิปซี จึงใช้ชีวิตโดยพึ่งพาไพ่ยิปซีเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งใช้ความสามารถนี้ไปแก้ปัญหาให้คนอื่นๆ ด้วย แต่ในขณะเดียวกันเธอกลับแก้ปัญหาชีวิตตัวเองไม่ค่อยรอด ทิพย์อยากส่งเมสเสจเป็นประเด็นคำถามไปถึงนักอ่านว่า คนเรามีชีวิตที่ดีได้เพราะดวง เพราะการมู จริงหรือ เลยยกตัวอย่างชีวิตของคนหลายๆ คนออกมาให้เห็น เช่น ดวงสิริ นางเอกเป็นคนเชื่อดวง เชื่อสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ในขณะที่มนชิดา นางร้ายเป็นคนที่เชื่อตัวเอง พึ่งพาตนเอง เมื่อมีความเชื่อต่างกันแล้วสองคนนี้จะมีผลลัพธ์ในชีวิตแตกต่างกันอย่างไร ถึงแม้ว่าเรื่องนี้จะเป็นแนวโรแมนติก คอเมดี้ แต่ก็มีความเป็น Coming of age ที่ตัวละครได้เรียนรู้และเติบโตไปเรื่อยๆ ค่ะ”

 

เพราะมูจึงปัง?!

“ทิพย์มองว่าคนส่วนใหญ่ใช้ชีวิตกับการมูไม่ทางใดก็ทางหนึ่ง” นักเขียนสาวกล่าว “เช่น ไหว้พระขอพร อธิษฐานต่อเทพเจ้า ดูดวงกับหมอดู ไปหาร่างทรง บูชาเครื่องราง ตั้งชื่อมงคล เปลี่ยนเบอร์โทรมงคลฯลฯ จนเหมือนว่าการมูเตลูเป็นส่วนหนึ่งของชีวิตประจำวันไปแล้ว นิยายเรื่องนี้จึงเหมือนเป็นการตั้งคำถามกับคนอ่านว่า เราควรจะวางตัว วางใจอย่างไร ควรจะพึ่งพาการมูแบบร้อยเปอร์เซ็นต์เลยไหม หรือควรจะเชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง แบบไหนจึงจะดีกับชีวิตของเราที่สุด

ทิพย์เคยเห็นบางคนที่เขามูหนักมาก แต่ชีวิตก็ยังลุ่มๆ ดอนๆ นั่นเป็นเพราะอะไร เพราะดวง? เกิดมาดวงไม่ดีเหรอ หรือเป็นไปได้ไหมว่าเขาเอาแต่เชื่อดวงจนไม่ได้ทำอะไรให้มันเกิดผล ถ้าจะถามทิพย์ว่ามีความคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องนี้ ทิพย์มองว่าการมูมีส่วน แต่การกระทำของเรามีผลถึง 70 เปอร์เซ็นต์ คำว่าเสริมดวงก็คือเสริม ถ้าเรายังไม่ทำเรื่องหลักให้ดีมันก็ยากที่จะเกิด อย่างเช่นอยากรวยแล้วไปขอพร ซื้อของมาบูชา แต่ไม่ขยันทำมาหากินก็เหมือนไม่มีแรงส่ง สิ่งศักดิ์สิทธิ์อาจอยากช่วยแต่ไม่รู้จะช่วยยังไงเพราะเราไม่สร้างเหตุ ดังนั้นสิ่งที่ตัวเองทำจึงมีผลเยอะมากค่ะ”

 

เรื่องตื่นเต้นและ Coming of age ของแสนแก้ว

ในขณะที่ตัวละครเรียนรู้และเติบโต นักเขียนเองก็เรียนรู้และเติบโตเช่นเดียวกัน “ความตลกระหว่างการเขียนเรื่องนี้คือ เขียนไปเขียนมากลายเป็นว่าเราเชียร์ตัวร้าย (หัวเราะ) เหมือนเราเข้าข้างมนชิดาทั้งๆ ที่นางเอกของเราคือดวงสิริ ตอนท้ายเรื่องที่ต้องสรุปจบต้องหาทางลงให้ได้ว่าจะจบเรื่องยังไงที่จะให้ความยุติธรรมกับมนชิดาเพราะเขาทำดีมาตลอด และจะทำยังไงไม่ให้พระเอกดูใจร้ายที่ต้องจบกับมนชิดาที่ดีทุกอย่างมาลงเอยกับนางเอก โชคดีที่คิดออก (หัวเราะ)

นอกจากนี้การเขียนนิยายเรื่องนี้ยังทำให้ทิพย์เริ่มเข้าใจมากขึ้นว่าเราถนัดและสนุกกับสิ่งไหน เสน่ห์ในงานของตัวเองที่พี่ๆ นักเขียนเคยบอกว่า ‘โรแมนติกคอเมดี้สไตล์แสนแก้ว’ นั้นเป็นอย่างไร มีเอกลักษณ์เฉพาะตัวแบบไหน ที่ผ่านมายอมรับว่าไม่เคยเข้าใจเลยว่างานทิพย์ต่างจากงานคนอื่นๆ อย่างไร ถ้าจะให้นิยามสั้นๆ งานของแสนแก้วจะไม่หวานเจี๊ยบ เป็นความน่ารักแบบเกรียนๆ และสอดแทรกแง่คิดบางอย่างลงไปในเรื่องด้วยค่ะ

ตอนที่เขียนพล็อตแรก ทิพย์ทั้งตื่นเต้นและกดดันเพราะเราเคยชนะมา พอออกจากห้องประชุมวันนั้นกลับรู้สึกว่า ฉันไม่มีอะไรจะเสียแล้ว เหมือนได้ปลดล็อก ต่อมาก็ตัดสินใจวางพล็อตแรกลง เพราะคิดว่าคงยังไม่เหมาะในเวลานี้ จากนั้นพอตั้งหลักได้ว่าจะเขียนเรื่องอะไร ทิพย์ก็เขียนแบบไม่หวังอะไรเลย จะได้ผลลัพธ์ยังไงก็ล้วนดีใจทั้งสิ้น อีกทั้งพล็อตเรื่องที่สองนี้จะไม่ได้รับการคอมเมนต์จากกรรมการแล้วด้วย เราต้องลุยเองจนจบ จึงเขียนจากความรู้สึกของตัวเองเต็มที่ ทำให้งานออกมามีเอกลักษณ์ของตัวเองอย่างชัดเจน แต่ตอนนั้นทิพย์ก็ยังรู้สึกว่า นิยายเรื่องนี้มีธีมเรื่องค่อนข้างเล็ก มีตัวละครไม่กี่ตัว มีฉากไม่กี่ฉากแค่ออฟฟิศ บ้านพี่ภู การเปิดไพ่ เลยอาจไม่เหมาะกับการประกวดเท่าไหร่ แต่พี่ลักษณ์ (ศิริลักษณ์ ศรีสุคนธ์ ผู้เขียนบทและสร้างสรรค์ละครเรื่องดังทางช่องวัน 31หนึ่งในคณะกรรมการตัดสิน โครงการช่องวัน-อ่านเอา) คือคนที่บอกทิพย์ว่า

“เรื่องเล็กก็มีเสน่ห์แบบเรื่องเล็ก อย่าไปเปรียบเทียบกับใคร ให้เขียนแบบเป็นตัวเองน่ะดีที่สุด นับเป็นข้อคิดสำคัญที่ช่วยปลดล็อกทิพย์เหมือนกันค่ะ”

 

Don`t copy text!