‘เวฬุวลี’ ชวนเหล่านักอ่านเปิดโลกวรรณคดี ผ่านนวนิยาย สืบสวน โรแมนติก แฟนตาซี ‘ฤทัยยักษ์’
โดย : กิ่งสุรางค์ อนุภาษ
ระหว่างเปิดโหมดเดบิวต์ตัวเองในเรื่อง ‘คดีรักร้าง’ หรือ ‘สงครามสมรส’ ที่ส่งอารมณ์ดราม่าแบบจุกๆ จนแฟนๆ อินจัดผ่านทางช่องวัน31 อาจารย์ไผ่-เวฬุรีย์ เมธาวีวินิจ เจ้าของนามปากกา ‘เวฬุวลี’ ก็ส่งผลงานเรื่อง ‘ฤทัยยักษ์’ ออกมาให้แฟนๆ ได้ติดตามฝีมือกันอย่างต่อเนื่อง
แต่ครั้งนี้เธอขอพาตัวเองออกมาจากคอมฟอร์ตโซนจากแนวดราม่ามาทดลองเขียนเรื่องแนว สืบสวนสอบสวน โรแมนติก แฟนตาซี ที่จะพาคนอ่านร่วมลุ้นตามหาฆาตรกรไปพร้อมๆ กับพายักษ์หลายตนจากโลกของรามเกียรติ์ วรรณคดีขึ้นหิ้งที่เราต่างรู้จักออกมาโลดแล่น แต่งแต้มสีสันแบบใหม่ให้อยู่ในนวนิยายเรื่องนี้อีกด้วย
“ฤทัยยักษ์เป็นเรื่องฆาตกรรมปริศนาต่อเนื่องที่ทำให้นางเอกซึ่งก็คือ ‘ฤทัยมาศ’ ต้องไปสืบสวนสอบสวนหาสาเหตุและฆาตกร แต่สืบไปสืบมาก็พบว่าเรื่องราวกลับไปเกี่ยวพันกับยักษ์ที่วัดโพธิ์ เพราะมีคนเล่าลือกันว่าคดีฆาตกรรมนี้เกิดขึ้นจากยักษ์ พอสืบก็ค้นพบว่ามีความเชื่อมโยงกับเรื่องตำนานยักษ์วัดโพธิ์กับยักษ์วัดแจ้ง และหนึ่งในตัวละครของยักษ์วัดโพธิ์ซึ่งคือ ‘แสงอาทิตย์’ ก็มีความผูกพันกับเธอด้วยในอดีตชาติ เพราะทั้งคู่เคยเป็นคู่รักกันมาก่อน” อาจารย์ไผ่เล่าเรื่องสั้นแบบย่นย่อให้ฟัง
“ที่เขียนงานแนวนี้เพราะเป็นคนชอบดูหรืออ่านแนวสืบสวนสอบสวนอยู่แล้วค่ะ อย่างซีรีส์แนว courtroom ก็มีความคิดในเรื่องของการโต้กันไปมาด้วยเหตุผล หรือว่าคดีฆาตกรรมก็มีความน่าสนใจว่าแล้วจะจับได้อย่างไรว่าใครเป็นคนร้าย แต่ว่ายังไม่เคยชิมลางกับแนวนี้เท่าไหร่เพราะเป็นแนวที่ยาก ต้องคิดให้เบ็ดเสร็จทั้งหมดแล้วค่อยหย่อนทีละนิดว่า เราจะไปเอารายละเอียดมาให้คนอ่านรู้เมื่อไหร่ ทั้งต้องปิดบางส่วน เปิดบางส่วนเพื่อให้คนสงสัย แต่ว่ายังไม่บอกอะไรมาก ให้ยังเดาไม่ได้ เรียกว่ามีความยากในแบบหนึ่ง”
แต่พอได้มาเขียนจริงๆ อาจารย์ไผ่บอกว่าไม่ได้ยากมากอย่างที่คิด “ไผ่พยายามเลี่ยงไม่ให้เป็นแบบสืบสวนสอบสวนเต็มสตรีมค่ะ (หัวเราะ) เนื่องจากเรารู้ว่าเรื่องนี้จะส่งประกวด ‘ช่องวันอ่านเอาปี ๔’ แล้วแนวเรื่องของการทำเป็นละครอย่างละครไทย ถ้าทำเป็นสืบสวนร้อยเปอร์เซ็นต์คนดูในแมสอาจยังไม่ชอบมากเท่าไหร่ เลยหยิบความโรแมนติก ความแฟนตาซีเข้าไปใส่ในเรื่องนี้ด้วยค่ะ”
ถ้าได้อ่านกันไปบ้างในเว็บไซต์อ่านเอา แฟนรามเกียรติ์ทั้งหลายก็จะเห็นว่ามีตัวละครอยู่หลายตัวที่เราต่างคุ้นชื่อ แล้วยิ่งถ้าเคยไปวัดโพธิ์มาแล้วละก็ นักอ่านหลายคนคงได้อมยิ้มไปกับท่าทีของพวกเขากันบ้างเป็นแน่ (ครั้งนี้เลยชวนอาจารย์ไผ่มาเที่ยววัดโพธิ์อีกรอบเพื่อถ่ายภาพประกอบบทสัมภาษณ์ด้วย) เรียกว่ากว่าจะมาเป็น ฤทัยยักษ์ มาให้เราได้อ่านกัน อาจารย์ไผ่ของเราก็ทำการบ้านหนักอยู่เพราะนี่เป็นเหมือนการรวมทั้ง ตำนาน วรรณคดี และคดีฆาตกรรมมาไว้ด้วยกันเลยทีเดียว
นิยายแนวฟิวชั่น
ถ้าจะให้เปรียบเทียบฤทัยยักษ์เป็นอาหารสักสไตล์ นักเขียนของเราบอกว่า ต้องเป็นแนวฟิวชั่น “เหมือนเป็นการนำอาหารแบบเก่ามาทำให้เป็นรูปแบบใหม่ อย่างเช่น แกงรัญจวนซึ่งเป็นอาหารโบราณ ถ้าเราฟิวชั่นก็จะทำให้โมเดิร์นขึ้น ฤทัยยักษ์ก็เป็นแบบนั้นค่ะ
ไผ่ว่าเรื่องนี้มีความท้าทายเราหลายอย่าง คือนอกจากจะเป็นการเขียนเรื่องแนวใหม่ของตัวเองแล้ว อีกเรื่องคือการทำการบ้านในเรื่องยักษ์จากรามเกียรติ์ เพราะไผ่ต้องการพูดถึงตำนานยักษ์วัดโพธิ์ยักษ์วัดแจ้ง ซึ่งตัวละครที่อยู่ในยักษ์วัดโพธิ์ที่เป็นตัวละครหลักของเรานั้นเป็นตัวละครที่อยู่ในรามเกียรติ์จริงๆ โดยมียักษ์ทั้งหมด ๔ ตน ได้แก่ ‘แสงอาทิตย์’ ที่เป็นพระเอก ‘ขร’ พ่อของแสงอาทิตย์และเป็นน้องชายของทศกัณฑ์ ‘สัทธาสูร’ ถ้าตามเนื้อเรื่องคือเป็นเพื่อนของทศกัณฑ์ที่ตามให้มารบด้วยแล้วตายไป สุดท้ายคือ ‘มัยราพณ์’ หลานทศกัณฑ์อีกตนที่อยู่ในเมืองบาดาลซึ่งได้มาร่วมรบแล้วตายไปด้วยเหมือนกันในเรื่องรามเกียรติ์
โดยไผ่ต้องไปศึกษาก่อนว่าคาแร็กเตอร์เหล่านี้ในรามเกียรติ์เป็นอย่างไร จากนั้นจึงต่อยอดว่าคาแร็กเตอร์น่าจะเป็นอย่างนั้น อย่างนี้ อย่างที่เลือกให้แสงอาทิตย์เป็นพระเอกเพราะชื่อน่าสนใจ แล้วด้วยความที่มีพ่อเป็นยักษ์วัดโพธิ์เหมือนกันเลยมองว่าตรงนี้มีดรามาของพ่อลูกได้ อีกทั้งแสงอาทิตย์ก็อยู่ในรามเกียรติ์แบบสั้นๆ แต่น่าจดจำเพราะว่าจริงๆ ตัวเองไม่ใช่เป็นคนร้ายแต่โดนตลบหลัง คือแสงอาทิตย์มีอาวุธชื่อแว่นแก้วสุรกานต์ ซึ่งอิทธิฤทธิ์ของสิ่งนี้คือเมื่อส่องไปที่ใครจะเกิดไฟลุกไหม้ทันที แต่แว่นแก้วสุรกานต์นี้ถูกฝากไว้ที่พระพรหม พระรามรู้ก็เลยให้ลูกสมุนแปลงกายเป็นพี่เลี้ยงของแสงอาทิตย์เพื่อไปเอาอาวุธชิ้นนี้มา ทำให้แสงอาทิตย์แพ้พระราม ตรงนี้เลยมาสร้างกิมมิกว่าคนที่คิดว่าเขาเป็นคนเลวอาจไม่ได้เลว แต่ยังโดนหักหลังด้วยซ้ำ รวมทั้งพยายามจะเล่าในมุมของยักษ์ด้วยว่า ที่เรามองว่ายักษ์นั้นน่าเกลียดน่ากลัว แต่ถ้าลงรายละเอียดจริงๆ อาจพบว่าเขาค่อนข้างเป็นคนซื่อ ถ้าเทียบกับฝั่งพระรามที่ออกจะมีกลยุทธ์ กลโกงมากกว่า เลยกลายเป็นที่มาของการมาเขียนเรื่อง ‘ฤทัยยักษ์’ เรื่องนี้ค่ะ”
ดัดแปลงวรรณคดีให้ร่วมสมัย
นักเขียนคนเก่งเล่าให้ฟังว่าเรื่องนี้มีจุดเริ่มต้นมาจากที่เธอได้ไปฟังตำนานยักษ์วัดโพธิ์ ยักษ์วัดแจ้งของรายการท่องเที่ยวรายการหนึ่ง “ตำนานนั้นเล่ามากันว่า ยักษ์วัดโพธิ์เหมือนยืมเงินยักษ์วัดแจ้งมา แล้วยักษ์วัดแจ้งมาทวงจนทำให้เกิดเหตุการณ์ทะเลาะและต่อสู้กันจนพื้นที่บริเวณนั้นราบและกลายเป็นท่าเตียน แต่ก็ยังมีเรื่องที่เล่าถึงอีกมุมหนึ่งว่า ในยุครัชกาลที่ ๔ ได้เกิดไฟไหม้ใหญ่ที่ทำให้คนล้มตายจำนวนมาก มีการคาดเดาสันนิษฐานว่าเรื่องยักษ์ที่เล่านั้นจึงเป็นเหมือนกุศโลบายที่แต่งขึ้นมาเพื่อปลอบใจคนว่าจริงๆ เป็นฝีมือของยักษ์นะ ซึ่งตอนนี้ไม่ได้สู้กันแล้ว ไผ่ฟังแล้วรู้สึกว่าน่าสนใจ คิดว่าถ้าเราจับตำนานและเรื่องไฟไหม้เข้ามาเป็นเรื่องเดียวกันจะเป็นยังไง นี่เป็นจุดเริ่มต้น ทั้งยักษ์ในวัดโพธิ์และวัดแจ้งก็เป็นยักษ์ที่มีอยู่ในเรื่องรามเกียรติ์ เลยไปค้นว่าในรามเกียรติ์มีตัวละครอะไรบ้าง แล้วก็เลือกแสงอาทิตย์มาเป็นตัวละครหลัก จากเหตุผลที่เล่าไป แล้วไปต่อยอดที่ปมที่แสงอาทิตย์มี รวมถึงปมที่ตัวละครอื่นๆ มีด้วย
ความสนุกในการเขียนเรื่องนี้คือการปรับวรรณคดีไทยให้ร่วมสมัยและเข้าใจง่าย อีกทั้งยังมีหลายแนว ทั้งโรแมนติก แฟนตาซี สืบสวน และการที่เราจะทำให้เรื่องราวกลมกล่อม บาลานซ์ในแต่ละแนวจึงเป็นความตื่นเต้นว่าเราจะทำได้ไหม และพบว่าทำได้ประมาณหนึ่งค่ะ (หัวเราะ)”
ตัวละครลับ?
ก่อนที่จะมาเป็นฤทัยยักษ์ให้เราได้อ่านกัน เรื่องนี้ต้องนำเข้าประชุมพล็อตจากคณะกรรมการก่อน “ตอนนั้นมีการปรับเยอะอยู่เหมือนกันค่ะ แต่พล็อตเหมือนเดิม คณะกรรมการบอกว่าพล็อตน่าสนใจ แต่ตอนแรกไผ่ให้ตัวร้ายเป็นคนยุคปัจจุบันที่ฉากหน้าเป็นคนดี แต่จริงๆ เป็นคนร้าย ซึ่งจะตรงข้ามกับยักษ์ แต่หนึ่งในคณะกรรมการคอมเมนต์ว่า ถ้าจะย้อนอดีต ก็อยากให้เราย้อนไปตรงนั้นจริงๆ เลยเปลี่ยนใหม่ และสมมติตัวละครขึ้นมาว่าจริงๆ เขาก็อยู่ในเรื่องรามเกียรติ์ด้วย แต่คนอาจไม่เคยรู้มาก่อนว่าเขามีความเจ็บแค้นบางอย่างที่ทำให้ต้องกลับมาแก้แค้นซึ่งก็ดูกลมขึ้นนะคะว่าทำไมเราต้องอ้างอิงถึงวรรณคดี คล้ายๆ กับ ถ้ายักษ์ถูกมองเป็นตัวร้ายซึ่งโดนกดอยู่แล้วในเรื่อง จริงๆ แล้วยังมีตัวละครอื่นๆ ที่ยังไม่ได้ถูกพูดถึงในเรื่องนี้อีก แล้วเขาอาจโดนมากกว่าด้วยซ้ำ”
คิดแทนยักษ์
หลังจากได้พิมพ์คำว่า จบบริบูรณ์ ลงในบรรทัดสุดท้ายของนิยายเรื่องนี้ สิ่งที่ได้อาจารย์ไผ่บอกว่าได้รับจากการเขียนเรื่องฤทัยยักษ์แทบจะทันทีเลยคือชั่วโมงบินที่มากขึ้นในฐานะนักเขียน “เราพบว่ามีจุดไหนบ้างที่ติดขัด จุดไหนบ้างที่ใช้เวลา จุดไหนบ้างที่เขียนได้ค่อนข้างราบรื่น เรื่องนี้เป็นเรื่องที่ค่อนข้างเขียนนานค่ะ มีบางช่วงที่เขียนไม่ได้เลยขอนิ่งๆ ไปนิดหนึ่ง โชคดีที่โครงการมีขยายเวลาจึงทำให้เขียนจบได้ในที่สุด อาจเพราะเรื่องนี้ยากตรงที่ตัวละครหลักไม่ใช่มนุษย์ อย่างคดีรักร้าง เราจินตนาการออกว่าเขาต้องมีความเจ็บปวดอะไร ยังไง ผิดหวังยังไง แต่นี่เราต้องจินตนาการความรู้สึกของยักษ์ แต่ก็พยายามที่จะทำให้มีความเป็นมนุษย์ว่า เขาก็เจ็บปวดนะที่ถูกมองว่าเป็นตัวร้ายตลอดกาล สุดท้ายเวลาที่เรามองผ่านความเป็นวรรณคดี หรือแฟนตาซีเราก็ใส่ความเป็นมนุษย์ อย่าง รัก โลภ โกรธ หลง เข้าไปอยู่แล้ว ส่วนในความแฟนตาซีก็มีปาฏิหาริย์ อภินิหาร เช่น แปลงกายได้ หายตัว ตรงนี้ในส่วนของความเป็นยักษ์ แต่ในส่วนของจิตใจก็คิดว่ายักษ์ต้องมีความเป็นมนุษย์ เพราะสุดท้ายเราต้องให้เขาเชื่อมโยงกับคนดูค่ะ”
รักชนะความต่าง?
นอกจากนำเสนอมุมมองในเรื่องว่า ‘อย่าตัดสินคนแค่เพียงภายนอก’ อีกเรื่องที่อาจารย์ไผ่ต้องการนำเสนอคือความรักชนะความแตกต่างด้วย “เพราะว่านางเอกเป็นมนุษย์แต่พระเอกเป็นยักษ์ ทำให้ทั้งคู่ต้องเผชิญอุปสรรคที่มาจากความแตกต่างอยู่เยอะ แต่ก็อยากให้มาลุ้นกันว่าจะไปลงเอยหรือสมหวังกันไหม บอกมากไม่ได้ค่ะเดี๋ยวสปอยล์ (หัวเราะ)
“อยากให้ติดตามกันค่ะว่าจะเป็นอย่างไร ยักษ์จะอยู่ร่วมกันมนุษย์ได้ไหม มาเอาใจช่วยทั้งคู่กันไปด้วยกันนะคะ”