คุยกับ ‘เวฬุวลี’ ผู้เขียน “คดีรักร้าง” หรือ “สงครามสมรส” ในภาคละครที่ต้องการให้ชีวิตร้างได้ไปต่ออย่างมีสติ!

คุยกับ ‘เวฬุวลี’ ผู้เขียน “คดีรักร้าง” หรือ “สงครามสมรส” ในภาคละครที่ต้องการให้ชีวิตร้างได้ไปต่ออย่างมีสติ!

โดย : กิ่งสุรางค์ อนุภาษ

Loading

ละครหลังข่าวสุดเข้มในเวลานี้เห็นจะหนีไม่พ้นเรื่อง ‘สมครามสมรส’ ที่สร้างจากนิยายเรื่อง ‘คดีรักร้าง’’ ของ เวฬุวลี นวนิยายรางวัลดีเด่น หมวดนิยายดรามาครอบครัว จากโครงการช่องวันอ่านเอาปี 2 ที่เล่าถึงผู้หญิงคนหนึ่งซึ่งเสียสละความสุขของตัวเองเพื่อครอบครัว แต่กลับถูกสามีทรยศ หักหลัง ด้วยการแอบไปแต่งงานซ้อนกับผู้หญิงอีกคน ศึกแห่งการ ‘ฟ้องชู้’ จึงเริ่มต้นและค่อยๆ ขยายผล มีการฟ้องร้องอื่นๆ ตามมา เรียกว่าชงเข้มกันตั้งแต่ต้นเรื่องแถมยังปลุกความรู้สึกของ ‘เพื่อนหญิงพลังหญิง’ ทั้งหลายให้ชูป้ายไฟ เชียร์ ‘บัวบงกช’ นางเอกของเรื่องสู้ไม่ถอยแบบรัวๆ

แต่ถึงอย่างนั้นนักเขียนก็ยังไม่ละทิ้งในเรื่องของความรักและสถาบันครอบครัวที่ปูกันมาตั้งแต่ต้นเรื่อง โดยตีแผ่แง่มุมต่างๆ ให้นักอ่าน ผู้ชม ได้มองเห็นด้านอื่นๆ มากกว่าด้านใดด้านหนึ่ง ความเทาของตัวละครนำพาไปสู่เรื่องราวมากมายและเห็นได้ในชีวิตประจำวัน

ขณะที่เรื่องราวกำลังลุ้นกันแบบตัวโก่งแทบทุกตอน หลายคนก็โหลดอีบุ๊ก และอุดหนุนนิยายเรื่องนี้ไปอ่านก่อนอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง อ่านเอาเองก็ไม่ช้าที่ขอเวลาอาจารย์ไผ่ หรือ เวฬุรีย์ เมธาวีวินิจ ซึ่งปัจจุบันเธอเป็นอาจารย์ด้านการจัดการมรดกวัฒนธรรมและอุตสาหกรรมสร้างสรรค์ วิทยาลัยนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้สร้างสรรค์เรื่องราวสุดดรามาเรื่องนี้ มาพูดคุยกันว่า เพราะอะไรเธอจึงเลือกสร้างนิยายที่เล่าถึงการว่าความในศาล รวมถึงเป้าหมายในการเขียนเรื่องนี้ และกว่าจะมาเป็นผลงานสุดปังนี้ ยากและง่ายอย่างไรบ้าง

ฟีดแบ็กหลั่งไหลทุกทางหลังละครออนตอนแรก

เรียกว่าเปิดเรื่องมาก็แรงกันทั้งเรื่องทั้งเรตติ้งกันเลยทีเดียว ตอนที่เรากำลังคุยกับอาจารย์ไผ่อยู่นี้ เรตติ้งของละครอยู่ที่ 4.07 ทั่วประเทศ และ 4.6 ในกรุงเทพฯ แน่นอนว่าสำหรับนักเขียนเองก็ได้รับฟีดแบ็กจากผู้ชมอย่างมากเช่นกัน

“เรียกว่ามาจากทุกทางเลยค่ะ เช่น เพื่อนที่แทกมาทางเฟซบุ๊กว่าสนุกมาก พวกเขาชอบกัน เพราะถึงจะเป็นเรื่องราวแนวสามี ภรรยา แต่ก็เป็นแนวที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ซึ่งในฐานะของผู้เขียนรู้สึกดีใจค่ะ เพราะตอนที่เขียนก็คิดว่าจะทำให้เรื่องที่คนไทยชอบทำ คือเรื่องสามี ภรรยา นี่แหละ แต่มีวิธีการพลิกมุมมองให้เล่าในอีกแบบหนึ่ง แล้วเผอิญเป็นคนชอบดูซีรีส์ Courtroom (เรื่องราวที่เกิดขึ้นระหว่างการพิจารณาคดี) การว่าความในศาล ซึ่งจะมีฝ่ายโจทก์กับฝ่ายจำเลย ที่ชอบเพราะความสนุกของการเล่าเรื่องแบบนี้คือ บางทีเราอาจรู้ว่าละว่าคนนี้ผิดแน่ๆ แต่ไม่มีหลักฐาน แล้วเขาจะนำหลักฐานยังไงมาสู้กัน หรือบางทีก็จะเล่าเรื่องแบบที่ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคนนี้ผิดจริงหรือเปล่า อย่างนี้จะพิสูจน์ได้ยังไง เพราะฉะนั้นเรื่องแนวนี้จึงเป็นการเล่นกับความรู้สึกของคนดู เรื่องของการถกเถียง จริยธรรม กฎหมาย ซึ่งเล่นได้หลายประเด็นในฉาก รู้สึกว่าอยากจับการเล่าเรื่องแบบนี้เข้ามา ซึ่งตอนช่วงที่เขียนก็มีคดีที่เกิดขึ้นหลายคดีระหว่างสามี ภรรยา เลยรวมๆ กันมาเป็นเรื่องนี้ค่ะ”

บังเอิญหรือตั้งใจ เพราะอะไรงานแต่งงานซ้อนจึงมาเป็นซีนแรกๆ

“เรื่องนี้ไม่ได้ต้องการจะเล่าว่าคนนี้เป็นชู้กับสามีฉันหรืออะไรอย่างนี้ แต่ต้องการเปิดไปเลยว่ารู้แล้ว และจะมีกระบวนการอย่างไร จริงๆ ตรงนี้เกิดการพัฒนาระหว่างการพล็อตเรื่องด้วย เพราะตอนแรกตอนเปิดเรื่องมา เราก็จะให้รู้เป็นซีนแรกๆ นั่นแหละ แต่เรื่องแต่งงานซ้อนเนี่ยเพิ่งมา เพราะช่วงนั้นมีข่าวหลายข่าว ไม่ใช่คนใดคนหนึ่งนะคะที่เกี่ยวข้องกับการแต่งงานซ้อนแล้วภรรยาหลวงก็เข้าไปเห็น ซึ่งรู้สึกว่าเป็นอะไรที่เข้มข้นมาก แล้วถ้าเป็นผู้หญิงที่ไม่เคยรู้เรื่องนี้มาก่อนเลย พอวันรุ่งขึ้นกลายเป็นสามีไปแต่งงานกับอีกคนน่าจะอิมแพคสุดๆ เลยมาเปิดหัวเรื่องด้วยสิ่งนี้

“ตอนแรกส่งเป็นพล็อตก่อน ซึ่งได้วางไว้แล้วว่ามีการทะเลาะกัน ศาลแรกจะเจออะไรก่อน ศาลที่สองจะมีอะไร และถัดๆ ไป จะเป็นอย่างไร อย่างคดีแรกจะเป็นคดีฟ้องชู้ ซึ่งความรู้สึกของคนเขียนคิดว่าบัวบงกชยังอยากยื้อไว้อยู่ เหมือนกับผู้หญิงส่วนใหญ่ที่พอเจอเหตุการณ์นี้ก็ยังมีความลังเลที่จะหย่า เลยมีการฟ้องชู้ก่อน แต่พอสเต็ปต่อไปก็เป็นเรื่องฟ้องหย่า ซึ่งเป็นช่วงที่บัวบงกชรู้ว่ายื้อไม่ได้แล้ว แถมฝ่ายสามียังกล่าวหาว่าเป็นความผิดของภรรยา ซึ่งเธอก็จะสู้ด้วยเหตุผลว่าที่ต้องเป็นแบบนี้ก็เพราะสามีด้วย ในแต่ละสเต็ปนักเขียนจะพยายามวางให้ความสนุกแต่ละประเด็นไม่เหมือนกัน ช่วงแรกจะเป็นการหักเหลี่ยมเฉือนคมระหว่างเมียหลวงเมียน้อย พอต่อมาก็ดรามาย้อนอดีตว่ามีอะไรเกิดขึ้นกับครอบครัวนี้ ถัดๆ ไปก็จะมีเรื่องราวต่อไปอีก พยายามที่จะทำให้ความขัดแย้งในศาลแต่ละศาลไม่เหมือนกันค่ะ”

สะท้อนผู้หญิงสามแบบผ่านตัวละครของผู้หญิงสามคน

อย่างที่บอกไปแต่ต้นว่า นอกจากละครเรื่องนี้จะเข้มข้น ยังเป็นเหมือนกับปลุกพลังเพื่อนหญิงพลังหญิงด้วย ซึ่งเมื่อได้ถามนักเขียน เธอก็บอกว่ามีความตั้งใจให้เป็นแบบนั้น

“ตัวละครเพื่อนผู้หญิงสามคนนั้นไผ่อยากจะให้เป็นตัวแทนของผู้หญิงคนละแบบกัน อย่าง ‘ศลิษา’ ที่คุณเป้ย (ปานวาด เหมมณี) เล่น เป็นเหมือนตัวแทนผู้หญิงที่จัดการได้ดีที่สุดในชีวิตครอบครัว คือพอรู้ว่าไม่ใช่แล้วก็เดินออกมาแล้วก็คุยกันดีๆ โดยที่ต่างฝ่ายต่างก็ยังเป็นพ่อและแม่ของลูกได้ ซึ่งตรงนี้ไผ่มองว่าเป็นเรื่องที่ดีที่สุด ไผ่ไม่ได้มองเรื่องการหย่าว่าเป็นเรื่องที่แย่ เพียงแต่ว่าจะจัดการยังไงให้ผ่านพ้นสถาการณ์นั้นมาได้ แต่ส่วนของบัวบงกช (แอฟ-ทักษอร ภักดิ์สุขเจริญ) ก็เป็นอย่างที่ทุกคนรู้ว่าเขาไม่ทันตั้งตัวกับสิ่งที่เกิด เพราะฉะนั้นก็จะมีสเต็ปว่าเขาจะรู้สึกในแบบหนึ่งแล้วพยายามจะต่อสู้ในแบบหนึ่งก่อนจากนั้นจึงค่อยๆ เปลี่ยนความรู้สึกนั้นไปเรื่อยๆ ค่อยๆ เข้มแข็ง ซึ่งอาศัยประสบการณ์จากเพื่อนมาเป็นส่วนหนึ่งด้วย

“คือเพื่อนก็ไม่ได้ตัดสินว่าเขาจะต้องทำอย่างโน้นอย่างนี้ แต่ว่าจะให้กำลังใจ แล้วก็ให้สติในหลายๆ ครั้ง ส่วน ‘ชนิกานต์’ ซึ่งเป็นตัวละครที่คุณแอน (อลิชา หิรัญพฤกษ์) แสดง จะเป็นผู้หญิงที่ยึดผู้ชายที่เป็นสามีไว้ตลอด ถึงแม้จะรู้ว่าความสัมพันธ์นี้ไม่เวิร์กแต่ก็กลัวที่จะออกจากชีวิตแต่งงานเพราะไม่รู้ว่าจะต้องไปเผชิญอะไรต่อไป เป็นความ toxic อีกอย่างหนึ่ง อยากจะพูดกับผู้หญิงที่อยู่ในความรู้สึกตรงนี้รู้ว่าสุดท้ายคุณยื้อไว้ไม่ได้หรอก ไม่ว่ายังไงคุณก็ต้องยืนด้วยขาของตัวเองอยู่ดี อาจเรียกได้ว่าเรื่องนี้มีแมสเสจให้ผู้หญิงแต่ละแบบ ไม่ว่าจะเป็น ศลิษา บัวบงกช หรือ ชนิกานต์ คนเลยอาจรู้สึกว่าเรื่องนี้คือเพื่อนหญิงพลังหญิง ถามว่าตั้งใจขนาดนั้นไหม คือตั้งใจให้ตัวละครเพื่อนสะท้อนตัวละครผู้หญิงหลายๆ แบบ สุดท้ายความตั้งใจเหล่านี้เลยกลายเป็นเอ็มพาวเวอร์เมนท์ให้กับผู้หญิงด้วยค่ะ”

การออกจากคอมฟอร์ทโซนไม่น่ากลัวอย่างที่คิด

ผู้หญิงยุคใหม่มองเรื่องชีวิตคู่ต่างไปจากยุคก่อน จากที่เคยต้องอดทนไม่ว่าสามีจะไม่ดีอย่างไร กลายเป็นกล้าที่จะเลือกและมูฟออนไปสร้างชีวิตใหม่มากขึ้น แต่ในขณะเดียวกันก็ยังมีผู้หญิงอีกหลายคนที่ไม่กล้าจะเริ่มต้นใหม่ ไม่ใช่เพราะไม่กล้ากับการเริ่มต้นชีวิตคู่ครั้งที่สอง แต่กลายเป็นไม่กล้าเพราะกลัวออกจากคอมฟอร์ทโซนมากกว่า

 “เป้าหมายในการเขียนเรื่องนี้คือ การหย่าร้างไม่ได้เลวร้าย เพียงแต่ว่าเราต้องจัดการมันยังไง อาจารย์ไผ่เล่า “อย่างศลิษานี่คิดว่าเขาหลุดพ้นแล้วละ เพียงแต่มาช่วยเพื่อน เป็นกำลังใจให้บัวบงกช ซึ่งตอนแรกคือยื้อไว้ พอยื้อไว้ไม่ได้ก็ก้าวขึ้นมาสู้ แต่เป็นการสู้เพื่อตัวเอง ไม่ได้สู้เพื่อให้ผู้ชายกลับมา ส่วนชนิกานต์เดี๋ยวจะมีหักมุมอีก จากที่พยายามยื้อครอบครัวไว้อย่างสุดๆ แต่สุดท้ายเขาก็ต้องโดนทรยศหักหลัง ลองติดตามดู เพราะสุดท้ายชนิกานต์ก็เข้าใจว่าจริงๆ กลับมาโสดก็ไม่ได้แย่

“เรื่องหนึ่งที่เป็นความต่างของผู้หญิงสามคนนี้คือ ศลิษามีงานเป็นของตัวเอง แต่บัวบงกชเป็นแม่บ้าน ส่วนชนิกานต์ช่วยงานครอบครัวของสามี เพราะฉะนั้นทั้งสามคนเลยมีอิสระที่ต่างกัน ศลิษาตัดสินใจได้เลย เพราะถึงจะหย่าแต่เขาก็ยังมีหน้าที่การงานของเขาอยู่ บัวบงกชพอหย่าแล้วตามที่ตกลงคือจะให้ค่าเลี้ยงดู แต่ว่าจะเป็นอย่างนั้นไปจริงหรือเพราะว่าปัญหาตรงนี้เกิดมาจากการนอกใจ และเป็นการนอกใจที่รุนแรง อยู่ๆ ก็ไปแต่งงานกับคนอื่นเลย ส่วนชนิกานต์ก็คือธุรกิจ สิ่งที่เขาทำนั้นผูกกับบ้านสามี เขาก็ยิ่งต้องกลัวว่าออกไปแล้วจะอยู่ยังไง ใช้ชีวิตยังไง งานการฉันจะมีทำไหม หรืออย่างบัวบงกชที่ไม่ได้ทำงานมาเป็นสิบปีก็แทบจะกลับไปทำงานในระบบออฟฟิศไม่ได้ คือต้องทำงาน ทำธุรกิจของตัวเอง ซึ่งถ้าไม่เคยทำก็จะยาก เรื่องนี้เลยเป็นเหมือนการบอกว่าการที่จะต้องออกไปจากคอมฟอร์ทโซนของตัวเองไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด ซึ่งตัวละครสามตัวนี้ไผ่ไม่ได้นำมากจากตัวบุคคลแบบคนใดคนหนึ่ง แต่เพราะเราอาจเคยได้ยินเรื่องนั้น เรื่องนี้มาบ้าง เป็นการหยิบเกร็ดเล็กเกร็ดน้อย เป็นการผสมของคนที่เราอาจรู้จักบ้าง หรือบางทีก็เป็นเรื่องที่ปรากฏในข่าว ทำให้รู้ว่ามีเรื่องแบบนี้ด้วยนะ

“ถ้าติดตามไปเรื่อยๆ  หรือถ้าใครอ่านนิยายก็จะรู้ว่าไม่ใช่จะมีแต่มุมของผู้หญิงอย่างเดียวด้วยนะคะ เพราะในเรื่องยังมีเรื่องมุมของผู้ชายก็คือมุมของคุณทนายภาวินท์ เพราะเขามีลูกสาวที่เกิดจากความสัมพันธ์ที่ยังไม่ได้พร้อมทั้งคู่ ตรงนี้ก็มีมุมมองในเรื่องกฎหมายด้วยเหมือนกัน ซึ่งผู้ชายก็จะได้พูดมุมของตัวเองด้วยว่าบางอย่างเขาก็เสียสิทธิ์ของตัวเองในฐานะผู้ชายค่ะ”

แคสติ้งตรงใจ แอฟทักษอร เหมือนลอยออกมาจากนิยาย

ในเรื่องการแคสติ้งสำหรับคนดูอย่างเราก็ต้องยอมรับว่าทางช่องวัน 31 แคสได้เหมาะเจาะกับตัวละครมาก ซึ่งผู้สร้างสรรค์ผลงานเล่มนี้เองก็ชื่นชอบไม่แพ้กัน

“ต้องบอกว่าชอบมากค่ะ รู้สึกตรงใจสุดๆ คุณแอฟที่รับบทบัวบงกชนี่เหมือนเดินออกมาจากนิยายเลยค่ะ ในเรื่องบัวบงกชเป็นผู้หญิงที่ดูอ่อนหวาน เป็นแม่บ้าน แต่พอตอนที่เข้มแข็งเธอก็สู้สุดตัวเหมือนกันแล้วสู้ในแบบของเธอ ซึ่งตรงนี้คุณแอฟถ่ายทอดความเป็นตัวของบัวบงกชได้ดีมาก หรืออย่างคุณตรี (ภรภัทร ศรีขจรเดชา) ที่รับบทเป็นทนายภาวินท์ก็ดีงามเหมือนกัน ออร่าความเป็นทนายนี่ออกมาตั้งแต่ฉากแรกๆ เลย เขามีมาดตอนว่าความที่ทำให้เชื่อว่านี่คือทนาย

รวมถึงพี่ชาคริต (ชาคริต แย้มนาม) ที่เป็นสามีนอกใจก็เล่นได้ดี คนไม่เกลียดเขาเลย เพราะในนิยายที่เขียนไม่ได้บอกว่ามีใครถูกผิดร้อยเปอร์เซ็นต์ แต่เป็นความสัมพันธ์ที่ไปต่อไม่ไหว แล้วบังเอิญผู้ชายซึ่งก็คือปรเมศวร์ เป็นคนไม่กล้าตัดสินใจทำอะไรลงไปซักอย่างก็เลยเกิดเหตุอย่างนี้ขึ้น แล้วพี่ชาคริตก็จะมีอารมณ์แบบปั้นหน้า จะพูดดีหรือไม่พูดดี รวมถึงน้องมายด์ (ลภัสลัล จิรเวชสุนทรกุล) ก็เล่นเป็นเมียน้อยได้น่าหมั่นไส้มาก เพื่อนนางเอกอย่าง คุณเป้ย คุณแอน ก็ชอบค่ะ ส่วนกลุ่มนักแสดงเด็กก็ทำได้ดี ตอนนี้เราอาจเห็นการแสดงของเด็กๆ ไม่มากแต่ต่อไปจะได้เห็นฝีมือเขาแน่นอน

“ไผ่เองได้มีโอกาสไปกองถ่ายสองครั้ง ซึ่งพอเห็นตัวละครพูดไดอะล็อกต่างๆ เห็นฉาก เห็นสถานที่ก็ตื่นเต้น แต่ต้องบอกว่าเวลาที่เราไปกองถ่ายจะยังมองไม่เห็นภาพรวมทั้งหมด อาจเห็นแค่ซีนนี้ ฉากนี้ แล้วจะมีการถ่ายซ้ำหลายหน อาจต้องเทคก่อน เพราะมีเรื่องของเสียงเข้ามา อะไรแบบนี้เป็นต้น จนกระทั่งมาตัดต่อมาอยู่ในรูปแบบของละครแล้วถึงได้เห็นว่า โอ้โห เขาทำถึงจริงๆ ค่ะ” 

จาก นักเขียนบท สู่ นักเขียนนิยาย

ก่อนจะมาเป็นนักเขียนนิยายนามปากกา ‘เวฬุวลี’ อาจารย์ไผ่เคยเขียนบทละครโทรทัศน์มาแล้ว 7-8 ปี ก่อนจะไปเรียนต่อและกลับมาเป็นอาจารย์สอนในระดับมหาวิทยาลัย แน่นอนว่าเธอได้นำเทคนิคบางอย่างในการเขียนบทมาปรับใช้ในการเขียนนิยายเรื่องนี้ด้วย

“เวลาเขียนบทเราจะเห็นภาพในหัวก่อนว่ามีอะไร ยังไง เพราะฉะนั้นตอนที่เขียนเรื่องคดีรักร้างก็ค่อนข้างที่จะคิดเหมือนกันว่า เปิดฉากด้วยตอนนี้นะ สังเกตว่างานของไผ่จะมีจุดที่จะให้ติดตามตอนต่อไป เพราะฉะนั้นจึงมักจะปิดจบตรงที่ทำให้คนอ่านรู้สึกว่า ‘เฮ้ย อย่างนี้เลยเหรอ’ ซึ่งเป็นวิธีการของละครน่ะค่ะ อย่างบทที่สองก็จบด้วยตอนที่บอกว่าสามีเธอไปแต่งงานกับผู้หญิงคนอื่นนะแล้วก็จบ ทำให้คนอ่านรออ่านแล้วว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป วิธีนี้ก็ใช้ค่อนข้างบ่อยเหมือนกันค่ะในการเขียนนิยาย

“แล้วพอมาเป็นนิยายก็จะมีการบรรยายความรู้สึกมากขึ้น โฟกัสของตัวละครหลัก แต่ถ้าเป็นละคร เราต้องตามทั้งตัวละครหลักและตัวละครรอง อาจตัดสลับไปเล่าถึงคนโน้นคนนี้ ไผ่พยายามที่จะใช้ข้อดีของละครมาใช้กับนิยาย แต่ว่าบางอย่างที่ไม่เหมือนกันเราก็จะเลี่ยงไม่ทำให้เหมือนละครเป๊ะๆ ค่ะ”

ก่อนจะเป็นนิยายหนึ่งเรื่อง

กว่าจะมีเรื่อง ‘คดีรักร้าง’ ออกมาสู่สายตานักอ่านบอกเลยว่าไม่ง่ายและต้องผ่านหลายขั้นตอน หนึ่งในนั้นคือนักเขียนจะต้องส่งพล็อตให้คณะกรรมการได้อ่านก่อน เมื่อได้รับคำคอมเมนต์และแนะนำแล้วจึงค่อยนำไปพัฒนาต่อเป็นนิยายที่พร้อมสร้างเป็นละครและนำกลับมาให้คณะกรรมการได้พิจารณาอีกครั้ง ก่อนที่จะได้รับการตัดสินว่าใครจะได้รับรางวัลนั้นๆ

“ตอนที่คอมเมนท์พล็อตเนี่ย ทางกรรมการบอกว่าน่าสนใจ แต่กลัวในเรื่องของความเครียดว่าจะเครียดไปไหม ชีวิตนางเอกดูชอกช้ำระกำใจมาก เลยเป็นโจทก์ว่าจะทำยังไงเพื่อเป็นการเบรกอารมณ์ไม่ให้เครียด ถ้าใครอ่านในนิยายก็จะรู้ว่า ตัวละครแวดล้อมนี่แหละที่ทำให้ไม่เครียด อย่างเช่น เพื่อนมาเป็นกำลังใจ มีคุณทนายดูมาเป็นความหวัง สำหรับนางเอกเราก็พยายามที่จะไม่ให้รู้สึกชีวิตสิ้นหวังแล้ว โดยบัวบงกชเขาก็จะมีมายเซ็ตว่าชีวิตต้องไปต่อ แล้วก็เรื่องของศาล ตอนนั้นพี่ปุ้ย กิ่งฉัตร ได้แนะนำว่าเรื่องดวงใจพิสุทธิ์ว่ามีฉากศาลอยู่ ไผ่ก็ไปอ่านดู หรืออย่างพี่เกด (พิมพ์มาดา พัฒนอลงกรณ์) ก็เคยเขียนเรื่องที่เกี่ยวกับศาลเรื่องอื่นๆ ไผ่ก็ไปดูว่ากิมมิกของการตัดระหว่างศาลกับฉากอื่นๆ เป็นยังไง เพราะเราได้นำเรื่องศาลมาเป็นความสนุก แต่จะทำให้ทุกๆ ฉากไปอยู่ในศาลก็คงไม่ได้เพราะต้องมีชีวิต มีอะไรด้วย ก็พยายามจะศึกษาค่ะ

“เรื่องนี้ใช้เวลาในการเขียนประมาณ 4-5 เดือน ตอนแรกๆ ที่เขียนจะค่อนข้างโฟลว์เพราะมีอิมแพกที่เราวางไว้ มีความรุนแรงตั้งแต่ฉากต้นๆ แล้วก็เขียนมาเรื่อยๆ จนมาถึงตรงกลางๆ ที่บางคนจะบอกว่าถ้าตรงกลางเขียนไม่ได้มันจะเป็นอาการที่เรียกว่า ‘ตกท้องช้าง’ เล่าอะไรย้วยไปหมด ตรงนี้ก็พยายามจะแก้โดยการที่ถ้าคิดไม่ออกก็เขียนไปก่อน คิดว่าสิ่งที่ต้องมีคืออะไร ตรงนี้สนุกแน่ ก็เขียนไปจนจบ จากนั้นลองมาไล่ดูก็จะเห็นว่ามีอะไรต้องปรับบ้างไหม ตรงนี้ก็ดึงเข้ามาช่วย เพราะเรายังไม่คาดหวังความเพอร์เฟ็กต์ในดราฟแรก ค่อยมาแต่งเติมทีหลัง หลังเขียนเสร็จจำได้ว่าไผ่น่าจะมีเวลารีไรต์อีกประมาณเดือนถึงเดือนครึ่งสำหรับเรื่องนี้ สาเหตุที่ทำได้อย่างต่อเนื่องอย่างหนึ่งอาจเป็นเพราะเราเห็นภาพชัดด้วย ตัวเอกเป็นผู้หญิงอายุ 40 ซึ่งเป็นวัยใกล้เคียงกับตัวเอง ที่แม้จะไม่มีสงครามสมรสอะไร แต่เราเห็นภาพว่าเขาจะพูดอะไรค่ะ แล้วก็เข้าใจว่าเพื่อนในวัยนี้จะคิดอะไร พูดอะไร ยังไงด้วยค่ะ”

“สำหรับตัวละครกว่าจะรู้จักเขาดีพอ ไผ่ก็ใช้เวลานานอยู่นะคะ ตอนแรกไม่รู้หรอก เราจะเขียนไปก่อนและจะโตไปพร้อมกับตัวละครด้วย แต่สักพักหนึ่งจะเริ่มเก็ตแล้วว่าเขาน่าจะรู้สึกอย่างนี้นะ แล้วก็ลองเขียนไป บางอย่างไผ่ก็ปรับ เช่น ตอนแรกเราวางโครงไว้อย่างนี้ แต่พอตอนหลังไผ่ก็รู้สึกว่าตัวบัวบงกชน่าจะรู้สึกอีกแบบมากกว่าในเมื่อถึงจุดนี้แล้ว ซึ่งการปรับมาจากการที่เราเขียนมาก่อนแล้วเราเห็นว่าอารมณ์ของตัวละครไปถึงไหนแล้ว เรื่องนี้ที่ทำการบ้านเยอะหน่อยคงเป็นเรื่องกฎหมาย แต่เรื่องลักษณะนิสัยต่างๆ ของคน คงเพราะผ่านวัยผ่านประสบการณ์มาประมาณนี้ ได้เจอคนมาหลายแบบ ทำให้เข้าใจได้ว่า อ๋อ คนแบบนี้จะเป็นแบบนี้ เราก็คิดจินตนาการได้ค่ะ”

ผลงานต่อไปที่จะได้อ่าน

ใครคิดถึงผลงานของอาจารย์ไผ่ ตอนนี้เรามีเรื่อง ‘ฤทัยยักษ์’ ให้อ่านกันได้ในเพจอ่านเอา รับรองว่าสนุกไม่แพ้กัน

“ตอนนี้มีพล็อตอยู่คร่าวๆ ค่ะ ครั้งนี้เป็นการเล่าเรื่องศาลเหมือนกันแต่อยากจะลองย้อนยุคไปในอดีต เป็นแนวพีเรียด ซึ่งไปบังเอิญไปค้นเจอ เป็นเกร็ดประวัติศาสตร์เกี่ยวกับการพิพากษา ซึ่งมองว่าน่าสนใจ อาจเชื่อมโยงกับครอบครัวบ้าง แต่อยู่ในช่วงพัฒนาอยู่

“ส่วนตอนนี้ก็อยากฝากผลงานเรื่องนี้ค่ะ เพราะนักเขียนเขียนก็ตั้งใจมาก เรื่องนี้มีแมสเสจที่ดีต่อคนดู แล้วคนที่ทำละครไม่ว่าจะเป็นพี่สันต์ ศรีแก้วหล่อ ทีมเขียนบท พี่เกด-พิมพ์มาดา พัฒนอลงกรณ์ คุณโอ๊ะ-วรรณถวิล สุขน้อย และคุณปอย-พิมสิรินทร์ พงษ์วานิชสุข ทีมนักแสดงทุกคนตั้งใจเต็มที่

“เราอยากให้คนดูติดตามเรื่องนี้จริงๆ เพราะจะพลิกมุมมองที่ว่าเรื่องผัวเมียมีอะไรที่ซ้ำๆ มาเป็นความไม่ซ้ำที่คุณอาจหยิบไปใช้ในชีวิตประจำวันได้ โดยที่ชีวิตของคุณไม่ต้องมีสงครามก็ได้ แต่ก็น่าจะต้องรู้กฎหมายไว้บ้าง เพราะตรงนี้เป็นกฎหมายที่บางทีเราก็ต้องใช้บางทีที่เรามีครอบครัวค่ะ”

Don`t copy text!