จาก ’มายากาเหว่า‘ สู่ ’แม่เลี้ยง‘ นวนิยายที่ ‘ณรัญชน์’ ตั้งใจให้ทั้งดราม่า ซับซ้อน และมีการหักมุมของตัวละครที่คาดไม่ถึง!

จาก ’มายากาเหว่า‘ สู่ ’แม่เลี้ยง‘ นวนิยายที่ ‘ณรัญชน์’ ตั้งใจให้ทั้งดราม่า ซับซ้อน และมีการหักมุมของตัวละครที่คาดไม่ถึง!

โดย : กิ่งสุรางค์ อนุภาษ

Loading

ออกอากาศทางช่องสามกันมาได้สักพักแล้วกับละครเรื่อง #แม่เลี้ยง ที่สร้างมาจากบทประพันธ์เรื่อง #มายากาเหว่า โดย #ณรัญชน์ ซึ่งเคยฝากผลงานแนวสืบสวนสอบสวนมาแล้ว 2 เรื่องได้แก่ คดีรักข้ามเวลา (สร้างเป็นละครเรื่อง คดีรักข้ามภพ ออกอากาศทางช่องวัน31) มนตราราหุล และผลงานเรื่องที่ 3 ของเธอ มายากาเหว่า ก็ได้รับการตอบรับจากทางผู้จัดละครทันทีที่เผยแพร่กันให้อ่านในเว็บไซต์อ่านเอา และจัดพิมพ์โดยสำนักพิมพ์กรู๊ฟ พับลิชชิ่ง

การที่ผลงานของเธอได้ถูกนำไปสร้างเป็นละครอีกครั้งทำให้เจ้าของบทประพันธ์รู้สึกตื่นเต้นมาก “ตอนเห็นแคสติ้งก็ชอบมากค่ะ พี่แอน (สิเรียม ภักดีดำรงฤทธิ์) เหมาะสมกับบท ‘พลอยแสง’ มากๆ รู้สึกภูมิใจ เป็นเกียรติมากที่ตัวละครที่เขียนขึ้นมาได้รับการแสดงโดยพี่แอน ส่วนคุณเข็ม (ลภัสรดา ช่วยเกื้อ) ที่รับบท ‘ปณาลี’ ก็โดนใจ เรื่องการแสดงไม่ต้องห่วง ตีบทแตกอยู่แล้ว ส่วนนักแสดงท่านอื่นๆ ก็ถ่ายทอดบทบาทได้ดีทุกคนเลยค่ะ”

นอกจากจะได้ดูในเวอร์ชันละคร ครั้งนี้ยังเราจะมาพูดคุยกับนักเขียนในฐานะผู้ที่เป็นสารตั้งต้นของเรื่องนี้ด้วย “ที่มาที่ไปในการเขียนเรื่องนี้คืออยากจะเล่าเรื่องฆาตกรรมในครอบครัว ซึ่งเกี่ยวข้องกับคดีมรดกและมีความซับซ้อนสูงค่ะ แต่กระบวนการที่จะทำให้ความคิดเหล่านี้กลายมาเป็นตัวหนังสือนั้นไม่ง่ายเลย ต้องทำการบ้านเยอะมากเกี่ยวกับการวางโครงเรื่อง การสร้างปม และการสอดแทรกความลึกลับในแต่ละจุด

“อีกอย่างคืออยากให้การแก้แค้นครั้งนี้ไม่ธรรมดา ไม่ใช่ A แค้น B เลยล้างแค้นแล้วจบ แต่อยากให้โครงเรื่องมีปมลึกลับ 1 2 3 4 ก่อนจะไปถึงจุดหมายของคนร้าย การเดินเรื่องจึงต้องมีการสร้างปมปัญหาแต่ละขั้นตอนจนถึงปลายทาง ซึ่งที่เลือกเล่าแม่เลี้ยงกับลูกเลี้ยงก็เพราะเป็นความสัมพันธ์ที่มีความซับซ้อนและดูมีประเด็นให้เรื่องราวมีอะไรที่น่าสนใจ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของปมมรดกเข้ามาด้วย ทำให้สร้างปมฆาตกรรมที่ลึกลับและน่าติดตามได้มากขึ้นค่ะ”

หนึ่งในความซับซ้อนของเรื่องนั้นก็คือการหักหลังกันไปมาของตัวละคร “รวมถึงในเรื่องมีการพูดถึงจิตวิทยาของตัวละครด้วยค่ะ โดยคนร้ายในเรื่องจะเป็นคนที่เดาทางเก่งมาก สามารถวางแผนและคาดการณ์พฤติกรรมของคนอื่นในเหตุการณ์ต่างๆ ได้ แต่เหนือฟ้ายังมีฟ้า เพราะยังไงก็มีคนที่ฉลาดกว่าอยู่ดี ยังไงต้องติดตามกันไปเรื่อยๆ ค่ะ

“ทุกตัวละครในเรื่องนี้มีมิติมาก แต่สุดท้ายความซับซ้อนของตัวละครในเรื่องนี้อยู่ที่จิตใจของตัวละครเอง เช่น ดารินกานต์ลูกเลี้ยงนั้นมีปมมาตลอดว่าตนไม่ได้รับความรักจากแม่เลี้ยง จึงมองหาความรักที่แท้จริงจากผู้อื่น แต่กลับถูกหลอกเพราะความอ่อนแอในจิตใจ เรื่องราวนี้สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาของความสัมพันธ์ การตัดสินใจที่เกิดจากอารมณ์และความรู้สึกของมนุษย์ รวมถึงยังเป็นการบอกด้วยว่า การที่เรารับอะไร ฟังอะไรมา ถ้าเชื่อในทางนั้น ชีวิตของเราก็จะเป็นไปอย่างนั้น เพราะฉะนั้นต้องเลือกที่จะรับ ที่จะเชื่อด้วยค่ะ”

เรียกได้ว่า มายากาเหว่า ที่ณรัญชน์สร้างสรรค์ขึ้นมานั้นมีอะไรมากกว่าศึกชิงมรดกระหว่างแม่เลี้ยง และลูกเลี้ยงแน่ๆ เรามาคุยกับนนักเขียนต่อดีกว่าว่า ผลงานที่เธอเขียนครั้งนี้มีความน่าสนใจอย่างไร และเพราะอะไรงานทั้งหลายที่ผ่านมาของณรัญชน์จึงเป็นสไตล์สืบสวนสอบสวนแทบทั้งหมด!

 

ความท้าทายในการสร้างงาน

เมื่อถามว่าตอนเขียนเรื่องมายากาเหว่า ขั้นตอนไหนคือสิ่งที่ท้าทายเธอมากที่สุด ณรัญชน์ก็ตอบกลับมาแทบจะทันทีว่า การออกแบบสถานการณ์ที่มีความสมจริงและต่อเนื่องเป็นเรื่องที่ท้าทายเธอที่สุด

“เราวางโครงเรื่องไปประมาณ ๖๐-๗๐% แล้วจึงค่อยๆ เริ่มเขียน ระหว่างนั้นก็คิดรายละเอียดเพิ่มเติม แต่การทำแบบนี้ก็ทำให้ต้องย้อนกลับมาแก้ไขบางช่วง บางตอนให้สอดคล้องกัน ทำให้การเขียนล่าช้า ต่อไปเลยตั้งใจจะวางโครงเรื่องทั้งหมดให้เสร็จก่อนเขียน เพื่อให้กระบวนการราบรื่นยิ่งขึ้นค่ะ

“สำหรับ มายากาเหว่า ความน่าสนใจคือนิยายเรื่องนี้เหมือนกับปมเชือกที่ถักทออย่างซับซ้อน แต่ถ้าดึงปมใดปมหนึ่งถูกต้องก็จะคลายออกเป็นลำดับ แต่ถ้าจับผิดปม ก็จะไม่มีวันรู้ความจริง เรื่องนี้ออกแบบมาให้ทุกเหตุการณ์ส่งผลต่อกันอย่างต่อเนื่อง ทุกพฤติกรรมของตัวละครมีที่มาที่ไป และถูกผลักดันจากสิ่งที่เกิดขึ้นก่อนหน้า ซึ่งทำให้เรื่องราวมีความลึกซึ้งและเชื่อมโยงกัน อีกทั้งทุกตัวละครไม่ได้เป็นสีขาวบริสุทธิ์ แต่เป็นสีเทาที่เต็มไปด้วยมิติ ตัวละครมีข้อดีและข้อเสียในตัวเอง ซึ่งทำให้พฤติกรรมของพวกเขาน่าสนใจค่ะ เหตุผลที่ชอบเขียนเรื่องแนวสืบสวนสอบสวนคือชอบความท้าทายในการสร้างตัวละครและปมปัญหารู้สึกว่าน่าสนใจดีค่ะ อย่างเรื่องนี้เราก็เต็มที่ในทุกๆ กระบวนการทำงานและเป็นอีกผลงานที่ภูมิใจค่ะ”

จากมายากาเหว่า สู่ แรม 15 ค่ำนี้ มีปาฏิหาริย์

หลังจากเขียนคำว่าจบบริบูรณ์ลงในมายากาเหว่าแล้ว ณรัญช์ก็คิดพล็อตสร้างผลงานต่อไปทันที “ตอนนี้กำลังมีผลงานเรื่อง ‘แรม 15 ค่ำนี้มีปาฏิหาริย์’ ลงให้อ่านกันเป็นตอนๆ อยู่ในเว็บไซด์อ่านเอาค่ะ และทางสำนักพิมพ์กรู๊ฟ พับลิชชิ่ง กำลังนำมารวมเล่มคิดว่าน่าจะได้เห็นกันในเร็วๆ นี้

“ทุกงานที่เขียนจะพยายามใส่ความลึกซึ้งในด้านจิตใจและพฤติกรรมของตัวละครที่เราพบได้ในชีวิตประจำวันเข้าไปด้วย เพื่อให้มีอะไรที่เชื่อมโยงกับนักอ่าน พร้อมกับผูกเรื่องให้มีปมซับซ้อนและค่อยๆ คลายปมออกมาเพื่อทำให้เรื่องราวมีความน่าสนใจมากยิ่งขึ้น ส่วนตัวรู้สึกว่าการได้เขียนอะไรแบบนี้เป็นความท้าทายที่สนุกมากค่ะ และการได้เขียนในสิ่งที่ตัวเองชื่นชอบก็คือแรงผลักดันชั้นดีที่ทำให้เขียนนิยายได้จนจบค่ะ”

สำหรับคนที่มองเรื่องอายุเป็นปัจจัยหลักในการลงมือเขียน ขอบอกว่าอายุเท่าไหร่ก็เริ่มได้ทั้งนั้น เพราะณรัญชน์เองมาเริ่มเขียนงานจริงจังก็เมื่ออายุ 48 ปี “เรื่องแรกคือ คดีรักข้ามเวลา ซึ่งเป็นก้าวแรกในฐานะนักเขียนค่ะ อยากบอกทุกคนว่าการเริ่มต้นเขียนนิยายไม่จำกัดอายุ ไม่ว่าคุณจะอายุเท่าไหร่ก็สามารถเริ่มได้ ตราบใดที่มีแรงบันดาลใจหรือแพชชั่นที่อยากจะเล่าเรื่องราวนั้นออกมา ความสำคัญอยู่ที่ความตั้งใจและความมุ่งมั่นที่จะเขียนให้จบค่ะ

“สำหรับตัวเองมองว่าการเขียนนิยายไม่ใช่เรื่องง่าย ต้องเริ่มจากการหาพล็อตที่ใช่จริงๆ ก่อน ซึ่งพอเจอแล้วก็ลงมือเขียนทันที ตอนนี้เขียนนิยายมา 5 ปีแล้ว ยังไม่เคยหยุดคิด หยุดเขียนเลยค่ะ และทุกครั้งที่เขียนจะพยายามหาวิธีพัฒนาเรื่องราวให้ดีที่สุด อย่างก่อนจะมาเป็นผลงานเรื่องล่าสุด แรม 15 ค่ำนี้ มีปาฏิหาริย์ก็ไม่ง่ายเลยนะคะ ต้องใช้เวลาอยู่นานในการคิดคำที่จะทำให้เนื้อเรื่องดูสละสลวยและสมบูรณ์แบบ ตอนเขียนนิยายเรื่องนี้เจอปัญหาหนึ่งที่ทำให้รู้สึกว่ายาก คือการเขียนให้เป็นเรื่องราวที่ต่อเนื่องและมีความลื่นไหล แต่ก็หาทางให้ตัวหนังสือของเราเดินทางต่อไปจนได้ในที่สุด

“สำหรับคนที่สนใจติดตามผลงานของณรัญชน์ อัปเดตนิดนึงค่ะว่า ตอนนี้กำลังเตรียมเรื่องใหม่อยู่ ซึ่งยังคงเป็นแนวลึกลับ สืบสวนสอบสวนเหมือนเดิม เพราะการเขียนแนวนี้ไม่มีทางตัน เนื่องจากพฤติกรรมของมนุษย์มีความหลากหลายและเป็นแหล่งแรงบันดาลใจที่ไม่มีที่สิ้นสุดค่ะ”

Don`t copy text!