สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ตอนที่ 22 : เจ้าคุณจอมมารดา

สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ตอนที่ 22 : เจ้าคุณจอมมารดา

โดย : สิริทัศนา

Loading

เรื่องเล่าและเกร็ดประวัติศาสตร์ อันเกี่ยวเนื่องกับ สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ผู้ทรงอยู่เบื้องหลังยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์ไทย ถ่ายทอดโดย สิริทัศนา เรื่องราวที่แม้จะไม่ใช่ นิยายออนไลน์ แต่ก็เปี่ยมไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์น่าสนใจที่ อ่านเอา นำมาให้คุณได้ อ่านออนไลน์

……………………………………………………………….

“…เจ้าจอมมารดาเปี่ยมในวัยเกือบ 50 ว่า

ยังงดงามอยู่มาก

รูปร่างเล็กบางได้สัดส่วน

และผิวพรรณขาวสะอาด

 

เมื่อพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์และสมเด็จฯ เจ้าฟ้ากรรณาภรณ์เพชรรัตน์พระราชธิดา สิ้นพระชนม์ด้วยอุปัทวเหตุเรือล่ม พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวทรงเสียพระทัยอาลัยอย่างยิ่ง โปรดฯ ให้สร้างอนุสรณ์สถานขึ้นหลายแห่ง หนึ่งในจำนวนเหล่านั้น คือตึกสุนันทาลัย ที่วังริมน้ำเหนือป้อมมหาฤกษ์ ซึ่งพระองค์อุณากรรณและพระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์เคยประทับ และพระองค์เจ้าสุนันทาเคยเสด็จมาเมื่อยังทรงพระเยาว์

ในช่วงการพระศพพระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ เกิดปัญหาเกี่ยวกับการออกพระนามในหนังสือราชการ  จึงทรงมีพระราชดำริให้ใช้คำว่า “สมเด็จพระนางเจ้า” และทรงจัดระเบียบพระราชอิศริยยศพระภรรยาเจ้า โดยสถาปนาพระราชชนนีของสมเด็จเจ้าฟ้าชายพระองค์ใหญ่ เป็นพระอัครมเหสี

พระภรรยาเจ้าที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเปี่ยม ทรงดำรงตำแหน่งพระอัครมเหสีทั้งสองพระองค์ คือ

สมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี พระราชชนนีสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สยามมกุฎราชกุมาร

สมเด็จพระนางเจ้าเสาวภาผ่องศรี พระอัครราชเทวี พระราชชนนีสมเด็จพระบรมโอรสาธิราช เจ้าฟ้ามหาวชิราวุธ สยามมกุฏราชกุมาร และโปรดเกล้าฯ สถาปนาเป็นสมเด็จพระบรมราชินีนาถ เมื่อทรงปฏิบัติหน้าที่ผู้สำเร็จราชการช่วงที่พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว เสด็จประพาสยุโรปครั้งที่ 2

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหิดลอดุลยเดช เจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม (ภาพ : Pantip.com)

ในฐานะพระอัยยิกา เจ้าจอมมารดาเปี่ยมถวายการอภิบาลเจ้าฟ้าทุกพระองค์อย่างใกล้ชิด หนังสือ ‘เวียงวัง’ ของ จุลลดา ภักดีภูมินทร์ เล่าถึงเจ้าจอมมารดาเปี่ยมในวัยเกือบ 50 ว่า ยังงดงามอยู่มาก รูปร่างเล็กบางได้สัดส่วน และผิวพรรณขาวสะอาด

สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ ทรงเรียกเจ้าจอมมารดาเปี่ยมว่าคุณยาย ดังที่ทรงบันทึกไว้ในจดหมายเหตุรายวันอยู่หลายตอน อาทิ…

“เรามาเรือน คุณยายถามเราว่าได้อะไรบ้าง เราเอาหนังสือไปให้คุณยาย คุณยายถามว่าทูลหม่อมบนทรงแล้วหรือ คุณยายให้ไปสรงน้ำ”

“เย็นเราไปเฝ้าทูลหม่อมบน พบคุณยายนั่งอยู่ที่ห้องเขียว เราถามว่าอุ้มน้องชายเล็ก (สมเด็จฯ เจ้าฟ้าจักรพงษ์ภูวนารถ) มาหรือ”

“สองโมงเช้าไปอ่านหนังสือ อ่านแล้วกลับมาตำหนัก บ่ายสี่โมงไปบน เฝ้าในห้องเขียว แล้วตามเสด็จทูลหม่อมบนไปดูคเชนทร์ศวสนาน (พระราชพิธีสวนสนาม) วันนี้ทหารมาก ทหารลุงจักษ์ ก็มาแห่ด้วย เสด็จขึ้น เรากลับมาตำหนัก กินข้าวแล้วฟังคุณยายอ่านหนังสือ เรานอนสองทุ่มนาน”

เจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม (ภาพ : wikipedia)

ทรงบันทึกเหตุการณ์ในวันที่เจ้าจอมมารดาเปี่ยมได้รับพระมหากรุณาธิคุณ แต่งตั้งเป็น ‘เจ้าคุณจอมมารดา’ ด้วยเหตุที่เป็นพระชนนีในสมเด็จพระนางเจ้าสว่างวัฒนา พระบรมราชเทวี พระอัครมเหสีในขณะนั้น ว่า “วันศุกร์ วันที่ 11 กันยายน พ.ศ. 2427 สามโมงเช้าแต่งตัวไปบน เฝ้าในที่ สามโมงเศษทูลหม่อมบนเสด็จออกสรงมูรธาภิเษก สรงเสร็จแล้วเลี้ยงพระ พระยาศรีสุนทรอ่านประกาศเทวดา พระไปแล้วเสด็จเข้ามาข้างใน ทรงตั้งคุณยายให้เป็นเจ้าคุณ ประทานเครื่องยศคือ พานหมากทองคำเครื่องในลงยา 1 หีบหมากลงยา 1 กาทองรองถาด 1 กระโถนทอง 1 แล้วรับสั่งให้ช่วยดูแลการรั้ววังด้วย”

ต่อมา เจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ พระราชทานเครื่องราชอิศริยาภรณ์ปฐมจุลจอมเกล้า เมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2441 สำหรับสตรีที่ได้รับเครื่องราชอิสริยาภรณ์จุลจอมเกล้า ชั้นที่ 1 ปฐมจุลจอมเกล้า จะได้รับพระราชทานเครื่องประกอบยศคือ กระโถนทองคำ หีบหมากไม้แดงทองคำลงยา กาทองพร้อมโต๊ะทอง ขันน้ำทองคำ ผ้าปักทองแล่งด้วย

ในส่วนของท้าวทองพยศ (นาค) มารดาของเจ้าคุณจอมมารดาเปี่ยม ได้รับพระมหากรุณาธิคุณ โปรดเกล้าฯ เลื่อนศักดินาเป็นท้าวสุจริตธำรง เมื่อถึงแก่อนิจกรรมแล้ว โดยทรงมีพระราชวินิจฉัยว่า

“ท้าวทองพยศนั้นก็นับว่าเปนพระประยูรญาติผู้ใหญ่ในสมเด็จพระนางเจาพระบรมราชเทวี แลพระนางเจ้าพระวรราชเทวี และสมเด็จพระบรมโอรสาธิราชสยามมกุฎราชกุมาร ที่ได้รับพระราชทานเกียรติยศอย่างเจ้าขรัวยายในพระเจ้าลูกเธอสามัญนั้นหาสมควรไม่ จึงทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เลื่อนตำแหน่งท้าวทองพยศขึ้นเปนท้าวสุจริตธำรง มีบรรดาศักดิ์เสมอด้วยท้าวสนองพระโอษฐ์ ในตำแหน่งถือศักดินา 1,000 พระราชทานหีบหมากทองคำใหญ่ จำหลักเชิงชายเครื่องในพร้อมสำรับหนึ่ง, กาทองคำจำหลักเชิงชาย 1, หีบหมากทองคำเล็กจำหลักสรรพางค์ 1, โต๊ะเงินคู่หนึ่ง แลพระราชทานโกศรองศพเพิ่มขึ้นเปนเกียรติยศ”

งานพระราชทานเพลิงศพท้าวสุจริตธำรง (นาค) ที่เมรุวัดเทพศิรินทราวาส จัดเป็นงานใหญ่ หลายวัน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวเสด็จพระราชดำเนินขึ้นพระราชทานเพลิงศพด้วย

พระบาทสมเด็จพระมงกุฏเกล้าเจ้าอยู่หัว ทรงบันทึกเรื่องท้าวสุจริตธำรง (นาค) ไว้ในพระราชหัตถเลขาพระราชทานนามสกุลสุจริตกุลแก่บุตรชายทั้งสองของท้าวสุจริตธำรงว่า

“ฉันได้มาไตร่ตรองดูถึงนามสกุลของเจ้าพระยาศิริรัตนกับพระยาราชภักดี (โค) ได้รู้สึกว่าควรจะใช้ร่วมกัน เปนอย่างเดียวกัน จึ่งมานึกดูว่าจะควรเอานามบรรพบุรุษใดใช้ ก็มาคิดเห็นว่า ผู้ที่ทูลกระหม่อมของฉันทรงพระเมตตามาก และซึ่งตัวฉันเองก็รักและนับถือมาก คือคุณยายทวด ผู้เปนมารดาแห่งเจ้าพระยาศิริรัตน จริงอยู่นามสกุลมักใช้นามผู้ชาย แต่ทางฝ่ายท่านบิดาของเจ้าพระยาศิริรัตนเข้าใจว่าจะมีผู้ที่รู้จักน้อยกว่าทางมารดา ทั้งทูลกระหม่อมก็ได้ทรงพระเมตตาทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ตั้งคุณยายทวดเปนท้าวสุจริตธำรง เพื่อเปนเกียรติยศแด่ญาติวงษ์ ฉันถือว่าเหมือนได้พระราชทานนามนั้นสำหรับสกุล เปนสิ้งที่เชิดชูสกุลเปนอันมาก

เพราะฉนั้นฉันขอให้นามสกุลแห่งเจ้าพระยาศิริรัตนและสกุลพระยาราชภักดี (โค) ว่า “สุจริตกุล” (เขียนเปนอักษรโรมันว่า “Sucharitakul” “

 

แหล่งข้อมูล : 

  • สมเด็จฯ เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ, จดหมายเหตุรายวันของสมเด็จพระบรมราชปิตุลาธิบดี เจ้าฟ้ามหาวชิรุณหิศ (กรุงเทพฯ : บรรณกิจเทรดดิ้ง, 2550)
  • สมภพ จันทรประภา, สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ. พิมพ์ครั้งที่ 7 (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ศยาม, 2551)

Don`t copy text!