เมื่อคิดสร้างโยงใย ตอนที่ ๑ “ที่มา”
โดย : ปิยะพร ศักดิ์เกษม
การเขียนนวนิยายที่มีการโยงกันท้้งเนื้อเรื่องและตัวละครนั้นมีมานานแล้ว ทั้งต่างประเทศและในประเทศ… มีมานานตั้งแต่สมัยที่ เจ.อาร์.อาร์. โทลคีน เขียนเรื่อง The Hobbit (ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. ๒๔๘๐) และ The Lord of The Rings (ตีพิมพ์ในปี พ.ศ. ๒๔๙๗) ส่วนในประเทศไทยของเราผู้อ่านก็คงจะคุ้นเคยกันดีกับเรื่องชุด ของ ว.ณ.ประมวลมารค ปริศนา-เจ้าสาวของอานนท์ และ รัตนาวดี รวมทั้งคุ้นเคยกับตัวละครตัวหนึ่งที่ปรากฏอยู่ทุกเรื่องในชุดนิยายรักของพนมเทียน นั่นคือ “ท่านชายสดายุ มยุรฤทธิ์”
“ปิยะพร ศักดิ์เกษม” ก็เป็นคนหนึ่งที่เขียนให้นวนิยายที่แม้จะจบด้วยตัวเองทุกเรื่อง ไม่จำเป็นต้องอ่านต่อเนื่องกัน แต่ก็มีความเชื่อมโยงกันด้วยตัวละครบ้าง ด้วยเหตุการณ์เล็กๆ น้อยๆ บ้าง จึงขอแบ่งปันแนวคิดและวิธีการค่ะ
ดิฉันเริ่มเขียนให้ตัวละครในนวนิยายเริ่มเกี่ยวเนื่องกันตั้งแต่ปี พ.ศ. ๒๕๓๔ ขณะนั้นได้เขียนนวนิยายจบไปสองเรื่องและทั้งสองเรื่องนั้นได้รับการตีพิมพ์ในนิตยสาร สกุลไทย แล้ว นวนิยายทั้งสองเรื่องนั้นคือเรื่อง “ตะวันทอแสง” และ “ระบำดาว”
นวนิยายเรื่องที่สาม เรื่อง “ทรายสีเพลิง” คือครั้งแรกที่ดิฉันเริ่มสร้างโยงใย โดยให้รสา กับชีวิน จากเรื่อง ตะวันทอแสง และคีตา กับงามสรรพ จากเรื่อง ระบำดาว มาปรากฏตัวอยู่ในเรื่อง ทรายสีเพลิง ด้วย จุดประสงค์ขณะนั้นก็มีเพียงเขียนถึงด้วยความคิดถึงและต้องการส่งข่าวให้ผู้อ่านทราบว่าตัวละครที่ท่านเคยติดตามนั้นยังอยู่ดีมีสุขหรือไม่ เป็นการส่งข่าวถึงผู้อ่านว่า รสานั้นแต่งงานกับคุณภัคแล้ว และคุณภัคเป็นคนที่รักและติดภรรยาเป็นอย่างยิ่ง ส่วนคีตากับงามสรรพก็เป็นคู่รักกันอยู่
แต่เมื่อให้เขามาปรากฏตัวแล้วก็ถือโอกาส “ใช้งาน” พวกเขาในเรื่อง ทรายสีเพลิง ด้วย มิฉะนั้นการปรากฏตัวของพวกเขาจะล่องลอยและสูญเปล่า อย่างรสา (ตะวันทอแสง) ก็ได้ใช้ในการอธิบายถึงลักษณะนิสัยของพัชระ ใช้อธิบายว่าพัชระเป็นคนอ่อน ติดใจคนง่าย โดยเฉพาะกับคนที่แข็งกว่า เป็นผู้นำกว่า โดดเด่นกว่า จึงเคยติดใจรสาเมื่อครั้งเรียนหนังสือชั้นมัธยมปลายร่วมกัน… ปูพื้นนิสัยพัชระตรงนี้ไว้… เพื่อให้การที่พัชระไปติดใจทราย ไม่ใช่เพียงแค่เพราะรูปโฉมและการปั่นหัวของทรายแต่เพียงฝ่ายเดียว เป็นเพราะนิสัยของพัชระเองด้วย ส่วนกับคีตาและงามสรรพ (ระบำดาว) ก็ถูกใช้เป็นเครื่องมือบอกเล่าถึงความเป็นมาและความสัมพันธ์ระหว่างทรายกับฌาน
ในกรณีเช่นนี้ถ้าไม่ใช้รสา คีตา กับงามสรรพ ดิฉันก็ต้องสร้างตัวละครขึ้นมาใหม่สามตัวอยู่ดี… สร้างตัวละครตัวหนึ่งให้ผู้หญิงหัวแข็ง แจ่มใส เป็นธรรมชาติ (อย่างที่รสาเป็น) เพื่อเอามาเป็นเครื่องมืออธิบายนิสัยของพัชระ แล้วก็สร้างตัวละครอีกสองตัวมานั่งพูดคุยวิพากษ์วิจารณ์ความสัมพันธ์ของฌาณกับทราย… ดิฉันไม่เลือกสร้างตัวละครขึ้นมาใหม่อีกสามตัว แต่เลือกใช้รสา คีตา และงามสรรพ เพราะต้องการจะส่งข่าวของทั้งสามคนนี้ให้ผู้อ่านทราบด้วย
แต่ถ้าผู้อ่านที่ไม่เคยอ่าน ตะวันทอแสง หรือ ระบำดาว มาก่อน ก็ไม่มีความจำเป็นที่จะต้องรู้จัก รสา คีตา และงามสรรพให้มากไปกว่าที่ปรากฏตัวตรงนั้นเลย เพราะเขาโผล่เข้ามาในเรื่อง ทรายสีเพลิง ก็เพียงเพื่อประโยชน์ตรงจุดนี้จุดเดียวเท่านั้น เป็นแค่การใช้งานแบบแตะผ่านเท่านั้น
การเริ่มต้นทำแบบนี้ได้ผลชัดเจนมาก เมื่อเรื่อง ทรายสีเพลิง ตีพิมพ์ลงในนิตยสาร สกุลไทย ก็มีเสียงสะท้อนกลับมาว่าผู้อ่านยินดีที่ได้พบตัวละครเก่าๆ ทำให้หลังจากนั้นดิฉันใช้วิธีนี้อีกหลายครั้งจนกลายเป็นลักษณะเฉพาะว่า เรื่องของ “ปิยะพร ศักดิ์เกษม” มีความเกี่ยวเนื่องกันทุกเรื่องที่จุดใดจุดหนึ่ง… แม้ว่าจะไม่จำเป็นต้องอ่านต่อกัน ถึงกระนั้นผู้อ่านส่วนใหญ่ก็รู้สึกสนุกและท้าทายที่จะตามอ่านเพื่อค้นหาว่าจุดไหนในเรื่องใดมีโยงใยถึงกันอย่างไร
หลายท่านคงได้ค้นพบว่า ในฉากหนึ่งในเรื่อง ใน บ่วงมนตรา มีหญิงสาวสวยคนหนึ่งขับรถมารับดอกเตอร์บุรี (ทรายสีเพลิง) แต่ก็ยังสงวนไม่บอกกล่าวว่าหญิงสาวผู้นั้นเป็นใคร เพื่อให้ผู้อ่านได้ใช้จินตนาการของตัวเองตามใจชอบ
ได้ค้นพบว่า บัลลังก์แสงเดือน มีโยงใยกับเรื่อง ใต้ร่มไม้เลื้อย และเรื่อง เรือนศิรา ด้วยการที่เดือนหรือมนทกานติ์ นางเอกในเรื่อง ต้องเดินทางไปเดลีรัต ตามคำบัญชาของชายผู้มีอิทธิพลและมีบุญคุณต่อกันคนหนึ่ง นั่นก็คือ คุณพัทธ์ ชวาลวัฒน์ จากเรื่อง ใต้ร่มไม้เลี้อย-ดอกไม้ในป่าหนาว-เรือนศิรา สาเหตุก็มาจากการที่คุณพัทธ์ช่วยสนับสนุนหญิงสาวเจ้าของร้านค้าของเก่าชื่อมาลัย (เรือนศิรา) ผู้เป็นน้าแท้ๆ ของมนทกานติ์
ได้ค้นพบว่า เรื่อง ใต้เงาตะวัน ก็มีส่วนเกี่ยวโยงกับเรื่อง ลับแลลายเมฆ ด้วยตัวละครที่มีบทบาทเล็กๆ คนหนึ่ง เธอมาปรากฏตัวใน ใต้เงาตะวัน ด้วยชื่อสั้นๆ ว่า ‘จี๊ด’ มีอาชีพเป็นพนักงานต้อนรับบนเครื่องบิน…เมื่อมาถึงเรื่อง ลับแลลายเมฆ เธอคนนี้ก็คือจี๊ด หรือจีรณา ที่เป็นสาวสมัยใหม่ ที่ใช้ชีวิตอิสระ และอยู่ในกลุ่มเพื่อนสาวๆ หนุ่มๆ ของตัวละครฝ่ายชาย… เป็นต้น
นี่คือที่มาที่เกิดจากความต้องการเล็กๆ ผ่อนแรงน้อยๆ แต่กลับกลายเป็นจุดเริ่มต้นของเครือข่ายโยงใยขนาดใหญ่ในที่สุด
(ติดตามอ่านตอนที่ ๒ ของ “เมื่อคิดสร้างโยงใย” ชื่อตอน “ไร้แผน” ได้ที่นี่)