เสน่ห์ภาษา

เสน่ห์ภาษา

โดย : กิ่งฉัตร

Loading

ว่ากันว่านักเขียนที่ประสบความสำเร็จแล้วจริงๆ

ให้ลองปิดชื่อเรื่องกับชื่อผู้แต่งไว้แล้วให้นักอ่านอ่าน

ถ้านักอ่านสามารถบอกได้เลยว่านี่คือผลงานของใคร

ถือว่านักเขียนรายนั้นประสบความสำเร็จอย่างเยี่ยมยอดแล้ว

การเขียนหนังสือสักเรื่องนอกจากตัวละครแล้วเรื่องภาษาก็เป็นสิ่งที่สำคัญไม่น้อย เราต้องยอมรับว่าพล็อตในโลกนี้ล้วนไม่มีอะไรแปลกใหม่ แทบจะเป็นไปไม่ได้เลยที่นักเขียนสักคนจะลุกขึ้นมาประกาศว่า  เฮ้… เรื่องนี้ของฉันพล็อตแปลกใหม่สุด ไม่เคยมีใครในโลกนี้เคยเขียนมาก่อน ในความเป็นจริงเรื่องราวต่างๆ ในมุมมองต่างๆ ถูกนำมาใช้หมุนเวียนกันนานแล้ว ดังนั้นการจะให้ผลงานของเราโดดเด่นเด้งเข้าตาคนอ่าน นอกจากตัวละครที่มีเสน่ห์แล้ว ภาษาที่มีเสน่ห์ก็สำคัญไม่น้อย

ภาษาที่มีเสน่ห์คืออะไร คือกลุ่มคำที่อ่านแล้วสนุก อ่านแล้วราบรื่นไม่ติดขัด อ่านแล้วเห็นภาพตามจินตนาการของผู้เขียน อ่านแล้วคล้อยตามเหมือนถูกเป่ามนตร์ บทตลกก็ทำให้คนอ่านขำเหมือนคนบ้า บทเศร้าก็ร้องไห้น้ำตาเป็นเผาเต่า บทบีบคั้นอารมณ์ก็แทบจะตรงเข้าไปตบตีกับตัวละครแทนตัวเอกของเรื่อง

เสน่ห์ภาษาของนักเขียนแต่ละคนแตกต่างกันไป บางคนภาษาอ่อนหวานอบอุ่น บางคนภาษาตรงไปตรงมา บางคนเขียนห้วนๆ แต่ทรงพลัง บางคนใช้ศัพท์แสงรุ่มรวยแต่อ่านแล้วไม่รู้สึกเบื่อหน่าย แต่สิ่งหนึ่งที่นักเขียนที่ประสบความสำเร็จเหล่านี้มีเหมือนกันคือมีเอกลักษณ์ของภาษาเป็นของตัวเอง มีความโดดเด่นที่ไม่เหมือนใคร ว่ากันว่านักเขียนที่ประสบความสำเร็จแล้วจริงๆ ให้ลองปิดชื่อเรื่องกับชื่อผู้แต่งไว้แล้วให้นักอ่านอ่าน ถ้านักอ่านสามารถบอกได้เลยว่านี่คือผลงานของใคร ถือว่านักเขียนรายนั้นประสบความสำเร็จอย่างเยี่ยมยอดแล้ว

ปัญหาของนักเขียนใหม่คือมักติดสำนวนจากนักเขียนคนโปรดของตัวเอง กรณีแบบนี้ถ้าติดกลิ่นอายมามากและออกมาเป็นผลงานเกินหนึ่งเรื่องมักจะเป็นเรื่องลบสำหรับนักเขียนใหม่ เพราะถ้าต้องให้เลือก คนอ่านย่อมต้องเลือกอ่านจากต้นฉบับของจริงมากกว่าเรื่องที่มีสำนวน ‘เหมือน’ ของจริง ดังนั้น การที่นักเขียนใหม่ค้นพบลีลาภาษา แนวทางและวิธีการนำเสนอที่เป็นของตัวเองเป็นเรื่องที่สำคัญไม่น้อย

วิธีการจะเขียนหนังสือให้อ่านเข้าใจได้ มีสำนวนเป็นของตัวเองไม่ใช่เรื่องยากค่ะ อย่างแรกที่ต้องทำคือต้องอ่านให้มาก ต้องรู้ศัพท์ให้มากและถูกต้อง (ข้อหลังนี่สำคัญมาก) จากนั้นค่อยๆ เรียบเรียงข้อความให้เป็นภาษาของเรา  ยกตัวอย่างถ้าจะบรรยายฉากให้นึกภาพในจินตนาการไว้แล้วบรรยายไปตามภาพที่เห็นนั้น อย่างบรรยายฉากห้องห้องหนึ่ง ลองหลับตาดูแล้วบอกเล่าสิ่งที่เห็นออกเป็นสเตปๆ จะไล่เลียงจากของใกล้ตัวก่อน หรือสิ่งที่สำคัญที่สุดที่อยากจะเอ่ยถึงก่อนก็ได้ จะบรรยายแบบหยาบๆ หรือละเอียดลออนั้นไม่มีผิดถูกค่ะ สุดแล้วแต่สไตล์คนเขียน จะบอกแค่มีโต๊ะตัวหนึ่งตั้งอยู่, มีโต๊ะไม้แกะสลักอย่างวิจิตรตัวหนึ่งตั้งอยู่ หรือมีโต๊ะไม้มะค่าสีเข้มตั้งอยู่ ตัวโต๊ะนั้นแกะสลักมุมสี่ด้านเป็นดอกลีลาวดีร่วงพรูที่เหมือนจริงจนคล้ายได้กลิ่นหอมของดอกไม้ลอยอ้อยอิ่งออกจากเนื้อไม้ก็ได้ ขอแค่บรรยายอย่างที่ผู้เขียนถนัดแต่ทำให้ผู้อ่านเข้าใจและเห็นภาพแบบเดียวกับผู้เขียนก็พอ

ส่วนการเขียนคำพูดนั้น สิ่งหนึ่งที่จำเป็นต้องระวังให้มากคือตัวละคร  ให้คำนึงถึงไว้เสมอว่าสิ่งที่ตัวละครพูดคือตัวละครพูด ไม่ใช่นักเขียนพูดผ่านตัวละคร ฉะนั้น ชั้นของภาษาพูดจะไม่เหมือนกัน บุคลิก การศึกษา นิสัย สถานการณ์ ล้วนมีส่วนที่ทำให้บทสนทนาแตกต่างกัน  

ยกตัวอย่างง่ายๆ คนบางคนจะพูดไม่ชัด พูดไม้กวาดเป็นไม้ฝาด พูดลิ้นคับปาก พูดเร็ว พูดวกวนไปมา พูดจาหมาไม่แดก… หรือเด็กเล็กที่พูดอ้อแอ้หรือพูดไม่เป็นประโยค ทุกอย่างต้องคัดใส่ลงไปตามบุคลิกตัวละครค่ะ เรื่องเหล่านี้เหมือนไม่ค่อยสำคัญอะไร แต่จริงๆ ล้วนเป็นเสน่ห์การใช้ภาษาที่ทำให้เรื่องราวสนุกสนานมากขึ้น มีความสมจริงมากขึ้นและทำให้คนอ่านเชื่อในเรื่องที่อ่านมากขึ้น

สำหรับนักเขียนมือใหม่ บางครั้งอ่านแล้วไม่แน่ใจว่าสำนวนภาษาของตัวเองติดขัดตรงไหน ขอแนะนำวิธีตรวจสอบง่ายๆ วิธีหนึ่ง

อ่านออกเสียงค่ะ

การได้ยินเนื้อหาเรื่องราวจะช่วยได้มากสำหรับตรวจสอบสำนวนภาษาว่าลื่นไหลไหม สะดุดไหม ลองดูนะคะ ถ้ากลัวคนรอบข้างจะตื่นตระหนกก็เข้าห้องปิดประตูแล้วลองอ่านงานตัวเองดังๆ ดู ลองฟังจังหวะและความต่อเนื่องของภาษาที่ได้ยินดู จะช่วยได้มากในการตัดสินใจว่างานที่เขียนดีแล้วหรือจะต้องแก้ไขตรงไหน

ความสามารถสร้างเสน่ห์จากภาษาให้เรื่องราวส่วนหนึ่งอาจจะเป็นพรสวรรค์ แต่ก็เป็นทักษะที่สามารถฝึกฝนได้ค่ะ ทำได้เลยโดยอ่านให้มาก รู้ศัพท์ให้มาก ฝึกเขียนให้มาก ถ้าเป็นไปได้ฝึกเขียนทุกวันอย่างต่อเนื่อง อ่าน แก้ไขและปรับปรุง ไม่นานคนเขียนจะเป็นนายของภาษา ใช้ภาษาได้ดังใจแน่นอนค่ะ      

Don`t copy text!