สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ตอนที่ 6 : ช่วงเวลาแห่งความสุข

สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา ตอนที่ 6 : ช่วงเวลาแห่งความสุข

โดย : สิริทัศนา

เรื่องเล่าและเกร็ดประวัติศาสตร์ อันเกี่ยวเนื่องกับ สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา พระสนมเอกในรัชกาลที่สี่ พระราชชนนีแห่งสมเด็จพระนางเรือล่ม สมเด็จพระพันวัสสาอัยยิกาเจ้า และสมเด็จพระบรมราชชนนีพันปีหลวง ผู้ทรงอยู่เบื้องหลังยุคสมัยแห่งความเปลี่ยนแปลงในประวัติศาสตร์ไทย ถ่ายทอดโดย สิริทัศนา เรื่องราวที่แม้จะไม่ใช่ นิยายออนไลน์ แต่ก็เปี่ยมไปด้วยเรื่องราวทางประวัติศาสตร์น่าสนใจที่ อ่านเอา นำมาให้คุณได้ อ่านออนไลน์

Loading

เราได้ตั้งนามของบุตรีในราชสกุลนี้ว่า ‘สว่างวัฒนา’

ดังนี้ ขอบุตรีนั้นจงเป็นผู้มีสุข เลี้ยงง่าย ไม่มีโรค ไม่มีอุปัทวันตราย

มั่งคั่งสมบูรณ์ มีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมาก

ดำรงอิศริยยศตั้งอยู่ในพระบรมราชวงศ์ที่ประเสริฐสูงสุดของพระบิดายั่งยืนกาลนานเทอญ

ช่วงเวลาแห่งความสุข

ภาพเจ้าจอมมารดาเปี่ยมในชุดวิกตอเรียน เป็นหนึ่งในรูปบุคคลยุคแรกๆ ของสยาม เพราะเพิ่งมีกล้องถ่ายรูปเข้ามาเมื่อปลายรัชกาลที่ 3 นี่เอง

บาทหลวงลาโนร์ดีนำกล้องดาแกร์จากฝรั่งเศสมาให้สังฆราชปาเลอกัวซ์ในปี พ.ศ. 2388 ทั้งสองได้ใช้กล้องนั้นถ่ายภาพทิวทัศน์และบุคคล ซึ่งต่อมา สังฆราชได้นำภาพไปปารีส และลงพิมพ์ในหนังสือ Description du Royaume Thai ou Siam

สังฆราชยวง บับติสต์ ปาเลอกัวซ์ เคยถวายการสอนภาษาลาตินและอังกฤษพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวมาตั้งแต่ครั้งทรงเป็นพระภิกษุ จำพรรษา ณ วัดสมอราย ไม่ไกลจากวัดคอนเซปซิออง ที่สังฆราชปาเลอกัวซ์เป็นอธิการอยู่ ดังที่ท่านเจษฎาจารย์ ฟ. ฮีแลร์ แห่งโรงเรียนอัสสัมชัญ ครูฝรั่งผู้แต่งตำราเรียนภาษาไทย ได้เขียนไว้ในหนังสือ ดรุณศึกษา ว่า
       
“…ทูลกระหม่อมพระที่วัดสมอราย และเจ้าคุณสังฆราชยวงที่วัดบ้านเขมร ก็ไปมาหาสู่จนคุ้นเคยชอบพอรักใคร่สนิทสนม ต่างชักชวนแลกเปลี่ยนภาษาและวิชาความรู้แก่กันและกัน เป็นการเอื้อเฟื้ออย่างน่าชม ข้างทูลกระหม่อมพระทรงสอนภาษาไทย ภาษาบาลี ให้ท่านสังฆราชยวง และส่วนสังฆราชยวงก็ทูลถวายพระอักษรภาษาอังกฤษ ภาษาละติน แก่ทูลกระหม่อมพระ เป็นประโยชน์ด้วยกันทั้งสองฝ่าย ฝ่ายท่านสังฆราชก็มีความรู้ขนบธรรมเนียมข้างบ้านเมืองไทยได้มาก ท่านจึงได้เรียบเรียงหนังสือฝรั่งว่าด้วยเมืองไทยหลายเล่ม ชาวต่างประเทศจึงได้ค่อยรู้ความเป็นไปที่แท้จริงของเมืองไทย เพราะหนังสือเรื่องเมืองไทยที่ท่านสังฆราชยวงได้เรียบเรียงในภาษาต่างประเทศนั้น ท่านสังฆราชยวงจึงเป็นเสมือนคนนำคุณความดีของเมืองไทยไปประกาศให้แพร่หลายในนานาประเทศ และนำเอาคุณความดีแห่งนานาประเทศมาเผยแพร่ให้รู้แพร่หลายในเมืองไทย… เปรียบประดุจดอกไม้ที่มีกลิ่นหอม จะฟุ้งขจรไปได้ไกลก็เพราะอาศัยถูกลมพัดเอากลิ่นเกสรไปในอากาศฉะนั้น หาไม่ดอกไม้นั้นก็จะไม่มีใครรู้ว่ามีกลิ่นหอม นอกจากผู้ที่เผอิญมาพบเห็นฉะนั้น…”

สังฆราชปาเลอกัวซ์ มีชื่อเป็นผู้ฉายพระบรมฉายาลักษณ์พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และสมเด็จพระเทพศิรินทราบรมราชินี ที่พระราชทานไปยังประธานาธิบดีแฟรงคลิน เพียร์ซ แห่งสหรัฐอเมริกา เมื่อปี พ.ศ. 2399 ปัจจุบันอยู่ในความดูแลของสถาบันสมิธโซเนียน เชื่อว่าในยุคแรกนั้น บาทหลวงลาโนร์ดีน่าจะมีบทบาทสำคัญในงานถ่ายภาพ ร่วมกับสังฆราชด้วย เพราะได้ศึกษาการใช้กล้องมาจากฝรั่งเศส

รัชกาลที่ห้าเมื่อยังทรงพระเยาว์ กับเด็กชายหลุยส์ ที เลียวโนเวนส์

สำหรับภาพเจ้าจอมมารดาเปี่ยมในชุดวิกตอเรียน น่าจะเป็นฝีมือของบาทหลวงลาโนร์ดีกับฟรานซิส จิตร ที่ได้เข้าไปถวายงานในราชสำนักอยู่เสมอ และต่อมาได้เปิดกิจการสตูดิโอถ่ายรูป ลงโฆษณาไว้ในหนังสือพิมพ์ บางกอกรีคอเดอ ของหมอบรัดเลย์ว่า

“อนึ่ง มิศฟะรันซิศจิต, เปนพนักงานสำหรับชักเงารูป ปราถนาจะให้คนในกรุงนอกกรุงเข้าใจว่า, ตัวนั้นอยู่ที่แพ้ (ใส่ไม้โท คงหลงลืม -เอนก) น่าบ้านกะดีจีน, ได้เป็นพนักงานสำรับชักเงารูปต่าง ๆ. รูปที่ได้ชักไว้แล้วนั้น, ก็มีหลายอย่าง, คือรูปวัง, แลรูปวัด, รูปตึก, รูปเรือน, แลรูปเงาต้นไม้, แลรูปท่านผู้มีวาศนาต่าง ๆ ในกรุงเทพนี้. ถ้าท่านผู้ใดปราถนา, จะให้ข้าพเจ้าไปชักเงารูปที่บ้านของท่าน ข้าพเจ้าก็จะไปทำ, ราคาค่าจ้างนั้น จะเอาแต่อย่างกลางภอสมควร.”

นับเป็นยุคเริ่มต้นของร้านถ่ายรูปที่ได้รับความนิยมแพร่หลาย ทั้งเข้าไปที่สตูดิโอ และเชิญช่างภาพไปถ่ายรูปที่บ้าน และมีช่างภาพฝรั่งที่เดินทางเข้ามาสยามหลายคน อาทิ เฟเดอร์ เจเกอร์, ปีแอร์ รอซิเอร์, เอ. แซกเลอร์, คาร์ล บิสมาร์ก และจอห์น ทอมสัน

ช่างภาพไทยอื่นๆ ในรุ่นบุกเบิก ได้แก่ พระยากระสาปนกิจโกศล (โหมด อมาตยกุล) กับบุตรชาย คือพระปรีชากลการ (สำอาง อมาตยกุล) และพระเจ้าบรมวงศ์เธอ พระองค์เจ้านิลรัตน กรมหมื่นอลงกฎกิจปรีชา

พระยากระสาปนกิจโกศล (โหมด) คือผู้ฉายพระบรมฉายาลักษณ์รัชกาลที่สี่ องค์ที่ราชทูตไทยอัญเชิญไปถวายสมเด็จพระบรมราชินีนาถวิกตอเรียแห่งสหราชอาณาจักร ในปี พ.ศ. 2400

สมเด็จพระปิยมาวดีศรีพัชรินทรมาตา
(จากซ้าย) พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์และพระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย

น่าเสียดายที่ไม่มีบันทึกว่าช่างภาพท่านใดเข้าไปถ่ายรูปพระองค์เจ้าเล็กๆ ที่ประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเปี่ยม สี่พระองค์ประทับยืนเรียงกัน ตั้งแต่พระองค์อุณากรรณ ไปถึงพระเจ้าลูกเธอพระองค์เจ้าสว่างวัฒนา ในฉลองพระองค์ลักษณะเดียวกัน ด้วยทรงรับช่วงต่อกันมาเป็นทอดๆ จากองค์พี่ถึงองค์น้อง

พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา ประสูติเมื่อวันที่ 10 กันยายน พ.ศ. 2405 โดยได้รับพระราชทานพระราชหัตถเลขาตั้งพระนามจากสมเด็จพระบรมชนกนาถ ในวันทรงประกอบพระราชพิธีสมโภชเดือนว่า

ศุภมัสดุ สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้ากรุงสยามผู้บิดา ขอตั้งนามกรแก่บุตรี ที่ประสูติแต่เปี่ยมผู้มารดา ในวันพุธ เดือน 10 แรม 2 ค่ำ ปีจอจัตวาศก ศักราช 1224 นั้นว่า พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา วัคมูลคู่ธาตุเป็นอาทิอักษร วัคอายุเป็นอันตอักษร ขอให้จงเจริญพระชนมายุพรรณ สุข พล ปฏิภาณ ศุภสารสมบัติ ศรีสวัสดิพิพัฒนมงคล พิบูลพูนผลทุกประการเทอญ

มีพระพรภาษามคธกำกับลายพระราชหัตถเลขาตั้งพระนามว่า “สฺวางฺควฑฺฒนา” สมเด็จพระมหาสมณเจ้า กรมพระยาวชิรญาณวโรรส ได้ทรงพระนิพนธ์แปลเป็นภาษาไทยไว้ว่า

เราได้ตั้งนามของบุตรีในราชสกุลนี้ว่า ‘สว่างวัฒนา’ ดังนี้ ขอบุตรีนั้นจงเป็นผู้มีสุข เลี้ยงง่าย ไม่มีโรค ไม่มีอุปัทวันตราย มั่งคั่งสมบูรณ์ มีทรัพย์มาก มีโภคสมบัติมาก ดำรงอิศริยยศตั้งอยู่ในพระบรมราชวงศ์ที่ประเสริฐสูงสุดของพระบิดายั่งยืนกาลนานเทอญ

พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา ทรงมีพระอภิบาลชื่อ ‘ยายมา’ ดังที่ทรงเล่าไว้ในเวลาต่อมาว่า “ฉันนี่ลืมตามาก็เจอะยายมา” และ “ยายหาให้แม่ ให้มาช่วยเลี้ยงลูก” (1)

ยายมามีชื่อจริงว่าสุด เป็นลูกสาวเกิดจากภรรยาอื่นของหลวงอาสาสำแดง ที่ท่านนาครับไว้เป็นบุตรบุญธรรมตั้งแต่แบเบาะ สามีของยายมาเป็นราชินิกุลบุนนาค แต่เสียชีวิตเมื่อยังหนุ่ม ยายมาจึงเป็นหม้าย และท่านนาคซึ่งพระองค์เจ้าสว่างวัฒนาทรงเรียกว่า ‘ยาย’ ได้ส่งเข้าไปอยู่กับเจ้าจอมมารดาเปี่ยมในวัง ทำหน้าที่เป็นพระพี่เลี้ยง ซึ่งนับว่าจำเป็นมาก เพราะอีกประมาณสองปีต่อมา พระองค์เจ้าสว่างวัฒนาก็ทรงมีพระขนิษฐา

พระองค์เจ้าลำดับที่ 5 ซึ่งประสูติแต่เจ้าจอมมารดาเปี่ยม เมื่อวันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2407 ได้รับพระราชทานพระนามจากสมเด็จพระบรมราชบิดาว่า

ศุภมัสดุ สมเด็จพระปรเมนทรมหามงกุฎ พระจอมเกล้าเจ้ากรุงสยามผู้พระบิดา ขอตั้งนามบุตรีหญิงซึ่งประสูติแต่เปี่ยมเป็นมารดา ในวันศุกร์ เดือนอ้าย แรม 7 ค่ำ ปีกุน เบญศกนั้นว่าดังนี้ พระเจ้าลูกเธอ พระองค์เจ้าเสาวภาผ่องศรี วรรคบริวารนามเดิมเป็นอาทิและอันตอักษร ขอพรคุณพระรัตนตรัยและพรเทวดารักษาพระนครและพระราชวัง จงได้โปรดให้เจริญชนมายุพรรณสุขพลปฏิภาณสารสิริสมบัติศรีสวัสดิพิพัฒมงคล ศุภผลพิบูลยทุกประการ เทอญ

และพระราชทานพรเป็นภาษามคธว่า “ขอธิดาของเรา ซึ่งเป็นบุตรีอันดีของเปี่ยมคนนี้ จงปรากฏโดยนามว่าโสภาสุทธสิริมตี (เสาวภาผ่องศรี) เถิด ขอเธอจงมีสุข แลไม่มีโรค มีอิสริยยศประเสริฐสุด ปราศจากโทษ อันใครๆ อย่าคุมเหงได้ทุกเมื่อ จงเป็นคนมั่งคั่ง มีทรัพย์ใหญ่ มีโภคสมบัติมาก อันคนเป็นอันมากนิยมนับถือ ขอเธอจงรักษาเกียรติยศของบิดามารดาไว้ทุกเมื่อ จงทำนุบำรุงพี่น้องชายหญิงอันดี ขออานุภาพพระรัตนตรัยมีพระพุทธเจ้าเป็นต้น จงรักษาเธอทุกเมื่อเทอญ

………………………………………………………………….

 

(1) สมภพ จันทรประภา, สมเด็จพระศรีสวรินทิราฯ (กรุงเทพฯ : สำนักพิมพ์ศยาม, 2551) 33.

ภาพประกอบ :

6.1—  พระราชโอรสธิดา ภาพจากวิกิพีเดีย (จากซ้าย) พระองค์เจ้าสว่างวัฒนา พระองค์เจ้าสุนันทากุมารีรัตน์ พระองค์เจ้าเทวัญอุไทยวงศ์และพระองค์เจ้าอุณากรรณอนันตนรไชย

6.2— รัชกาลที่ห้าเมื่อยังทรงพระเยาว์ กับเด็กชายหลุยส์ ที เลียวโนเวนส์ ภาพจาก http://teakdoor.com

 

 

Don`t copy text!