หาก ‘นิรา’ ไม่ใช่ผู้หญิงข้ามเพศ ใบไม้ที่ปลิดปลิวก็คงไร้ความหมาย

หาก ‘นิรา’ ไม่ใช่ผู้หญิงข้ามเพศ ใบไม้ที่ปลิดปลิวก็คงไร้ความหมาย

โดย : เต่าทองมะเขือเทศ

Loading

อ่านเอารู้ในครั้งนี้ ขอพูดถึง ‘ใบไม้ที่ปลิดปลิว’  นวนิยายที่นำมาทำเป็นละครจนฮิตข้ามประเทศ ซึ่ง ใบเฟิร์น-พิมพ์ชนก สวมบทบาท ‘นิรา’ ได้อย่างยอดเยี่ยม ซึ่งถ้าใครสืบเสาะค้นคว้าสักหน่อยจะรู้ว่า นวนิยายเรื่องนี้ ไม่ได้เป็นนวนิยายที่เพิ่งเขียนขึ้นมาในยุคที่เพศที่ 3 เป็นที่ยอมรับ แต่เขียนขึ้นมาเมื่อ 30 ปีมาแล้ว

‘ใบไม้ที่ปลิดปลิว’ นวนิยายประพันธ์โดย คุณหญิงวิมล เจียมเจริญ หรือ ‘ทมยันตี’ ปรากฎแก่สายตาครั้งแรกเมื่อประมาณ 30 ปีก่อน แม้เวอร์ชันคนแสดงจะจบลงไปด้วยบทสรุปที่แตกต่างจากของดั้งเดิม แต่เรื่องราวเกี่ยวกับความรักที่เกิดจากเพศเดียวกันและการเป็นคนข้ามเพศ ซึ่งดูเหมือนไม่ใช่เรื่องแปลกใหม่สำหรับยุคสมัยนี้ กลับเป็นประเด็นที่หลายคนพูดถึงไม่ต่างจากเมื่อ 30 ปีก่อน

นวนิยายเรื่องนี้เคยตีพิมพ์ลงในนิตยสาร แพรวสุดสัปดาห์ เมื่อประมาณปี 2528 ซึ่งในเวลานั้นสังคมรู้จักเพียงคำว่า ‘กะเทย’ ที่ใช้นิยามผู้ชายที่มีหัวใจอยากเป็นผู้หญิง ต่างจากสมัยนี้ที่เรากำหนดคำเรียกขึ้นมาอีกหลากหลายเพื่อใช้นิยามกลุ่มคนเพศทางเลือกที่เป็นส่วนหนึ่งในสังคม แต่สำหรับเมื่อ 30 ปีที่แล้ว การพูดถึงเรื่องเช่นนี้และลงมือทำสิ่งที่จะกลายเป็นนวนิยายเผยแพร่สู่คนอ่านจำนวนมาก เรียกเป็นความกล้าที่จะเปิดมุมมองใหม่ให้สังคมก็คงไม่ผิดเท่าไหร่ โดยเฉพาะการใช้ ‘การผ่าตัดแปลงเพศ’ เป็นเครื่องมือ ทำให้ตัวละครหลักได้เดินเส้นเรื่องราวต่างๆ เพื่อสะสางและสร้างปัญหาไปจวบจนวาระสุดท้าย รวมถึงวิธีการเล่าเรื่องที่เผยความจริงให้ผู้อ่านได้รู้ไปทีละนิดพร้อมกับตัวละคร ทำให้นวนิยาย ใบไม้ที่ปลิดปลิว สร้างความตื่นเต้นและแปลกใหม่ให้เหล่านักอ่านในสมัยก่อนได้ไม่น้อย 

จนกระทั่งในปี 2562 นวนิยายก็กลายเป็นละครโทรทัศน์ แม้จะมีการปรับเปลี่ยนเนื้อหาหรือคำพูดให้เข้ากับยุคสมัยปัจจุบันที่หลายอย่างเปลี่ยนแปลงไปแล้วจากในอดีต แต่สิ่งหนึ่งที่บทละครคงไว้และแทบไม่เปลี่ยนไปจากต้นฉบับเดิมเท่าไรนักก็คือ ตัวตนและการกระทำของนิรา ที่สะท้อนให้ผู้ชมเห็นและตัดสินในมุมมองที่แตกต่างกันไป

‘นิรา’ อาจเป็นทั้งผู้ร้าย… และผู้ถูกทำลายในคนคนเดียว

หากเป็นในนวนิยาย ชัชวีร์ หรือ ‘อาชัช’ ที่นิราตกหลุมรัก จะมีฐานะเป็นอาแท้ๆ แต่อาจเพื่อลดทอนความรุนแรงของเนื้อหาลง ในบทละครจึงเปลี่ยนให้ชัชวีร์เป็นอาเขย และสลับให้รังรอง ภรรยาของชัชวีร์ เลื่อนขึ้นมาเป็นอาแท้ๆ ของนิราแทน กระนั้นก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า ความรักระหว่างชัชวีร์และนิราเป็นเรื่องไม่เหมาะสมเท่าไหร่ เพราะเธอทำให้ชัชวีร์ยอมหย่ากับภรรยาเพื่อมาแต่งงานกับตัวเอง ซึ่งจุดนี้ทำให้หลายคนมองว่า นิรากำลังทำลายชีวิตครอบครัวของผู้อื่น (และเชียร์ให้นิรารักกับหมอเบญจางค์ที่อยู่เคียงข้างมาตลอดแทน) มากกว่านั้นคือ นิราพยายามแก้แค้นพ่อที่เธอเชื่อว่าเป็นต้นเหตุการเสียชีวิตของแม่ ผู้เป็นคนที่เข้าใจตัวตนของเธอมากที่สุด

ทุกสิ่งที่นิราตัดสินใจค่อยๆ ทำร้ายตัวเธอและคนรอบข้าง จนสุดท้ายทุกอย่างพังครืนไม่เป็นท่า ทั้งความลับการผ่าตัดแปลงเพศ และตัวตนในฐานะลูกและหลานแท้ๆ ที่กลับมาเพื่อสะสางปมในจิตใจ แม้วิธีการของนิราจะทำให้คนดูพอใจบ้าง ไม่พอใจบ้าง แต่หากเรามองลึกลงไปถึงเหตุผลของการกระทำ นิราก็เพียงต้องการได้รับการยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็น เท่านั้นเอง 

‘นิราก็เพียงต้องการได้รับการยอมรับในสิ่งที่ตัวเองเป็น’

‘ชนันธวัช’ คือชื่อในวัยเด็กของนิรา เป็นเด็กผู้ชายที่เติบโตในครอบครัวที่มีพ่อแม่เฉกเช่นทั่วไป แต่สิ่งที่สร้างความแตกต่างให้ก็คือ เด็กผู้ชายคนนี้มีจิตใจที่ต้องการเป็นผู้หญิง ทำให้ชมธวัช ผู้เป็นพ่อ และอารังรองไม่ยอมรับ และพูดถ้อยคำต่างๆ นานาที่สร้างบาดแผลให้เด็กคนหนึ่ง ซ้ำร้ายเมื่อมีโอกาสเริ่มต้นชีวิตใหม่ ด้วยการย้ายไปต่างประเทศและได้รับการผ่าตัดแปลงเพศ นิรากลับสูญเสียคนที่รักมากที่สุด การถูกทำร้ายซ้ำแล้วซ้ำเล่าเพียงเพราะตัวตนที่แตกต่างทำให้ตัวละครนี้มีความอ่อนไหว และเลือกที่จะแสดงปัญหาทางจิตใจออกมาด้วยวิธีการที่หลายคนอาจไม่เข้าใจ

ถ้าหาก ‘นิรา’ ไม่ใช่ทรานส์เจนเดอร์…

ก่อนหน้านวนิยาย ใบไม้ที่ปลิดปลิว มีเพียงเรื่อง ทางสายที่สาม โดย กีรติ ชนา เท่านั้นที่ตัวละครเอกเป็นเพศทางเลือกและได้รับการผ่าตัดแปลงเพศเช่นเดียวกัน หากมองในมุมสมัยก่อนที่สังคมยังไม่เข้าใจคนกลุ่มนี้ดี เป็นไปได้ว่าผู้เขียนอาจต้องการนำเสนอมุมมองเกี่ยวกับเพศทางเลือกด้วยรสชาติที่แปลกใหม่ ด้วยการประพันธ์เป็นนวนิยายที่มีเสน่ห์จากการร้อยเรียงเรื่องราว ปมขัดแย้ง และบทสรุป ให้มีความน่าสนใจ

‘บทประพันธ์เรื่องนี้ต้องการสอนให้เรารู้จักรัก ยอมรับ และเห็นคุณค่าในสิ่งที่ตัวเองเป็น โดยไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ตัวเองเพื่อให้ใครเห็นหรือยอมรับเลย’

เมื่อได้ทำเป็นละครโทรทัศน์ทำให้มีการปรับวิธีการเล่าเสียใหม่ จากเดิมที่คนอ่านได้รู้ความลับไปพร้อมกับตัวละคร ก็เปลี่ยนเป็นเฉลยให้รู้กันแต่แรกว่านิราเป็นผู้หญิงข้ามเพศหรือทรานส์เจนเดอร์ ซึ่งคาดว่าจุดนี้อาจทำให้ผู้ชมตีความหรือเห็นมุมที่แตกต่างไปจากผู้ที่อ่านฉบับนิยายก็ได้ อย่างเช่นประเด็นการเหยียดเพศ เนื่องจากใช้คนข้ามเพศเป็นตัวละครหลัก และมีพฤติกรรมที่ขอใช้คำว่า ‘ร้าย (อย่างมีเหตุผล)’ หลายคนจึงเกรงว่าจะเป็นการสร้างภาพจำที่ไม่ดีให้คนกลุ่มนี้

แต่หากมองใจความสำคัญที่ผู้เขียนนวนิยายต้องการสื่อ และเปลี่ยนนิราให้เป็นหญิงแท้เช่นนิยายทั่วไป ใบไม้ที่ปลิดปลิว ก็คงไร้ความหมาย เพราะมากกว่าการพูดถึง ‘เพศทางเลือก’ ที่มีตัวตนอยู่ในสังคม บทประพันธ์เรื่องนี้ต้องการสอนให้เรารู้จักรัก ยอมรับ และเห็นคุณค่าในสิ่งที่ตัวเองเป็น โดยไม่จำเป็นต้องพิสูจน์ตัวเองเพื่อให้ใครเห็นหรือยอมรับเลย

นิราอาจเป็นตัวแทนของคนคนหนึ่งที่มีความแตกต่างอย่างชัดเจนในสังคม และการพยายามทำให้ทุกคนยอมรับตัวตนของเธอจนสุดท้ายความต้องการนั้นกลับมาทำร้ายตัวเอง ก็เป็นข้อคิดที่ละครเรื่องนี้ทิ้งไว้ อย่างไรก็ตาม นี่เป็นเพียงความคิดในมุมมองหนึ่ง ซึ่งทุกคนที่ได้อ่านหรือชมเรื่องนี้ล้วนมีสิทธิคิดตีความในแบบฉบับของตัวเองได้อย่างอิสระ และหากคุณมีมุมมองไหนที่อยากเล่าแบ่งปันอีกก็เล่าให้เราฟังได้เช่นเดียวกัน 

Don`t copy text!