เรื่องจริงในนิยาย ‘สีดา’ นางรำสาวประเภทสอง ในนวนิยาย ‘ม่านนางรำ’
โดย : เต่าทองมะเขือเทศ
นวนิยายหลายเรื่องได้แรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิตจริง ก่อนจะแต่งเติม เพิ่มสีสันผ่านตัวอักษรให้กลายเป็นนวนิยายที่สร้างอรรถรสให้ผู้อ่านได้เกิดความรู้สึกร่วมไปพร้อมๆ กับตัวละคร
นวนิยายเรื่อง ‘ม่านนางรำ’ โดย ชาตบุษย์ นฤดม ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่ผู้เขียนได้แรงบันดาลใจจากเหตุการณ์จริงที่โด่งดังเป็นตำนาน ด้วยเป็นเรื่องราวความรักระหว่าง สาวประเภทสองผู้เป็นนางรำ ‘สีดา’ และคนขับรถรับจ้าง
อาจมีหลายคนได้ยินตำนานรักของทั้งสองมาบ้างแล้ว เพราะก่อนเป็นนวนิยายก็มีเพลงที่แต่งถึงเหตุการณ์นี้ดด้วย ซึ่งใช้ชื่อเพลงว่า ‘สีดา’ ร้องโดย แจ้-ดนุพล แก้วกาญจน์ วันนี้ อ่านเอาจึงนำตำนานและตัวละครอิงจากชีวิตจริงกลับมาเล่าถึงกันอีกครั้ง เพราะมากกว่าความรักของคนสองคนที่ต้องจบด้วยโศกนาฏกรรม การเป็น ‘สาวประเภทสอง’ ในยุคสมัย พ.ศ. 2500 เป็นเรื่องที่สังคมยังไม่ยอมรับ และมีสิทธิในการแสดงออกตัวตนน้อยมากเมื่อเทียบกับปัจจุบัน
จากชีวิต เธอคือนางเอก
หนึ่งในกรมศิลป์ เป็นนางสีดา
เธอรำสวยนัก ใครต่อใครหลงรัก
เธอไม่ปรารถนา ชายอื่น
บทเพลง สีดา แต่งขึ้นเมื่อปี พ.ศ. 2532 โดย ‘ครูน้อย-สุรพล โทณะวณิก’ ศิลปินแห่งชาติประจำปี พ.ศ. 2540 เนื้อเพลงเล่าถึงนางรำนาฏศิลป์ในกรมศิลปากรคนหนึ่งที่เป็นต้นแบบของตัวละครนางเอกลิเกในนวนิยายม่านนางรำ โดยช่วงเวลาในนิยายจะอยู่ในรัชสมัยของกษัตริย์รัชกาลที่ 7 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ ซึ่งมีเหตุการณ์สงครามโลกครั้งที่ 2 เกิดขึ้นด้วย ส่วนเหตุการณ์จริงเกิดช่วงปี พ.ศ. 2510 ซึ่งเป็นช่วงหลังพ้นสงครามโลกพอดี
นักนาฏศิลป์สาวประเภทสอง นามว่า ‘ประโนตย์ วิเศษแพทย์’ เกิดในครอบครัวรายล้อมด้วยพี่น้องผู้หญิง ทำให้ซึมซับความเรียบร้อยอ่อนหวานจนเป็นนิสัย ความรักการแสดงเป็นจุดเริ่มต้นให้ประโนตย์ตัดสินใจเข้าเรียนที่โรงเรียนนาฏศิลป์ของกรมศิลปากร (หรือ วิทยาลัยนาฏศิลป์ ในปัจจุบัน) และด้วยความอ่อนช้อย มีทวงท่ารำงดงาม บวกกับหน้าตาที่สะสวยกว่าสาวประเภทสองทั่วไปจนได้ฉายา ‘นางงาม 50 มงกุฎ’ เพราะประกวดเวทีไหนก็ชนะ ประโนตย์จึงได้รับการฝึกรำให้เป็นตัวนาง จนได้รับบท ‘นางสีดา’ ที่กลายเป็นคำเรียกขานแทนชื่อจริงอยู่บ่อยครั้ง
ในภาวะบ้านเมืองหลังสงคราม และสภาพสังคมที่ยังไม่ยอมรับผู้มีพฤติกรรมเบี่ยงเบนทางเพศ ทำให้การรำเป็นวิธีเดียวที่ประโนตย์จะได้แสดงออกและแต่งกายเป็นหญิงได้ตามใจต้องการ ด้วยเหตุนั้นประโนตย์จึงแอบรับงานแสดงภายนอกทั้งที่เป็นข้อห้าม เพื่อหาโอกาสได้แสดงออกและแต่งกายเป็นผู้หญิง ทำให้ประโนตย์ต้องออกจากโรงเรียนนาฏศิลป์หลังร่ำเรียนอยู่ 3 ปี และออกมารับงานแสดงกับกลุ่มเพื่อน จนเริ่มมีชื่อเสียงในฐานะ นางรำตัวละครสีดา
คนรัก เธอมีแล้ว เธอมอบใจให้เขา
อย่างกับสีดารักกับราม มอบใจงาม จนหมด
มั่นคงเพียงคนเดียว ใครมองปองเพียงใด
ไม่ใส่ใจ แม้ต้อยต่ำ
นวนิยาย ‘ม่านนางรำ’ ตีพิมพ์ลงเป็นตอนครั้งแรกในนิตยสาร ขวัญเรือน เมื่อประมาณปี พ.ศ. 2547 (หลังเกิดเหตุการณ์จริง 37 ปี) อาจเพราะความเหมาะสมกับสภาพสังคมหลังช่วงสงครามในขณะนั้น หรืออาจเป็นความต้องการของผู้เขียนก็ไม่อาจทราบ ตัวละครสีดาในนิยายจึงมีอาชีพ นางเอกลิเก แทนนางรำกรมนาฏศิลป์ แต่กระนั้น เรื่องราวความรักที่น่าเศร้าในนิยายก็ยังคงมีเค้าโครงมาจากเรื่องจริงที่น่าสลดใจ
ประโนตย์รู้อยู่เสมอว่า แม้ตนเองจะมีกริยาและใบหน้าสวยงามไม่แพ้ผู้หญิง แต่ความจริงที่เป็นผู้ชายโดยกำเนิดก็ไม่อาจปฏิเสธได้ ทำให้ความรัก 8 ปีกับชายหนุ่มชื่อ ‘สมบูรณ์’ ต้องจบลง เมื่อชายคนนั้นตัดสินใจกลับไปคบกับผู้หญิงแท้ หลังจากนั้นไม่กี่ปี ความรักครั้งใหม่ก็เริ่มเกิด ประโนตย์ได้รู้จักกับ ‘สมชาย แก้วจินดา หรือ ชีพ’ คนขับรถสามล้อรับจ้างรูปหล่อ สุภาพ มารยาทดี สมชายย้ายมาอยู่กับประโนตย์ และยกรายได้จากการทำงานทั้งหมดให้ประโนตย์ดูแล เพื่อลบคำครหาว่าเขาคบประโนตย์เพราะฐานะทางบ้านประโนตย์ดีกว่า
แต่การพยายามทำงานหาเงินของสมชายกลับเป็นชนวนทำให้ทั้งสองทะเลาะกันด้วยเรื่องหึงหวง ไม่ไว้ใจ ซ้ำแล้วซ้ำเล่า ประโนตย์กลัวว่าคนรักจะกลับไปชอบผู้หญิงแท้ๆ อย่างคนที่ผ่านมา ดังนั้น เพื่อสร้างความมั่นใจให้กัน ทั้งสองจึงไปสาบานรักที่วัดพระแก้วและศาลหลักเมืองว่า “ถ้าเราไม่ซื่อสัตย์ต่อกันก็ขอให้ตายด้วยกัน ถ้าสีดาตายก่อน ชีพจะต้องตายตามไป แต่ถ้าชีพตายก่อน สีดาก็จะต้องตายตามไป” ซึ่งไม่มีใครรู้เลยว่าหลังจากนั้นคำสาบานจะกลายเป็นเรื่องจริง…
แล้วสีดาก็ดังระบือ เธอลงหน้าหนึ่ง
ต่างคาดไม่ถึง ตามข่าว
เธอฆ่าตัวตาย ลาจากคนรัก
มือจับจดหมาย กอดจดหมาย เอาไว้กับอก
บอกให้เขารู้ ลาก่อน
แม้นวนิยายจะมีการเพิ่มเติม ดัดแปลง จากเรื่องจริงที่เกิดขึ้นไปบ้าง แต่มีความเป็นไปได้ว่าลักษณะนิสัยของตัวละครสีดาก็อาจใกล้เคียงกับประโนตย์ตัวจริงอยู่ไม่น้อย การเป็นนักนาฏศิลป์ก็อาจไม่ต่างจากการเป็นศิลปินที่มีความรุนแรงทางอารมณ์ และการเป็นผู้ชายที่มีจิตใจเป็นผู้หญิงก็อาจทำให้ประโนตย์มีความอ่อนไหวเช่นผู้หญิงทั่วไป เมื่อทั้งคู่ทะเลาะกันด้วยเรื่องเดิมๆ บ่อยมากขึ้น การประชดประชันทำให้ทั้งสองตัดสินใจแยกกันอยู่ แต่การทำเช่นนั้นกลับทำให้ประโนตย์ต้องระแวงมากกว่าเดิม สุดท้ายความจริงที่เธอไม่มีวันเป็นผู้หญิงแท้ได้ก็ทำให้ประโนตย์พายามจบชีวิตตัวเองอยู่หลายครั้ง
จนเมื่อวันที่ 2 พฤษภาคม พ.ศ. 2510 ก็เป็นการพยายามครั้งสุดท้าย ประโนตย์ตัดสินใจดื่มยาพิษอีกครั้งและจบชีวิตลง สมชายคนรักได้รู้ข่าวก็เสียใจอย่างมาก ปากพร่ำบอกแต่ว่า “ผมจะตามพี่ไป พี่รอผมด้วย” และร้องไห้กอดประโนตย์ที่ไร้ลมหายใจแน่น สมชายบวชอุทิศส่วนกุศลให้ประโนตย์ก่อนสึกใน 3 วันต่อมา และหลังจากนั้นอีก 10 วัน สมชายก็ดื่มยาพิษเพื่อตายตามประโนตย์ไปดั่งคำสาบาน โดยงานศพของทั้งคู่จัดขึ้น ณ วัดหัวลำโพง จึงเป็นที่มาของชื่อ ‘ตำนานรักโลงคู่วัดหัวลำโพง’ ที่สร้างความสลดใจให้กับหลายคนที่ได้รับรู้เรื่องราวความรักของสองคนนี้
ถึงแม้ ชาตบุษย์ นฤดม ผู้เขียนนวนิยาย ‘ม่านนางรำ’ จะไม่ได้บอกอย่างชัดเจนว่าได้แรงบันดาลใจมาจากเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอดีต แต่หากใครได้ลองอ่านแล้วอาจรู้สึกได้ว่า นวนิยายมีความคล้ายคลึงกับชีวิตของประโนตย์ที่เป็นสาวประเภทสองและเป็นนางรำนาฏศิลป์ รวมถึงจุดจบของความรัก จึงเป็นไปได้ว่าผู้เขียนอาจต้องการถ่ายทอดเรื่องราวที่เกิดผ่านนวนิยายให้พวกเราได้อ่านถึง โดยมีเรื่องสังคม การเมือง สงคราม และวัฒนธรรม เข้ามาผสมผสานให้น่าสนใจ
ขอบคุณเนื้อเพลง
เพลง สีดา – ดนุพล แก้วกาญจน์
อ้างอิงภาพและข้อมูลจาก