นวนิยายทำให้คนรักที่จากไปกลับมามีชีวิตอีกครั้ง ‘หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา’

นวนิยายทำให้คนรักที่จากไปกลับมามีชีวิตอีกครั้ง ‘หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา’

โดย : เต่าทองมะเขือเทศ

Loading

การเขียนถึงความทรงจำที่เจ็บปวด… เราเชื่อว่าไม่ใช่เรื่องง่าย การต้องนึกถึงความรู้สึกและสิ่งที่เกิดขึ้นในช่วงเวลานั้น แล้วกลั่นออกมาเป็นตัวอักษร ทำให้เราต้องกลับไปสัมผัสกับเหตุการณ์และความรู้สึกนั้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า โดยเฉพาะเมื่อความทรงจำนั้นคือการจากลาของคนรักแบบไม่มีวันหวนกลับ แต่สำหรับนักเขียนหญิงคนนี้ กลับใช้การลาจากที่เกิดขึ้นกับตัวเองเป็นแรงผลักดันให้เขียนหนังสือ และตัดสินใจเล่าความทรงจำระหว่างที่อดีตคนรักยังมีชีวิตอยู่ออกมาในรูปแบบนิยายที่เปรียบเสมือนเป็นบันทึกดีๆ เล่มหนึ่ง

 

‘หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา’ เปรียบเสมือนบันทึกรักของ ‘อุรุดา โควินท์’ ที่เขียนถึงอดีตคนรัก ‘กนกพงศ์ สงสมพันธุ์’ นักเขียนรางวัลซีไรต์ที่ทิ้งผลงานดีๆ ไว้รอให้เราอ่านมากมาย ซึ่งหากจะบอกว่านวนิยายเรื่องนี้คงไม่พ้นเล่าถึงความสัมพันธ์ของคนสองคน ก็อาจไม่ถูกต้องไปเสียทีเดียว เพราะความพิเศษที่อยู่ในเนื้อหาแต่ละหน้ากระดาษคือการเล่าถึงความทรงจำเมื่อตอนผู้เขียนได้ใช้ชีวิตร่วมกับ กนกพงศ์ สงสมพันธุ์ ที่การจากลาของเขากลายเป็นแรงบันดาลใจให้เธออยากเป็นนักเขียนที่ดีขึ้น เพื่อไม่ให้การตายของอดีตคนรักต้องสูญเปล่า

ย้อนกลับไปเมื่อประมาณ 10 ปีก่อน กนกพงศ์ ผู้เป็นต้นแบบของตัวละครสำคัญของหนังสือเล่มนี้ นับว่าเป็นนักเขียนหนุ่มที่ไฟแรงและสำคัญคนหนึ่งของวงการวรรณกรรมเลยก็ว่าได้ งานเขียนส่วนใหญ่ของกนกพงศ์เป็นเรื่องสั้นและบทกวี เคยได้รับรางวัลนักเขียนซีไรต์ ปี พ.ศ. 2539 จากผลงานเรื่องสั้น ‘แผ่นดินอื่น’ และมีผลงานตีพิมพ์น่าอ่านอื่นๆ อีกนับสิบเรื่อง อาทิ สะพานขาด โลกหมุนรอบตัวเอง และ บันทึกจากหุบเขาฝนโปรยไพร 

หากนักอ่านคนไหนติดตามผลงานของกนกพงศ์ อาจสัมผัสได้ถึงบุคลิกที่เคร่งขรึมและจริงจังผ่านตัวหนังสือ ซึ่งจากการอ่านทำความรู้จักตัวตนของนักเขียนผู้นี้ บุคลิกดังกล่าวก็เห็นทีจะเป็นเรื่องจริงไม่น้อย เพราะกนกพงศ์เป็นนักเขียนที่เอาจริงเอาจังกับการทำงาน ทุ่มเทชีวิตให้กับการเขียน เพื่อให้ออกมาเป็นหนังสือดีๆ สักเรื่องหนึ่ง อีกทั้งเป็นคนมีความมุ่งมั่นและมีวินัย ถือเป็นแบบอย่างให้กับนักเขียนรุ่นหลังได้เป็นอย่างดี

ทว่าในอีกมุมหนึ่งที่ไม่เคยมีใครได้เห็นนอกจากผู้เป็นคนรัก คุณอุรุดาให้สัมภาษณ์ไว้กับหนังสือพิมพ์มติชนว่า “คุณกนกพงศ์ออกจะน่าหมั่นไส้” โดยคำกล่าวนั้นก็มาจากประสบการณ์ที่เคยได้ใช้ชีวิตร่วมกัน ณ หุบเขาฝนโปรยไพร ในอำเภอพรหมคีรี จังหวัดนครศรีธรรมราช แน่นอนว่าชื่อสถานที่นั้นเป็นชื่อเดียวกันกับหนังสือเล่มหนึ่งของคุณกนกพงศ์ ที่เจ้าตัวเล่าบันทึกชีวิตในหุบเขาฝนโปรยไพรไว้ด้วยตัวเอง

กนกพงศ์ สงสมพันธุ์

หลังจากคุณกนกพงศ์เสียชีวิตไปเมื่อปี พ.ศ. 2549 คุณอุรุดาในฐานะคนรักย่อมรู้สึกเจ็บปวดกับการสูญเสียคนคนหนึ่งที่เป็นทั้งเพื่อน คนรัก และแรงบันดาลในการเขียนหนังสือ ซึ่งกว่าจะก้าวข้ามความรู้สึกเศร้าเหล่านั้นได้อย่างแท้จริงจนสามารถเล่าความทรงจำเป็นตัวอักษรได้อย่างไม่รู้สึกเจ็บปวดใจ เวลาก็ผ่านมานานถึง 10 ปี และเหตุผลที่เราเชื่อว่าทำให้คุณอุรุดาตัดสินใจ ‘ชุบชีวิต’ อดีตคนรักขึ้นมาอีกครั้งในรูปแบบนวนิยาย ก็เพราะความต้องการบอกเล่าอีกตัวตนหนึ่งของอดีตคนรัก ที่ไม่ได้มีเพียงความขึงขังจริงจังเช่นตอนเขียนหนังสือ และเล่าความทรงจำในความสัมพันธ์ของคนสองคนที่สวยงาม แม้ตอนสุดท้ายจะเป็นไปเช่นเดียวกับในชีวิตจริง

การจากไปของนักเขียนอย่างคุณกนกพงศ์ เป็นอีกแรงขับเคี่ยวที่ทำให้คุณอุรุดาอยากเขียนหนังสือให้สำเร็จ เพื่อให้ความมุ่งมั่นของคุณกนกพงศ์ที่ส่งผ่านมาให้ตั้งแต่ตอนมีชีวิตอยู่ไม่หายไปอย่างไร้ความหมาย แม้ในหนังสือ หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา ผู้เขียนจะบิดดัดแปลงตัวละครไม่ให้เหมือนต้นแบบในชีวิตจริง แต่นิสัยและบุคลิกก็ยังไม่ทิ้งห่างกันมากนัก อีกทั้งทักษะการใช้วรรณศิลป์ที่ดีก็ทำให้เนื้อหาและเหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นในหนังสือเล่มนี้สื่อสารออกมาได้อย่างสวยงาม 

สำหรับเราแล้ว การเขียนหนังสือเล่มนี้ของ อุรุดา โควินท์ เป็นการตัดสินใจสร้างผลงานที่น่าประทับใจอย่างมาก เพราะการเล่าถึงความทรงจำที่เกิดขึ้นเมื่อ 10 ปีก่อนไม่ใช่เรื่องง่าย อีกทั้งตัวละครที่อิงจากชีวิตจริงทำให้ผู้เขียนต้องสื่อสารออกไปอย่างระมัดระวังเพื่อไม่สร้างความเข้าใจผิด อย่างไรก็ตาม เราเชื่อว่า หยดน้ำหวานในหยาดน้ำตา เป็นนวนิยายอีกเล่มที่ควรค่าแก่การอ่าน โดยเฉพาะผู้ที่ชื่นชอบหรือหลงรักเรื่องราวเกี่ยวกับความสวยงามของความสัมพันธ์

ภาพประกอบจาก  http://www.happyreading.in.th/

 

Don`t copy text!