ย้อนเวลาเปิดห้องเรียนประวัติศาสตร์ยุค ร.๓ กับ แอ๊น-ทิพย์ธิดา ศรัทธาทิพย์ ใน “บุษบาลุยไฟ”

ย้อนเวลาเปิดห้องเรียนประวัติศาสตร์ยุค ร.๓ กับ แอ๊น-ทิพย์ธิดา ศรัทธาทิพย์ ใน “บุษบาลุยไฟ”

โดย : กิ่งสุรางค์ อนุภาษ

Loading

นอกจากเราจะได้ชมละครฟอร์มยักษ์เรื่อง บุษบาลุยไฟ ของทางช่อง Thai PBS ที่นำแสดงโดย เฌอปรางค์ อารีย์กุล และโทนี่ รากแก่น ร่วมกับนักแสดงมากฝีมืออีกมากมาย และยังกำกับการแสดงโดยพ่ออี๊ด-สุประวัติ ปัทมสูต ศิลปินแห่งชาติ สาขาศิลปะการแสดง ในเพจอ่านเอาของเราก็มีนิยายเรื่องบุษบาลุยไฟ มาให้ได้อ่านกันเป็นตอนๆ อีกด้วย ซึ่งผลงานเรื่องนี้ประพันธ์โดย ปราณประมูล หรือพี่แอ๊น-ทิพย์ธิดา ศรัทธาทิพย์ นักเขียนบทชั้นครูที่ฝากผลงานผ่านบทละครมาแล้วนับไม่ถ้วน

ในเรื่องการเขียนนิยาย พี่แอ๊นไม่มีโอกาสได้เขียน เพราะไม่มีเวลา มีเพียง “พระจันทร์ลายกระต่าย” ที่ได้เคยลงในนิตยสารแพรวสุดสัปดาห์นานมากแล้วและได้รับการรวมเล่ม นอกนั้นก็เพียงแต่คิดพล็อตละครเอง เขียนบทเอง เช่น สวัสดีคุณผู้ฟัง ลิขิตฟ้าชะตาดิน น่ารัก ละครเทิดพระเกียรติชุด เราเกิดในรัชกาลที่ ๙ เดอะซีรีส์ ตอน ดุจแสงทองส่อง เท่านั้น

นิยายเรื่องบุษบาลุยไฟ จึงเรียกได้ว่าเป็นผลงานชิ้นล่าสุดของพี่แอ๊นซึ่งเกิดทีหลังบทละครที่เขียนไว้สำหรับการแสดงด้วย…

ครั้งนี้เราเลยขอโอกาสพูดคุยกับนักเขียนมากฝีมือถึงผลงานชิ้นนี้ รวมถึงความน่าสนใจของตัวละครหลัก บุคคลสำคัญในประวัติศาสตร์ ประวัติศาสตร์กระซิบ ฯลฯ ที่ล้วนแล้วแต่เป็นเหตุปัจจัยให้เกิดเรื่องบุษบาลุยไฟขึ้น รับรองว่านอกจากจะดูละคร อ่านนิยายเรื่องนี้ได้เพลิดเพลิน เชื่อว่าหลังจากอ่านบทสัมภาษณ์ของพี่แอ๊นที่เหมือนเข้าห้องเรียนวิชาประวัติศาสตร์ย่อยๆ จบ แฟนๆ อ่านเอาจะได้เห็นมิติต่างๆ ของบุษบาลุยไฟและสนุกไปกับละครและนิยายเรื่องนี้มากยิ่งขึ้น….

บุษบาลุยไฟ จากบทละครสู่นิยาย

อย่างที่บอกว่าบุษบาลุยไฟมาจากบทละครก่อน แต่ที่ครั้งนี้พี่แอ๊นได้นำมาเขียนเป็นนิยายด้วย นั่นก็เพราะต้องการมีผลงานเป็นเล่มเก็บไว้เพื่อเป็นเกียรติประวัติของตัวเอง “เพราะละครฉายผ่านไปแล้วก็ผ่านไป ไม่ได้ถูกบันทึกไว้เป็นชิ้นงาน ซึ่งพอปรับมาเป็นนิยาย ในเรื่องของภาษา พี่แทบจะเขียนใหม่หมด คงไว้เพียงแต่บทสนทนาที่คล้ายๆ กันเท่านั้น

…นิยายคือการเขียนไว้สำหรับอ่านจึงมีความลึกซึ้งกว่า แต่บางทีเราไม่ได้อธิบายลงไปในนั้น ให้คนดูไปคิดเอาเองเพราะได้วาดภาพให้ดูแล้วว่าภาพในความฝันของคนเขียนเป็นอย่างไร และการเล่าในรูปแบบนิยายทำให้เราคิดได้อิสระกว่าทีวี เพราะอย่างทีวีจะไปถ่ายวัดที่ไม่มีเสาไฟฟ้าหรือตู้แอร์ก็หาไม่ได้แล้ว รวมไปถึงพรมแดงที่มีทุกโบสถ์ เหล่านี้จะทำให้การถ่ายทำยากมากก็ต้องหลีกเลี่ยง หลบหลีก หาวิธีเล่า ในขณะที่เป็นนิยายเราไปได้สุด ใส่ได้เต็มที่เพราะเป็นตัวหนังสือ และเป็นการบ้านของผู้อ่านที่จะได้สานต่อเอาเอง”

คีย์เมสเสจของเรื่องบุษบาลุยไฟ และความรักระหว่างฮุนกับลำจวน
‘ทุกคนไปสู่เป้าหมายของชีวิตได้ ถ้าอดทนรอคอยและต่อสู้อย่างไม่ยอมวางมือ’

นี่คือเมสเสจหลักในเรื่องนี้ที่พี่แอ๊นต้องการถ่ายทอดผ่านตัวละครอย่างฮุนและลำจวน

“ทั้งๆ ที่สังคมไม่เปิด เราไปถึงไหนไม่ได้ เรื่องนี้ศัตรูตัวเอกของเรื่องเป็นเจ้าคุณนครบาลซึ่งโคตรใหญ่ แล้วฮุนเป็นคนจีนที่แย่งภรรยาเจ้าคุณมา ฉะนั้นถ้าอยู่ในประเทศนี้ ยังไงก็ต้องอยู่อย่างหลบๆ ซ่อนๆ เลยต้องหนี…

…หลังจากหนีออกจากบ้านคุณพุ่ม ก็ไปอยู่หมู่บ้านทวาย ซึ่งไปอยู่อย่างชาวนา ไม่มีอะไรเลย ฮุนทิ้งการเป็นช่างหลวง ไปรับจ้างทำเจดีย์ เคยเขียนรูปก็ไม่กล้าเขียนกลัวถูกจับได้ เลยต้องไปช่วยเขาทำเจดีย์ยานนาวา ส่วนลำจวนก็ทำนา ทำขนมไปขาย มีความสุขกันอย่างผัวหนุ่มเมียสาว อยู่กระท่อมปลายนาเหมือนเจ้าเงาะกับรจนา ซึ่งก็น่าจะไปได้ดี แต่ปรากฏว่ามีคนของเจ้าคุณนครบาลมาไล่จับ และถ้าทั้งคู่ยังอยู่หมู่บ้านนี้ต่อไป ผู้ใหญ่ที่นี่ก็ต้องเดือดร้อนเลยต้องหนีไปอีก…

โชคดีที่ครั้งหนึ่งฮุนเคยเป็นช่างต่อเรือให้คุณช่วง บุนนาค ที่ทำเรือกำปั่นซึ่งแล่นไปสิงคโปร์ ปีนัง ข้ามไปอินเดีย ทำให้สองคนนี้เลยได้ไปกับเรือลำนี้และไปขึ้นบกที่สิงคโปร์ จากนั้นถึงไปใช้ชีวิตที่ปีนังโดยไปเป็นลูกจ้างของต้นตระกูล ณ ระนอง ซึ่งท่านได้เข้ามาทำเหมืองแร่ที่เมืองไทยแล้ว และเมื่อฮุนไปเป็นลูกจ้างเขา สองคนนี้จึงทำงานภายใต้เขตปกครองของฝรั่ง ลำจวนก็ไปสอนภาษา อ่านภาษาอังกฤษออก ฮุนก็ไปเป็นนักธุรกิจทางการเดินเรือ กระทั่งเจ้าคุณนครบาลสิ้น ทั้งคู่ถึงได้กลับมาเมืองไทย การจะได้มีความสุขสมหวังของสองคนนี้ เป็นไปได้อย่างยากลำบากมาก ต้องฝ่าฟัน ต้องเสี่ยง ต้องลำบาก แต่เขาไม่เคยยอมแพ้ อดทนจนพบความสำเร็จในที่สุด ”

เรียกว่านอกจากจะเป็นการเล่าเรื่องย้อนกลับไปในช่วงรัชกาลที่ ๓ พบเจอบุคคลในประวัติศาสตร์มากมาย เรื่องความรักระหว่างฮุนกับลำจวนก็เป็นจุดแข็งที่น่าสนใจและยังเป็นเส้นเรื่องหลักในบุษบาลุยไฟอีกด้วย “ลำจวนเป็นผู้หญิงที่เข้าใจยาก เป็นผู้หญิงที่ผู้ชายทั่วไปไม่เข้าใจและยังไม่ยอมคน ไม่ยอมสยบต่อกฎเกณฑ์ใดๆ ทีนี้ผู้ชายที่จะมารองรับเธอได้ก็มีแต่ฮุนคนเดียวเท่านั้น

…สองคนนี้เหมือนกันตรงที่เป็นคนที่คิดนอกกรอบและเป็นคนที่อยู่นอกสังคม หมายถึงเป็นชนชั้นที่ต่ำต้อยของสังคมนางเอกเป็นผู้หญิงที่ดิ้นรนที่จะเป็นอย่างอื่นที่ผู้หญิงสมัยก่อนเขาไม่มีใครดิ้นรนกัน เช่น ผู้หญิงคนอื่นๆ พ่อให้ไปเป็นเมียใครก็ไป ผัวจะเป็นยังไงก็ตามผัว เป็นแม่เป็นเมียไปวันๆ ขณะที่ลำจวนมีความใฝ่ฝันที่จะเขียนหนังสือ ทำงานที่เกิดจากการเรียนรู้ ไม่ต้องไปขึ้นกับใคร และอยากจะเป็นนายโรงละครแบบที่ผู้ชายเขาทำกัน

ขณะที่ฮุนเองเป็นคนจีนที่อยากเป็นช่างเขียนซึ่งเป็นไปได้ยาก คนจีนถูกเหยียดมากในสมัยนั้น แน่นอนว่ามีพวกที่เป็นเจ้าสัวหรือได้เป็นขุนนางในเวลาต่อมา ก็คือทำการค้ากับพระเจ้าแผ่นดิน แต่กว่าฮุนจะได้มาเป็นช่างเขียนก็ยากเพราะตอนแรกไม่มีใครยอมรับฮุนเข้ากลุ่ม เข้าสังคมคนไทย มีเพียงลำจวนที่เป็นคนแรกที่สอนให้ฮุนพูดให้ชัด เป็นเพื่อนกัน ผู้ชายคนอื่นมองหน้าลำจวนแต่ไม่รู้หรอกว่าสิ่งที่ลำจวนพูดคืออะไร ไม่ฟัง แต่ฮุนเป็นคนที่ฟังทุกอย่างที่ลำจวนพูดและรักจริงจัง เพราะลำจวนเป็นคนให้โอกาสเขา ฉะนั้นสองคนนี้จึงไม่มีวันไปรักคนอื่นได้ เพราะพูดกันรู้เรื่องอยู่สองคน….”

ทำไมบุษบาต้องลุยไฟ?

ที่มาของชื่อเรื่องนี้เป็นการพูดถึงผู้หญิงคนหนึ่งที่แหวกขนบและมีเป้าหมาย ซึ่งแน่นอนว่าสิ่งที่เธอเจอต้องไม่ธรรมดาแน่ๆ และครั้งนี้พี่แอ๊นก็ช่วยอธิบายให้เราเห็นภาพชัดมากยิ่งขึ้น

“ที่ตั้งชื่อเรื่องแบบนี้ อย่างแรก บุษบาคนแรก คือนางเอกละครในเรื่องอิเหนา เป็นผู้หญิงในขนบ อย่างที่สองคือในสมัยรัชกาลที่ ๓ มีบุษบาอีกหนึ่งคนคือคุณพุ่ม ซึ่งท่านออกจากวังมาแล้วก็ใช้ชีวิตอย่างสามัญชนจนกระทั่งโดนคนเขาเสียดสีว่า บุษบาท่าเรือจ้าง คือไม่ใช่บุษบาที่อยู่ในวัง ที่หรูหรา แต่เป็นบุษบาที่อยู่ท่าสาธารณะ ทีนี้บุษบาของเราซึ่งก็คือลำจวน เขามาเป็นลูกศิษย์ของคุณพุ่ม เพราะฉะนั้นจึงเป็นคนที่ยึดคุณพุ่มเป็นแบบฉบับ ก็เลยเป็นบุษบาคนที่สาม คือบุษบาที่เลียนแบบบุษบาท่าเรือจ้าง แต่บุษบาของเราลุยไฟ ซึ่งก็คือการออกไปจากเซฟโซน ไปเจอสิ่งที่อยู่ข้างหน้าโดยที่ไม่รู้ว่าจะเป็นตายร้ายดียังไง แต่เขาเลือกที่จะเป็นอย่างนั้น มากกว่าที่จะเป็นบุษบาตามขนบ

บุษบาลุยไฟจึงเป็นเรื่องราวที่เน้นความเป็นมนุษย์ รัก โลภ โกรธ หลง เรื่องข้อมูลหรือความรู้เป็นแค่ฉากหลัง แต่สิ่งที่จะสนุกคือตัวละครที่จะทำให้เรารัก ร้องไห้ สนุก มัน ไปด้วยกันเพราะลำจวนเป็นคนที่เชื่อในตัวเองขนาดนั้น รู้ว่าสิ่งที่ตัวเองต้องการคืออะไรแล้วก็ต้องไปเอาให้ได้…”

รู้จักคุณพุ่ม บุษบาท่าเรือจ้าง ผู้หญิงนอกกรอบ กวีหญิงแห่งยุค และไอดอลของลำจวน

หนึ่งในตัวละครที่เป็นบุคคลที่มีอยู่จริงในประวัติศาสตร์และได้รับการพูดถึงจากพี่แอ๊นอยู่บ่อยๆ คือคุณพุ่ม บุษบาท่าเรือจ้าง ซึ่งเป็นผู้หญิงที่คิดนอกกรอบ และมีความไม่ธรรมดามากมายอยู่ในตัวเอง “ผู้หญิงคนนี้เป็นต้นแบบของลำจวน มีความคิดที่แตกต่างจากผู้หญิงทั่วไปในยุคนั้น เช่น ไม่ยอมเป็นเมียน้อยใคร เพราะไม่อยากเป็นเจ้าจอมหม่อมห้าม ท่านก็เลยมาอยู่อย่างอิสระและเป็นผู้หญิงที่พึ่งตัวเอง ใช้ความสามารถของตัวเองในการหาเลี้ยงชีพ ไม่ง้อผู้ชาย แต่มีบารมีผู้ชายที่ใหญ่ ๆในแผ่นดินทั้งนั้น คุ้มกันปกป้อง

คุณพุ่มเป็นลูกของพระยาราชมนตรี (ภู่ ภมรมนตรี) ตำแหน่งเสนาบดีกรมพระคลังมหาสมบัติ เรื่องภาษี เหล้า บ่อน หวย พ่อคุณพุ่มจะเป็นผู้รับผิดชอบ ดูแล จนได้รับยกย่องว่าเป็น บ่อแก้ว ก็คือบ่อเงิน บ่อทอง ของรัชกาลที่ ๓ ซึ่งแก้วหมายถึงความดีงาม ใส สะอาด ไม่มีความทุจริต เช่น พ่อของคุณพุ่มดำรงตำแหน่งใหญ่ขนาดนี้ แต่ท่านก็ยังอยู่บ้านหลวงหลังวังท่าพระ (มหาวิทยาลัยศิลปากร) แล้วลูกสาวอยู่แพริมน้ำตรงหน้าบ้านพ่อ

ก่อนหน้าที่จะออกมาอยู่แพ คุณพุ่มเองเคยเป็นข้าราชการฝ่ายใน ตำแหน่งพนักงานพระแสงมาก่อน แต่ได้กราบบังคมทูลลาจากการเป็นนางในในรัชกาลที่ ๓ ด้วยเหตุผลว่าจะไปดูแลพ่อที่มีปัญหาสุขภาพ ซึ่งจริงๆ แล้วคือทูลลาออกมาเพื่อจะมาสานสัมพันธ์ต่อกับสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ ที่ต่อมาคือพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว แต่ปรากฏว่าไม่เวิร์กเพราะท่านสง่างาม มีผู้หญิงเยอะ คุณพุ่มเลยคิดว่าอยู่ตัวคนเดียวดีกว่า…

แต่ถึงจะอยู่คนเดียวก็ไม่มีใครกล้าแตะผู้หญิงคนนี้ เพราะฝั่งหนึ่งคือรัชกาลที่ ๓ พระองค์ทรงโปรดคุณพุ่มมาก เคยแต่งกลอนต่อว่าถึง ๒ ครั้ง แต่ไม่ได้อยู่ในเรื่อง เป็นประวัติศาสตร์กระซิบ ก็คือตอนที่คุณพุ่มออกจากตำแหน่งมา รัชกาลที่ ๓ ก็ทรงแต่งสักวาแล้วให้หลานเป็นคนพูดว่า ‘สักรวาจ้ำจี้มะเขือเปราะ มากะเทาะหน้าแว่นน่าแค้นจิตต์ ว่าน้ำมากอยากจะเที่ยวไม่สมคิด ต้องตำราสุภาษิตไม่ผิดเลย ว่าเรือใครไปกระทั่งซึ่งต้นกุ่ม จะได้ผัวหนุ่มหนุ่มนะพี่เอ๋ย เขาฤาแน่แซ่เสียงอย่าเถียงเลย ว่าเรือพี่นี้แหละเกยต้นกุ่มเอย’

แล้วพอคุณพุ่มท่านยุติความสัมพันธ์กับสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์ พระองค์ก็ทรงแต่งกลอนว่า ‘เจ้าช่อมะกอก เจ้าดอกมะไฟ เจ้าเห็นเขางาม เจ้าตามเขาไป เขาทำเจ้ายับ เจ้ากลับมาไย เขาสิ้นอาลัย เจ้าแล้วหรือเอย ฯ ซึ่งถ้าคุณพุ่มธรรมดาพระองค์ก็คงไม่เอ่ยถึง

นอกจากนี้คุณพุ่มยังมีบุรุษทรงอำนาจอีกหลายท่าน ที่น่าจะแผ่บารมีคุ้มครองอยู่ห่างๆ ที่นอกจากรัชกาลที่สาม พ่อ และสมเด็จเจ้าฟ้ากรมขุนอิศเรศรังสรรค์แล้ว รวมถึงยังมีหลวงนายสิทธิ์ (ช่วง บุนนาค) ที่ต่อมาคือสมเด็จเจ้าพระยาบรมมหาศรีสุริยวงศ์ด้วย (เคยถูกรัชกาลที่ ๓ เตือน ว่าไม่ให้มา) ว่ากันว่าแพคุณพุ่มไม่เคยแห้งเพราะเจ้านายชั้นสูงต่างให้ความสนใจและมักแวะเวียนมาเล่นสักวาอยู่เสมอ”

…และคุณพุ่มเองก็มีคอนเน็คชั่นสนิทสนมกว้างขวาง กับเจ้านายพระองค์อื่นอย่างมากเช่นกัน เพราะสามารถตอบโต้บทกลอนต่างๆ กับพระบรมวงศานุวงศ์ได้อย่างเผ็ดร้อน “อย่างในช่วงรัชกาลที่ ๔ คุณพุ่มก็ได้ไปเล่นสักวากับกรมหลวงภูวเนตรนรินทรฤทธิ์ ผู้ซึ่งเมื่อครั้งยังเป็นพระองค์เจ้าทินกร (ประพันธ์เรื่องแก้วหน้าม้า) และอยู่ในก๊วนสักรวาเดียวกัน มีการโต้ตอบกันอย่างถึงพริกถึงขิง เช่น “สักรวาวันนี้ที่สังเกต เหมือนพุ่มพวงดวงเนตรของเชษฐา มิได้เล่นลับลี้หลายปีมา…” ซึ่งคุณพุ่มก็ได้ตอบกลับไปว่า “สักรวาน่าจะโห่ให้เรือล่ม นี่ฤากรมภูวเนตรฯ เศษสวรรค์ เอานายทิมเข้ามาทวนพอควรกัน เหมือนย่างหั่นใบขี้เหล็กให้เด็กตำ…” คือกล้าเล่นอย่างนี้แปลว่าต้องสนิทกันมาก” แล้วคุณพุ่มยังเคยสร้างตำนานแย่งพระแสงดาบจากกรมขุนอิศเรศรังสรรค์ จนกลายเป็นที่เล่าขานกันไปทั่วด้วย เรื่องนี้หมื่นนิพนธ์พจนนาดด์ (ดิศ) ผู้เป็นอาลักษณ์ได้เล่นสักวาหน้าพระที่นั่งรัชกาลที่ ๕ ไว้ด้วยว่า “สักรวาปันหยีครูเจ้าชู้ใหญ่ แลเห็นไก่แพ้วิ่งนึกกริ่งจิต อุณากรรณคนนี้เคยมีฤทธิ์ เมื่อครั้งติดสักรวาที่ท่าช้าง แต่ยังสาวคราวเป็นบุษบา ยังเข้าคร่าดาบอิเหนาเอามาบ้าง อิเหนาเก่งนักเลงแท้ยังแพ้นาง นี่อย่าวางเม็ดเหมือนคราวเป็นสาวเอย” และคุณพุ่มเองมีหรือจะยอมท่าน จึงตอบกลับไปด้วยคารมคมคายสไตล์ตัวเองว่า “สักรวาอุณากรรณเทวัญแปลง แอบนั่งแฝงมุลี่ทำทีเก้อ ไก่ปันหยีตีแพ้ชะแง้เง้อ คนร้องเออเสียงอึงตะลึงแล ไก่เป็นรองร้องว่าเรื่องท่าพระ พูดเกะกะว่ากล่าวความเก่าแก่ ว่าไปแย่งดาบฝรั่งที่หลังแพ พูดให้แน่นะปันหยีข้อนี้เอยฯ””

เรื่องราวสุดเซอร์ไพรส์ของนิยายเรื่องล่าสุด

สำหรับบุษบาลุยไฟซึ่งเป็นการเล่าย้อนกลับไปในช่วงรัชกาลที่ ๓ นั้น มีความน่าสนใจอย่างมากมาย รวมถึงยังมีเรื่องราวสุดเซอร์ไพรส์ที่เกิดขึ้นกับพี่แอ๊นในแบบที่เธอเองก็คาดไม่ถึงเช่นกัน “บางเรื่องไม่ได้เกิดขึ้นตอนเขียน แต่มารู้หลังจากที่เขียนเสร็จแล้ว อย่างเช่น เรื่องสุนทรภู่นำคาแร็กเตอร์พระอภัยมณีมาจากไหน ตอนหลังก็มีคนนำหนังสือมาให้ เรื่องครูมี (แขก) ท่านเป็นครูปี่ที่เก่งมาก มีรูปปั้นอยู่ที่มหาวิทยาลัยมหิดล วิทยาเขตศาลายา ซึ่งสุนทรภู่ก็สนิทกับครูมี (แขก) มากเช่นกัน ท่านมีชื่ออยู่ในบทไหว้ครูสำหรับขับเสภา และท่านเป่าปี่ได้เลิศลอยมาก ฉะนั้นการเป่าปี่ให้คนหลับ ให้คนตาย เขาว่ากันว่าสุนทรภู่เอามาจากครูมี (แขก) และในเรื่องบุษบาลุยไฟ ก็มีครูมี (แขก) ด้วย โดยพี่สร้างฉากให้มีการพบเจอกันระหว่าง สุนทรภู่ ครูคงแป๊ะ ครูมี (แขก) ซึ่งตอนนั้นพี่ต้องการให้มีฉากที่พระเอกพานางเอกไปร่วมการสังสรรค์นี้ ที่เซ็ตฉากนี้ขึ้นมาเพราะว่าศิลปินในสมัยก่อนมีอยู่กันไม่กี่คน เขาต้องคบกันแน่ๆ แล้วก็อยู่ฝั่งธนทั้งหมดเลย ก็เขียนไปโดยอ่านประวัติมาเพียงพอสมควร จนเขียนเสร็จไปแล้วถึงได้มาอ่านพบว่า สุดท้ายครูมี (แขก) ก็ได้ไปเป็นคนคุมวงมโหรีให้กับพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ตอนรัชกาลที่ ๔ ขณะที่สุนทรภู่ไปเป็นอาลักษณ์ประจำวังหน้าพระปิ่นเกล้า หมายความว่าบรรยากาศนี้อาจจะเคยเกิดขึ้นจริง

นอกจากนี้ ครูมี (แขก) ยังเป็นคนทำซอสายฟ้าฟาดให้รัชกาลที่ ๒ แล้วก็เป็นคนที่ช่วยรัชกาลที่ ๒ พระราชนิพนธ์เพลงบุหลันลอยเลื่อน ซึ่งสุนทรภู่ก็เป็นอาลักษณ์ของรัชกาลที่ ๒ พอรัชกาลที่ ๒ สวรรคต กลุ่มคนเหล่านี้ก็ออกจากวัง น่าจะพร้อมๆกับที่คณะละครใน ที่รัชกาลที่ ๓ ให้เลิกไป ว่ากันว่าสุนทรภู่ไปอยู่กับครูมี (แขก) ช่วงหนึ่งก่อนที่จะบวช จากนั้นพอมาถึงรัชกาลที่ ๔ เสด็จขึ้นครองราชย์ กลุ่มคนเหล่านี้ก็ได้กลับมารับราชการในวังอีก พี่ก็เพิ่งมาอ่านเจอทีหลัง เลย เอ้า ใช่แน่ๆ เราไม่ผิดแน่ๆ (หัวเราะ)…”

การสืบค้น หาข้อมูล เพื่อความสมจริง

ถึงแม้พี่แอ๊นจะมีคลังความรู้เกี่ยวกับประวัติศาสตร์มากมาย แต่เมื่อต้องลงมือเขียนจริงๆ ก็ยังต้องค้นหาข้อมูลเพิ่มเติมอีกเยอะ “พี่ก็ใช้วิทยานิพนธ์ของคนนั้นคนนี้ หรือไม่ก็ถามกับคนที่มีความรู้เกี่ยวกับเรื่องนั้นๆ เลย แม้แต่หมอโอ๊ต (นายแพทย์พงศกร จินดาวัฒนะ) ก็ถูกพี่ถาม เช่น พี่จะเขียนให้แม่นางเอกขายผ้าไหม ด้วยความที่หมอโอ๊ตเป็นเซียนเรื่องผ้าโบราณ เราก็เลยถามไปว่า ในสมัยนั้นเขาจะขายผ้ากันยังไง ทำนองไหนนะ แล้วก็มีไปวัดสุวรรณาราม ไปวังพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว พระที่นั่งพุทไธสวรรย์ เพื่อไปดูว่างานแต่ละงานต่างกันอย่างไร เช่น ไปดูงานสถาปัตยกรรม จิตรกรรมในสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นก่อนรัชกาลที่ ๓ เป็นอย่างไร และงานในสมัยรัชกาลที่ ๓ เป็นอย่างไร แล้วหลังรัชกาลที่ ๓ ไปรัชกาลที่ ๔ เป็นอย่างไร ไปวัดทุกวัดที่เราจะเล่าถึง พี่ใช้เวลาหาข้อมูล ทำบท ๒ ปี ใช้เวลาถ่ายทำอีก ๒ ปี ถึงกลายมาเป็นบุษบาลุยไฟ”

ว่าด้วยเรื่องจิตรกรรม

ถ้าได้เคยติดตามเรื่องนี้กันมาบ้าง หลายคนคงพอรู้ว่าสารตั้งต้นของบุษบาลุยไฟนั้นมาจากการที่พี่แอ๊นต้องการจะเล่าเรื่องจิตรกรรมในสมัยรัชกาลที่ ๓ แต่ทางช่องก็ได้แนะนำมาว่าในยุคสมัยนี้มีเรื่องราวที่น่าสนใจมากมาย รวมไปถึงจิตรกรรมเช่นกัน

จิตรกรรมในสมัยรัชกาลที่ ๑ – รัชกาลที่ ๓ จะถอดแบบอยุธยามาทั้งนั้น แต่ลักษณะการใช้สีจะต่างออกไป เพราะว่ารัชกาลที่ ๓ จะมีสีจากเมืองจีน มีอิมพอร์ตใหม่ๆ เพราะรุ่งเรือง ในขณะที่อยุธยาใช้สีขาว ดำ แดง ส้ม น้ำตาล เขียวนิดๆ น้ำตาลๆ โทนจะมีไม่กี่สี แต่ในยุครัชกาลที่ ๓ จะมีสีให้ใช้มากมาย อลังการ สีทองเพียบ และถ้าเป็นสถาปัตยกรรรมนี่คือเปลี่ยนไปเลย ถ้าเราไปดูวัดรัชกาลที่ ๓ จะไม่เป็นเสากลมๆ ไม่มีช่อฟ้า ใบระกา หางหงส์ แต่จะมีเป็นจั่วสามเหลี่ยม เสาจะเป็นเสาใหญ่สี่เหลี่ยม หนัก ผนังหนา แข็งแรงมาก พอถึงรัชกาลที่ ๔ จะเป็นเสาประดับลายใบอะแคนทัส มีการเซาะร่อง แบบคล้ายๆ จะทำตามแบบคอรินเที่ยน ทั้งๆที่ยังเป็นเสาเหลี่ยมอยู่ อะไรที่เป็นฝรั่งก็จะเริ่มเข้ามา ซึ่งในนิยายจะมีการเล่าไปถึงช่วงรัชกาลที่ ๔ ด้วย และในเรื่องฮุนก็จะมีการคอมเมนต์งานในยุคนั้น คือในสมัยฮุนเขาจะเขียนเล่าเรื่องเป็นทศชาติ เวสสันดรชาดก แต่พอมาในช่วงรัชกาลที่ ๔ จะเล่าเป็นนามธรรม การตรัสรู้ เล่าแบบไอเดีย ผ่านการตีความ มีการใช้แสงเงา ใช้ความดาร์กบางอย่าง ซึ่งคนรุ่นเก่าอาจไม่สบายใจ ซึ่งในงานสมัยก่อนก็มีแสงเงา แต่จะสดใสร่าเริงกว่าสีแบบขรัวอินโข่งที่ออกจะเรียลขึ้น

ในเรื่องบุษบาลุยไฟ พี่จับเรื่องจิตรกรรมมาแต่เฉพาะบางวัด อย่างเช่น วัดสุวรรณาราม วัดแจ้งนิดหน่อย วัดอื่นๆ บ้างแต่ไม่เยอะ และได้นำเรื่องของหลวงเสนีบริรักษ์ (ครูคงแป๊ะ) และหลวงวิจิตรเจษฎา (ครูทองอยู่) มาเล่าไว้ในเรื่องนี้ ซึ่งพี่ทำก็อาจไม่ถูกใจหลายคน เพราะมีข้อมูลกล่าวถึงสองท่านนิดเดียวก็คือจากในสาสน์สมเด็จ สิ่งที่เขาพูดถึงคือจิตรกรรมฝาผนังที่อยู่ในวัดสุวรรณารามนั่นแหละที่มีสองรูปเคียงกัน เป็นเรื่องมโหสถชาดกที่วาดโดยอาจารย์คงแป๊ะและเนมิราชชาดก วาดโดยอาจารย์ทองอยู่ เขาก็ลือกันว่าต้องขึงผ้าใบตรงกลางไม่ให้คนเห็น เวลาสองท่านนี้วาดห้ามดูกัน แล้วเมื่อวาดเสร็จก็ค่อยมาเปิดให้เห็น นอกจากนี้ยังมีเล่าว่าคงแป๊ะเคยพลั้งมือฆ่าคน แต่ว่ารัชกาลที่ ๓ ได้พระราชทานอภัยโทษ มีเรื่องราวอยู่เท่านี้แล้วเราก็นำมาแต่งเองทั้งหมด ยืมข้อมูลอันน้อยนิด เพื่อนำมาสร้างให้เป็นเรื่องสนับสนุนตัวละครเอกของเรา และต่อไปใครจะจินตนาการทั้งสองท่านแบบอื่นก็ได้แล้วแต่ความคิดของแต่ละคน เพราะพี่ก็มาคิดต่อเอาเองจากคาแร็กเตอร์ภาพของท่านนั่นแหละ”

เพราะอะไรต้องย้อนยุคกลับไปในสมัยรัชกาลที่ ๓

“ความคิดแรกก็คือต้องการเขียนเรื่องในสมัยรัชกาลที่ ๓ เพราะว่าจริงๆ ช่วงนั้นไม่มีละครในยุครัชกาลที่ ๓ เลยนะ หมายถึงช่วงเวลา ๔-๕ ปี ก่อนหน้านี้ แต่ขณะที่เราใช้เวลาทำงานมากมาย ก็เกิดละครในยุคสมัยรัชกาลที่ ๓ มากมายเช่นกัน แล้วเราก็ อ้าว ของฉันออกที่โหล่เลย (หัวเราะ)

ที่เลือกช่วงเวลานี้ก็เพราะในช่วงรัชกาลที่ ๓ เป็นช่วงของการเปลี่ยนผ่าน ประเทศเริ่มแข็งแรง รับวัฒนธรรมจากต่างประเทศเข้ามา การพัฒนาประเทศจากสังคมเดิมๆ ของไทย เป็นสังคมแบบสมัยใหม่ รวมทั้งสิ่งที่เราต้องการพูดที่สุดก็คือเดิมคนชอบพูดถึงรัชกาลที่ ๓ เฉพาะเรื่องเศรษฐกิจว่าเป็นคนหาเงินถุงแดง เป็นเจ้าสัวทับ เป็นคนรวยค้าสำเภา แต่จริงๆ แล้วในสมัยของท่าน เราเกิดความเจริญทางศิลปวัฒนธรรมอย่างมหาศาล เกิดวัดตั้ง ๕๓ วัด หมายความว่ามีทั้งซ่อมและสร้างใหม่ ทำไมเขาไม่พูดถึงตรงนี้กัน แล้วก็มีการซ่อมสร้างวัดโพธิ์ วัดพระแก้ว ให้สมบูรณ์ ไหนจะวัดสุทัศน์อีก วัดที่เกิดขึ้นในสมัยนี้ก็กลายเป็นแหล่งที่สร้างรายได้ให้กับประชาชน เลี้ยงปากท้องประเทศไทยมาจนปัจจุบันด้วย

…เมื่อเราคิดถึงวรรณกรรมสมัยรัชกาลที่ ๓ เรามักจะนึกถึงสุนทรภู่เป็นหลัก แต่พอลงมือจริงๆ กลับพบว่ามีกวี ศิลปิน นักเขียนจำนวนมากในยุคนั้น ซึ่งก็พูดถึงเกือบทุกท่านที่พระเอก นางเอก ไปแตะถึง เช่น กรมพระปรมานุชิตชิโนรส นายมีหมื่นพรหมสมพัตสร ที่เป็นคนแต่งนิราศพระแท่นดงรัง นิราศสุพรรณ นิราศถลาง ทศมูลเสือโค หรือ เสือโค ก กา นายมีเป็นคนเรียบเรียงใหม่ แล้วยังมีพระมหามนตรี (ทรัพย์) ที่แต่งบทละครเรื่องระเด่นลันได สมเด็จฯ กรมกระยาเดชาดิศร ที่แต่งโคลงโลกนิติ และจารึกอยู่ในวัดโพธิ์ แล้วก็ยังมีคุณสุวรรณ ที่แต่งพระมะเหลเถไถ อุณรุทร้อยเรื่อง แต่พี่ไม่ได้พูดถึง เพราะว่าพระเอกนางเอกออกจากประเทศไทยก่อน พ.ศ. ที่จะปรากฏคุณสุวรรณขึ้นในประวัติศาสตร์

นอกจากนี้ยังมีตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ที่ได้พูดถึงในเรื่องนี้ด้วย พูดกันจริงๆ เลยคือเรื่องนี้ไม่ได้เขียนในสมัยโบราณจริงๆ งานลอยกระทงอาจมีมาตั้งแต่สุโขทัย อยุธยา แต่รัชกาลที่ ๓ เป็นผู้รื้อฟื้นงานลอยกระทงขึ้นมาจัดเป็นอีเวนท์ เป็นเทศกาลใหญ่ของประเทศเลย แต่ว่าช่วงต้นๆ ข้าราชบริพารทำกันยิ่งใหญ่เกินไป บางกระทงก็มีมโหรีบนนั้นทั้งวง บางกระทงก็เป็นเขามอ เป็นป่าหิมพานต์ มีกลไกลซับซ้อน จนกระทั่งรัชกาลที่ ๓ ห้าม ว่าถ้าอย่างนั้นอย่าทำดีกว่า เปลืองเงิน ก็เลยทำเล็กลง ประหยัดขึ้น ซึ่งในเรื่องบุษบาลุยไฟเป็นปี ๒๓๘๑ ตอนนั้นก็เป็นช่วงที่ลดทอนงานลง ไม่ใหญ่เหมือนช่วงแรกแล้ว และพูดถึงตำรับท้าวศรีจุฬาลักษณ์ผ่านคุณพุ่มที่นำมาสอนนางเอกและให้อ่าน มีการแอบเฉลยนิดๆ ด้วยว่าไม่ใช่งานเก่า เพราะว่ามีการกล่าวถึงอเมริกา กล่าวถึงเรือสมัยใหม่ที่ไม่มีในสมัยอยุธยา ก็แสดงว่าเป็นเรื่องที่เพิ่งแต่งเร็วๆนี้

…แล้วในสมัยนี้ยังมีสาเหตุของเรื่องนี้อีกสาเหตุด้วยนะ ก็คือเมื่อรัชกาลที่ ๒ สวรรคต แล้วรัชกาลที่ ๓ ขึ้นครองราชย์ พระองค์ก็ได้ให้นางใน ละครใน วงมโหรีผู้หญิงออกไปจากวังให้หมด เนื่องจากพระองค์ทรงมีความเชื่อว่า การละครเป็นการส่งเสริมกิเลส เป็นบาป เปลืองเงิน จึงให้เลิกละครในไปจากในวัง จึงทำให้ครูละครในทั้งหมดออกไปอยู่วังนอก ซึ่งหมายถึงวังของโอรสของท่าน ญาติของบรรดาชาววังที่เคยเป็นนางละครทั้งหมด เลยทำให้ละครบูมจนเป็นอาชีพได้ อย่างคณะละครของพ่อนางเอก ละครนายสุ่นคือละครนอกในสมัยรัชกาลที่ ๓ สามารถเป็นอาชีพจนคนเล่นละครต้องเสียภาษี และทำให้เกิดคณะละครนอกมากมาย การที่นาฏศิลป์ในวังออกไปอยู่ข้างนอกหมด รวมถึงดนตรี อาภรณ์ ฯลฯ ก็เหมือนเป็นการกระจายความรู้ แล้วรัชกาลที่ ๓ ท่านก็ทรงอนุญาตว่าใครอยากมีคณะละครผู้หญิงและมีมโหรีผู้หญิงก็ให้มีได้ ถ้าบารมีถึง ทำได้ก็ทำ พอมาถึงรัชกาลที่ ๔ ก็ทรงอนุญาตเช่นกัน แต่มีข้อแม้ว่าต้องไม่จับลูกสาวใครเขามา และก่อนที่รัชกาลที่ ๓ จะสวรรคตก็ทรงมีพินัยกรรมไว้ว่า เงินเนี่ยขอให้นำไปทำบุญบ้าง แต่ถ้าอยากนำไปทำละครก็ทำเถิด เหมือนกับว่าราชสำนักจะเอาละครกลับมาอีกก็ได้…

…สิ่งเหล่านี้หลายคนไม่รู้ แต่ว่าพี่ได้ใช้งานวิจัยของดอกเตอร์ธรรมจักร พรหมพ้วย ท่านเป็นรองคณบดีฝ่ายบริหารภาควิชาศิลปะการแสดงไทย คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยรามคำแหง ที่เล่าถึงนาฏกรรมและการแสดงในสมัยรัชกาลที่ ๓ มาปรับใช้ อีกเรื่องที่ฮิตในสมัยนั้นคือ แอ่วลาวเป่าแคน ดังจนกระทั่งถึงสมัยรัชกาลที่ ๔ โดยเฉพาะพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัวมีคณะแคน มีแคนส่วนพระองค์ สามารถไปดูได้ที่พิพิธภัณฑสถานแห่งชาติ เพราะวังท่านอยู่ในนี้ เรียกว่าสมัยรัชกาลที่ ๔ คนฮิตแอ่วลาวเป่าแคนมากจนคนไม่จ้างวงมโหรี คณะดนตรีไทยไม่มีใครจ้าง รัชกาลที่ ๔ จึงทรงออกกฎหมาย ว่าห้ามในพระนครเล่นแอ่วลาวเป่าแคน เพราะไม่อย่างนั้นคนที่ทำวงมโหรีจะอดตาย”

การมองโลกตามความเป็นจริงและความหวัง คือลายเซ็นของปราณประมูล

คุยกันมาถึงตรงนี้เราพบว่าพี่แอ๊นเล่าทุกอย่างออกมาด้วยความสุข และดูเหมือนนี่จะเป็นลายเซ็นของปราณประมูลเลยก็ว่าได้ “ลายเซ็นของพี่คือทัศนคติ วิธีมองโลกที่ให้ความหวังมีความสุขเป็นเชิงบวก แล้วถ้าเป็นนิยายก็คือการใช้ภาษา เพราะพี่เชื่อว่าพี่เป็นหนึ่งคนที่ใช้ภาษาไทยได้ดี เด็กสมัยใหม่มีหนังสือให้อ่านเยอะ แต่หนังสือที่ใช้ภาษาไทยได้ดียังมีไม่มากพอ ส่วนความสุขนั้นมาจากการมองโลกอย่างมีความศรัทธา มีความเชื่อ ภูมิใจในงานที่ทำว่าดี…

…พี่เป็นคนมั่นใจในตัวเองเกินร้อยเปอร์เซ็นต์ แล้วไม่ใช่คนเพอร์เฟกต์ พี่ว่าคนเพอร์เฟ็กต์คือคนไม่มั่นใจ เพราะกลัวจะไม่เพอร์เฟ็กต์ และพอพี่ไม่เพอร์เฟ็กต์แล้วทำอะไรก็ได้หมด ผิดก็ช่างมัน ให้เขาต่อว่ามา ไม่เคยกลัวการว่าหรือการเอาปากกามาวง วงมาสิจะได้แก้ พี่ว่าคนมีความสุขคือคนไม่กลัวการถูกเกลียด พี่เป็นคนยอมรับได้ทุกอย่าง เพราะมองว่าทุกอย่างมันก็ดีของมัน”

———————————

ภาพ : ประวิทย์ เดชโยธิน

สถานที่ : Chillax

 

Don`t copy text!