“วายัง” นวนิยายหมายเลข 2 ของ ‘กันต์พิชญ์’

“วายัง” นวนิยายหมายเลข 2 ของ ‘กันต์พิชญ์’

โดย : YVP.T

Loading

ในระหว่างที่รอการนำ ‘ม่อนเมิงมาง’ ไปทำเป็นละคร “กันต์พิชญ์” หรือ ‘สุริยงวรวุฒิ สิริวิวัฒน์กุล’ เจ้าของผลงาน ‘ม่อนเมิงมาง’ 1 ใน 5 นวนิยายที่ได้รับการคัดเลือกไปทำละครทางช่อง ONE31 จากโครงการช่องวันอ่านเอา ไม่ปล่อยให้เวลาผ่านไปเรื่อยๆ เขาลงมือผลิตนวนิยายหมายเลข 2 บนเส้นทางนักเขียนออกมาให้นักอ่านหัวใจนวนิยายได้เพลิดเพลินกันอีกเรื่องเป็นที่เรียบร้อย

“วายัง” เรื่องราวของสินิทธ์ นักวิจัยทุนรัฐบาลที่สนใจในนิทานปันจีหลากหลายสำนวน อันเป็นที่มาของอิเหนาซึ่งแพร่หลายในอุษาคเนย์ โดยเฉพาะ กีดุง มาลัต นิทานปันจีของราชสำนักบาหลี และนั่นเองก็ทำให้เธอได้พบรักกับเตอกัล หนุ่มธุรกิจเจ้าของรีสอร์ตในบาหลี เธอได้เสนอความคิดในการจัดแสดง วายัง กูลิต การแสดงที่คล้ายการเชิดหนังตะลุงของไทยในรีสอร์ตของเขา ซึ่งนั่นเป็นจุดเปลี่ยนให้รีสอร์ตเป็นที่นิยม เพราะลูกค้าชาวต่างชาติต่างชื่นชอบการแสดงชนิดนี้

แต่สินิทธ์หารู้ไม่ว่า เธอถูกดึงเข้าไปในชะตากรรมอันน่าสมเพชเวทนาจนทำให้เธอเปลี่ยนไป…จากหญิงสาวจิตใจอ่อนโยน สุภาพนิ่มนวล กลับกลายเป็นคนสติวิปลาส วางแผนปลูกฝังความคั่งแค้นจนเกิดคดีนองเลือดสุดพรั่นพรึง แม้ตัวเธอเองหมดลมหายใจไปแล้วก็ตาม

ว่าแต่ว่า “วายัง” แปลว่าอะไร?

“วายัง เป็นภาษาชวา ซึ่งเขียนได้ว่า ꦮꦪꦁ (wayang) มีความหมายตรงตัวคือ ‘เงา’ ครับ”

แล้ว “วายัง” กลายมาเป็นนวนิยายหมายเลข 2 ของ ‘กันต์พิชญ์’ ไปได้อย่างไร

“ต้องย้อนไปตอนที่ค้นข้อมูลที่จะนำไปใช้ในงานเขียน ‘ม่อนเมิงมาง’ เพื่อส่งเข้าประกวดโครงการช่องวันอ่านเอาปี 1 ครับ ตอนนั้นกำลังอ่านงานวิจัยและการศึกษาประตูโขงแบบล้านนาไล่เรื่อยไปจนถึงการศึกษาศิลปะในวิหารน้ำแต้ม ซึ่งหมายถึงภาพเขียนระบายสีหรือจิตรกรรมในวิหาร ซึ่งนอกจากภาพเขียนระบายสีจากนิทานชาดกบนแผ่นไม้กระดานฝาลูกฟักแล้ว ผมยังตื่นตาตื่นใจกับลายทองล่องชาดบนเสากลมมาก และเผอิญเจอข้อมูลเกี่ยวกับ ‘ลับแล’ อันเป็นเครื่องกั้นใช้สำหรับบังสายตา กั้นห้อง แบ่งพื้นที่ให้เป็นสัดส่วน

“แต่ลับแลที่เผอิญไปเจอเป็น ‘ลับแลอิเหนา’ มีการตกแต่งด้วยการเขียนลายกำมะลอที่นอกจากจะปิดด้วยทองคำเปลวแล้วยังมีการผสมสีฝุ่นกับน้ำรัก ระบายให้มีสีสันบนพื้นผิวอีกด้วย ซึ่งปกติแล้วลับแลแบบนี้จะเขียนภาพเรื่องรามเกียรติ์ ชาดก หรือพุทธประวัติ ฉะนั้นความแปลกในภาพแสนวิจิตรสีทองอร่ามบนพื้นดำของ ‘ลับแลอิเหนา’ บานนั้นจึงตรึงใจผมมาตลอด

“พอเขียน ‘ม่อนเมิงมาง’ จบลง ตัวผมเองก็ไม่รู้หรอกครับว่า ผลงานของจะเข้าตากรรมการบ้างหรือเปล่า แต่ก็คิดว่า ไม่ว่าผลจะออกมาเป็นยังไงก็จะเดินไปบนเส้นทางนักประพันธ์ต่อ จึงลงมือค้นทุกสิ่งอย่างเกี่ยวกับอิเหนาเพื่อวางโครงเรื่องนิยายเรื่องต่อไปทันที

“ผมตั้งคำถามกับตัวเองว่า ถ้าอยากเขียนเรื่องเกี่ยวกับอิเหนาก็ควรต้องอ่านอิเหนาให้จบครบถ้วนสมบูรณ์ก่อนหรือเปล่า เพราะในความคิดของผม งานประพันธ์ที่ยอมรับกันว่าเป็น ‘วรรณคดี’ ย่อมต้องดีพร้อมในข้อมูลต่างๆ ให้ศึกษา ผมจึงลองอ่านบทละครอิเหนา พระราชนิพนธ์รัชกาลที่ 2 ฉบับเต็มทั้ง 38 เล่มสมุดไทยในหอสมุดหอพระสมุดวชิรญาณ ถึงได้รู้ว่าที่จริงแล้วทั้ง 38 เล่มสมุดไทยไม่ได้เป็นพระราชนิพนธ์ทั้งหมด พระราชนิพนธ์ทรงไว้เพียงสึกชีจบเล่ม 29 สมุดไทยเท่านั้น อีก 9 เล่มสมุดไทยเป็นผู้อื่นแต่งเพิ่มเติมต่อในภายหลัง และเมื่ออ่านตั้งแต่ต้นจนจบ ประเพณีแต่โบราณที่ได้จากในเรื่องนั้นน่าสนใจยิ่ง เรื่องราวความรักของอิเหนาก็ยิ่ง ‘แซ่บ’ ไม่แพ้ประเด็นอื่นใดในเรื่อง

“นั่นเอง ‘วายัง’ จึงถือกำเนิดขึ้นมา แต่ว่าในตอนแรกยังไม่ได้ตั้งชื่อว่า ‘วายัง’ นะครับ ผมตั้งชื่อไฟล์เอาไว้ว่า ‘พิษรักแรงแค้นจากสตรีของอิเหนา’ และนับแต่นั้นจึงเริ่มอ่านถึงที่มาที่ไปว่าต้นกำเนิดของอิเหนานั้นมาจากไหน มีอิทธิพลในดินแดนอุษาคเนย์อย่างไร”

ลับแลอิเหนา

สิ่งที่ได้จากการอ่านอิเหนาอย่างละเอียดทำให้ค้นพบว่า…

“นิทานอิเหนาเป็นนิทานวีรบุรุษของชวาที่มีต้นเค้ามาจากพงศาวดาร ซึ่งไทยออกเสียงว่า ‘ปันหยี’ ในใจผมก็สงสัยตามประสาหนุ่มสายวรรณคดีน่ะนะครับว่า แล้วปันหยีในภาษาชวานั้นเรียกว่าอะไร จึงค้นไปเจอหนังสือชื่อ Wangbang Wideya. A Javanese Pañji Romance. แต่งโดย S. O. Robson. เป็นหนังสือชุด Bibliotheca Indonesica series เล่มที่ 6 ทำให้ได้รู้ว่าในภาษาชวานั้นเรียกว่า ‘ปันจี’ (panji) และเป็นคำมีความสำคัญมากในสังคมชวาโบราณ ดังที่พบหลักฐานในเอกสารยุคกาดีรี และยุคมาจาปาฮิตหรือมัชปาหิต ชาวชวาโบราณใช้คำนี้เรียกนำหน้าพระนามเจ้าชายบางพระองค์ ซึ่งมีความหมายตรงตัวว่า ‘ผู้ถือธง’

“และอย่างที่บอกไปข้างต้นว่า ประเพณีแต่โบราณนั้นน่าสนใจ และมีบางอย่างน่าสะพรึงกลัวแฝงอยู่ไม่น้อย ซึ่งเมื่อใครได้อ่านอิเหนา ก็น่าจะสะดุดเข้ากับพิธีอันโดดเด่นในเรื่องนั่นก็คือ การแบหลา

“ขณะค้นต้นกำเนิดของพิธีแบหลา จู่ๆ ประโยคที่เคยได้ยินอยู่บ่อยๆ ว่า ‘คนนั้นน่ากลัวยิ่งกว่าผี’ ผมเลยนึกไปว่า แล้วอะไรกันเล่าที่ก่อเงื้อมเงาขึ้นในใจคนให้น่ากลัวยิ่งกว่าผีได้ ประกอบกับเพิ่งได้อ่าน ตำนานละครอิเหนา พระนิพนธ์สมเด็จพระเจ้าบรมวงศ์เธอ กรมพระยาดำรงราชานุภาพ ได้ทรงอธิบายเอาไว้ว่า “ในชวามักนำนิทานปันหยีไปใช้แสดง ‘โตแปง’ หรือละครหน้ากาก และเล่น ‘วายัง กูลิต’ หรือเล่นหนัง” ก็เลยโยงคำว่า ‘เงา’ หรือ ‘วายัง’ แสนน่าพรั่นพรึงในหัวใจผู้คน เอาไว้เป็นแก่นหลักของเรื่องนี้ครับ”

ภาพไมโครฟิล์ม ลิลิตอิเหนา

เรื่องของภาษาและคำศัพท์เฉพาะที่ปรากฏในเรื่องมาจากที่ไหน

“สิ่งที่สำคัญในการเขียนนวนิยายอีกอย่างหนึ่งสำหรับผมที่นอกเหนือไปจากการมีข้อมูลที่ถูกต้องเป็นพื้นฐานแล้ว สิ่งที่ให้ความสำคัญมากๆ คือ เรื่องนี้นั่นล่ะครับ คำศัพท์ คำเรียกต่างๆจึงมีการสืบค้นเพื่อความถูกต้องคู่กันไปเสมอ พร้อมกับมีการตรวจเช็คจากผู้รู้เมื่อไม่มั่นใจ

“ซึ่งคำศัพท์ต่าง ๆ ในเรื่อง ผมอ้างอิงและสอบทานจากเอกสารดังต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น 1) เอกสารของ UNESCO ชื่อ Wayang puppet theatre 2) Wayang: Indonesian Theatre ของ Encyclopaedia Britannica 3) History and Etymology for Wayang ของ Merriam-Webster รวมถึงคำศัพท์ที่ค้นโดยใช้ 4) พจนานุกรมภาษาอินโดนีเซีย-อังกฤษ ของมหาวิทยาลัย Cambridge และการถอดเสียงเป็นภาษาไทยทั้งหมดเป็นไปตาม และ 5) หลักเกณฑ์การทับศัพท์ภาษาอินโดนีเซีย ของสำนักงานราชบัณฑิตยสภา ครับ”

 

 จากหมายเลข 1 “ม่อนเมิงมาง” สู่หมายเลข 2 “วายัง” รู้สึกอย่างไรบ้าง

“ม่อนเมิงมาง ค่อนข้างใช้เวลาอันสั้นในการค้นและเขียนเพียง 4 เดือน พอเขยิบมาเป็น วายัง ประเด็นต่างๆ ที่ใช้ในการดำเนินเรื่องล้วนต้องใช้กำลังกายและกำลังใจในการค้นคว้าจนแทบหมดแรงครับ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลการชันสูตรพลิกศพ วิธีคำนวณองศาจากรอยเลือด วรรณคดี ประเพณี พิธีกรรม และสถาปัตยกรรมท้องถิ่นชวา กว่าจะแล้วเสร็จก็ปาไปเกือบ 9 เดือนนับเป็นสองเท่าของเรื่องแรก

“แต่ถึงอย่างนั้นผมก็ยังไม่เข็ดกับการเขียนนิยายสืบสวนสอบสวนหรอกนะครับ อาจเป็นเพราะคลุกคลีในการอ่านและวิจัยวรรณกรรมมาพอสมควร จึงทำให้มีความเชื่ออยู่อย่างหนึ่งว่า การจะจดปากกาลงไปในแต่ละเรื่องนั้น ทุกอย่างต้องมีแหล่งอ้างอิงที่น่าเชื่อถือได้ แม้งานเขียนเรื่องนั้นๆ จะมีความมหัศจรรย์พันลึกมากสักแค่ไหนก็ตามที และผลของการทำงานอย่างหนักนี้ นอกจากจะทำให้ผู้อ่านได้รับความบันเทิงแล้ว ยังได้รับความรู้ที่สอดแทรกอยู่ระหว่างบรรทัดไปด้วยครับ…ผมเชื่ออย่างนั้นนะครับ”

 

อยากบอกอะไรกับผู้อ่าน “วายัง” 

“หากผู้อ่านหรือใครก็ตามเชื่อในคำพูดที่ว่า ‘เด็กคืออนาคตของเผ่าพันธุ์มนุษย์’ ก็ควรเลี้ยงดูทรัพยากรแสนล้ำค่าของเราทั้งด้านร่างกายและจิตใจ ไม่อย่างนั้นอาจก่อให้เกิดโศกนาฏกรรมอันเป็นผลพวงมาจากการที่ผู้ใหญ่ได้สร้าง ‘เงา’ เอาไว้ในจิตใจของเด็กและเติบโตขึ้นมาอย่างบิดเบี้ยวเช่นใน ‘วายัง’ เรื่องนี้ครับ

“และตอนนี้ ‘วายัง’ ก็ได้ออกสู่สายตาท่านนักอ่านทางเว็บไซต์ anowl.co แล้วนะครับ นอกจากกลิ่นคาวเลือด ความลึกลับ ผีแม่ม่ายสุดโหดในเรื่องแล้ว ใจลึกๆ ของนักเขียนตัวเล็กๆ คนนี้ยังอยากให้คุณผู้อ่านทุกท่าน ‘เปิดใจ’ อ่านบทประพันธ์อันหลากหลาย genre (ประเภท) ด้วยหวังใจว่างานเขียนของผมจะเป็นชิ้นส่วนขนาดจิ๋วในการสร้างความเข้าใจ และจุดประกายการยอมรับในความแตกต่างหลากหลายของมนุษย์บนโลกใบนี้ขึ้นมาได้บ้าง หรืออย่างน้อย…มนุษย์เราจะได้ปฏิบัติตัวต่อกันอย่างเท่าเทียมจริง ๆ เสียทีครับ”

 

ได้รู้ที่มาที่ไป และความตั้งใจอย่างมากในการสร้างสรรค์ผลงานหมายเลข 2 ของ กันต์พิชญ์ นักเขียนรุ่นใหม่ที่ฝีมือไม่ธรรมดาอีกคนในแวดวงวรรณกรรมไทย อย่าลืมให้กำลังใจเขาคนนี้ด้วยนะคะ

Don`t copy text!