คุยกันต่อกับนักประวัติศาสตร์สาว ภาณี หลุยเจริญ  พร้อมตอบคำถามยอดฮิตและความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ ‘ฟอลคอน’

คุยกันต่อกับนักประวัติศาสตร์สาว ภาณี หลุยเจริญ พร้อมตอบคำถามยอดฮิตและความเข้าใจผิดเกี่ยวกับ ‘ฟอลคอน’

โดย : กิ่งสุรางค์ อนุภาษ

Loading

จากครั้งที่แล้วที่ได้ทำความรู้จักกับมะเหมี่ยว-ภาณี หลุยเจริญ นักประวัติศาสตร์และนักเขียนสาวถึงเรื่องราวความชื่นชอบของเธอที่มีต่อ คอนสแตนติน ฟอลคอน ในครั้งนี้เราชวนเธอมาคุยในเรื่องราวที่ลึกลงไปเกี่ยวกับบุคคลในประวัติศาสตร์ท่านนี้ รวมถึงหมุดไมล์ของคุณเหมี่ยวในการศึกษาเรื่องของฟอลคอนด้วย

คำถามยอดฮิต ฟอลคอนดีหรือร้าย?

เชื่อว่าหลายคนคงสงสัยในตัวของออกญาวิชาเยนทร์เช่นกันว่าจริงๆ แล้ว เขาเป็นคนดีหรือคนร้าย? ซึ่งคุณเหมี่ยวได้ถ่ายทอดให้ฟังว่า “ท่านเป็นคนแบบยอมหักไม่ยอมงอ และใช้โอกาสเก่ง ไม่ใช่ฉวยโอกาสนะคะ แต่เป็นคนที่ใช้โอกาสต่างๆ ให้มีประโยชน์ นอกจากนี้น่าจะเป็นคนชอบอ่านหนังสือ เรื่องนี้เป็นความเห็นส่วนตัวนะคะ ถามว่าทำไมถึงคิดอย่างนั้น ก็เพราะมีบันทึกของบาทหลวงเดอ แบซได้บันทึกไว้ว่าฟอลคอนทะเลาะกับบาทหลวงกีย์ ตาชารด์ในห้องหนังสือ แล้วการที่คนเราจะพูดภาษาอื่นที่ไม่ใช่ภาษาบ้านเกิดได้ถึง ๕-๖ ภาษา ถ้าไม่ได้อาศัยการเรียนรู้จากการอ่านและการเขียนก็จะยาก แต่เหมี่ยวมองว่าเขาน่าจะเป็นคนที่ชอบอ่านหนังสือในระดับหนึ่งเลยละค่ะ ก็เลยทำให้การตัดสินใจของเขาเฉียบขาดจนทำให้คนหมั่นไส้ รวมไปถึงนิสัยฝรั่ง คือมั่นใจ ไม่ยอมก็คือไม่ยอม เป็นคนพูดตรง เลยไม่ค่อยเหมาะกับบ้านเราที่มีระบบเจ้าขุนมูลนายเท่าไหร่

รวมไปถึงความเจริญก้าวหน้าในเรื่องหน้าที่การงานด้วย เพราะเขาเป็นคนที่นำความเปลี่ยนแปลงทางวิทยาการ การเมือง และเรื่องต่างๆ เข้ามามากมาย ความเปลี่ยนแปลงที่ฉับไวเกินไปอาจทำให้มีช่องว่างหรือว่าช่องโหว่ที่ทำให้คนบางกลุ่มไม่พอใจ และเกิดเป็นเรื่องราวที่ไม่ดีเท่าไหร่ แต่ไม่ได้ถึงกับเป็นเรื่องราวที่ร้ายแรง เพราะว่าในประวัติศาสตร์นั้นจะมีการประหารเจ็ดชั่วโคตรกับคนที่ทำผิด แต่เรื่องของออกญาวิชาเยนทร์นั้น เป็นการประหารท่านคนเดียว คนในครอบครัวไม่ได้โดนไปด้วย ดังนั้นถ้าจะบอกว่าคนคนนั้นเป็นคนที่ไม่ดี หรือว่าคนนี้เป็นคนดีทั้งหมดก็คงไม่ใช่ น่าจะเป็นเพราะที่เขาทำเพราะมีเหตุผลในช่วงเวลาที่เขาทำ ทั้งหมดนี้เลยทำให้เหมี่ยวมองว่าฟอลคอนไม่ใช่คนที่ดีที่สุดและเลวที่สุด แต่เป็นคนที่เทาเข้มในระดับหนึ่งเท่านั้น”

๔ เรื่องไหนที่คนเข้าใจผิดเกี่ยวกับฟอลคอน

การศึกษาเรื่องของออกญาวิชาเยนทร์ทำให้คุณเหมี่ยวพบข้อเท็จจริงหลายอย่าง บางอย่างก็ตรงกับที่เคยถูกบันทึกไว้ แต่บางอย่างก็มีการเข้าใจที่คลาดเคลื่อน

“เรื่องแรกที่คนมักเข้าใจผิดคือเรื่องเปลี่ยนศาสนาเพราะว่าแต่งงานกับมารีอา คือฟอลคอนไม่น่าจะเปลี่ยนศาสนา พื้นเดิมน่าจะเป็นกรีกออร์ทอดอกซ์แล้วก็ไปทำงานกับบริษัทของอังกฤษถึงเข้ามาอยู่ที่สยาม จากนั้นแต่งงานกับผู้หญิงที่เป็นคาทอลิก แต่ว่าลองมองย้อนกลับไป ความเป็นกรีกออร์ทอดอกซ์ ก็คล้ายๆ กับโรมันคาทอลิก แล้วการที่เรามองว่าเขาเปลี่ยนศาสนา หรือเป็นคนไม่มีกาลเทศะ ส่วนใหญ่จะมาจากบันทึกของชาวต่างชาติที่ไม่ชอบเขา เราได้หลักฐานแค่ตรงนั้นเลยทำให้คิดว่าเขาต้องเป็นคนแบบนี้ แต่ถ้ามองในมุมกลับกัน คือมองในมุมของคนที่ชอบเขา เขาจะเป็นคนยังไง เราก็จะได้ความเห็นอีกมุมหนึ่ง คนที่เสียผลประโยชน์จะบันทึกยังไงก็ได้ ต้องมองหลายๆ อย่าง

ต่อมาคือการแต่งงานกับท้าวทองกีบม้า ซึ่งถ้าเป็นในละครบางเรื่องหรือสตอรี่ที่คนทราบกันคือ ฟอลคอนไปบังคับให้มารีอาแต่งงานด้วย แต่เหมี่ยวคิดว่าเขาน่าจะรักกันถึงมาแต่งงานกันมากกว่า เพราะว่าความจริงแล้วฟอลคอนมีภรรยาที่เป็นภรรยาพระราชทานอยู่หนึ่งคน มีลูกสาวด้วยหนึ่งคน แต่ว่าเขาไม่ได้รัก ไม่ได้เต็มใจที่จะแต่งงานด้วย เรื่องนี้มีในบันทึกของบาทหลวงเดอ แบซซึ่งได้บันทึกไว้ ตอนหลังภรรยาคนนี้ไม่ได้อยู่ด้วยแล้ว และท้าวทองกีบม้าเป็นคนรับเลี้ยงลูกของผู้หญิงคนนั้นกับฟอลคอนไว้เอง อีกทั้งมารีอาก็เพิ่งมารู้ทีหลังด้วยว่าฟอลคอนมีภรรยาและลูกอยู่แล้ว แต่ทั้งคู่ก็ไม่ได้เลิกกัน ถ้ามองในมุมนี้คือถ้าไม่รักก็คงไม่ทน และไม่อยู่คนเดียวหลังจากสามีตายไปตลอดชีวิต ตอนที่ฟอลคอนเสียชีวิต มารีอาอายุประมาณ ๒๘ เท่านั้นเองค่ะ

สำหรับเรื่องของการเมืองก็จะมีบันทึกอื่นๆ ที่เราคนไทยไม่ค่อยได้เรียนรู้กันก็คือเรื่องของการค้าช้างในบ้านเราแล้วฟอลคอนมีผลกับตรงนี้มาก และเรื่องนี้แหละที่น่าจะเป็นผลนำพาให้เขาเดินทางไปสู่ความตาย ไม่ใช่การอยากจะขึ้นไปชิงบัลลังก์ เพราะฟอลคอนไม่สามารถชิงบัลลังก์ได้ เขาไม่มีกำลังและไม่ได้มีอำนาจขนาดนั้น เนื่องมาจากประชาคมต่างชาติเป็นเพียงเศษเสี้ยวหนึ่งของกรุงศรีอยุธยาที่ใหญ่โตเท่านั้นเอง

อีกเรื่องคือเรื่องที่บอกว่าฟอลคอนเป็นกะลาสีเรือ ถ้าเราไปแปลเอกสารต่างชาติ บางคนก็แปลว่าอย่างนั้น นั่นเพราะเขายังไม่ได้รู้ถึงข้อมูลในเอกสารจากอีกมุมหนึ่งของอีกประเทศหนึ่ง คือในการศึกษาเรื่องฟอลคอนต้องใช้เอกสารจากประเทศล่าอาณานิคมทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นโปรตุเกส อังกฤษ ฮอลันดา ฝรั่งเศส แต่ที่เรารับรู้แค่เอกสารของทางฝรั่งเศสเพราะว่ามีทีมงานไปแปล และได้รับความช่วยเหลือและความร่วมมือจากทางรัฐบาลฝรั่งเศส ส่วนเอกสารที่ชี้ชัดว่าเขาน่าจะเป็นพนักงานจากบริษัทของอังกฤษก็คือเอกสารของทางอังกฤษเอง มีการเขียนบอกเล่าเรื่องราวว่าฟอลคอนเป็นยังไง ใครต้องไปหาที่บ้านไหม และยังมีเอกสารการตั้งบริษัท East India Company (EIC) ในสยามและในจาการ์ตา (บันทัม) ซึ่งก็ตรงกับปีที่ฟอลคอนเข้ามาทำงานในกรุงศรีอยุธยา แล้วในอีกหลายๆ บันทึกยังบอกเล่าว่าฟอลคอนมีคนอังกฤษในอาณัติ เขามีเพื่อนเป็นคนอังกฤษอยู่สองคนที่ไปดูแลมะริดกับตะนาวศรี แล้วยังมีอดีตเจ้านายเป็นคนอังกฤษ ดังนั้นฟอลคอนจึงไม่ได้เป็นกะลาสีเรือ แต่น่าจะเป็นหนึ่งในพนักงานของบริษัท East India Company (EIC) ค่ะ”

ยิ่งรู้จักฟอลคอน ยิ่งเคารพรักสมเด็จพระนารายณ์ฯ

“การศึกษาในเรื่องของฟอลคอนทำให้เหมี่ยวรู้ว่าสมเด็จพระนารายณ์ทรงเป็นพระมหากษัตริย์ที่มีพระปรีชาสามารถสูงมาก และมีสายพระเนตรที่เฉียบแหลม ยิ่งรู้จักฟอลคอนมากเท่าไหร่ จะยิ่งรักสมเด็จพระนารายณ์มากเท่านั้นค่ะ อีกอย่างการครองราชย์อยู่ ๓๒ ปีในสมัยกรุงศรีอยุธยาต้องไม่ธรรมดาอยู่แล้ว นั่นเพราะทรงมองคนเก่งมาก และมองการณ์ไกลด้วย ซึ่งทำให้เราคนรุ่นหลังได้เรียนรู้จากสมเด็จพระนารายณ์ด้วยในเรื่องการดูแลคน การมอบหมายงานให้แต่ละคน”

เหรียญสองด้านของฟอลคอน

ใช่ว่าผู้ชายคนนี้จะมีแต่เพียงมุมร้ายๆ ให้เราได้รู้จักเท่านั้น เพราะจริงๆ แล้วฟอลคอนเองก็มีความดีให้ประจักษ์อยู่บ้าง “เป็นธรรมเนียมของอังกฤษเลยก็ว่าได้ค่ะว่าอังกฤษไปอยู่ที่ไหนก็จะนำวิทยาลัยไปตั้งที่นั่น แล้วก็มีปรากฏชื่อ คอนสแตนติน คอลเลจ ที่ประเทศไทย แน่นอนว่าคอนสแตนตินนี้จะเป็นใครไม่ได้นอกจากคอนสแตนติน ฟอลคอน และยังมีการวาดเอกสารแผนที่เป็นอาคารที่เรียกว่าคอนสแตนติน คอลเลจขึ้นมาด้วย เมื่อผนวกกับการที่เราสันนิษฐานว่าน่าจะเป็นโบราณสถานแห่งหนึ่งที่สร้างไม่เสร็จ เพราะคนสร้างน่าจะเสียชีวิตก่อน ซึ่งปัจจุบันนี้ชื่อ โบราณสถานวัดสันเปาโล ที่มีความเป็นโบสถ์คริสต์ แต่ว่ามีอาคารทรงเหลี่ยมรูปตัวยู คล้ายๆ กับอาคารของมหาวิทยาลัยดังๆ ในอังกฤษปลูกสร้างอยู่ ก็เป็นไปได้สูงมากว่าเขาเป็นอีกคนหนึ่งที่ตั้งใจวางรากฐานการศึกษา นอกจากนี้ฟอลคอนยังเป็นตัวอย่างของการเรียนรู้ เขารับเลี้ยงเด็กที่มาจากครอบครัวที่มีปัญหา ให้ความรู้และให้การศึกษาด้วย”

พบทายาทรุ่นสุดท้ายของฟอลคอน เรื่องที่มาไกลเกินฝัน

“เหมี่ยวได้รับความเมตตาจากท่านอัฐกาญจน์ วงศ์ชนะมาศ อดีตเอกอัครราชทูตไทยประจำกรุงเอเธนส์ ท่านได้เดินทางไปพบปะกับทางครอบครัวของออกญาวิชาเยนทร์ เพราะเห็นว่าตรงนี้จะเป็นจุดเชื่อมโยงระหว่างไทยกับกรีซได้ดี นอกจากท่านจะได้รับการต้อนรับอย่างสมเกียรติ ยังมีการจัดงานเสวนารำลึกถึงฟอลคอนด้วย และทางมาดามเมมี่ที่เป็นสะใภ้และเป็นทายาทเพียงคนเดียวซึ่งเป็นรุ่นสุดท้ายก็ได้ก๊อบปี้ภาพเขียนของฟอลคอนที่สามีเขาได้รับตกทอดมาจากบรรพบุรุษส่งมาให้เหมี่ยวด้วย ภาพนี้มีมาก่อนมาดามเข้ามาอยู่ที่นี่แล้ว และน่าจะเป็นภาพวาดที่ฟอลคอนให้คนวาดแล้วส่งกลับมาให้ที่บ้านซึ่งมีด้วยกันสองภาพ ภาพแรกคือภาพของฟอลคอนคนเดียว อีกภาพคือภาพถวายสาส์นที่จิตรกรวาดแล้วส่งมาให้ที่บ้านของตัวเอง ซึ่งจิตรกรที่วาดภาพนี้น่าจะเป็นชาวอิตาเลียนทั้งคู่ แต่ว่าเป็นอิตาเลียนที่อยู่ในฝรั่งเศส ซึ่งจากภาพ เขาก็คงได้เจอตัวจริงของฟอลคอนก่อนเพราะว่าเป็นงานสั่งทำว่าจะต้องเป็นอย่างไร ซึ่งทำให้เราได้รู้ว่าฟอลคอนมีหน้าตาเป็นยังไง รูปร่างเป็นยังไง เป็นคนแบบไหนด้วย

ตอนนี้ภาพจริงยังอยู่ที่กรีซ ซึ่งมาดามบอกว่าถ้าเหมี่ยวไปที่กรีซต้องบอกเขา มาดามพูดเสมอว่าอยากให้มา ถ้ามาอยากให้มาอยู่ที่นี่ ที่บ้านของเรา ซึ่งเหมี่ยวเองได้มีโอกาสไปลงเรียนภาษากรีกด้วยเพื่อที่จะได้คุยกับทางมาดามได้ค่ะ”

จากความสุขส่วนตัว สู่ความสุขของส่วนรวม

“เมื่อก่อนเราอาจจะคิดแค่ว่าเราทำเรื่องนี้เพื่อตัวเอง เราชอบฟอลคอนเลยจะทำในสิ่งที่เรารักเขา แต่ตอนนี้สิ่งที่เหมี่ยวมองอาจไม่ใช่เรื่องของเหมี่ยวแล้ว กลับเป็นเรื่องของความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างจังหวัดลพบุรีกับเกาะเซฟาโลเนียแทนจากการได้พบกับมาดามเมมี่ ทำให้เหมี่ยวคิดว่าอาจทำให้มีเรื่องราวที่ดีเกิดขึ้น เพราะทางโน้นเองก็ไม่โอเคเท่าไหร่ที่ประวัติศาสตร์บ้านเราบอกว่าฟอลคอนเป็นทรราช ซึ่งเหมี่ยวกับเขาได้คุยกันในเรื่องนี้ว่าไม่ใช่แบบนั้น เป็นความเข้าใจผิดในช่วงเวลาหนึ่งเท่านั้นเอง”

เดินทางเปิดโลกของฟอลคอน

“ถ้าเราทำเพื่อตัวเองก็จะได้แค่ตัวเราและวันหนึ่งก็จะหายไปจากโลกใบนี้ แต่ถ้าทำเพื่อคนอื่น เพื่อคนในจังหวัดด้วย พอวันหนึ่งเมื่อไม่มีเราแล้ว สิ่งเหล่านี้ก็จะคงอยู่ต่อไป” มะเหมี่ยวกล่าวกับเราในช่วงการสัมภาษณ์ใกล้จะสิ้นสุด “เหมี่ยวไม่อยากหยุดและอยากรู้จักฟอลคอนไปเรื่อยๆ เช่น อยากรู้จักชาติกำเนิดที่แท้จริงของเขาว่าเป็นอย่างไร เพราะว่าหลังจากที่เราได้รู้จักกับทางกรีซซึ่งมีการเขียนถึงต้นตระกูลของออกญาวิชาเยนทร์ไว้ว่ามาจากกรุงคอนสแตนติโนเปิล เป็นตระกูลของคนชั้นปกครอง แต่พอเราไปถกกับทางนักประวัติศาสตร์ของทางกรีซจริงๆ เขากลับบอกว่ายังไม่สามารถหาหลักฐานอะไรมายืนยันได้ เป็นเพียงคำเล่าลือเท่านั้น แต่เหมี่ยวคิดว่าส่วนหนึ่งฟอลคอนน่าจะเป็นคนที่มีพื้นฐานการศึกษามาก่อน ดังนั้นเลยอยากศึกษาให้มากกว่านี้

ที่สำคัญคืออยากไปที่กรีซด้วยตัวเองสักครั้งหนึ่งในชีวิตและออกเดินทางตามเส้นทางที่ฟอลคอนเดินทางไปทั้งหมดเพื่อที่จะไปหาในทุกสิ่งทุกอย่างที่เขาเป็น และจะได้รู้จักเขามากขึ้นว่า อยู่ตรงนี้เขาเป็นยังไง อยู่ตรงนั้นเขาเป็นยังไง อยากเห็นเอกสารของทางอังกฤษให้มากกว่านี้ แต่ก็ต้องค่อยเป็นค่อยไปค่ะ”

กล้าที่จะเห็นต่าง

“การศึกษาเรื่องฟอลคอนทำให้เหมี่ยวได้เรียนรู้การพบเจอผู้คนและการยอมรับความเห็นต่าง เมื่อก่อนเหมี่ยวเป็นคนที่กลัวการถกเถียงและการประชุมมาก เพราะเรารู้สึกไม่ยอม ต้องชนะ แต่ในวันที่ได้มาทำตรงนี้มากขึ้น ได้เรียนรู้ว่า การที่ถกกัน สิ่งที่ควรจะได้คือผลสัมฤทธิ์ทางความคิดที่ดีที่สุด นอกจากนี้การศึกษาประวัติศาสตร์ก็เหมือนกับการทดลองทางวิทยาศาสตร์ นั่นคือการตั้งคำถาม ตั้งข้อสงสัย ซึ่งเป็นที่มาของการเรียนรู้ และพบว่าเรามีความสุขในด้านใด เราก็จะทำตรงนั้นได้ดีที่สุด

คุณค่าในสิ่งที่เหมี่ยวทำอยู่ตอนนี้คือการที่ได้ทำในสิ่งที่อยากทำ และไม่ได้ทำร้ายใคร เราอาจทำให้ลพบุรีบ้านเกิดของเรากลายเป็นที่รู้จักมากขึ้น ทำให้หลายๆ คนได้มีการเรียนรู้มากขึ้น อยากให้เด็กๆ ได้มีการเรียนรู้มากขึ้นไปกว่านี้ วันหนึ่งอาจมีคนที่เก่งมากกว่าเหมี่ยว เรียนรู้ได้มากกว่าเหมี่ยว สิ่งที่เรารักอาจมีแง่มุมที่ชัดเจนขึ้นก็ได้”

 

Don`t copy text!