วิพุธ หวั่งหลี บิ๊กบอสของข้าวพนมรุ้ง กับชีวิตที่ไม่เคยหยุดให้กับความพ่ายแพ้

วิพุธ หวั่งหลี บิ๊กบอสของข้าวพนมรุ้ง กับชีวิตที่ไม่เคยหยุดให้กับความพ่ายแพ้

โดย : กิ่งสุรางค์ อนุภาษ

Loading

เพราะมองว่าอุปสรรคเป็นปัจจัยของการเติบโตและวัดระดับความอดทน จึงทำให้คุณวิพุธ หวั่งหลี ผู้บริหาร บริษัท ชัยทิพย์ จำกัด สนุกและรู้สึกท้าทายตลอดเวลากับการปลุกปั้นแบรนด์ ‘ข้าวพนมรุ้ง’ ไปสู่ตลาดต่างๆ ทั่วประเทศ ทั้งยังสามารถเข้ามายืนหนึ่งอยู่ในใจคนไทยและอยู่คู่ครัวทั้งในโรงแรม ร้านอาหาร และในบ้านมาเป็นระยะเวลากว่า ๒๐ ปี

แม้ว่าคนไทยจะบริโภคข้าวถึง ๑๑ ล้านตันต่อปี แต่การก้าวมาเป็นแบรนด์น้องใหม่ของตลาดที่มีเจ้าที่อยู่แล้วหลายสิบเจ้าไม่ใช่เรื่องง่าย ดังนั้นผู้บริหารหนุ่มไฟแรงจึงต้องออกแบบกลยุทธ์อย่างรัดกุม ใช้แทบทุกศาสตร์ที่เคยเรียนและเคยทำงานมาบูรณาการอย่างมีศิลปะ จากนั้นจึงค่อยๆ เดินหมาก เขยิบที่ทางเข้าไปถึงครัวของคนไทยโดยมีเชฟแนวหน้าเป็นสะพานสำคัญ

หลังจากทำตลาดโรงแรม ร้านอาหาร มาเป็นเวลาประมาณ ๕ ปี พนมรุ้งก็แข็งแรงพอที่จะเข้าจัดจำหน่ายในห้างสรรพสินค้าชั้นนำ งานอีเวนต์ใหญ่อย่าง ‘พนมรุ้ง ท้าหุง 100 หม้อ’ จึงได้เกิดขึ้นที่เซ็นทรัลเวิลด์ พร้อมทั้งยังอัดโฆษณา ประชาสัมพันธ์ ตามสื่อต่างๆ จนทำให้บรรดาห้างทั้งหลายให้ความสนใจ และมีพื้นที่ให้ข้าวพนมรุ้งไปตั้งอยู่บนเชลฟ์ที่ซูเปอร์มาร์เก็ตในที่สุด นอกจากนี้เมื่อสื่อออนไลน์ดูท่าจะเข้ามามีบทบาทสำคัญ คุณวิพุธก็ไม่รอช้าที่จะเปิดจำหน่ายข้าวพนมรุ้งที่ห้างออนไลน์ในไทยทั้งหมด พร้อมๆ กับเปิดเพจ Panomrungrice มีทั้งเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ยูทูบ เพื่อแจ้งข่าวสารของแบรนด์ ที่สำคัญยังให้สาระ และความบันเทิง เช่น การสอนทำอาหาร แนะนำร้านดัง ฯลฯ รวมถึงยังมีคอนเทนต์เด็ดๆ อย่างนวนิยายจากนักเขียนชั้นครูอย่าง รฦกรส อิ่ม และล่าสุด เปิดครัววุ่นลุ้นรัก ซึ่งเป็นการร่วมมือกับเพจอ่านเอา จนทำให้แฟนๆ ติดกันหนึบหนับ แถมได้รับการตอบรับที่ดีมากๆ อีกด้วย

สรุปแบบย่นย่อคือการที่ให้ผู้ชายคนนี้สามารถสร้างฝันก้อนใหญ่ให้เป็นจริงได้ มาจากคุณสมบัติของตัวเองที่ไม่เคยหยุดนิ่ง มีวิสัยทัศน์ในการมองตลาด คาดการณ์ในอนาคตอย่างแม่นยำ วางแผนเป็นระบบ และรับมือกับการเปลี่ยนแปลงรอบตัวได้ดี ซึ่งวันนี้ถ้ามองในสายตาคนนอก แบรนด์ข้าวพนมรุ้งก้าวสู่คำว่าประสบความสำเร็จเรียบร้อยแล้ว แต่ในมุมมองของคุณวิพุธ ข้าวพนมรุ้งยังไปได้อีกไกล และยังมีอีกหลายตลาดที่ท้าทายให้เขาพุ่งเป้าไปให้ถึง

เริ่มเข้าสู่เส้นทางสุดท้าทาย

ก่อนจะเข้ามาบริหารที่บริษัท ชัยทิพย์ จำกัด และดูแลแบรนด์พนมรุ้งอย่างจริงจัง คุณวิพุธเคยทำงานอยู่ที่บริษัท จอห์นสัน แอนด์ จอห์นสัน (ไทย) จำกัด ดูแลด้านการตลาด การขาย จนมาถึงตำแหน่งสุดท้ายก่อนลาออก คือเป็นแบรนด์เมเนเจอร์ของจอห์นสัน คิดส์ และจอห์นสัน เบบี้คลีนซิ่ง เวลานั้นคุณพ่อของคุณวิพุธย้ายโรงงานออกไปนอกเมืองและขยายกำลังการผลิต เขาจึงลาออกจากงานที่รักมาช่วยงานของครอบครัว ทุ่มเทความรู้ความสามารถทั้งหมดปั้นแบรนด์น้องใหม่อย่างพนมรุ้งให้เติบโตในตลาดข้าวคุณภาพของประเทศ โดยมองไปยังตลาดฟู้ดเซอร์วิสซึ่งเป็นตลาดที่ใช้งานโดยมืออาชีพอย่างเชฟ เจ้าของร้านอาหาร เป็นหมุดไมล์สำคัญ “ผมคิดว่าตรงนี้ ณ เวลานั้น คือปี ๒๐๐๔ มันเป็นบลูโอเชียน (ตลาดที่มีการแข่งขันไม่สูงมาก และคู่แข่งน้อย แต่ต้องอาศัยความรอบคอบในการทำตลาด) มีแต่ร้านค้าส่ง แต่ยังไม่มีผู้ผลิตที่เป็นแบรนด์ระดับชาติ มาทำตลาดสักเท่าไหร่ เพราะตลาดฟู้ดเซอร์วิส เป็นตลาดที่จะว่ายากก็ยาก เนื่องจากการที่ให้เชฟคนหนึ่งเปลี่ยนจากแบรนด์หนึ่งมาเป็นอีกแบรนด์หนึ่ง เขาต้องเอาข้าวไปทดลอง ทดสอบ โค้ดราคา สู้ราคา ดูคุณภาพ เรียกว่ากว่าจะได้เจ้าหนึ่งใช้เวลาเป็นเดือน บางเจ้าที่ใหญ่มากๆ ใช้เวลาเป็นปี แล้วยังไม่ซื้อก็มี แต่ตอนนั้นผมมองว่าดีกว่าเข้าห้าง เพราะว่าคู่แข่งเราน้อย แล้วเรายังเป็นผู้ผลิต ได้เปรียบเรื่องการควบคุมราคา และคุณภาพ

นอกจากนี้ผมยังได้ทำมาร์เก็ตรีเสิร์ช ถามเชฟ เจ้าของร้านอาหารต่างๆ ว่าอุปสรรรคของการใช้สินค้าข้าวคืออะไร ซึ่งคำตอบก็คือความคงที่ของสินค้า ซึ่งส่งผลกับความน่าเชื่อถือในอาชีพของพวกเขา ยกตัวอย่างว่า เวลาที่มีการจัดเลี้ยงสัมมนา เชฟใช้หม้อหุงข้าว ๗ ลิตร ๑๐ ลิตร หุงเวียนกันเป็น ๑๐ หม้อ เทข้าวใส่ เทน้ำใส่ ถ้าข้าวลอตนี้เกิดสุกไม่ทั่ว เละ หรือแข็งขึ้นมา สิ่งที่เชฟจะทำ คือเททิ้งหมด เขาไม่กล้าเอาไปเสิร์ฟ เพราะจะทำให้เขาเสียหาย อย่างแรกเชฟกลัวสูญเสียธุรกิจ จากการที่ลูกค้าไม่กลับมาใช้บริการอีก อย่างที่สองคือเชฟเขามีความภูมิใจในอาชีพ เป็นกูรู เป็นผู้เชี่ยวชาญด้านอาหาร ข้าวเป็นเรื่องพื้นฐานก็จริง แต่พลาดไม่ได้ ซึ่งบริษัทของเรามีเทคโนโลยีตัวหนึ่ง คือเทคโนโลยีปรุงความนุ่ม มีการนำข้าวเก่าซึ่งแกร่ง หุงขึ้นหม้อ และข้าวใหม่ซึ่งนุ่มเหนียว ไม่ขึ้นหม้อ มาผสมกัน แล้วใช้เครื่องมือวัดแบบดิจิทัล กดลงมาให้เห็นว่าความนุ่มอยู่ที่เท่าไหร่ ผมมองว่าเครื่องมือนี้ดีมาก ดังนั้นก่อนผลิต เราหุงข้าวตามอัตราส่วนข้าวต่อน้ำตามมาตรฐานของเรา เมื่อสุกแล้ว ซุยข้าวให้ทั่ว แซมเปิลตามจุดต่างๆ ๑๕ ครั้งแล้วดูซิว่าอยู่ในมาตรฐานเราหรือเปล่า ถ้าอยู่ในมาตรฐานก็จะใช้สูตรนั้นในการผลิต แต่หากค่าความนุ่มชี้ว่านิ่มเกินไป หรือแข็งเกินไป ก็ต้องทำการปรับสัดส่วนข้าวใหม่ ข้าวเก่า จนกระทั่งได้ค่าความนุ่มที่ต้องการ

นอกจากเรื่องความเสถียรของข้าวที่เป็นจุดแข็งของแบรนด์ในกลุ่มฟู้ดเซอร์วิสแล้ว ก็ยังมีการทำสื่อโฆษณา ประชาสัมพันธ์ สร้างการรับรู้ในกลุ่มผู้บริโภคไปเรื่อยๆ ว่าพนมรุ้งคือข้าวที่เชฟมืออาชีพ และเจ้าของร้านอาหารเลือกใช้ เป็นแบรนด์ของกลุ่มโรงแรม ร้านอาหาร ตัวจริง เช่นมีการออกหนังสือตำราอาหารที่ทำจากข้าว โดยให้เชฟชื่อดังในเมืองไทยทำเมนู ทำสูตรขึ้นมา หรือการลงสื่อสิ่งพิมพ์ นิตยสารอาหารต่างๆ เพื่อใช้จุดยืนนี้สร้างความมั่นใจให้ผู้บริโภค เพราะเรื่องสำคัญที่สุดของข้าวเลยคือ ความน่าเชื่อถือ ข้าวหอมก็คือข้าวหอม ข้าวขาวก็คือข้าวขาว แต่ทำยังไงให้คนรู้สึกเชื่อมั่นว่าได้ซื้อของที่มีคุณภาพดีให้กับครอบครัวของตัวเอง เพราะถ้าสมาชิกในครอบครัวกินข้าวอร่อย จะเป็นรางวัลทางจิตใจของคุณแม่บ้านมากๆ

พอเราขายส่งให้สถานประกอบการฟู้ดเซอร์วิสมาได้ ๕ ปี ผมเริ่มได้ยินเข้าหูว่าข้าวพนมรุ้งเป็นข้าวที่โรงแรมใช้ กระทั่งเราไปออกงาน ออกบูธต่างๆ ก็มีผู้บริโภค มีคุณแม่บ้านมาบอกว่าแม่บอกให้ซื้อแบรนด์นี้เพราะโรงแรมใช้ แต่ไม่รู้ว่าจะไปซื้อที่ไหน เพราะว่าไม่มีขายตามห้าง แล้วก็ยังมีเจ้าของร้านอาหารบางร้านบอกว่า เขามาซื้อข้าวพนมรุ้ง เพราะเพื่อนเขาบอกว่าเปิดร้านอาหารทำไมไม่ใช้ข้าวพนมรุ้ง ผมก็เลยมองว่าน่าจะถึงเวลาแล้วที่จะเปิดตัวแบรนด์ และนำสินค้าเข้าจำหน่ายในห้าง จากนั้นเราจึงจัดงานพนมรุ้ง ท้าหุงร้อยหม้อ ที่ เซ็นทรัลเวิลด์ เชิญเซเลบริตี ดารา และผู้บริโภคร้อยคนมาหุงข้าว ๑๐๐ หม้อพร้อมกัน โดยที่มีนายกสมาคมเชฟประเทศไทยอยู่บนเวที แล้วหุงข้าวพร้อมกันกับทุกคน ซึ่งเราก็มีการสุ่มข้าวจากผู้บริโภคที่อยู่ด้านล่างนำขึ้นไปตรวจสอบความนุ่มบนเวที โดยใช้เครื่องตรวจสอบความนุ่มระบบดิจิทัลของเรา เทียบกับความนุ่มที่เชฟหุง ปรากฏว่าทุกคนต่างหุงออกมาได้เหมือนกันหมด เพราะฉะนั้นข้าวพนมรุ้งจะทำให้คุณสามารถเป็นเชฟมืออาชีพที่บ้านได้ เพราะเราใช้สูตรในการผลิตเดียวกัน คุณใช้ปริมาณข้าวต่อน้ำเท่าไหร่ในการหุงครั้งแรก คุณสามารถใช้สัดส่วนนั้นไปได้ตลอด เพราะข้าวเราเสถียรมาก หลังจากนั้นพนมรุ้งก็เติบโตมาเรื่อยๆ เริ่มต้นจากไม่มีอะไรเลย จนวันนี้นับว่าพนมรุ้งเป็นแบรนด์หลักแบรนด์หนึ่งในตลาดห้างค้าปลีกสมัยใหม่”

ครั้งหน้าเราจะมาอ่านกันต่อว่าในช่วงที่โซเชี่ยลมีเดียเข้ามามีบทบาทกับชีวิตคนอย่างมากนั้น ข้าวพนมรุ้งติดอาวุธอะไรเพิ่มบ้าง และนี่คือเหตุผลในการเปิดเพจ Panomrungrice หรือเปล่า? ครั้งหน้ามีคำตอบค่ะ

 

Don`t copy text!