‘หมอกมุงเมือง’ นักรักการอ่านกับความหลงใหลในงานเขียน

‘หมอกมุงเมือง’ นักรักการอ่านกับความหลงใหลในงานเขียน

ปฏิเสธไม่ได้ว่าส่วนหนึ่งของการก้าวเข้าสู่การเป็นนักเขียนได้ ต้องผ่านการเป็นนักอ่านมาก่อน ‘หมอกมุงเมือง’ หรือ ผศ. ทนพ. ศราวุธ สุทธิรัตน์ ก็เช่นกัน นิสัยรักการอ่านกลายเป็นพื้นฐานสำคัญและเป็นแรงบันดาลใจให้ได้ลองลงสนามเขียนงานด้วยตัวเอง กระทั่งวันนี้ ‘หมอกมุงเมือง’  ผลิตผลงานการเขียนมาแล้วทั้งเรื่องบทความ เรื่องสั้น เรื่องยาว และรวมถึง ‘บรรณาภิรมย์’ คอลัมน์ใน anowl.co

สนับสนุนอ่านเอาด้วยการสั่งซื้อหนังสือ “ในสวนอักษร” คลิกที่นี่

หมอกมุงเมืองเริ่มต้นงานเขียนครั้งแรกในช่วงมัธยมต้นด้วยการเขียนบทกลอนและเรียงความในคาบวิชาภาษาไทย ซึ่งจุดนั้นเองที่ทำให้เริ่มรู้ว่าตัวเองว่ามีความรักและความถนัดในวิชานี้ ซึ่งแรงบันดาลใจในงานเขียนอยู่ไม่ไกลตัว แต่เป็นครอบครัวที่สนับสนุนมาโดยตลอด

“นิสัยรักการอ่านมาที่ติดตัวมาตั้งแต่เด็กๆ คงเป็นเพราะทั้งคุณพ่อและคุณแม่ชอบอ่านหนังสือกันอยู่แล้ว ส่วนใหญ่จะเป็นหนังสือพิมพ์และนิตยสาร ทั้งรายสัปดาห์ รายปักษ์ ทำให้มีโอกาสได้อ่านนวนิยายจากปลายปากกาของนักประพันธ์เรื่องต่าง รวมถึงหนังสือหลายๆ เล่มที่ทางบ้านเก็บสะสมเอาไว้ด้วย โดยเฉพาะงานเขียนของ คุณจินตวีร์ วิวัธน์ ที่ช่วยสร้างเสริมจินตนาการ และกลายเป็นแรงบันดาลใจสำคัญสำหรับการเขียน

“ในขณะเดียวกัน ทางโรงเรียนเองก็ยังมีการจัดทำวารสาร ซึ่งเป็นเสมือนสนามให้เด็กๆ ได้มีโอกาสนำเสนอผลงานออกมา แม้จะจำกัดอยู่เพียงแค่ภายในกลุ่มเล็กๆ แต่ก็เป็นเหมือนไฟฝันที่ถูกจุดประกายเริ่มต้นขึ้นเป็นครั้งแรก”

จากเรียงความ บทกลอนสู่การเขียนเรื่องสั้น

‘ลางหลอน’ คือเรื่องสั้นเรื่องแรกในชิวิตที่ได้อิทธิพลมาจากการอ่านนวนิยายแนวลึกลับ สืบสวน มีโอกาสได้เขียนลงในวารสาร ส้มฟ้า ซึ่งเป็นวารสารประจำโรงเรียนชลราษฎรอำรุง จังหวัดชลบุรี ในเวลานั้น ต้องขอบพระคุณอาจารย์ภาษาไทยหลายๆ ท่านที่กรุณาให้คำแนะนำ ชื่นชม ทำให้มีกำลังใจในการเขียนเรื่องอื่นๆ ตามมา

“หลังจากนั้นก็ได้ลองส่งเรื่องไปลงตามหน้านิตยสารต่างๆ เช่น ‘สตรีสาร’ ‘มิติพิศวง’ และ นิตยสาร ‘สยอง’ ซึ่งมี พี่น้อง-มณฑา ศิริปุณย์ เป็นบรรณาธิการในเวลานั้น พี่น้องได้ให้โอกาสในการเริ่มเขียนนวนิยายขนาดสั้น เรื่อง ‘รูปมนตรา’ ในแนวข้ามภพชาติผสมกับหลักการทางวิทยาศาสตร์ที่ถนัดเป็นครั้งแรก แต่เป็นที่น่าเสียดายว่าหลังจากนั้นไม่นานนัก นิตยสารดังกล่าวก็ปิดตัวลง ในจังหวะที่กำลังเข้าเรียนในช่วงมหาวิทยาลัยพอดี”

ด้วยการเรียนในสาขาทางวิทยาศาสตร์สุขภาพ (เทคนิคการแพทย์) ค่อนข้างหนัก ทำให้หมอกมุงเมืองห่างหายจากการเขียนไปพอสมควร ตราบจนกระทั่งเรียนจบปริญญาโทและเข้าทำงานเป็นอาจารย์ประจำ จึงได้โอกาสกลับมาเขียนอีกครั้ง เมื่อมีการประกวดทมยันตีอะวอร์ดของสำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม เกิดขึ้น

“การประกวดนี้คือแรงบันดาลใจให้กลับมาเขียนอีกครั้ง จึงอยากจะลองเขียนนวนิยายขนาดยาวกว่าสองร้อยหน้าตามข้อกำหนด และพอดีว่าตอนนั้นก็มีพล็อตอยู่ในใจพอดี จึงเป็นที่มาของ นวนิยาย ‘ทวารบถ’  ซึ่งได้เข้ารอบสุดท้ายของรางวัลนี้ในปี พ.ศ. 2548 และเป็นแรงผลักดันให้เขียนนวนิยายเรื่องอื่นๆ ตามมาจนถึงปัจจุบัน ซึ่งต้องขอขอบคุณ พี่นก-รักชนก นามทอน บรรณาธิการ สำนักพิมพ์ ณ บ้านวรรณกรรม ที่ให้โอกาสสำคัญรวมถึงให้คำแนะนำ แก้ไขผลงานมาโดยตลอด”

เมื่องานเขียนคือสิ่งน่าหลงใหล จะเรื่องสั้นหรือยาวก็ท้าทายเสมอ

หมอกมุงเมืองบอกกับเราว่า เมื่อเขียนนวนิยายเรื่องยาวไปแล้ว และต้องกลับมาเขียนเรื่องสั้นอีกครั้ง กลายเป็นสิ่งที่ยาก เปรียบเสมือนนักวิ่งที่วิ่งมาราธอนมาจนชิน แต่เมื่อต้องกลับมาลงสนามแข่งในการวิ่งระยะสั้น จึงต้องมีการปรับตัวกันยกใหญ่ แต่เมื่อโอกาสผ่านเข้ามา มีหรือที่นักอ่านผู้หลงใหลในงานเขียนอย่างเขาจะไม่คว้าความท้าทายครั้งนี้

“เมื่อปลายปีที่ผ่านมา คุณหมอโอ๊ต พงศกร ได้ชักชวนให้ลองเขียนเรื่องสั้นในธีมดอกไม้เรื่อง ‘ในสวนอักษร’ ซึ่งภาพรวมของรวมเรื่องสั้นเล่มนี้คือ เป็นการนำดอกไม้ชนิดต่างๆ มาเป็นธีมหลักให้นักเขียนแต่ละท่านได้เขียนเป็นเรื่องราวออกมา ซึ่งถือเป็นการกลับมาเขียนเรื่องสั้นของผมอีกครั้ง หลังจากที่ไม่ได้เขียนมานานหลายปี ซึ่งผมจับฉลากได้ ‘ดอกรักเร่’ จึงได้เขียนเป็นเรื่องสั้น ‘มาลาลวง’ขึ้น จากความท้าทายครั้งนี้”

‘บรรณาภิรมย์’ ประสบการณ์ ความชื่นชอบและความทรงจำ

จากประสบการณ์ในการอ่านหนังสือนวนิยายของนักเขียนในอดีตตั้งแต่วัยเยาว์ของหมอกมุงเมือง เมื่อมีโอกาสศึกษาค้นคว้า รวมถึงการสะสมหนังสือก็ยิ่งทำให้เกิดความชื่นชอบในสไตล์งานเขียนของแต่ละคน เสมือนได้รื้อฟื้นความทรงจำในวัยเยาว์อันแสนรื่นรมย์ของตัวเอง ความรู้สึกอยากจะบอกเล่าเรื่องราวต่างๆ ที่ได้อ่านให้กับนักอ่านท่านอื่นๆ ด้วย  ซึ่งก่อนหน้านี้มีบล็อกแก๊งชื่อ ‘สามปอยหลวง’ กำเนิดขึ้น เมื่อหลายปีก่อน ซึ่งเป็นบล็อกที่พูดถึงนิยายชั้นครูในอดีต แต่ตอนนี้ หมอกมุงเมืองจะได้ถ่ายทอดประสบการณ์ ความชื่นชอบและความทรงจำของเขาที่มีต่อนิยายในอดีตมากมาย ที่อาจเลือนหายไปตามกาลเวลาอีกครั้ง ในคอลัมน์ ‘บรรณาภิรมย์’

“บรรณาภิรมย์ ไม่ใช่การรีวิวหนังสือที่เป็นลักษณะบทวิเคราะห์ วิจารณ์วรรณกรรม แต่เป็นเสมือนการเชิญชวนมิตรรักนักอ่านด้วยกันมาร่วมชื่นชมกับหนังสือ บางเล่มก็เป็นปกที่ภาพวาดสวยหวานจับใจ บางเรื่องก็มีเนื้อหาทั้งรื่นรมย์ ทั้งรัก ระทึกขวัญ หรือสะเทือนใจ บางเรื่องก็อ่านจบลงด้วยความประทับใจ ทั้งนี้ เมื่อได้อ่านแล้วก็อยากจะนำมาเล่าให้แก่กัน ได้แลกเปลี่ยนความคิดเห็น หรือเพิ่มเติมข้อมูลรายละเอียดต่างๆ

“เพราะในบางครั้ง ผมเองก็อาจจะยังเขียนได้ไม่ครบสมบูรณ์ เพื่อนนักอ่านอาจจะช่วยเติมเต็มในส่วนต่าง พูดคุยแลกเปลี่ยนกันด้วยไมตรีจิตระหว่างกัน เป็นเสมือนหนึ่งการเขียนเพื่อเชิดชูบูชาครูนักเขียนในอดีต”

ซึ่งนอกเหนือจากคอลัมน์ ‘บรรณาภิรมย์’ แล้ว หมอกมุงเมือยังมีผลงานรวมเรื่องสั้นลึกลับในสไตล์ของเขาเอง เรื่อง ‘สนธยาสโมสร’ ซึ่งน่าจะวางจำหน่ายในงานสัปดาห์หนังสือแห่งชาติช่วงปลายเดือนกันยายนนี้ โดยรวมเรื่องสั้นชุดนี้เป็นการรีไรต์ผลงานที่ผ่านมาในอดีต รวมถึงงานที่เขียนขึ้นใหม่อีกส่วนหนึ่ง นอกจากจะมี ‘ลางหลอน’ ซึ่งเป็นผลงานเรื่องสั้นเรื่องแรกในชีวิตแล้ว ก็ยังมี ‘สัญชีวนีมหามนตรา’ เรื่องสั้นขนาดยาวที่เคยได้นำลงใน anowl.co รวมอยู่ด้วย

พบกับ ‘บรรณาภิรมย์’ คอลัมน์ที่หมอกมุงเมืองขอมอบความรื่นรมย์ให้กับผู้อ่านด้วยภาพปกสวยๆ ที่มาพร้อมเนื้อเรื่องในแบบต่างๆ ของนักเขียนชั้นครูที่เคยผ่านมือ ผ่านตาและผ่านใจ เพื่อให้เพื่อนนักอ่านทุกท่านได้ร่วมรำลึกถึงผลงานของนักเขียนแต่ละท่านให้พอหายคิดถึงแม้เวลาจะผ่านไปแล้วเนิ่นนาน แต่ภาพและตัวอักษรจะปรากฏให้เห็นอีกครั้งในยุคของการอ่านออนไลน์

Don`t copy text!