ส่องงาน ‘พี่น้องอ่านเอา’ งานหนังสือครั้งที่ 28 มีอะไรจัดใหญ่จัดเต็ม…เดินหน้าไปว้าวุ่นด้วยกันเลย

ส่องงาน ‘พี่น้องอ่านเอา’ งานหนังสือครั้งที่ 28 มีอะไรจัดใหญ่จัดเต็ม…เดินหน้าไปว้าวุ่นด้วยกันเลย

โดย : กิ่งสุรางค์ อนุภาษ

Loading

ชาวอ่านเอามีว้าวุ่นแน่ๆ เพราะในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 28 ซึ่งจัดขึ้นระหว่างวันที่ 12-23 ตุลาคมนี้ ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ เหล่านักเขียนยอดฝีมืออย่าง ปิยะพร ศักดิ์เกษม กิ่งฉัตร พงศกร ต่างมีทั้งผลงานใหม่แกะกล่องและผลงานที่หลายคนคิดถึงที่ได้นำกลับมาพิมพ์ใหม่มาเสิร์ฟให้นักอ่านได้อ่านกันอย่างจุกๆ รวมทั้งยังมีผลงานจากนักเขียนคุณแม่ป้ายแดง ตฤณภัทร และนักเขียนหน้าใหม่ (แต่เก๋าเกมในวงการโทรทัศน์) นวาภัทร มาให้ได้อ่านกันอีกด้วย ส่วนจะมีเรื่องอะไรบ้าง แรงบันดาลใจมากจากอะไร นักเขียนต้องการบอกอะไรนักอ่าน ฮูกได้ไปตามสัมภาษณ์พี่ๆ น้องๆ มาเล่าสู่กันฟังเรียบร้อย…

อิ่ม และ ดังลมหวน โดย ปิยะพร ศักดิ์เกษม

ใครติดตามชีวิตของเด็กสาวเลือดนักสู้แต่มองโลกในแง่ดีอย่าง ‘อิ่ม’ ที่เคยนำเสนอลงในเพจ Panomrungrice บอกเลยว่าการรอคอยของท่านสิ้นสุดลงแล้ว เพราะ GROOVE และ NEXT ได้ทำการรวมเล่มและส่งอิ่มขึ้นแท่นพิมพ์พร้อมปกสวยที่ให้บรรยากาศของธรรมชาติออกมาให้แฟนๆ ได้จับจองกันเรียบร้อย โดยผลงานเรื่องนี้เป็นงานใหม่ล่าสุดของ ปิยะพร ศักดิ์เกษม ที่ได้ร่วมงานกับข้าวพนมรุ้ง นำเสนอนิยายที่เด็กอ่านได้ ผู้ใหญ่อ่านดีมาให้แฟนๆ ได้อ่านเป็นตอนๆ ในเพจจนแฟนๆ ติดกันหนึบหนับ แถมหลายคนยังแสดงความคิดเห็นว่าควรให้อิ่มเป็นหนังสืออ่านนอกเวลาของเด็กๆ ด้วย

“สำหรับเรื่อง อิ่ม เป็นการร่วมงานกับข้าวพนมรุ้ง ซึ่งพี่เป็นคนที่มีนิสัยว่าถ้าจะเขียนเรื่องอะไรแล้ว ก็มักจะนึกถึงเรื่องเก่านำมาโยงเข้าด้วยกัน ก็เลยเลือกชุดแม่วันที่มีอยู่สามเล่มคือ ในวารวัน ตะวันเบิกฟ้า ขอบฟ้าราตรี แล้วก็มีหนึ่งติ่งคือ ดั่งลมหวน ขึ้นมา แล้วเติมเรื่อง ‘อิ่ม’ เข้าไปต่ออีกหนึ่งติ่ง ซึ่งโจทย์ที่ได้จากข้าวพนมรุ้งคือเป็นเรื่องเกี่ยวกับอาหาร พี่ก็จะนำอาหารธรรมดาๆ ที่ผู้อ่านนำไปทำทานได้ รวมถึงอาหารพื้นถิ่นของชลบุรีที่นอกเหนือจากที่เล่าไปแล้วในชุดแม่วันมาเขียนไว้ด้วย ตรงนี้เป็นเพียงแค่การวางโครงเรื่อง ซึ่งจะวางให้เป็นเรื่องราวของชีวิตผู้คน ดราม่าเบาๆ เดินเรื่องให้สนุกสนานเหมาะสมกับยุคสมัย ทำให้เด็กอยากอ่าน เพราะว่าตอนที่เรื่องนี้ลงอยู่ในเพจของข้าวพนมรุ้ง นักอ่านหลายคนคอมเมนต์บอกว่าอยากให้เด็กได้อ่านเรื่องนี้ แล้วอยากให้เป็นหนังสืออ่านนอกเวลาเพราะส่งเสริมในเรื่องของการสู้งานหนัก การสู้กับอุปสรรค การเข้าใจชีวิตในความเป็นไปของโลก เลยทำให้พี่รู้สึกดีเพราะมีความตั้งใจที่อยากให้อ่านง่ายๆ อยากให้อ่านแล้วสนุก มีรอยยิ้มไปตลอดทางถึงแม้จะมีเนื้อหาสาระเกี่ยวกับเรื่องการใช้ชีวิตซ่อนอยู่ข้างหลัง โดยได้เขียนถึงผู้หญิงคนหนึ่งที่ต้องต่อสู้กับอุปสรรคจนกระทั่งประสบความสำเร็จขึ้นมาในที่สุด”

ที่มาที่ไปในการจุดประกายของการเขียนเรื่องนี้ ปิยะพร ศักดิ์เกษม ได้เขียนไว้ในคำนำของนิยายเรื่องอิ่มด้วยว่า “เมื่อหลายปีก่อน พี่ไปงานรับประกาศนียบัตรชั้นมัธยมของหลานสาว และคุณครูที่ขึ้นมาให้โอวาทบนเวทีได้พูดถึง ความสุข ความสำเร็จ ความทุกข์ยาก และอุปสรรคที่ต่อไปนี้นักเรียนจะต้องพบ ซึ่งคุณครูได้บอกไว้ว่าคนเรามักจะให้ความสำคัญกับความสุข ความสำเร็จมากกว่า ทั้งๆ ที่ความจริงแล้ว ‘ความทุกข์กับอุปสรรค’ ต่างหากที่มีความสำคัญยิ่งกับชีวิตคนเรา เพราะว่าความทุกข์กับอุปสรรคจะช่วยเจียระไนชีวิตเราให้สวยงามขึ้น เหมือนจากก้อนหินธรรมดาๆ ถ้าเจียระไนขึ้นมา หรือได้ขัดเกลาให้ดีๆ ก็จะเป็นงานศิลปะได้ หรืออาจจะเป็นก้อนหินที่มีค่าขึ้นมาได้ แล้วคุณครูก็บอกว่าเราไม่ควรดิ้นรนหลีกหนีความทุกข์ยากและอุปสรรค แต่ต้องสู้และเอาชนะให้ได้ พี่เลยนำจุดนี้มาใส่ในตัวละครและใส่ลงไปในเรื่องที่เราสร้างขึ้นมาค่ะ

“ในช่วงที่มีการจุดประกาย มีการคิดโครงสร้างของเรื่อง มีจุดมุ่งหมายแล้วว่าจะเขียนอย่างไร มีวิธีการเดินเรื่องอย่างไร ก็มาถึงตัวละคร ซึ่งตัวละครที่จับขึ้นมาในเรื่องนี้คือตัวละครได้เห็นจากประสบการณ์จริง คือเด็กคนนี้เช้าขึ้นมาก็จะมีหน้าที่มาคอยดูแลรับใช้คุณยายอยู่ในบ้าน เสร็จแล้วกลางคืนก็กลับไปนอนบ้านเขา ตอนเช้าก็มาใหม่ แล้วมีคืนหนึ่งกลางดึกขณะที่พี่กำลังนั่งทำการบ้านอยู่ ก็มีเสียงกดออดดังมากที่หน้าบ้าน พี่ก็ไปเปิดประตู ปรากฏว่าเด็กคนนี้มายืนตัวสั่นอยู่หน้าบ้านแล้วก็วิ่งเข้ามาในบ้าน วินาทีนั้นแหละที่พี่จำได้ และเด็กก็ไม่กลับออกไปอีกเลย อยู่บ้านพี่ตลอดจนกระทั่งแก่ ซึ่งตอนที่มองหาตัวละครก็นึกถึงเด็กคนนี้ขึ้นมา และนำเหตุการณ์ตรงนี้มาต่อเติม ทำแบ็กกราวนด์ชีวิตของตัวละครได้เป็นอิ่มขึ้นมา แล้วก็ใช้จินตนาการ ใช้เหตุผลในการเขียนต่อไป…”

นอกจาก อิ่ม ที่เป็นผลงานใหม่กิ๊กของ ปิยะพร ศักดิ์เกษม ครั้งนี้ GROOVE และ NEXT ยังได้พิมพ์เรื่อง ‘ดั่งลมหวน’ ที่ได้นำมาพิมพ์ใหม่อีกครั้งหลังจากห่างหายไปนานถึงสิบเอ็ดปีด้วย “รู้สึกว่าจะเขียนเรื่อง ดั่งลมหวน พร้อมๆ กับเรื่อง ขอบฟ้าราตรี ซึ่งอยู่ในชุดแม่วันนะคะ เพราะ ขอบฟ้าราตรี เขียนลงใน ขวัญเรือน และ ดั่งลมหวน เขียนลงใน สกุลไทย คือพี่วางพล็อตชุด ในวารวัน ไว้รวดเดียวสามเล่ม ระหว่างที่เขียนก็มีตัวละครที่เป็นน้องของพระเอกเรื่องในวารวันก็คือ ‘พ่อทูน’ ซึ่งเป็นน้องของพ่อเทิด พ่อทูนนั้นเป็นเด็กผู้ชายที่อายุไล่กับแม่วัน เกิดปีเดียวกัน อ่อนแก่กว่ากันเป็นเดือนแล้วก็คุ้นเคย สนิทสนมกันมา แล้วในเรื่อง ในวารวัน เขาก็ไปเรียนหนังสือ ส่วนพระเอกอยู่บ้านที่บางปลาสร้อยเพื่อทำงานและส่งเสียน้องชายที่ไปอยู่กับพี่เขยที่กรุงเทพฯ ในหนังสือก็มีพ่อทูนโผล่มาเล็กๆ น้อยๆ เช่น กลับมางานศพคุณหลวง มาเยี่ยมพี่ชาย เราก็ได้รู้เลาๆ ว่า เขาเรียนจบและไปรับราชการเป็นผู้พิพากษาอยู่ต่างจังหวัด เป็นที่นับหน้าถือตา เป็นอาจารย์ด้านกฎหมาย นักอ่านเองก็อยากให้เขียนถึง

“พี่ก็เลยเกิดความรู้สึกขึ้นมาว่าพ่อทูนเองก็เป็นอะไรที่น่าสนใจเลยสร้างเรื่องดั่งลมหวนขึ้นมา โดยอาศัยเค้าโครงจากที่เราเขียนไว้ในชุดแม่วันว่าเขาไปรับราชการเมืองเหนือบ้าง ไปต่างจังหวัดบ้าง ได้แต่งงานกับผู้หญิงที่เป็นลูกสาวของท่านเจ้าคุณอยู่ที่กรุงเทพ เหมือนกับเราได้สร้างเหตุการณ์ที่เริ่มไว้แล้วให้สมบูรณ์ยิ่งขึ้น

“ในเรื่อง ในวารวัน พ่อเทิดพี่ชายพ่อทูนเป็นคนที่เจอผู้หญิงคนนี้ รักผู้หญิงคนนี้ ซึ่งก็คือแม่วัน และเป็นผู้หญิงคนเดียวตลอดทั้งชีวิตตามเรื่องที่เขียนไว้ในชุดนั้น ส่วนพ่อทูนพี่ก็สร้างเรื่องเป็นอีกแนว คือถึงแม้จะรักผู้หญิงคนเดียวแต่ว่ามีชะตากรรมหลายอย่างที่ทำให้ต้องอยู่กับผู้หญิงถึงสามคน ซึ่งจะมียุคอดีตกับยุคปัจจุบัน เป็นการกลับชาติมาเกิด ในยุคปัจจุบันก็จะมีพระเอก นางเอกชุดหนึ่ง แล้วก็จะมียุคอดีตของพระเอก นางเอกอีกชุดหนึ่ง พระเอกในยุคอดีตก็คือพ่อทูน ซึ่งต่อมาก็คือคุณพระทูนคดียุติธรรม แล้วก็จะไปเชื่อมกับเรื่อง รากนครา เพราะหนึ่งในผู้หญิงสามคนของพ่อทูน เป็นลูกหลานของเจ้าหน่อเมือง ซึ่งเจ้าหน่อเมืองก็คือพี่ชายของเจ้าแม้นเมืองในเรื่องรากนคราด้วย เพราะฉะนั้นเรื่องก็จะโยงกันหมด

“ดั่งลมหวน เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่น่าสนใจ เพราะเป็นเรื่องของญาติพี่น้อง เป็นเรื่องของผู้คนที่บางทีเราเห็นคนที่พูดจากระด้าง ไม่เข้าหูคน แต่ใจจริงแล้วเขาอาจมีความซื่อตรง ตรงข้ามกับบางคนที่เจอหน้าเราแล้วพูดหวาน เจอหน้าเราแล้วก็พูดดีๆ แต่จริงๆ แล้วข้างใน ไม่ใช่เลย มีตัวละครหลายแบบ หลายอย่างในเรื่องนี้ที่น่าสนใจ และน่าอ่านอีกเรื่อง ซึ่งพี่เห็นว่าเรื่องนี้ไม่ได้พิมพ์มานานมากและจำนวนพิมพ์น้อย ในท้องตลาดก็แทบจะไม่เห็นแล้ว เลยคิดว่าถ้านำมาพิมพ์ซ้ำอีกรอบก็น่าจะดี ประกอบกับงานมหกรรมหนังสือครั้งนี้ชุดแม่วันจะได้ครบห้าเล่ม ถ้าเผื่อใครเห็นปกสวยๆ อยากจะสะสมจะได้ยกไปได้เลยทั้งชุดค่ะ พบกันได้ที่บูธ N09 ส่วนจะพี่จะไปเซ็นและพบนักอ่านวันไหน ติดตามได้ที่เพจสำนักพิมพ์ GROOVE PUBLISHING ค่ะ”

 

แก่นไม้หอม โดย กิ่งฉัตร

ถ้าพะยี่ห้อว่าเป็นฝีมือการเขียนของกิ่งฉัตร แล้วละก็รับรองได้ว่าสนุกแน่นอน การันตีได้จากทุกผลงานที่ผ่านมา รวมถึงเสียงตอบรับที่แสนจะท่วมท้นจากเรื่อง ‘แก่นไม้หอม’ ซึ่งลงให้อ่านเป็นตอนๆ ที่เพจอ่านเอาด้วย แน่นอนว่าในงานมหกรรมหนังสือระดับชาติ ครั้งที่ 28 นี้ แก่นไม้หอม ก็จะออกสู่สายตาของนักอ่านในฉบับรูปเล่มให้อ่านกันอย่างจุใจ ใครคิดถึงเรื่องราวของผู้หญิงสายสตรองอย่าง ‘กุ้ยเตียง’ และ ‘ซิ่วเฮียง’ สำนักพิมพ์ลูกองุ่นเขาจัดให้ พบกันได้ที่บูธ N02

“แก่นไม้หอม เป็นเรื่องของแม่บุญธรรมเพื่อนที่รู้จักเขามาตั้งแต่เรียนอยู่มหาวิทยาลัยค่ะ เราอยู่กลุ่มเดียวกันและคบกันมาอย่างยาวนาน ทุกครั้งจะได้ยินเขาพูดว่าแม่บุญธรรมบอกอย่างนั้น แม่บุญธรรมบอกหรือสอนอย่างนี้ แต่เพิ่งจะมารู้เมื่อสักสองสามปีที่แล้วว่า จริงๆ แล้ว แม่บุญธรรมเป็นภรรยาคนที่สองของพ่อ หมายถึงบ้านเป็นบ้านคนจีนที่มีภรรยาสองคน แล้วแม่บุญธรรมของเขาเป็นภรรยาคนที่สอง ซึ่งพี่ค่อนข้างแปลกใจที่เพื่อนให้ความเคารพแม่บุญธรรมมาก เราก็คุยเล่นกัน แล้วก็ได้ฟังเรื่องราวยาวๆ ของบ้านนี้ซึ่งก็ยิ่งแปลกใจว่าทั้งแม่ตัวจริงและแม่บุญธรรมค่อนข้างกลมเกลียว ช่วยกันทำมาหากิน ดูแลครอบครัว คือส่วนมากถ้าเป็นสองเมียในบ้านมักจะมีปัญหากัน แต่บ้านนี้โอเคมาก พอเราสนใจ เขาก็เลยจะเล่าเรื่องให้ฟัง ชีวิตส่วนหนึ่งก็เหมือนอย่างที่เขียน เรื่องราวในชีวิตโครงหลักจะเป็นอย่างนั้น แต่รายละเอียด การเสริมแต่งบางครั้งพี่ก็นำเรื่องราวในชีวิตของครอบครัวพี่หรือคนที่รู้จักรอบตัวใส่ลงไปเพื่อให้มีความสมบูรณ์ มีความสนุกสนานมากขึ้น

“จริงๆ ครอบครัวเพื่อนพื้นเพเขาอยู่เยาวราช แต่พี่ไม่ถนัดเยาวราชก็เลยขอเปลี่ยนเป็นไปอยู่ทางเจริญผลซึ่งเป็นบ้านเก่าของพี่เอง เป็นลานมะเกลือ แล้วก็ผสมผสานระหว่างสอง สาม สี่ครอบครัวเข้าไปเขียนเป็นเรื่องนี้ขึ้นมา แต่ว่าแก่นของเรื่อง โครงของเรื่องก็ยังยึดเรื่องของเพื่อนเป็นหลัก แล้วเพื่อนกับพี่น้องของเขาก็ช่วยเล่าหลายๆ เรื่อง ซึ่งได้นำมาประกอบเป็นจิกซอว์สร้างเป็นเรื่องเป็นราวขึ้นค่ะ

“การที่ แก่นไม้หอม มีเค้าโครงมาจากเรื่องจริงเลยต้องระวังมากในการเขียนให้มีผลกระทบกับคนที่อยู่น้อยที่สุด และต้องให้เหตุผลกับตัวละครทุกตัวว่าทำไมตัวละครถึงได้ทำอย่างนั้น ทำไมตัวละครถึงได้เป็นอย่างนี้ อีกทั้งเนื่องจากเป็นการย้อนเวลาไปเมื่อสักแปดสิบปีก่อน ข้อมูลเราก็ต้องค้น ทำให้รู้อย่างหนึ่งว่าบางครั้งการบันทึกเกร็ดเล็กเกร็ดน้อยในประวัติศาสตร์ไทยแบบที่ไม่ต้องย้อนกลับไปไกล แค่แปดสิบปี ร้อยปี ก็ยังไม่ค่อยเที่ยง รายละเอียดลึกๆ ต่างๆ หาไม่ได้ หรือบางครั้งหาได้แต่ข้อมูลหลายแห่งไม่ตรงกันก็เลยยากนิดนึงเนื่องจากเราต้องมาประมวลและตัดสินใจว่าจะเลือกข้อมูลไหนขึ้นมา เพราะเรื่องชีวิตเนี่ยมีชีวิตไปตามประวัติศาสตร์ของไทย เหตุการณ์ต่างๆ ที่เกิดขึ้นมีผลกระทบกับครอบครัวนี้ทั้งหมด ก็ต้องระวังในการคีบเส้นเรื่องของเรา เช่น เหตุการณ์ 6 ตุลา 19 วิกฤตต้มยำกุ้ง ทุกอย่างมีผลกระทบ เวลาเขียนเราเหมือนบันทึกประวัติศาสตร์ส่วนหนึ่งของชีวิตโดยมองผ่านมุมมองชีวิตของครอบครัวครอบครัวหนึ่ง ซึ่งไม่ใช่ครอบครัวที่ยิ่งใหญ่หรือว่าร่ำรวย หรือเป็นครอบครัวใหญ่ที่มีเงิน มีอำนาจบารมี แต่เป็นครอบครัวคนจีนธรรมดาที่มาอยู่ในเมืองไทยค่ะ”

นักเขียนฝีมือเยี่ยมเล่าต่อไปว่า “พี่เคยเห็นกลอนที่เขาเขียนประมาณว่าคนจีนที่อพยพมาเมืองไทย ถ้าไม่เป็นเจ้าสัวก็กลับบ้าน ไม่กลับบ้านก็คือฝังร่างอยู่ที่วัดดอน แต่จริงๆ พี่มีความรู้สึกว่าคนจีนที่เข้ามาอยู่ในเมืองไทยยุคนั้นส่วนมากเป็นคนชั้นกลางเป็นหลัก ไม่ได้เป็นเจ้าสัวและไม่ได้จบลงด้วยความยากจนข้นแค้น คนส่วนใหญ่จะอยู่ตรงกลางเหมือนครอบครัวของพี่ ครอบครัวของเพื่อน ครอบครัวของซิ่วเฮียง ก็เลยอยากจะถ่ายทอดชีวิตของคนกลุ่มหนึ่งที่เข้ามาดิ้นรน สร้างเนื้อสร้างตัว มุมานะ บากบั่น อาจมีมรสุมชีวิตที่ทำให้ไม่ได้ก้าวไปถึงจุดสุดยอดแต่ก็ยังใช้ชีวิตอย่างมีความสุขอยู่ในพื้นแผ่นดินไทย

อีกส่วนหนึ่งก็รู้สึกประทับใจในเรื่องราวของเพื่อนที่พี่ได้ยินมาด้วย คือที่เป็นแม่บุญธรรมได้เพราะเพื่อนเกิดมาเข่ามีปัญหา แล้วก็เชื่อซินแสว่าต้องมีแม่บุญธรรม กลายเป็นว่าแม่เลี้ยงคนที่สองก็มารับไป แล้วเลี้ยงจริงๆ นะ เลี้ยงอย่างไม่เกี่ยงงอนเลยว่าเป็นลูกของอีกแม่หนึ่ง เลี้ยงกันมาจนโตกันหมด เราก็เลยประทับใจตรงนี้ว่าซิ่วเฮียงเป็นผู้หญิงที่ใจดี แข็งแกร่ง อดทนมีความเป็นแม่ในตัวเองสูงมาก ก็เหมือนอย่างที่เพื่อนพี่เขาบอกนั่นแหละว่า ‘ทุกสรรพสิ่งในธรรมชาติล้วนเป็นหยินที่โอบหยาง’ ผู้หญิงเป็นคนที่อุ้มชูทุกอย่าง ไม่ว่าจะเป็นธรรมชาติก็คือเป็นแม่ จริงๆ แล้วเพศหญิงเป็นเพศที่แบกและโอบอุ้มทุกอย่างเอาไว้ค่ะ”

นอกจากเรื่อง แก่นไม้หอม ที่ได้ลงให้อ่านกันในเพจอ่านเอาและยังมีผลงานรวมเล่มให้อ่านกันเต็มแล้ว กิ่งฉัตรยังมีผลงานเรื่อง แม่ครัวตัวตึง ให้อ่านกันในเพจ Panomrungrice อีกด้วย ใครเป็นแฟนกิ่งฉัตร อย่าลืมตามไปให้กำลังใจเธอกันได้นะคะ

 

คุณหลวงจ้าขา…ข้ากลัวผี และ มณีแดนสรวง โดย พงศกร

เปลี่ยนฟีลขยับปรับอารมณ์กันหน่อย เพราะผลงานชิ้นล่าสุดของพงศกร เรื่อง ‘คุณหลวงเจ้าขา…ข้ากลัวผี’ เป็นนิยายฟีลกู๊ดที่ทำให้ต่อมฮาในตัวนักอ่าน ขยับเขยื้อนเคลื่อนไหวไปเสียทุกตอน ยิ่งอ่านยิ่งอารมณ์ดี อมยิ้มกันทุกทีที่คิดถึง แถมช่วงเวลาที่ลงให้อ่านกันในเพจอ่านเอาก็ยังได้รับการต้อนรับอย่างอุ่นหนาฝาคั่ง งานนี้ GROOVE และ NEXT เลยจัดใหญ่จัดเต็มให้นักอ่านได้อ่านกันอย่างอิ่มเอมใจในฉบับรูปเล่มพร้อมปกสีสันสดใส เรียกว่าส่งอารมณ์เปื้อนยิ้มให้กันตั้งแต่หน้าปกกันเลยทีเดียว นอกจากนี้ยังมีผลงานเรื่อง มณีแดนสรวง ของพงศกร ที่ทางสำนักพิมพ์ได้นำกลับมาพิมพ์ใหม่อีกครั้งหลังจากที่ห่างหายไปนานถึงสิบเอ็ดปีด้วยเช่นกัน ใครเป็นแฟนคุณหมอโอ๊ตบอกเลยว่าพลาดไม่ได้ค่ะ!

“ช่วงหลังพี่เขียนอะไรที่ค่อนข้างหนักเยอะติดๆ กัน ตั้งแต่ พรางพัสตรา เรื่อยมาถึง สร้อยพระศอ ก็เลยมีความรู้สึกว่าอยากเขียนอะไรที่เบาๆ บ้าง ขำๆ รอมคอม เลยคิดและเขียนเรื่องนี้ขึ้นมา ตอนแรกจะเขียนเป็นนิยายจีน ซึ่งคือพล็อตนี้เลย และได้คุยกับพี่ปุ้ย กิ่งฉัตร มาได้สักสองปีแล้วว่าจะให้ชื่อว่า ท่านอ๋องเจ้าขา…ข้ากลัวผี แต่พอลงรายละเอียดแล้วพบว่าเราไม่ถนัดเรื่องของจีนมากนัก คือแค่ชอบอ่านแต่ไม่น่าจะเขียนได้ดีเพราะว่ามีรายละเอียดเยอะ เลยคิดว่าถ้าอย่างนั้นเราปรับมาเป็นไทยดีกว่า เพราะว่าถ้าเป็นประวัติศาสตร์อยุธยาหรือประวัติศาสตร์ไทยจะค้นไว้ค่อนข้างเยอะอยู่แล้ว ตั้งแต่ตอนทำนิยายเรื่องก่อนๆ อย่าง ลายราชสีห์ ลายกินรี ลายเหมราช ธำมรงค์เลือด เลยปรับและเลือกมาใช้ในสมัยสมเด็จพระเจ้าทรงธรรม ซึ่งก่อนเหตุการณ์ ลายราชสีห์ เพราะพี่มีความรู้สึกว่าเป็นรัชกาลที่มีความน่าสนใจ แต่คนไม่ค่อยพูดถึงเท่าไหร่ ทั้งๆ ที่จริงๆ มีเหตุการณ์สำคัญในช่วงนั้นเยอะมาก เช่น การพบรอยพระพุทธบาทที่สระบุรี มีเรื่องราวของขุนนางญี่ปุ่น ออกญาเสนาภิมุข หรือยามาดะ แล้วมีโอกาสทำให้เราได้เล่าเรื่องราวต่างๆ ทำให้เรื่องดูแปลก แล้วน่าสนใจแตกต่างไปจากอยุธยาเรื่องอื่นๆ คือตั้งใจจะเป็นโรแมนติกคอเมดีนี่แหละครับ ก็เลยพล็อตให้นางเอกเป็นคนปัจจุบัน เข้าไปอยู่ในร่างของสาวอยุธยาแล้วก็เกิดเหตุการณ์ต่างๆ มีเหตุการณ์ประวัติศาสตร์ในช่วงนั้นมาเป็นฉากหลังนิดนึง

“พอได้มาเขียนแนวนี้ก็ผ่อนคลายขึ้น แต่อย่างไรก็ตามเมื่อเป็นพีเรียดก็ต้องมีความรอบคอบ ระมัดระวังหลายอย่าง ไม่ใช่อยากจะรอมคอมแค่ไหนก็ได้ ต้องดูบริบทด้วยว่าเป็นไปได้ไหม และสิ่งที่ยากอีกเรื่องคือนิยายที่ย้อนคนมาอยู่ในร่างในอดีตมีคนเขียนเยอะ ทั้งไทยและจีน ทำอย่างไรให้เรื่องดูต่าง ก็เลยออกแบบให้นางเอกเป็นหมอมาเจอเรื่องราวประหลาดในช่วงที่เธอเข้ามาอยู่ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นไม่ได้เกิดจากผีอย่างที่คนเขาเล่าลือกัน แต่เกิดจากการฆาตกรรม การวางแผนอะไรบางอย่าง เรื่องราวต่างๆ จะนำพาให้พระเอกนางเอกเกิดความเข้าใจกันและรักกันในตอนจบ

“สำหรับนิยายเรื่องนี้ เรื่องที่ผมอยากจะบอกกับนักอ่านคือเวลาเราทำอะไร ให้เราทำให้ดีที่สุดในความสามารถของเรา ถ้าไม่ได้เป็นอย่างหวังก็อย่าเพิ่งหมดกำลังใจ อยากให้อ่านนิยายเรื่องนี้แล้วดูตัวนางเอกซึ่งเป็นคนจากยุคปัจจุบันว่าการต้องย้อนเวลากลับไปในยุคอดีต แล้วทุกอย่างใหม่หมดเลย มันยากสำหรับผู้หญิงยุคนี้มากๆ แถมยังเป็นผู้หญิงที่คนเขาเกลียดกันทั้งบ้านทั้งเมืองด้วย แต่นางเอกก็รู้สึกว่าถ้าอย่างนั้นฉันจะทำในสิ่งที่ทำได้ให้ดีที่สุด แล้วพี่คิดว่าถ้าเราตั้งใจทำอะไรให้ดีที่สุด สุดความสามารถของเรา ผลก็จะออกมาดีเอง ก็หวังว่าคนอ่านอ่านแล้วจะเห็นตรงนี้แล้วก็เป็นกำลังใจให้ตัวเองได้ นอกจากนี้ยังอ่านแล้วเพลินๆ ขำๆ มีรอยยิ้มในเวลาที่สภาพสังคม การเมือง สิ่งแวดล้อมมันเครียดด้วยเพราะใครอ่านเรื่องนี้จะได้รับความบันเทิง เบาสมองครับ”

สำหรับ มณีแดนสรวง เรื่องนี้เคยลงเป็นตอนๆ ในนิตยสาร พลอยแกมเพชร ซึ่งทางสำนักพิมพ์ศรีสาราเคยนำมาพิมพ์ จากนั้นกรู๊ฟ พับลิชชิ่งก็นำมาพิมพ์อีกครั้ง “มณีแดนสรวง เป็นอีกผลงานที่ไม่ได้พิมพ์ซ้ำแล้วนานมาก ประมาณสิบเอ็ดปี ซึ่งคิดว่าสมควรแก่เวลาแล้วก็เลยนำกลับมาพิมพ์อีกครั้ง แรงบันดาลใจในการเขียนเรื่องนี้มาจากการอ่านไตรภูมิกถาที่พระยาลิไททรงพระราชนิพนธ์ครับ เป็นการนำเรื่องนรก สวรรค์ มาเล่าไว้อย่างชาญฉลาดมากๆ เป็นเรื่องคุณธรรม ความดี เรื่องของการดำเนินชีวิต ซึ่งไตรภูมิกถานั้นอยู่ในสมัยสุโขทัยและสมัยนั้นก็ไม่ได้มีเรื่องของกฎหมาย แต่ผู้คน ศาสนา หรือการทำดี ก็เหมือนเป็นกรอบอันหนึ่งที่จะทำให้บ้านเมือง สังคม มีความสุข พระยาลิไทจึงพระราชนิพนธ์เรื่องนี้ขึ้นมาเพื่อให้คนรู้จักเรื่องบาป บุญ คุณ โทษ ละอายต่อบาป แล้วบรรยายถึงภพภูมิต่างๆ ที่มีอยู่ในจักรวาลนี้ ซึ่งคิดว่าเป็นการรวบรวมมาจากคัมภีร์ต่างๆ ทางพุทธศาสนา และเล่าขึ้นมาเป็นไตรภูมิที่คิดว่าน่าจะแต่งร่วมกันหลายคน พออ่านแล้วก็รู้สึกว่าเป็นอะไรที่มหัศจรรย์พันลึกมาก มีเรื่องราวที่น่าสนใจเยอะมาก แต่ว่าภาษายากมาก ซึ่งการที่ใครสักคนจะลุกขึ้นมาอ่านไตรภูมิกถาพี่ว่ามันก็ยากเหมือนกัน

“ทีนี้พอเนื้อหาดีเลยรู้สึกว่าอยากเล่าต่อ เลยนำมาตีความใหม่ และปรับมาเล่าให้เข้ากับยุคปัจจุบัน สร้างให้นางเอกเป็นนางฟ้าที่วันหนึ่งได้ทำผิดกฎอะไรบางอย่างจนทำให้ต้องลงมาเกิดเป็นมนุษย์เพื่อที่จะแก้ไขความผิดพลาดของตัวเอง ซึ่งจริงๆ การเล่าถึงนางเอก การเล่าถึงตอนที่นางเอกมาอยู่ในโลกมนุษย์ การเล่าถึงอสูรที่เคยเป็นคู่ปรับของนางเอกก็เป็นโอกาสที่ทำให้คนเขียนสามารถนำเรื่องไตรภูมิกถามาเล่าแทรกเป็นระยะๆ ได้ โดยผ่านเรื่องราวทั้งหมดครับ

“ในไตรภูมิกถามีการเล่าถึงภพสวรรค์ โลกมนุษย์ นรกภูมิ ภพอสูร แต่ใน มณีแดนสรวง จะเล่าไม่ครบเพราะรายละเอียดเยอะ ทำให้ขาดนรกภูมิไป จึงได้แพลนเอาไว้ว่าจะเขียนถึงนรกภูมิในเรื่อง บ่วงนรกานต์ แต่ยังไม่ได้เขียนออกมา ตอนที่ลงใน พลอยแกมเพชร ได้รับเสียงตอบรับที่ดีมาก ยังไม่ทันจบทางช่องสามก็ซื้อไปทำละครและเราก็ได้ชมกันไปแล้วครับ”

นอกจากนิยายทั้งสองเล่มของพงศกรในงานนี้ยังมีเรื่องสั้น ‘ลูกโป่งสีแดง’ ที่เคยเขียนไว้ตั้งแต่เริ่มเป็นนักเขียนใหม่ๆ ได้ถูกนำกลับมาปัดฝุ่นอีกครั้ง มีการปรับเรื่องอีกนิดหน่อยเพื่อให้รสชาติกลมกล่อม และรับรองได้เลยว่าเป็นอีกเรื่องที่ควรมีเก็บไว้ในคอลเล็กชัน โดยคุณหมอโอ๊ตเล่าย้อนว่าแรงบันดาลใจในการเขียนเรื่องนี้มาจากช่วงไปเรียนต่อที่อเมริกา “ช่วงเดือนแรกที่ผมไปนั้น ในเมืองมีงานแต่งงานหนึ่งที่คนในเมืองตื่นเต้นกันมาก และพากันไปร่วมแสดงความยินดีกับเจ้าบ่าวเจ้าสาวกันอย่างคับคั่ง ซึ่งทั้งสองพบกันเพราะลูกโป่งครับ”

จากความน่ารักของเรื่องราวกลายเป็นความประทับใจจนทำให้คุณหมอถ่ายทอดออกมาเป็นเรื่องสั้นเรื่องนี้ และเคยพิมพ์รวมเล่มเรื่องสั้นร่วมกับนักเขียนคนอื่นๆ เมื่อสิบกว่าปีก่อน ตอนนี้ ลูกโป่งสีแดง ได้กลับมาฉายเดี่ยวในรูปแบบเรื่องสั้นเล่มเล็กอีกครั้ง การันตีกันตรงนี้เลยว่า ทั้งสนุกแถมราคาก็จับต้องได้ง่ายๆ เลยละ

“งานมหกรรมหนังสือระดับชาติน่าจะมีหนังสือหลากหลายประเภทและหลายสำนักพิมพ์มากที่มาออกบูธในงานรวมถึงทุกที่ก็จะมีหนังสือออกใหม่ สำหรับแฟนนวนิยายหลายคนเชื่อว่าคงรอคอยงานของผม ของ ปิยะพร ศักดิ์เกษม และของน้องๆ รวมถึงนักเขียนของกรู๊ฟ พับลิชชิ่ง ซึ่งการมาในงานนี้นอกจากจะได้ซื้อหนังสือในราคาที่ลดพิเศษ ก็จะมีโอกาสได้พบปะคุยกับนักเขียนด้วย ผมเชื่อว่าเป็นโอกาสที่นักอ่านหลายคนรอคอยนะ ส่วนนักเขียนเองก็รอคอยเหมือนกันเพราะจะได้มีโอกาสมาพบกันแบบตัวเป็นๆ ถ้าใครมีเวลา มีโอกาสก็อยากเชิญชวนให้มาเจอกันที่บูธ N09 ครับ”

 

Oh My Restaurant เปิดครัววุ่นลุ้นรัก โดย ตฤณภัทร

ใครเป็นแฟนนักเขียนคุณแม่ป้ายแดง ตฤณภัทร และอยากอ่านนิยายที่หัวเราะได้ตลอดๆ แนะนำผลงานชิ้นล่าสุดของเธอ Oh My Restaurant เปิดครัววุ่นลุ้นรัก’ ที่เป็นอีกหนึ่งโปรเจกต์ที่ได้ร่วมงานกับข้าวพนมรุ้งและได้ลงให้อ่านกันใน Panomrungrice สำหรับผลงานเรื่องนี้เป็นเรื่องราวของพริ้มรส เชฟสาวที่มีฝีไม้ลายมืออย่างมากในเรื่องการทำอาหาร และถึงจะมีความฝันอยากเป็น Head Chef แต่ก็มีเหตุทำให้ต้องวางไว้ก่อนเพื่อกลับมากอบกู้กิจการ บูทีคโฮเทลของครอบครัวและสร้าง ‘สกุณารส’ ให้กลับมาเฉิดฉายอีกครั้ง และเมื่อขึ้นชื่อว่าเป็นโรงแรม ร้านอาหาร ก็ต้องมีเรื่องวุ่นๆ อยู่ในนั้นอย่างแน่นอน ซึ่งตฤณภัทรได้ถ่ายทอดออกมาได้อย่างสนุก น่าสนใจและน่าติดตาม บอกเลยว่านี่เป็นนิยายอีกเล่มที่ควรจัดไว้บนชั้นหนังสือ

“พอดีได้ร่วมโปรเจกต์กับข้าวพนมรุ้ง ซึ่งอยากให้เขียนนิยายที่เล่าเรื่องเกี่ยวกับอาหารค่ะ และเราเองก็อยากเขียนแนวชีวิตประจำวันพอดี ก็เลยเขียนเรื่องนี้ขึ้นมา ซึ่งก็มีเหตุการณ์จริงๆ ที่นำมาปรับเล่าอยู่ในนิยายเรื่องนี้หลายเรื่อง คือเมื่อก่อนเคยคิดว่าเพื่อนที่เป็นเจ้าของโรงแรมคงมีชีวิตที่เรียบง่าย แต่พอได้ไปหาข้อมูล ได้ไปอยู่กับเพื่อนด้วยเลยต้องเปลี่ยนมุมมองจากที่เคยมองว่าเขาใช้ชีวิตสโลว์ไลฟ์ เป็นเจ้าของโรงแรมดูชิลชิล กลายเป็นว่าเพื่อนต้องเจอเรื่องแบบหนึ่งวันพันเรื่องราว หนักสุดคือการมีฉากแอ็กชันในชีวิตจริง มีคนร้าย มีตำรวจเข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น มีตำรวจปลอมตัวมาเป็นคนเลี้ยงเป็ดเพื่อมาจับคนร้ายที่มาอยู่ในโรงแรมได้เดือนกว่าแล้ว หรือเป็นเคสที่คนร้ายชนแล้วหนี แล้ววันดีคืนดีตำรวจก็มาขอกล้องวงจรปิด เพื่อนก็ต้องไปขึ้นศาลในฐานะเจ้าของสถานที่ แล้วไหนจะเจอปัญหารายวันของลูกค้า ของคนที่มากินอาหารที่ร้าน เซอร์วิส ปัญหาเฉพาะคน นักท่องเที่ยวต่างชาติ ความหลากหลายของการกิน ทั้งวีแกน มังสวิรัติ สารพัดเรื่องราว เราก็เลยนำมาปรับเขียนเป็นนิยายเรื่องนี้

“ส่วนเรื่องลี้ลับที่มีในเรื่องก็มาจากเรื่องของเพื่อนอีกคนค่ะ เขามีบ้านอยู่ติดริมแม่น้ำเจ้าพระยา มีบรรพบุรุษเป็นข้าราชการมีบ้านมาตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 6 เราก็ใช้บ้านเขามาอยู่ในจินตนาการ แล้วก็มาปรับใช้กับงานด้วย เรียกว่าเป็นการนำข้อมูลต่างๆ มาปรับใช้และสร้างเป็นเรื่องราวขึ้นในบูทีคโฮเทลแห่งนี้”

นักเขียนอารมณ์ดีเล่าถึงความน่าสนใจของ Oh My Restaurant เปิดครัววุ่นลุ้นรัก ต่อไปอีกว่า นอกจากจะได้ความบันเทิงแล้ว นักอ่านยังได้เมนูของอาหารที่น่าจะกินกับข้าวได้อร่อยด้วย “ตอนเขียนเรื่องนี้ได้ไปหาข้อมูลมาเยอะค่ะ เช่น สูตรของ ผศ. ศรีสมร คงพันธุ์ ซึ่งอาจารย์จะเขียนตำราอาหารเยอะ ในนั้นจะไม่ได้มีแต่เมนูอาหาร แต่ยังมีเรื่องราว มีคอนเซปต์ เราก็พยายามรวบรวมเมนูอาหารที่ได้ยินกันบ่อยใส่เข้าไปในเล่ม เช่น น้ำพริกนครบาล แกงตะพาบแต่ไม่ได้ใส่ตะพาบ ทำให้รู้ว่าคนสมัยก่อนเขามีไอเดียที่ดี พยายามหาวัตถุดิบมาแทน มีเรื่องราวที่น่าสนใจ ที่สำคัญกินกับข้าวก็อร่อยค่ะ ซึ่งเท่าที่อ่านในคอมเมนต์ นักอ่านมักจะบอกว่า อ่านแล้วหิวด้วยค่ะ (หัวเราะ)”

เอาเป็นว่าถ้านักอ่านคนไหนอยากอ่านหนังสือที่ให้ทั้งความฮาและทั้งความหิว เราขอแนะนำ Oh My Restaurant เปิดครัววุ่นลุ้นรัก’ ไว้ในอ้อมใจเลยค่ะ

 

เหมันต์ตะวันรอน โดย นวาภัส

นวาภัส คือนักเขียนคนล่าสุดของ GROOVE และ NEXT ที่บอกเลยว่าแม้จะเป็นหน้าใหม่ในวงการนักเขียน แต่เธอคนนี้โลดแล่นในวงการโทรทัศน์มาอย่างยาวนาน และผลงานเรื่อง ‘เหมันต์ตะวันรอน’ ซึ่งเป็นผลงานจากโครงการช่องวันอ่านเอาปี 2 ก็ได้ถูกนำไปสร้างเป็นละครทางช่องวัน31 แล้วเรียบร้อย

“ด้วยความที่เรามองว่าเรื่องนี้จะต้องนำไปสร้างเป็นละครก็เลยคิดว่าจะเขียนเรื่องอะไรดีที่จะตรงโจทย์ อันดับแรกคิดก่อนเลยว่าอยากทำเรื่องโรแมนติกและถนัดดราม่าก็เลยเล่าเรื่องโรแมนติกดราม่า พล็อตสไตล์ซินเดอเรลล่า ท่านชายสูงศักดิ์มาหลงรักผู้หญิงชาวบ้าน ซึ่งครั้งแรกตอนส่งพล็อตเข้าไปให้กรรมการดู เราเลือกเล่าแบบปัจจุบัน แต่ก็ได้รับคำแนะนำมาว่าถ้าเป็นปัจจุบันจะไม่สมเหตุสมผล เพราะพระเอกของเราจะต้องหายตัวไปอยู่ในป่าและความจำเสื่อม จนกระทั่งไปหลงรักนางเอก ถ้าเป็นปัจจุบัน 2-3 วันก็หากันเจอแล้ว ซึ่งเวลาไม่พอที่จะทำให้คนสองคนรักกันได้ จึงต้องปรับเป็นพีเรียด ซึ่งเลือกใช้พีเรียดใกล้ๆ เพื่อจะได้ทำงานง่าย โดยถอยกลับไปไม่นานมากประมาณปี พ.ศ. 2511 ซึ่งยังมีคนที่ให้ข้อมูลได้อย่างคุณพ่อ น้า ที่จำเรื่องราวในช่วงเวลานั้นได้ดี เช่น โลเกชันของกรุงเทพฯ กับโคราชช่วงนั้นเป็นอย่างไร วิถีชีวิตของคนในยุคนั้น ความเป็นอยู่ของผู้คนทั้งต่างจังหวัดและในกรุงเทพฯ ขณะนั้นเป็นอย่างไร ในส่วนของนางเอกที่เป็นครู เราก็สอบถามจนรู้ว่าการสอบบรรจุครูในยุคนั้นมีขั้นตอนอย่างไร ต้องเจอกับอะไรบ้าง ทั้งเรื่องเสือ โจรผู้ร้ายชุกชุมแค่ไหน ต้องระมัดระวังกันอย่างไร แม้แต่เรื่องผีในท้องถิ่นซึ่งแยกไม่ออกกับวิถีชีวิตคนไทยเราก็นำมาเล่าด้วย แล้วเราก็หาภาพเก่าๆ ในช่วงเวลานั้นซึ่งหาได้ไม่ยาก มาใช้เป็นข้อมูลประกอบการเล่าเรื่องเพื่อให้สมจริง

“ในเรื่องนี้ สิ่งที่ยากคือพระเอกเป็นหม่อมเจ้าเลยต้องใช้ราชาศัพท์ให้ถูกต้อง และทำการบ้านตรงนี้เพิ่มค่อนข้างมาก ทั้งเช็กจากอินเทอร์เน็ต สอบถามคนที่มีความรู้ ไปหาละคร และอ่านนิยายในยุคนั้นมาดูมาอ่าน เพื่อให้ทุกอย่างในเรื่องถูกต้องหรือมีข้อผิดพลาดน้อยที่สุด”

เหมันต์ตะวันรอน นอกจากจะมีการเล่าถึงความรักของพระนางแล้ว อีกเรื่องหนึ่งที่นวาภัสต้องการจะถ่ายทอดลงไปในเรื่องนี้ด้วยคือภาพจำสุดประทับใจในวัยเด็กของเธอ “ตอนเขียนเรื่องนี้อยากให้คนอ่านจินตนาการแล้วเห็นสิ่งที่เราจำได้ อย่างเรื่องวิถีชีวิตของชาวบ้านซึ่งจะแทรกไว้ในเรื่องนี้เยอะมาก ไม่ว่าจะเป็นเรื่องอาหารพื้นบ้าน วัฒนธรรมชาวนาในสมัยนั้น เช่น การลงแขกดำนา-เกี่ยวข้าว โดยไม่ต้องจ้างเหมือนสมัยนี้ แต่เป็นการขึ้นแรงและใช้แรงกัน บ้านไหนเกี่ยวข้าว เจ้าของนาก็จะไปขอแรงเพื่อนบ้านมาช่วยลงแขก แล้วเจ้าของบ้านก็ทำกับข้าวเลี้ยง วันถัดไปบ้านอื่นเกี่ยวข้าว เราก็ต้องไปใช้แรงคืนโดยไปช่วยเขาเกี่ยว แล้วเจ้าของบ้านนั้นก็ทำกับข้าวเลี้ยงเช่นเดียวกัน เวียนกันแบบนี้ไปเรื่อยๆ จนเกี่ยวข้าวหมดทุกบ้าน หรือแม้แต่การทำลานตากข้าวโดยใช้ขี้ควาย ขี้วัวทา ซึ่งเป็นภูมิปัญญาชาวบ้าน การทำว่าวเล่นเอง ทั้งหมดนี้เป็นเรื่องที่อยากแทรกลงไปเพราะเป็นภาพจำที่เราประทับใจ และรู้สึกดีใจที่เกิดมาแล้วยังได้มีโอกาสเห็นวิถีที่น่ารักอย่างนี้อยู่ รวมถึงภาพหนังขายยา หนังกลางแปลง ที่อยากเล่าเพราะเราจำภาพความประทับใจนั้นได้ ทุกวันนี้ถึงจะมีหนังกลางแปลงอยู่แต่ก็เปลี่ยนไปตามกาลเวลาที่ทันสมัยขึ้น ไม่ได้มีการพากย์เสียงจากคนคนเดียวหรือสองคนเหมือนตอนนั้น ก็เลยนำมาใส่ไว้ในเรื่อง แต่ก็ต้องเช็กรายละเอียดให้ถูกต้องว่ารถขายยาในปี พ.ศ. 2511 เป็นอย่างไร เพราะเราเกิดไม่ทันยุคนั้นค่ะ

“การอ่านนิยายเรื่องนี้นอกจากจะได้ความบันเทิง ยังทำให้เราได้สัมผัสบรรยากาศของเมืองไทยเมื่อ 40-50 ปีก่อน ในช่วงเวลาที่ผู้คนยังไม่ถูกระบบทุนนิยมครอบงำ ถ้าคนอ่านอายุมากกว่าหรือเท่ากับพี่ คนเหล่านี้ก็จะนึกภาพออก และหวนคิดถึงความสุขในวัยเด็กเหมือนกับที่พี่คิดถึง แต่ถ้าคนอ่านเป็นเด็กรุ่นใหม่ก็จะได้เรียนรู้วิถีชีวิตความเป็นอยู่ของคนในอดีต ที่มีความเอื้ออาทร มีน้ำใจซึ่งกันและกัน พี่ก็แค่หวังว่าเรื่องราวที่พี่ตั้งใจสอดแทรกลงไปในเรื่อง เหมันต์ตะวันรอน อาจสร้างแรงบันดาลใจให้คนรุ่นใหม่ได้หันมาสนใจและเรียนรู้วิถีไทยแบบดั้งเดิมที่หลอมรวมคนไทยให้เป็นหนึ่งเดียวกันมาจนถึงวันนี้”

เรียกว่านิยายที่คุยกับนักเขียนทั้ง 5 คนแล้ว รู้สึกว่าโดนตกทุกเรื่อง และอยากมีเก็บไว้ที่ชั้นหนังสือทั้งหมด ใครหัวอกเดียวกับฮูกก็เชิญชวนแวะมาที่บูธ N09 ของ GROOVE และ NEXT และ บูธ N02 ของสำนักพิมพ์ลูกองุ่น รับรองว่าไม่ผิดหวัง กระเป๋าตังค์พัง ฟันธง!

Don`t copy text!