‘เอมอักษร’ สะท้อนเรื่องจริงที่อิงนิยายผ่าน ‘ฆาตกรรมอลหม่าน วิญญาณอลเวง’  “อย่าอิจฉาชีวิตคนอื่น บางทีสิ่งที่มองว่าสวยงามอาจไม่เป็นอย่างที่เห็น”

‘เอมอักษร’ สะท้อนเรื่องจริงที่อิงนิยายผ่าน ‘ฆาตกรรมอลหม่าน วิญญาณอลเวง’ “อย่าอิจฉาชีวิตคนอื่น บางทีสิ่งที่มองว่าสวยงามอาจไม่เป็นอย่างที่เห็น”

โดย : กิ่งสุรางค์ อนุภาษ

Loading

เพราะเป็นแฟนนิยายของ ‘ปิยพร ศักดิ์เกษม’ ‘กิ่งฉัตร’ และ ‘พงศกร’ รวมถึงชื่นชอบในการอ่านและเขียนนิยายมาตั้งแต่เด็ก ทำให้ ‘ตาล-อรวรี วิสรรคชาติ’ เจ้าของนามปากกา ‘เอมอักษร’ สมัครเข้าร่วมโครงการอ่านเอาก้าวแรก รุ่น ๕ เพื่อมาพบนักเขียนในดวงใจ ได้เรียนรู้เพื่อสร้างงานที่รัก และพบคนมีฝันแบบเดียวกัน หลังจากอบรม เธอก็ได้เขียนนิยายเรื่อง ‘ฆาตกรรมอลหม่าน วิญญาณอลเวง’ เสร็จสิ้นและเรียกว่าเป็นนิยายเรื่องแรกที่เขียนจบ ทั้งยังได้รับรางวัลรองชนะเลิศจากโครงการอีกด้วย นิยายดรามาคอเมดีเรื่องนี้จะสนุกโดนใจแค่ไหน ตอนนี้เว็บไซต์ อ่านเอา เผยแพร่ให้อ่านกันเรียบร้อยแล้วค่ะ

“ตอนที่รู้ว่าได้รับรางวัลรู้สึกดีใจมากที่สุดค่ะ และการเข้าคลาสกับโครงการก็ทำให้มุมมองในการคิดการเขียนเปลี่ยนไป เพราะปกติแล้วเป็นคนที่ชีวิตเรียบง่ายมาก ตื่นเช้า ไปทำงาน กลับบ้าน ไม่ค่อยมีกิจกรรมหรือเรื่องตื่นเต้น เลยมีปัญหาในการหาพล็อตมาเขียนนิยาย พอเข้าคลาสแล้ว พี่เอียด พี่ปุ้ย พี่หมอโอ๊ต แนะนำว่า ทุกเรื่องสามารถจับมาเป็นพล็อต เป็นแก่นเรื่องได้หมด เช่น เวลาฟังข่าว ได้ยินคนคุยกัน ฯลฯ วัตถุดิบอยู่รอบตัว ตอนนี้เลยสามารถหาพล็อตสำหรับนิยายเรื่องต่อไปได้แล้วค่ะ”

สำหรับคำแนะนำดี ๆ จากเหล่าวิทยากรที่เอมอักษรนำมาปรับใช้ในการทำงานของเธอนั้น เธอกล่าวว่า “เป็นคำแนะนำที่บอกว่า ‘อย่าหยุดเขียน เขียนต่อไป แม้วันละนิดหน่อยหนึ่งหรือสองพารากราฟ หรือประโยคเดียวก็ยังดี’ ค่ะ คือแม้เราจะชอบการเขียน แต่ก็จะมีช่วงเวลาขี้เกียจ บอกกับตัวเองว่าพักสักแป๊บ เพื่อไปหาแรงบันดาลใจ หรือบางทีก็ใช้เวลาหาข้อมูลไปเรื่อย ๆ โดยที่ไม่ได้ลงมือเขียนจริงจังสักที คำแนะนำของคณะกรรมการที่ดีสุดคือคือการบอกให้เราเขียนให้สม่ำเสมอเป็นนิสัย แม้จะวันละเล็กน้อยแค่ไหนก็ตาม ซึ่งตรงกับคำพูดของ แดน บราวน์ นักเขียนอีกคนที่ชื่นชอบ เขามีคติประจำใจที่แปะไว้บนกำแพงว่า จงปกป้องกระบวนการ แล้วผลลัพธ์จะดูแลตัวของมันเอง”

ส่วนแรงบันดาลใจการเขียนเรื่องฆาตกรรมอลหม่าน วิญญาณอลเวงนั้น นักเขียนสาวเล่าว่าเป็นมุมมองของความรู้สึกที่ว่า ถึงแม้เราจะเห็นไลฟ์สไตล์การใช้ชีวิตของผู้คนต่าง ๆ ผ่านโซเชียลมากมาย แต่นั่นเป็นเพียงส่วนหนึ่งของชีวิตเขา หรือบางทีสิ่งที่เห็นก็อาจไม่ใช่สิ่งที่เขาเป็นจริง ๆ ก็ได้ แต่สิ่งที่สำคัญคือเราดันเชื่อและนำมาเปรียบเทียบกับชีวิตตัวเองจนกลายเป็นความน้อยเนื้อต่ำใจ โดยนักเขียนได้เล่าเรื่องราวเหล่านี้ผ่านตัวละครที่ชื่อเจิดจันทร์ ซึ่งขอรับรองว่า ตัวละครแบบนี้มีให้เห็นจริงอยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

“เรื่องนี้เป็นเรื่องของ ‘เจิดจันทร์” หญิงสาวที่คิดว่าตัวเองโชคร้ายทุกด้าน ทั้งขี้เหร่ที่สุดในบรรดาพี่น้องสามสาว ชื่อเชย เรียนไม่เก่ง และไม่ประสบความสำเร็จเรื่องความรัก จนเธอร่ำร้องบ่อย ๆ ว่าอยากตาย และวันหนึ่งเธอก็ได้ตายสมใจ ตายแบบไม่รู้เนื้อรู้ตัว! ไม่รู้ว่าใครฆ่า หรือเผลอฆ่าตัวเอง เธอต้องร่วมมือกับวิญญาณของปู่ที่ล่วงลับไปแล้ว ในการตามหาความจริง แถมต้องแก้ปัญหาที่ตามมาอีกสารพัด สุดท้ายแล้วเจิดจันทร์จะเป็นอย่างไร ความตายเป็นทางออกจริง ๆ ของเธอหรือเปล่า อยากให้ลองติดตามดูนะคะ”

ความพิเศษของผลงานเรื่องฆาตกรรมอลหม่าน วิญญาณอลเวง อยู่ที่ความธรรมดาของตัวละครและเหตุการณ์ค่ะ เพราะเป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้และพบได้จริงในชีวิตประจำวัน บางคนอาจไม่ได้เป็นปมขนาดนางเอก แต่เชื่อว่าบางครั้งต้องเคยมีความรู้สึกเหมือนเจิดจันทร์กันบ้าง

อุปสรรคและความท้าทายในการเขียนเรื่องนี้คือ เป็นผลงานเรื่องแรกค่ะ ทำให้วางแผนการทำงานไม่เป็น และไม่รู้ต้องเขียนมากน้อยแค่ไหนถึงจะได้จำนวนหน้าตามที่อาจารย์กำหนด

โชคดีที่ทั้งพี่เอียด พี่ปุ้ย พี่หมอโอ๊ต ช่วยแนะนำในคลาส และมีโอกาสได้คุยกับเพื่อน ๆ ในคลาสบางคนที่เป็นนักเขียนมืออาชีพ ทำให้ได้รับคำแนะนำเรื่องวางแผนการทำงาน เช่น มีเวลาสี่เดือน เดือนแรกให้วางพล็อต เขียนเรื่องย่อ และทำทรีตเมนต์อย่างละเอียด พร้อมกับหาข้อมูลที่ต้องใช้สนับสนุนนิยาย เดือนที่สองสามให้ลงมือเขียน และเดือนที่สี่คือการทบทวน เสริม เติม หาข้อมูลเพิ่มในส่วนที่ยังขาด ซึ่งจากไกด์ไลน์ตรงนี้ เลยค่อย ๆ นำมาปรับใช้ บวกกับความตั้งใจของเราที่จะเขียนให้จบและส่งทันเวลาให้ได้ (ส่วนหนึ่งเพราะประทับใจท่านวิทยากรและทีมงานที่ทุ่มเทให้นักเรียนมาก) เลยกำหนดตารางเวลาในการเขียน จนเสร็จเป็นผลงานชิ้นแรกในที่สุดค่ะ”

เอมอักษรบอกว่าการทำงานชิ้นนี้เหมือนเป็นการฝึกวินัยไปในตัว “เรื่องการเขียนไม่กลัว เพราะชอบเขียนอยู่แล้ว และไม่กดดันว่าต้องไปสู้กับใคร แต่ต้องสู้กับใจตัวเองที่ต้องฝึกวินัยในการลงมือเขียนทุกวันให้ได้ค่ะ“

สำหรับแนวคิดที่นักเขียนอยากส่งถึงผู้อ่าน เธอบอกว่ามีอยู่หลายประเด็นด้วยกัน “ข้อแรก ชีวิตเป็นของมีค่า ถ้าได้เกิดมาแล้ว ทำให้ดีที่สุด ข้อสอง อย่าอิจฉาชีวิตคนอื่น บางทีสิ่งที่มองว่าสวยงามอาจไม่เป็นอย่างที่เห็น และข้อสาม ชีวิตที่ดูแสนธรรมดา แต่เกิดมาครบสามสิบสอง สุขภาพแข็งแรง มีครอบครัว มีงาน มีเพื่อน อาจมีความสุขที่สุดแล้ว และถ้าอยากได้อะไรเพิ่มเติม ก็หาวิธีที่ถูกต้อง ที่จะพัฒนาและปรับเปลี่ยนสิ่งเหล่านั้นค่ะ”

โดยผลงานเรื่องนี้เธอให้คะแนนความพยายามของตัวเองเต็มสิบ ส่วนจะสนุกหรือไม่อย่างไร เอมอักษรบอกมาว่ารบกวนให้นักอ่านช่วยอ่านและคอมเม้นต์ให้คำแนะนำด้วย

 

Don`t copy text!