คอมมิวนิสต์ก็ชนะนิสัยคนไทยไม่ได้ สิ่งที่ผู้เขียนต้องการบอกผ่านนวนิยาย ‘ไผ่แดง’

คอมมิวนิสต์ก็ชนะนิสัยคนไทยไม่ได้ สิ่งที่ผู้เขียนต้องการบอกผ่านนวนิยาย ‘ไผ่แดง’

โดย : เต่าทองมะเขือเทศ

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ผู้เขียนหนังสือ ไผ่แดง เคยให้สัมภาษณ์ในรายการโทรทัศน์ไว้เมื่อปี พ.ศ. 2534 (ชมได้ ที่นี่) ว่า “ความจริงไผ่แดงเป็นหนังสือตลก” และสิ่งที่ต้องการสื่อผ่านนิยายเรื่องนี้ก็คือ การที่สังคมไทย (ในเวลานั้น) กลัวและต่อต้านลัทธิคอมมิวนิสต์ ทั้งที่ความจริงหากลัทธิคอมมิวนิสต์มาถึงประเทศไทยก็อาจเอาชนะนิสัยคนไทยไม่ได้ด้วยซ้ำ ด้วยเหตุนั้น ผู้เขียนจึงดัดแปลงบทประพันธ์ต้นแบบให้เรื่องราวทั้งหมดเกิดขึ้นในหมู่บ้านชนบทแห่งหนึ่งของไทย ที่มีชื่อว่า ‘ไผ่แดง’ และดัดแปลงตัวละครด้วยการใส่นิสัยแบบไทยๆ ลงไป 

นวนิยายแนวเสียดสีสังคมและการเมืองเรื่อง ไผ่แดง ประพันธ์โดย หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ตีพิมพ์ให้อ่านเป็นตอนๆ ครั้งแรกเมื่อปี พ.ศ. 2497 ลงในหนังสือพิมพ์ สยามรัฐ ผู้เขียนนวนิยายเรื่องนี้ดัดแปลงเนื้อหามาจากนวนิยาย ‘โลกใบเล็กของหลวงพ่อดอน คามิลโล’ (The Little World of Don Camillon) เขียนโดย นักเขียนชาวอิตาลีชื่อ ‘จีโอวานนี กวาเรสกิ (Giovanni Guareschi)’ ซึ่งตีพิมพ์ก่อนหน้า ไผ่แดง ประมาณ 6 ปี ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยลงเป็นตอนในนิตยสาร มติชนสุดสัปดาห์ ก่อนจะรวมเป็นเล่มกับสำนักพิมพ์แมวไทย เมื่อปี พ.ศ. 2530

โลกใบเล็กของหลวงพ่อดอน คามิลโล มีฉากหลังเนื้อเรื่องอยู่ ณ ชนบทแห่งหนึ่งในเมืองปาร์มา ประเทศอิตาลี ซึ่งเป็นบ้านเกิดของผู้เขียน หลักใหญ่ใจความของนิยายเรื่องนี้ก็เพื่อ เล่าถึงความขัดแย้งทางความคิดของฝ่ายการเมือง 2 ฝ่าย ผ่านตัวละครที่อาศัยอยู่ในสังคมหนึ่ง โดยมีตัวละครอย่างนายกเทศมนตรีเป็ปโปเน่ เป็นตัวแทนฝ่ายคอมมิวนิสต์ที่อิตาลีให้ความนิยมในขณะนั้น และ หลวงพ่อดอน คามิลโล เป็นตัวแทนฝ่ายเสรีนิยมที่ยังคงยึดมั่นในหลักศาสนา 

แต่ด้วยการดัดแปลงเนื้อหาให้ตรงกับสังคมไทย ทำให้คนอ่านเรื่อง ไผ่แดง เข้าใจและเข้าถึงสิ่งที่ผู้เขียนต้องการสื่อได้ดีกว่านวนิยายต้นแบบ ที่มีพื้นหลังเป็นสังคมเมืองนอกและแปลมาจากภาษาอังกฤษ ซึ่งอาจมีวัฒนธรรมบางอย่างที่แตกต่างและผู้อ่านยังไม่เข้าใจ เช่น ความต่างของคำสอนทางศาสนา แต่ก็ไม่ใช่เรื่องเลวร้ายอะไรหากใครอยากลองหยิบนิยายต้นแบบของ ไผ่แดง มาอ่านดูบ้าง เพราะเราอาจได้อีกแง่มุมหนึ่งของสังคมคอมมิวนิสต์ ที่ถ่ายทอดผ่านการปะทะคารมอย่างขบขันของหลวงพ่อและนายกเทศมนตรี รวมถึงความเป็นอยู่ของชาวอิตาลีในตอนนั้น

ในนวนิยาย ไผ่แดง สมภารกร่าง และ นายแกว่น แก่นกำจร เป็นเพื่อนที่เติบโตมาด้วยกัน จนวันหนึ่งที่นายแกว่นกลับมาที่หมู่บ้านพร้อมความล้มเหลวจากชีวิตในเมืองหลวง ซึ่งเชื่อว่าเป็นความผิดของ ระบบสังคมศักดินา ตามที่ได้อ่านมาจากหนังสือปลุกระดมคอมมิวนิสต์ นายแกว่นจึงพยายามชักชวนพวกพ้องให้หันมาเชิดชูคอมมิวนิสต์เหมือนกับตน เดือดร้อนจนสมภารกร่าง เจ้าอาวาสวัดไผ่แดง ต้องรับบทเป็นตัวแทนฝ่ายประชาธิปไตยในการทำสงครามประสาทกับนายแกว่น ซึ่งหลายคนอาจคิดว่าการปะทะกันด้วยอุดมการณ์ทางการเมืองต้องเต็มไปด้วยความตึงเครียดและจริงจัง หากแต่ผู้ประพันธ์เขียน ไผ่แดง ด้วยวาทะกรรมที่สนุกสนาน หรืออาจตลกอย่างที่ผู้เขียนบอกไว้

หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ พูดไว้อีกว่า “คาแร็กเตอร์ตัวละครใน ไผ่แดง สะท้อนนิสัยคนไทย และต้องเป็นคนไทยเท่านั้นถึงจะทำแบบนี้ต่อกันได้” จากประโยคนี้ทำให้เชื่อได้ว่า สิ่งที่ผู้เขียนต้องการสื่อผ่านหนังสือมากกว่าความไม่น่ากลัวของลัทธิคอมมิวนิสต์ก็คือ วิถีชีวิตแบบไทยๆ และนิสัยของคนไทยที่ชอบช่วยเหลือ มีน้ำใจ พึ่งพาอาศัยกัน ซึ่งเป็นสังคมที่ดีงามตามแบบอนุรักษ์นิยม 

ยกตัวอย่างเช่น สมภารกร่างและนายแกว่นที่มีความคิดต่างขั้วทางการเมือง และมีเหตุให้ลับฝีปากกันอยู่บ่อยๆ ถึงอย่างนั้นทั้งสองก็ยังเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน ไม่ทำร้ายกัน ทั้งช่วยเหลือกันได้เหมือนเดิม ซึ่งสิ่งเหล่านี้แสดงถึงความมีประชาธิปไตย ที่ทุกคนมีสิทธิแสดงออกได้อย่างเท่าเทียม

และด้วยนิสัยแบบไทยๆ ที่ทำให้หายไปได้ยากนี้เอง ผู้เขียนจึงเชื่อว่าคอมมิวนิสต์ไม่อาจเอาชนะสังคมไทยได้ ทำให้ในหนังสือ ไผ่แดง ลัทธิคอมมิวนิสต์จึงไม่ใช่ศัตรูที่น่ากลัวอย่างแท้จริง แต่เป็นลัทธิทุนนิยมและนายทุนต่างหาก ที่พยายามใช้เงินกวาดซื้อที่ดินของชาวบ้านจนเดือดร้อนไม่มีที่ทำกิน 

หากใครได้ลองอ่านนิยายทั้ง 2 เรื่องนี้แล้ว อาจรู้สึกว่าคอมมิวนิสต์ของ จีโอวานนี กวาเรสกิ มีความเข้มข้นและเป็นหลักการมากกว่า เป็นไปได้ว่าเนื่องจากผู้เขียนเคยมีประสบการณ์เผชิญหน้ากับระบอบเผด็จการฟาสซิสต์ของอิตาลีด้วยตัวเอง และถ่ายทอดออกมาเป็นนิยายล้อเลียน ซึ่งอาจตรงกับสิ่งที่ หม่อมราชวงศ์คึกฤทธิ์ ปราโมช ต้องการบอกกับสังคมไทยในตอนนั้นพอดีว่า คอมมิวนิสต์ไม่ใช่เรื่องน่ากลัว และเลือกถ่ายทอดผ่านนิยายดัดแปลงที่มีพื้นหลังเป็นสังคมไทยเพื่อให้คนไทยอ่านแล้วเข้าใจง่าย

Don`t copy text!