“บุษราอาฆาต” อัญมณีสะท้อนเรื่องราวของเด็กที่ถูกรังแก โดย เก้าแต้ม

“บุษราอาฆาต” อัญมณีสะท้อนเรื่องราวของเด็กที่ถูกรังแก โดย เก้าแต้ม

โดย : สราญรัตน์ ไว้เกียรติ

กว่าที่ทุกตัวอักษรจะร้อยเรียงเป็นเรื่องราวสนุกๆ ให้ติดตามใน “บุษราอาฆาต” นั้น เก้าแต้ม ได้แรงบันดาลใจมาจาก “เด็ก” … เด็กกลุ่มหนึ่งในสังคมที่ต้องเผชิญกับเรื่องราวและเหตุการณ์ต่างๆ ในชีวิตที่ทำให้ต้องดิ้นรนหาทางออกให้กับตัวเอง ทางออกของแต่ละคนต่างกัน แต่จุดประสงค์เดียวกัน คือต่างทำเพื่อเยียวยาความรู้สึก เช่นเดียวกับบุษยามณี

“เรื่องนี้คีย์เวิร์ดอยู่ที่การบูลลี (Bully) เป็นเด็กคนหนึ่งที่ถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียน แต่แทนที่จะเหมือนเด็กทั่วไปที่ยอมแพ้ต่อโชคชะตา สุดท้ายก็กลับไปเล่นคุณไสยเพื่อที่จะย้อนกลับมาแก้แค้นทีละคน”

เก้าแต้ม หรือคุณหมอคัคณางค์ มิ่งมิตรพัฒนะกุล สูตินรีแพทย์ประจำโรงพยาบาลกรุงเทพ เล่าถึงประเด็นสำคัญที่แฝงอยู่ในเรื่องราวของ บุษราอาฆาต นิยายลึกลับเล่มที่ 51 ของเธอให้อ่านเอาฟัง ก่อนเริ่มต้นเขียนเรื่องนี้ เก้าแต้มได้รับข้อมูลเกี่ยวกับเด็กที่ถูกกลั่นแกล้งในโรงเรียนมาจากหลายทาง ทั้งดาราที่มาสัมภาษณ์ในรายการ Loukgolf’s English Room และบทสัมภาษณ์ของนักคิดที่เคยใช้ชีวิตในต่างแดน ทำให้จากที่เคยคิดว่าเด็กไทยไม่น่าจะมีเรื่องแบบนี้เกิดขึ้นเยอะ แต่ที่จริงเหล่าเด็กไทยในต่างแดน ในโรงเรียนอินเตอร์ รวมไปถึงเด็กพิเศษมักจะเจอเรื่องแบบนี้อยู่เสมอ  

“เราเองเคยมีคนไข้ที่เป็นออธิสติก แล้วก็ถูกเพื่อนๆ ในโรงเรียนกลั่นแกล้งขโมยกระเป๋า ขโมยโทรศัพท์ ขโมยตังค์ หรือจับไปขังห้องน้ำ ถ้าเขาเป็นเด็กพิเศษ เขาก็รับรู้ความทุกข์ประมาณหนึ่ง แต่ถ้าเป็นเด็กปกติที่ถูกกลั่นแกล้ง มันก็จะเป็นบาดแผลทางใจ และส่งผลต่อพฤติกรรมเมื่อเขาโตขึ้น” 

พฤติกรรมของบุษยามณีที่สั่งสมความแค้นมาเนิ่นนานจนกลายเป็นวิญญาณร้ายกาจส่วนหนึ่งยังเป็นผลมาจากพื้นฐานของครอบครัวด้วย “อีกเรื่องหนึ่งคือ บุษยามณีถูกป้าเลี้ยงมา ซึ่งป้าเป็นคนไม่ปกติ มันก็เหมือนกับทำให้โลกของเด็กมันบิดเบี้ยวไป” เก้าแต้มอธิบายถึงภูมิหลังของตัวละคร

เก้าแต้มใช้เวลาในการเขียนเรื่องราวของบุษยามณีประมาณ 4 เดือน หลังจากลงนิยายให้อ่านกันในอ่านเอาแล้ว ความรู้สึกของคนอ่านส่วนหนึ่งที่เห็นใจชีวิตของบุษยามณีก็เกิดกระแสเสียงอยากให้ตัวร้ายได้รับกรรมสนองที่ชวนสะใจมากกว่านี้ แต่ในฐานะของคนเขียนที่เป็นผู้สร้างตัวละคร ต่อให้เป็นคนร้ายๆ แต่ทุกคนก็สมควรที่จะได้รับโอกาส 

“บางทีความทุกข์ทรมานของคนคนหนึ่งมันมากแล้ว แต่สำหรับบางคนอาจจะยังรู้สึกไม่สาสม เราเคยเขียนนิยายเล่มหนึ่งซึ่งตัวร้ายนั้นร้ายมาก สุดท้ายตัวร้ายตัวนี้ก็ไปลงเอยด้วยการเป็นเมียน้อยของคนคนหนึ่ง ทั้งที่เป็นคนทะนงตัวมากๆ พอมาเจอแบบนี้ก็ทุกข์แล้วนะ ในความรู้สึกเรา เรามองว่าทุกคนควรได้รับโอกาส ไม่ว่าเขาจะทำอะไรผิดไปด้วยเหตุอะไรก็ตาม ถูกไหม

“ในบุษราอาฆาต ตัวร้ายเขาได้รับผลกรรมแล้ว แต่บางทีเราอาจจะไม่ได้ขยี้ลงไปให้คนดูเห็นว่า เออ เขาได้รับแล้วนะ อย่างตัวน้องสาวของพระเอกทำผิด เพราะว่าหวงพระเอกมากเกินไป ตัวเองก็ไม่ได้คิดไปถึงว่าบุษยามณีจะถูกกลั่นแกล้งจนถึงกับไปเจอเหตุการณ์ที่เกินคาดคิด เขาจึงไม่จำเป็นที่จะต้องถูกลงโทษจนถึงขั้นบาดเจ็บทางกาย หรือเจออะไรที่หนักมากๆ เพราะเขาเกิดทุกข์ทางใจแล้วว่า รู้สึกผิดแล้ว ฉันไม่ควรทำเลย”

เมื่อแพทย์เริ่มเขียนนิยาย

การเขียนกับการเป็นแพทย์ดูจะเป็นศาสตร์และศิลป์ที่อยู่กันคนละขั้ว แต่เก้าแต้มก็สามารถทำงานทั้งสองสิ่งมาได้อย่างต่อเนื่อง นับแต่เริ่มจรดตัวหนังสือลงไฟล์เอกสารในปี 2549 มาจนถึงปัจจุบัน จำนวนนิยายที่ปรากฏสู่สายตาผู้อ่านคือเครื่องหมายที่การันตีถึงความเป็นนักเขียนรุ่นใหญ่ที่มีวินัยต่อการเขียนอย่างสม่ำเสมอ 

เก้าแต้มเล่าถึงจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่วงการนิยายให้ฟังว่า “ที่เริ่มมาเขียนนิยายเพราะต้องการคลายเครียด เวลาที่เราตรวจคนไข้ เราจะคิดเรื่องคนไข้ตลอดทั้งวัน บางทีกลับไปบ้านก็ยังคิด เพราะที่นี่เคสค่อนข้างยาก แล้วเราทำงานทั้งวันทั้งคืน แต่ช่วงที่เขียนนิยาย มันเป็นอีกความรู้สึกหนึ่งที่ทำให้เราไม่ซีเรียส เหมือนทำอะไรก็ได้ อะไรก็ดูเป็นไปได้” 

สถานที่ฝึกฝีมือแห่งแรกของเก้าแต้มคือเว็บบอร์ดในเว็บไซต์แฟนคลับนักร้องไต้หวัน จากนั้นก็ค่อยๆ เริ่มออกนิยายเล่มบาง เล่มหนา จนเป็นที่รู้จักของมหาชนจากนิยายพาฝันอันโด่งดัง สุภาพบุรุษจุฑาเทพ ตอนคุณชายพุฒิภัทร The Sixth Sense สื่อรักสัมผัสหัวใจ เรื่องมายาร้อยใจ และนิยายโรแมนติกแนวหวานอีกหลายเล่ม แม้การเป็นสูตินรีแพทย์จะทำให้บางวันต้องอยู่ทำคลอดคนไข้ถึงตี 2 ตี 3 แต่ในวันหยุดที่เหลือเก้าแต้มจะจัดตารางตัวเองให้อยู่กับงานเขียนเป็นหลัก “ปกติอย่างน้อยทุกอาทิตย์จะต้องพยายามเขียนนิยายให้ได้อย่างน้อยอาทิตย์ละ 3 วัน อย่างวันหยุดที่ไม่ได้ไปทำงานจะเป็นวันพฤหัสบดีและวันอาทิตย์ เราก็จะใช้ 2 วันนี้ในการเขียนนิยาย” 

ส่วนวันทำงาน ก็ใช่ว่าจะแยกขาดจากการเขียนเสียเลยทีเดียว เพราะเก้าแต้มใช้วิธีพกสมุดโน้ตติดตัวไว้คอยจดไอเดียทันทีที่นึกอะไรได้ “ส่วนใหญ่เราจะเขียนนิยายช่วงเย็น บางทีรอลูกไปเรียนพิเศษ เราก็ไปนั่งรอในร้านกาแฟที่สถานีรถไฟ ก็จะเอาช่วงเวลานั้นเขียน แต่ถ้าเวลามันสั้นมากก็จะเขียนใส่สมุดโน้ต อย่างขับรถอยู่นึกอะไรขึ้นมาได้ก็จะจดโน้ตย่อๆ ไว้ แล้วค่อยกลับบ้านไปเขียนยาวๆ”

เมื่อจะเริ่มเขียนนิยายสักเรื่องหนึ่ง เก้าแต้มจะเริ่มวางแผนการเขียน เพราะตัวเองก็เคยมีประสบการณ์การเขียนไม่จบมาก่อน “สมัยก่อนเราเริ่มเขียนแบบลุยด้นสดเลย พล็อตเพลิตไม่มี (หัวเราะ) พอเขียนไปมันก็หาทางลงไม่เจอ เพราะฉะนั้นทุกอย่างต้องเริ่มจากพล็อต พอเสร็จแล้วเราก็จะยังไม่ได้ลงมือเขียนทันที ระหว่างนั้นเราจะไปหาแรงบันดาลใจเสียก่อนว่า มีสิ่งไหนที่เราอยากจะเขียนบ้าง ก็จะไปดูหนัง ฟังเขาเล่านู่นนี่บ้าง เล่นเว็บบ้าง อ่านหนังสือบ้าง อ่านนิตยสารบ้าง และหาข้อมูลว่ามีความเป็นไปได้ไหม จนกระทั่งเห็นภาพฉากแรกขึ้นมาก่อนถึงจะเขียน”

พล็อตจากหิน

บุษราอาฆาต เป็นหนึ่งในนวนิยายของแก้มแต้มที่เล่าถึงโลกวิญญาณโดยผูกโยงกับเครื่องประดับอัญมณีที่เสมือนเป็นตัวแทนของความลึกลับ ซึ่งก่อนหน้านี้เก้าแต้มเคยเขียนนิยายแนวนี้มาแล้วหลายเรื่อง เช่น นพเก้ามนตรา ที่ใช้ทับทรวงนพเก้า มายาไพลิน เล่าถึงสร้อยไพลิน และทับทิมเสน่หา ที่ใช้แหวนทับทิมเป็นสื่อ แรงบันดาลใจของนิยายกลุ่มนี้ล้วนได้มาจากงานอดิเรกส่วนตัว

“เราชอบร้อยหิน ทำสร้อยหิน เวลาเราไปสำเพ็งเราก็ไปซื้อตำราที่บอกความหมายของอัญมณีแต่ละอันว่าหมายถึงอะไรมาด้วย สมัยก่อนเขาใช้อัญมณีแก้อะไร แล้วเหมือนมีช่วงหนึ่งที่ฮิตใส่อัญมณีชนิดนี้ช่วยแก้เรื่องนี้ได้นะ อ่านแล้วก็จะชอบ ส่วนตัวจะชอบใส่สร้อยโรสควอตซ์ เพราะตัวเองก็ไปซื้อมาร้อยเอง ใส่เองแล้วมันเย็นใจดี ประมาณนั้น (หัวเราะ)”

 ต่อจาก บุษราอาฆาต นิยายเรื่องใหม่ก็จะเป็นเรื่องลึกลับจากหินที่ชวนให้ลุ้นระทึกติดตาม มีชื่อว่า พรายพันรุ้ง ซึ่งในเรื่องนี้จะเป็นเรื่องของหินสีรุ้งที่ผูกโยงเข้ากับชะตาชีวิตของนางเอกไว้เลยทีเดียว 

“เป็นเรื่องของดาราคนหนึ่งชื่อ รุ้งตะวัน ที่กำลังอยู่ในวัยเบญจเพศ และมีคนทักว่าจะดวงตกชะตาถึงฆาต แฟนคลับก็เริ่มกลัวว่าจะมีอะไรเกิดขึ้นกับนางเอก ก็เลยทำสร้อยคอมือหินสีรุ้งให้ตามชื่อจริง หลังจากนั้นรุ้งตะวันก็ได้เจอกับคนที่มีบุคลิกเหมือนตัวแทนของหินแต่ละเม็ดที่อยู่ในสร้อยข้อมือนั้น แล้วกลับทยอยตายไปทีละคนๆ ซึ่งทุกครั้งที่มีคนตาย นางเอกจะได้เข้าไปในห้องมืดโดยที่จำไม่ได้เลยว่าเกิดอะไรขึ้น”

ในระหว่างนี้หากแฟนคลับคิดถึงเก้าแต้ม สามารถติดตาม บุษราอาฆาต ฉบับพิมพ์จากสำนักพิมพ์กรู๊ฟกันได้ ซึ่งในเล่มจะมีตอนพิเศษที่ไม่ได้ลงในออนไลน์เพิ่มด้วยนะคะ และขอให้อดใจรออีกหน่อย เพราะอีกไม่นาน พรายพันรุ้ง จะเริ่มให้อ่านกันในชุมชนอ่านเอาแห่งนี้เป็นที่แรก 

Don`t copy text!