“โพงคำหอม” ความเชื่อเรื่องผีบนชีวิตจริงของทศพล สิงห์คำมา

“โพงคำหอม” ความเชื่อเรื่องผีบนชีวิตจริงของทศพล สิงห์คำมา

โดย : YVP.T

Loading

‘โพงคำหอม’ 1 ใน 5 นวนิยายที่ได้รับการคัดเลือกให้นำมาทำละครจากโครงการช่องวันอ่านเอา ครั้งที่ 1 มีความน่าสนใจตรงไหน ความยากของการทำงานบนความไม่คาดหวังของ ทศพล สิงห์คำมา เป็นอย่างไร และทำไมอ่านเอาจึงไม่อยากให้คุณพลาดผลงานของนักเขียนท่านนี้ บทความพิเศษครั้งนี้มีคำตอบ

“โพงคำหอม”  คือ เรื่องราวของหญิงสาวนามว่า ‘คำหอม’ ชีวิตของเธอต้องตกระกำลำบากตั้งแต่ยังเป็นทารก  ผู้เป็นแม่พาเธอเดินทางจากเวียงโพงคำมาใช้ชีวิตที่เมืองสกลนครจนโต แต่แล้ววันหนึ่งเธอก็ได้รู้ความจริงว่า ภายในร่างกายของเธอมีผีโพงแอบแฝงอยู่ เธอต้องเผชิญหน้ากับการตามล่าของพ่อเฒ่าทั้งสาม ทำให้การใช้ชีวิตในสังคมเปลี่ยนไปเป็นความน่ารังเกียจ เธอต้องเอาชีวิตให้รอดจากความตาย แต่แล้วชายหนุ่มผู้ที่มองข้ามทุกสิ่งอย่างก็ได้เข้ามาปกป้องและช่วยเหลือเธอไว้ด้วยหัวใจอันบริสุทธิ์ ปลอบโยนจิตใจให้ก้าวต่อไปอย่างมีความหวัง

“โพงคำหอม” นวนิยายเพื่อจังหวัดสกลนคร

หลายคนบอกว่าการช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวของจังหวัดบ้านเกิด คือการนำเสนอสถานที่ท่องเที่ยว สินค้า OTOP วัดวาอารามที่มีชื่อเสียงโด่งดัง แต่สำหรับทศพลแล้ว เขาคิดว่า นวนิยายคืออีกช่องทางหนึ่งที่ทำให้จังหวัดสกลนครเป็นที่รู้จัก

“ความที่ผมเองเป็นชาวสกลนคร จึงอยากทำอะไรเพื่อจังหวัดบ้าง ก็คิดว่าจังหวัดอื่นๆ มักจะโด่งดังจากละคร อย่างเรื่องนาคี พอออกอากาศไป คนก็แห่ไปจังหวัดอุดรธานี หรือรากนครา คนก็แห่ไปจังหวัดเชียงใหม่กัน พอมีโอกาสจากโครงการช่องวันอ่านเอา จึงอยากลองส่งแนวนี้ไปบ้าง เพราะสกลนครเองมีวัฒนธรรมประเพณีที่ดีงามอยู่มาก และคิดเล่นๆ ว่า ถ้าได้เป็นละครก็คงจะดีมาก คนจะได้มาเที่ยวมากขึ้น แต่จะใช้วัฒนธรรมอย่างเดียวก็อาจจะชักจูงคนดูได้ยาก เลยต้องนำความเชื่อทางผีมาเป็นตัวชูหลักให้โดดเด่นขึ้น

“ในตอนแรกผมเลือกผีปอบ แต่ว่ามีคนเขียนเยอะแล้ว จึงตัดสินใจเลือกผีโพงแทน เพราะผีโพงนั้น แม้จะขึ้นชื่อว่าเป็นผี แต่เป็นผีที่ไม่ทำร้ายคนก่อน ซึ่งก็ตรงกับโครงเรื่องที่วางไว้พอดี ทำให้ผีโพงเป็นผีที่ตอบโจทย์สำหรับผม เพราะอยากตีความใหม่เกี่ยวกับผี อยากให้คนอ่านเข้าใจความรู้สึกของผีและเห็นใจผีบ้าง ซึ่งผีที่ผมเขียนอาจจะเปรียบได้กับคนกลุ่มน้อยที่สังคมส่วนใหญ่รังเกียจและกดขี่พวกเขาไว้ เราต้องยอมรับอย่างหนึ่งว่า ปัจจุบันยังคงมีคนถูกประณามหยามเหยียดในความเชื่อผิดๆ ว่าคนนั้นคนนี้เป็นผีอยู่ จึงอยากถ่ายทอดความรู้สึกแทนกลุ่มคนเหล่านั้นว่า เขาก็เป็นคนเหมือนกัน เจ็บได้ รู้สึกเป็น ไม่มีใครอยากจะจมอยู่กับความทุกข์ที่ถูกยัดเยียดให้เป็นผีจากกลุ่มคนที่ไม่ชอบและโหมโรงปล่อยข่าวลือจนกลายเป็นเรื่องใหญ่ครับ” 

วัดพระธาตุเชิงชุม เมืองสกลนคร ในอดีต

ทุ่มเทแต่ไม่คาดหวัง

อย่างที่อ่านเอาได้เกริ่นนำไปแล้วว่า ทศพล เขียน ‘โพงคำหอม’ ขึ้น โดยไม่คาดหวังว่า นวนิยายเรื่องนี้ต้องได้รางวัล เพราะสิ่งสำคัญที่สุดสำหรับเขาคือการใส่หัวใจลงไปในทุกตัวอักษร ส่วนผลลัพธ์ที่ได้นั้นขึ้นอยู่กับกรรมการล้วนๆ

“ผมเอง ไม่ได้ตั้งใจจะเป็นนักเขียนมาก่อน แต่เมื่อตัดสินใจว่าจะส่งผลงานไปประกวด ก็คิดกับตัวเองว่า ยังไงซะก็ต้องเขียนออกมาให้ได้ ซึ่งความที่เป็นมือใหม่จริงๆ ก็ทำเอาเครียดเป็นเดือน เพราะเขียนไม่ได้เลยจนเกือบจะถอดใจ แต่พอดีคณะกรรมการเลื่อนเวลาส่งให้อีกเดือน จึงบอกตัวเองว่า เอาใหม่ ตั้งใจเขียนดูอีกครั้ง จนแล้วเสร็จทันส่งต้นฉบับ

“เหตุที่ทำให้เราเครียด เพราะความยากในการเขียนเรื่องนี้คือการเขียนเกี่ยวกับผี ซึ่งเป็นความเชื่อของทางภาคเหนือ ผมจึงต้องระมัดระวังความรู้สึกของคนสกลนครมาก จึงกำหนดให้ตัวเอกที่เป็นผี ไม่ใช่คนสกลนครตั้งแต่แรก แค่เพียงมาใช้สถานที่และโปรโมทวัฒนธรรมจังหวัดสกลนครในทางอ้อม ผมก็เลยสร้างเมืองขึ้นใหม่ในชื่อ ‘เวียงโพงคำ’ ที่อยู่ทางเหนือเวียงจันทน์ขึ้นไป แล้วจินตนาการให้ตัวละครเดินทางมาที่เมืองสกลนครแทนการที่จะไปบอกว่าคนที่นี่เป็นผี และผีโพงที่ผมเขียนนี้อาจจะไม่ตรงตามตำนานที่ทุกท่านได้ยินมา ถือว่าลองสัมผัสผีโพงในมิติใหม่นะครับ

“อีกเรื่องที่ผมอยากให้ผู้อ่านได้รับรู้คือ บนโลกอันโหดร้ายและปัญหาอันมากมายที่กำลังเผชิญอยู่ ผมเชื่อว่าทุกคนจะมีใครคนหนึ่งคอยอยู่เคียงข้างให้กำลังใจเสมอ จงรักษาไว้และดูแลเขาไว้ให้นานที่สุด เหมือนกับคำหอมที่ยังมีขุนคอยอยู่เคียงข้างในทุกความรู้สึกครับ”

วิถีชีวิตของแม่หญิงอีสานในสมัยอดีต
สภาพบ้านเรือนในสมัยอดีต

แนวดราม่าที่อยากลอง

แน่นอนว่า แม้โพงคำหอมจะเป็นที่ยอมรับและได้รับการคัดเลือกให้เป็น 1 ใน 5 นวนิยายที่ช่อง ONE31 จะนำมาทำละคร แต่สำหรับคนที่ขึ้นชื่อว่าเป็นนักเขียน โดยเฉพาะมือใหม่ที่ยังคงค้นหาแนวทางของตัวเอง ย่อมมีแนวนวนิยายที่อยากลอง

“ผมอยากลองเขียนแนวดราม่าครอบครัวนะครับ เพราะอยากถ่ายทอดความรู้สึกของแม่หญิงคนหนึ่งที่เข้ามาอยู่ในฐานะสะใภ้อีสานว่าต้องอดทนกับปัญหาต่างๆ มากมายขนาดไหน เหมือนต่อสู้อยู่ในสมรภูมิรบกับเหล่าเครือญาติฝั่งสามีและเป็นคนที่ไม่ยอมคนเหมือนกัน ต้องเอาให้ตายกันไปข้างหนึ่ง ซึ่งตอนนี้วางโครงเรื่องไว้และได้ชื่อเรื่องแล้วครับ แต่ยังไงก็ขอเก็บไว้เป็นความลับก่อน

“ส่วนโปรเจคต่อไปที่รออยู่ ชื่อเรื่องว่า ‘ปางปอบ’ เป็นเรื่องเกี่ยวกับการต่อสู้ของผู้หญิงคนหนึ่งที่ลุกขึ้นมาต่อสู้กับคำครหาให้กับคนรักของเธอที่ถูกประณามว่าเป็นผีปอบ เรื่องนี้นางเอกไม่ห่วงสวยเลย แถมยังปะทะฝีปากกับชาวบ้านสุดๆ ตบเป็นตบ ถีบได้ถีบกันไปเลยครับ แสดงให้รู้ไปเลยว่าคนคลั่งรักมักทำได้ทุกอย่าง ในเนื้อเรื่องยังมีวัฒนธรรมประเพณีจากชนเผ่ากะเลิงจากเมืองสกลนครที่มีความเชื่ออันลี้ลับให้สัมผัสอยู่มากมายครับ

“ระหว่างนี้ ผมก็ฝากโพงคำหอมไว้ในอ้อมใจด้วยนะครับ ทั้งรูปแบบนิยายและละครทางช่อง ONE31 นวนิยายเรื่องนี้เป็นงานเขียนเรื่องแรกของผม หวังว่าจะทำให้ทุกท่านสนุกสนานไปกับจินตนาการในยุคสมัยอีสานโบราณกันนะครับ หากผิดพลาดประการใดต้องขอกราบขออภัยมา ณ ที่นี่ด้วยนะครับ ขอขอบคุณครับ”

การแต่งกายของแม่หญิงอีสานในสมัยอดีต

‘โพงคำหอม’ นวนิยายสนุกๆ อีกหนึ่งเรื่องที่มาพร้อมความตั้งใจของ ทศพล สิงห์คำมา มือใหม่เขียนนวนิยาย ที่อ่านเอาการันตีว่า ความมุ่งมั่นตั้งใจของเขาจะไม่ทำให้ผู้อ่านผิดหวังอย่างแน่นอน

Don`t copy text!