การรับมือทุกบทพิสูจน์ของ ปิยะพร ศักดิ์เกษม  พร้อมเผยเทคนิค ‘เขียนอย่างไรให้โลกจำ’

การรับมือทุกบทพิสูจน์ของ ปิยะพร ศักดิ์เกษม พร้อมเผยเทคนิค ‘เขียนอย่างไรให้โลกจำ’

โดย : กิ่งสุรางค์ อนุภาษ

หลังจากที่ชวนให้ ‘พี่เอียด-นันทพร ศานติเกษม’ หรือ ปิยะพร ศักดิ์เกษม เล่าถึงหนึ่งในผลงานขึ้นหิ้ง ‘ชุดแม่วัน’ กันอย่างอิ่มเอมใจ หัวข้อการพูดคุยของเราก็ปรับมาเป็นเรื่องกว่าจะได้มาทำงานบนเส้นทางนักเขียนที่เธอใฝ่ฝัน ซึ่งเมื่อผ่านวันและวัยมาช่วงหนึ่งเราต่างรู้กันดีว่า ‘การสร้างงานให้เป็นที่รู้จักนั้นก็ยากแล้ว แต่การทำให้กลายเป็นที่จดจำนี่ยากยิ่งกว่า’ และตรงนี้พี่เอียดเองก็ได้แสดงความคิดเห็นว่า ‘เก่งอย่างเดียวไม่พอ ต้องเฮงด้วย’

เรียกว่ากว่าจะมาเป็นนักเขียนชื่อก้องได้นี่ต้องผ่านมาแล้วหลายด่าน มาค่ะ มาย้อนวันวารของพี่เอียดกันดีกว่าว่าด่านที่ว่านั้นมีประเด็นหลักๆ อะไรบ้าง

ตั้งใจทำอย่างมุ่งมั่น แม้มองไม่เห็นแสงสว่างที่ปลายอุโมงค์

“พี่ตั้งใจจะเป็นนักเขียนมาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้วค่ะ แต่ชีวิตส่วนตัวต้องเรียนหนังสือ ทำให้ยังไม่ได้เขียนตั้งแต่เด็กๆ มาเริ่มเขียนตอนที่เริ่มทำงานแล้ว พอเลี้ยงตัวเองได้ เราก็ทำงานไปด้วย เขียนหนังสือไปด้วย แล้วการเขียนหนังสือที่ไม่รู้ว่าจะได้รับการตอบรับดีแค่ไหน จะได้ลงในนิตยสารหรือไม่ ก็เหมือนกับเป็นการทำงานที่อยู่ในอุโมงค์มืด ไม่เห็นแสงสว่าง แต่เราก็ต้องมุ่งมั่น มุมานะทำไป นั่นคือความยาก อีกทั้งในเวลานั้นมีเพียงบรรณาธิการกับนิตยสารที่คอยกลั่นกรอง ซึ่งบรรณาธิการก็สามารถเลือกลงได้แค่สองคนเท่านั้น ในขณะที่คนอยากเขียนมีเป็นร้อยเป็นพัน เพราะฉะนั้นจึงต้องทำยังไงก็ได้ให้บรรณาธิการอ่าน พออ่านปุ๊บแล้วเราผ่านก็ถือว่าประสบความสำเร็จ เรื่องของเราจะได้ลงในนิตยสาร แล้วก็จะเป็นที่รู้จัก และถ้างานดีพอก็จะกลายเป็นที่จดจำ ซึ่งสิ่งที่ทำให้ บ.ก. หยิบขึ้นมาอ่านนั่นแหละที่เรียกว่าโชค ดังนั้นจึงจำเป็นจะต้องมีความเก่งและความเฮงผสมกัน ในขณะเดียวกันก็มีจังหวะเวลาที่เหมาะสมด้วยค่ะ”

ทำงานไม่หยุดอย่างต่อเนื่อง

หนึ่งในเคล็ดลับความสำเร็จที่ยืนระยะมาเป็นเวลาเกือบสามสิบปีของพี่เอียดคือการทำงานอย่างต่อเนื่อง “พี่ยังจำเวลาที่ได้รับการติดต่อจากสกุลไทยได้อยู่เลยนะคะ และยังเก็บจดหมายฉบับนั้นไว้อย่างดี ตอนนั้นส่งผลงานเรื่อง ‘ตะวันทอแสง’ ไปประมาณ ๔ ปี แล้วก็ไม่ได้ตาม เพราะนึกภาพออกว่าคุณสุภัทรจะต้องมีคนส่งต้นฉบับมาให้อ่านเยอะมาก แต่ระหว่างนั้นก็ไม่ได้หยุดเขียน เรามีเขียนเรื่องสั้น ๕ ตอนจบ ๒ ตอนจบ ๑ ตอนจบ ส่งไปเรื่อยๆ ส่งไปขวัญเรือนบ้าง ดิฉันบ้าง  ไม่ได้หยุดเลย และเชื่อว่าเมื่อถึงเวลาของเรา คุณสุภัทรต้องหยิบขึ้นมาอ่าน แล้วถ้าอ่านจะต้องชอบแน่ๆ คิดไปเองได้ขนาดนี้ (หัวเราะ)

จนวันหนึ่งมีจดหมายมา ตอนนั้นคิดว่าไปตอบคำถาม ส่งจดหมายชิงโชคอะไรกับสกุลไทยไว้ แต่พอแกะออกและได้อ่านจดหมายฉบับนั้น โอ้โห คุณสุภัทรจะนำเรื่องตะวันทอแสงลงสกุลไทย เลยเขียนมาถามว่า ได้นำเรื่องนี้ไปลงที่อื่นหรือเปล่า? หรือว่ารวมเล่มไปแล้ว ถ้าหากว่ายังก็จะนำลงสกุลไทยให้ แต่ยังไงก็ตาม ได้อ่านแล้วเห็นแววการเขียนของคุณว่าจะมีอนาคตไปได้ไกลทีเดียว ขอให้เขียนเรื่องใหม่แล้วส่งมาให้อีก

พออ่านจบแล้วก็รีบต่อโทรศัพท์เลยค่ะ ตอนนั้นตื่นเต้น ดีใจมาก พอมีคนรับสายก็ขอพูดกับคุณสุภัทร สักพักหนึ่งก็ได้ยินเสียงมาตามสายว่า ‘สวัสดีค่ะ สุภัทร กำลังพูด’ เราก็ตื่นเต้น ตกใจว่า ตายแล้ว ทำไมต่อหาง่ายขนาดนี้ (หัวเราะ) เพราะจินตนาการว่าจะต้องถูกซักถามอย่างโน้นอย่างนี้ ปรากฏว่าเปล่าเลย จากนั้นพี่ก็แนะนำตัวพร้อมบอกว่ายังไม่ได้ส่งให้ใครทั้งสิ้น แล้วก็ยังไม่ได้รวมเล่มด้วย เพราะจริงๆ แล้วในใจคิดว่าเรื่องตะวันทอแสงที่เขียน ที่ที่เหมาะสมกับนิยายเรื่องนี้มีที่เดียวคือสกุลไทย เลยไม่คิดจะถอนเรื่องออกไปส่งที่อื่นๆ อะไรทั้งสิ้น คุณสุภัทรเลยบอกว่า ถ้าอย่างนั้นจะลงในอีก ๓ เล่มข้างหน้า เพราะว่าเป็นวันเกิดสกุลไทย แล้วก็เป็นนักเขียนใหม่ที่มาเปิดตัวที่นี่ จากนั้นท่านก็บอกต่อไปว่า ‘เขียนเรื่องใหม่ได้แล้วนะคะ’ พี่นะทำตามคำสั่งคุณสุภัทรเลยและเริ่มต้นเขียนเรื่องระบำดาวทันที แล้วก็เลยเขียนไม่หยุดมาตั้งแต่วันนั้น (หัวเราะ)”

อดทนอย่างใจเย็นกับจังหวะชีวิตที่ไม่สามารถคาดเดาได้

หลังจากที่ทำงานในอุโมงค์มืดมา ๔ ปี ผลงานของพี่เอียดก็ได้ตีพิมพ์ลงสกุลไทย ทำให้ชื่อ ปิยะพร ศักดิ์เกษม ขึ้นทำเนียบนักเขียนหน้าใหม่มาแรง และในเวลาต่อมา บทพิสูจน์บทใหม่ก็เริ่มขึ้นต่อจากนั้น นั่นคือการนำนิยายไปสร้างเป็นละคร ซึ่งตรงนี้พี่เอียดต้องผ่านการรอคอยอีก ๗ ปี กว่าผลงานชิ้นแรกของเธอ ‘ตะวันทอแสง’ จะออกสู่สายตาผู้ชม

“ตอนช่วงเริ่มต้นของการเป็นนักเขียน ได้มีช่องช่องหนึ่งมาขอซื้อลิขสิทธิ์นิยายที่เขียนเสร็จไป ๒ เรื่อง แต่เพราะทุกอย่างไม่ลงตัว ผลงานจึงไม่ได้ถูกสร้างเป็นละครและพับโครงการไปในที่สุด ด้วยสัญญาที่มี ๕ ปี ทำให้นิยายเรื่องนี้ยังคงถูกเก็บไว้ แต่เมื่อถึงเวลาที่ควร ครบกำหนดสัญญา ทางช่อง ๗ จึงได้มาซื้อลิขสิทธิ์เพื่อไปสร้างเป็นละครและใช้เวลาผ่านไปอีก ๒ ปี ในที่สุด ตะวันทอแสงก็ได้ออกสู่สายตาผู้ชม และละครเรื่องนี้ก็ประสบความสำเร็จเป็นอย่างมาก

“นี่คือจังหวะชีวิตที่ไม่สามารถจะคาดเดาได้ ถ้าหากไม่ได้อดใจรอ ๕ ปีไปเรื่อยๆ จนมาถึงวันที่ช่อง ๗ ซื้อไป ทุกอย่างอาจไม่เป็นแบบนี้ นอกจากความมุ่งมั่น โชค บางทีก็ขึ้นอยู่ที่จังหวะชีวิตของแต่ละคนด้วย แต่ระหว่างทาง เรื่องที่สำคัญมากคือการทำงานอย่างต่อเนื่อง เช่นในช่วง ๒ เรื่องแรก ถ้าเราคิดว่า ดีใจนิยายได้เป็นละครแล้วและนั่งรอคอย ไม่ได้เขียนงานต่อ เรื่องที่สองระบำดาว เรื่องที่สามก็คือทรายสีเพลิง เรื่องที่สี่คือดอกไม้ในป่าหนาว หรือเรื่องต่อๆ มาก็คงไม่ได้เกิด เราต้องเข้าใจจังหวะชีวิตของตัวเอง ของโลก ในขณะเดียวกันก็ต้องอย่าหยุดสร้างงาน เรารักงานเขียน รักการเขียน สิ่งนั้นคือธงชัยที่จะนำหน้าในการทำงานตรงนี้

“ที่สำคัญต้องขยันและอดทนนะคะ ในช่วงแรกๆ ของการเริ่มต้นเขียนต้องขยัน ถ้าไม่ขยันไม่มีทางหรอกที่เราจะได้รับการมองเห็นจากผู้อ่าน พี่เขียนอย่างต่อเนื่องไปเรื่อยๆ คนอ่านอ่านเราเป็น ๕ ปี ๑๐ ปี เขาก็รักเราโดยได้พบสิ่งที่ชอบตรงกัน และที่ผ่านมามีแต่ความอยากเขียน ยังไม่มีความรู้สึกหมดไฟเลยค่ะ (หัวเราะ) เพราะตลอดเวลาที่เขียนไป พอเขียนเรื่องที่หนึ่งจบปั๊บก็ดีใจ มีความสุข หัวใจบานฟู แล้วก็มีความสุขมากๆ ที่เขียนเรื่องนี้จบ พอจบแล้ว ก็มีเรื่องใหม่ที่จะเล่าแล้วก็เริ่มต้นเขียน แต่ระหว่างการเขียนก็จะมีเรื่องยากหน่อย เช่น ตรงนี้จะต่อยังไง ก็จะมีปัญหาให้แก้ตลอดเวลา แล้วพอจบเรื่องที่สองก็ดีใจ เป็นความสุขมากๆ อีก เหมือนกับเสพติดความสำเร็จตรงที่เขียนเรื่องจบ เราก็อยากจะเขียนให้จบเพื่อที่จะได้รับรสชาติแห่งความสุขในช่วงที่เราเขียนจบอีกครั้ง”

 ไม่มี ปิยะพร ศักดิ์เกษม ถึง ๒ คน

“พี่จะบอกกับคนที่มาเข้า ‘โครงการอ่านเอาก้าวแรก’ ทุกรุ่นเลยว่า ถ้าอยากเป็นนักเขียน ให้อ่านหนังสือให้เยอะ ถ้ารักจะเขียนนิยายก็ให้อ่านนิยายมากๆ ให้เลือกอ่านนิยายที่ยากกว่าระดับของตัวเราเองขึ้นไปสักหนึ่งสเต็ปเพื่อที่จะขยายมุมมองและวิธีการคิด วิธีการใช้ภาษาให้สูงกว่าตัวเราสักหนึ่งขั้น เพราะถึงแม้ว่าเราจะเรียนสิบ แต่เก็บได้ไม่ถึงสิบหรอก จะต้องหดลงมานิดนึงตามธรรมชาติ เลยจะแนะนำให้อ่านหนังสือให้มาก ให้ลึก ให้กว้าง อ่านทุกประเภท เรื่องการใช้ภาษา การอ่านวรรณคดี อ่านบทกลอนจะช่วยได้เยอะ แล้วก็ต้องเริ่มเขียน เริ่มฝึกฝนการเขียน สังเกตชีวิตผู้คน ศึกษาจิตวิทยาพื้นฐาน ถ้าเราอ่อนต่อโลก ขาดประสบการณ์ชีวิต เราเขียนนิยายชีวิตไม่ได้หรอก มันจะล่องลอย เป็นการสร้างจินตนาการที่คิดไปเองทั้งสิ้น ถ้าสังเกตดูชีวิตผู้คน คนโน้นคนนี้คนนั้น ทำความเข้าใจว่าเหตุใดเขาจึงทำแบบนี้ เหตุใดเขาจึงทำแบบโน้น เพราะอะไรเขาถึงตัดสินใจแบบนี้ เพราะอะไรเขาถึงตัดสินใจแบบโน้น ถ้าเราตั้งใจสังเกตและศึกษาไปรอบๆ ตัวเราก็จะได้เอง

“นอกจากนี้ให้เขียนอย่างเป็นตัวของตัวเอง อย่าพยายามเป็น ‘ปิยะพร ศักดิ์เกษม’ คนที่สอง พยายามหาแนวทางของตัวเองให้ได้ และต้องลงมือเขียน และประสบการณ์การทำงานและการเขียนก็จะช่วยเราเองค่ะ”

อัปเดตสถานการณ์และเรียนรู้ทุกอย่างอยู่เสมอ

“นอกจากการอ่าน พี่ยังท่องเที่ยว ดูหนัง ฟังเพลง จริงๆ แล้วก็คือหนึ่งในงานเหมือนกันนะ การเสพงานศิลป์ก็คือการสะสมหลายสิ่งหลายอย่างเข้ามาในตัว จะเห็นว่ามีงานหลายเรื่องที่พี่เขียนแล้วจะมีการเปรียบเทียบกับภาพเขียนเปรียบเทียบกับบทเพลง เปรียบเทียบกับอะไรหลายๆ อย่าง ซึ่งสิ่งเหล่านี้จะยกไปเปรียบเทียบไม่ได้ถ้าเราไม่เคยฟังเพลง ไม่เคยดูงานศิลปะ ไม่เคยวาดรูป

อยากเป็นนักเขียน และถ่ายทอดสิ่งที่เราคิด สิ่งที่เราเห็นให้ผู้อ่านได้รู้ได้นั้น เราต้องเรียนรู้ทุกอย่างอยู่เสมอ แล้วต้องทันโลกทันเหตุการณ์ด้วย แต่ช่วงนี้พี่ก็ทำงานน้อยลงเพราะว่าวัย วัยของเราที่อยากจะพักไปทำโน่นทำนี่อะไรบ้างแล้วก็กลับมาเขียน จบเรื่องหนึ่งก็พักสักหน่อยไปทำโน่นทำนี่  ไม่เหมือนกับตอนแรกๆ ที่พี่บอกว่าถ้าอยากจะประสบความสำเร็จ แล้วก็เป็นที่รักของนักอ่าน ก็คือต้องเขียนเยอะๆ ให้นักอ่านเห็นเราตลอดเวลาค่ะ”

ศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ.๒๕๖๔ คือรางวัลแห่งชีวิต

การได้รับเลือกให้เป็นศิลปินแห่งชาติ สาขาวรรณศิลป์ ประจำปี พ.ศ.๒๕๖๔ นอกจากจะเป็นเกียรติ เป็นความภาคภูมิใจ ยังเป็นหนึ่งในกำลังใจสำคัญในการสร้างสรรรค์ผลงานของพี่เอียดต่อไปอีกด้วย “รู้สึกว่าเป็นหน้าที่ที่ต้องทำเพิ่มขึ้น เพียงแต่ว่าพอมาถึงรุ่นนี้การที่จะสร้างงานเหมือนสมัยเด็กๆ ก็ไม่ได้แล้ว จะกลายเป็นการสอนและการถ่ายทอด ถึงได้บอกว่าจะเขียนบทความถ่ายทอดประสบการณ์การเขียนให้กับคนรุ่นหลัง เขียนทิ้งไว้ ไม่อยากจะบอกว่าเป็นการสอน แต่เป็นการถ่ายทอดประสบการณ์ที่เรามีให้กับนักอ่านและนักเขียนรุ่นต่อๆ ไป

“ที่ไม่ใช้คำว่าสอน เพราะสิ่งเหล่านี้สอนกันไม่ได้ มันเป็นงานศิลปะ ผู้สร้างจะต้องมีแนวทางของตัวเอง เราทำได้แค่ถ่ายทอดประสบการณ์ ซึ่งอาจช่วยย่นระยะเวลาให้ผู้สร้างงานรุ่นใหม่ เขาจะได้เรียนรู้ว่าเราผิดพลาดอะไร วิธีการของเราเป็นอย่างไร จะได้เอาไปดัดแปลง ประยุกต์ให้เข้ากับตัวเอง

“รางวัลนี้คือสิ่งที่สร้างพลังใจให้เรา คือสิ่งที่เราทุ่มเททำลงไปแล้วมีผู้มองเห็น ได้เข้าใจการทำงาน เข้าใจในงานของเราว่าไม่ใช่แค่เรื่องบันเทิง แต่คือสังคมวิทยา มานุษยวิทยา ศีลธรรม มีหลายสิ่งหลายอย่างสอดแทรกอยู่ในนั้น เป็นสิ่งที่มีคุณค่า รู้สึกดีใจที่คณะกรรมการมองเห็นในจุดนี้ และนอกจากจะดีใจและเป็นเกียรติอย่างที่บอกไปแล้ว เรื่องที่พี่ดีใจที่สุดคือจะได้เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี อีกครั้ง นี่เป็นมงคลสูงสุดของชีวิต

“ส่วนในเรื่องศิลปินแห่งชาตินั้น พี่มองว่าถ้าเราทำงานอย่างขยันขันแข็ง สร้างงานที่มีคุณค่ากับสังคม กับชีวิต ให้บทเรียน เป็นงานที่มีคุณภาพอย่างต่อเนื่อง พอถึงวัยหนึ่งก็คงจะได้ แต่สิ่งเหล่านี้ผ่านมาแล้วก็ผ่านไปนะคะ ไม่ต้องไปยึดติดมาก การได้รับรางวัลเป็นเรื่องดี แต่ไม่ใช่ว่าไม่ได้แล้วไม่ดี หรือว่าได้แล้วรู้สึกเหนือกว่าคนอื่น ไม่ใช่ นี่เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่ผ่านมาในชีวิตของเราเท่านั้น”

ตอนนี้พี่เอียดมีผลงานให้เราติดตามกันอีกหนึ่งเรื่องคือ ‘อิ่ม’ ซึ่งลงให้แฟนๆ อ่านกันในเพจ Panomrungrice แอบบอกว่ามีตัวละครจากชุดแม่วันอยู่ในเรื่องนี้ด้วย และอ่านเอาก็ได้นำมาแชร์ให้อ่านกันอย่างต่อเนื่อง และหลังจากเขียนเรื่องอิ่มจบ เธอบอกว่าจะขอเบรกแป๊บหนึ่งแล้วจะกลับมาใหม่ พร้อมรับรองว่ายังไงก็ไม่ลืมแฟนๆ นักอ่านอย่างแน่นอนค่ะ

 

Don`t copy text!