สองร้อยเรื่อง ‘บรรณาภิรมย์’ กับความอภิรมย์ในตัวอักษร

สองร้อยเรื่อง ‘บรรณาภิรมย์’ กับความอภิรมย์ในตัวอักษร

โดย : หมอกมุงเมือง

Loading

จากก้าวแรกของคอลัมน์บรรณาภิรมย์ ผมเริ่มต้นการเขียนบทความนี้ด้วยผลงานเรื่อง “ไหม” ของ น้อย ชลานุเคราะห์ ตราบจนถึงบันทึกการเขียน เรื่องล่าสุด  “รถเมล์สายพระพุทธบาท” ของ ศุภร บุนนาค ในที่สุด เส้นทางของบรรณาภิรมย์ก็ดำเนินมาถึงลำดับที่สองร้อย สองร้อยเรื่อง และนักเขียนรุ่นครู อีกกว่า หนึ่งร้อยสามสิบท่าน ที่ผมมีโอกาสได้อ่านงานเขียนและนำมาบอกเล่าสู่กันกับเพื่อนนักอ่านด้วยความประทับใจ นับเป็นจำนวนนวนิยายที่ไม่น้อยเลยทีเดียว

สำหรับบทบันทึกครั้งนี้ เป็นเพียงอีกหมุดหมายหนึ่งที่ตั้งใจจะเขียนขึ้น เพื่อรำลึกถึง เหตุการณ์ต่างๆที่ผ่านมาในการเขียนบรรณาภิรมย์ มีหลายเรื่องใช้เวลาในการเขียนมากกว่าที่คาดไว้ แต่บางเรื่อง ก็ใช้เวลาอ่านและเขียน เพียงช่วงสั้นๆ หากแต่ละเรื่องที่คัดเลือกมาเพื่อนำเสนอแด่มิตรนักอ่าน เป็นความตั้งใจ ที่เกิดขึ้นจากการอ่าน แล้วชื่นชอบด้วยกันทุกเรื่อง

บรรณาภิรมย์ ลำดับแรก ผมเลือกที่จะเริ่มต้นด้วยเรื่อง ไหม ของ นักเขียนรุ่นครู น้อย ชลานุเคราะห์ ซึ่งเป็นครั้งแรกเช่นกัน ที่มีโอกาสได้อ่านงานของท่าน ก่อนที่จะตามมาด้วยผลงานนักเขียนท่านอื่นๆ อย่างคุณบุษยมาส ราชินีภูธร เจ้าของผลงานนวนิยายในดวงใจของนักอ่านหลายคน ที่ผมขอนำเสนอ ขวัญหล้า นวนิยายแนวเงื่อนปมผสมกลิ่นอายลึกลับและยังคงความหวานในสไตล์ของท่าน  ว.ณ ประมวญมารค ที่หลายท่านรู้จักกันดีจากผลงานชุดปริศนา เจ้าสาวของอานนท์ และรัตนาวดี ซึ่งผมได้เลือกนำเสนอ ผลงานแนวนักสืบของสองหนุ่มสาว ศุกระวาร มาณะศรี ที่น่าติดตามในชุด เรื่องลึกลับ เป็นต้นครับ

ในจำนวนเรื่องทั้งหมดที่เขียนมานั้น เรื่องที่ใช้เวลาในการเขียนและอ่านค่อนข้างนานที่สุดก็คือ รถเมล์สายพระพุทธบาท นิยายชิ้นเอกของคุณศุภร บุนนาค ซึ่งมีเอกลักษณ์โดดเด่นเฉพาะตัวสูงมาก โดยเฉพาะการบรรยายที่ใส่ข้อมูลรายละเอียดต่างๆ มากมาย ผสมผสานกับวรรณศิลป์แห่งภาษาอันวิจิตร และยังมีอีกหลายเรื่องของท่าน ที่ผมตั้งใจว่าจะนำมาเขียนถึง หากแต่หาจังหวะที่จะอ่านจนจบและนำมาเขียนได้ยากเต็มที ถ้ามีโอกาส คงจะได้นำมาเสนอแด่ท่านผู้อ่านในครั้งต่อไปครับ

สำหรับงผลงานที่เขียนง่ายที่สุดและถนัดที่สุดสำหรับผมแล้ว น่าจะเป็นงานเขียนของ ม.มธุการี หรือเพชรน้ำค้าง เพราะความชื่นชอบและ ผู้เขียนเองมีสำนวนเป็นเอกลักษณ์ มีคำคมแง่คิดที่ประทับใจ เหมาะแก่การนำมาเรียบเรียงเป็นเรื่องราวที่ต่อเนื่องกัน ในบรรณาภิรมย์ นี้มีทั้งหมดสี่เรื่องคือ ชีวิตมิใช่นวนิยาย จะมีใครมาให้รัก ชีวิตเปื้อนฝุ่น และ จากที่นี่… ถึงดวงดาว โดยเฉพาะเรื่องหลังสุดที่น่าจะนับเป็นงานชิ้นเอกของท่านและในดวงใจของ นักอ่านหลายท่านเลยทีเดียว

จากจำนวน สองร้อยเรื่องที่เขียนมานั้น ผมพบว่า ผลงานที่เขียนถึงมากที่สุด 7 เรื่อง คือผลงานจากปลายปากกาของ สีฟ้า (ศรีฟ้า ลดาวัลย์) ทั้งเรื่อง ตุ๊กตามนุษย์ บ้านเกิด มหาสมุทรสุดลึกล้นฯ ปราสาทมืด ชลาลัย สามอนงค์ ขมิ้นกับปูน ซึ่งงานเขียนของท่าน มีความหลากหลายในพลอตเรื่อง ไม่ว่าจะเป็นแนวการเมือง แนวลึกลับ หรือนิยายแนวโรแมนติคพีเรียด ที่สร้างความประทับใจและเป็นอมตะมาจนถึงปัจจุบัน

ในส่วนของกลุ่มนวนิยายที่เป็นซีรีส์ต่อเนื่องกัน ผมนำมาเสนอในบรรณาภิรมย์ มีหลายเรื่องด้วยกัน อย่างเช่นชุดเทพกานต์ ของ คุณวลัย นวาระ ที่เขียนไว้เพียงสามเรื่องยังขาดเรื่องเพชรเทพกานต์ อีกเรื่องหนึ่ง ถ้าหากมีโอกาสคงจะได้เขียนถึง หรือ ชุด ผู้พิชิตมัจจุราช วิญญาณพเนจร สำหรับเรื่องหลังนั้นค่อนข้างหาอ่านได้ยากมากในปัจจุบัน เมื่อมีโอกาสได้อ่าน จึงอยากจะบันทึกรวมไว้พร้อมกัน หรือเช่นชุด อาทิตย์สะบัดแสงและสุริยาผยอง  กับชุดแสงเพลิงที่เกริงทอ และพระจันทร์เหนือแม่น้ำรันตี ซีรีส์แนวอิงประวัติศาสตร์ไทย- ญี่ปุ่น ของธิตินัดดา ที่เมื่อผมมีโอกาสได้อ่าน และพบว่า มีความสนุกชวนติดตามไม่น้อยเลยทีเดียวครับ

แน่นอนว่างานเขียนของนักเขียนคนโปรด อย่างคุณจินตวีร์ วิวัธน์ ก็เป็นอีกชุดนวนิยาย ที่ภูมิใจนำเสนอทั้งสี่เรื่อง คือ จุมพิตเพชฌฆาต อาศรมสาง พิภพสนธยา และ บาดาลนคร ซึ่งทั้งสองเรื่องหลัง เป็นผลงานในนามปากกา ก่ำฟ้า เฟือนจันทร์

งานของป้าอี๊ด ทมยันตี ก็เป็นอีกสี่เรื่องด้วยกัน ที่ผมชื่นชอบมากที่สุด และภูมิใจที่จะนำมาเสนอแด่ผู้อ่าน ทั้ง ทวิภพ ศิวาลัย คำมั่นสัญญา และ รักที่ต้องมนตรา รวมถึงนิยายคู่แฝดของเรื่องนี้ คือ รักที่ถูกเมิน ผลงานของ คุณนิตยา นาฎยสุนทร อีกด้วย

ส่วนงานเขียนของคุณกฤษณา อโศกสิน ผมเองพยายามเสาะหา ในหลากหลายนามปากกาของท่าน ที่เพริศแพร้วหลากหลายสีสันวรรณศิลป์แห่งงานวรรณกรรมทั้งสี่เรื่องที่นำเสนอไป (ความมืดแห่งคูหาทอง บ้านนี้มีแม่ม่ายไหมครับ ใบไม้เปลี่ยนสี และ สาปสวาท) ไม่ว่าจะเป็นแนวธรรมนิยาย ในนามปากกาสไบเมือง เรื่องแนวหัสคดีในนามปากกากระเรียนทอง เรื่องสั้นหลากรส ในนามปากกา กฤษณา อโศกสิน และ นวนิยายชีวิตรักเข้มข้น ในนามปากกา กัญญ์ชลา

ทั้งนี้ ในการเขียนหลายต่อหลายเรื่อง นับว่าเป็นความโชคดีที่มีโอกาสได้รับความเมตตา จากนักเขียนหลายท่าน ที่กรุณาช่วยให้ข้อมูล ช่วยตรวจทาน ทำให้งานเขียนบรรณาภิรมย์ มีความสมบูรณ์ขึ้น ทั้งคุณป้าอรุณรุ่ง ผู้ล่วงลับ ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับการเขียนเรื่องบ้านลัดดาวัลย์ ผลงานเรื่องนี้น่าจะเป็นเรื่องสุดที่รักของท่านเลยทีเดียว คุณกรุง ญ ฉัตร ที่ให้ข้อมูลที่มาในการเขียนเรื่องช่อกุหลาบในกะลา พี่นก โสภี พรรณราย ที่ให้ข้อมูลที่มาสำหรับการเขียน ไสยดำ อาจารย์ลลิตา และคุณน้ำหวาน ที่ให้ข้อมูลสำหรับการเขียน ปิ่นมรกต และภาพถ่าย “สิงหเทพ” ที่ผมนำมาใช้ประกอบการเขียน เรื่องสั้นสามรัก ของท่านอีกด้วย อาจารย์นายา ที่ให้ความเมตตา และช่วยตรวจทานบทความที่ผมเขียนขึ้นพร้อมกับคำแนะนำที่เป็นประโยชน์อย่างยิ่ง คุณโอม ที่ให้ข้อมูลเกี่ยวกับคุณป้าชูวงศ์ ฉายะจินดา ที่ผมนำผลงานของท่านที่ชื่นชอบมากในสามเรื่องสามนามปากกา มาเขียนถึง (ตำรับรัก ในนามปากกา เทิดพงศ์ สุดสายป่าน ในนามปากกา กล้วยไม้ ณ วังไพร และในมือมาร ในนามปากกา ชูวงศ์ ฉายะจินดา) รวมถึง พี่เอียด ปิยะพร ศักดิ์เกษม ที่ให้ความกรุณาตรวจทานการเขียน ในวารวัน ผลงานชิ้นเอกของท่าน หรือ อาจารย์กฤษณา อโศกสินเอง ที่กรุณาฝากข้อความมาเป็นกำลังใจในงานเขียนเล็กๆเหล่านี้ รวมถึงนักเขียนท่านอื่นๆที่อาจจะไม่ได้เอ่ยถึง ณ ที่นี้ ซึ่งนับเป็นความประทับใจ ปลาบปลื้มใจอย่างยิ่งในไมตรีจิตและความเมตตาของแต่ละท่านเป็นอย่างยิ่งครับ

การเขียนบรรณาภิรมย์ ทำให้ ผมมีโอกาสรู้จักกับนามปากกาแปลกๆ ไม่คุ้นตา ที่หลากหลายของนักเขียนหลายท่าน ไม่ว่าจะเป็น ?? เครื่องหมายคำถามคู่ ที่เขียนเรื่องธิดากำปงจา หรือ 245 ที่เขียนเรื่องสั้นขนาดยาว เรื่อง ชะตาของเสรินทร์ เป็นต้น น่าเสียดายที่บางท่านก็ไม่มีข้อมูลที่มาของแต่ละนามปากกา เหล่านี้ เลย

สำหรับข้อมูลด้านต่างๆ ของนักเขียน ผมขอขอบคุณ คุณปิติ วิริยะ ที่ให้ข้อมูลเพิ่มเติม หรือคำแนะนำต่างๆ เกี่ยวกับประวัตินักเขียน นอกเหนือจากที่ผมเคยทราบมาก่อน หรือข้อมูลเองอาจจะยังไม่ครบถ้วน และคุณหมอภาคภูมิ สำหรับไฟล์ภาพปกหนังสือบางเล่ม มาประกอบการเขียน ซึ่งต้องขอขอบพระคุณมา ณ ที่นี้ด้วยครับ

ในปี พ.ศ. 2566 นี้ นับเป็นวาระ 100 ปีชาตกาล ของสามนักประพันธ์เอกในบรรณพิภพ คือ รพีพรหรือสุวัฒน์ วรดิลก (สี่เรื่อง นางสาวโพระดก ทิพย์สุรีย์ ลั่นฟ้า และ ศักดาพ่อพระ) อ้อย อัจฉริยกร (ภูดินแดง)  เสนีย์ บุษปเกศ (เพลิงโลกันต์ และ สอยดาวสาวเดือน ที่ท่านใช้นามปากกา แพรชมพู คู่กับคุณรัชนี จันทรังษี) หลายเรื่องเป็นผลงานที่ผมไม่เคยเห็นชื่อมาก่อนในชีวิต และมีโอกาสได้อ่านและเขียนถึงงานล้ำค่าเหล่านี้ ด้วยความชื่นชมประทับใจครับ

บรรณาภิรมย์ คงจะถือกำเนิดขึ้นไม่ได้เลย ถ้าหากไม่ได้รับคำชักชวน จากคุณหมอพงศกร และการเลือกชื่อคอลัมน์ ที่ผมได้คิดและนำเสนอชื่อไปเสนอกับทางอ่านเอาอยู่หลายชื่อ ซึ่งคุณปุ้ย กิ่งฉัตร ได้เสนอให้ใช้ชื่อ บรรณาภิรมย์ นี้ และเป็นชื่อคอลัมน์ที่ผมเองคิดว่า น่าจะตรงกับวัตถุประสงค์และการเขียนได้มากที่สุด สำหรับท้ายสุดนี้ ผมขอขอบคุณท่านผู้อ่านทุกท่าน ที่ติดตามคอลัมน์ดังกล่าวร่วมกันมาจนถึงหมุดหมาย สองร้อยเรื่อง บรรณาภิรมย์ ในครั้งนี้ ผมจะพยายามสรรหา เรื่องราว ผลงานของนักเขียนรุ่นครูอีกหลายท่านมานำเสนอ ในโอกาสต่อไปครับ

Don`t copy text!