คุยกับนักเรียนอ่านเอาก้าวแรก รุ่น 4  มาครั้งนี้เพื่อ ‘ปลดล็อกแล้วก้าวต่อ’

คุยกับนักเรียนอ่านเอาก้าวแรก รุ่น 4 มาครั้งนี้เพื่อ ‘ปลดล็อกแล้วก้าวต่อ’

โดย : กิ่งสุรางค์ อนุภาษ

Loading

อย่างที่ชาวอ่านเอาของเราย้ำเสมอว่า โครงการอ่านเอาก้าวแรก เป็นโครงการที่ต้องการพัฒนาศักยภาพการเขียน จุดไฟ สร้างแรงบันดาลใจให้กับผู้เข้าร่วมโครงการได้ลุกขึ้นมาจับปากกา รวมทั้งปลดล็อกในเรื่องต่างๆ แล้วสร้างงานให้สำเร็จ!

ซึ่งการได้พูดคุยกับผู้เข้าร่วมโครงการอ่านเอาก้าวแรก รุ่น 4 ก็เหมือนเป็นการตอกย้ำอีกครั้งว่า ทุกปัญหามีทางออกและวิทยากรทั้งสามของเรา ไม่ว่าจะเป็น พี่เอียด-นันทพร ศานติเกษม เจ้าของนามปากกา ‘ปิยะพร ศักดิ์เกษม’  พี่โอ๊ต-นายแพทย์พงศกร จินดาวัฒนะ เจ้าของนามปากกา ‘พงศกร’ และพี่ปุ้ย-ปาริฉัตร ศาลิคุปต เจ้าของนามปากกา ‘กิ่งฉัตร’ สามารถช่วยแก้ปัญหาเหล่านี้ได้จริงๆ ทำให้น้องๆ ที่เข้ามาเรียนต่างก้าวข้ามสิ่งที่ติดอยู่ ได้รับการอนุญาตให้เป็นตัวเอง เพื่อปล่อยพลังสร้างสรรค์งานเขียนออกมาในเวอร์ชั่นที่ตัวเองมีความพร้อมมากๆ และนี่เป็นเพียงบางเสียงตอบรับของน้องๆ นักเรียนเท่านั้น อยากบอกว่า เวลาที่เขาคุยกันในกรุ๊ปไลน์ ทุกคนต่างช่วยกันแบบน่ารักหนักมากเลยละ

อ่านเอา ก้าวแรก ช่วยจุดไฟในการเขียน

ณัฐกานต์ แซ่คู สาวน้อยที่ยังเรียนอยู่คนนี้บอกว่าเธอสนใจในการเขียนอยู่แล้ว แต่เพราะรู้สึกหมดไฟ เลยยังผ่านไปไม่ได้  “ก่อนหน้านี้เคยมีงานเขียนมาบ้างค่ะ แต่ว่าตัน ไม่มีเวลา รู้สึกหมดไฟ จนได้มาเจอนิยายที่มาจากโครงการอ่านเอาก่อนหน้านี้ เรารู้สึกว่าถ้าโอกาสนี้สามารถสร้างโอกาสให้กับนักเขียนคนอื่นได้ เราก็น่าจะมีโอกาสเหมือนกัน ซึ่งพอได้มาเรียนจริงๆ ก็พบว่าวิทยากรได้ช่วยเหลือหลายอย่างเลยค่ะ เช่น ช่วยทำให้เกิดไอเดีย เกิดกำลังใจ เหมือนกับที่เราตั้งใจด้วยวัตถุประสงค์แรกจริงๆ ทำให้มีความคิดสร้างสรรค์ในการสร้างตัวละคร สร้างพล็อต เช่น เมื่อก่อนเคยคิดว่าเราอยากทำอะไรให้ใหญ่ อลังการไว้ก่อน แต่พอมาตอนนี้กลายเป็นว่าแม้แต่เรื่องเล็กๆ ใกล้ๆ ตัว เราก็นำมาสร้างเป็นนิยายได้ และหนึ่งในคำแนะนำของวิทยากรที่นำมาใช้ได้ทันทีคือ ‘การที่ไปอ่านข่าวข่าวหนึ่ง เนื้อข่าวมันจบแค่นั้น แต่ถ้าเราจะสร้างพล็อตจากตรงนี้ให้คิดว่าอดีตของเขาเป็นอย่างไร และจะเกิดอะไรขึ้นกับเขาในอนาคต’

เห็นทิศทางในการเขียน

สุดา จันทร์อ้น ดั้นด้นมาจากเชียงใหม่เพื่อร่วมโครงการในครั้งนี้ ซึ่งเธอบอกว่าจากการเข้าร่วมโครงการทำให้เธอเห็นลำดับขั้นตอนการสร้างงานได้ชัดเจนมากขึ้น “พอดีเป็นนักเขียนที่เคยมีผลงานมาแล้วค่ะ แต่ด้วยความที่เราเริ่มจากเขียนเองโดยที่ไม่มีใครไกด์ ก็จะเจอปัญหาระหว่างเขียน อาจตันหรือไม่รู้ว่าเราจะเริ่มต้นตรงไหน ยังไงดี แต่พอมีโครงการนี้พี่ๆ ก็จะช่วยไกด์ว่าขั้นตอนหนึ่ง สอง สาม ถ้าเราทำแบบไหนจะทำให้เราเขียนงานได้จบ เขียนได้สนุก และเขียนให้ตรงคอนเซ็ปต์ที่เราอยากจะสื่อสารได้ พอจบการอบรม 2 วันแรกก็ช่วยจุดประกายไอเดียให้ได้มากเลย ปลดล็อกปัญหาที่เราทำไม่ได้ เรารู้แล้วว่าติดตรงนี้จะแก้อย่างไร แก้ตรงไหน ทำให้สามารถกลับไปสร้างงานได้อย่างมีคุณภาพมากขึ้นค่ะ”

เข้าถึงตัวละครได้มากขึ้น

ภูชิสส์ ไชยยอดแก้ว ผู้มีความมุ่งมั่นตั้งใจอยากเป็นนักเขียนมาตั้งแต่เด็กก็เป็นอีกคนที่เข้าถึงงานตัวเองได้มากขึ้นจากคำแนะนำของวิทยากร “ฟิวส์พร้อมและตั้งใจในการเข้ามาร่วมโครงการนี้มากๆ เพราะอยากจะมาเรียนรู้กับวิทยากรที่มีคุณภาพ และเป็นนักเขียนแนวหน้าของเมืองไทย แล้วสิ่งที่วิทยากรทั้งสามถ่ายทอดทำให้ฟิวส์สามารถนำไปปรับใช้กับงานของตัวเองได้มากเลยทีเดียว

เรื่องที่ช่วยปลดล็อกเลยคือ ก่อนหน้านั้นเวลาเขียน ฟิวส์จะเขียนออกมาให้เป็นแนวบทละครมากกว่าเป็นนิยาย แต่พอได้มาเรียนรู้กับโครงการ ทำให้เราเห็นว่าทั้งบทละครและนิยายมีอะไรบางอย่างที่คล้ายกัน และมีอะไรบางอย่างที่ต่างกัน ทำให้เราปรับภาษาให้เข้ากับนิยายได้มากขึ้น เรื่องต่อมาคืออารมณ์ของตัวละคร ที่ผ่านมาเรายังไม่เข้าใจอารมณ์ของตัวละครมากเท่าไหร่ เหมือนเวลาที่ต้องไต่ระดับความรู้สึกของตัวละคร จะรู้สึกว่ายังไปไม่สุด เก็บรายละเอียดของตัวละครไม่หมด ถ่ายทอดความรู้สึกทั้งกายภาพและความรู้สึกข้างในได้ไม่ครบทั้งๆ ที่จุดนี้จะเป็นจุดที่ดึงนักอ่านได้ แต่พอได้มาเรียนรู้จากโครงการก็ทำให้สามารถเข้าถึงตัวละครของเราได้มากขึ้น แล้วก็ให้เวลากับงานมากขึ้นด้วย ที่ผ่านมาเป็นคนที่รีบมาก ทำให้งานของเราไม่สุด ซึ่งคุณหมอโอ๊ตได้แนะนำว่า ค่อยๆ เขียน ค่อยๆ เล่าอารมณ์ของตัวละครออกมา แล้วจะเกิดเป็นอารมณ์ของตัวละครที่เป็นปุถุชนอย่างสมบูรณ์แบบที่สุด”

ก้าวแรกในการกล้าเขียน

ส่วนคนสุดท้าย อัญมณี ภู่ภักดี ซึ่งไม่เคยเขียนและไม่เคยมีผลงานมาก่อนก็บอกว่าหลังจากเข้าร่วมโครงการก็รู้สึกมั่นใจในการลงมือเขียนมากขึ้น “ออมเป็นคนสนใจ เหมือนหาความรู้หรือว่าทักษะใหม่ๆ ที่ตัวเองไม่เคยมี สำหรับเรื่องการเขียนเป็นสิ่งที่สนใจอยู่แล้ว แต่ไม่มีทักษะทางด้านนี้ พอมีการเปิดสอนขึ้นมาเราก็เลยสนใจ อยากรู้ว่าถ้าเราอยากจะเขียนอะไรสักอย่าง เบื้องต้นเราต้องทำอย่างไรบ้าง มีพื้นฐานอย่างไร มีแนวทางอย่างไรที่เป็นหลักให้เราก่อนที่เราจะเริ่มลงมือเขียน

โครงการอ่านเอาก้าวแรกเป็นโครงการที่ติดตามมาตลอด เห็นข้อมูลต่างๆ จากเพจอ่านเอาว่ามีกิจกรรมอย่างนี้ รวมถึงช่องวันอ่านเอา ซึ่งเป็นกิจกรรมส่งเสริมนักเขียนด้วย พอมาปีนี้ก็เลยรีบเข้าไปสมัคร นี่เป็นการเขียนครั้งแรก ไม่มีพล็อตด้วย ตื่นเต้นมาก แต่พอได้เข้าไปเรียนก็พบว่าบรรยากาศในโครงการดีมาก ลดการตื่นเต้นไปเลย และวิทยากรทั้งสามท่าน พี่เอียด พี่ปุ้ย พี่โอ๊ต ก็เป็นคนที่มีพลังบวก ผู้เข้าร่วมโครงการเองก็มีความกระตือรือร้น จากที่แค่เคยคิดว่าอยากจะเขียนแต่ไม่รู้ว่าจะไปในทิศทางไหน ทุกอย่างมันล็อกไปหมด กังวลไปหมดว่าเขียนแบบนี้ถูกหรือเปล่า ภาษาถูกหรือเปล่า ถ้าเราอยากเขียนเรื่องนี้จะยากเกินความสามารถของเราไปไหม ฯลฯ กลายเป็นว่าตอนนี้มีพล็อตแล้วค่ะ (หัวเราะ) เนื่องจากพี่ๆ วิทยากรบอกว่าทุกอย่างต้องมีการเริ่มต้น ถ้าไม่เริ่มทำก็จะไม่รู้ว่าทำได้หรือเปล่า ตรงนี้เลยเป็นแรงผลักดันว่า ต่อให้เราไม่มีประสบการณ์ ไม่เคยเขียน ไม่มั่นใจ ก็ยังทำให้เราอยากเขียน อยากบอกเรื่องที่เราอยากเล่าได้อย่างมั่นใจมากขึ้น เป็นการปลดล็อกทุกคำถาม เหลือเพียงแค่ถ่ายทอดสิ่งที่เรารู้ออกมาให้คนอ่านได้อ่านแค่นั้นเอง”

Don`t copy text!