ดร.สิริพันธุ์ กระแสร์แสน  จากสาวภาคธุรกิจสู่ ThaiHealth Academy สถาบันที่อยากให้ทุกคนมีชีวิตที่อิ่มเอมด้วยสุขภาวะแบบครบเครื่อง

ดร.สิริพันธุ์ กระแสร์แสน จากสาวภาคธุรกิจสู่ ThaiHealth Academy สถาบันที่อยากให้ทุกคนมีชีวิตที่อิ่มเอมด้วยสุขภาวะแบบครบเครื่อง

โดย : กิ่งสุรางค์ อนุภาษ

Loading

ในขณะที่โลกใบนี้หมุนเร็วขึ้นด้วยการเติบโตของเทคโนโลยีรวมถึงการสื่อสาร แต่เชื่อเถอะว่าความต้องการตลอดกาลของมนุษย์อย่างเราคือ ‘ความสุข’ ซึ่งแท้จริงแล้วเรียบง่ายกว่าที่คิดนัก อีกทั้งยังต้องเกิดจากพลังภายในที่ซุกซ่อนไว้ในตัวเอง

เร็วๆ  นี้ อ่านเอาได้มีโอกาสไปคุยกับ ดร.สิริพันธุ์ กระแสร์แสน หรือคุณสา ผู้จัดการฝ่ายพัฒนาธุรกิจ สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) หรือ ThaiHealth Academy โดย สสส. ซึ่งก่อนหน้าที่จะมาทำงานที่นี่ คุณสาทำงานกับบริษัทเอกชนมาตลอด และเมื่อผันตัวเข้ามาทำงานได้ไม่นาน เธอก็รู้สึกว่าที่นี่ตอบโจทย์ความต้องการที่ตามหาได้อย่างตรงประเด็น โดยเฉพาะการมีสุขภาวะครบทั้งสี่ ไม่ว่าจะเป็นทางกาย ใจ ปัญญา และสังคม เพราะนั่นทำให้พลังชีวิตของเธอแข็งแรง นำมาสู่การต่อยอดความคิดและถ่ายทอดผ่านผลงานต่างๆ ออกมาได้อย่างต่อเนื่อง ในขณะเดียวกันการมาทำงานตรงนี้ทำให้มีเวลาอยู่กับครอบครัว มีเวลาอยู่กับตัวเอง ได้ทำกิจกรรมต่างๆ ที่สนใจ แถมยังมีความสุขกับเรื่องเล็กๆ ได้ง่ายขึ้นด้วย

แรงบันดาลใจที่ตอบโจทย์ความต้องการของชีวิต

“เนื่องจากเป็นคนทำงานในภาคธุรกิจมาตลอด แต่พอวันหนึ่งที่อิ่มตัวกับการทำงานตรงนั้นก็เลยตามหาแรงบันดาลใจ โดยตั้งคำถามกับตัวเองไว้ว่า ‘อะไรคือสิ่งที่ทำแล้วอิ่มและมีความสุข’ เพราะบางครั้งการทำงานตรงนี้ก็เหมือนดูดพลังชีวิต และบางครั้งเราก็ให้ความสำคัญกับตัวเลขจนทำให้ชีวิตของเราหล่นหาย ซึ่งจริงๆ ลึกๆ รู้ว่าตัวเองสนใจการตลาด การเปลี่ยนแปลงเพื่อสังคม และเมื่อประมาณสิบปีที่แล้วสาได้ทำ ดุษฎีบัณฑิต เกี่ยวกับเรื่อง Community-Based Social Marketing Campaign  ซึ่ง สสส. ก็เป็นหนึ่งในองค์กรที่ได้มาดูแล้วรู้สึกว่าตอบโจทย์กับคำถามในใจเราดี แต่ทุกอย่างก็ผ่านไป กระทั่งที่นี่เปิดรับสมัครพนักงานในหน่วยงานที่เพิ่งเปิดใหม่ ความรู้สึกที่เคยชอบก็กลับมาอีกครั้งว่านี่แหละคือสิ่งที่เราสนใจ ไหนจะเป็นการที่เขาให้โอกาสเราอีก เพราะตัวเราเองไม่ได้อยู่ในสายงานหรือมีประสบการณ์ในสายงานเพื่อสังคมมาก่อนเลย เรียกว่าเป็นทั้งโอกาสและเป็นเรื่องความรู้สึกของตัวเราที่ผนวกกันพอดี เลยได้มาทำงานที่นี่ค่ะ…

 การที่ ThaiHealth Academy โดย สสส. เป็นสถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ ทำให้ถือว่าได้กำไรชีวิตจากการทำงานมากมาย เปิดโลกเราในด้านต่างๆ  เพราะทุกครั้งที่เขาสอน เราก็สามารถเข้าไปเป็นนักเรียนโดยไม่ต้องออกไปหาข้างนอกเลย หรือการได้เรียนกับพาร์ตเนอร์ก็ทำให้ได้รู้จักคนมากขึ้น อย่าง ‘โครงการอ่านเอาก้าวแรก ครั้งที่ ๔’ ก็ทำให้ได้เรียนรู้ว่ามีหลักสูตรนี้ด้วยนะ นอกจากนี้ยังมีหลายๆ หลักสูตร หลายๆ โครงการที่มีโอกาสได้ร่วมงานด้วย และเขาก็มีอาจารย์หรือผู้เชี่ยวชาญต่างๆ มาให้ความรู้ ซึ่งถือว่าเป็นความโชคดีของเรามากๆ ที่อยู่ใกล้แหล่งความรู้อันหลากหลาย อีกทั้งเราพบว่าการทำหลักสูตรอะไรไป คนเรียนหนึ่งคนได้ส่งผลกระทบต่อไปอีกหลายๆ คน เพราะคนที่มาเรียนนั้นเห็นคุณค่าและนำคุณค่านั้นไปทำให้งอกเงยต่อไป เกิดการต่อยอด ทำให้ยิ่งมีความสุขมากขึ้น

นอกจากนี้สถาบันยังดูแลเอาใจใส่พนักงานในเรื่องของสุขภาพ เช่น มีกิจกรรมออกกำลังกายสำหรับพนักงานให้เล่นโยคะ หรือในเรื่องอีโคการใช้บรรจุภัณฑ์ที่ปราศจากพลาสติก อีกทั้งสนับสนุนให้เราดื่มน้ำเปล่าที่จะเป็นตัวช่วยให้เราสุขภาพดี เราก็เริ่มเปลี่ยน ทุกวันนี้สาดื่มน้ำเปล่ามากขึ้นและไม่รับหลอดจากร้านค้า ในเรื่องการบริโภคนั้น เรื่องการลดโซเดียมด้วย จากแคมเปญ ลดเค็ม ลดโรค ที่ให้เราตระหนักถึงอันตรายของการบริโภคโซเดียม เมื่อก่อนติดปรุงมากค่ะ พอมาทำงานที่นี่ไปเรื่อยๆ กลายเป็นว่าวันนี้ไม่ต้องมีเครื่องปรุงก็กินได้แล้ว (หัวเราะ) ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเหล่านี้เริ่มง่ายๆ ที่ตัวเรา ตอนนี้เพื่อนๆ เห็นเราเปลี่ยนก็เป็นแรงบันดาลใจให้เค้าเปลี่ยนตาม นอกจากนี้บรรยากาศพื้นที่ทำงานที่นี่ก็เป็นบรรยากาศที่ดีทั้งคนในสถาบันและคนที่เข้ามาใช้สถานที่ การตกแต่งพื้นที่เปิดกว้าง สบายตา สะดวกการใช้งาน ที่ทำให้เราเข้ามาอยู่ที่นี่แล้วรู้สึกมีความสุขค่ะ”

ทำความรู้จัก ThaiHealth Academy

“จริงๆ ทาง สสส.อยากทำสถาบันการเรียนรู้มานานแล้ว เพราะ สสส. มีองค์ความรู้ที่สั่งสมมากว่า ๒๐ ปี เลยมองว่าจะทำอย่างไรเพื่อจะพัฒนาศักยภาพของคน โดยนำร่องที่การพัฒนาคนที่เกี่ยวข้องกับการดำเนินงานก่อนซึ่งเราเรียกว่าภาคีเครือข่ายที่เกี่ยวข้องกับ สสส. สถาบันการเรียนรู้การสร้างเสริมสุขภาพ หรือเรียกว่า ThaiHealth Academy จึงเป็นสถาบันที่เปิดกว้างในทุกๆ ด้าน มีทั้งการพัฒนาหรือฟื้นฟูทักษะโดยเน้นให้คนเรียนมีสุขภาวะที่ดี และมีความสุขมากยิ่งขึ้น เรียกว่าเกือบ ๒ ปีที่ผ่านมา หลังจากที่นี่เปิดอย่างเป็นทางการ (จริงๆ สถาบันก่อตั้งเมื่อปี พ.ศ. ๒๕๖๓) เราเลยทำอะไรค่อนข้างเยอะ และโชคดีที่มีพาร์ตเนอร์ดีๆ ในการร่วมมือกัน ไม่ว่าจะเป็นการร่วมมือกับกลุ่มมหาวิทยาลัย หรือร่วมงานกับหน่วยงานของภาครัฐและเอกชนในการจัดทำหลักสูตร เรามองว่าการที่ทำคนเดียวก็มีเนื้องานประมาณหนึ่ง แต่พอได้ร่วมมือกับหน่วยงานต่างๆ ก็จะมีความกว้างและลึกขึ้น ก่อให้เกิดประโยชน์ต่อผู้เรียน

ถ้ามองเป็นแนวทาง ThaiHealth Academy เรามีด้วยกัน ๔ แนวทาง อย่างแรกคือทำเทรนนิงอบรมให้กับคนทุกเพศทุกวัย อย่างที่สองคือเรามี e-Learning ให้เรียนทางออนไลน์โดยมีการทำงานร่วมกับทางจุฬา หรือมาเข้าในเว็บไซต์ของเราเอง อย่างที่สามคือ Leisure Learning เรามีการเรียนรู้นอกสถานที่ เช่น จัดกิจกรรมต่างๆ เพราะการเรียนรู้ไม่จำเป็นต้องอยู่แต่ในห้องเรียน ที่ ThaiHealth Academy เลยพาไปเรียนข้างนอกหรือจัดกิจกรรมอื่นๆ เช่น จัดกิจกรรมล่องเรือเรียนรู้ประวัติศาสตร์และสร้างความสุขทางใจไปพร้อมๆกัน หรือกิจกรรมแผนที่เดินดิน ได้ศึกษาชุมชน ที่ทำให้เราเข้าถึงพื้นที่เข้าใจพื้นที่ทางกายภาพ เข้าถึงชุมชน สร้างสัมพันธ์กับผู้คน อย่างที่สี่คือมีห้องประชุมให้เช่า บนชั้น ๓๔ อาคารเอสเอ็ม ทาวเวอร์ ติดบีทีเอส สนามเป้า รองรับผู้เข้าร่วมงานได้ถึง ๘๐ คน”

เมื่อถามถึงกิจกรรมหรือหลักสูตรเด่นๆ ที่ผ่านมา คุณสาเล่าให้ฟังว่ามีมากมายหลายกิจกรรม “อย่างหลักสูตรประเด็นให้เป็น Tools ก็เป็นหลักสูตรที่เป็นตัวช่วย ทำให้คนทำงานมองเห็นโอกาสในการพัฒนา และสร้างความเปลี่ยนแปลงในการ คิด ออกแบบ วางแผนการทำงานให้ง่ายขึ้นเพื่อขับเคลื่อนประเด็นที่สนใจ นอกจากนี้เรายังทำเป็นพ็อกเกตบุ๊ก ด้วย หลักสูตรนี้เป็นหลักสูตรที่ประสบความสำเร็จค่ะ และทำเป็นประเด็นเฉพาะเจาะจงที่คนสนใจเพิ่มเติม เช่น นวัตกรรม และผู้สูงอายุ แล้วก็มีหลักสูตร การตลาดเพื่อสังคม การออกแบบไอเดียงานเพื่อสังคมให้น่าสนใจ ที่เป็นแก่นของทาง สสส. ซึ่งเราจะเห็นการรณรงค์ที่ส่งผลในการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมผ่านสื่อต่างๆ เป็นหลักสูตรที่ช่วยให้เราหาจุดเด่นของงานเพื่อสังคม  ที่คนสนใจ  เรียนรู้วิธีมองหาไอเดียใหม่ๆ ที่งานการตลาดเพื่อสังคมจะมา  ช่วยแปลงโจทย์ให้น่าสนใจ   โดยตอบคำถามว่าทำอย่างไรจึงจะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของคน อีกหลักสูตรที่น่าสนใจคือการสื่อสารเพื่อสร้างองค์กรแห่งความสุข คือคนเราอาจตามหารายได้ต่างๆ เพื่อนำมาดำรงชีวิต แต่อย่าลืมว่า พนักงาน แรงงานต่างๆ นั้นเป็นเหมือนสินทรัพย์ขององค์กร ถ้าองค์กรเรามีความสุข ทุกอย่างก็ขับเคลื่อนไปได้ ดังนั้นการพัฒนาคน การสื่อสารให้คนในองค์กรเข้าใจจึงเป็นเรื่องสำคัญ เป็นหลักสูตรใหม่ที่อยากชวนทุกคนมาเรียนรู้ รวมไปถึง Leisure Learning โดยเรามีกิจกรรมแผนที่เดินดิน ที่กล่าวมาข้างต้น ซึ่งจัดมา ๓ ครั้งแล้ว สองครั้งแรกจัดที่ย่านอารีย์ค่ะ อีกครั้งหนึ่งจัดที่ซอยงามดูพลี แผนที่เดินดินคือเรียนรู้ มองผู้คนผ่านการเดิน การพูดคุย ไม่ได้มองผ่านกูเกิลแมป เช่น ตอนที่ทำที่อารีย์ เราก็ไปดูว่าในพื้นที่ของอารีย์นอกจากจะมีเรื่องอาหารอร่อยแล้ว ยังมีพื้นที่ประวัติศาสตร์ที่ร่วมสมัย เช่น มีบ้านประตูสีฟ้า บ้านของบุคคลสำคัญ ซึ่งก็คือบ้านของอาจารย์ ป๋วย อึ๊งภากรณ์ และยังมีสะพานที่มีประวัติมาอย่างยาวนานสะพานลอยคนข้ามรูปสามเหลี่ยม เป็นต้น ส่วนที่ซอยงามดูพลีนั้นเป็นที่ตั้งของ สสส. การไปทำกิจกรรมตรงนี้ก็ทำให้เรารู้ว่าท่ามกลางถนนสาทรที่ยิ่งใหญ่ จริงๆ แล้วยังมีชุมชนที่ยังดำรงชีวิตและอยู่กันเป็นกลุ่มด้วยความเข้มแข็งตั้งอยู่ที่นั่น กิจกรรมเหล่านี้เราทำเพียงครึ่งวันเพื่อให้คนที่มาร่วมกิจกรรมรู้สึกสนุก และไม่เหนื่อยจนเกินไป ซึ่งกิจกรรมนี้ทางสถาบันจัดให้ผู้ที่สนใจเรียนรู้ฟรีไม่มีค่าใช้จ่ายค่ะ”

ทำไปประทับใจไป

“กลุ่มเป้าหมายของเราคือภาคีเครือข่ายของ สสส.ค่ะ นอกจากนี้คือ Change Agent คือกลุ่มคนที่อยากจะเปลี่ยนแปลงเพื่อให้สุขภาวะดีขึ้น มีใจอยากจะเปลี่ยนแปลง พอเรามีใจเราก็ลุกขึ้นมาเรียนรู้ มาหาความรู้เพิ่มเติมภายใต้หลักสูตรของเรา ซึ่งไม่ได้จำกัดช่วงวัยเลย เพราะเราเชื่อว่าการเรียนรู้ไม่มีวันสิ้นสุด วันนี้เราอยากรู้เรื่องนี้ พรุ่งนี้เราก็อาจอยากรู้เรื่องอื่นก็ได้ ต่อให้ผ่านไปอีกสิบปีข้างหน้าก็ยังมีเรื่องอื่นๆ ให้เรียนรู้ต่อ แต่อยากให้ทุกการเรียนรู้จากที่นี่มีส่วนช่วยให้ทุกคนมีสุขภาวะที่ดีขึ้น

นอกจากหลักสูตรต่างๆ ที่เราได้มีโอกาสพัฒนาและเรียนรู้แล้ว อีกเรื่องที่ประทับใจกับการทำงานตรงนี้คือความมุ่งมั่นของคนจากหลายพื้นที่ที่เดินทางเข้ามาค่ะ บางคนอยู่ไกลมาก อยู่ต่างจังหวัดอาจจะเหนือสุดหรือใต้สุด พอมีหลักสูตรเขาก็ยังขวนขวายที่จะมาเรียน ตรงนี้เราให้เครดิตเลย เพราะประทับใจ กรุงเทพคือศูนย์การเรียน คนในกรุงเทพเดินทางง่าย มีรถไฟฟ้า แต่คนอยู่ต่างจังหวัดมาเรียนเขาต้องมีพลังในความมุ่งมั่นสูงมาก อย่างบางกิจกรรมที่ผ่านมา บางคนเรียนๆ อยู่ต้องขออนุญาตกลับก่อนเพราะจะถึงเวลาบินกลับแล้ว หรือบางงานที่จ้างเรา อย่างเวิลด์แบงก์ให้เราไปลงพื้นที่ที่สามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ก็เป็นอีกงานที่แฮปปีมาก เราได้ลงไปถึงพื้นที่ ทำให้รู้ว่าทุกคนยังต้องการการเรียนรู้  และในปีนี้เรามีอีกหลายกิจกรรมที่น่าสนใจ เช่น ยกระดับสุขภาวะอาคารด้วยแนวคิดวิศวกรรม…ที่ดีกว่า (ประเภทอาคารโรงพยาบาล) Design for Future Hospital, หลักสูตรจับประเด็น (ผู้สูงอายุ) ให้เป็นนวัตกรรม ที่จัดร่วมกับ NIA (สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ), หลักสูตรการดำเนินโครงการให้ถึงผลลัพธ์ Getting to Outcomes แล้วก็มีหลักสูตรระยะยาว เราเรียกว่าหลักสูตรผู้นำเพื่อสังคมที่เป็นธรรม เป็นหลักสูตรระยะยาว ๑๕ เดือน เรียกว่าไม่ว่างทั้งปีค่ะ แล้วยังมีหลักสูตรต่างๆ ที่หลายหน่วยงานมาให้เราทำด้วยค่ะ”

ทำความเข้าใจกับคำว่า สุขภาวะ

“สุขภาวะมีสี่ด้าน คือทางด้านร่างกาย แข็งแรง ไม่เจ็บป่วย กินอาหารได้ ออกกำลังกาย ในเรื่องของจิตใจ คือเรามีความสุข อยู่ในที่ที่เราชอบ นอกจากนี้ยังมีเรื่องของปัญญาที่เราจะหมั่นคอยเติมความรู้ของเราอยู่เสมอ ส่วนสุดท้ายคือสังคม เพราะเราไม่ได้อยู่คนเดียวบนโลก ดังนั้นต้องทำตัวอย่างไร ปฏิบัติตัวอย่างไรเพื่อให้เราและคนที่อยู่รอบตัวเรามีความสุข…

ดังนั้นสุขภาวะจึงประกอบด้วยสี่ด้านคือ กาย ใจ ปัญญา และสังคม ซึ่งสังคมที่ว่านี้หมายรวมถึงสังคมออนไลน์ด้วย โดยมองว่าทำอย่างไรที่จะพูดคุยกันได้ในโลกโซเชียลแบบที่ไม่ต้องทะเลาะกัน ต้องสื่อสารอย่างไรเพื่อสร้างสุขให้เกิดขึ้น เพราะการเข้าไปท้าตีท้าต่อย ไม่ได้ทำให้เกิดประโยชน์อะไรเลย”

ส่วนเล็กๆ ที่เปี่ยมไปด้วยพลังในสังคม

“งานที่ทำน่าจะเป็นส่วนเล็กๆ ส่วนหนึ่งที่ทำประโยชน์กับสังคม เราไม่สามารถเคลมได้ว่าสิ่งที่ทำนั้นยิ่งใหญ่ แต่เรามองว่าแค่เราแฮปปี เชื่อมั่นในการที่จะเปลี่ยนสังคมให้ดีขึ้น ถ้าเราเป็นหนึ่งคนที่เริ่มทำให้สังคมดีขึ้นแล้ว กระจายต่อไป อย่างน้อยก็ดีขึ้นนิดนึงแล้ว เราเป็นคนสนุกที่จะเรียนรู้ ทุกครั้งที่ได้เรียนจะแฮปปี ประทับใจวิทยากร คนนั้นก็เก่ง คนนี้ก็ดี ซึ่งต้องให้เครดิตคุณย่า ที่ท่านเป็นนักอ่าน นักเรียนรู้ก็ปลูกฝังเรามาในเรื่องนี้ ซึ่งจริงๆ องค์ความรู้จากผู้ใหญ่ ผู้สูงอายุมีมากมายนะคะ ถ้าเด็กและผู้ใหญ่เปิดใจหันหน้าเข้าหากันและลองรับฟัง เด็กอาจจะช่วยบอกในเรื่องของเทคโนโลยีที่เขาถนัด เช่น โซเชียลมีเดียได้ ในขณะเดียวกันผู้ใหญ่อาจมอบประสบการณ์ที่ได้เรียนรู้มากับเด็กๆ ได้ และในส่วนของสถาบันเราก็มีหลักสูตรประมาณนี้ด้วย แต่จะเป็นเรื่องของการปรับตัวเข้าหากันในที่ทำงานซึ่งมีหลายช่วงวัย เพื่อลดปัญหา Gen Gap ค่ะ”

เพราะชีวิตเริ่มต้นใหม่ได้เสมอ

เราทราบจากคุณสาว่าเธอมาเริ่มงานใหม่ที่นี่ในวัยเลขสี่ ซึ่งอาจเป็นช่วงวัยที่หลายคนได้ตัดสินตัวเองไปแล้วว่าสมัครงานไม่ได้ “อย่าเอาตัวเองมาเป็นคนตัดสินค่ะ สามองว่าชีวิตเราเริ่มใหม่ รีเซ็ตใหม่ได้เสมอ แล้วถ้าคิดว่าหมดเวลาของเราแล้ว นั่นคือการด้อยค่า ไม่ให้โอกาสตัวเองตั้งแต่ยังไม่เริ่ม และถ้าเราเริ่มด้อยค่าตัวเอง นั่นหมายความว่าคนอื่นเขาก็ไม่เห็นค่าเรานะ ฉันอายุ ๔๐ ฉันยังสมัครงาน ฉันสามารถช่วยองค์กรคุณได้นะ ฉันมีจุดขายยังไง ทำไมเราไม่มองตัวเราว่าเรามีคุณสมบัติที่ดี อยากให้อวยตัวเอง เซเลเบรตตัวเอง ให้กำลังใจเล็กๆ กับตัวเองบ้างโดยไม่ต้องรอเรื่องใหญ่ๆ เช่น วันนี้เดินมา ๘,๐๐๐ ก้าว ก็ชมตัวเองว่า เก่งจัง วันนี้เดินได้ตั้ง ๘,๐๐๐ ก้าว แต่ทั้งนี้ทั้งนั้นเราก็ไปตัดสินชีวิตใครไม่ได้ ต่างคนต่างมีบริบทชีวิตไม่เท่ากัน แต่อะไรที่สร้างความสุขให้ตัวเองที่สุดก็เลือกสิ่งนั้นค่ะ ถ้าคุณบอกว่าคืองาน คุณไปหาความสุขตรงนั้นเลย ทำให้งานเป็นส่วนหนึ่งในการเติมเต็มชีวิต เติมเต็มฝัน ความสุขมีอยู่ทุกที่ มีอยู่รอบตัว มองความสุขให้เป็นเรื่องง่ายๆ มอบความสุขให้กับตัวเอง ยิ้มให้กับตัวเอง กลับมากอดตัวเอง ฝึกคิดบวก เติมพลังบวกให้ชีวิต สำหรับสา สาเลือกมาทำงานที่นี่เพราะเป็นเส้นทางที่ทำให้มีความสุขค่ะ”

 

ช่างภาพ :  อนุวัฒ เสนีวงศ์ ณ อยุธยา

สถานที่ : ThaiHealth Academy by สสส.

 

Don`t copy text!